บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๔
หมวดนี้มี

๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร
๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร
๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร
๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร
๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร

..การเผชิญความกลัว
..บางพวกหลงวันหลงคืน
..ทรงแสดงข้อ
ปฏิบัติของพระองค์
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร

 

หน้าที่ ๒ ๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร

..กำลัง ๑๐
..เวสารัชชะ ๓
..บริษัท ๘
..กำเนิด ๔
..คติ ๕
..การประพฤติ
พรหมจรรย์มีองค์ ๔
..การทรมาน
พระองค์อย่างอื่นอีก
..ทรงทดลอง
ความบริสุทธิ์
เพราะเหตุต่าง ๆ
..คนหนุ่มจึงมี
ปัญญาจริงหรือ?
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร

..สรุป

 

หน้าที่ ๓ ๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร

 

หน้าที่ ๕ ๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชนิกาย มูลปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๔
จบเล่ม ๔

๔๑ . สาเลยยกสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์
คฤหบดีชาวบ้านสาละ. สูตรใหญ่

   ๑.   พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล เสด็จแวะพัก ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาละ. พวกพราหณ์คฤหบดีชาวบ้านสาละ ( สาเลยยกะ ) ได้ยินกิตติศัพท์ ก็พากันไปเฝ้า กราบทูลถามเหตุปัจจัย ที่ทำให้สัตว์บางพวกตายแล้วเข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินิบาต   นรก   และสัตว์บางพวกตายแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. ตรัสตอบว่า พวกที่เข้าถึงอบาย   ทุคคติ วินิบาต   นรก   เพราะประพฤติอธรรม เพราะประพฤติไม่สม่ำเสมอ ส่วนพวกที่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะประพฤติธรรม เพราะประพฤติสม่ำเสมอ.

   ๒.   ทรงขยายความแห่งคำว่า ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ โดยแยกออกเป็นทางกาย ๓   ทางวาจา ๔   ทางใจ ๓   ( ทุจจริต ๓   ซึ่งแจกออกเป็น ๑๐  อย่าง เรียกอกุศลกรรมบถ หรือทางแห่งอกุศล ) ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินิบาต   นรก..

   ๓.  ทรงขยายความแห่งคำว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ โดยแยกออกเป็นทาง ๓   ทางวาจา ๔   ทางใจ ๓   (สุจริต ๓  ซึ่งแจกออกเป็น ๑๐ อย่าง  เรียกกุศลกรรมบถ หรือทางแห่งกุศล ) ซึ่งเป็นเหตุให้เข้าถึงสุคติโลกสรรค์.

   ๔.   ทรงแสดงว่า ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ หวังจะเข้าถึงฐานะใด ๆ ได้แก่กษัตริย์มหาศาล ,   พราหมณ์มหาศาล ,   คฤหบดีมหาศาล ,   เทพชั้นจาตุมหาราช ,  ชั้นดาวดึงส์ ,   ชั้นยามะ ,   ชั้นดุสิต ,   ชั้นนิมมานรดี ,   ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ,   ชั้นพรหม ,   เทพพวกอาภะ ( มีแสงสว่าง ) ,   พวกปริตตาภะ ,   พวกอัปปมาณาภะ ,   พวกอาภัสสระ ,  พวกปริตตสุภะ , อัปปมาณสุภะ,  พวกสภกินหกะ ,   พวกเวหัปผละ ,   พวกอวิหะ ,  พวกอตัปปะ,   พวกสุทัสสะ,   พวกสุทัสสี,   พวกอกนิฏฐกะ ,   พวกอากาสานัญจายตนะ ,   พวกวิญญาณัญจายตนะ ,   พวกอากิญจัญญายตนะ,   พวกเนวสัญญานาสัญญายตนะ หรือหวังทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ก็มีฐานะที่เป็นไปได้ เพราะผู้นั้นประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ.

   พราหมณ์คฤหบดีชาวบ้านสาละ เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

    (หมายเหตุ:  ในพระสูตรนี้ มีปัญหาเรื่องศัพท์อยู่หลายแห่ง

   ๑ . คำว่า   สุจริต   ทุจจริต   กุศลกรรมบถ   อกุศลกรรมบถ แจกออกเป็นอะไรบ้าง ควรดูหนังสือนวโกวาท   หน้า ๓๒ ,   ๕๙ และ   ๖๐

   ๒.   คำว่า มหาศาลที่นำมาต่อท้ายกษัตริย์ , พราหมณ์ , คฤหบดี หมายความว่ามีทรัพย์มาก

   ๓.   เทพชั้นจาตุมหาราช ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี รวม  ๑๖ ชั้น เรียกว่าสวรรค์ชั้นกามาวจร คือยังอยู่ในชั้นกาม ควรดูคำอธิบายในหนังสือธรรมวิภาค ปริจเฉทที่   ๒ หน้า  ๗๙. หนังสือที่อ้างทั้งสองเล่ม โปรดดูมีภาค  ๕ ด้วย . ส่วนลำดับเทพชั้นพรหมที่กล่าว

    ถึงในที่นี้ ต่างจากที่กล่าวไว้ในที่อื่นเล็กน้อย เพื่อสะดวกแก่การเทียบเคียง ขอกล่าวถึงเทพชั้นพรหมที่ปรากฏในคำอธิบายของอรรถกถาทั่วไป คือชั้นรูปพรหม ( พรหมมีรูป ) มี  ๑๖ ชั้น คือ    ๑. พรหมปาริสัชชะ    ๒. พรหมปุโรหิต    ๓. มหาพรหม ( ๓   พวกนี้เป็นพวกได้ฌานที่   ๑ )    ๔. ปริตตาภะ    ๕. อัปปมาณาภะ    ๖. อาภัสสระ ( ๓  พวกนี้เป็นพวกได้ฌานที่ ๒   และที่   ๓ )    ๗. ปริตตสุภะ    ๘. อัปปมาณสุภะ     ๙. สุภกิณหะ ( ๓ พวกนี้เป็นพวกได้ฌาน ๔ )    ๑๐. เวหัปผละ ( พวกนี้บำเพ็ญฌานที่  ๕ ฌานนี้แยกออกไปจากฌานที่  ๔ จัดตามวิธีของอภิธรรม )    ๑๑. อสัญญีสัตว์ ( เป็นพรหมที่มาจากพวกเดียรถีย์ ที่บำเพ็ญฌานที่   ๕ นั้นแหละ แต่หน่ายหรือรังเกียจจิตใจจึงเป็นพวกมีแต่รูป ไม่มีนาม )    ๑๒. อวิหะ    ๑๓. อตัปปะ     ๑๔. สุทัสสะ    ๑๕. สุทัสสี    ๑๖. อกนิฏฐะ   ( ๕ ประเภทนี้เป็นชั้นสุทธาวาส เป็นที่อยู่โดยเฉพาะของพระอนาคามี คือพระอริยบุคคลรองลงมาจากพระอรหันต์ ). ส่วนอรูปพรหม ( พรหมไม่มีรูป )     ๔ ชั้น คือ    ๑. อากาสานัญจายตนะ    ๒. วิญญาณัญจายตนะ     ๓. อากิญจัญญายตนะ    ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวมทั้งรูปพรหมและอรูปพรหมจึงเป็น   ๒๑ ชั้น แต่ในพระสูตรนี้ คำว่าชั้นพรหม อรรถกถาอธิบายว่า  หมายถึงพรหม ๓  ประเภทแรกที่ได้ปฐมฌาน คำว่า เทพพวกอาภะ ( มีแสงสว่าง) คือ ปริตตาภะ อัปปมาณาภะ อาภัสสระ จึงเท่ากับพวกอาภะ เป็นการกล่าวรวม ๆ ส่วนปริตตาภะถึงอาภัสสระเป็นการขยายความ. ในพระสูตรนี้ไม่กล่าวถึงอสัญญีสัตว์ เพราะแม้จะเป็นเทพชั้นพรหม แต่ทางพระพุทธศาสนาไม่ยกย่อง จึงเป็นอันว่า เมื่ออธิบายแล้วก็เข้ากันได้กับลำดับในที่อื่น . การแสดงหลักฐาน เพื่อประดับความรู้ในที่นี้ เพียงขั้นตำรา ไม่ใช่ขั้นวิจาร ว่ามีจริงหรือไม่ หรือจะถอดความอย่างไร เพราะจะต้องใช้หน้ากระดาษมาก และได้เขียนวิจารไว้บ้างแล้วในหนังสือเล่มอื่น เช่น คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา ).

   

๔๒ . เวรัญชกสูตร
สูตรว่าด้วยพราหมณ์
คฤหบดีชาวเมืองเวรัญชา

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสตอบปัญหาของพราหมณ์คฤหบดีชาวเมืองเวรัญชาที่มาถามเช่นเดียวกับสาเลยยกสูตร จึงตรัสตอบเช่นเดียวกับสาเลยยกสูตร. ผลของการแสดงธรรม พราหมณ์คฤหบดีนั้นเลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๔๓ . มหาเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละคือการ
โต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรใหญ่

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. พระมหาโกฏฐิตะไปหาพระสารีบุตรถามปัญหาต่าง ๆ ซึ่งพระสารีบุตรก็ได้ตอบชี้แจงดังต่อไปนี้:-

    ๑.   ความหมายของคำว่า  ผู้มีปัญญาทราม   คือผู้ไม่รู้อริยสัจจ์ ๔  ตามเป็นจริง.

   ๒.   ความหมายของคำว่า  ผู้มีปัญญา  คือผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง.

   ๓.   ความหมายของคำว่า  วิญญาณ  คือรู้แจ้ง ได้แก่รู้แจ้งสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข.

   ๔.   ปัญญา กับ วิญญาณ ปนกันหรือแยกกันอย่างไร ตอบว่า เป็นธรรมปนกัน ยากที่จะแยกบัญญัติทำให้ต่างกันได้

   ๕.   ปัญญา กับ  วิญญาณ ปนกัน จะต่างกันอย่างไร ตอบว่า  ปัญญาควรเจริญ ( ทำให้เกิดมี ) ส่วนวิญญาณควรกำหนดรู้ ( ปริญเญยยะ ).

   ๖.   ที่เรียกว่าเวทนา เพราะเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง.

   ๗.   ที่เรียกว่าสัญญา เพราะจำได้ เช่น จำสีเขียว , เหลือง , แดง , ขาวได้.

   ๘.   อเวทนา ,  สัญญา , อวิญญาณ ปนกันหรือแยกกัน ตอบว่า เป็นธรรมปนกัน ยากที่จะแยกบัญญัติทำให้ต่างกันได้ เพราะเสวยรู้สึกสิ่งใดก็จำสิ่งนั้นได้ จำสิ่งใดได้ก็รู้แจ้งสิ่งนั้น จึงแยกบัญญัติทำให้ต่างกันไม่ได้.

   ๙.   มโนวิญญาณ.  อันบริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวกับอินทรีย์ ๕ ( ไม่ปนกับเรื่องของตา ,  หู ,  จมูก ,  ลิ้น , กาย )  พึงรู้อะไรได้. ตอบว่า พึงรู้อากาสานัญจายตนะได้ว่า  อากาศหาที่สุดมิได้;   พึงรู้วิญญาณัญจายตนะได้ว่า   วิญญาณหาที่สุดมิได้ ; พึงรู้ว่าอากิญจัญญายตนะได้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มี . ถามว่า บุคคลย่อมรู้ธรรมที่ควรได้ด้วยอะไร. ตอบว่า ด้วยปัญญาจักษุ ( ดวงตาคือปัญญา ). ถามว่า ปัญญามีอะไรเป็นประโยชน์ ตอบว่า   มีการรู้ยิ่ง ,  การกำหนดรู้. การละเป็นประโยชน์.

   ๑๐.   ปัจจัยในการเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิมีกี่อย่าง ตอบว่า มี ๒ อย่าง คือการประกาศของผู้อื่น กับการทำไว้ในใจโดยแยบคาย . ถามว่า สัมมาทิฏฐิ อันองค์ ( ประกอบ ) เท่าไรอนุเคราะห์ จึงมีเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติเป็นผล เป็นอานิสงส์ ตอบว่า  องค์ ๕ คือ   ศีล ,  การสดับฟัง ,  การสนทนา ,   สมถะ ( ความสงบระงับ )  และวิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง).

   ๑๑.   ภพมีเท่าไร ตอบว่า   มี ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ถามว่า การเกิดในภพอีกต่อไปนั้นมีได้อย่างไร ตอบว่า มีได้เพราะยินดีในภพนั้น ๆ ของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นนีวรณ์ ( เครื่องกั้น ) มีตัญหาเป็นสัญโญชน์ ( เครื่องผูกมัด ). ถามว่า การเกิดในภพอีกต่อไปจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า ไม่มีได้เพราะคลายอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เพราะเกิดวิชชา ( ความรู้ ) เพราะดับตัญหาเสียได้.

   ๑๒.   ฌานที่ ๑ เป็นอย่างไร ตอบว่า ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑   อันมีวิตก ( ความตรึก ) วิจาร ( ความตรอง ) มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด ) ฌานที่ ๑   มีองค์ ๕  คือ   วิตก   วิจาร   ปีติ   ( ความอิ่มใจ ) สุข   และเอกัคคตา   ( ความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ).   ฌานที่ ๑   ละองค์ ๕ ได้   ประกอบด้วยองค์ ๕.   คือนีวรณ์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕   คือมีวิตก เป็นต้น.

   ๑๓.   อินทรีย์ ๕   คือ   ตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์ในที่เที่ยวไปของกันและกัน เช่น ตาฟังเสียงไม่ได้ หูเห็นรูปไม่ได้ ) อะไรเล่าเป็นที่อาศัย และเป็นตัวเสวยอารมณ์ในที่เที่ยวไปของอินทรีย์   ๕ เหล่านั้น ตอบว่า ใจ ( มโน ).

   ๑๔.   อินทรีย์ ๕   อาศัยอะไรตั้งอยู่ . ตอบว่า อาศัยอายุ.   อายุอาศัยอะไร. ตอบว่า อาศัยไออุ่น.   ไออุ่นอาศัยอะไร . ตอบว่า อาศัยอายุ.   อายุอาศัยไออุ่น ไออุ่นอาศัยอายุ เปรียบเหมือนแสงสว่างอาศัยเปลวไฟจึงปรากฏ. เปลวไฟอาศัยแสงสว่างจึงปรากฏ. อายุสังขาร ( ธรรมที่ปรุงแต่งคืออายุ ) กับเวทนียธรรม ( ธรรมที่พึงรู้สึกได้ ) .  เป็นอันเดียวกัน หรืออื่นจากกัน. ตอบว่า ไม่เป็นอันเดียวกัน . ถ้าเป็นอันเดียวกัน การออกจาก(จากสมาบัติ ) ของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติดับสัญญาและเวทนา ) ก็ไม่พึงปรากฏ , แต่เพราะเป็นสิ่งอื่นจากกันจึงปรากฏได้.

   ๑๕.   ธรรมกี่อย่างละกาย กายจึงนอนเหมือนท่อนไม้ไร้เจตนา. ตอบว่า ธรรม   ๓ อย่าง คือ   อายุ  ไออุ่น   วิญญาณ.   ถามว่า คนตายกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร   ตอบว่า คนตายสิ่งที่ปรุงกาย   วาจา  จิตดับ   อายุสิ้น   ไออุ้นดับ ( วูปสันตะ= สงบระงับ )   และอินทรีย์แตก   ( ตา   หู  เป็นต้น ใช้การไม่ได้ )   ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ   สิ่งที่ปรุงกาย  วาจา  จิตดับ แต่อายุยังไม่สิ้น   ไออุ่นยังไม่ดับอินทรีย์ยังผ่องใส.

   ๑๖.   ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุติ.  อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขนั้น มีกี่อย่าง ตอบว่า  มี ๔ อย่าง คือเพราะละสุขกาย , ทุกข์กาย , เพราะสุขใจ , ทุกข์ใจดับ ภิกษุจึงเข้าฌานที่ ๔ อันไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่ความบริสุทธิ์แห่งสติอันเกิดจากอุเบกขา . ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การเข้า” เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) มีกี่อย่าง ตอบว่า  มี ๒ อย่าง คือการไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง และการใส่ใจธาตุอันไม่มีนิมิต. ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การตั้ง” ในเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิตกี่อย่าง ตอบว่า   มี ๓ อย่าง คือการไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง , การใส่ใจธาตุอันไม่มีนิมติ และการปรุงแต่งในกาลก่อน ( ปุพฺเพ อภิสงฺขาโร น่าจะหมายความว่า ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะอยู่ในสมาธินั้นนานเท่าไร). ถามว่า ปัจจัยแห่ง “ การออก” จากเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีกี่อย่าง ตอบว่า   มี ๒ อย่าง คือการใส่ใจนิมิตทั้งปวง และการไม่ใส่ใจธาตุที่ไม่มีนิมิต.

   ๑๗.   เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ ,   เจโตวิมุติอันมีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ,   เจโตวิมุติอันมีความสูญเป็นอารมณ์ และเจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต มีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน หรือเหมือนกัน. ตอบว่า มีปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้วมีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน ;   มีอรรถะอันเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน. คือ :- เจโตวิมุติอันไม่มีประมาณ ได้แก่การที่ภิกษุมีจิตประกอบด้วยพรหมวิหาร   ๔ มีเมตตา  เป็นต้น อันไม่มีประมาณ ไม่มีเวร แผ่ไปยังโลกทั้งปวง ทุกทิศ ; เจโตวิมุติอันมีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ได้แก่การที่ภิกษุก้าวล่วง ( อรูปฌาณชื่อ ) วิญญาณัญจยตนะ เข้าสู่ ( อรูปฌานชื่อ ) อากิญจัญญายตนะ ;   เจโตวิมุติอันมีความสูญเป็นอารมณ์ ได้แก่การที่ภิกษุไปสู่ป่าก็ตาม สู่โคนไม้ก็ตาม สู่เรือนว่างเปล่าก็ตาม พิจารณาว่าสิ่งนี้สูญจากตัวตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตัวตน ;   เจโตวิมุติอันไม่มีนิมิต ได้แก่การที่ภิกษุเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต ( เครื่องกำหนดหมาย ) เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง . นี้เป็นปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถและพญัญชนะต่างกัน. ส่วนปริยายที่ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถะเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน คือ   ราคะ โทสะ   โมหะ   ชื่อว่าเป็นเครื่องทำให้ “ มีประมาณ” ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ   ละราคะ   โทสะ   โมหะ   ได้เด็ดขาดแล้ว บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีประมาณ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด . เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละสูญ   คือว่างจากราคะ   โทสะ   โมหะ .   ราคะ   โทสะ   โมหะ   ชื่อว่าเป็น “ กิญจนะ ” คือกิเลสเครื่องกังวล .  ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ   ละราคะ  โทสะ   โมหะ   ได้เด็ดขาดแล้ว. บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีกิญจนะ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด. เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละเป็นสูญ คือว่างจากราคะ   โทสะ   โมหะ.     ราคะ โ ทสะ   โมหะ  ชื่อว่าเป็นเครื่องกระทำให้ “ มีนิมิต.” ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพ   ละราคะ   โทสะ  โมหะ   ได้เด็ดขาดแล้ว.   บรรดาเจโตวิมุติที่ “ ไม่มีนิมิต ” ทั้งหลาย เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบเป็นยอด. เจโตวิมุติที่ไม่กำเริบนั้นแหละเป็นสูญ คือว่างจากราคะ   โทสะ   โมหะ.   นี้คือปริยายที่ธรรมเหล่านั้นอาศัยแล้วมีอรรถะเป็นอันเดียวกันมีพยัญชนะต่างกัน.

   พระมหาโกฏฐิตะก็ชื่นชมภาษิตของพระสารีบุตรเถระ.

    (หมายเหตุ:  สูตรนี้เป็นหลักวิชาอย่างสำคัญ จึงย่อไว้ค่อนข้างพิสดาร. ในกรณีที่อธิบายวิญญาณว่า   รู้แจ้งสุข ,   ทุกข์ ,   ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น   นับว่าแปลกกว่าที่อื่น ซึ่งอธิบายวิญญาณว่า รู้แจ้งอารมณ์ทางตา ,   หู   เป็นต้น แต่ถ้าดูในธาตุวิภังคสูตร ในพระไตรปิฎฏ   เล่มที่ ๑๔   ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า ก็จะเห็นว่ามีเค้าอันเดียวกัน).

   

๔๔ . จูฬเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละ
คือการโต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรเล็ก

   พระผู้มีพระภาคประทับ   ณ   เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. วิสาขอุบาสก ( ผู้เป็นอดีตสามี ) เข้าไปหานางธัมมทินนาภิกษุณี (ผู้เป็นอดีตภริยา ) ตั้งคำถามต่าง ๆ ซึ่งนางธัมมาทินนาภิกษุณีก็ตอบชี้แจงดังต่อไปนี้:-

   ๑.   คำว่า สักกายะ ( กายของตน ) คืออะไร . ตอบว่า   ขันธ์ ๕   ที่คนยึดถือ คือ   รูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ  พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กายของตน. ถามว่า เหตุให้เกิดกายของตนคืออะไร ตอบว่า   ตัญหา   ความทะยานอยาก   คือทะยานอยากในกาม   ในความมีความเป็น   ในความไม่มีไม่เป็น. ถามว่า ความดับแห่งกายตนคืออะไร ตอบว่า คือการดับตัญหาโดยไม่เหลือ. ถามว่า   ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกายของตนคืออะไร ตอบว่า มรรคมีองค์ ๘   อันประเสริฐ   มีความเห็นชอบ   เป็นต้น. ถามว่าอุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น ) กับอุปาทานขันธ์ ๕   ( ขันธ์ ๕ ที่คนยึดถือ ) เป็นอันเดียวกัน หรืออุปาทานอื่นจากอุปาทานขันธ์     ๕ . ตอบว่า อุปาทาน กับอุปาทานขันธ์ ๕   มิใช่เป็นอันเดียวกัน แต่อุปาทานก็ไม่อื่นไปจากอุปาทานขันธ์ ๕   คือความกำหนัดด้วยความพอใจในรูปอุปาทานขันธ์ ๕   อันใด อันนั้นคืออุปาทาน.

   ๒.   สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นที่ยึดในกายของตน ) เป็นอย่างไร . ตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ( คนดี ) ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ   ย่อมเห็นรูปเป็นตน  เห็นตนมีรูป   เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป ( เห็นเวทนา ,   สัญญา ,   สังขาร,   วิญญาณ เช่นเดียวกัน   จึงรวมเป็น ๔ x ๕ = ๒๐ ข้อ). ถามว่า สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชน และไม่เห็นอย่างนั้น.

   ๓.   อริยมรรคมีองค์ ๘   คืออะไร ตอบว่า มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น. ถามว่า อริยมรรคมีองค์ ๘   เป็นสังขตะ. ( ปัจจัยปรุงแต่ง ) หรือเป็นอสังขตะ ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ). ตอบว่า เป็นสังขตะ. ถามว่า ขันธ์.  ๓ สงเคราะห์เข้าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘   ก็แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘   สงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ ๓.   ตอบว่า   ขันธ์ ๓ ไม่สงเคราะห์เข้าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘   ก็แต่ว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ สงเคราะห์เข้าด้วยขันธ์ ๓   คือ การเจรจาชอบ, การกระทำชอบ ,   การเลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าด้วยศีลขันธ์   ( กองศีล ) ;   พยายามชอบ   ตั้งสติชอบ ,   ตั้งใจมั้นชอบ , ตั้งใจมั่นชอบ สงเคราะห์เข้าด้วยสมาธิขันธ์ ( กองสมาธิ ) ;   เห็นชอบ, ดำริชอบ  สงเคราะห์เข้าด้วยปัญญาขันธ์ ( กองปัญญา ). ถามว่า   สมาธิ ,   สมาธินิมิต ( เครื่องกำหนดหมายของสมาธิ ), สมาธิปริกขาร ( เครื่องประกอบของสมาธิ ) และสมาธิภาวนา ( การเจริญหรืออบรมสมาธิ ) คืออะไร. ตอบว่า   ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ สมาธิ ;   สติปัฏฐาน   ๔ คือ   สมาธินิมิต ;   สัมมัปปธาน ๔ ( ความเพียรชอบ )   คือ สมาธิปริกขาขาร   และการเสพการทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้น   ( ทั้งสติปัฏฐาน และสัมมัปปธาน )   คือ สมาธิภาวนา.

   ๔.   สังขาร  ๓ คือ   กายสังขาร ( เครื่องปรุงกาย ) วจีสังขาร ;   (เครื่องปรุงวาจา)   จิตตสังขาร   ( ครื่องปรุงจิต ) คืออะไร   ตอบว่า   ลมหายใจเข้าออก   เป็นกายสังขาร ;   ความตรึก   ความตรอง   ( วิตก, วิจาร ) เป็นวจีสังขาร ; ความจำได้หมายรู้ และความรู้สึกอารมณ์ (สัญญา เวทนา )   เป็นจิตตสังขาร . ถามว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ตอบว่า เพราะลมหายใจเข้าออก เป็นไปทางกาย เนื่องด้วยกาย จึงเป็นเครื่องปรุงกาย ;   คนตรึกแล้ว   ตรองแล้วก่อน   จึงเปล่งวาจา ความตรึก   ความตรอง จึงเป็นเครื่องปรุงวาจา ;   สัญญา   เวทนา   เป็นไปทางจิต เนื่องด้วยจิต จึงเป็นเครื่องปรุงจิต.

   ๕.   การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ( สมาบัติอันดับสัญญาและเวทนา ) เป็นอย่างไร . ตอบว่า ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ต้องคิดว่า เราจักเข้า เรากำลังเข้า หรือเราเข้าแล้ว สู่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ . เป็นแต่ว่าอบรมจิตเช่นนั้นไว้ก่อน น้อมจิตไปเพื่อความเป็นเช่นนั้น ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ สังขารอะไรดับก่อน . ตอบว่า วจีสังขารดับก่อน . ต่อจากนั้นกายสังขาร ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ. การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเป็นอย่างไร. ตอบว่า ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติไม่ต้องคิดว่าเราจักออก เรากำลังออก เราออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นแต่ว่าอบรมจิตเช่นนั้นไว้ก่อนน้อมจิตเพื่อความเป็นเช่นนั้น. เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ สังขารอะไรเกิดก่อน ตอบว่าจิตตสังขารเกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขาร ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด. ผัสสะอะไรบ้าง ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ตอบว่า   ผัสสะ ๓ คือสุญญตผัสสะ ( ความถูกต้องความสูญหรือความว่าง ) อนิมิตตผัสสะ ( ความถูกต้องที่ไม่มีนิมิตหรือเครื่องกำหนดหมาย ) อัปปณิหิตผัสสะ ( ความถูกต้องที่ไม่มีที่ตั้ง ) จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติน้อมไปหาอะไร ตอบว่า น้อมโน้มไปหาวิเวก (ความสงัด ).

   ๖.   เวทนา ๓   คือ   สุข   ทุกข์   ไม่ทุกข์ไม่สุข .   สุขเวทนา   คือความสุข   ความสำราญ   ที่เป็นไปทางกายเป็นไปทางจิต ; ทุกขเวทนา   คือความสำราญก็ไม่ใช่   ความไม่สำราญก็ไม่ใช่ ที่เป็นไปทางกาย   เป็นไปทางจิต ;   อทุกขมสุขเวทนา   คือความมสำราญก็ไม่ใช่ ความไม่สำราญก็ไม่ใช่ ที่เป็นไปทางกาย เป็นไปทางจิต. สุขเวทนามีอะไรเป็นสุขมีอะไรเป็นทุกข์ ตอบว่า สุขเวทนามีความตั้งอยู่เป็นสุข มีความแปรปรวนเป็นทุกข์. ทุกขเวทนามีความตั้งอยู่เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นสุข . อทุกขมสุขเวทนามีความรู้เป็นสุข มีความไม่รู้เป็นทุกข์. อนุสัยอะไรแฝงตัวตาม.  เวทนาอะไร. ตอบว่า อนุสัยคือราคะ ( ความกำหนัดยินดี ) แฝงตัวตามสุขเวทนา , อนุสัยคือปฏิฆะ ( ความขัดใจ ) แฝงตัวตามทุกขเวทนา , อนุสัยคืออวิชชา ( ความไม่รู้ ) แฝงตัวตามอทุกขมสุขเวทนา. อนุสัยดั่งกล่าวแฝงตัวตามเวทนาดั่งกล่าวทั้งหมดหรือ. ตอบว่า ไม่ทั้งหมด. อะไรพึงละได้ด้วยเวทนาอะไร ตอบว่าราคานุสัย ( อนุสัยคือความกำหนัดยินดี ) พึงละได้ด้วยทุกขมสุขเวทนา , ปฏิฆะนุสัย (อนุสัยคือความขัดใจ) พึงละได้ด้วยทุกขเวทนา , อวิชชานุสัย ( อนุสัยคือความไม่รู้ ) พึงละได้ด้วยอทุกขมสุขเวทนา. อนุสัยดังกล่าวพึงละได้ด้วยทุกข์เวทนาดังกล่าวทั้งหมดหรือ. ตอบว่า ไม่ทั้งหมด. ( คำว่า ทั้งหมด ไม่ทั้งหมด ใช้ประกอบคำว่า เวทนา ) อธิบายว่า ภิกษุเข้าฌานที่   ๑ ย่อมละราคะได้ด้วยฌานที่   ๑ นั้น ราคานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในฌานที่   ๑ นั้น ; ภิกษุพิจารณาว่า “ เมื่อไรหนอ เราจะเข้าสู่อายตนะที่พระอริยเจ้าเข้าอยู่ได้ ” ทำความปรารถนาให้เกิดในวิโมกข์อันยอดเยี่ยม ก็เกิดโทมนัส ( ความเสียใจ ) เพราะความปรารถนานั้น เธอย่อมละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในโทมนัสนั้น ( ข้อความตรงนี้ อรรถกถาอธิบายไว้ละเอียดดี ผู้ต้องค้นคว้าละเอียด โปรดดูอรรถกถาที่พระสุตตันตะเล่ม ๑๒ หน้า ๒ ; ภิกษุเข้าฌานที่ ๔ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยฌานที่ ๔ นั้น   อวิชชานุสัยย่อมไม่แฝงตัวตามในฌานที่ ๔ นั้น. ( อรรถกถาชี้ฌานที่ ๑ ไปที่อนาคามีมรรค, ชี้ฌานที่ ๔ ไปที่อรหัตตมรรค).

   ๗.   อะไรส่วนเปรียบด้วยเวทนาอะไร. ตอบว่า ราคะมีส่วนเปรียบด้วยสุขเวทนา , ปฏิฆะมีส่วนเปรียบด้วยทุกขเวทนา, อวิชชามีส่วนเปรียบด้วยทุกขมสุขเวทนา, อะไรมีส่วนเปรียบด้วยอวิชชา ตอบว่า วิชชา ( ความรู้ ) อะไรมีส่วนเปรียบด้วยวิชชา ตอบว่า วิมุติ ( ความหลุดพ้น ). อะไรมีส่วนเปรียบด้วยวิมุติ ตอบว่า นิพพาน, อะไรมีส่วนนิพพาน ตอบว่า ท่านถามปัญหาเกิน ( กำหนด ) ไป ไม่อาจจะจับที่สุดแห่งปัญหาได้ เพราะพรหมณ์จรรย์มีนิพพานเป็นที่มุ่งหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด ถ้าท่านหวังจะทราบ ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามเถิด จงทรงจำไว้ตามที่ตรัสตอบเถิด. ( คำว่า มีส่วนเปรียบ หมายทั้งส่วนเปรียบในทางเดียวกันและทั้งตรงข้าม).

   วิสาขอุบาสกไหว้นางธัมมทินนาภิกษุณีทำทักษิณแล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลคำถามคำตอบให้ทรงทราบทุกประการ. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า นางธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ถ้าท่านจะถามเรา เราก็จะตอบอย่างที่นางธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว ท่านจงทรงจำเนื้อความนั้นไว้เถิด.

   

๔๕ . จูฬเวทัลลสูตร
สูตรว่าด้วยเวทัลละ
คือการโต้ตอบด้วยการใช้ความรู้ สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลสย ถึงการสมาทานธรรมะ ( รับธรรมะมาประพฤติปฏิบัติ ) ๔ ประการ คือ ๑. การสมาทานธรรมะที่มีสุขใจในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบาก ( ผล) ต่อไป ๒. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๓ . การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ๔. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป.

   ๒. ตรัสขยายความการสมาทานธรรมะทั้งสี่ข้อนั้นดังนี้ ข้อ ๑ การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์ต่อเป็นวิบากไป คือพวกพราหมณ์บางพวกมีวาทะ มีความเห็นว่า โทษในกามทั้งหลายไม่มี จึงดื่มด่ำในกามทั้งหลาย เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุกคติ วินิบาต นรก ได้รับทุกขเวทนา. ข้อ ๒ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือสมณพราหมณ์บางพวกที่ประพฤติพรตทรมานกายต่าง ๆ เช่น เปลือยกาย เป็นต้น จนถึงลงอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ( มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ ๓ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ข้อที่ ๓ การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือบุคคลบางคนเป็นคนมีราคะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนือง ๆ เป็นคนมีโทสะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนือง ๆ เป็นคนมีโมหะกล้า เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดเเต่โมหะกล้าเนือง ๆ . ผู้นั้นอันความทุกข์โทมนัสถูกต้องมีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์. ข้อที่ ๔ การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือบุคคลบางคนไม่เป็นคนมีราคะ โทสะ โมหะกล้า ไม่ได้เสวยทุกข์โทมนัส อันเกิดแต่ราคะ โทสะ โมหะ เนือง ๆ . สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔. เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์.

   

๔๖ . มหาธัมมสมาทานสูตร
สูตรว่าด้วย
การสมาทานธรรมะ สูตรใหญ่

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายมีความใคร่ ความพอใจ ความประสงค์ ให้สิ่งที่ม่ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเสื่อมไป ให้สิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่ น่าพอใจเจริญยิ่ง แต่ทั้งที่ประสงค์อย่างนั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนา เป็นต้นก็เจริญยิ่ง สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นต้น ก็เสื่อมไป ทั้งนี้เพราะอะไร . ภิกษุทั้งหลายกราทูลขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเอง.

    ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่รู้ธรรมที่ควรเสพไม่ควรเสพ ควรคบไม่ควรคบ เมื่อไม่รู้จึงเสพธรรมที่ไม่ควรเพส ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ. คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นต้น จึงเจริญยิ่ง สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นต้น จึงเสื่อมไป. ทั้งนี้เพราะการทำเช่นนั้น เป็นการกระทำของผู้ไม่รู้ ( ผู้ไม่ฉลาด ). ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ รู้และทำในทางที่ตรงกันข้ามจึงได้รับผลดี เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการกระทำของผู้รู้ ( ผู้ฉลาด ).

   ๓. ตรัสถึงการสมาทานธรรมมะ ๔ อย่าง ดั่งในสูตรก่อน เป็นแต่เรียงลำดับใหม่ดังนี้ ๑. มีทุกข์ ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๒. มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป ๓. มีทุกข์ในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ๔. มีสุขใสนปัจจุบะน มีสุขเป็นวิบากต่อไป.

   ๔. ตรัสอธิบาย ในตอนแรกโดยชี้ความสำคัญไปที่ความไม่รู้หรือความรู้ ถ้าไม่รู้การสมาทานธรรมะทั้งสี่อย่างตามเป็นจริง ก็เป็นเหตุให้เสพสิ่งนั้น ไม่เว้นสิ่งนั้น ( ในทางที่ผิด ) ทำให้ธรรมะที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเจริญขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจเสื่อมไป แล้วทรงแสดงว่า ถ้ารู้การสมาทานธรรมะทั้งสี่อย่างตามเป็นจริง ก็จะเป็นเหตุให้ไม่เสพสิ่งนั้น ( อันเป็นทางถูก ) ทำให้ธรรมะที่ไม่น่าปรารถนา เป็นต้น เสื่อมไป ธรรมะที่น่าปรารถนา เป็นต้น เจริญขึ้น.

   ๕. ตรัสอธิบายถึงการสมาทานธรรมะทั้งสี่ข้อ ทีละข้ออีก โดยชี้ว่า ๑. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิกบากต่อไป คือประพฤติชั่ว ( อกุศลกรรมบถ ๑๐ ) อย่างมีทุกข์ ( ไม่สบายกาย ) มีโทมนัส ( ไม่สายใจ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก. ๒. การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป คือประพฤติชั่วอย่างมีสุข ( สบายกาย ) มีโสมนัส ( สบายใจ ) เมื่อตายไปก็เข้าถึงอบายเป็นต้น. ๓. การสมาทานธรรมะที่มีทุกข์ในปัจจุบัน มีความสุขเป็นวิบากต่อไป คือเว้นจากความชั่วอย่างมีทุกข์โทมนัส เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์ ๔. การสมาทานธรรมะที่มีความสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป คือเว้นจากความชั่วอย่างมีความสุขโสมนัส เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคคติโลกสวรรค์.

   ๖. ตรัสเปรียบข้อแรกด้วยกระโหลกน้ำเต้าขมที่ระคนยาพิษ ดื่มแล้วทำให้ตายหรือปางตาย ; ข้อที่ ๒ ด้วยขันน้ำดื่มทำด้วยสำริด มีสีกลิ่นดี แต่ระคนยาพิษ ดื่มแล้วทำให้ตายหรือปางตาย ; ข้อที่ ๓ ด้วยน้ำมูตรเน่าผสมด้วยยาต่าง ๆ คนเป็นโรคผมเหลืองดื่มแล้วทำให้เป็นสุขได้ ; ข้อที่ ๔ ด้วยนมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส น้ำอ้อย ระคนเข้าด้วยกัน คนเป็นโรคลงโลหิตดื่มแล้วเป็นสุขได้.

   ๗. ตรัสสรุปในที่สุดว่า การสมาทานธรรมะที่มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบากต่อไป ย่อมรุ่งเรืองรู่งโรจน์เหนือสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอื่นเป็นอันมาก เหมือนดวงอาทิตย์ในฤดูสารทในเดือนท้ายพรรษา เมื่อหมดฝนรุ่งเรืองรุ่งโรจน์เหนือความมืดทั้งปวงที่มีอยู่ในอากาศฉะนั้น.

   

๔๗ . วิมังกสูตร
สูตรว่าด้วย
ภิกษุผู้พิจารณาสอบสวน

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสถึงภิกษุผู้ไม่รู้เรื่องจิตใจของคนอื่น ควรทำการสอบสวนในตถาคตเพื่อรู้ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่. ภิกษุทั้งหลายขอร้องให้ทรงอธิบาย จึงตรัสขยายความต่อไปว่า .

    ๒. ภิกษุผู้พิจารณาสอบสวน เมื่อไม่รู้เรื่องจิตใจของผู้อื่น ( คือไม่มีอำนาจจิตรู้จิตใจของผู้อื่นได้ ) ควรทำการสอบสวนในตถาคต ในธรรม ๒ อย่าง คือในธรรมที่พึงรู้แจ้งทางตาและทางหู ( กิริยาอาการหรือถ้อยคำใด ๆ ที่พึงใช้ตาใช้หูสังเกตสอบสวนได้ ) ว่าธรรมะที่พึงรู้แจ้งทางตาและทางหู   ที่เศร้าหมอง , ที่ปนกัน   ( คือดีบ้าง ชั่วบ้าง ) ของตถาคตมีหรือไม่มี ก็จะทราบว่าไม่มี. เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า ท่านผู้นี้สมบูรณ์ด้วยกุศลธรรมนี้มานานแล้ว หรือพึงสมบูรณ์ด้วยกุศลธรรมนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ก็จะทราบว่าสมบูรณ์มานานแล้ว มิใช่เพิ่งสมบูรณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่า ภิกษุ ( ผู้เป็นศาสดาของเรา ) นี้ ถึงความเป็นผู้มีคนรู้จักมียศ ในการนี้ท่านมีโทษบางอย่างหรือไม่ ภิกษุ ( บางรูป ) ยังไม่มีโทษเกิดขึ้นตราบเท่าที่ยังไม่ถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ พอถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ ก็มีโทษบางอย่างเกิดขึ้น ( เช่น เห่อเหิม ถือตัว ). เธอสวบสวนอยู่ย่อมรู้อย่างนี้ว่า ภิกษุถึงความเป็นผู้มีคนรู้จัก มียศ แต่ก็ไม่มีโทษบางอย่าง เมื่อสอบสวนยิ่ง ๆ ขึ้นไปว่าท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เว้นความชั่วเพราะกลัวก็หามิได้ ( เว้นโดยอัธยาศัยสูงคุณธรรมสูง มิใช่เพราะกลัวถูกติเตียน เป็นต้น ) ย่อมไม่เสพกาม เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะใช่หรือไม่. ก็จะรู้ว่า ท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เว้นความชั่วเพราะกลัวก็หามิไม่ ย่อมไม่เสพกามเพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะ. ถ้ามีผู้อื่น ถามภิกษุ ( ผู้สวบสวน ) ว่า มีอาการอะไร มีข้อที่รู้ได้อะไรที่ทำให้กล่าวว่า ท่านผู้นี้เว้นความชั่วมิใช่กลัว เป็นต้น. ถ้าเธอจะตอบให้ชอบก็ตอบว่า ท่านผู้นี้อยู่ในสงฆ์หรืออยู่แต่ผู้ดียว ท่านก็ไม่ดูหมิ่นภิกษุที่ดี ที่ชั่ว ที่บริหารหมู่คณะ ที่ติดอามิส ที่ไม่ติดอามิส. อนึ่ง ข้าพเจ้าได้ฟังมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ถึงพระดำรัสที่ว่า เราเว้นความชั่วมิใช่เพราะกลัว เราเว้นความชั่วเพราะกลัวก็หาไม่ เราไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะ เพราะสิ้นไปแห่งราคะดังนี้ . ข้อที่ว่าไม่ดูหมิ่นภิกษุทุกประเภท ไม่ว่าดีหรือเลวนั้น อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคมีพระหฤทัยสม่ำเสมอในบุคคลทั้งปวง เช่นในพระเทวทัตผู้คิดฆ่าและในพระราหุลผู้เป็นโอรส).

    ๓. เธอพึงถามตถาคตถึงธรรมะที่พึงรู้แจ้งทางตาหูอันเศร้าหมอง อันปนกัน ( ดีบ้าง ชั่วบ้าง ) อันผ่องแผ้วว่า ธรรมเหล่านี้ของตถาคตมีหรือไม่ เมื่อตถาคตจะตอบ ก็พึงตอบว่า “ ไม่มีธรรมที่เศร้าหมองและที่ปนกัน แต่มีธรรมที่ผ่องแผ้ว. นั้นเป็นทางเป็นที่โคจรของเรา แต่เราก็มิได้มีความทะยานอยาก เพราะคุณธรรมนั้น” สาวกจึงควรเข้าไปหาศาสดาผู้กล่าวอย่างนี้เพื่อฟังธรรม เธอรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมที่แสดงนั้น ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย เลื่อมใสในศาสดาว่า “ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้ดีโดยชอบ , พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว, พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว.” ถ้ามีผู้ถามภิกษุ ( ผู้สอบสวนนั้น ) ว่า มีอาการอะไร มีข้อที่รู้ได้อะไรเป็นเหตุให้กล่าว ( สรรเสริญพระรัตนตรัย ) อย่างนั้น . จะตอบให้ชอบ เพราะเข้าไปฟังธรรมและได้รู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมที่แสดงนั้นดังกล่าวแล้ว.

    ๔. ตรัสว่า ผู้มีศรัทธาตั้งลงในตถาคต เป็นศรัทธาที่มีราก เป็นศรัทธาอันตั้งมั่น ด้วยอาการด้วยบท ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธาของผู้นั้น เรียกว่ามีอาการ ( อันดี ) มีความเห็นเป็นจริงเป็นมูล เป็นศรัทธาอันมั่น ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก พึงนำไป ( หรือจูงไปที่อื่น ) ไม่ได้. นี้แหละคือการสอบสวนธรรมในตถาคต และตถาคตก็เป็นอันสวบสวนดีแล้วโดยธรรม.

   (หมายเหตุ:  สูตรนี้อีกสูตรหนึ่งที่ท้าให้สอบสวนคุณความดีหรือข้อบกพร่องของพระพุทธเจ้า พึงดูที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หัวข้อที่ ๒๑๗   ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระองค์ให้ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวได้ด้วย).

   

๔๘ . โกสัมพิยสูตร
สูตรว่าด้วย
ภิกษุชาวกรุงโกสัมพี

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆมิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นภิกษุในกรุงโกสัมพีร้าวฉานทะเลาะวิวาทกัน ใช้วาจาทิ่มแทงกัน ไม่ ( สามารถ ) ทำความเข้าใจกันได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้เรียกภิกษุเหล่านั้นมาประชุมกัน ตรัสสอบถาม เธอทั้งหลายรับว่าทะเลาะวิวาทกันจริง . จึงตรัสถามว่า ในสมัยที่ทะเลาะวิวาทกันนั้น เธอได้ตั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจารีทั้งในที่แจ้งที่ลับบ้างหรือเปล่า. เมื่อกราบทูลว่า เปล่า พวกเธอรู้อะไรเห็นอะไรจึงทะเลาะวิวาทกัน ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน.

    ๒. ต่อไปได้ตรัสถึงสาราณิยธรรม ( ธรรมอันทำให้ระลึกถึงกัน ) ๖ ประการ คือ ๑. ตั้งกายกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๒. ตั้งวจีกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ๓. ตั้งมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อนพรหมจารีทั้งในที่แจ้งที่ลับ ๔. แบ่งปันลาภแก่เพื่อนพรหมจารี. ๕. มีศีลอันดีเสมอด้วยเพื่อนพรหมจารี ๖ . มีทิฏฐิความเห็นอันประเสริฐเสมอด้วยเพื่อนพรหมจารี. ธรรมทั้งหกอย่างนี้ทำให้ระลึกถึงกัน ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อสามัคคีกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. ในธรรม ๖ อย่างนี้ ข้อที่เป็นยอด คือทิฏฐิความเห็นอันประเสริฐ อันนำออกจากทุกข์ได้.

    ๓. ครั้นแล้วได้ทรงไขความของทิฏฐิอันประเสริฐ อันนำออกจากทุกข์ได้ โดยชี้ไปถึงฌานที่ ๒ ถึงญาณที่ ๗ อันเป็นโลกกุตตระ ( ข้ามโลก ) ไม่ทั่วไปแก่บุถุชนทั้งหลาย ซึ่งเรียกว่าเป็นองค์ ๗ ที่ทำให้ผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ ประกอบด้วยโสดาปัตติผล . ญาณทั้งเจ็ดมีดังนี้:-

    ญาณที่ ๑    ภิกษุไปสู่ป่า สู่โคนไม้ หรือสู่เรือนว่าง พิจารณาว่า ปริยฏฐานะ (กิเลสที่ครอบงำจิต ) ในภายใน ที่เป็นเหตุให้รู้ไม่เห็นตามเป็นจริง ที่ยังละไม่ได้ มีอยู่หรือไม่ คือถ้าภิกษุถูกความกำหนัดในกาม ( กามราคะ ) , ความพยาบาท, ความหดหู่ง่วงงุน , ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ , ความลังเลสงสัย , ความคิดที่เวียนอยู่ในโลกนี้ ( อธิโลกจินฺตา ) การทะเลาะวิวาท , ครอบงำจิต แล้วมารู้ว่าปริยุฏฐานะที่ยังละไม่ได้ไม่มี จิตของเราตั้งไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจธรรม. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๑ อันเป็นอริยะ เป็นโลกตตระ เป็นอสาธารณะแก่บุถุชนทั้งหลาย.

    ญาณที่๒    อริยสาวกพิจรณาว่า เราส้องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้หรือเปล่า ซึ่งเราจะได้ความสงบระงับ ได้ความดับเย็น ( นิพพุติ ) เฉพาะตน. เธอรู้ว่า ส้องเสพ เจริญ ทำให้มากทิฏฐินี้. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๒ ฯ ล ฯ .

    ญาณที่๓    อริยสาวกพิจารณาว่า มีสมณพราหมณ์อื่นในภายนอกศาสนานี้ที่ประกอบด้วยทิฏฐิอย่างที่เรามีหรือไม่หนอ . เธอรู้ว่า ไม่มี. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๓ ฯ ล ฯ .

    ญาณที่๔    อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยธรรมดา เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิประกอบด้วยธรรมดาชนิดนั้นหรือไม่ ธรรมดาสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือต้องอาบัติ ก็แสดงเปิดเผย ทำให้ปรากฏในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้โดยพลัน แล้วสำรวมระวังต่อไป. เธอประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๔ ฯ ล ฯ .

    ญาณที่๕    อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยธรรมดา เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิประกอบด้วยธรรมชนิดนั้นหรือไม่. ธรรมดาสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือขวนขวายในกิจน้อยใหญ่ของเพื่อนพรหมจารี การเพ่งเล็งอย่างแรงกล้า เพื่อการศึกษาอธิษศีล , อธิจิต , อธิปัญญา ( ศีล สมาธิ ปัญญาอันยิ่ง ). เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๕ ฯ ล ฯ.

    ญาณที่๖    อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลัง เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังนิดนั้นหรือไม่ . ความเป็นผู้มีกำลังสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือเมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว เขาย่อมตั้งใจเงี่ยโสตสดับธรรม. เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๖ ฯ ล ฯ.

    ญาณที่๗    อริยสาวกพิจารณาว่า เราประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลัง เช่นเดียวกับบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังชนิดนั้นหรือไม่. ความเป็นผู้มีกำลังสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือเมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว เขาย่อมได้ความรู้อรรถ ความรู้ธรรม ได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม. เธอรู้ว่า เธอประกอบด้วยความเป็นผู้มีกำลังเช่นนั้น. เธอก็ได้บรรลุญาณที่ ๗ ฯ ล ฯ.

   ตรัสสรุปว่า ธรรมดาของอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ เป็นอันสอบสวนด้วยดี เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้. อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ อย่างนี้ ย่อมประกอบด้วยโสดาปัตติผล.

   

๔๙ . พรหมนิมันตนิกสูตร
สูตรว่าด้วยการ
เชื่อเชิญของพรหม

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังถึงเหตุการณ์สมัยหนึ่งที่ประทับ ณ โคนพญาไม้สาละในป่าสุภควัน ใกล้เมืองอุกฏฐา ครั้งนั้นพกาพรหมเกิดความเห็นผิดขึ้นว่า นี้เที่ยง ยั่งยืน ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่เคลื่อน ไม่อุปบัติ.  ไม่มีความหลุดพ้น ( นิสสรณะ = แล่นออก ) อื่นที่ยิ่งกว่านี้. พระองค์จึงเสด็จไปปรากฏในพรหมโลก . พกาพรหมเห็นก็ทูลเชิญและแสดงทิฏฐิความเห็นของตนในเรื่องเที่ยง. พระองค์ตรั้สตอบว่า พกาพรหมมีอวิชชา ( ความไม่รู้ ) จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สิ่งที่ไม่ยั่งยืนว่ายั่งยืน เป็นต้น.

   ๒. ลำดับนั้น มารผู้มีบาปก็สิงพรหมปาริสัชชะ .  ตนหนึ่ง ให้พูดห้ามปรามพระผู้มีพระภาคมิให้ว่ากล่าวพกาพรหม เพราะพกาพรหมคือผู้เป็นใหญ่ เป็นผู้สร้าง และได้พูดจาอย่างอื่นอีกเป็นเชิงว่าผู้ติเตียน ธาตุ ๔ ภูต เทวดา ประชาบดี พรหม ตายไปจะเกิดในกายอันต่ำทราม ผู้สรรเสริญธาตุ ๔ เป็นต้น ตายไปจะเกิดในกายอันปราณีต พร้อมทั้งห้ามพูดล่วงเกินพระพรหม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ! เรารู้จักท่าน ท่านอย่านึกว่าเราไม่รู้จัก. พระพรหม บริษัทของพระพรหม พรหมปาริสัชชะ ล้วนแต่อยู่ในมือของท่าน ล้วนแต่อยู่ในอำนาจของท่าน ท่านจึงคิดว่า ผู้นั้นอยู่ในมือ อยู่ในอำนาจของเรา. ดูก่อนมารผู้มีบาป ! แต่เรานี่แหละไม่อยู่ในมือ ไม่อยู่ในอำนาจของท่าน.

   ๓. ต่อจากนั้นพกาพรหมก็กล่าวยืนยันทิฏฐิของตนอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสโต้ตอบเป็นเชิงเตือนว่า ทรงรู้จักคติและชุติ ( อานุภาพ ) ของพกาพรหม แล้วทรงแสดงว่าพกาพรหมยังไม่รู้ไม่เห็นพรหมอีก ๓ พวก คือ พวกอาภัสสระ พวกสุภกิณหะ และพวกเวหัปผละ ซึ่งพกาพรหมเคยเคลื่อนมาจากนั้น แต่มาอยู่ในที่นี้นานเกินไปก็เลยหลงลืมไป . พกาพรหมแสดงความประสงค์ว่า จะหายตัวไปจากพระผู้มีพระภาค แต่ก็หายไปไม่ได้. พระผู้มีพระภาคแสดงฤทธิ์หายไปได้ ให้พรหม บริษัทของพรหม และพรหมปาริสัชชะได้ยินพระดำรัส แต่ไม่เห็นพระกาย. พวกพรหมทั้งนั้นก็อัศจรรย์ใจในพุทธานุภาพ.

   ๔. มารผู้มีบาปก็สิงพรหมปาริสัชชะตนหนึ่ง ให้พูดห้ามปรามพระองค์อย่าให้แสดงธรรมแก่สาวกแกบรรพชิต อย่าติดในสาวก ในบรรพชิต พร้อมทั้งเล่าว่า สมณพราหมณ์ก่อนหน้าพระองค์ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำสาวก บรรพชิต แสดงธรรมแก่สาวก แก่บรรพชิต ติดในสาวก ในบรรพชิต ตายไปก็เกิดในกายอันต่ำทราม แต่สมณพรามณ์ที่ตรงกันข้าม ( คือไม่สอนสาวก ไม่สอนบรรพชิต ) ตายไปกลับเกิดในกายอันประณีต, ข้าพเจ้าขอบอกกับท่านว่า จงมีความปรารถนาน้อย หาความสุขในปัจจุบันเถิด. การไม่บอกเป็นการดี ท่านจงอย่าสั่งสอนคนอื่นเลย.

   ๕. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป ! เรารู้จักท่าน ท่านอย่าสำคัญว่าเราไม่รู้ ท่านไม่มุ่งประโยชน์แก่เราจึงกล่าวอย่างนี้ ท่านคิดว่า พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่ใคร ผู้นั้นจักพ้นอำนาจแห่งเรา สมณพราหมณ์ ( ที่กล่าวถึง ) เหล่านั้นมิได้ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่ปฏิญญาตนว่าตรัสรู้เองโดยชอบ. ส่วนตัวเราตรัสรู้เองโดยชอบ จึงปฏิญญาว่าตรัสรู้โดยชอบ. จะแสดงธรรมหรือไม่แสดงแก่สาวกทั้งหลาย จะแนะนำหรือไม่แนะนำสาวกทั้งหลาย ตถาคตก็เป็นเช่นนั้นเท่านั้น ( ไม่ดีไม่ชั่วไปกว่าเดิม ) ทั้งนี้เพราะละอาสวะได้เด็ดขาดแล้ว เหมือนตาลยอดด้วนไม่ควรงอกขึ้นอีก ๑๐ .

   

๕๐ . มารตัชชนียสูตร
สูตรว่าด้วยมารถูกคุกคาม

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าเนื้อชื่อเภสกฬาวัน ใกล้นครสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ. สมัยนั้น พระมหาโมคคัลลานะจงกรม ( เดินไปมา ) ในที่แจ้ง . มารเข้าไปในท้อง เข้าไปในใส้ใหญ่ของพระเถระ พระเถระรู้สึกหนัก ๆ จึงนั่งพิจารณาดูก็ทราบ จึงไล่ให้มารออก มารก็ออกมาจากปาก ยืนพิงบานประตู ( แห่งบรรณศาลา ) .

    พระมหาโมคคัลลานะก็กล่าวแสดงความรู้ทันและเล่าประวัติต่าง ๆ ซึ่งแสดงว่าองค์ท่านเคยเป็นมารมาแล้วชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาฬี ตัวมารที่มาปรากฏนี้เป็นลูกของนางกาฬี จึงนับเป็นหลานของท่าน.

    เมื่อรู้ว่าพระเถระรู้จักก็อันตรธานหายไปในที่นั้น.

จบพระไตรปิฎก   เล่มที่ ๑๒   มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์


๑.   มโนวิญญาณอันบริสุทธิ์ ในที่นี้ อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่จิต ในรูปาวจรจตุตถฌาน ( ฌานที่ ๔ อันท่องเที่ยวในรูป คือยังมีรูปเป็นอารมณ์)

๒.  อรรถกถาแก้ว่า อายุสังขาร ก็คืออายุนั้นเอง ส่วนเวทนียธรรม ได้แก่เวทนา คือความรู้สึกอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข

๓.   เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ คือหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจสมาธิ

๔.   โดยปกติ คำว่า อากิญจัญญายตนะ อันเป็นชื่อของอรูปฌานที่  ๓ แปลว่า มีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ แต่ในที่นี้ คำว่า ไม่มีอะไรนั้น อาจแปลได้ว่า ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลได้ด้วย เป็นการอธิบาย เพื่อให้อรรถะ คือเนื้อความลงรอยเดียวกัน

๕.   ขันธ์ ๓ คือ สีลขันธ์ กองศีล สมาธิขันธ์ กองสมาธิ และปัญญาขันธ์ กองปัญญา

๖.   อนุเสนฺติ อนึ่งคำว่าอนุสัยหมายถึงกิเลสที่มีอยู่อย่างแฝงตัวคล้ายตำกอนกันตุ่ม เมื่อมีอะไรมากวนจึงขุ่นขึ้นมา

๗.   พระสูตรนี้ นับเป็นสูตรประหลาด เพราะสอนสาวกให้สวบสวนพิจารณาในพระผู้มีพระภาคเอง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สอนให้คอยจับผิดพระองค์เอง ซึ่งเเสดงว่าพระองค์ทรงเปิดเผยและแน่พระหฤทัยในความบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง

๘.   อ่านว่า อุปะบัติ เป็นคำคู่กับจุติ ซึ่งแปลว่า เคลื่อน อุปบัติ แปลว่าเข้าถึง หมายถึงการเกิด

๙.   เป็นพรหมชั้นต่ำสุดของพรหมมีรูป ๑๖ ชั้น ดูที่หัวข้อ ๔๑ . สาเลยยกสูตรด้านบน

๑๐.   สูตรนี้บ่งชัดถึงคติทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่า ชั้นพรหมยังตกอยู่ในอำนาจมาร คือพรหมก็ยังติดในฌาน ซึ่งจัดเป็นภวตัณหาหรือวิภาวตัณหา มารในที่นี้ เมื่อถอดความ ก็ได้แก่กิเลสมาร และอภิสังขารมาร ถ้าไม่ถอดความ ก็ได้แก่เทวปุตตมาร

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ