บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๔
หมวดนี้มี

๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร
๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร
๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร
๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร
๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร

..การเผชิญความกลัว
..บางพวกหลงวันหลงคืน
..ทรงแสดงข้อ
ปฏิบัติของพระองค์
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร

 

หน้าที่ ๒ ๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร

..กำลัง ๑๐
..เวสารัชชะ ๓
..บริษัท ๘
..กำเนิด ๔
..คติ ๕
..การประพฤติ
พรหมจรรย์มีองค์ ๔
..การทรมาน
พระองค์อย่างอื่นอีก
..ทรงทดลอง
ความบริสุทธิ์
เพราะเหตุต่าง ๆ
..คนหนุ่มจึงมี
ปัญญาจริงหรือ?
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร

..สรุป

 

หน้าที่ ๓ ๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร

 

หน้าที่ ๕ ๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชนิกาย มูลปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๔
หน้า ๒

๑๑ . จูฬสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการบรรลือสีหนาทเล็ก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สมณะที่   ๑ ถึงที่   ๔ ( โสดาบัน ถึงอรหันต์ ) มีเฉพาะในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะเหล่านี้. ท่านทั้งหลายพึงบรรลือสีหนาทโดยชอบนี้เถิด.

    ๒. ตรัสต่อไปว่า ถ้านักบวชลัทธิอื่นถามถึงเหตุผลที่กล่าวอย่างนี้ ก็พึงอ้างความเลื่อมใสในศาสดาในธรรม การทำให้สมบูรณ์ในศีล และอ้างผู้ร่วมประพฤติธรรม ซึ่งเป็นที่รักพอใจทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ถ้าเขาอ้างว่าในลัทธิของเขาก็มีเหมือนกัน จะมีอะไรทำให้ต่างกัน ก็พึงถามว่า ความสำเร็จ ( สูงสุด ) ของท่านมีอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ถ้าจะตอบให้ชอบ เขาก็ควรตอบว่า มีอย่างเดียว พึงถามต่อไปว่า ความสำเร็จนั้น ๆ สำหรับผู้มีราคะ โทสะ   โมหะ   และกิเลสอื่น ๆ อีก   หรือว่าสำหรับผู้ปราศจากราคะ   โทสะ   โมหะ   และกิเลสอื่น ๆ ถ้าจะตอบให้ชอบ เขาก็ควรตอบว่า สำหรับผู้ปราศจากราคะ   โทสะ โมหะ   และกิเลสอื่น ๆ.

    ๓ ตรัสถึงภวทิฏฐิ (ความเห็นยึดเรื่องความมีความเป็น ) วิภวทิฏฐิ ( ความเห็นยึดความไม่มีไม่เป็น ) สมณพราหมณ์ผู้ติดอย่างหนึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่รู้เท่าทันตามเป็นจริง เรากล่าวว่าจะไม่หมดกิเลส ไม่พ้นไปจากความแก่ความตายและความทุกข์ ได้. ต่อเมื่อรู้เท่าทันตามเป็นจริง จึงหมดกิเลส และพ้นไปจากความแก่ความตายและความทุกข์ได้.

    ๔. ทรงแสดงอุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น )   ๔ อย่าง คือความยึดมั่นในกาม ,   ทิฏฐิ ,   ศีลพรต   (ข้อปฏิบัติประจำลัทธิ พิธี ) และวาทะว่าตัวตน แล้วตรัสถึงสมณพราหมณ์บางพวก ที่ปฏิญญาตนว่า กล่าวถึงการกำหนดรู้อุปาทานทั้งปวง แต่ก็ไม่บัญญัติการกำหนดรู้อุปาทานทั้งปวงจริง คงบัญญัติอย่างเดียวบ้าง  ๒ อย่างบ้าง  ๓ อย่างบ้าง ขาดไป  ๓ อย่าง   ๒ อย่างบ้าง อย่างเดียวบ้าง ( คืออุปาทานมี   ๔ เมื่อบัญญัติการกำหนดรู้เพียงอย่างเดียว ก็ขาดไป  ๓ อย่าง บัญญัติการกำหนดรู้เพียง   ๒ อย่าง ก็ขาดไป  ๒ อย่าง และบัญญัติการกำหนดรู้เพียง   ๓ อย่าง ก็ขาดไปอย่างหนึ่ง ไม่สมบูรณ์ได้ ) ความเลื่อมใสในธรรมวินัยในศาสดา เป็นต้น จึงไม่ถึงความดีเลิศ ( สัมมัคคตะ ) เพราะข้อนั้นเป็นไปในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี.

    ๕. ครั้นแล้วตรัสถึงอุปาทาน   ๔ ว่าเกิดจากตัญหา ,   ตัญหาเกิดจากเวทนา ,  เวทนาเกิดจากผัสสะ ,  ผัสสะเกิดจากอายตนะ  ๖ , อายตนะ ๖   เกิดจากรูปนาม ,   นามรูปเกิดจากวิญญาณ ,   วิญญาณเกิดจากสังขาร ,  สังขารเกิดจากอวิชชา ,   เมื่อละอวิชชาได้ วิชชาก็เกิดขึ้น จึงทำให้ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานทั้งสี่ เมื่อไม่มีอุปาทานก็ไม่ดิ้นรน เมื่อไม่ดิ้นรน ย่อมดับสนิท ( ปรินิพพาน ) เฉพาะตน   สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อเป็นอย่างนี้อีก . ( คำอธิบายศัพท์ในข้อ   ๕ นี้ มีอยู่แล้วในสัมมาทิฏฐิสูตรที่ ๙ พระสุตตันตะเล่มที่ ๔ หน้า ๑ ซึ่งย่อมาแล้ว).

๑๒ . มหาสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการบรรลือสีหนาทใหญ่

   พระผู้มีพระภาคประทับในราวป่า ด้านตะวันตกแห่งพระนคร นอกกรุงเวสาลี.

    ๑. สุนักขัตตลิจฉวี   ซึ่งหลีกไปจากธรรมวินัย ได้กล่าววาจาในที่ชุมนุมชนในกรุงเวสาลีว่า พระสมณโคดมไม่มีอุตตริมนุสสธรรม ( ฤทธิ์อำนาจพิเศษ ) แสดงธรรมตามที่นึกเดาเอา พิจารณาเอา ตามปฏิภาณของตน แต่ธรรมนั้นก็นำให้ผู้ที่ทำตามพ้นทุกข์ได้. พระสารีบุตรได้บิณฑบาตในกรุงเวสาลี ได้ทราบเรื่อง จึงนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค.

    ๓. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สุนักขัตตลิจฉวีกล่าวด้วยความโกรธ คิดว่าจะกล่าวโทษ แต่ที่กล่าวว่าธรรมะที่เราแสดงนำให้ผู้ทำตามพ้นทุกข์ได้นั้น ก็เป็นการกล่าวคุณ . แล้วทรงแสดงว่า สุนักขัตตลิจฉวีไม่มีญาณหยั่งรู้ธรรมเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับการแสดงฤทธิ์ได้ของพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับทิพย์โสต ( หูทิพย์ ) ของพระพุทธเจ้า , เกี่ยวกับเจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้จิตผู้อื่น ) ของพระพุทธเจ้า.

กำลัง ๑๐

   ๓. ทรงแสดงกำลังของพระตถาคต   ๑๐ ประการ คือ  ๑. ฐานาฐานญาณ ( ญาณกำหนดรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ )   ๒. วิปากญาณ ( ญาณกำหนดรู้ผลแห่งกรรมในอดีตอนาคตและปัจจุบัน )  ๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ญาณกำหนดทางไปสู่ภูมิทั้งปวง )  ๔. นานาธาตุญาณ ( ญาณกำหนดรู้ธาตุต่าง ๆ )  ๕. นานาธิมุตติกญาณ ( ญาณกำหนดรู้อัทธยาศัยต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลาย )   ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ) ญาณกำหนดรู้ความหย่อนและความยิ่งแห่งอินทรีย์   คือศรัทธา,   ความเพียร ,   สติ ,   สมาธิ ,  ปัญญาของสัตว์ทั้งหลาย )   ๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ( ญาณกำหนดรู้อาการ มีความเศร้าหมอง เป็นต้น แห่งธรรมมีฌาน เป็นต้น ) คือฌานาทิสังกิเลสาญาณ   ๘. ปุพฺเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณกำหนดระลึกชาติหนหลังได้ )  ๙. จุตูปปาตญาณ หรือทิพย์จักษุญาณ ( ญาณกำหนดรู้ความจุติความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย )   ๑๐. อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำให้กิเลสที่หมักดองสันดานสิ้นไปได้ ) แล้วตรัสสรุปในที่สุดของแต่ละข้อว่า เพราะมีญาณแต่ละข้อนี้ จึงปฏิญญาความเป็นใหญ่   บรรลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร ( ธรรมะซึ่งเปรียบเหมือนลูกล้อหมุนไปสู่ความเจริญอันประเสริฐ).

เวสารัชชะ ๔

    ๔. แล้วทรงแสดงความเป็นผู้แกล้วกล้า (เวสารัชชะ) ของพระตถาคต   ๔ อย่าง ซึ่งเป็นเหตุให้พระองค์ทรงปฏิญญาความเป็นใหญ่ บรรลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร คือไม่ทรงเห็นว่าจะมีพมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกจะกล่าวทักท่วงได้โดยชอบธรรมว่า

    ๑. ธรรมที่ทรงปฏิญญาว่าตรัสรู้แล้ว มิได้ทรงตรัสรู้
    ๒. อาสวะที่ทรงปฏิญญาว่าสิ้นไปแล้ว ยังไม่สิ้นไป
    ๓. ธรรมที่ตรัสว่าทำอันตราย ไม่ทำอันตรายได้
    ๔. ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใด ไม่นำผู้นั้นซึ่งทำตามให้สิ้นทุกข์โดยชอบได้.

บริษัท ๘

   ๕. แล้วทรงแสดงถึงบริษัท   ๘ ที่พระองค์ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้แกล้วกล้า  ๔ ประการ เสด็จเข้าไปหา เคยประทับนั่งสนทนาสากัจฉา ( ไต่ถาม โต้ตอบ ) กับบริษัทเหล่านั้น นับจำนวนหลายร้อยบริษัท คือ   กษัตริย์ ,   พราหมณ์ ,   คฤหบดี ( ผู้ครองเรือน ) ,   สมณะ ,   เทพชั้นจาตุมหาราช , เทพชั้นดาวดึงส์ ,   มาร , พรหม .   ไม่ทรงเห็นนิมิตหมายที่ว่าจะเกิดความกลัว ความหวาดกลัว ความหวาดแก่พระองค์ในบริษัทนั้น ๆ.

กำเนิด ๔

    ๖. แล้วทรงแสดงกำเนิด   ๔ คือกำเนิดจากไข่ (อัณฑชะ ) , กำเนิดจากปุ่มเปือก ( เกิดจากครรภ์มารดา = ชลาพุชะ) , กำเนิดจากของโสโครก ( สังเสทชะ เช่น ในของเปื่อยเน่า ในน้ำครำ ), และเกิดเติบโตขึ้นทันที ( โอปปาติกะ เช่น เทพ , สัตว์นรกบางจำพวก , มนุษย์บางจำพวก , เปรตบางจำพวก ).

คติ ๔

   ๗. แล้วทรงแสดงตติ   ๕ คือนรก, กำเนิดเดียรฉาน , ภูมิแห่งเปรต , มนุษย์ , เทพ ซึ่งพระองค์ทรงทราบ พร้อมทั้งทรงหนทางและข้อปฏิบัติที่จะให้ไปเกิดในคตินั้น ๆ นอกจากนั้นยังทรงแสดงด้วยว่าทรงรู้จักนิพพาน ( สภาพที่ดับเย็น ปราศจากกิเลสและความทุกข์ ) พร้อมทั้งหนทางและข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงพระนิพพานด้วย.

การประพฤติพรหมจรรย์มีองค์ ๔

    ๘. ทรงแสดงการประพฤติพรหมจรรย์มีองค์   ๔ ของพระองค์ คือ   ๑. บำเพ็ญตบะอย่างยิ่ง  ๒. เป็นผู้ปอนหรือเศร้าหมองอย่างยิ่ง  ๓. เป็นผู้รังเกียจ ( ในการทำลายชีวิตสัตว์ ) อย่างยิ่ง   ๔. เป็นผู้สงัดอย่างยิ่ง.

    แล้วทรงแสดงตัวอย่าง ในการบำเพ็ญตบะ เช่น ทดลองเปลือยกาย นั่งกระหย่ง นอนบนหนาม เป็นต้น; ในการเป็นผู้ปอน เช่น ปล่อยให้ธุลีละอองหมักหมม จับกายอยู่จนเป็นสะเก็ด เหมือนสะเก็ดไม้โดยไม่คิดจะลูบทิ้ง ; ในการรังเกียจ เช่น มีสติก้าวเดิน ตั้งความเอ็นดู แม้ในหยดน้ำ เพื่อมิให้สัตว์มีชีวิตขนาดเล็กถึงความพินาศ ; ในการเป็นผู้สงัด เช่น ทรงเข้าอยู่ป่า หลีกเลี่ยงมิให้พบคนเลี้ยงโค เลี้ยงปศุสัตว์คนหาหญ้าหาฟืน คนทำงานในป่า . ( นี้เป็นการแสดงว่าทรงทดลองหมดทุกอย่างที่นักบวชที่นักบวชสมัยนั้นประพฤติปฏิบัติกัน อันเป็นประโยนช์อย่างยิ่งในภายหลังที่ทรงคัดค้านการทรมานตัว จะได้ทรงอ้างได้ว่า ทรงทดลองมาแล้วไม่ได้ผล).

การทรมานพระองค์อย่างอื่นอีก

    ทรงแสดงการทดลองของพระองค์เกี่ยวกับอาหาร คือมูลโค รวมทั้งมูตร แลกรีส ( อุจจาระ ) ของพระองค์เอง.

    ทรงแสดงถึงการเข้าไปอยู่ในป่าที่น่ากลัว ซึ่งคนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเข้าไปสู่ป่าเช่นนั้น ย่อมขนพองสยองเกล้าโดยมาก.

    ทรงแสดงถึงการบรรทมหนุนกระดูกศพในป่าช้า บางครั้งเด็กเลี้ยงโคมาถ่มน้ำลายรด ปัสสวะรด เอาขี้ฝุ่นโรย เอาซี่ไม้ยอนช่องพระกรรณ แต่ก็ไม่ทรงมีจิตคิดร้ายในเด็กเหล่านั้น เป็นตัวอย่างแห่งการอยู่ด้วยอุเบกขา .  

ทดลองความบริสุทธิ์เพราะเหตุต่าง ๆ

   ๑. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยอาหาร จึงทรงยังพระชนมชีพด้วยผลกะเบา เคี้ยวผลกะเบา ผลกระเบาป่น ดื่มน้ำกะเบา บริโภคกะเบาที่ทำเป็นชนิดต่าง ๆ; ทรงยังพระชนมชีพด้วยถั่ว , งา , ข้าวสาร ( ลองเป็นอย่าง ๆ ไป ) ลดลงจนเหลือเพียงกะเบา , ถั่ว , งา หรือข้าวสารเพียงเมล็ดเดียว เพราะขาดอาหารนั้น ทำให้พระกายซูบซีด ซวนล้ม เมื่อลูบพระกาย พระโลมาซึ่งมีรากเน่าก็หลุดจากพระกาย แต่มิได้ทรงบรรลุธรรมอันยิ่งของมนุษย์ เพราะมิได้ทรงบรรลุปัญญาอันประเสริฐอันจะทำให้ถึงที่สุดทุกข์ได้.

    ๒. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยสงสาร ( การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ). ก็ไม่มีการท่องเที่ยวไป ในที่ใดที่ไม่ทรงเคยไป จะพึงหาได้ง่ายโดยกาลอันนานนี้ เว้นไว้แต่เทพชั้นสุทธาวาสเพราะถ้าท่องเที่ยวไปในเทพชั้นสุทธาวาส ( ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอนาคามี ผู้ไม่กลับมาสู่มนุษย์โลกอีก ) พระองค์ก็จะไม่มาสู่โลกนี้อีก.

    ๓. และ   ๔. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยการเกิด ( อุปบัติ ) , การอยู่   ( อาวาส ).   ก็ไม่มีการเกิด , การอยู่ ในที่ไหนที่ไม่ทรงเคยเกิด ,   เคยอยู่ โดยกาลอันนานนี้ เว้นแต่เทพชั้นสุทธาวาส เพราะถ้าทรงเกิด , ทรงอยู่ในเทพชั้นสุทธาวาส ก็จะไม่มาสู่โลกนี้อีก.

    ๕. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยยัญ ก็ไม่มียัญชนิดไหนที่ไม่ทรงเคยบูชาโดยกาลอันนานนี้.

    ๖. สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยการบำเรอไฟ ( คือหาเชื่อใส่ไฟตลอดเวลา ) ก็ไม่มีไฟที่ไม่เคยทรงบำเรอโดยกาลอันนานนี้.

คนหนุ่มจึงมีปัญญาจริงหรือ ?

    ๗. สมณะพราหมณ์บาวพวกกล่าวว่า คนยังหนุ่มอยู่ในปฐมวัย จึงประกอบด้วยความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญา เมื่ออายุถึง  ๘๐,   ๙๐ ,   ๑๐๐   ก็เสื่อมจากความเป็นผู้เฉลี่ยวฉลาดด้วยปัญญานั้น ซึ่งไม่พึงเห็นเช่นนั้น เพราะพระองค์เองมีพระชนมมายุ  ๘๐   ดำเนิน ,   พระสาวก   ๔   รูปมีอายุถึง   ๑๐๐ ก็ยังประกอบด้วย  สติ   คติ   และความทรงจำอันยอดเยี่ยม ประกอบด้วยความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม. สาวกเหล่านั้นทูลถามปัญหาเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ )   ๔,   ก็ทรงตอบไป , เธอก็ทรงจำไว้ได้ ไม่ต้องถามเป็นครั้งที่สอง. การแสดงธรรม , การแยกบทแห่งธรรม การตอบปัญหาของตถาคตไม่มีที่สิ้นสุด ( คือดำเนินไปได้ติดต่อกัน ) เว้นไว้แต่กิน ดื่ม หรือถ่ายอุจจาระปัสสาวะ เป็นต้น. สาวกทั้งสี่รูปนั้น  ผู้มีอายุ ๑๐๐   ก็จะทำกาละเมื่อล่วง   ๑๐๐ ปี .  แม้ท่านทั้งหลายจะหามตถาคตไปด้วยเตียง ความแปรเป็นอย่างอื่นแห่งความเป็นผู้เฉลียวฉลาดด้วยปัญญา ย่อมไม่มีเลยเเก่ตถาคต.

   พระนาคสมาละถวายอยู่งานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ กราบทูลว่า ท่านสดับธรรมบรรยายนี้แล้วเกิดขนลุก ควรเรียกธรรมปริยายนี้ว่ากระไร ตรัสตอบว่า ควรเรียกได้ว่า โลมหังสนปริยาย ( เรื่องที่ทำให้ขนลุก)

    (หมายเหตุ:   มหาสหนาทสูตรนี้ สมเป็นการบรรลือสีหนาทที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการเปล่งพระวาจาอย่างอาจหาญ เล่าความที่เคยทดทองปฏิบัติมาแล้วทุกอย่าง ตามที่เข้าใจกันว่า จะตรัสรู้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จการค้านข้อปฏิบัติของสมณพราหมณ์ครั้งนั้น จึงเป็นการค้านอย่างมีเหตุผลยิ่ง).

   

๑๓ . มหาทุกขักขันธสูตร
สูตรว่าด้วยกองทุกข์ สูตรใหญ่

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่นักบวชศาสนาอื่นกล่าวว่า พระสมณโคดมและพวกเขาบัญญัติข้อที่ควรกำหนดรู้เกี่ยวกับกาม   ( ความใคร่และสิ่งที่น่าใคร่ ) รูป   ( ธาตุทั้งสี่ ประชุมกันเป็นกาย )   และเวทนา ( ความรู้สึกเป็นสุขทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ) เหมือน ๆ กัน ไม่มีอะไรต่างกัน.

   ตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายลองนย้อนถามดูว่า อะไรคือความพอใจ ( อัสสาทะ ) ,   โทษ ( อาทีนวะ ),   การพ้นไป ( นิสสรณะ= แล่นออก )  ของกาม ,  รูป  และเวทนา   ซึ่งนักบวชลัทธิอื่นจะตอบไม่ได้ และมีความอึดอัดยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะมิใช่ปัญหาในวิสัย . ทรงยืนยันว่า ไม่มีใครตอบปัญหานี้ได้เป็นที่พอใจ เว้นไว้แต่ตถาคต สาวกของตถาคต หรือผู้ฟังจากศาสนานี้.

   ๓. ทรงแสดงกามคุณ   ๕ คือ   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   โผฏฐัพพะ   ที่น่าปรารถนา   รักใคร่   ชอบใจ ว่าเป็น ความพอใจ   ( อัสสาทะ ) ของกาม ; ทรงแสดงการต้องประกอบอาชีพต่าง ๆ ลำบากตรากตรำ หนาวร้อน หิวกระหาย เป็นต้น , การที่เพียรพยายาม แต่ไม่ได้ผล ต้องเศร้าโศกเสียใจ, เมื่อได้ผลแล้วก็ต้องทุกข์กายทุกข์ใจ เนื่องด้วยการอารักขา ( สินทรัพย์ที่เกิดขึ้น ) เพื่อมิให้เป็นอันตราย , เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้นก็เศร้าโศกเสียใจ , ทะเลาะวิวาทกับคนทั้งหลาย แล้วทำร่างกายกัน , ใช้อาวุธทำสงครามฆ่าฟันกัน , ก่อสร้างป้อม , ถูกลงโทษทรมานต่าง ๆ เพราะทำความผิด เช่น ตัดช่อง, ปล้นสะดม เป็นต้น , ที่มีกามเป็นเหตุว่า แต่ละอย่างเหล่านี้ เป็นโทษของกาม เป็นกองทุกข์ที่เห็นทันตา . เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย , ทุคคติ , วินิบาต , นรก เพราะประพฤติทุจจริตทางกายวาจาใจที่มีกามเป็นเหตุ เป็นโทษของกาม เป็นกองทุกข์ในอนาคต . ทรงแสดงการนำความพอใจความกำหนัดยินดีในกามออกเสียว่า เป็นการพ้นไปจากกาม . สมณะพราหมณ์ที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงที่กำหนดรู้กามด้วยตนเอง หรือชักชวนผู้อื่นเพื่อกำหนดรู้ ซึ่งผู้อื่นปฏิบัติตามแล้ว จักกำหนดรู้กาม ย่อมเป็นไปไม่ได้. ต่อเมื่อรู้ตามความจริง จึงกำหนดรู้กามด้วยตนเองหรือชักชวนผู้อื่นให้กำหนดรู้ได้.

   ๔. ทรงแสดงความสุขกายสุขใจ เพราะมีผิวพรรณงดงามว่าเป็นความความยินดีแห่งรูป; ทรงแสดงความแก่เฒ่า หลังโกง ฟันหัก ผมหงอก เป็นต้น จนถึงตายถูกทอดทิ้งในป่าช้า มีกระดูกสีขาว ว่าเป็นโทษของรูป ; ทรงแสดงการนำความพอใจ ความกำหนัดยินดีในรูปออกเสียว่าเป็นการพ้นไปจากรูป . แล้วตรัสเรื่องสมณพราหมณ์ที่ไม่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริง และที่รู้เรื่องเหล่านี้ตามเป็นจริงเหมือนเรื่องกาม ในข้อ ๓ ).

   ๕. ทรงแสดงการเข้าฌานที่สี่ ทีละข้อในสมัยที่เข้าฌานนั้น ๆ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีการเบียดเบียนว่าเป็นความยินดีแห่งเวทนา ; ทรงแสดงเวทนาที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ว่าเป็นโทษของเวทนา ; แล้วทรงแสดงการนำความพอใจ ความกำหนัดยินดีในเวทนาออกเสียว่า เป็นการพ้นไปจากเวทนาและสมณพราหมณ์ผู้ไม่รู้ตามเป็นจริงและรู้ตามเป็นจริงเกี่ยวกับเวทนา เช่นเดียวกับเรื่องกาม ( ในข้อ ๓ ).

   

๑๔ . จูฬทุกขักขันธสูตร
สูตรว่าด้วยกองทุกข์ สูตรเล็ก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ตรัสแสดงธรรมแก่มหานามศากยะ ผู้กราบทูลถามว่า  โลภะ   โทสะ   โมหะ   เป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต. ข้าพระองค์ละธรรมอะไรภายในไม่ได้ บางคราวธรรมะคือโลภะบ้าง  โทสะบ้าง   โมหะบ้าง  จึงครอบงำจิตตั้งอยู่ . ตรัสตอบว่าละธรรมภายในนั้นไม่ได้จึงเป็นเช่นนั้น ถ้าละธรรมภายในนั้นได้ ก็จะไม่ครองเรือน ไม่บริโภคกาม.

    ๒. ตรัสถึงอริยสาวก และแม้พระองค์เอง เมื่อก่อนตรัสรู้ ถ้ายังไม่เห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า กามมีควาวมยินดีน้อย มีทุกข์โทษมากแล้ว ก็ยังมิได้บรรลุความสุขอื่นจากกามหรืออกุศลธรรมหรือปราณีตกว่านั้น ยังไม่หมดความเวียนมาในกาม ต่อเมื่อเห็นดีด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว จึงได้บรรลุความสุขที่อื่นจากกามหรืออกุศลธรรม หรือประณีตกว่านั้น หมดความเวียนมาในกาม.

    ๓. แล้วตรัสแสดงความพอใจของกาม , โทษของกาม , การออกไปจากกาม เช่นเดียวกับมหาทุกขักขันธสูตรที่ย่อมาแล้ว.

    ๔. แล้วตรัสเล่าเรื่องที่ทรงโต้ตอบกับพวกนิครถ์ทรงเทียบให้ดูว่า พระองค์ทรงมีความสุขมากกว่าพระเจ้าพิมพิสารอย่างไร ซึ่งพวกนิครนถ์ได้ยอมรับว่าจริง.

   

๑๕ . อนุมานสูตร
สูตรว่าด้วยการอนุมาน

   พระมหาโมคคัลลานะอยู่ในป่าชื่อเภสกฬา อันเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อ ใกล้นครสุงสุมาคิระ แคว้นภัคคะ ท่านแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย พอกำหนดเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ :-

    ๑. ท่านแสดงถึงภิกษุผู้ปวารณาตนให้ภิกษุอื่นว่ากล่าว แต่ก็เป็นผู้ว่ายาก จึงไม่มีใคร ( เพื่อนพรหมจารี ) อยากว่ากล่าวตักเตือนหรือคุ้นเคยด้วย แล้วแสดงธรรมะที่ทำให้ว่ายากหลายข้อ มีความปรารถนาลามกเป็นต้น มีการยึดแต่ความเห็นของตนเป็นข้อสุดท้าย.

    ๒. แสดงถึงภิกษุผู้แม้ไม่ปวารณาตนให้ภิกษุผู้อื่นว่ากล่าว แต่เป็นผู้ว่าง่าย จึงมีเพื่อพรหมจารีอยากว่ากล่าวตักเตือนหรือคุ้นเคยด้วย แล้วแสดงธรรมะที่ทำให้ว่าง่ายฝ่ายตรงกันข้าม.

   ๓. สอนภิกษุทั้งหลายให้อนุมาน ( คาดคะเน ) ตนเองได้ด้วยตนว่า ถ้าประกอบด้วยความชั่วมีความปรารถนาลามก เป็นต้น ก็คงไม่เป็นที่พอใจของผู้เอื่น จึงควรตั้งจิตที่จะไม่มีความปรารถนาลามก เป็นต้น.

    ๔. สอนภิกษุทั้งหลายให้พิจารณาตนด้วยตนว่ามีความชั่ว เช่น ความปรารถนาลามก เป็นต้น หรือไม่ ถ้ามีก็ควรพยายามละเสีย , ถ้าไม่มีก็ควรศึกษาเนือง ๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย อยู้ด้วยความปีติปราโมทย์.

    ภิกษุทั้งหลายก็ชื่อชมภาษิตของพระเถระ.

   

๑๖ . เจโตขีลสูตร
สูตรว่าด้วยการอนุมาน

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องที่ว่า ถ้าภิกษุยังละกิเลสที่เปรียบเหมือนตอของจิต ( เจโตขีละ ) ๕ ประการ และถอนกิเลสที่เปรียบเหมือนเครื่องผูกมัดจิต ( เจตโสวินิพันธะ ) ๕ ประการไม่ได้ ก็มิใช่ฐานะที่ภิกษุนั้นจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลในพระธรรมวินัยนี้.

ตอของจิต ๕

    ๒. แล้วทรงแสดงกิเลสที่เปรียบเหมือนตอของจิต   ๕ ประการ คือ  
           ๑. สงสัยในพระศาสดา
           ๒. สงสัยในพระธรรม
           ๓. สงสัยในพระสงฆ์
           ๔. สงสัยในสิกขา ( ข้อที่จะต้องศึกษา   คือ   ศีล   สมาธิ   ปัญญา )
           ๕. โกรธเคืองในเพื่อนพรหมจารี เมื่อมีความสงสัยหรือโกรธเคืองข้อใดข้อหนึ่งนี้แล้ว จิตก็ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร.

เครื่องผูกมัดจิต ๕

    ๓. แล้ทรงแสดงกิเลสที่เปรียบเหมือนเครื่องผูกมัดจิต   ๕ ประการ คือ
           ๑. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในกาม
           ๒. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในในกาย
           ๓. ไม่ปราศจากความกำหนัดพอใจรักใคร่ในรูป
           ๔. กินแล้วก็ประกอบสุขในการนอน
           ๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยหวังว่าจะไปเกิดในเทพพวกใดพวกหนึ่ง เมื่อมีกิเลสเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่ง จิตก็ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร.

   ๔. ถ้าละและถอนกิเลสข้างต้นเสียได้ ก็มีฐานะที่จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลในพระธรรมวินัยนี้.

   ๕. ทรงแสดงภิกษุผู้ประกอบด้วยอิทธิบาท คือคุณธรรมที่ให้ถึงความสำเร็จ   ๔ ประการ คือ  ๑. พอใจ ๒. เพียร   ๓. คิด   ๔. ไตร่ตอง พร้อมทั้งมีความกระตือรือร้น ( อุสฺโสฬฺหิ ) เป็นที่  ๕ รวมเป็นมีคุณธรรม  ๑๕ อย่าง คือละกิเลสอย่างละ  ๕ สองอย่างข้างต้น กับคุณธรรมอีก   ๕ อย่าง ก็สามารถจะตรัสรู้ได้ เปรียบเหมือนแม่ไก่กกไข่ดี แม้ไม่ปรารถนาอะไรมาก ลูกไปก็ออกมาได้ฉะนั้น.

   

๑๗ . วนปัตถสูตร
สูตรว่าด้วยการอยู่ป่าของภิกษุ

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมเรื่องภิกษุผู้อยู่ป่า ( ๔ ประเภท ) คือ
           ๑. ถ้าอยู่แล้ว สติไม่ตั้งมั่น จิตไม่เป็นสมาธิ อาสวะไม่สิ้น ไม่บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสอันยอดเยี่ยมทั้งปัจจัย ๔ ก็หาได้ยาก ก็ควรหลีกไปจากป่านั้น ไม่ควรอยู่ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
           ๒. ถ้าอยู่แล้วสติไม่ตั้งมั่น เป็นต้น แต่ปัจจัย   ๔ หาได้ไม่ยาก ก็ควรพิจารณาว่าตนไม่ได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ พิจารณาแล้วก็ควรหลีกไปจากป่านั้น ไม่ควรอยู่
           ๓. ถ้าอยู่แล้ว สติตั้งมั่น เป็นต้น แต่ปัจจัย   ๔ หาได้ยากก็ควรพิจารณาว่าตนไม่ได้บวชเพราะเหตุแห่งปัจจัย ๔ พิจารณาแล้วก็ควรอยู่ป่านั้น ไม่ควรหลีกไป
           ๔. ถ้าอยู่แล้ว สติตั้งมั่น เป็นต้น และปัจจัย   ๔ ก็หาได้ไม่ยาก ก็ควรอยู่ในป่านั้นแม้ตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไป.

    ๒. ทรงแสดงถึงภิกษุผู้อยู่อาศัย คาม , นิคม , นคร , ชนบท และ บุคคล โดยทำนองเดียวกับการอยู่ป่า ๔ ข้อข้างต้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบุคคล หมายถึงการติดตาม ( ทำนองศิษย์ติดตามอาจารย์ ) โดยทรงเล็งถึงการที่จะดีขึ้นทางคุณธรรมเป็นสำคัญ ส่วนปัจจัย ๔ หาได้ยากหรือไม่ยากไม่เป็นประมาณ.

   

๑๘ . มธุปิณฑิกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะที่น่าพอใจเหมือนขนมหวาน

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ตรัสตอบคำถามของทัณฑปาณิศากยะ ที่ว่า “ ทรงมีวาทะอย่างไร ตรัสบอกอย่างไร” โดยทรงชี้ไปว่า ทรงมีวาทะและตรัสบอกในทางที่จะไม่ทะเลาะกับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก และในทางที่สัญญา ( ความกำหนดหมายด้วยกิเลส - กิเลสสัญญา - อรรถกถา ) จะไม่แฝงตัวตาม.  บุคคลผู้อยู่อย่างไม่ประกอบด้วยกาม ผู้ลอยบาป ผู้สิ้นความสงสัย รังเกียจ ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยใหญ่.

   ๒. ทรงเล่าเรื่องข้างต้นให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เมื่อภิกษุรูปหนึ่งขอให้ทรงอธิบาย ก็ทรงอธิบายอย่างย่อ ๆ ภิกษุทั้งหลายจึงไปหาพระมหากัจจานเถระให้อธิบายโดละเอียด พระเถระจึงอธิบายขยายความของพระพุทธภิตสั้น ๆ ที่ว่า “ ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุใหเนิ่นช้า ( ปปัญจสัญญาสังขา .  ) ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าไม่เพลิดเพลิน ไม่ยึดถือ ในเหตุนั้น ( อายตนะ ๑๒ ) ได้ นั้นแหละเป็นที่สุดแห่งกิเลสที่แฝงอยู่ ( อนุสัย ๗ กิเลสที่นอนซ่อนอยู่ในสันดาน ), นั้นแหละ เป็นที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ ศัสตราการทะเลาะ การชี้หน้าด่าทอ การส่อเสียด การพูดปด” โดยขยายความแสดงลำดับธรรมะ ดังนี้
   ๑. อาศัยอายตนะภายในอายตนะภายนอก เกิดความรู้แจ้งอารมณ์ เรียกว่าวิญญาณ
   ๒ . รวมธรรม   ๓ ประการ คืออายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ เรียกว่าผัสสะ ( ความถูกต้อง )
   ๓. เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนา ( คือความรู้สึกทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข )
   ๔. รู้สึกอารมณ์ใด ก็จำอารมณ์นั้นได้ ( มีเวทนาก็มีสัญญา )
   ๕. จำอารมณ์ใดได้ ก็ตรึกถึงอารมณ์นั้น ( มีสัญญาก็มีวิตก )
   ๖. ตรึกอารมณ์ใด ก็เนิ่นช้าอยู่กับอารมณ์นั้น
   ๗. เนิ่นช้าอยู่กับอารมณ์ใด ส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในรูปที่พึงรู้ได้ด้วยตา เป็นต้น ที่เป็นอดีต , อนาคต, ปัจจุบัน ย่อมครอบงำเขา เพราะเหตุนั้น.
   ๘. เมื่อมีอายตนะภายใน มีอายตนะภายนอก มีวิญญาณ ก็มีฐานะที่จักบัญญัติผัสสะได้ , เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ ก็มีฐานะที่จักบัญญัติเวทนาได้ , เมื่อมีการบัญญัติเวทนา ก็มีฐานะที่จักบัญญัติวิตก ( ความตรึก ) ได้, เมื่อมีการบัญญัติวิตก ก็มีฐานะที่จักบัญญัติการครอบงำของส่วนแห่งความกำหนกหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.

    ๓ . พระผู้มีพระภาคทรงทราบก็ทรงอนุโมทนาว่า ถ้าพระองค์ทรงอธิบาย ก็จักตรัสอธิบาย เช่นเดียวกับพระมหากัจจานะ พระอานนท์ กราบทูลสรรเสริญคำอธิบายนี้ว่า เหมือนคนหิวกระหายอ่อนกำลังได้ขนมหวาน จึงตรัสให้เรียกธรรมปริยายนี้ว่า มธุปิณฑิกปริยาย ( บรรยายที่เปรียบเหมือนขนมหวาน).

   

๑๙ . เทวธาวิตักกสูตร
สูตรว่าด้วยความตรึกสองทาง

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงความนึกคิดที่เกิดขึ้นในสมัยที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงแบ่งความคิดนึก ( วิตกความตรึก ) ออกเป็น ๒ ส่วน คือฝ่ายชั่ว ได้แก่คิดนึกในกาม , คิดนึกปองร้าย , คิดนึกเบียดเบียน ; ฝ่ายดี ได้แก่คิดนึกออกจากกาม , คิดนึกไม่ปองร้าย , คิดนึกไม่เบียดเบียน . เมื่อความคิดนึกฝ่ายชั่วเกิดขึ้นและทรงรู้เท่าทันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ พระองค์จึงทรงละ ทรงบันเทา ทรงทำให้สิ้นสุดซึ่งความคิดนึกฝ่ายชั่วได้.

   ๒. ตรัสต่อไปว่า ภิกษุตรึกตรองถึงเรื่องใดมาก จิตก็จะน้อมไปทางนั้น ( ทั้งทางคิดชั่วและคิดดี). พระองค์ทรงเห็นโทษของอกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ ( ผลดี ) ของกุศลธรรม เมื่อทรงทราบว่า ความคิดฝ่ายดีกำลังเกิดขึ้น ก็ไม่ทรงเห็นภัย จากการคิดนั้น ไม่ว่าในกลางคืนกลางวัน หรือทั้งกลางคืนกลางวัน แต่ถ้าตรึกตรอง ( วิตกวิจาร ) นานเกินไป กายลำบาก จิตก็จะฟุ้งสร้าน เมื่อจิตฟุ้งสร้านก็จะห่างจากสมาธิ พระองค์จึงทรงตั้งจิตไว้ภายใน ทำให้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ทำให้เป็นสมาธิ. ทรงเปรียบการเห็นโทษของความชั่ว เห็นคุณของความดี เหมือนคนเลี้ยงโคที่ต้อนโคไปให้พ้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวกล้า เพราะเห็นโทษ ( ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโคไปกินข้าวกล้าของคนอื่น ) ทรงเปรียบการทำสติถึงธรรมเหล่านั้น เหมือนคนเลี้ยงโคที่พัก ณ โคนไม้หรือกลางแจ้ง ทำสติถึงโคเหล่านั้น.

   ๓. ตรัสต่อไปถึงการที่ทรงมีความเพียร ตั้งสติมั่น มีกายสงบระงับ มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่งเข้าฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ ; ระลึกชาติได้ในยามแรก ; ได้จุตูปปตฌาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิดของสัตว์ ) หรือทิพย์จักษุ ( ตาทิพย์ ) ในยามกลาง ; ได้อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง รู้จักอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ตามเป็นจริงในยามสุดท้ายแห่งราตรี.

   ๔. ทรงเปรียบมารเหมือนผู้คิดร้าย ปิดทางดี เปิดทางไม่ได้ ให้หมู่เนื้อไปสู่ความพินาศ และเปรียบพระตถาคตเหมือนผู้มุ่งดี ที่ปิดทางร้ายเปิดทางให้เนื้อเดินทางไปสู่ความเจริญ แล้วตรัสว่า ได้ทรงทำหน้าที่ของศาสดาแล้ว . นั้นโคนไม้ นั้นเรือนว่าง จงเพ่งเถิด อย่าประมาท อย่าเดือดร้อนภายหลังเลย นี่และคือคำสอนของเรา.

   

๒๐ . วิตักกสัณฐานสูตร
สูตรว่าด้วยที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนว่า ภิกษุผู้ทำสมาธิ ( ประกอบอธิจิต ) พึงใส่ใจเครื่องหมาย ๕ ประกอบอยู่เสมอ คือ:-

   ๑. เมื่อใส่ใจถึงเครื่องหมาย.  ใด เกิดความคิดฝ่ายชั่ว.  ขึ้น ให้เปลี่ยนเครื่องหมายนั้น ไปสู่เครื่องหมายอื่นอันประกอบด้วยกุศล ซึ่งจะเป็นเหตุให้คิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้. เปรียบเหมือนเหมือนนายช่าง เอาลิ่มเนื้อละเอียดมาตอกเอาลิ่มเนื้อหยาบออกไปฉะนั้น.

   ๒. เมื่อใส่ใจถึงเครื่องหมายอื่น อันประกอบด้วยกุศล ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงจารณาโทษของความคิดฝ่ายชั่ว ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นมาธิได้. เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่รักสวยรักงาม รังเกียจซากศพสัตว์ต่าง ๆ ที่มาคล้องอยู่ที่คอฉะนั้น.

    ๓. เมื่อพิจารณาโทษของความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายยังเกิดขึ้น ก็พึงไม่ระลึกไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้. เปรียบเหมือนคนตาดี ไม่ต้องการเห็นรูป ก็หลับตาเสีย หรือมองไปทางอื่น.

    ๔. เมื่อไม่ระลึก ไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงใส่ใจถึงที่ตั้งแห่งเหตุของความคิด ( วิตักกสังขารสัณฐานะ คือให้ดูอะไรเป็นเหตุให้ความคิดฝ่ายชั่วเกิดขึ้น ) ก็จะละความคิดฝ่ายชั่ว ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ . เปรียบเหมือนคนเดินเร็ว เดินช้าลง หยุด ยืน นั่ง นอน สละอิริยาบถหยาบ ๆ ลง สำเร็จอิริยาบถละเอียดขึ้น.

   ๕. เมื่อใส่ใจถึงที่ตั้งแห่งเหตุของความคิดฝ่ายชั่วเหล่านั้น ความคิดฝ่ายชั่วยังเกิดขึ้น ก็พึงเอาฟันกดฟัน เอาลิ้นกดเพดาน ข่มขี่บีบคั้นจิต. เปรียบเหมือนคนมีกำลังกว่า จับคอคนมีกำลังน้อยกว่า ข่มขี่บีบคั้นฉะนั้น.

สรุป

   เมื่อทำได้อย่างนั้น ภิกษุนี้ชื่อว่าชำนาญในทางที่เกี่ยวกับความคิด ( วิตก ความตรึก ) ประสงค์จะคิดเรื่องอะไร ก็คิดได้ ไม่ประสงค์จะคิดอะไร ก็ไม่คิดได้ นับว่าตัดตัญหาได้ คลายเครื่องรัดได้ ทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดได้ ด้วยการตรัสรู้เรื่องจิตใจโดยชอบ.

    จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรที่ ๔ ชื่อโอปัมมวรรค คือวรรคที่กล่าวถึงข้ออุปมา มี ๑๐ สูตร.

 


๑. คำว่า เล็กหรือน้อย คู่กับใหญ่ หมายความว่ามีสูตรซ่ำกัน ๒ สูตร ก็ต้องใช้คำว่า น้อย สูตรหนึ่ง ใหญ่ สูตรหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายจำง่าย และเป็นเครื่องหมายยาวสั้นกว่ากันด้วย

๒. เรื่องของสุนักขัตตลิจฉวีมีปรากฏในปาฏิกสูตรที่ ๑ แห่งเล่ม ๑๑ ซึ่งย่อไว้แล้วที่ พระสุตตันตะเล่มที่ ๓ หน้า ๑ โปรดดูประกอบด้วย

๓. คำว่า ความเป็นใหญ่แปลจากคำว่า อาสภณฺฐาน ซึ่งแปลตามตัวว่า ฐานะแห่งความเป็นโคผู้ ( อุสภะ ) โดยใจความ หมายถึงความเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำ

๔. อรรถกถาเล่าว่า พวกเด็กเลี้ยงโคพยายามรังแกด้วยประการต่าง ๆ ด้วยต้องการจะให้รับสั่ง แต่ก็ทรงนิ่งเฉย อันเป็นพฤติการณ์ตอนหนึ่งระหว่างทรงค้นหาความจริงเพื่อตรัสรู้

๕. เล็กหรือใหญ่ คำนี้มิได้หมายความว่ากองทุกข์เล็กหรือกองทุกข์ใหญ่ หมายถึงสูตรใหญ่ สูตรเล็ก ที่มีชื่ออย่างเดียวกัน จึงต้องใช้คำว่า ใหญ่ เล็ก มาประกอบเพื่อจำง่าย

๖. คำว่า แฝงตัวตามแปลจากคำว่า อนุเสนฺติ โดยพยัญชนะว่า นอนตาม คือมีอยู่อย่างไม่ค่อยปรากฏตัวเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ต่อเมื่อมีอะไรมากกวานจึงขุ่นขึ้น

๗. คำนี้มีในสักกปัญหาสูตรที่ ๘ พระสุตตันตะเล่มที่ ๒ หน้า ๓ โปรดดูบันทึกทางวิชาการในภาค ๕ ด้วย

๘. คำว่า เครื่องหมายหรือนิมิตก็คืออารมณ์ที่จะให้จิตกำหนดนั้นเอง

๙. มีข้อน่าสังเกตุในที่นี้ คือแสดงความคิดฝ่ายชั่วว่าประกอบด้วยฉันทะ โทสะ โมหะ ตามธรรมดากิเลสฝ่ายชั่วเคยเรียงราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภะ โทสะ โมหะ แต่ในที่นี้ใช้ ฉันทะ ความพอใจมาแทนราคะ หรือโลภะ

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ