ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน
คำนำ
อานาปานสติสูตร
สติปัฏฐานสูตร
กายคตาสติสูตร
อาพาธสูตร (คิริมานนทสูตร)
มรณัสสติสูตร (ที่ ๑)
มรณัสสติสูตร (ที่ ๒)
เสขปฏิปทาสูตร
โลกวิปัตติสุตร
อาทิตตปริยายสูตร
อปัณณกสูตร
วังสสูตร
สัปปุริสสูตร
อปัณณกสูตร

        "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่า เธอปรารภปัญญาเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน ?
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
        - เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ๑
        - เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ๑
        - เป็นผู้ประกอบความเพียร ๑
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างไร ?
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
        เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
        ฟังเสียงด้วยหูแล้ว .......
        ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ........
        ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว .............
        ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ...........
        รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมในมนินทรีย์
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอย่างนี้แล
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างไร ?
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
        พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา ไม่ใช่เพื่อจะประดับ ไม่ใช่เพื่อจะประเทืองผิว
        แต่ฉันเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อจะกำจัดความเบียดเบียนลำบาก เพื่อจะอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า เราจะกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความที่กายจะเป็นไปได้นาน ความเป็นผู้ไม่มีโทษ และความอยู่สำราญจะเกิดมีแก่เรา ดังนี้
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้แล
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างไร ?
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
        ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน
        ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรี ตลอดยามกลางแห่งราตรี
        ย่อมสำเร็จสีหาไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ
        ย่อมลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยาม
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอย่างนี้แล
        ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติไม่ผิด และชื่อว่าเธอปรารภปัญญา เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ฯ"

อปัณณกสูตร ๒๐/๑๒๙

อาทิตตปริยายสูตร      วังสสูตร