บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๔


เล่มที่ ๓๗ ชื่อกถาวัตถุ
...อภิธัมมปิฎก...


 

รายละเอียด
กถาวัตถุ ๒๑๙
..ข้อที่๗๑-๘๐..

๗๑.เรื่องความแก่ความตาย
เป็นผล
( ชรามรณัง กัมม-
วิปาโกติกถา )

๗๒.เรื่องผลของอริยธรรม
(อริยธัมมวิปากกถา )

๗๓.เรื่องผลมีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา
( วิปาโก วิปากธัมมธัมโมติกถา )

๗๔.เรื่องคติ ๖
(ฉคติกถา )

๗๕.เรื่องภพที่คั่นในระหว่าง
( อันตราภวกถา )

๗๖.เรื่องกามคุณ
...(กามคุณกถา)...

๗๗.เรื่องกาม
...( กามกถา )...

๗๘.เรื่องธาตุที่เป็นรูป
(รูปธาตุกถา )

๗๙.เรื่องธาตุที่เป็นอรูป
(อรูปธาตุกถา)

๗๐.เรื่องอายตนะของรูปธาตุ
(รูปธาตุยา อายตนกถา )

 

หัวข้อเรื่อง ๒๑๙ เป็นของนิกายไหน

๗๑. เรื่องความแก่ความตายเป็นผล
( ชรามรณัง กัมมวิปาโกติกถา )

    ถาม : ความแก่ความตายเป็นผลใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ความแก่ความตายเป็นที่ตั้งแห่งความรู้สึกเป็นสุข, เป็นทุกข์, ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข, เป็นต้น

   ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ฝ่ายค้านจึงซักค้านหลายข้อดั่งตัวอย่างข้างต้น รวมทั้งซักว่า

   ความแก่และความตายเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกันแน่ ฝ่ายเห็นผิดเห็นว่า ความแก่และความตาย

   เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา จึงเป็นผลของกุศลกรรม แต่ตามหลักวิชาไม่จัดว่า ความแก่ความตายเป็นผลของ

   กรรมดี กรรมชั่ว และตามหลักวิชาคำว่า วิบากหรือผลของกรรม จะต้องเกี่ยวกับเวทนา, ผัสสะ, สัญญา,

   เจตนา, จิต แต่เมื่อฝ่ายเห็นผิดยอมรับว่า ความแก่ความตายไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ จึงชื่อว่ายอมรับว่า มิได้เป็น

   วิบาก )

๗๒. เรื่องผลของอริยธรรม
( อริยธัมมวิปากกถา )

    ถาม : ผลของอริยธรรมไม่มีใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ความเป็นสมณะ ความเป็นพรหม ( พรหมจรรย์ ) มีผลมากมิใช่หรือ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า ผลของอริยธรรมไม่มี

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ผลของความเป็นสมณะ ก็คือการละกิเลสเท่านั้น มิใช่ธรรมที่เป็น

   จิตหรือเจตสิก ฝ่ายค้านจึงซักค้านหลายข้อดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๗๓. เรื่องผลมีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา
( วิปาโก วิปากธัมมธัมโมติกถา )

    ถาม : ผลมีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา ( ผลเป็นปัจจัยให้เกิดผล ) ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ผลของผลนั้น มีธรรมซึ่งเป็นผลเป็นธรรมดา(ผลของผลนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดผลอีก)ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า ผลเป็นปัจจัยให้เกิดผล จึงถูกซักดั่งตัวอย่างข้างต้น )

๗๔. เรื่องคติ ๖
( ฉคติกถา )

    ถาม : คติมี ๖ ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : พระผู้มีพระภาคตรัสคติไว้ ๕ อย่าง คือ นรก, กำเนิดดิรัจฉาน, เปรตวิสัย, มนุษย์และเทพ

   มิใช่หรือ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า คติมี ๖

   ( นิกายอันธกะ และ อุตตราปถกะ มีความเห็นว่า คติมี ๖ คือเพิ่มอสุรกายเข้าด้วย แต่เมื่อ

   ถูกย้อนถามถึงคติ ๕ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโลมหังสสูตร ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า มหาสีหนาทสูตร

    ก็จำเป็นต้องยอมรับ เพื่อมิให้เป็นการปฏิเสธพระพุทธภาษิต แต่ก็ยังยืน

   ยันในเรื่องคติ ๖ เพราะถือว่าพระพุทธภาษิตแห่งอื่นมีตรัสไว้ถึงอสุรกาย ฝ่ายค้านจึงค้านต่อไปว่า อสุรกายสง-

   เคราะห์เข้าในพวกเปรตมิใช่หรือ ฝ่ายเห็นผิดยอมรับแต่ก็แย้งต่อไปอีกว่า บริษัทของท้าวเวปจิตติ ที่เรียกว่า

   ยักษ์ จะว่าอย่างไร ฝ่ายค้านซักค้านให้ยอมรับอีกว่า บริษัทของท้าวเวปจิตติสงเคราะห์เข้าในเทพ )

๗๕. เรื่องภพที่คั่นในระหว่าง
( อันตราภวกถา )

    ถาม : ภพที่คั่นในระหว่างมีอยู่ ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : เป็นกามภพ, หรือเป็นรูปภพ, หรือเป็นอรูปภพ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายปุพพเสลิยะ และ สมิติยะ เข้าใจผิดว่า มีอันตราภพ คือภพที่คั่นในระหว่าง เพราะตี

   ความ คำว่า อันตราปรินิพพายี ที่แปลว่า ปรินิพพานในระหว่าง ความจริงในที่นั้น หมายความว่า อายุยังไม่

   เต็มตามกำหนดอายุขัยก็ปรินิพพานก่อน นอกจากนั้นผู้เข้าใจผิดเชื่อว่า ระหว่างเวลาที่รอถือปฏิสนธิ ๗ วัน

   หรือเกินกว่า ๗ วันนั้น ชื่อว่ามีอันตราภพ ฝ่ายค้านจึงซักค้านให้ตอบว่า อันตราภพเป็นภพอะไรในภพทั้งสาม

   ซึ่งก็ตอบปฏิเสธ )

๗๖. เรื่องกามคุณ
( กามคุณกถา )

    ถาม : กามคุณ ๕ เท่านั้น เป็นกามธาตุใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ฉันทะ ( ความพอใจ ) ที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ นั้น มีอยู่มิใช่หรือ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า กามคุณ ๕ เท่านั้นเป็นกามธาตุ

   (กามคุณ ๕ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ นิกายปุพพเสลิยะมี

   ความเห็นยืนยันว่า กามธาตุนั้น คือกามคุณ ๕ เท่านั้น แต่ตามคติทางพระพุทธศาสนา กามธาตุ ย่อมหมาย

   รวมทั้ง วัตถุกาม คือกามคุณ ๕ และ กิเลสกาม คือกิเลสเป็นเหตุใคร่ เช่น ฉันทะ ความพอ

   ใจ ราคะ ความกำหนัดยินดี และ กามภพ คือความมีความเป็นที่เนื่องด้วยกาม ฝ่ายค้านจึงเอากิเลส

   กามมาถามว่า มิได้เกี่ยวข้องกันดอกหรือ )

๗๗. เรื่องกาม
( กามกถา )

    ถาม : อายตนะ ๕ เท่านั้นเป็นกามมิใช่หรือ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ฉันทะ ( ความพอใจ ) ที่ประกอบด้วยอายตนะ ๕ นั้น มีอยู่มิใช่หรือ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรกล่าวว่า อายตนะ ๕ เท่านั้นเป็นกาม

   (อายตนะ ๕ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ นิกายปุพพเสลิยะ มีความเห็นผิดข้อนี้ ประเด็น

   สำคัญที่ถูกโต้แย้งเหมือนข้อ ๗๖ )

๗๘. เรื่องธาตุที่เป็นรูป
( รูปธาตุกถา )

    ถาม : ธรรมที่มีรูปเป็นรูปธาตุใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : รูปเป็นภพ เป็นคติ เป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ มีความเห็นผิดว่า รูปธรรมเท่านั้นเป็นรูปธาตุ แต่ความจริง รูปภพก็เป็นรูปธาตุด้วย

   ฝ่ายค้านจึงซักว่า รูปนั้น หมายความไปถึงภพด้วยหรือไม่ เป็นการเตือนให้เห็นว่า คำว่า รูป มีความหมายไม่

   คลุมไปถึงคำว่า รูปภพ เพราะฉะนั้น ฝ่ายเห็นผิดจึงยอมรับว่า รูปมิใช่ภพ อันเป็นการยอมรับว่า คำจำกัดความ

   ของตนยังไม่รัดกุมพอ )

๗๙. เรื่องธาตุที่เป็นอรูป
( อรูปธาตุกถา )

    ถาม : ธรรมที่ไม่มีรูปเป็นอรูปธาตุใช่ไหม ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : เวทนาเป็นภพ เป็นคติ เป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เป็นต้น ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   (ข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อ ๗๘ อรูปธาตุ มิได้หมายเพียงธรรมที่ไม่มีรูป แต่หมายถึงอรูปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อ

    นิกายอันธกะ เห็นผิด จึงถูกซักว่า เวทนาซึ่งเป็นอรูปมีความหมายคลุมไปถึงอรูปภพหรือไม่ ซึ่ง

   ฝ่ายเห็นผิดจำต้องปฏิเสธ )

๘๐. เรื่องอายตนะของรูปธาตุ
( รูปธาตุยา อายตนกถา )

    ถาม : อัตตภาพของรูปธาตุที่มีอายตนะ ๖ มีอยู่ใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ในรูปธาตุนั้น มีอายตนะคือจมูกใช่หรือไม่ ?

    ตอบ : ใช่

    ถาม : ในรูปธาตุนั้น มีอายตนะคือกลิ่นหรือไม่ ?

    ตอบ : ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น

   ( นิกายอันธกะ และ สมิติยะ มีความเห็นว่า พวกพรหมมีอัตตภาพ มีอายตนะครบ ๖ ฝ่าย

   ค้านจึงซักค้านดังตัวอย่างข้างต้น )


    '๑' . ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒ ) ๑๒ . มหาสีหนาทสูตร


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ