บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



เอกสารทาง
ประวัติศาสตร์

ส่วนของที่ ๑

ส่วนของที่ ๒

ส่วนของที่ ๓

<เอกสารเหล่านี้
ได้พยายาม
พิมพ์รักษาอักขรวิธี
อย่างที่ปรากฎ
ในต้นฉบับเดิม
ทุกประการ>

 

ส่วนที่ ๒

เอกสารเกี่ยวกับการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎก

ในรัชกาลที่ ๕

จากหนังสือกฎหมายรัชกาลที่ ๕ หน้า ๘๓๘

หลวงรัตนาญัปติ (เปล่ง) อธิบดีกรมอัยการรวบรวม

-----------------------------------

การสาสนูปถัมภกคือการพิมพ์พระไตรปิฎก

                ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์จะทรงทนุบำรุงพระพุทสาศนาให้เจริญวัฒนายิ่งขึ้นไปประการใด ท่านทั้งหลายก็คงแลเหนในการที่ทรงบำเพญพระราชกุศลสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุให้เป็นภาชนรับรองพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ทั้งเอนกทานบริจากของประณีตต่าง ๆ ฤาการยกย่องโดยสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นเสบียงกำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง ผู้ทรงวิไนยบัญญัติ ของพระพุทธเจ้าให้ดำรงค์อยู่ แลเป็นผู้แนะนำชาวสยามให้ประพฤติการละบาปบำเพ็ญบุญนั้นก็มีเป็นอันมากในปีหนึ่ง ๆ ก็อีกประการหนึ่งที่ทรงบริจากทั้งสองอย่างนั้น ปีหนึ่งก็สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก เพราะเหตุด้วยทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนไตรยนั้น บัดนี้ทรงพระราชดำริห์ถึงพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพุทธภาสิตเป็นที่ร่ำเรียนศึกษาของผู้ที่นับถือพระพุทธสาศนานั้นด้วยเหตุอย่างไร คงปรากฏในกระแสพระราชดำรัสแก่พระเถรานุเถร ซึ่งจะมีต่อไปในน่ากระดาษนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึ่งจะโปรดให้ผเดียงพระสงฆ์ เถรานุเถรที่ชำนาญในพระไตรปิฎกอันมีสมณศักดิ ๑๑๐ พระองค์ เป็นผู้ตรวจแก้ฉบับพระไตรยปิฎกที่จะตีพิมพ์ โปรดให้พระบรมวงษานุวงษข้าราชการฝ่ายคฤหัฐเป็นกรรมสัมปาทิกสภา จัดการพิมพ์พระไตรยปิฎกให้สำเร็จทันในสมัยเมื่อเสด็จดำรงค์ศิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี จะได้มีการมหกรรมฉลองพระไตรยปิฎกนี้ในมงคลสมัย ผู้ซึ่งรับพระบรมราชโองการจัดการพิมพ์พระไตรยปิฎกฝ่ายคฤหัฐซึ่งเป็นกรรมสัมปาทิกสภาพ นั้นคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ กรมพระภาณุพันธุวงษวรเดช สภานายก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ หม่อมเจ้าประภากร พระยาภาสกรวงษที่เกษตราอธิบดี พระยาศรีสุนทรโวหาร ครั้น ณ วันที่ ๗ เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ ปีชวดสัมฤทธิศก โปรดให้เชิญเสด็จพระบรมวงษานุวงษ ที่ทรงพระผนวชได้ดำรงค์สมณศักดิ์เป็นประธานสงฆ์ คือ กรมพระปวเรศร์วริยาลงกรณ์ และกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรกับหม่อมเจ้าที่เป็นราชาคณะทั้งปวง นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่มีสมเด็จพระพุทธโฆษาทั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่มีประโยคเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกกับทั้งพระสงฆ์เปรียญประโยคสูงจบเปรียญ ๓ ประโยค ทั้งในกรุงแลหัวเมืองมีจำนวนพระสงฆ์ ๑๑๐ องค์ ประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาศดาราม แล้วพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ ข้าราชการเฝ้าในที่นั้น เมื่อทรงนมัสการพระรัตนไตรยแล้ว ขุนสุวรรณอักษร กรมพระอาลักษณ์ อ่านประกาศตามกระแสพระบรมราชโองการ อาราธนาพระสงฆ์ให้สอบแก้พระไตรยปิฎกซึ่งตีพิมพ์ ดังจะได้เห็นต่อไปในน่าหลัง

                ครั้นเมื่อประกาศจบแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่น่าอาศนสงฆ์ ทรงแสดงพระราชดำริห์ด้วยพระองค์เองแก่พระสงฆ์ พระราชดำริห์นั้นก็เป็นที่ยินดีของ พระสงฆ์มากแล้ว จึงทรงประเคนขวดหมึกกับปากกาแก่พระเถรานุเถระทั้งปวง ได้รับพระราชทานทั่วกัน เพื่อจะได้ใช้ตรวจแก้ทานฉบับพระไตรยปิฎกต่อไป ทรงประเคนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลากลับไป พระเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ต่อนี้ไปพระเถรานุเถระผู้ใหญ่จะได้แบ่งเป็นกอง ๆ มีพระราชาคณะเปรียญผู้น้อย แลพระเปรียญผู้ช่วยเป็นพนักงานดังนี้คือ พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระปวเรศร์วริยาลงกรณ์ เป็นประธานาธิบดีในการที่จะตรวจแบบฉบับพระไตรยปิฎกพระองค์หนึ่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ๑ สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ ๑ เป็นรองอธิบดีจัดการทั้งปวง ๒ พระองค์ มีแม่กองใหญ่ ๘ กอง คือ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นแม่กองตรวจพระวินัยปิฎกกอง ๑ พระธรรมไตรโลกย์แม่กองกอง ๑ พระธรรมราชาแม่กองกอง ๑ พระเทพโมลีแม่กองกอง ๑ ตรวจพระอภิธรรมปิฎก ๒ กอง คือ พระพิมลธรรมแม่กองกอง ๑ พระธรรมวโรดมแม่กองกอง ๑ กับพระบรมวงษานุวงษ ข้างราชการฝ่ายคฤหัฐที่เป็นกรรมสัมปาทิกสภาพจะได้จัดการตีพิมพ์พระไตรยปิฎกให้สำเร็จ ๑,๐๐๐ ฉบับ ทันพระบรมราชประสงค์ หนังสือพิมพ์พระไตรยปิฎกนี้ ได้ทราบว่าจบหนึ่ง ๔๐ เล่ม จะตีพิมพ์จบก็เป็นหนังสือถึง ๔๐,๐๐๐ เล่ม พระราชทรัพย์หลวงที่จะใช้ในค่าหนังสือนี้คงไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ชั่ง เมื่อจะคิดเทียบกับการที่จานลงใบลานแล้ว ถ้าจะสร้าง ๑,๐๐๐ จบ คงเป็นเงินหลายหมื่นชั่ง ทั้งจะเป็นหนังสือกองโต จนไม่มีที่เก็บไว้ได้ แลช้านับด้วยหลายสิบปีจึงจะแล้วสำเร็จ ทั้งจะเคลื่อนคลาดไม่ถูกต้องกันได้สักฉบับเดียวด้วย เมื่อได้ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มสมุทอย่างนี้ ถ้าตรวจฉบับให้ดีถูกต้องแล้ว ก็จะเป็นการเรียบร้อยเหมือนกันทั้ง ๑,๐๐๐ จบ และการที่จะเก็บรักษาก็ไม่เปลืองที่มาก ถ้าเก็บดี ๆ ก็ทนได้ไม่ผิดกับใบลานมากนัก ในเวลาทำการก็ได้เร็วกว่า ราคาก็ต่ำกว่าที่จะจ้างช่างจานทำหลายสิบเท่า แลเป็นที่น่าจะชื่นชมยินดีของชนทั้งหลาย ที่นับถือพระพุทธสาศนาอย่างยิ่ง ด้วยว่าตั้งแต่พระพุทธสาศนาได้แพร่หลายมาถึงเมืองเราจนกาลบัดนี้ เหนจะไม่เคยมีพระไตรยปิฎก ในหมู่ชาวเราจบมากเท่าครั้งนี้เลย ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระไตรยปิฎก ๑,๐๐๐ จบอย่างนี้ คงไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินที่นับถือพระพุทธสาศนา ประเทศใดได้บริจากพระราชทรัพย์สร้างขึ้นเท่านี้เลย เพราะเหตุนั้น จึงเป็นที่ชื่นชมโสมนัสเป็นอันมาก ขอผลอันดียิ่งจงมีในพระเจ้าอยู่ของเรา แลพระราชอาณาจักรสยามยิ่งขึ้นทุกเมื่อเทอญ.

-----------------------------------

- - - > - - - > next

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ