บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



หน้าแรก

ความหมาย

ความเป็นมา

การสังคายนา

จำนวนครั้ง

ประเทศต่าง ๆ

อาจารย์ผู้ทรงจำ

พระไตรปิฎกในไทย

ลักษณะหมวดหมู่

 

การทำสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

          แม้ในตอนต้น จะได้ระบุนามของพระเถระหลายท่าน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก แต่พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นภายหลังที่ท่านพระเถระทั้งหลายได้ร่วมกันร้อยกรองจัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว ในสมัยของพระพุทธเจ้าเองยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่ ยังไม่มีการจัดเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัยในการสวดปาฏิโมกข์ลำดับสิกขาบททุกกึ่งเดือน ตามพระพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรมในสังคีติสูตรและทสุตตรสูตรที่พระสาริบุตรเสนอไว้ กับตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงวิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทะเถระและพระอานนท์ในปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ดังได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

          พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน การที่พระสาวกซึ่งท่องจำกันไว้ได้ และจัดระเบียบหมวดหมู่เป็นปิฎกต่าง ๆ ในเมื่อพระศาสดานิพพานแล้ว พอเทียบได้ดังนี้ พระพุทธเจ้าเท่ากับทรงเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เช่น ส้มหรือองุ่น พระเถระผู้จัดระเบียบหมวดหมู่คำสอน เท่ากับผู้ที่จัดผลไม้เหล่านั้นห่อกระดาษบรรจุลังไม้ เป็นประเภท ๆ บางอย่างก็ใช้ผงไม้กันกระเทือนใส่แทนห่อกระดาษ ปัญหาเรื่องของภาชนะที่ใส่ผลไม้เช่นลังหรือห่อก็เกิดขึ้น คือในชั้นแรก คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น รวมเรียกว่าพระธรรมพระวินัย เช่น ในสมัยเมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป

          จึงเป็นอันกำหนดลงเป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า ในสมัยของพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า พระไตรปิฎก มีแต่คำว่า ธรรมวินัย คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้น มาเกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว แต่จะภายหลังสังคายนาครั้งที่เท่าไร จะได้กล่าวต่อไป

          อย่างไรก็ตาม แม้คำว่า พระไตรปิฎก จะเกิดขึ้นในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน ก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น คลายความสำคัญลงเลย เพราะคำว่า พระไตรปิฎก เป็นเพียงภาชนะ กระจาดหรือลังสำหรับใส่ผลไม้ ส่วนตัวผลไม้หรือนัยหนึ่งพุทธวจนะ ก็มีมาแล้วในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพระศาสนา

การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?

          การสวดปาฏิโมกข์ คือการ "ว่าปากเปล่า" หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย ๑๕๐ ข้อ ในเบื้องแรก และ ๒๒๗ ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ กึ่งเดือนหรือ ๑๕ วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย ที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก ๑๕ วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ซึ่งข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด

          ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อ ๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏว่ามีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนอง บันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริงเมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ การปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย

          การสังคายนาจึงต่างการสวดปาฏิโมกข์ ในสาระสำคัญที่ว่าการสวดปาฏิโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัย ส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือเข้าใจผิด แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษร หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือกันว่าเป็นการสังคายนา ดังจะกล่าวต่อไป

- - - > - - - > next

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ