บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๔


เล่มที่ ๓๗ ชื่อกถาวัตถุ
...อภิธัมมปิฎก...


 

รายละเอียด
กถาวัตถุ ๒๑๙
..ข้อที่๒๑-๓๐..

๒๑.เรื่องนิโรธ
ความดับทุกข์
...( นิโรธกถา )...

๒๒.เรื่องกำลัง
...( พลกภา )...

๒๓.เรื่องญาณเป็นอริยะ
...( อริยยันติกถา )...

๒๔.เรื่องจิตหลุดพ้น
...( วิมุจจติกถา )...

๒๕.เรื่องจิตกำลังหลุดพ้น
...( วิมุจจมานกถา )...

๒๖.เรื่องบุคคลที่ ๘
...( อัฏฐมก)...

๒๗.เรื่องอินทรีย์ของ
บุคคลที่ ๘
...( อัฏฐมกัสส อินทริยกถา )...

๒๘.เรื่องตาทิพย์
...( ทิพพจักขุกถา )...

๒๙.เรื่องหูทิพย์
.(ทิพพโสตกถา)

๓๐.เรื่องญาณที่รู้ถึงสัตว์
ผู้เกิดตามกรรม
...( ยถากัมมูปคตญาณกถา )...

 

หัวข้อเรื่อง ๒๑๙ เป็นของนิกายไหน

๒๑. เรื่องนิโรธความดับทุกข์
( นิโรธกถา )

    ถาม : นิโรธ ( ความดับ ) มีสองใช่ไหม ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ทุกขนิโรธ ( ความดับทุกข์ ) มีสองใช่ไหม ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายมหิสาสกะ กับ นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า นิโรธสองอย่าง คือ อัปปฏิสังขา-

   นิโรธ ( ความดับมิใช่ด้วยโลกุตตรญาณ ) กับ ปฏิสังขารนิโรธ ( ความดับด้วยโลกุตตรญาณ ) รวมเป็นนิโรธ

   สัจจ์ด้วยกัน ฝ่ายกามจึงซักให้จนด้วยถามว่า ทุกขนิโรธ ( ความดับทุกข์ ) ทุกขนิโรธสัจจ์ ( ความจริงคือ

   ความดับทุกข์ ) ทุกขสัจจ์ ( ความจริงคือทุกข์ ) สมุทยสัจจ์ ( ความจริงคือเหตุให้เกิดทุกข์ ) และมัคคสัจจ์

   ( ความจริงคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ) เป็นต้น มิพลอยมีอย่างละสองไปด้วยหรือ ? คือตามความจริง

   การดับที่เป็นโลกิยะจะจัดเข้าในนิโรธสัจจะไม่ได้ เพราะยังเกิดขึ้นได้อีก นิโรธที่แท้จริงจึงมีอย่างเดียวเท่านั้น

   คือที่เป็นโลกุตตระ )

๒๒. เรื่องกำลัง
( พลกถา )

    ถาม : กำลังแห่งพระตถาคต เป็นของทั่วไปแก่พระสาวกใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : กำลังแห่งพระตถาคต ก็คือกำลังแห่งพระสาวก ; กำลังแห่งพระสาวก ก็คือกำลังแห่งพระ

   ตถาคตอย่างนั้นหรือ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิด เพราะจับความในพระสูตร ในอนุรุทธสังยุตที่ว่า เพราะเจริญทำให้

   มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ก็ย่อมรู้ฐานะ อฐานะ ตามความจริง. เป็นเหตุให้เข้าใจผิดว่า กำลังแห่งพระตถาคตเป็น

   ของสาธารณะแก่พระสาวก ฝ่ายค้านจึงซักต้อนให้เห็นว่า ไม่เสมอกัน )

๒๓. เรื่องญาณเป็นอริยะ
( อริยันติกถา )

    ถาม : ความรู้ตามความเป็นจริงในฐานะและอฐานะ เป็นกำลังแห่งพระตถาคต เป็นอริยะใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ญาณนั้น เป็นมรรค, ผล, นิพพาน, โสดาปัตติมรรค, โสดาปัตติผล, เป็นต้นหรือ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิด ญาณ ๑๐ นั้น เป็นอริยะทั้งหมด คือมิใช่อาสวักขยญาณ ( ญาณอัน

   เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ) เท่านั้น ที่เป็นอริยะ แม้ญาณ ๙ ข้อข้างต้นก็เป็นอริยะด้วย ฝ่ายถามจึงซักว่า ญาณข้อใด

   ข้อหนึ่งใน ๙ ข้อนั้น เป็นมรรค เป็นผล หรือว่าเป็นนิพพาน ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอริยะ ถ้ามิใช่มรรคผลหรือ

   นิพพาน ก็ไม่ควรกล่าวว่า เป็นอริยะ )

๒๔. เรื่องจิตหลุดพ้น
( วิมุจจติกถา )

    ถาม : จิตมีราคะ ย่อมหลุดพ้นใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : จิตที่ประกอบด้วยราคะ, เกิดพร้อมกับราคะ, ระคนด้วยราคะ ฯ ล ฯ เป็นจิตเศร้าหมอง ย่อม

   หลุดพ้นใช่ไหม?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า จิตหลุดพ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตของผู้ปราศจากราคะ แม้จิตที่

   ประกอบด้วยราคะก็หลุดพ้นได้ เปรียบเหมือนผ้าที่จะพ้นจากมลทิล ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผ้าที่สะอาดแล้วเท่า

   นั้น แม้ผ้าที่สกปรกเมื่อซักเข้าก็พ้นจากมลทินได้ ปัญหาเรื่องนี้เป็นเพียงโวหาร ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขณะหลุด

   พ้น เดิมจิตจะเป็นอย่างไรมาก็ตามที แต่ขณะหลุดพ้นจะต้องปราศจากราคะ เพราะฉะนั้น ฝ่ายซักจึงซักว่า

   จิตที่หลุดพ้นเป็นจิตที่มีราคะ มีความเศร้าหมองเช่นนั้นหรือ )

๒๕. เรื่องจิตกำลังหลุดพ้น
( วิมุจจมานกถา )

    ถาม : จิตหลุดพ้นแล้ว กำลังหลุดพ้นใช่หรือไม่ ? ( ทั้งหลุดพ้นแล้ว ทั้งกำลังหลุดพ้น )

    ตอบ : ใช่

    ถาม : จิตหลุดพ้นแล้วบางส่วน ยังไม่หลุดพ้นบางส่วนใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( ความเห็นผิดข้อนี้เนื่องกันกับข้อ ๒๔ คือมีความเห็นว่า จิตที่หลุดพ้นด้วยฌานอันเป็นวิกขัมภนวิมุติ คือหลุด

   พ้นด้วยการข่มไว้ ชื่อว่ากำลังหลุดพ้นด้วยสมุจเฉทวิมุติ คือหลุดพ้นด้วยการตัดขาด ในขณะแห่งมรรค ฝ่าย

   ซักจึงไล่เลียงว่า บางส่วนหลุดพ้น บางส่วนยังไม่หลุดพ้นใช่หรือไม่ )

๒๖. เรื่องบุคคลที่ ๘
( อัฏฐมกกถา )

    ถาม : บุคคลที่ ๘ ( ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ละเครื่องรึงรัดคือทิฏฐิ ( ความเห็น ) ได้ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : บุคคลที่ ๘ เป็นพระโสดาบัน หรือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ฯ ล ฯ ใช่ไหม ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( ความเห็นผิดข้อนี้ เป็นของ นิกายอันธกะ และ นิกายสมิติยะ ซึ่งเห็นว่า บุคคลที่ ๘ คือผู้

   ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ละกิเลสที่รึงรัดจิตได้ ๒ อย่างเพราะไม่

   มีกิเลสฟุ้งขึ้นในขณะแห่งอนุโลมโครตภูและมรรค ฝ่ายถามจึงซักว่า บุคคลที่ ๘ เป็นพระโสดาบันหรือ

   ซึ่งฝ่ายเห็นผิดต้องยอมรับว่าไม่ใช่ เพราะผู้จะละได้ต้องเป็นพระโสดาบัน หรือผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

   เท่านั้น )

๒๗. เรื่องอินทรีย์ของบุคคลที่ ๘
( อัฏฐมกัสส อินทริยกถา )

    ถาม : บุคคลที่ ๘ ( ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ไม่มีอินทรีย์

    คือศรัทธาใช่ไหม ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : บุคคลที่ ๘ ไม่มีศรัทธาหรือ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า บุคคลที่ ๘ คือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค กำลังได้อินทรีย์

   ในขณะแห่งมรรค ไม่ใช่ได้เสร็จแล้ว ผู้ซักจึงซักให้จำนนด้วยเหตุผลหลายข้อ พร้อมทั้งพระพุทธภาษิตใน

   สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑ ที่ว่าพระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งใน

   โสดาปัตติผล ( คือท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ) ก็มีอินทรีย์ ๕ มีศรัทธา เป็นต้น มีปัญญาเป็นที่สุด )

๒๘. เรื่องตาทิพย์
( ทิพพจักขุกถา )

    ถาม : ตาเนื้อ ( มังสจักษุ ) อันธรรมะอุปถัมภ์แล้ว ย่อมเป็นตาทิพย์ ( ทิพยจักษุ ) ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ตาเนื้อคือตาทิพย์ ตาทิพย์คือตาเนื้อหรือ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ และ นิกายสมิติยะ มีความเห็นผิดว่า ตาเนื้อ ซึ่งได้ธรรมะคือฌานที่ ๔ สนับ

   สนุนแล้วย่อมชื่อว่าเป็นตาทิพย์ ฝ่ายถามจึงซักให้จำนนด้วยคำถามมากมาย รวมทั้งการอ้างพระพุทธภาษิตใน

   อิติวุตตกะ ซึ่งว่าด้วยจักษุ ๓ ประการ คือ มังสจักษุ ( ตาเนื้อ ) ทิพยจักษุ ( ตาทิพย์ ) ปัญญาจักษุ ( ตา

   ปัญญา ) มิได้รวมตาเนื้อกับตาทิพย์เข้าด้วยกัน )

๒๙. เรื่องหูทิพย์
( ทิพพโสตกถา )

   ข้อนี้มีคติอันเดียวกับเรื่องตาทิพย์ เป็นแต่เปลี่ยนเรื่องมาเป็นหูทิพย์เท่านั้น เป็นแต่พระพุทธภาษิตที่อ้างแสดงว่า

   หูมี ๒ อย่าง คือมังสโสต ( หูเนื้อ ) และทิพยโสต ( หูทิพย์ )

๓๐. เรื่องญาณรู้ถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรม
( ยถากัมมูปคตญาณกถา )

    ถาม : ญาณรู้ถึงสัตว์ที่เกิดตามกรรม คือตาทิพย์ใช่ไหม ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : คือทำในใจถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรมด้วย เห็นรูปด้วย ตาทิพย์ด้วย อย่างนั้นหรือ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( ข้อนี้เกี่ยวโยงมาจากข้อที่ ๒๘ คือเกิดความเห็นผิดขึ้นว่า ญาณที่รู้ถึงสัตว์ผู้เกิดตามกรรม คือทิพยจักษุ หรือ

   ตาทิพย์ ฝ่ายซักค้านได้ซักให้ยอมรับว่า บุคคลบางคนไม่มีทิพย์จักษุ แต่ก็มีปัญญาชนิดนี้ได้ จึงไม่ควรกล่าว

   ว่า ญาณชนิดนี้กับทิพยจักษุเป็นอันเดียวกัน )


    '๑' . คือทิฏฐิ ความเห็นผิด และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

    '๒' . อินทรีย์ คือธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ