พระจันทรกุมาร ๑
   พระจันทกุมาร (จ) เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ ๗ ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ

    เรื่องมีอยู่ว่าสมัยเมื่อพระเจ้าเอกราชครองราชสมบัติอยู่ในบุปผาดีนคร ท้าวเธอมีมเหสีพระนามว่าโคตมี และมีราชโอรสนามว่า จันทกุมาร มีปุโรหิตชื่อ กัณฑหาลพราหมณ์

    กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนโลภ เมื่อมียศโดยพระเจ้าเอกราชมอบอำนาจให้พิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ก็ชอบกินสินบน เข้าแบบที่มูลบทบรรพกิจสอนเด็กไว้ว่า

  

“ใครเอาข้าวปลามาให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะไม่ถือประเพณี
ขี้ฉ่อก็ได้ดี ไล่ด่าตีมีอาญา”

   นี้เป็นแบบเดียวกัน มีเรื่องความอะไรมา ถ้าไม่อยากชนะ เงิน-เงิน-เงิน เท่านั้นเป็นพระเจ้า ภายในร่างกายของกัณฑหาลพราหมณ์ดูจะเต็มไปด้วยเงิน เลือดคงจะกลายเป็นสีน้ำเงินไปด้วย

    การกินการโกงเป็นของมีมาแล้วแต่ดึกดำบรรพ์ แม้เมื่อกัณฑหาลพราหมณ์เข้ามาเสวยอำนาจ เป็นเรื่องเลื่องลือกระฉ่อนไปหมดในสมัยนั้น ไม่มีใครสามารถจะจัดการได้ หากใครร้องเรียนจะต้องถูกลงโทษฐานะบ่อนทำลายสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์เสียด้วย เลยพวกปากหอยปากปูทั้งหลายต้องนิ่งเงียบปล่อยให้ลือตามใจชอบ

    วันหนึ่งตอนจะเกิดเรื่อง กัณฑหาลพราหมณ์ตัดสินคดี อย่างที่เคยมาแล้ว คือให้คนที่เอาสินบนมาถวายชนะไป ผู้ที่แพ้ก็ได้แต่ก้มหน้าเดินออกจากศาลไปนั่งร้องไห้อยู่ข้างทาง

    พอดีพระมหาอุปราชจันทกุมารเสด็จผ่านมาเห็นเข้า สงสัยจึงเรียกไปตรัสถาม ชายผู้นั้นก็เล่าความให้ฟังตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายถูกบังคับให้แพ้จนตลอดเรื่อง พระจันทกุมารฟังดูแล้วรู้สึกว่าเป็นการอยุติธรรมมากเกินไป จึงเสด็จไปยังศาลพร้อมกับเรียกเรื่องนั้นออกมาดู ซึ่งกัณฑหาลพราหมณ์ก็หยิบมาให้อย่างเสียมิได้พระจันทกุมารก็เรียกโจทก์จำเลยมาสอบสวนทวนพยานกันเสียใหม่ แม้ตาพราหมณ์แกจะไม่ชอบก็ต้องนิ่ง เพราะอำนาจอุปราชเค้นคอแกอยู่ เลยได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ ฟังเรื่องไป

    เมื่อไต่สวนแน่นอนแล้ว เจ้าจันทกุมารก็ตัดสินให้ฝ่ายถูกชนะ ฝ่ายผิดเป็นฝ่ายแพ้ กลับตรงกันข้ามกับคำตัดสินที่ตัดมาแล้ว

    ประชาชนพลเมืองที่ถูกกัณฑหาลพราหมณ์กดไว้ในอำนาจก็ดีใจ คิดว่าได้พ้นจากภัยมืดอันกดคอตนอยู่แล้ว ก็พากันดีใจให้สรรเสริญพระจันทกุมารเป็นการใหญ่ เสียงคนไชโยโห่ร้องดังก้องไปทั่วเมือง ศาลเกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นแล้ว พระเอกราชทรงสดับเสัยงโห่ร้องก็สงสัยสอบถามดู ได้ความว่าเจ้าจันทกุมารมหาอุปราชตัดสินความยุติธรรมให้ราฎรพอใจ จึงไชโยโห่ร้องให้ศีลให้พรพระจันทกุมาร

    พอรุ่งขึ้นก็รับสั่งให้มหาอุปราชว่าการตัดสินคดีของประชาชนพลเมืองแทนกัณฑหาลพราหมณ์สืบไป

    ถ้าเป็นจิวยี่ก็รากเลือดลงแดงตายไปแล้วเพราะความแค้นใจ แต่นี้เป็นกัณฑหาลพราหมณ์แกนิ่งเฉยโดยไม่โต้ตอบอะไรทั้งสิ้น และส่งเสริมด้วยว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง แกเองแก่แล้วอยากจะพักผ่อนเสียบ้าง แต่ยังเห็นแก่แผ่นดินอยู่ จึงถ่อสังขารร่างกายมาทำงาน เมื่อพระจันทกุมารทำได้แกก็พอใจ แต่ในใจของแกสิ แกคิดอย่างไร

  “เจ้านี่อวดดี เองทุบหม้อข้าวตู ดีล่ะ?
ไม่มีโอกาสบ้างก็แล้วไป ถ้าได้โอกาสเมื่อไหร่หัวไม่ขาดก็ดูอีตาพราหมณ์บ้าง”

    นับแต่นั้นมา พราหมณ์ก็อดลาภสักการะที่จะพึงได้จากการทุจริตเช่นเดิม ทำให้แกเคียดแค้นแทบจะรากเลือด แต่ก็จำต้องนิ่งรอโอกาสต่อไป ประชาชนพลเมืองก็ได้รับความยุติธรรมกันอย่างเสมอหน้าเสมอตา

    วันหนึ่งพระเอกราชเสด็จบรรทม และเผอิญทรงสุบินว่าได้ขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสมบัติของพระอินทร์ อันล้วนเป็นทิพย์ทั้งนั้น นางฟ้านางสวรรค์ล้วนแต่งาม ๆ พอเห็นก็ใครจะได้ ในขณะที่กำลังเที่ยวชมอยู่นั้นเองก็บังเอิญตกพระทัยตื่น รู้สึกเสียดายมากอยากจะฝันนต่อ เสียดายเหลือเกิน แต่จะทำยังไง ๆ มันก็ไม่ฝัน กลับพระเขนยก็แล้ว ข่มตาให้หลับก็แล้วทั้งแพไม่ได้ฝันต่ออีกเลย

    สมบัติพระอินทร์ติดอกติดใจพระเจ้าเอกราชเป็นยิ่ง รุ่งเช้ารีบออกท้องพระโรงแต่เช้า พอเห็นกัณฑหาลพราหมณ์ปุโรหิตคนโปรด ผู้ที่เคยฉ่อชนโกงกินสมบูรณ์พูลสุขไปด้วยความเดือดร้อนชองประชาชนพลเมือง หน้าตาของแกแดงก่ำไปด้วยโลหิต ก็ตรัสเล่าสุบินให้ฟังและยังแถมท้ายว่า
   “ทำไมถึงจะได้สมบัติเหล่านั้นบ้าง”

    ตาพราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์แต่ร่างกาย เข้าทำนองความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะกังวลอยู่ด้วยโทสะและราคะพอได้ฟังพระเจ้าอยู่หัวเล่าพระสุบิน และได้ยินดำรัสเช่นนั้น ใจก็คิด

   “หวานตูล่ะที่นี้ จันทรกุมารเคยเล่นงานตูอย่างเจ็บแสบนัก ทุบหม้อข้าวของตู ทีนี้จะได้เห็นดีกันล่ะ เองต้องตาย ตายอย่างหมูหมาไม่มีใครใครแยแส” แกจึงทูลว่า

   “ขอเดชะ พระสุบินของพระองค์เป็นลางสังหรณ์ว่าพระองค์จะได้สมบัติเหล่านั้น แต่ทำไมจึงจะได้ ก็ได้เป็นเหตุให้พระองค์มาตรัสถามกระหม่อมฉัน ต้องบูชายัญพระเจ้าค่ะจึงจะได้”
   “บูชายัญเขาทำกันอย่างไรล่ะ?”
   “ไม่ยากพระเจ้าค่ะ แต่ก็ดูยาก”
   “เอ๊ะ ? ว่ายังไงไม่ยาก แต่ดูยาก"
   “คือว่า การกระทำบูชายัญที่จะมีผลมากได้สมบัติทิพย์ ต้องเสียสละของที่รักออกบูชายัญพระเจ้าค่ะ”
   “ของที่รัก” พระเจ้าเอกราชรำพึง
   “อะไรนะ ?”
   “ก็พระมเหสี บุตร ธิดา ช้างแก้ว ม้าแก้ว สิพระเจ้าค่ะ”
   “ถ้าอย่างนั้นเห็นจะพอได้”

    กัณฑหาลพราหมณ์จึงทูลให้ทราบว่า จะต้องใช้เลือดในลำคอพระมเหสี บุตร ธิดา ช้างม้า และเศรษฐีประจำพระนครมาทำการบูชายัญจึงจะเห็นผล

    พระเจ้าเอกราชผู้งมงาย หวังสมบัติทิพย์ก็เชื่อถือถ้อยคำของตาพราหมณ์เจ้าเล่ห์ โดยสั่งให้ตาพราหมณ์จัดการเรื่องการบูชายัญโดยด่วน

    ข่าวได้แพร่สะพัดไปทุกมุมเมืองบุปผวดีว่าพระเจ้าเอกราชจะฆ่ามเหสี โอรส ธิดา ช้างแก้ว ม้าแก้ว แล้วเศรษฐีประจำเมืองอีก ๔ คน บูชายัญ เพื่อหวังจะได้สมบัติอย่างพระอินทร์

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3