บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



เอกสารทาง
ประวัติศาสตร์

ส่วนของที่ ๑

ส่วนของที่ ๒

ส่วนของที่ ๓

<เอกสารเหล่านี้
ได้พยายาม
พิมพ์รักษาอักขรวิธี
อย่างที่ปรากฎ
ในต้นฉบับเดิม
ทุกประการ>

 

พระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์

-----------------------------------

                ขอชี้แจงเพิ่มเติม แต่พระเถรานุเถระ แลพระสงฆ์ทั้งปวง ซึ่งได้ประชุมกันในที่นี้อีกหน่อยหนึ่งว่า การซึ่งมีความประสงค์จะให้ตรวจสอบพระไตรยปิฎกลงพิมพ์ไว้ในครั้งนี้นั้น ด้วยเหนว่าแต่ก่อนมาประเทศที่นับถือพระพุทธสาศนา ยังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยลำพังตัว พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นับถือพระพุทธสาศนา ได้ทำนุบำรุงอุดหนุนการสาศนาอยู่หลายประเทศด้วยกัน คือ เมืองลังกา เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร แลกรุงสยาม เมื่อเกิดวิบัติอันตราย พระไตรยปิฎกขาดสูญบกพร่องไปในเมืองใด ก็ได้อาไศรยหยิบยืมกันมา ลอกคัดคงฉบับบริบูรณ์ถ่ายกันไปกันมาได้ แต่ในกาลทุกวันนี้ ประเทศลังกา แลพม่าตกอยู่ในอำนาจอังกฤษ ผู้ปกครองรักษาบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธสาศนา ก็ทำนุบำรุงแต่อาณาประชาราษฎรไพร่บ้านพลเมือง หาได้อุหนุนการพระพุทธสาศนาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติตามพระพุทธสาศนา ก็ต่างคนต่างประพฤติตามลำพังตน คนที่ชั่วมากกว่าดีอยู่เป็นธรรมดาก็ชักพาให้พระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวิปริตผิดเพี้ยนไปตามอัธยาไศรย ส่วนเมืองเขมรนั้นเล่าก็ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศษ ไม่มีกำลังที่อุดหนุนพระพุทธสาศนาให้เป็นการมั่นคงถาวรไปได้ ส่วนเมืองลาวอยู่ในพระราชาอาณาเขตร เจ้านายแลไพร่บ้านพลเมืองก็นับถือพระพุทธสาศนาวิปริตแปรปรวนไป ด้วยเจือปนผีสางเทวดาจะเอาเป็นหลักฐานมั่นคงก็ไม่ได้ ถ้าพระไตรยปิฎกวิปริตเคลื่อนคลาดไปในเวลานี้ จะหาที่สอบสวนลอกคัดเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้นไม่มีแล้ว การพระพุทธสาศนายังเจริญมั่นคงถาวรอยู่แต่ในประเทศสยามนี้ประเทศเดียว จึงเป็นเวลาสมควรที่จะสอบสวนพระไตรยปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ แล้วสร้างขึ้นไว้ให้มากฉบับแพร่หลาย จะได้เป็นหลักฐานเชื้อสายของสาสนธรรมคำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้าสืบไปภายน่า ก็ธรรมอันใดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอน ย่อมเป็นธรรมอันวิเสศอุดมยิ่ง ซึ่งจะทำให้สัตว์พ้นจากทุกข์ภัยโดยแท้จริง เป็นธรรวเสศเที่ยงแท้ย่อมจะเป็นที่ปรารถนาของผู้มีปัญญาได้เล่าเรียนตริตรอง แล้วปฏิบัติตามที่ได้รับผลมากน้อยตามประสงค์ ก็คงจะยังมีผู้ซึ่งจะอยากเรียนรู้ เพื่อปฏิบัติตามสืบไปภายน่าเป็นแท้ จึงเป็นธรรมที่ควรสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่ชนภายน่า จึงได้คิดจัดการครั้งนี้ เพื่อจะรักษาพระไตรยปิฎกไว้มิให้วิปริตผิดผัน เป็นการยกย่องบำรุงพระพุทธสาศนาให้ตั่งมั่นถาวรสืบไป เพราะฉะนั้นจึงขออาราธนาพระเถรานุเถระแลพระสงฆ์ทั้งปวง ให้ปลงใจเหนแก่พระพุทธสาศนา แลมีความเมตตากรุณาแก่ชนทั้งปวง ช่วยชำระสอบสวนพระไตรยปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความตั้งมั่นของคำสอน แห่งพระพุทธเจ้าสืบไปภายน่า อีกประการหนึ่งการซึ่งจะลงพิมพ์พระไตรยปิฎกครั้งนี้ ได้มีเจตนามุ่งหมายจะใคร่ให้ได้สำเร็จลงทันกำหนด ซึ่งตั้งใจไว้ว่า ถ้าอยู่ในราชสมบัติได้ถึง ๒๕ ปี จะมีการมหกรรมฉลองพระไตรยปิฎกนี้ ให้ป็นการกุศลในมงคลสมัย ก็การซึ่งจะอยู่ได้มีได้จนถึงกำหนดที่ว่านั้น ก็เอาเป็นประมาณแน่ไม่ได้โดยธรรมดา แต่เหนว่าการซึ่งคิดปรารภตรวจสอบพระไตรยปิฎก แลสร้างขึ้นให้แพร่หลายนี้จะเป็นการมีคุณแห่งชนทั้งปวงทั่วไป นับว่าเป็นกองการกุศลอันใหญ่เป็นไปในทางที่ชอบธรรม จะเป็นเครื่องอุปถัมภ์ให้ได้สำเร็จดังความปรารถนา เป็นความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ในส่วนตนอยู่อย่างหนึ่งดังนี้ด้วย ขอให้พระเถรานุเถระแลพระสงฆ์ทั้งปวง จงเหนแก่ตัวหม่อมฉัน ผู้มีความเลื่อมใสอัสุจริต ตั้งใจจัดการทั้งปวงให้เป็นไปตามความประสงค์ทันกำหนด ซึ่งได้ขออาราธนามาแล้วนั้น ด้วยอาไศรยเหตุสองประการนี้ ขอให้พระสงฆ์เถรานุเถระทั้งปวง จงสมักสโมสรพร้อมเพรียงกันแบ่งปันหมวดหมู่ เป็นน่าที่ตรวจสอบพระไตรยปิฎกให้ทั่วถึงโดยลเอียดแล้ว จะได้ลงพิมพ์ไว้ให้สืบอายุพระพุทธสาศนาถาวรไปภายน่าด้วยความมุ่งหมายเหนแต่พระพุทธสาศนา แลตัวหม่อมฉันดังได้ขออาราธนามานี้ เทอญ.

-----------------------------------

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ