บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๔
หมวดนี้มี

๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร
๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร
๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร
๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร
๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร

..การเผชิญความกลัว
..บางพวกหลงวันหลงคืน
..ทรงแสดงข้อ
ปฏิบัติของพระองค์
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร

 

หน้าที่ ๒ ๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร

..กำลัง ๑๐
..เวสารัชชะ ๓
..บริษัท ๘
..กำเนิด ๔
..คติ ๕
..การประพฤติ
พรหมจรรย์มีองค์ ๔
..การทรมาน
พระองค์อย่างอื่นอีก
..ทรงทดลอง
ความบริสุทธิ์
เพราะเหตุต่าง ๆ
..คนหนุ่มจึงมี
ปัญญาจริงหรือ?
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร

..สรุป

 

หน้าที่ ๓ ๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร

 

หน้าที่ ๕ ๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชนิกาย มูลปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๔
หน้า ๔

๓๑ . จูฬโคสิงคสาลสูตร
สูตรว่าด้วยป่าไม้สาละชื่อโคสิงคะ สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ที่พักแรมทำด้วยอิฐในนาทิกคาม เสด็จไปเยี่ยมพระอนุรุทธ์ พระนันทิยะ พระกิมพิละ ณ ป่าโคสิงตสาลวัน.  แต่ผู้เฝ้าป่าไม่รู้จัก จึงไม่อนุญาตให้เสด็จเข้าไป พระอนุรุทธ์พูดกับผู้เฝ้าป่าแนะนำให้รู้จักว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา แล้วชวนพระนันทิยะและพระกิมพิละมาเฝ้ารับบาตรจีวร ปูอาสนะถวาย.

   ๒. ตรัสถามถึงความอยู่เป็นผาสุก ก็กราบทูลว่า ต่างอยู่กันอย่างตั้งเมตตาทางกาย   วาจา   ใจ   ต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตเสมือนเป็นอันเดียวกัน.

   ๓. ตรัสถามถึงการอยู่อย่างไม่ประมาท มีความเพียร ก็กราบทูลถึงพฤติกการณ์ที่ได้อยู่กันอย่างไม่ประมาท มีความเพียร.

   ๔. ตรัสถามถึงการบรรลุคุณพิเศษ ก็กราบทูลถึงคุณพิเศษที่ได้เริ่มต้นแต่รูปฌาน ๔   จนถึงอรูปฌาน ๔   และคุณพิเศษที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกข้อหนึ่ง คือสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมบัติที่ดับสัญญาและเวทนา )

   ๕. พระผู้มีพระภาคทรงสนทนาด้วยธรรมิกถากับพระเถระเหล่านั้นพอสมควรแล้วก็เสด็จหลีกไป. ต่อจากนั้นก็มีเสียงสดุดีจากยักษ์ชื่อทีฆปรชนถึงพระเถระทั้งสามรูปนั้น เมื่อไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าเป็นลาภของชาววัชชี ( นาทิกคามอยู่ในแคว้นวัชชี ) ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับอยู่พร้อมด้วยพระอนุรุทธ์ พระนันทิยะ และพระกิมพิละ และเสียงสดุดีนั้นก็กล่าวต่อกันไปถึงพรหมโลก.

   

๓๒ . มหาโคสิงคสาลสูตร
สูตรว่าด้วยป่าไม้สาละชื่อโคสิงคะ สูตรใหญ่

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ที่มีชื่อ คือ   พระสารีบุตร   พระมหาโมคคัลลานะ   พระมหากัสสป   พระอนุรุทธ์  พระเรวตะ   พระอานนท์   และพระสาวกผู้มีชื่อที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ .

   ๒. เวลาเย็นพระมหาโมคคัลลานะชวนพระมหากัสสปเพื่อไปฟังธรรมของพระสารีบุตร พระอานนท์ก็ชวนพระเรวตะไปหาพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรมเช่นกัน เมื่อไปประชุมพร้อมกันแล้ว พระสารีบุตรก็ตั้งปัญหาถามพระอานนท์ก่อนว่า ป่าโคสิงคสาลวันนี้งามแก่ภิกษุเช่นไร. พระอานนท์ ตอบว่า งามสำหรับภิกษุผู้สดับตรับฟังมาก. เมื่อถามพระเถระอื่น ๆ ต่างก็ตอบว่างามสำหรับภิกษุผู้มีคุณธรรมนั้น ๆ ตามที่ท่านพอใจ คือ พระเรวตะ ว่างามสำหรับภิกษุผู้หลีกเร้น ประกอบเจโตสมถะ ( ความสงบแห่งจิต ) ในภายใน. พระอนุรุทธ์ ว่างามสำหรับภิกษุผู้มีทิพยจักษุ. พระมหากัสสป ว่างามสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า , เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตกนำมาปะติดปะต่อเป็นจีวร ) จึงถึงสมบูรณ์ด้วยศีล , สมาธิ , ปัญญา , วิมุติ , วิมุตติญาณทัสสนะ . พระโมคคัลลานะ ว่างามในเมื่อภิกษุ ๒ รูป สนทนาถามตอบอภิธัมมกถากัน เมื่อพระมหาโมคคัลลานะย้อนถามพระสารีบุตรบ้าง พระสารีบุตร จึงตอบว่า งามสำหรับภิกษุผู้คุมจิตไว้ในอำนาจได้ ปรารถนาจะอยู่ด้วยธรรมะเป็นเครื่องอยู่อันใดในเวลาไหน ก็อยู่ได้ดังประสงค์

   ๓. ครั้นแล้วพระสารีบุตรจึงชวนพระเถระเหล่านั้นไปเฝ้า กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ตรัสรับรองคำกล่าวของพระเถระทุกรูป แต่เมื่อกราบทูลถามว่า ภาษิตของรูปใดจะชื่อว่ากล่าวดีแล้ว ตรัสตอบว่า กล่าวดีทุกรูปโดยปริยาย ( คือในแง่ใดแง่หนึ่ง ) พระองค์เองตรัสว่า ป่านี้งามสำหรับภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาต นั่งคู้บัลลังก์ ( ขัดสมธิ ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ตั้งใจว่าจะไม่เลิกสมาธิตราบใดที่จิตไม่พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.

    (หมายเหตุ:  เรื่องนี้เห็นชัดว่า พระเถระทั้งหลายกล่าว่า ป่านี้งามสำหรับผู้มีคุณพิเศษต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้เลอเลิศอยู่แล้ว แต่พระผู้มีพระภาคกลับตรัสว่า ป่านี้งามสำหรับภิกษุผู้ยังไม่มีคุณพิเศษอะไรเลย แต่เพียรพยายาม มีความตั้งใจมั่นว่า ถ้ายังไม่หมดอาสวะจะไม่ลุกขึ้น. นับเป็นข้อเฉลยที่น่าเลื่อมใสว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมองเฉพาะภิกษุผู้วิเศษด้วยคุณธรรมแล้ว แต่ทรงถือว่าผู้ยังไม่บรรลุอะไรเลยก็สำคัญอยู่มากเป็นพิเศษ สมกับการที่พระพุทธศาสนาตั้งขึ้นมิใช่เพื่อผู้มีคุณธรรมสูงแล้วเท่านั้น แต่เพื่อคนเดินถนนหรือสามัญชนธรรมดานี้เอง).

   

๓๓ . มหาโคปาลสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่

๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ตรัสแสดงถึงการขาดและความสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมของภิกษุ ๑๑ อย่าง เทียบเคียงด้วยการขาดหรือการมีความสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของคนเลี้ยงโค ๑๑ ข้อ   ว่าจะทำให้ภิกษุไม่ควรถึงหรือควรถึงความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยนี้.

๒. คุณสมบัติของคนเลี้ยงโค เทียบด้วยคุณธรรมของภิกษุดังต่อไปนี้ ( การขาดคุณสมบัติ พึงรู้โดยตรงกันข้าม )
           ๑. รู้จักรูป เทียบด้วยรู้จักรูปใหญ่และรูปอาศัย
           ๒. รู้จักลักษณะ เทียบด้วยรู้จักลักษณะพาล ลักษณะบัณฑิต เพราะการกระทำของคนเหล่านั้น
           ๓. เขี่ยไข่ขัง ( เมื่อแมลงวันหยอดไข่ขังที่แผลโค ) เทียบด้วยละ , บันเทา , ทำให้สิ้นไป ซึ่งความคิดฝ่ายชั่ว ( อกุศลวิตก)
           ๔. ปิดแผล เทียบด้วยสมรวมอินทรีย์ คือ ตา หู เป็นต้น มิให้อกุศลบาปธรรมท้วมทับจิต.
           ๕. สุมควัน เทียบด้วยแสดงธรรมที่ฟังแล้ว เล่าเรียนแล้วแก่ผู้อื่นได้ โดยพิสดาร
           ๖. รู้จักท่าน้ำ เทียบด้วยรู้จักเข้าไปหาภิกษุผู้เชี่ยวชาญทางต่าง ๆ เช่น ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ( แม่บทของธรรม เช่น บทตั้งของธรรม ) แล้วไต่ถาม
           ๗. รู้จักน้ำดื่ม เทียบรู้อรรถรู้ธรรม เมื่อมีผู้แสดงธรรมที่พระตถาคตประกาศแล้ว
           ๘. รู้ทาง ( วิถี ) เทียบด้วยรู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ ( มีความเห็นชอบเป็นต้น ) ตามเป็นจริง
           ๙. ฉลาดในโคจร ( ทำเลที่โคควรเที่ยวไป ) เทียบด้วยรู้จักสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง ตามความจริง ( ดูที่พระสุตตันตะปิฎกเล่ม ๒ ) หน้าที่ ๔
           ๑๐. ไม่รีดนมจนหมด เทียบด้วยรู้จักประมาณในการรับเมื่อผู้มีศรัทธาอนุญาตให้นำปัจจัย ๔ ไปได้
           ๑๑. บูชาโคผู้ ที่เป็นพ่อโค เป็นผู้นำฝูง เทียบด้วยแสดงความเคารพนับถือ พระภิกษุผู้เป็นเถระบวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำของสงฆ์.

   

๓๔ . จูฬโคปาลสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้นครอุกกเวลา แคว้นวัชชี ตรัสเล่าเรื่องคนเลี้ยงโคชาวมคธผู้ไม่ฉลาด ไม่พิจารณาฝั่งนี้ฝั่งโน้นของแม่น้ำคงคา พาโคข้ามผิดท่าน้ำ ทางฝั่งด้านเหนือของแคว้นวิเทหะในฤดูสารทท้ายพรรษา โคทั้งหลายก็ว่ายเวียนในกระแสน้ำ จมน้ำตายกลางแม่น้ำคงคา เทียบด้วยสมณะพราหมณ์ผู้ไม่ฉลาดในเรื่องต่าง ๆ คือโลกนี้ โลกหน้า บ่วงมาร มิใช่บ่วงมาร บ่วงมัจจุ มิใช่บ่วงมัจจุ พลอยให้คนที่เชื่อฟังปราศจากประโยชน์ ได้รับความทุกข์ไปด้วยตลอดกาลนาน.

   ๒. ครั้นแล้วทรงแสดงถึงคนเลี้ยงโคชาวมคธ ผู้ฉลาดให้โคผู้ ที่เป็นพ่อโค เป็นผู้นำฝูงข้ามน้ำก่อนแล้วจึงให้โคที่มีกำลัง โคฝึก ลูกโคตัวผู้ตัวเมีย และลูกโคที่อ่อนกำลังข้ามตามไป. ตรัสว่า แม้ลูกโคที่คลอดในขณะนั้น ก็ว่ายน้ำตามแม่โค ตัดกระแสน้ำไปได้. สมณพราหมณ์ผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ทำให้คนที่เชื่อฟังได้รับประโยชน์ความสุขไปด้วยตลอดกาลนาน.

    ๓. ทรงเปรียบโคผู้ ผู้นำฝูง ด้วยพระอรหันต์ขีณาสพ ที่ตัดกระแสของมารข้ามไปได้ เปรียบโคมีกำลังฝึก ด้วยประอนาคามี ผู้ละสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้ เปรียบลูกโคผู้ โคเมีย ด้วยพระสกทาคามี เปรียบลูกโคอ่อนกำลัง ด้วยพระโสดาบัน เปรียบโคที่เกิดในขณะนั้น ด้วยผู้ตั้งอยู่ในมรรค   ที่เรียกว่า ธัมมานุสารี ( ผู้แล่นไปตามธรรมะ ) และสัทธานุสารี ( ผู้เเล่นไปตามศรัทธา ).

   

๓๕ . จูฬสัจจกสูตร
สูตรว่าด้วยสัจจกนิครนถ์ สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอดในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี ( แคว้นวัชชี ) ในสมัยนั้นสัจจกนิครนถ์ก็อาศัยอยู่ในกรุงเวลาลี เป็นผู้ชอบโต้เถียง ยกตนว่าฉลาด ชนหมู่ใหญ่ยกย่องว่าดี . สัจจนิครนถ์พูดในที่ประชุมชนกรุงเวสาลีว่า ไม่เห็นใครแม้ที่จะปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ที่ตนโต้ตอบด้วยแล้วจะไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลออกมาจากรักแร้ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้ตนจะโต้ตอบกับต้นเสา ต้นเสาก็ยังหวั่นไหว.

    ๒ สัจจกนิครนถ์พบพระอัสสชิเถระ เช้าวันหนึ่ง จึงเข้าไปหาปราศรัยแล้วถามว่า พระสมณโคดมและนำสาวกอย่างไร คำสอนส่วนใหญ่คืออะไร พระอัสสชิตอบว่า ทรงสอนว่า   ขันธ์ ๕ คือ   รูป   เวทนา   สัญญา  สังขาร   วิญญาณ   ไม่เที่ยง   ไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน. สัจจกนิครนถ์ก็กล่าวว่า ท่านฟังมาไม่ดีแล้ว ที่ได้ฟังพระสมณโคดมผู้มีวาทะอย่างนี้ ตนพบพระสมณโคดมคราวใดคราวหนึ่งก็จะถ่ายถอนเสียจากความเห็นอันชั่วนี้ให้ได้ สัจจกนิครนถ์จึงเข้าไปยังที่ประชุมชนของเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ เล่าความที่โต้ตอบกับพระอัสสชิให้ฟัง และอวดอ้างว่าจะฟัดฟาดพระสมณโคดมเสียด้วยวาทะเหมือนดึงขนแกะเล่น เป็นต้น.

   ๓. สัจจกนิครนถ์จึงพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวี ๕๐๐   ไปยังศาลาเรือนยอดป่ามหาวัน เมื่อพบพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวขอโอกาสเพื่อให้ตอบปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ถามได้ ก็ถามว่า ทรงแนะนำสาวกอย่างไร คำสอนส่วนใหญ่คืออะไร ตรัสตอบอย่างที่พระอัสสชิเถระตอบ. สัจจกนิครนถ์แย้งว่า พืชพันธุ์ไม้และคนสัตว์อาศัยแผ่นดินฉันใด คนเราก็อาศัยรูปเวทนา เป็นต้น ได้ประสบบุญและมิใช่บุญ ( เท่ากับว่า ถ้าปฏิเสธขันธ์ ๕ ว่าเป็นอัตตาเสียแล้ว ก็คล้ายกับไม่มีมูลฐาน เหมือนคน สัตว์ ต้นไม้ เมื่อไม่ดินก็ไม่มีที่ตั้ง ).

   ๔. ตรัสย้อนถามว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านกล่าวว่า ขันธ์ ๕   เป็นตนของท่านใช่ไหม. สัจจกนิครนถ์ตอบว่า ใช่ ประชุมชนใหญ่นี้ก็ว่าอย่างนั้น. ตรัสตอบว่า ประชุมชนใหญ่นี้จะทำอะไร ท่านจงแก้วาทะของตนเองเถิด สัจจกนิครนถ์ จึงยืนยันว่า ข้าพเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ ๕ เป็นตนของข้าพเจ้า.

   ๕. ตรัสถามว่า กษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก มีอำนาจต่าง ๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ เช่น การฆ่า การริบทรัพย์ การเนรเทศใช่หรือไม่ ทูลรับว่า ใช่ .     ตรัสถามว่า ท่านกล่าวว่า รูป ( ส่วนหนึ่งใน ๕ ส่วนของขันธ์ ๕ ) เป็นตัวตนของท่าน ท่านจะมีอานาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่. สัจจกนิครนถ์นิ่ง ตรัสถามย้ำถึง ๓ ครั้งก็นิ่ง ในที่สุดก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้รูปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. จึงตรัสถามไปทีละข้อจนถึงวิญญาณ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ยอมรับว่าไม่มีอำนาจให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เช่นเดียวกันทุกข้อ.

   ๖. ตรัสถามว่า ขันธ์ ๕   เที่ยงหรือไม่เที่ยง . ตอบว่า ไม่เที่ยง . ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่นนั้นเป็นทุกข์หรือสุข. ตอบว่า เป็นทุกข์. ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาควรหรือที่จาตามเห็นว่า นั้นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา ตอบว่า ไม่ควร. ตรัสถามว่า ผู้ใดติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่า ทุกข์นั้นเป็นของเรา เราเป็นนั้น นั้นเป็นตัวตนของเรา ผู้นั้นจะกำหนดรู้ทุกข์ หรือทุกข์ให้สิ้นไปหรือไม่. ตอบว่า ไม่ได้. ตรัสถามว่า ท่านติดทุกข์ ยึดทุกข์ ตามเห็นว่าทุกข์นั้นเป็นของเรา เป็นตนใช่หรือไม่ สัจจกนิครนถ์ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น.

   ๗. ตรัสเปรียบว่า คนที่ต้องการแก่นไม้ แต่ไปตัดต้นกล้วย จึงไม่ได้แม้แต้กระพี้ไม้ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแก่น ตัวท่านที่อวดตนในเรื่องการโต้ตอบว่า ผู้ที่พูดกับท่านจะต้องหวั่นไหว เหงื่อแตก แม้แต่เสาก็หวั่นไหว บัดนี้เหงื่อของท่านไหลเอง ตถาคตไม่มีเหงื่อไหลเลย สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเก้อเขิน. บุตรเจ้าลิจฉวีชื่อทุมมุขะ ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงสัจจกนิครนถ์ว่าเหมือนปูถูกหักก้าม สัจจกนิครนถ์ก็ว่าบุตรเจ้าลิจฉวีว่าเป็นเรื่องของการสนทนาระหว่างพระสนณโคดมกับตน ( คนอื่นไม่ควรเกี่ยว).

   ๘. แล้วสัจจกนิครนถ์จึงทูลถามว่า สาวกของพระองค์จะข้ามความสงสัย ไม่ต้องพึงผู้อื่น ( ในเรื่องความเชื่อ ) ด้วยเหตุเพียงเท่าไร. ตรัสตอบว่า สาวกนั้นเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕   ทุกชนิด ไม่เป็นของเรา เราไม่เป็นนั้น นั้นไม่เป็นตัวตนของเรา. ทูลถามว่า ภิกษุจะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยเหตุเพียงเท่าไร ก็ตรัสตอบอย่างเดียวกับตอนแรก คือไม่ยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเรา เป็นต้น แล้วตรัสสรุปว่า ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมประกอบด้วยอนุตตริยะ ( สิ่งยอดเยี่ยม ) ๓ ประการ คือ ทัสสนานุตตริยะ ( ความเห็นอย่างยอดเยี่ยม ) ปฏิปทานุตตริยะ ( ความปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยม ) วิมุตตานุตตริยะ ( ความหลุดพ้นอย่างยอดเยี่ยม ) ย่อมเคารพบูชาตถาคตว่า ตรัสรู้ , ฝึกพระองค์ , ข้ามพ้น, ดับเย็น ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้อื่นเป็นเช่นนั้น.

   ๙. สัจจกนิครนถ์กราบทูลยอมรับว่าตนผิด และนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉันภัตตาหาร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับนิมนต์และเสด็จไปฉัน ณ อารามของนิครนถ์นั้นในวันรุ่งขึ้น.

   

๓๖ . มหาสัจจกสูตร
สูตรว่าด้วยสัจจกนิครนถ์ สูตรใหญ่

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี . เช้าวันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเตรียมเสด็จเข้าสู่กรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต . พระอานนท์เห็นสัจจกนิครนถ์เดินมาแต่ไกล ก็อาราธนาพระผู้มีพระภาคให้ประทับนั่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนเพื่อสงเคราะห์เขา. สัจจกนิครนถ์ก็เข้ามาเฝ้า กล่าวปราศัยแล้วตั้งกระทู้ขึ้นว่า :-

   ๒. มีสมณพราหมณ์บางพวกประกอบการอบรมกาย แต่ไม่ประกอบอบรมกาย แต่ไม่ประกอบการอบรมจิต เมื่อได้รับทุกขเวทนาทางกายก็อาจเป็นโรคขาแข็ง ( อัมพาต ) , หัวใจแตก ( น่าจะได้แก่โรคหัวใจวายหรือเส้นโลหิตในสมองแตกอย่างใดอย่างหนึ่ง ), อาเจียนเป็นโลหิต , จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า , จิตของคนเหล่านั้นเป็นไปตามกาย เป็นไปตามอำนาจของกาย เพราะมิได้อบรมจิต. ส่วนสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งประการอบรมจิต แต่ไม่ประกอบการอบรมกาย เมื่อได้รับทุกขเวทนาทางจิต เจตสิก ก็อาจเป็นโรคขาแข็ง , หัวใจแตก , อาเจียนเป็นโลหิต , จิตฟุ้งสร้าน เป็นบ้า. กายของคนเหล่านั้นเป็นไปตามจิต เป็นไปตามอำนาจของจิต เพราะมิได้อบรมกาย . ข้าพเจ้าคิดว่า สาวกของพระสมณโคดมคงประกอบการอบรมจิต ไม่ประกอบการอบรมกาย.

   ๓. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า การอบรมกายที่ท่านได้ฟังมา ( ตามคำพูดของท่าน ) เป็นอย่างไร ? สัจจกนิครนถ์อ้างชื่อนันทะ วัจฉโครต , กิสะ สังกิจจโครต , มักขลิ โคสาลซึ่งเปลือยกาย ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือ เป็นต้น จนถึงกินอาหารวันละครั้ง ๒ วันครั้ง จนถึงกึ่งเดือนครั้ง. ตรัสถามว่า ยังชีพด้วยอาหารเพียงเท่านั้นเองหรือ ? ทูลตอบว่า บางคราวก็กินดื่มอาหารดี ๆ ให้เกิดกำลังกาย. ตรัสตอบว่า ร่างกายของสมณพราหมณ์พวกนั้นที่ละทิ้งการทรมานตนในเบื้องแรก มาสะสมในภายหลัง จึงเจริญบ้าง เสื่อมบ้าง.

    (หมายเหตุ:  ประเด็นสำคัญตอนนี้ คือการตีความหมายถ้อยคำว่า อบรมกายเป็นอย่างไร อบรมจิตเป็นอย่างไร . เฉพาะการอบรมกาย พวกนิครนถ์ถือว่า คือการทรมานร่างกาย แต่แล้วก็กลับชี้ให้เห็นความย่อหย่อนในภายหลัง พระผู้มีพระภาคทรงติงไว้ในตอนท้าย อรรถกถาแก้ว่า ความหมายของฝ่ายพระพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน โดยชี้ว่า อบรมกาย ได่แก่วิปัสสนา ( ปัญญา ) อบรมจิต ได้แก่สมถะ ( สมาธิ ) จึงควรเข้าใจว่า คำว่า กาย นั้น ไม่ได้หมายถึงร่างกายเสมอไป หากหมายถึงนามกายหรือธรรมะที่เกิดกับจิต คือเจตสิกซึ่งมีที่ใช้อยู่หลายแห่ง. แต่ก็น่าพอใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามนิครนถ์ตีความถ้อยคำของตนเองเสียก่อนเพื่อจะได้ไม่ยุ่ง.

   ๔. ตรัสถามต่อไปว่า การอบรมจิตที่ท่านได้ฟังมาเป็นอย่างไร? สัจจกนิครนถ์ไม่สามารถตอบได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า การอบรมกายข้างต้น ( ตามที่เขาเข้าใจ ) มิใช่การอบรมกายในอริยวินัย ก็เมื่อไม่รู้การอบรมกายแล้ว จะรู้การอบรมจิตอย่างไร. ครั้นแล้วจึงตรัสบอกให้คอยฟัง.

    ๕. ผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต คือบุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสุขเวทนา ( ความรู้สึกเป็นสุข ) ถูกต้องก็กำหนัดในสุข เมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้นเพราะสุขเวทนาดับไป ก็เศร้าโศกคร่ำครวญ หลงเลอะ. สุขเวทนาเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้นั้นได้ก็เพราะมิได้อบรมกาย ทุกขเวทนาเกิดขึ้นครอบงำจิตของผู้นั้นได้ก็เพราะมิได้อบรมจิต   สุขเวทนาและทุกขเวทนาเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ครอบงำจิตเพราะมิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิตอย่างนี้.

   ๖. ผู้อบรมกาย อบรมจิต คืออริยสาวก ( สาวกของพระอริยเจ้า ) ผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชนผู้มิได้สดับ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ไม่ครอบงำจิตของผู้นั้นได้.

   ๗. สัจจกนิครนถ์กล่าวแสดงความพอใจเห็นด้วยกับพระดำรัสอธิบาย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภายหลังที่เสด็จออกผนวชแล้ว ก็มิใช่ฐานะที่สุขเวทนาหรือทุกข์เวทนาจะครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็แสดงความเชื่อมั่นว่าเป็นเช่นนั้น.

   ๘. ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องที่ทรงเห็นการครองเรือนเป็นเหมือนทางที่เต็มไปด้วยฝุ่น ส่วนการบรรพชาเหมือนที่กลางแจ้ง จึงเสด็จออกบรรพชา ทั้ง ๆ ที่พระมารดาบิดาทรงกันแสงไม่ปรารถนาให้ออก ตั้งแต่อยู่ในปฐมวัย พระเกสาดำสนิท แล้วตรัสเล่าต่อไปถึงการแสวงหาสันติวรบท ( ทางอันประเสริฐไปสู่สันติ ) ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบท กาลามโครต และอุททกดาบท รามบุตร เมื่อไม่ทรงพอพระหฤทัยว่าจะเป็นไปเพื่อพระนิพพาน จึงเสด็จออกจากสำนักของดาบสนั้น จาริกไปโดยลำดับ ถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม.

   ๙. ตรัสเล่าถึงอุปมา ๓   ข้อที่ปรากฏแก่ปพระองค์ คือ
      ๑. ไม้สดชุ่มด้วยยาง แช่ในน้ำ ไม่สามารถจะสีให้ไฟติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ที่มีกายไม่หลีกจากกาม มีความพอใจในกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้.
      ๒. ไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบก ไม่สามารถจะสีไฟให้ติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกจากกาม แต่ยังมีความพอใจกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้
      ๓. ไม้แห้งวางอยู่บนบก สามารถจะสีไฟให้ติดได้ เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ผู้มีกายออกจากกาม ละความพอใจในกามเสียได้ดี แม้จะไม่บำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ควรตรัสรู้ได้.

   ๑๐ . ตรัสเล่าถึงการทรมานพระกาย เช่น กดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา   จนกระทั้งพระเสโทไหลออกจากพระกัจจฉะ ; การกลั้นพระอัสสาสะปัสสาสะ   ทรงพระโอษฐ์และพระนาสิก จนเกิดเสียงเมื่อลมออกทางช่องพระกรรณ; การกลั้นพระอัสสาสะทั้งทางพระโอษฐ์ ทรงพระนาสิก และทางพระกรรณจนมีความรู้สึกที่พระเศียรคล้ายคนเอาของแหลมคมมากดลงไป , จนลมเสียดพระอุทรคล้ายเอามีดเชือด , จนพระกายเร่าร้อนเหมือนถูกย่างบนหลุมถ่านเพลิง ทุกขเวทนาก็มิได้ครอบงำพระหฤหัยตั้งอยู่ได้; ทรงแสดงการอดพระกระยาหารด้วยประการทั้งปวง ; การกลับเสวยพระกระยาหารอ่อน ประเภทเยื่อถั่วต่าง ๆ ทีละน้อยประมาณมือหนึ่ง จนกระทั่งซูบผอม; แล้วทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์ที่บำเพ็ญเพียรได้รับทุกขเวทนากล้าก็อย่างยิ่งเพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้.

   ๑๑. ตรัสถึงการที่ทรงระลึกถึงการสงัดจากกาม ได้ฌานที่ ๑ ที่ร่มเงาไม้หว้าในสมัยที่ยังทรงพระเยาว์ ว่าจะเป็นทางตรัสรู้ได้ จึงกลับเสวยพระกระยาหารหยาบ ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุ ๕ รูปหาว่าพระองค์ทรงมักมากคลายความเพียร จึงพากันหลีกไป. พระองค์ทรงบำเพ็ญฌาน ได้ฌานที่ ๑ ถึง ๔ สุขเวทนาก็ไม่ครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้. ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติก่อนได้ ) ในยามแรก, ทรงได้จุตูปปาตญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด ) ในยามกลาง, และทรงได้อาสวะขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) ในยามสุดท้ายแห่งราตรี. สุขเวทนาเห็นปานนี้ ไม่ครอบงำพระหฤทัยของพระองค์ตั้งอยู่ได้.

   ๑๒. ตรัสถึงการทรงแสดงธรรมในบริษัทหลายร้อย ซึ่งแต่ละคนก็ติดว่าทรงแสดงธรรมปรารภเขาคนเดียว ซึ่งไม่ควรเห็นอย่างนั้น ทรงแสดงธรรมด้วยดีแก่เขาทั้งหลาย เพื่อให้รู้แจ้ง พอแสดงจบ ก็ทรงตั้งพระนมัสในนิมิตก่อนหน้า ( การแสดง ) นั้น ทำให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งในภายในอยู่เป็นนิตย์ด้วยสมาธิจิต.

   ๑๓. สัจจกนิครนถ์ยอมรับว่า เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แล้วทูลถามว่า เคยทรงนอนหลับกลางวันหรือไม่. ตรัสตอบว่า ทรงระลึกได้ว่า ในเดือนสุดท้ายฤดูร้อนเสด็จกลับจากบิณฑบาต เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ทรงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงเอนข้าง มีสติสัมปชัญญะก้าวสู่ความหลับ. สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงการนอนหลับกลางวันว่าเป็นการอยู่ด้วยความหลง. ตรัสตอบว่า เพียงเท่านั้นยังไม่นับว่าหลง หรือไม่หลง แต่หลงเป็นอย่างไร ไม่หลงเป็นอย่างไร จักทรงแสดงให้ฟัง.

   ๑๔. ทรงแสดงว่า ผู้ยังละอาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) อันทำให้เศร้าหมอง ทำให้เกิดอีกไม่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าผู้หลง ถ้าละได้ก็เรียกว่าผู้ไม่หลง. ตถาคตละอาสวะได้แล้ว เหมือนตาลยอดด้วนที่จะไม่งอกงามขึ้นมาได้อีก.

   สัจจกนิครนถ์ชมเชยพระผู้มีพระภาคว่า น่าอัศจรรย์ที่เมื่อถูกถ้อยคำกระทบกระทั้ง ยังมีพระฉวีวรรณผ่องแผ้ว มีสีพระพักตร์ผ่องใสดังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า   พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่า ตนเคยโต้กับครูทั้งหก คือ     ปูรณะ กัสสปะ ,     มักขลิ โคสาล ,     อชิตะ เกสกัมพล,     ปกุธะ กัจจายนะ ,   สัญชัย เวลัฏฐบุตร     และนิครนถนาฏบุตร พอตนเริ่มวาทะด้วย ก็พูดเลี่ยงไปเสียนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความคิดประทุษร้าย และความไม่พอใจให้ปรากฏ ส่วนพระผู้มีพระภาคกลับมีพระฉวีวรรณผ่องแผ่ว มีพระพักตร์ผ่องใส.

   ครั้นแล้วสัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลลากลับไป.

   

๓๗ . จูฬตัณหาสังขยสูตร
สูตรว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ท้าวสักกะมาเฝ้ากราบทูลถามว่า กล่าวโดยย่อด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะสิ้นตัญหา มีความสำเร็จ , ปลอดโปร่งจากธรรมะที่ผูดมัด , เป็นพรหมจารี, มีที่สุดล่วงส่วน ( คือแน่นอนเด็ดขาด ) เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

   ๒. ตรัสตอบว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดถือ เธอจักรู้ยิ่ง, กำหนดรู้ธรรมะทั้งปวง เธอเสวยเวทนาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุข   ทุกข์   หรือไม่ทุกข์ไม่สุข   ก็พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยวามคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นด้วยการปล่อยวางในเวทนาเหล่านั้น ไม่ถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้งดิ้นรน เมื่อไม่สะดุ้งดิ้นรนก็ดับเย็น ( ปรินิพพาน ) เฉพาะตน รู้ว่าสิ้นชาติ อยู่จนจบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุชื่อว่าพ้นเพราะสิ้นตัณหา ฯลฯ ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย . ท้าวสักกะก็ชื่นชมภาษิต และกราบทูลลากลับ.

   ๓. พระมหาโมคคัลลานะไปปรากฏกายในชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะก็ต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อท่านถามถึงคำเฉลยปัญหาที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ย่อ ๆ เกี่ยวกับความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ท้าวสักกะกลับพูดเลี่ยงไปเรื่องอื่น และชวนพระมหาโมคคัลลานะไปชมปราสาทชื่อเวชยันต์ ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังชนะสงครามระหว่างเทวดากับอสูรอย่างวิจิตพิสดาร. พระมหาโมคคัลลานะเห็นท้าวสักกะเป็นผู้ประมาท ก็แสดงฤทธิ์เอาหัวแม่เท้าเขี่ยปราสาทเวชยันต์ให้หวั่นไหว ซึ่งทำให้ท้าวสักกะ ท้าวเวสสวัณ และเทพชั้นดาวดึงส์ พากันอัศจรรย์ในฤทธิ์อานุภาพของพระเถระเป็นอันมาก.

   ๔. เมื่อพระเถระเห็นเช่นนั้น จึงถามย้ำอีกถึงพระดำรัสเฉลยปัญหาเรื่องความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาของพระผู้มีพระภาค . คราวนี้ท้าวสักกะเล่าถวายเป็นอันดี. พระเถระจึงลากลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลถามเรื่องการที่ทรงตอบปัญหานั้น ซึ่งก็ตรัสเล่าความให้ฟังตรงกัน.

   

๓๘ . มหาตัณหาสังขยสูตร
สูตรว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา สูตรใหญ่

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นภิกษุชื่อสาติ ผู้เป็นบุตรของชาวประมงเกิดความเห็นผิดว่า วิญญาณดวงนั้นแหละแล่นไป ท่องเที่ยวไป มิใช่ดวงอื่น ( ถือว่าวิญญาณเที่ยงเป็นตัวยืนในการเวียนว่ายตายเกิด ) ภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวตักเตือนว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสเช่นนั้น ก็ไม่เชื่อฟัง. ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงตรัสสั่งให้เรียกตัวภิกษุชื่อสาติมาสอบถาม และชี้ให้เห็นว่าเป็นการกล่าวตู่พระองค์ เพราะพระองค์ตรัสอยู่โดยปริยายเป็นเอนกว่า วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย เว้นจากปัจจัย ความพระองค์ เพราะพระองค์ตรัสอยู่โดยปริยายเป็นเอนกว่า วิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย เว้นจากปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณย่อมไม่มี. ( เมื่อเกิดเพราะอาศัยเหตุปัจจัย จึงดับได้ ไม่ใช่ของยั่งยืนดังที่เข้าใจผิดไปนั้น). ภิกษุชื่อสาติก็นั่งก้มหน้าเก้อเขิน ถอนใจ.

   ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสสอบถามความเข้าใจของภิกษุทั้งหลาย ก็กราบทูลตอบตรงตามหลัก คือวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยอื่นจากปัจจัย ความเกิดแห่งวิญญาณย่อมไม่มี. ครั้นแล้วจึงทรงแสดงที่วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น อันทำให้มีชื่อเรียก คือ   อาศัยตา   อาศัยรูป  วิญญาณเกิดขึ้น   เรียกว่าจักขุวิญญาณ   ( ความรู้แจ้งทางตา ) เป็นต้น     จนถึงอาศัยใจ   อาศัยธรรมะ   วิญญาณเกิดขึ้น   เรียกว่ามโนวิญญาณ   ( ความรู้แจ้งทางใจ ) เปรียบเหมือนไฟเกิดจากไม้ ก็เรียกว่าไฟไม้ เป็นต้น.

   ๓. แล้วตรัสแสดงหลักการเรื่องภูตะ ( สิ่งที่มีที่เป็น ) ว่า เกิดขึ้นเพราะอาหาร ดับไปเพราะดับอาหาร ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ด้วยปัญญาอันชอบ ก็จะละความสงสัยเสียได้. แม้ความเห็นอันบริสุทธิ์ผ่องแผ่วนี้ ก็ไม่ควรยึดติด เพราะทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยแพ เพื่อให้ถอนตัว มิใช่เพื่อให้ยึดถือ.

   ๔. ทรงแสดงอาหาร ๔ อย่าง คือ     ๑. กวฬิงการาหาร อาหารที่กลืนกิน     ๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ คือความถูกต้อง    ๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือเจตนาที่จะทำความดีความชั่ว    ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ ครั้นแล้วตรัสว่า อาหารทั้งสี่เหล่านี้ เกิดจากตัณหา ( ความทะยานอยาก ) ตัณหาเกิดจากเวทนา ( เรื่อยไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ) จนถึงสังขารเกิดจากอวิชชาเป็นปัจจัย และตรัสสรุปว่า อวิชชาเป็นต้นเหตุให้เกิดกองทุกข์ ( เป็นลูกโซ่ไปโดยลำดับ).

   ๕. ตรัสถามให้ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ความแก่ ความตาย มีชาติเป็นปัจจัย สาวหาต้นเหตุขึ้นไปโดยลำดับจนถึงอวิชชาอีก แล้วทรงชี้ให้เห็นทั้งสายเกิดสายดับ . สายเกิด คือเพราะมีสิ่งที่เป็นปัจจัยจึงเกิดสิ่งนี้และสายดับก็ทำนองเดียวกัน เพราะดับอวิชชาโดยไม่เหลือ สิ่งอื่น ๆ ก็ดับไปโดยลำดับ.

   ๖. ตรัสถามให้เห็นว่า เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ ก็จะไม่คิดไปถึงที่สุดเบื้องต้น ว่าได้เคยมีเคยเป็น หรือไม่มีไม่เป็นหรือไม่ อย่างไร เป็นอย่างนี้แล้วเป็นอะไรต่อไป; ไม่คิดไปถึงที่สุดเบื้องปลาย คืออนาคตว่า จักมีจักเป็นหรือไม่ เป็นต้น ; ไม่สงสัยปรารภปัจจุบัน ว่าเรามีเราเป็นหรือไม่ เป็นต้น; เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ก็จะไม่อุทิศศาสดาอื่น ไม่ถือเอาเรื่องข้อวัตรและเรื่องมงคลตื่นข่าวของสมณพราหมณ์ทั้งหลายว่าเป็นสาระ และตรัสสรุปในที่สุดว่า นี่แหละเป็นธรรมะที่เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้จำเพาะตน.

   ๗. ตรัสต่อไปว่า เพราะประชุมเหตุ ๓ อย่าง คือ    ๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน     ๒. มารดามีระดู    ๓. คนธรรพ์ปรากฏ จึงมีการตั้งครรภ์ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่มีการตั้งครรภ์ ( คำว่า ตั้งครรภ์ แปลหักจากคำว่า การก้าวลงของสัตว์ในครรภ์ ). มารดาบริหารครรภ์ อันนับเป็นภาระหนักด้วยความสงสัยอันใหญ่ตลอดเวลา ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง แล้วก็คลอดและเลี้ยงเด็กที่เกิดนั้นด้วยโลหิตของตน ด้วยความสงสัยอันใหญ่. แล้วตรัสว่า คำว่า โลหิตในอริยวินัย คือน้ำนมของมารดา.

   ๘. ครั้นแล้วทรงแสดงถึงการที่เด็กนั้นเจริญวัยขึ้น เล่นของเล่นต่าง ๆ ของเด็ก จนกระทั้งเติบใหญ่ขึ้นพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ     ๕ คือ   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   โผฏฐัพพะ   ที่น่าปรารถนา รักใคร่ชอบใจ เห็นรูปเป็นต้น ก็กำหนัดในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่ไม่น่ารัก ไม่มีสติตั้งมั่น ไม่รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง เมื่อละความยินดียินร้ายไม่ได้ เสวยเวทนาเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ชื่นชม ยึดถือเวทนา จึงเกิดความพอใจ ความยึดมั่นถือมั่น เกิดภพเกิดชาติโดยลำดับ จนถึงเกิดความคับแค้นใจนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง

   ๙ ทรงแสดงถึงการที่พระตถาคตทรงเกิดขึ้นในโลก มีผู้สดับธรรมออกบวช ตั้งอยู่ในศีล สมาธิจนได้ฌานที่   ๑ ถึงที่   ๔   ( ทำนองเดียวกับข้อความในสามัญญผลสูตรดูที่) พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้าที่ ๑  ผู้นั้นไม่กำหนัดในรูปที่น่ารักไม่ขัดใจในรูปที่ไม่น่ารัก มีสติตั้งมั่น รู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง เมื่อละความยินดียินร้ายได้ เสวยเวทนาก็ไม่ชื่นชม ยึดถือเวทนา . ความพอใจ ความยึดมั่นถือมั่นจึงดับไป เป็นเหตุให้ดับภพดับชาติโดยลำดับ จนถึงดับความคับแค้นใจ. นี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งปวง.

   

๓๙ . มหาอัสสปุรสูตร
สูตรว่าด้วยคำสอนในนิคมชื่ออัสสปุระ สูตรใหญ่

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับในนิคมแห่งแคว้นอังคะชื่ออัสสปุระ . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย มีใจความว่า คนเข้าใจพวกท่านว่าเป็นสมณะ พวกท่านก็มีชื่อว่าสมณะ ปฏิญญาตนว่าสมณะ จึงควรสำเหนียกที่จักสมาทานประพฤติธรรม อันทำให้เป็นสมณะ ทำให้เป็นพราหมณ์ ซึ่งจะทำให้ชื่อเป็นจริง คำปฏิญญาเป็นจริงทำให้การบริโภคปัจจัย   ๔ ของคฤหัสถ์มีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่เขา การบวชก็จะไม่เป็นหมั่น มีผล มีกำไร.

   ๒. ทรงขยายความของธรรมที่ทำไห้เป็นสมณะ ทำให้เป็นพราหมณ์ โดยสอนให้สำเหนียกว่า     ๑. จักมีความละอาย ความเกรงกลัว ( ต่อความชั่ว ) และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ    ๒. จักมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เปิดเผย ไม่มีช่อง เป็นผู้สำรวม ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความบริสุทธิ์ทางกายนั้น และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ     ๓. จักมีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ฯลฯ     ๔. จักมีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ ฯลฯ     ๕. จักมีอาชีวะ ( การเลี้ยงชีพ ) อันบริสุทธิ์ ฯลฯ    ๖. จักสำรวมอินทรีย์ คือ   ตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   ใจ     ๗. จักประมาณในการบริโภค     ๘. จักประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่น ( ไม่เห็นแก่นอนมากนัก )    ๙. จักประกอบด้วยสติ ( ความระลึกได้ ) สัมปชัญญะ ( ความรู้ตัว ) และมีสิ่งที่พึงทำยิ่งขึ้นไปอีก คือ    ๑๐. เสพเสนาสนะอันสงัดนั่งคู้บัลลังก์ ( นั่งขัดสมาธิ ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ชำระจิตจากนีวรณ์   ๕ ๑๐

   ๓. ทรงเปรียบการละนีวรณ์ ๕ อย่าง   เหมือนคนเป็นหนี้พ้นหนี้ , คนมีโรคหายจากโรค , คนถูกจองจำพ้นจากการจองจำ , คนเป็นทาสพ้นจากความเป็นทาส , คนเดินทางไกลข้ามทางกันดารได้สำเร็จ ย่อมมีความปราโมทย์โสมนัส.

   ๔. ทรงแสดงถึงภิกษุนั้นผู้ได้บรรลุรูปฌาน ๔ ,   ได้ปุพเพนิวาสานุสสติฌาณ ( ฌาณอันทำให้ระลึกชาติได้ ), ได้จุตูปปาตฌาณ ( ฌาณเห็นความตายความเกิด ) และอาสวักขยฌาณ ( ฌาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว เป็นต้น เธอเห็นอริยสัจจ์   ๔ ตามเป็นจริง เหมือนคนเห็นหอยเห็นก้อนกรวดและฝูงปลาในน้ำใสฉะนั้น.

   ๕. ภิกษุนี้ เรียกว่าสมณะก็ได้ พราหมณ์ก็ได้ ผู้อาบน้ำแล้วก็ได้ ผู้ถึงเวทก็ได้ ผู้มีกิเลสไหลออกก็ได้ ๑๑  ผู้เป็นพระอริยเจ้าก็ได้ ผู้เป็นพระอรหันต์ก็ได้. แล้วทรงขยายความถ้อยคำเป็นคำ ๆ ไป คือที่ชื่อว่าสมณะ เพราะสงบอกุศลบาปธรรมแล้ว, ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยอกุศลบาปธรรมแล้ว, ชื่อว่าผู้อาบน้ำแล้ว เพราะอาบน้ำชำระอกุศลบาปธรรมแล้ว , ชื่อว่าผู้ถึงเวท ( ผู้รู้พระเวทจบ ) เพราะรู้จบอกอกุศลบาปธรรมแล้ว , ชื่อว่าผู้มีกิเลสไหลออก เพราะอกุศลบาปธรรมไหลออกแล้ว. ชื่อว่าพระอริยเจ้า เพราะไกลจากอกุศลบาปธรรม, ชื่อว่าพระอรหันต์ เพราะไกลจากอกุศลบาปธรรม.

   

๔๐ . จูฬอัสสปุรสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิคมชื่ออัสสปุระ สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมชื่ออัสสปุระ แคว้นอังคะ. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ให้สำเหนียกในเรื่องชื่อ และคำปฏิญญาว่าเป็นสมณะเหมือนสูตรก่อน แต่แสดงข้อปฏิบัติต่างออกไปว่า พึงสำเหนียกว่าจักปฏิบัติอันชอบของสมณะ.

   ๒. ทรงไขความว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ คือตราบใดยังละมลทินของสมณะ   ( ๑๒ อย่าง )   ไม่ได้ พระองค์ก็ไม่ตรัสว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ. มลทินของมสมณะ   ( ๑๒ อย่าง ) คือ   ๑. อภิชฌา ( เพ่งอยากได้ )   ๒. พยาบาท ( ปองร้าย )   ๓. โกรธ  ๔. ผูกโกรธ   ๕ . ลบหลู่บุญคุณท่าน   ๖. ตีเสมอ  ๗. ริษยา   ๘. ตระหนี่  ๙. มักอวด  ๑๐ . มายา  ๑๑. ปรารถนาลามก  ๑๒. เห็นผิด ทรงเปรียบเทียบการบวชของภิกษุนี้ ( ผู้ละมลทินของสมณะไม่ได้ ) ว่าเป็นเช่นเดียวกับเอาปลอกใส่อาวุธชื่อมตชะ มีคมสองข้างไว้ ( ซ่อนความคมไว้ข้างใน เท่ากับซ่อนมลทินไว้ข้างใน ).

   ๓. ทรงแสดงว่าไม่ตรัสถึงความเป็นสมณะด้วยเหตุสักว่าการทรงผ้าสังฆาฏิ , เพียงการเปลือยกาย, เพียงเอาฝุ่นทาตัว , เพียงลงอาบน้ำ , เพียงอยู่โคนไม้ , เพียงอยู่กลางแจ้ง , เพียงยืนแหงนหน้า , เพียงกินอาหารโดยกำหนดเวียนรอบ ( คือ ๑ เดือน หรือกึ่งเดือนกินครั้งหนึ่ง ), เพียงสาธยายมนต์ , เพียงทรงชฎา ( แบบฤษี) ( ทั้งหมดนี้เป็นลัทธิของสมณะนอกพระพุทธศาสนา ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพียงเท่านั้นยังไม่ตรัสว่าเป็นสมณะ ).

   ๔. ตรัสว่า ถ้าเพียงทรงผ้าสังฆาฏิ ( ผ้าซ้อน ) เป็นต้น จะทำให้บุคคลผู้มีมลทิน ละมลทิน ( ทั้งสิบสองอย่าง ) นั้นได้ ญาติมิตรก็จะพากันชักชวนให้ทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น ด้วยเข้าใจว่าจะทำให้ละมลทินได้ แต่เพราะทรงเห็นผู้ทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น ยังมีมลทินเหล่านั้น จึงไม่ตรัสถึงความเป็นสมณะเพียงทรงผ้าสังฆาฏิ เป็นต้น.

   ๕. ทรงแสดงถึงภิกษุผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบของสมณะ คือละมลทิน ( ทั้งสิบสองอย่าง ) ได้ พิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ พ้นจากอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย จึงเเกิดปราโมทย์ปีติ มีกายระงับ เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น แผ่จิตอันประกอบด้วยพรหมวิหาร   ๔ หาประมาณมิได้ไปยังโลกทั้งสิ้น ทุกทิศทาง. เปรียบเหมือสระน้ำใสเย็นสนิท มีท่าลงอาบน้ำอันน่ารื่นรมย์ คนเดินทางมาแต่     ๔ ทิศ     ถูกความร้อนเผา ลำบาก อยากน้ำ กระหายน้ำ มาถึงสระนั้น ก็จะนำความกระหายน้ำ ความกระวนกระวายเพราะความร้อนออกเสียได้. บุคคลออกบวชจากสกุลกษัตริย์     พราหมณ์     แพศย์    ศูทร     มาถึงพระธรรมวินัย ที่พระตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา  , กรุณา ,   มุทิตา , อุเบกขา   ย่อมได้ความสงบระงับภายใน ผู้เช่นนี้ ตรัสว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันชอบของสมณะ.

   ๕. ผู้ที่ออกบวชจากสกุลกษัตริย์ ,   พราหมณ์ ,   แพศย์ ,   ศูทร   ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ)   ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ) อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ตรัสว่า เป็นสมณะเพราะสิ้นอาสวะ.

    จบวรรคที่ ๔ ขึ้นวรรคที่ ๕ ชื่อจูฬยมกวรรค คือวรรคที่มีสูตรคู่ ขนาดเล็ก มี ๑๐ สูตร


๑. พึงสังเกตว่า ในภาษาบาลีเองใช้คำว่า โคสิงคสาลวนทายะ คำว่า     วนะ     กับทายะ     แปลว่า ป่า     ด้วยกัน จึงแปลว่า ป่า     คำหนึ่ง     แปลทับศัพท์หนึ่งว่า     ป่าชื่อโคสิงคสาลวัน คือป่าไม้สาละที่มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีลักษณะเหมือนเขาโค เขาจึงถือเครื่องหมายนั้นตั้งชื่อป่า

๒. มหาภูตรูป รูปใหญ่ คือประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ,     อุปาทารูป     รูปอาศัย     คือรูปที่ปรากฏได้เพราะอาศัยรูปใหญ่ อุปาทายรูปก็เรียก

๓. คือท่านผู้กำลังทำหน้าที่ละกิเลสด้วยมรรค     ยังไม่เป็นพระโสดาบัน     หรือผู้ตั้งอยู่ในผลโดยสมบูรณ์ นับเป็นก้าวแรกของพระอริยบุคคล

๔. อรรถกถาแก้ว่า อบรมกายได้แก่วิปัสสนา     เพราะวิปัสสนาใกล้ข้างทุกขเวทนา จะสังเหตุว่า ผู้เจริญวิปัสสนานาน     มักมีเหงือแตก รู้สึกร้อนบนศีรษะ     ส่วนอบรมจิต     ได้แก่สมถะ     ( คือสมาธิ )     เพราะผู้เจริญสมาธิเข้าสมาบัติ ความทุกข์จะหายไป

๕. ใช้ฟันกดฟัน ใช้ลิ้นกดเพดาน     จนเหงื่อไหลออกจากรักแร้

๖. กลั้นลมหายใจเข้าออกทางจมูก     จนลมออกทางหู

๗. แสดงสัจจกนิครนถ์มิได้ถือว่า    พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า     เพียงแต่ชมเชยว่ามีลีลาเป็นเช่นนั้น

๘. เรื่องนี้ถ้าถอดเป็นธรรมะจะเห็นได้ว่า     มีคติเตือนใจว่า     มีปราสาทที่เลอเลิศขนาดนั้น ก็อย่ามัวเมาประมาทเเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งมิให้คนฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมดีมาก

๙. เครื่องหมาย     ฯลฯ     ในที่นี้หมายถึงซ้ำกับข้อความในข้อ     ๒ ตั้งแต่ “ เปิดเผย”    จนถึง “ ยิ่งขึ้นไปอีก คือ”

๑๐. เรื่องของนีวรณ์ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้าที่ ๑ ( ๒. อุทุมพริกสูตร ) หมายเลข ๕ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๓ หน้า ๓ และที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๖๘

๑๑. โสตติยะ แปลตามศัพท์ว่า ผู้มีการสดับฟังได้อีกอย่างหนึ่ง ฝรั่งแปลว่า Well versed in sacred learning

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ