บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
สุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
เล่ม 1มี
1. พรหมชาลสูตร
2. สามัญญผลสูตร
3.อัมพัฏฐสูตร
4.โสณทัณฑสุตร
5.กูฏทันตสูตร
6. มหาลิสูตร
7ชาลิยะสูตร .
8.มหาสีหนาทสูตร
9.โปฏฐปาทสูตร
10.สุภสูตร
11.เกวัฏฏสูตร
12.โลหิจจสูตร
13.เตวิชชสูตร

หน้า ๑
1. พรหมชาลสูตร
ศีลอย่างเล็กน้อย
ศีลอย่างกลาง
ศีลอย่างใหญ่
ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
ความเห็นปรารภ
เบื้องต้น ๑๘
ความเห็นปรารภ
เบื้องปลาย ๔๔
๑.หมวดมีสัญญา
๒.หมวดสัญญา
๓.หมวดมีสัญญาก็มิใช่
๔ไม่มีสัญญาก็มิใช่
หมวดเห็นว่าขาดสูญ
๕.ทิฏฐิธัมมนิพพาน ๒. สามัญญผลสูตร
หมวด ๑ - ๓

หน้า ๒ ๓. อัมพัฏฐสูตร
๔. โสณทัณฑสูตร

หน้า ๓ ๕ กูฏทัตสูตร
( พราหมณ์ฟันเขยิน )
๖.มหาลิสูตร
๗.ชาลิยสูตร
๘.มหาสีหนาทสูตร
๙.โปฏฐปาทสูตร

หน้า ๔
ข้อซักถามเพิ่มเติม
ทรงชี้แจงเรื่อง
แสดงธรรมแง่เดียว
หลายแง่
๑๐. สุภสูตร
๑๑. เกวัฏฏสูตร
๑๒.โลหิจจสูตร

ทรงแก้ความเห็ยผิด ศาสดา ๓ ประเภท
ศาสดาที่ไม่ควรติ
๑๓ . เตวิชชสูตร
คำสนทนาของ
มาณพ ๒ คน
ข้อตรัสชักถาม
อุปมา ๕ ข้อ
คุณสมบัติของ
พระพรหม
กับพรหามณ์
มาณพถามถึงทาง
ไปสู่พระพรหม

 

เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก(เล่ม ๑)
หน้า ๑

    ทีฆนิกาย แปลว่า “ หมวดหรือพวกขนาดยาว” ได้แก่พระสูตรหรือพระธรรมเทศนาที่ยาว นำมาจัดไว้เป็นหมวดหรือพวกไว้ในที่นี้. คำว่า สีลขันธวัคค์ แปลว่า “ วรรคที่ว่าด้วยกองศีล” ทีฆนิกาย หรือหมวดยาวนี้มี ๓ วรรค คือสีลขันธวัคค์ (มี ๑๓ สูตร ) มหาวัคค์ ( มี ๑๐ สูตร) ปาฏิกวัคค์ ( มี ๑๑ สูตร) แต่ละวรรคตั้งชื่อตามข้อความในสูตรบ้าง ตามชื่อของสูตรบ้าง คือในสีลขันวัคค์ สูตรแรกมีเรื่องศีล จึงตั้งชื่อสีลขันธวัคค์ ในมหาวัคค์ สูตรแรก ชื่อมหาปทานสูตร จึงตั้งชื่อมหาวัคค์ ในปาฏิกวัคค์ สูตรแรก ชื่อปาฏิกสูตร จึงตั้งชื่อกปาฏิวัคค์. พระไตรปิฎก ทีฆนิกายนี้มี ๓ เล่ม เล่มละวรรค ตามชื่อที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งสิ้นมี ๓๔ สูตร.

    พระสูตรในเล่ม ๘ หรือในทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์มี ๑๓ สูตร ตามลำดับดังต่อไปนี้:-

๑. พรหมชาลสูตร     สูตรที่เปรียบเหมือนข่ายอันประเสริฐที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง คือกล่าวถึงลัทธิ ศาสนาต่าง ๆ ที่มีในครั้งนั้น ที่เรียกว่าทิฎฐิ ๖๒ เป็นการชี้ให้เห็นว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมแผกจาก ๖๒ ลัทธินั้นละเอียด.

๒ . สามัญญผลสูตร     ว่าด้วย “ การของความเป็นสมณะ” หรือผลของการบวช.

๓. อัมพัฏฐสูตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับอัมพัฏฐมาณพ” มีข้อความกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ศากยวงศ์.

๔. โสณทัณฑสุตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับโสณทัณฑพราหมณ์ ” มีข้อความกล่าวถึงคุณลักษณะ ๕ อย่าง ของพราหมณ์.

๕ . กูฏทันตสูตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับกูฏทันตพราหมณ์ ” เรื่องการบูชายัญ โดยวิธีสังเคราะห์ดีกว่าการบูชายัญด้วยการฆ่าสัตวฺ รวมทั้งปัญหาการปกตครองประเทศ ให้ได้ผลางเศรษฐกิจ ลดจำนวนโจรผู้ร้าย.

๖. มหาลิสูตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ ” เรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ และความสามารถที่สูงขึ้นไปกว่านั้น คือการทำกิเลสอาสวะให้กมดไป.

๗. ชาลิยะสูตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบกับนักบวช ๒ คน คนหนึ่งชื่อชาลิยะ ” เรื่องชีวะ กับสรีระ.

๘ . มหาสีหนาทสูตร .     ว่าด้วย “ การบรรลือสีหนาท ” ของพระพุทธเจ้าโดยมีคุณธรรมเป็นพื้นรองรับ

๙ โปฏฐปาทสูตร     ว่าด้วย “การโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก ” เรื่องอัตตาและธรรมะชั้นสูงอื่น ๆ .

๑๐ สุภสูตร     ว่าด้วย “ การโต้ตอบระหว่างพระอานนทเถระกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร”

๑๑. เกวัฏฏสูตร     ว่าด้วย “ การแสดงธรรม” เรื่องปาฏิหารย์ ๓ แก่คฤหบดี ชื่อเกวัฏฏะ.

๑๒. โลหิจจสูตร     ว่าด้วย “การโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์ ” ถึงเรื่องมิจฉาทิฏฐิและศาสดาที่ควรติไม่ควรติ.

๑๓. เตวิชชสูตร     ว่าด้วย “พราหมณ์ผู้รู้ไตรวิทยาเคยเห็นพระพรหมหรือไม่ ” และว่าด้วยวิธีเข้าอยู่ร่วมกับพระพรหม.

ขยายความ

   

๑. พรหมชาลสูตร
สูตรว่าด้วยข่ายอันประเสริฐ

    พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เดินทางอยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาฬันทา มีปริพพาชก ( นักบวชนอกศาสนา) ชื่อสุปปิยะ พร้อมด้วยศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพ เดินทางมาข้างหลัง. สุปปิยะ ปริพพาชก ติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ศิษย์กล่าวสรรเสริญ . เมื่อถึงเวลากลางคืนภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันถึงเรื่องศิษย์อาจารย์กล่าวแย้งกันเรื่องสรรเสริญ ติเตียนพระรัตนตรัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบจึงตรัสเตือนมิให้โกรธเมื่อมีผู้ติเตียนพระรัตนตรัย มิให้ยินดีหรือเหลิงเมื่อมีผู้สรรเสริญ . แล้วตรัสว่า คนอาจกล่าวชมเชยพระองค์ด้วยศีล ๓ ชั้น คือศีลอย่างเล็กน้อย ศีลอย่างกลาง ศีลอย่างใหญ่..

   

ศีลอย่างเล็กน้อย ( จูฬศีล)

    ๑. เว้นจากฆ่าสัตว์ , ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์.
    ๒. เว้นจากพูดปด, พูดส่อเสียด ( ยุให้แตกกัน) , พูดคำหยาบ ๆ , พูดเพ้อเจ้อ.
    ๓. เว้นจากทำลายพืชและต้นไม้.
    ๔. ฉันมื้อเดียว เว้นจากการฉันอาหารในเวลากลางคืน , เว้นการฉันในเวลาวิกาล, เว้นจากฟ้อนรำขับร้อง ประโคม และดูการเล่น, เว้นจากทัดทรง ประดับประดาร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อมผัดผิวต่าง ๆ , เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่มีภายในใส่นุ่นหรือสำลี, เว้นจากการรับทองและเงิน.
    ๕. เว้นจากการรับข้าวเปลือกดิบ, เนื้อดิบ, เว้นจากการรับหญิง หรือหญิงรุ่นสาว, เว้นจากการรับทาสี ทาสา, เว้นจากการรับแพะ, แกะ, ไก่, สุกร, ช้าง, โค, ม้า, ลา, เว้นจากการรับนา, สวน.
    ๖. เว้นจากการชักสื่อ, การค้าขาย, การโกงด้วยตาชั่ง ด้วยเงินเหรียญ ( สำริด) และด้วยการนับ ( ชั่ง, ตวง, วัด,) . เว้นจากการใช้วิธีโกงด้วยให้สินบน หลอกลวงและปลอมแปลง, เว้นจากการตัด ( มือ , เท้า ) การฆ่า การมัด การซุ่มชิงทรัพย์ ( ในทาง ) การปล้น การจู่โจมทำร้าย.

   

ศีลอย่างกลาง ( มัชฌิมศีล )

    ๑. เว้นจากการทำลายพืช     ๒. เว้นจากการสะสมอาหารและผ้า เป็นต้น
    ๓. เว้นจากการเล่นหลากชนิด เช่น ฟ้อนรำ เป็นต้น
    ๔. เว้นจากการพนันต่างชนิด     ๕. เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
    ๖. เว้นจากการประดับประดาตกแต่งร่างกาย
    ๗. เว้นจากการติรัจฉานกถา ( พูดเรื่องไร้ประโยชน์หรือที่ขัดกับสมณเพศ)
    ๘. เว้นจากการพูดแข่งดีหรือข่มขู่กัน     ๙. เว้นจากการชักสื่อ
    ๑๐. เว้นจากการพูกปด, การพูดประจบ , การพูดอ้อมค้อม ( เพื่อหวังลาภ), การพูดกด, การพูดเอาลาภแลกลาภ ( หวังของมากด้วยของน้อย). ( ในแต่ละข้อนี้มีการแจกรายละเอียดออกไปมาก).

   

ศีลอย่างใหญ่ ( มหาศีล)

    ๑. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายนิมิต , ทายฝัน, ทายหนูกัดผ้า เป็นต้น.
    ๒. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ดูลักษณะแก้วมณี , ลักษณะไม้ถือ, ลักษณะผ้า , ลักษณะศัสตรา เป็นต้น.
    ๓. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายทักเกี่ยวกับพระราชา ด้วยพิจารณาดาวฤกษ์
    ๔. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายจันทรุปราคา สุริยปราคา เป็นต้น.
    ๕. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น ทายฝนชุก ฝนแล้ง เป็นต้น.
    ๖. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น การบน , การแก้บน , การประกอบยา เป็นต้น.
    ( ในที่นี้มีคำว่า ติรัจฉานวิชา อย่างพิสดาร ฝรั่งใช้คำว่า low arts เมื่อพิสจารณาตามศัพท์ “ ติรัจฉาน” ซึ่งแปลว่า “ ไปขวาง” ก็หมายความว่า วิชาเหล่านี้ขวาง หรือไม่เข้ากับความเป็นสมณะ มิได้หมายความว่าเป็นวิชาของสัตว์ดิรัจฉาน เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่พระไม่ควรพูด จึงจัดเป็นติรัจฉานกถา คือถ้อยคำที่ขวาง หรือขัดกับสมณสารูป. วิชาที่พระไม่ควรเกี่ยวจึงจัดเป็นติรัจฉานวิชา คือวิชาที่ขวาง หรือขัดกับความเป็นพระ . ส่วนสัตว์ดิรัจฉานที่มีชื่ออย่างนั้น เพราะเพ่งกิริยาที่ไม่ตั้งตัวตรง เดินไปอย่างคน แต่เอาตัวลง เอาศีรษะไปก่อน เมื่อไม่ได้ไปตรง ก็ชื่อว่าไปขวาง).

   

ทิฏฐิ ๖๒ ประการ

    ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงความคิดเห็น ๖๒ ประการของสมณพราหมณ์ในครั้งนั้น คือพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องตั้นของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นมาอย่างไร ( ปุพพันตกัปปิกะ) ๑๘ ประเภท กับพวกที่มีความเห็นปรารภเบื้องต้นสิ่งต่าง ๆ ว่าจะลงสุดท้ายอย่างไร ( อปรัตกัปปิกะ) ๔๔ ประเภท ( รวมเป็น ๖๒ ) ดังต่อไปนี้:-

   

ความเห็นปรารภเบื้องต้น ๑๘

    ทิฏฐิหรือความเห็นประเภทนี้ ( ปุพพันตกัปปิกะ) ที่มี ๑๘ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด คือหมวดที่เห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔, เห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔, เห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อันตานันติกะ) ๔, พูดซัดส่ายไม่ตายตัวเหมือนปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔, เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ) ๒ รวมเป็น ๑๘ ดังรายละเอียด คือ :-

   

(๑) หมวดเห็นว่าเที่ยง ( สัสสตวาทะ) ๔
      ๑. เห็นว่าตัวตน ( อัตตา) และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้ ตั้งแต่ชาติได้ ตั้งแต่ชาติเดียว จนถึงแสนชาติ.
      ๒. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกได้เป็นกัปป์ ๆ ตั้งแต่กัปป์เดียวถึง ๑๐ กัปป์.
      ๓. เห็นว่าตัวตน และโลกเที่ยง เพราะระลึกชาติได้มากกัปป์ ๆ ตั้งแต่ ๑๐ กัปป์ถึง ๔๐ กัปป์.
      ๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า โลกเที่ยง.

   

(๒) หมวดเห็นว่าบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ( เอกัจจสัสสติกะ เอกัจจอสัสสติกะ) ๔
      ๑. เห็นว่าพระพรหมเที่ยง แต่พวกเราที่พระพรหมสร้างไม่เที่ยง.
      ๒. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะเล่นสนุกสนาน ( ขิฑฑาปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
      ๓. เห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกที่มีโทษเพราะคิดร้ายผู้อื่น ( มโนปโทสิกา) ไม่เที่ยง.
      ๔. นักเดา เดาตามความคิดคาดคะเนว่า ตัวตนฝ่ายกายไม่เที่ยง ตัวตนฝ่ายจิตเที่ยง.

   

(๓) หมวดเห็นว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ( อัตตานันติกะ) ๔
      ๑. เห็นว่าโลกมีที่สุด. ๒. เห็นว่าโลกไม่มีที่สุด.
      ๓. เห็นว่าโลกมีที่สุด เฉพาะด้านบนกับตัวล่าง ส่วนด้านกว้างหรือด้านขวางไม่มีที่สุด.
      ๔. นักเดา เดาตามความคาดคิดคะเนว่า โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่.

   

(๔) หมวดพูดซัดส่ายไม่ตายตัวแบบปลาไหล ( อมราวิกเขปิกะ) ๔
      ๑. เกรงว่าจะพูดปด จึงพูดปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่, อย่างนั้นก็ไม่ใช่ , อย่างอื่นก็ไม่ใช่ , มิใช่ ( อะไร) ก็ไม่ใช่.
      ๒. เกรงว่าจะยึดถือ จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑.
      ๓. เกรงว่าจะถูกซักถาม จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ .
      ๔. เพราะโง่เขลา จึงพูดปฏิเสธแบบข้อ ๑ และไม่ยอมรับหรือยืนยันอะไรเลย.

   

(๕) หมวดเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเอง ไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ ) ๒
      ๑. เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ เพราะเคยเกิดเป็นอสัญญีสัตว์.
      ๒. นักเดา เดาเอาตามความคิดคาดคะเนว่า สิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ.

   

ความเห็นปรารภเบื้องปลาย ๔๔

    ทิฏฐ หรือความเห็นปรารภเบื้องปลาย ( อปรันตกัปปิกะ) ที่มี ๔๔ นั้น แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาความจำได้หมายรู้ (สัญญีวาทะ) ๑๖ , หมวดที่เห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘, หมวดที่เห็นว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( นวสัญญีนาสัญญีวาทะ) ๘. หมวดที่เห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗, หมวดที่เห็นว่าสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพานวาทะ) ๕ รวมเป็น ๔๔ ดังรายละเอียด คือ :-

   

(๑) หมวดเห็นว่ามีสัญญา ( สัญญีวาทะ) ๑๖
      ๑. ตนมีรูป     ๒. ตนไม่มีรูป
      ๓. ตนทั้งมีรูป ทั้งไม่มีรูป     ๔. ตนมีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่
      ๕. ตนมีที่สุด     ๖. ตนไม่มีที่สุด
      ๗. ตนทั้งมีที่สุด ทั้งไม่มีที่สุด     ๘. ตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่
      ๙. ตนมีสัญญา ( ความจำได้หมายรู้) เป็นอันเดียวกัน
      ๑๐. ตนมีสัญญาต่างกัน     ๑๑. ตนมีสัญญาเล็กน้อย
      ๑๒. ตนมีสัญญาหาประมาณมิได้     ๑๓. ตนมีสุขโดยส่วนเดียว
      ๑๔. ตนมีทุกข์โดวยส่วนเดียว     ๑๕. ตนมีทั้งสุขทั้งทุกข์
      ๑๖. ตนไม่มีทุกข์ไม่มีสุข

    ตนทั้งสิบหกประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็มีสัญญา คือความจำได้หมายรู้ทั้งสิ้น.

   

(๒) หมวดเห็นว่าไม่มีสัญญา ( อสัญญีวาทะ) ๘
      เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว ก็ไม่มีสัญญา คือไม่มีความจำได้หมายรู้.

   

(๓) หมวดเห็นว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ( เนวสัญญีวาทะ) ๘
        เห็นว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๘ ข้างต้น คือตนมีรูป จนถึงตนมีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งแปดประเภทนี้ ตายไปแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่.
        ทั้งสามหมวดนี้ รวมเรียกว่า อุทธมาฆตนิกา แปลว่า พวกที่มีความเห็นเกี่ยวกับสภาพเมื่อตายไปแล้วจเป็นอย่างไร.

   

(๔) หมวดเห็นว่าขาดสูญ ( อุจเฉทวาทะ) ๗
      ๑. ตนที่เป็นของมนุษย์และสัตว์ ๒. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป กินอาหารหยาบ
      ๓. ตนที่เป็นของทิพย์ มีรูป สำเร็จจากไป ๔. ตนที่เป็นอากาสนัญจายตนะ .
      ๕. ตนที่เป็นวิญญาณัญจายตนะ ๖. ตนที่เป็นอากิจจัญญายตนะ
      ๗. ตนที่เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
    ทั้งเจ็ดประเภทนี้ เมื่อสิ้นชีพแล้ว ก็ขาดสูญ ไม่เกิดอีก.

   

(๕) หมวดเห็นสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ( ทิฏฐิธัมมนิพพาน) ๕
        ๑. เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน. ๒, ๓, ๔, ๕ เห็นว่าการเพียบพร้อมด้วยฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นนิพพานอย่างยอดในปัจจุบัน.

   

สรูป

    ในที่สุดได้ตรัสสรูปว่า สมณพราหมณ์ทุกพวกที่ทิฏฐิความเห็นความเห็นต่าง ๆ รวม ๖๒ ประการเหล่านี้ ย่อมได้เสวยอารมณ์ เพราะอาศัยอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ อย่าง ( คือตา, หู , จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ,), เพราะเหตุที่เสวยอารมณ์จึงเกิดตัณหาความทะยานอยาก, เพราะเหตุที่มีความทะยานอยาก จึงมีความยึดมั่นถือมั่น, เพราะเหตุที่มีความยึดมั่นถือมั่น จึงมีภพ คือความมีความเป็น, เพราะเหตุที่มีความมีความเป็น ( ภพ) จึงมีชาติ คือความเกิด , เพราะเหตุที่มีความเกิด จึงมีความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก คร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมติดอยู่ในข่ายแห่งความเห็นทั้งหกสิบสองนี้เหมือนปลาติดข่ายฉะนั้น.

    ส่วนตถาคตเป็นผู้ถอนตัญหาอันจะนำให้เวียนอยู่ในภพได้แล้ว กายยังดำรงอยู่ตราบใด ก็มีผู้แลเห็นเมื่อกายทำลายไปแล้ว ก็ไม่มีผู้แลเห็น.

   

๒. สามัญญผลสูตร
สูตรว่าด้วยผลของความเป็นสมณะ

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่คืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถ เดือน ๑๒ พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปเฝ้า ทูลถามถึงผลของดีของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน และตรัสเล่าว่า เคยไปถามครู . ทั้งหกมาแล้ว แต่ตอบไม่ตรงคำถาม เปรียบเหมือนถามถึงเรื่องมะม่วง แต่ไปตอบเรื่องขนุน . จึงต้องกลับ . พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้ :-

    ๑. ผู้เคยเป็นทาสหรือกรรมกรของพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปเป็นทาสหรือกรรมกรตามเดิมหรือไม่. พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสตอบว่า ไม่เรียกกลับ แต่จะแสดงความเคารพถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม. ตรัสสรุปว่า นี่เป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.

    ๒. คนทำนาของพระเจ้าอชาตศัตรุ เมื่อออกบวชประพฤติตนดีงามแล้ว จะทรงเรียกร้องให้กลับไปทำนาให้ตามเดิมหรือไม่ ตรัสตอบเหมือนข้อแรก จึงนับเป็นผลของความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบัน.

    ๓. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ฟังธรรมเลื่อมใสแล้วออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ สมบรูณ์ด้วยศีล ( พรรณนาศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง อย่างใหญ่ เหมือนในพรหมชาลสูตร), สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้บาปอกุศลเกิดขึ้นท่วมทับจิต, มีสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ ยินดีด้วยปัจจัย ๔ ตามมีตามได้, ออกป่าบำเพ็ญสมาธิ ละกิเลสที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ เสียได้ จึงได้บรรลุฌานที่ ๑ นี้ก็เป็นผลของความเป็นสมณที่เห็นได้ในปัจจุบัน.

    ๔. ได้บรรลุฌานที่ ๒

    ๕. ได้บรรลุฌานที่ ๓

    ๖. ได้บรรลุฌานที่ ๔
    ( ความเป็นไปแห่งฌานทั่งสี่มีรายละเอียดอย่างไร. ได้แปลไว้แล้วในหน้า ๑๒๕ หมายเลข ๒ ถึง ๕ )

    ๗. น้อมจิตไปเพื่อเกิดความรู้เห็นด้วยปัญญา ( ญาณทัสสนะ) ว่า กายมีความแตกทำลายไปเป็นธรรมดา วิญญาณก็อาศัยและเนื่องในกายนี้ ( วิปัสสนาญาณ ญาณอันทำให้เห็นแจ้ง).

    ๘. นิรมิตร่างกายอื่นจากกายนี้ได้ ( มโนมยิทธิ คือฤทธิ์ทางใจ).

    ๙. แสดงฤทธิ์ได้ เช่น น้อยคนทำให้เป็นมากคน มากคนทำให้เป็นน้อยคน เดินน้ำ ดำดิน เป็นต้น ( อิทธิวิธิ)

    ๑๐. มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงใกล้ไกล ที่เกินวิสัยของมุนษย์ธรรมดา (ทิพย์โสต).

    ๑๑. กำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ ( เจโตปริยญาณ).

    ๑๒. ระลึกชาติในอดีตได้ ( ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ).

    ๑๓. เห็นสัตว์อื่นตายเกิดด้วยตาทิพย์ ( เรียกว่าทิพย์จักษุ หรือจุตูปปาตญาณ คือญาณรู้ความตาย และความเกิดของสัตว์).

    ๑๔. รู้จักทำอาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม หรือหมักดองในสันดานให้สิ้นไป ( อาสวักขยญาณ). ลำดับ

    ( เมื่อจะย่อผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิบสี่ข้อนี้เป็นหมวด ๆ ก็อาจย่อได้ ๓ หมวด คือ

    หมวดที่ ๑ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส เป็นกรรมกร พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี แม้จากพระมหากษัตริย์ คือผลข้อ ๑ กับข้อ ๒.

    หมวดที่ ๒ เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ ก็เป็นเหตุให้ได้ฌาน ที่ ๑ ถึง ๔ อันทำให้ละกิเลสอย่างกลางได้ คือผลข้อ ๓, ๔, ๕, และ ๖.

    หมวดที่ ๓ ทำให้ได้วิชชา ๘ อันเริ่มแต่ข้อ ๗ ได้วิปัสสนาญาณ จนถึงข้อ ๑๔ ได้อาสวักขยญาณ).

    พระเจ้าอชาตศัตรุทรงเลื่อมใส ปฏิญญาพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แล้วกราบทูลขอขมาในการที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ( คือพระเจ้าพิมพิสาร) ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสรับขมา.

    เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรุเสด็จกลับแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรุไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดา ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).


๑. ฉบับยุโรปเรียกชื่อสูตรนี้ว่า กัสสปสีหนาทสูตร แปลว่า สูตรอันก้วยการบรรลือสีหนาท กับกัสสปผู้เป็นนักบวชพวกชีเปลือย

๒. แปลไว้ละเอียดแล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๒๕

๓. คำว่า ศีลอย่างเล็กน้อย อย่างกลาง และอย่างใหญ่นี้ฝรั่งใช้คำว่า ความประพฤติอย่างสั้น อย่างกลาง อย่างยาว

๔. ได้อธิบายศัพท์ไว้แล้วในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๗ ถึง ๙

๕. ครูทั้งหกคือ ๑. ปูรณะ กัสสป ๒. มักขลิ โคสาละ ๓. อชิตะ เกสกัมพล ๔. ปกุธะ กัจจายนะ ๕. นิคัณฐะ นาฎบุตร ๖. สัญชัย เวลัฎฐบุตร.

๖ . ฝรั่งแปลว่า สาเก  (bread fruit tree) ไทยแปลว่า ขนุนบ้าง ขนุนสำมะลอบ้าง


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ