บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



เอกสารทาง
ประวัติศาสตร์

ส่วนของที่ ๑

ส่วนของที่ ๒

ส่วนของที่ ๓

<เอกสารเหล่านี้
ได้พยายาม
พิมพ์รักษาอักขรวิธี
อย่างที่ปรากฎ
ในต้นฉบับเดิม
ทุกประการ>

 

ประกาศสังคายนาย

-----------------------------------

                ศุภมัสดุ พระพุทธสาศนากาล เป็นอดิดภากล่วงแล้ว ๒๔๓๑ พรรษา ปัตยุบันกาล มนุสิกะสังวัจฉระ มาฆมาศกาฬปักษ ปฏิบทโสรวารปริจเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ด้วยทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธสาศนาว่า เป็น นิยานิกธรรม ทรงเห็นว่าพระปริยัติไตรยปิฎกเป็นมูลรากแห่งพระพุทธสาศนา. เพราะว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทางสุคติ แลจะทำกองทุกข์ทั้งปวงให้ดับสิ้นสูนไปให้บันลุพระนฤพาน ก็ย่อมอาไศรยปริยัติธรรมคำสอนซึ่งเป็นบรมพุทโธวาท ชี้แสดงทางธรรมปฏิบัติ เนื่องอยู่ในพระปริยัติธรรมทั้งสิ้น อนึ่ง ทรงทราบในพระราชหฤทัยว่า แต่ในครั้งพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้ายังดำรงค์พระชนม์อยู่นั้น พระปริยัติธรรมตกแพร่หลายอยู่ในหมู่สาวกมณฑล พระอริยสงฆ์สาวกจำทรงไว้ได้ขึ้นปากขึ้นใจ แตกฉานชำนาญด้วยกันเป็นอันมาก ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคย์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับถือพระพุทธสาศนา ทรงพระราชศรัทธาเป็นสาสนุปถัมภกทนุบำรุงให้กำลังแก่พระสงฆ์พุทธสาวก ได้ทำสังคายนายชำระพระไตรยปิฎกปริยัติธรรมสืบอายุพระพุทธสาศนา นี้เป็นขัติยประเพณีสืบ ๆ มา แลเป็นการพระราชกุศลอันใหญ่ด้วย แลการสร้างพระคัมภีร์พระไตรยปิฎกด้วยอักษรขอมจานลงในใบลาน เหมือนที่สร้างมาแต่โบราณนั้น ก็เป็นของถาวรมั่นคงดีอยู่ แต่ช่างจานกว่าจะจานได้แต่ละคัมภีร์ ๆ นั้น ช้านานนัก พระคัมภีร์จึงไม่ค่อยจะมีมากแพร่หลายไปได้ ช่างจานทุกวันนี้ก็หายากมีอยู่น้อยนัก อนึ่ง อักษรของก็มีผู้รู้อ่านได้น้อยกว่าอักษรไทย แลในการสร้างพระไตรยปิฎกนี้ตัวอักษรก็ไม่เป็นประมาณไม่เป็นการสำคัญอะไรนัก ประเทศที่นับถือพระพุทธสาศนา คือ ลาว มอน พะม่า ลังกา เป็นต้น ก็สร้างพระไตรยปิฎกด้วยอักษรตามประเทศ ตามภาษาของตนทุก ๆ ประเทศ ในสยามรัฐมณฑลนี้ แต่เดิมมิได้ลอกคัดพระคัมภีร์ อักษรเขมรเป็นแบบฉบับมา ชนชาวสยามจึงได้นิยมนับถืออักษรขอมเป็นที่เคารพ ว่าอักษรขอมเป็นของรองรับเนื้อความพระพุทธสาศนา เมื่อจะกล่าวโดยที่จริงเข้าแล้ว ตัวอักษรไม่เป็นประมาณ อักษรใด ๆ ก็ควรใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าได้ตีพิมพ์พระไตรยปิฎกด้วยอักษรสยาม เป็นคัมภีร์ละเล่มหนึ่งบ้างสองเล่มบ้างจะเป็นประโยชน์มาก เรียงพิมพ์ขึ้นครั้งหนึ่งจะตีสักหลาย ๆ ร้อยฉบับก็ได้ ผู้ที่จะเล่าเรียนถึงจะไม่รู้จักอักษรขอมก็จะดูได้โดยสดวก แลจะหยิบยกไปมาก็ไม่เป็นการลำบาก ท่านผู้ที่จะดูสอบสวนก็เป็นการง่าย เพราะหนังสือคัมภีร์หนึ่งก็รวบรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน ไม่กระจัดกระจายขาดตกบกพร่อง ถึงแม้ว่ากระดาษจะไม่เป็นของมั่นคงถาวร เหมือนใบลานก็จริงอยู่ แต่ตีพิมพ์ครั้งหนึ่งมากกว่าใบลานหลายสิบเท่า ก็ถ้าเก็บรักษาไว้ดี ๆ แล้ว ก็ทนนานได้เหมือนกัน เมื่อฉบับใดเป็นประโยชน์ที่พระสงฆ์จะเล่าเรียนมาก ก็ตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอีกได้มาก ๆ เร็วกว่าที่จะจานด้วยใบลาน พระคัมภีร์ปริยัติธรรมก็จะแพร่หลายสมบูรณ์ในสยามรัฐมณฑลสืบไปภายน่า ทรงพระราชดำริห์เหนประโยชน์เช่นนี้จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์พระไตรยปิฎกขึ้นในครั้งนี้ให้แล้วสำเร็จทันกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชศิริราชสมบัติ ในกาลเมื่อบรรจบครบ ๒๕ ปี แล้วจะได้มหกรรมฉลองพระไตรยปิฎก ที่โปรดเกล้า ฯ ให้ตีพิมพ์ขึ้นนั้นแล้วจะได้จำหน่ายไปตามพระอารามต่าง ๆ เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์สามเณร ที่จะเล่าเรียนสืบไป แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า ฉบับหนังสือที่จะตีพิมพ์ครั้งนี้ จะเป็นของมั่นคงถาวรและแพร่หลายไปมาก ถ้าพิมพ์คลาดเคลื่อนไปก็หาเป็นการสมควรไม่ จะต้องตรวจแก้ต้นฉบับให้ถูกถ้วนแล้วจึงส่งไปลงพิมพ์ แล้วต้องตรวจตราแก้ไขตัวพิมพ์มิให้ผิดเพี้ยนได้ จึงมีพระบรมราชโองการให้อาราธนาพระราชวงษานุวงษซึ่งทรงผนวช และพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ฐานานุกรมเปรียญ บันดาที่มาสันนิบาทในที่ประชุมนี้ ช่วยการพระพุทธสาศนาเป็นภาระรับชำระฉบับซึ่งจะไปลงพิมพ์แลสอบทานตรวจหนังสือที่ตีพิมพ์ขึ้นใหม่ให้ถูกถ้วน อย่าให้มีวิปลาสคลาดเคลื่อนได้จงทุก ๆ พระคัมภีร์ ให้เหมือนหนึ่งพระเถรานุเถระแต่ปางก่อน ประชุมกันทำสังคายนายพระไตรยปิฎกทุก ๆ ครั้ง ฉนั้น เพื่อบำรุงพระปริยัติธรรมคำสอนของพระอรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เจริญรุ่งเรืองสืบสาศนายุกาลให้ถาวรไปสิ้นกาลนาน.

-----------------------------------

- - - > - - - > next

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ