บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



เอกสารทาง
ประวัติศาสตร์

ส่วนของที่ ๑

ส่วนของที่ ๒

ส่วนของที่ ๓

<เอกสารเหล่านี้
ได้พยายาม
พิมพ์รักษาอักขรวิธี
อย่างที่ปรากฎ
ในต้นฉบับเดิม
ทุกประการ>

 

ส่วนที่ ๑

เอกสารเกี่ยวกับการชำระและการจารึก

พระไตรปิฎก ในรัชกาลที่ ๑

-----------------------------------

(จากหนังสือพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา)

-----------------------------------

               ในปีวอกสัมฤทธิศกนั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรมอันเป็นมูลราก แห่งพระปริยัติศาสนา ทรงพระราชศรัทธาพราะราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้เป็นค่าจ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใด ๆ ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระ แปลออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นใส่ตู้ไว้ในหอพระมนเทียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียนทุก ๆ พระอารามแลวงตามความปรารถนา จึงเจ้าหมื่นไวยวรนาถกราบทูลว่า พระไตรปิฎก ซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้ อักษรบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้ ครั้นได้ทรงสดับก็ทรงพระปรารภว่า พระบาลอรรถกถา ฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้ เมื่อผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระปฏิปัตติศาสนา ปฏิเวธศาสนานั้นมิได้ อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยมาก ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้ว เห็นว่า พระปริยัติศาสนาและปฏิปัตติศาสนา และปฏิเวธศาสนา จะเสื่อมศูนย์เป็นอันเร็วนัก สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งมิได้ในอนาคตกาลเบื้องหน้า ควรจะทำนุบำรุงพระวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการเป็นประโยชน์ ไปแก่เทพามนุษย์ทั้งปวง จึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี ครั้นทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ เป็นประธาน บนพระที่นั่งอมรินทรา ภิเษกมหาปราสาท ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรมบาเรียนร้อยรูปมารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสงฆภุตตากิจแล้ว สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึ่งทรงถวาย นมัสการดำรัสเผดียงถาม พระราชาคณะทั้งปวงว่า พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด จึ่งสมเด็จพระสังฆราชพระราชาคณะทั้งปวง พร้อมกันถวายพระพรว่า พระบาลี และ อรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมากมาช้านานแล้ว หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุกบำรุงเป็นศาสนูปถัมภกมิได้ แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุกบำรุงอยู่เห็นจะไม่สำเร็จ และกาลเมื่อ สมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงพระทัศอรหาทิคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์เสด็จบรรทมเหนือพระมรณมัญจาพุทธาอาสน์ เป็นอนุฏฐานไสยาสน์ ณ หว่างนางรังทั้งคู่ในสาลวโนทยานแห่งพระยามลราช ใกล้กรุงสินาราราชธานี มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว พระ ธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น จะเป็นครูสั่งสอนท่านและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างพระตถาคตแปดหมื่นสี่พันพระองค์ ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้แก่พระปริยัติธรรมฉนี้แล้ว ก็เข้าสู่พระปรินิพพาน จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วเจ็ดวัน พระมหากัสสปเจ้าระลึกถึงถ้อยคำพระสุภัทรภิกษุแก่ กล่าวติเตียนพระบรมครูเป็นมูลเหตุจึงดำริห์การจะกระทำสังคานาย เลือกสรรพ พระสงฆ์ทั้งหลายล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่งได้พระอรหัตต์ในราตรี รุ่งขึ้นจะทำสังคายนายพอครบห้าร้อยพระองค์ มีพระเจ้าอชาตสัตรูเป็นศาสนู ถัมภก กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกในพระมณฑป แถบถ้ำสัตตบรรณคูหา ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร เจ็ดเดือนจึงสำเร็จการปฐมสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑๐๐ ปี ภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี สำแดงวัตถุสิบประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ และพระมหาเถร ขีณาสพแปดองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น พระเรวัตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์รำงับ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิแล้วเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณเจ็ดร้อยพระองค์ มีพระสัพพากามิเถรเจ้า เป็นประธาน กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกในวาลุการามวิหาร ใกล้เมืองเวสาลี มีพระเจ้ากาลาโสกราชเป็นศาสนูปถัมภก แปดเดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา จึงพระโมคคลีบุตรดิสเถรเจ้ายังพระเจ้าศรีธรรมา โศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสียถึงหกหมื่น ยังพระศาสนาให้บริสุทธิแล้ว พระโมคคลีบุตรดิสเถร จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณพันพระองค์ กระทำสังคายนายพระไตรปิฎก ในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร มีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก เก้าเดือนจึงสำเร็จการตติยสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปี จึงพระมหินทเถรเจ้าออกไปสู่ลังกาทวีป บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งราก พระพุทธศาสนาลงในเกาะลังกาแล้ว พระขีณาสพทั้งสามสิบแปดพระองค์มีพระมหินทเถร และพระอริฏฐเถรเป็นประธาน กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรมร้อยรูป กระทำสังคายนายพระไตรปิฎก ในมณฑป ถูปารามวิหาร ใกล้กรุงอนุราธบุรี มีพระเจ้าเทวานัมปิยดิสเป็นศาสนูปถัมภก สิบเดือนจึงสำเร็จการจตุตถสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีป พิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง เหตุพระสงฆ์ ซึ่ง ทรงพระไตรปิฎกขึ้นปากเจนใจนั้น เบาบางลงกว่าแต่ก่อน จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ และพระสงฆ์ปุถุชนผู้ทรงพระปริยัติมากกว่าพัน ประชุมกันในอภัยคิรีวิหาร ใกล้เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้าวัฏฏ คามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก กระทำพระมณฑปถวาย ให้กระทำสังคายนายพระไตรปิฎกแล้วจารึกลงลานทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา ปีหนึ่งจึงสำเร็จการปัญจมสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี จึงพระพุทธโฆษาเถรเจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป แปลพระไตรปิฎกอันเป็สิงหฬภาษา จารึกลงลานใหม่ แปลงเป็นมคธภาษา กระทำในโลหปราสาท ณ เมืองอนุราธบุรี มีพระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก ปีหนึ่งจึงสำเร็จ นับเนื่องในฉัฏฐสังคายนาย.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑๕๘๗ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าปรักมหาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่ ณ เมืองจลัตถิมหานคร จึงพระมหากัสสปเถรกับพระสงฆ์ปุถุชนมากกว่าพัน ประชุมกันชำระพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธภาษาบ้าง แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น จารึกลงในลานใหม่ มีพระเจ้า ปรักพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก ปีหนึ่งจึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตมสังคายนาย เบื้องหน้าแต่นั้นมาจึงพระเจ้าธรรมา ผู้เสวยาชสมบัติ ณ เมืองอริมะทะนะบุรี คือเมืองพุกาม เสด็จออกไปลอกพระไตรปิฎกในลังกา ทวีป เชิญใส่สำเภามายังชมพูทวีปนี้ แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาล ไปในนานาประเทศทั้งปวง บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้ลอกต่อ ๆ กันไปเปลี่ยนแปลงอักขระตามประเทศภาษาแห่งตน ๆ ก็ผิดเพี้ยนพิปลาสไปบ้างทุก ๆ พระคัมภีร์ ที่มากบ้างน้อยบ้าง.

               ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพิสีนคร คือเมืองเชียงใหม่ พิจารณาเห็นพระไตรปิฎก พิรุธมาก ทั้งพระบาลี อรรถกถา ฎีกา จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชาธิราช ผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่าจะชำระพระปริยัติให้บริบูรณ์ บรมกษัตริย์จึงให้กระทำมณฑปในมหาโพธารามวิหาร ในพระนคร พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่าร้อยประชุมกันในมณฑปนั้น กระทำชำระพระไตรปิฎก ตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ปีหนึ่งจึงสำเร็จ มีพระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก นับเนื่องในอัฐมสังคายนายอีกครั้งหนึ่ง. เบื้องหน้าแต่นั้นมาพระเถรานุเถระในชมพูทวีปได้เล่าเรียนสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคหบดี ศรัทธาสร้างไว้ในเมืองสัมมาทิฏฐิทั้งปวง คือเมืองไทย, ลาว, เขมร, พม่า, มอญ, เป็นอักษรส่ำสมกันอยู่เป็นอันมาก หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา สามารถอาจจะชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ ให้บูรณะดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้มี ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว บรรดาเมืองสัมมาทิฏฐิ ทั้งปวง ก็ก่อเกิดการยุทธสงครามแก่กัน ถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามไตรปิฎกก็สาบศูนย์สิ้นไป จนถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ถึงกาลพินาศด้วยภัยพม่าข้าศึก พระไตรปิฎก และเจดียฐานทั้งปวงก็เป็น อันตรายสาบศูนย์ สมณะผู้จะรักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนัก ป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้ เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมศูนย์ล่วงโรยมาจนตราบเท่ากาลทุกวันนี้.

               พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดารดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ ขออาราธนา พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นจงได้ ฝ่ายอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนัน เป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติ บริบูรณ์เป็นมูลที่ตั้งพระพุทธศาสนาให้จงได้ พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน แต่จะอุตสาหะชำระพระปริยัติสนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุกบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้ก็นับได้ชื่อว่า นวมะสังคายนาย คำรบเก้าครั้งจะยังพระปริยัติศาสนา ให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัยสิ้นกาลช้านาน แล้วถวายพระพรลา ออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่ จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรรพระราชาคณะฐานานุกรมบาเรียน และอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกาได้บ้างนั้น จัดให้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก สามสิบสองคน จะกระทำการชำระพระไตรปิฎก จึงให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ กราบบังคมทูลพระกรุณา สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงมีพระราชดำรัสให้จัดแจงที่จะกระทำการสังคายนาย ณ วัดนิพพานาราม เหตุประดิษฐานอยู่หว่าง พระราชวังทั้งสอง และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ ให้ชื่อว่าวัดพระศรีสรรเพชดาราม และทรงพระมหาบริจาคพระราชทรัพย์แจกจ่าย เกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวร ฯ วังหลัง ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งจะชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล เพลาละสี่ร้อยสามสิบหกสำรับ ทั้งคาวทั้งหวาน พระราชทานเงินตราเป็นค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ ประชุม พร้อมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชดาราม ในวันกติกบุรณมีเพ็ญเดือนสิบสองในปีวอกสัมฤทธิศก พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒,๓๓๑ พระวัสสา เป็นพุธวารศุกลปักษ์ดฤถีเพลาบ่ายสามโมง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสอง พระองค์ ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยบริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูงและปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม เสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว อาราธนา พระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆ์สมาคม ขออานุภาพเทพเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการ ให้สำเร็จกิจมหาสังคายนายแล้วให้แบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสี่กอง สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎกกองหนึ่ง พระวันรัตนเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎกกองหนึ่ง พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎกกองหนึ่ง พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเศษกองหนึ่ง และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่มิได้นับเข้าในสังคายนาย พระธรรมไตรโลกจึงทูลสมเด็จพระสังฆราช ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย และพระสงฆ์ทั้งสี่กองนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ อุโบสถกองหนึ่ง อยู่ ณ พระวิหารกองหนึ่งพระมณฑปกองหนึ่ง การเปรียญกองหนึ่ง ทรงถวายปากไก่กะปุกหมึกหรดาลครบทุกองค์ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกวัน ๆ วันละสองเวลาทั้งสองพระองค์ เพลาเช้าทรงประเคนสำรับปณีตโภชนียขาทนียาหารแก่พระสงฆ์ให้ฉัน ณ พระระเบียงทั้งรอบ เพลาเย็นทรงถวายอัฐบานและเทียนเป็นนิจทุกวัน และพระสงฆ์กับทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติสอบสวนพระบาลีกับอรรถกถา ฎีกา ที่ผิดเพี้ยนพิปลาส ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ ทุก ๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ และกระทำการชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่วันเพ็ญเดือนสิบสอง จนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือนห้า ปีระกา เอกศก พอครบห้าเดือนก็สำเร็จการสังคายนาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จำหน่ายพระราชทรัพย์เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจารคฤหัสถ์ และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก ซึ่งชำระบริสุทธิแล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ ปิดทองทึบทั้งในปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น เรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายกเชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณมีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุก ๆ คัมภีร์ อนึ่ง เมื่อเสร็จการสังคายนายนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้งสองร้อยสิบแปดรูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นอาทิ ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหะกรรมฉลองพระไตรปิฎก และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่ราชบัณฑิต ทั้งสามสิบสองคน มีพระยาธรรมปโรหิต และพระยาพจนาพิมลเป็นต้นนั้นด้วย แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจไปแก่เทพามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ เป็นปัตตานุปทานบุญญกิริยาวัตถุ อันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว จึงให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศ พระราชยานต่าง ๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก มีเครื่องเล่นเป็นเอนกนานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง และเชิญพระคัมภีร์พระปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุกด์ตั้งในหอมนเทียรธรรมกลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง.

-----------------------------------

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ