บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



เอกสารทาง
ประวัติศาสตร์

ส่วนของที่ ๑

ส่วนของที่ ๒

ส่วนของที่ ๓

<เอกสารเหล่านี้
ได้พยายาม
พิมพ์รักษาอักขรวิธี
อย่างที่ปรากฎ
ในต้นฉบับเดิม
ทุกประการ>

 

คำประกาศเทวดาครั้งสังคายนา

ปีวอกสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๓๑

รัชกาลที่ ๑

(จากหนังสือประกาศพระราชพิธี เล่ม ๒ หน้า ๑๐)

-----------------------------------

                โภน์โตเทวสังฆาโย ดูกรฝูงเทพเจ้าทั้งปวงผู้มีทิพโสต ทิพจักขุ บรรดาอยู่ในโลกธาตุ จงประกาศบอกกล่าวกันให้ทั่ว มาประชุมชวนกันอนุสรสวนาการคำสงฆ์ประกาศสารธุรกิจในพระพุทธศาสนา เฉพาะพระภักตรสมเด็จพระบรมสารีริกธาตุเจ้า ด้วยพระสงฆ์ทั้งหลาย ๒๑๙ รูป พร้อมกันสมมุติให้อาตมภาพประกาศอาราธนาผู้เดียวนี้ ดุจหนึ่งสงฆ์ทั้งปวงประกาศอาราธนาเทพยเจ้าทั้งหลายพร้อมกัน ด้วยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พระพุทธองค์ผู้ทรงพระทัศอรหาธิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์แรกได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ เสด็จยับยั้งอยู่ในควงไม้พระโพธิมหาสถาน ๗ วัน ทรงพระอาวัชนาการพระพุทธกิจ อันจะโปรดเวไนยสัตว์ให้ถ้วน กำหนดพุทธประเพณีแลจะตั้งพระพุทธศาสนาในมัชฌิมประเทศราชธานีชนบท กำหนดด้วยพระสัพพัญญุตัญ ญาณเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปโปรดพุทธเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ได้มัคแลผล มีพระอัญญาโกณฑัญญเถรเป็นต้น และพระสุภัทธเป็นปริโยสาน แล้วก็เสด็จบรรทมเหนือพระมรณมัญจาพุทธาอาศน์เป็นอนุถานไสยาศน์ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ในพระราชอุทยานแห่งพระเจ้ามลราชแทบกรุงกุสินา รายราชธานี มีพุทธฎีกาตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งปวง พระธรรมวิไนยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตตรัสเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระธรรม ๘๔,๐๐๐ นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่านแลสรรพสัตว์ทั้งปวง ต่างพระตถาคต ๘๔,๐๐๐ พระองค์ ตรัสมอบพระศาสนาไว้แก่พระปริยัติไตรปิฎกธรรมฉะนี้แล้วก็เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน จำเดิมแต่สมเด็จพระมหากรุณาเจ้าเสด็จนิพพานถวายพระเพลิง ๗ วัน พระมหากัสสปะเถรเจ้ารฦกถึงถ้อยคำพระสุภัทธภิกขุแก่ แลพระมหากรุณาธิคุณเป็นเหตุจึงดำริห์คิดจะกระทำพระธรรม สังคายนา เลือกพระสงฆ์ทั้งหลาย ๕๐๐ พระองค์ ล้วนแต่พระสงฆ์อรหัตตจตุปฏิสัมภิทาญาณ แลสมเด็จพระเจ้าอชาตสัตรูเป็นสาสนูปถัมภก กระทำในพระมรฏปแทบถ้ำสัตตบัณคูหา ณะกรุงราชคฤหมหานคร ๗ เดือน ก็สำเร็จเป็นปถมสังคายนา ครั้นพระพุทธศักราชล่วงถึง ๑๐๐ ปี ภิกขุชาววัชชีคามเป็นอลัชชีสำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดด้วยพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถรขีณาศพ ๘ พระองค์เป็นประธาน มีพระยศเถรเป็นต้น พระเรวัตตมหาเถรเป็นปริโยสาน ชำระหลักตอในพระสาสนาบริสุทธิแล้ว เลือกได้พระขีณาศพอันทรงพระไตรปิฎกแล พระจตุปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์ กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาฬุการามใกล้เมืองไพสาลี สมเด็จพระเจ้ากาลาโสกราชเป็นสาสนูปถัมภก ๘ เดือนสำเร็จ ชื่อทุติยสังคายนา ยังบวรพุทธสาสนาให้วัฒนาการสืบไป.

                ครั้นพระพุทธศักราชล่วงไป ๒๑๘ พระวษา พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชบพิตรได้เสวยราชสมบัติในเมืองปาตลีบุตรเลื่อมใสในพระสาสนา ครั้งนั้นเดียรถีย์ทั้งหลายปลอมสงฆ์เข้าบวช และพระขีณาศพเจ้าทั้งหลาย มีพระโมคคลีบุตรดิศเถรเป็นประธาน ยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพระพุทธสมัยแล้ว สมเด็จพระมหากระษัตริย์ให้ชุมนุมภิกษุทั้งปวง ตรัสถามโดยลัทธิพุทธสาสนา เดียรถีย์ทั้งปวงว่าตามลัทธิเดียรถีย์ไม่ต้องในพระพุทธสาสนา พระองค์ให้ผ้าขาวสึกเดียรถีย์เสียหกหมื่น ชำระพระสาสนาให้พระสงฆ์ทั้งปวงกระทำอุโบสถกรรมแล้ว พระโมคคลีบุตรดิสเถรเจ้าเลือกพระขีณาศพทรงพระปฏิสัมภิทาญาณได้ ๑,๐๐๐ พระองค์กระทำตติยสังคายนาในโสการาม สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกเป็นสาสนูปถัมภก ๙ เดือนสำเร็จ ยังพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป.

                ครั้นพระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๘ พระวษา สมเด็จพระเจ้าเทวานังปิยดิศ เสวยราชสมบัติในลังกาทวีปพระขีณาศพเจ้า ๓๘ พระองค์ มีพระมหินทเถรเจ้าแลพระอริฏฐเป็นประธาน ประชุมพระสงฆ์ ๑,๐๐๐ หนึ่ง แลจะยังรากพระสาสนาให้หยั่งลงในลังกาทวีป คือให้กุลบุตรชาวลังกาเรียนพระปริยัติไตรปิฎก จึงกระทำสังคายนา ดุจหนึ่งปถมสังคายนา ทุติยสังคายนา ตติยสังคายนาในมรฎปถูปารามมหาวิหาร สมเด็จพระเจ้าเทวานังปิยดิศเป็นสาสนูปถัมภก ยังรากพระสาสนาให้หยั่งลงในลังกา กระทำจัตุถะสังคายนา ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ.

                จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเจ้า เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว ๔๓๓ พระวษา พระเจ้าวัฒคามินีอไภยเสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ครั้งนั้นพระขีณาศพสงฆ์ทั้งปวง อันทรงพระปฏิสัมภิทาอภิญาสามบัติ สมัยไตรปิฎกธราจารย์เป็นอันมาก เห็นพระสาสนาจะเสื่อมลงไป หาผู้จะทรงพระไตรปิฎกขึ้นปากขึ้นใจมิได้ จึงจัดเลือกพระสงฆ์ขีณาศพไตรวิชาปิฎกธราธรรมมากกว่าพันประชุมกันในมหาวิหาร สมเด็จพระเจ้าวัฒคามินีอไภยเป็นสาสนูปถัมภก แต่งพระมรฎปบรรจงวิจิตรรจนาให้จาฤก เชิญพระไตรปิฎกลงสู่ใบลานกับทั้งพระอัตถกถา ให้พระสาสนาจีรฐีติกาลสืบไป กระทำประดุจหนึ่งปัญจะมะสังคายนาตรวจตรากันจาฤกพระไตรปิฎกนั้น ปีหนึ่งจึงสำเร็จ.

                ครั้นพระพุทธศักราชล่วงไปได้ ๙๕๖ พระวษา สมเด็จพระเจ้ามหานามได้เสวยราชสมบัติในลังพระพุทธโฆษจารย์ออกไปแปลพระไตรปิฎก กับทังพระอัตถกถาอันตั้งอยู่ด้วยสิงหฬภาษา เป็นมคธภาษาบาฬี กระทำในโลหะปราสาท พระเจ้ามหานามเป็นสาสนูปถัมภก ปีหนึ่งจึงสำเร็จ เป็นที่ชำระพระสาสนาครั้งหนึ่ง ครั้นเสร็จแล้วจึงเชิญเสด็จพระธรรมายังชมพูทวีป กุลบุตรได้เล่าเรียนสืบ ๆ กันมา.

                ครั้นพระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๑,๕๘๗ พระวษา สมเด็จพระเจ้าปรักมะพาหุราชบพิตรได้เสวยราชสมบัติในลังกาเป็นเอกราชาธิบดี พระกัสสปะเถรเจ้า กับพระสงฆ์มหานาคมากกว่าพัน ชวนกันอุตสาหะ แปลลินาถฎีกาพระไตรปิฎก อันพระขีณาศพไตรปิฎกธรเจ้าแต่ก่อนกระทำไว้เป็นภาษาสิงหฬบ้าง ภาษามคธบ้างปนกันอยู่ จึงอุตสาหะจัดแจงแปลงแปลออกเป็นภาษามคธ ปรากฏประดุจดั่งว่ากระทำสังคายนาพระธรรมวิไนย และสมเด็จพระเจ้าปรักมะพาหุสาสนูปถัมภก ปีหนึ่งจึงสำเร็จการ.

                ครั้นพระพุทธศักราชล่วงมาถึง ๒,๐๐๐ ปีเศษนั้น พระปริยัติสาสนาอันเป็นมูลปรนนิบัติมัคผล ซึ่งพระโมคคลีบุตรดิศเถรเจ้าให้พระเถรานุเถรเจ้าทั้งหลายไปตังสาสนาในปจันตชนบท แลพระไตรปิฎกอันพระพุทธ โฆษาจารย์เจ้าไปแปลมาแต่ลังกา มาไว้ในชมพูทวีป พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนสร้างสืบต่อกันมา แลท้าวพระยาเศรษฐี คหบดีศรัทธาสร้างไว้ในกรุงสัมมาทิฏฐิทั้งปวง คือเมืองไทย, ลาว, เขมร, พม่า, มอญ, เป็นอักษรพิรุธส่ำสมกันอยู่เป็นอันมาก หาท้าวพระยาสมณะผู้ใดที่จะศรัทธาสามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้มี.

                ครั้นพระพุทธศักราชาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษนั้น พม่าก็แต่งยุทธสงครามยกมารบรันทำย่ำยี เมืองสัมมาทิฏฐิทั้งนี้สาบสูญร่วงโรยไปเพราะภัยเกิดแต่พม่าเป็นต้นเหตุ มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกสาบสูญสิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยาก็พินาศฉิบหาย พระไตรปิฎกเจียฐานก็สาบสูญ สมณพราหมณาจารย์ผู้จะรักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรายล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันต้านทานข้าศึกศัตรูมิได้ แต่สมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าทั้งสองพระองค์ ผู้ทรงปฏิธานปรารถนาพระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ ทรงพระกรุณาอุสาหะ ผู้เสียพระชนมชีพถวายพระศรีรัตนไตรย คุมพลทหารกู้แก้บำรุงบวรพุทธสาสนาและสมณอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ช่วยรับรบต้านทานอรินราชศัตรูหมู่พม่าข้าศึกไว้ได้ไชยชำนะแล้ว ทรงพระอุสาหะจัดแจงพระนครราชธานีนิคมชนบทสมณพราหมณประชาราษฎร บวรเจดียฐานอารามบริเวณาวาศอันพินาศฉิบหายนั้นและบวชกุลบุตรฐาปนาการ พระพุทธบาทเจียฐาน ปรารถนาจะให้รุ่งเรืองขึ้นดุจหนึ่งกาลแต่ก่อน ตั้งพระไทยบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เป็นอันมาก และเอาพระไทยใส่บำรุงบวรพุทธสาสนา เป็นต้นว่านิสสัคคียวัตถุภิกษุรับเงินรับทองบริโภคพระสาสนานี้เสียมาเป็นช้านาน มหากระษัตริย์องค์ใดจะห้ามปราบลงมิได้ ด้วยเดชพระบารมีทรงบำรุงครั้งนี้ พระสาสนาสิกขานี้ก็คงคืน รุ่งเรืองขึ้น มีคุณในพระสาสนาฉนี้ แล้วทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกอันเป็นมูลรากพระสาสนา ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้ช่างจาน ๆ จาฤกพระไตรปิฎกบรรดามีในที่ใดเป็นอักษรภาษาไทย, ภาษามอญ, ภาษาลาว ให้ชำระแปลออกเป็นอักษรขอมขึ้นไว้ในตู้หีบหอพระมณเฑียรธรรม อันวิจิตรบรรจงงามพร้อม ทุกสิ่งสรรพพระราชกุศล และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนทุกอารามตามความปรารถนา จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลพระกรุณาว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างไว้ทุกวันนี้ อักษรบทพยัญชนะตกวิปลาศอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุกบำรุงขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงฟังแล้วก็ทรงพระปรารภไปว่า พระอัตถกถาฎกาบาฬีพระไตร ปิฎกทุกกวันนี้ เมื่อแลผิดเพี้ยนอยู่เป็นอันมาก จะเป็นเค้ามูลปฏิบัติปฏิเวธสาสนานั้นมิได้ อนึ่ง ท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ก็น้อยนัก ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้ว เห็นพระปริยัติสาสนา ปฏิบัติสาสนา ปฏิเวธสาสนา จะสาบสูญเป็นอันเร็วนัก สัตว์โลกทังปวงจะหาที่พึ่งมิได้ในอนาคตกาล ควรจะทำนุกบำรุงบวรพุทธสาสนาสมเด็จพระมหากรุณาไว้ ให้เป็นประโยชน์ไปแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี ครั้นพระทรงดำริห์ฉนี้แล้ว จึงให้อารธนาพระสงฆ์ราชาคณะถานาบาเรียนร้อยรูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานมารับพระราชทานฉันในพระที่นั่งอัมรินทราภิเศกมหาปราสาท

                ครั้นเสร็จสงฆ์ภุตากิจแล้วสมเด็จบรมบพิตรพระมหากระษัตราธราชเจ้าทั้งสองพระองค์จึงถวายนมัสการ ตรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกทุกวันนี้ยังบริบูรณ์อยู่ฤาพิรุธผิดเพี้ยนประการใด สงฆ์ราชาคณะ พร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาฬอัตถกถาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมากมาช้านานแล้ว หากระษัตริย์องค์ใดจะบำรุงเป็นสานูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่บำรุงอยู่เห็นไม่สำเร็จ จึงตรัสว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุสาหะในฝ่ายพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นจงได้ ฝ่ายอาณาจักรที่จะเป็นสาสนูปถัมภกนั้นไว้พนักงานโยม ๆ จะ สู้เสียชีวิตบูชาพระรัตรไตรย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลพระสาสนาจงได้ อาตมภาพพระสงฆ์ราชคณะทั้งปวงก็ถวายสาธุการรับแล้วออกมาประชุมพระสงฆ์ทั้งหลายเลือกได้ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกบ้างนั้นได้สงฆ์ ๒๑๙ รูป กับราชบัณฑิตย์อุบาสก ๓๐ คน แลสงฆ์ ๒๑๙ รูป กับราชบัณฑิตย์อุบาสกทั้งนี้ มีสติปัญญาอันน้อยมิได้ทรงพระไตรปิฎก แต่จะใคร่บำรุงบวรพุทธสาสนา บำรุงพระราชกุศลศรัทธาสมเด็จพระมหากระษัตราธราชเจ้าอันปรารถนาพระพุทธภูมิทั้งสองพระองค์ ซึ่งทรงพระราชอุสาหะจะบำรุงพระวรพุทธสาสนา แลแต่ก่อนมามีพระขีณาศพอันทรงอิทธิฤทธิ์เป็นอันมาก ครั้นเห็นพระสาสนาเศร้าหมองลงแล้ว ย่อมเสด็จขึ้นไปยังเทวโลก อาราธนาเทพเจ้าอันมีกุศลสมภารบารมี มีสติปัญญา อันมีในเทวโลกดุจพระดิศมหาพรหม ลงมาเป็นพระโมคคลีบุตรดิศเถร พระโฆษเทวบุตรมาเป็นพุทธโฆษา เดชะอำนาจท่านผู้มีพระบารมีชำระพระสาสนาที่เศร้าหมองนั้นก็รุ่งเรืองขึ้นได้ง่ายงาม บัดนี้อาตมภาพสงฆ์ทั้งปวงอนาถาหาอิทธิฤทธิ์สติปัญญาไม่ ปราศจากอาจารย์ท่านผู้เป็นอริยอิทธิฤทธิ์สิทธิสมภารอันมีญาณ อาจหยั่งไป ในพระไตรปิฎกไม่มีแล้ว แลจะชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ดุจหนึ่งเข็มในปลายจะงอยปากยุงอันหยั่งลงในมหาสมุทร ด้วยอาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อย เดชะผลความสัจซึ่งอาราธนานี้ ขอจงบันดาลให้เทพยเจ้าทั้งปวง อันมีในหมื่นจักรวาฬแลท่านผู้เป็นสัมมาทิฏฐิไตรปิฒกธราจารย์ ญาณสัพพัญญูโพธิสัตว์อริยบุทคลเป็นต้นว่า ท้าวสุธาวาศพรหมพระศรีอาริย เมตยโพธิสัตว์สมเด็จอัมรินทราธิราช โฆษเทวบุตร แลธรรมกถึกเทวบุตรทั้งหลายอันเป็นครูรู้พุทธาธิบายแต่ก่อนนั้น จงเห็นแก่พระพุทธสาสนามาช่วยอาตมภาพทั้งปวงผู้เป็นศิษย์ให้มีสติปัญญา บันดาลให้เห็นคล่องต้องตามพระไตรปิฎกให้บริบูรณ์ไว้ จะได้เป็นที่พึ่งแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง จงช่วยเกียจกันซึ่งสรรพอันตราย ขออย่าให้มีขันธมารเทวบุตรมาร มาเบียดเบียนด้วย ฉันนวุติโรคชีวันตราย แลกิเลศมารทั้งหลายอย่าเข้ามาระคนดลสันดานพระสงฆ์ และสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าทั้งสอง สุริวงษานุวงษ์แลราชบัณฑิตย์เสนาบดี ราชบริษัทอันกระทำการบำรุงปรนนิบัติปริยัติสาสนา อย่าให้จิตรคิดย่อหย่อนเกียจคร้านในการมหากุศลอันจะเป็นผลประโยชน์ไปแก่ตนในอนาคตกาล อย่าให้เริศร้างค้างได้ ขอให้จิตรเลื่อมใสศรัทธาอุตสาหะช่วยกันบำรุงพระปริยัติสาสนาให้บริบูรณ์สำเร็จไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ไปแก่เทพามนุษย์ทั้งปวงให้จิรฐิติกาลไปยาวะปัญจสหัสสวัสสปริเฉทกำหนด จงสำเร็จโดยดังมโนรถปณิธานปรารถนา ตามอาตมภาพสงฆ์ทั้งปวงประกาศอาราธนามานี้เถิด.

-----------------------------------

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ