บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
สุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
เล่ม 1มี
1. พรหมชาลสูตร
2. สามัญญผลสูตร
3.อัมพัฏฐสูตร
4.โสณทัณฑสุตร
5.กูฏทันตสูตร
6. มหาลิสูตร
7ชาลิยะสูตร .
8.มหาสีหนาทสูตร
9.โปฏฐปาทสูตร
10.สุภสูตร
11.เกวัฏฏสูตร
12.โลหิจจสูตร
13.เตวิชชสูตร

หน้า ๑
1. พรหมชาลสูตร
ศีลอย่างเล็กน้อย
ศีลอย่างกลาง
ศีลอย่างใหญ่
ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
ความเห็นปรารภ
เบื้องต้น ๑๘
ความเห็นปรารภ
เบื้องปลาย ๔๔
๑.หมวดมีสัญญา
๒.หมวดสัญญา
๓.หมวดมีสัญญาก็มิใช่
๔ไม่มีสัญญาก็มิใช่
หมวดเห็นว่าขาดสูญ
๕.ทิฏฐิธัมมนิพพาน ๒. สามัญญผลสูตร
หมวด ๑ - ๓

หน้า ๒ ๓. อัมพัฏฐสูตร
๔. โสณทัณฑสูตร

หน้า ๓ ๕ กูฏทัตสูตร
( พราหมณ์ฟันเขยิน )
๖.มหาลิสูตร
๗.ชาลิยสูตร
๘.มหาสีหนาทสูตร
๙.โปฏฐปาทสูตร

หน้า ๔
ข้อซักถามเพิ่มเติม
ทรงชี้แจงเรื่อง
แสดงธรรมแง่เดียว
หลายแง่
๑๐. สุภสูตร
๑๑. เกวัฏฏสูตร
๑๒.โลหิจจสูตร

ทรงแก้ความเห็ยผิด ศาสดา ๓ ประเภท
ศาสดาที่ไม่ควรติ
๑๓ . เตวิชชสูตร
คำสนทนาของ
มาณพ ๒ คน
ข้อตรัสชักถาม
อุปมา ๕ ข้อ
คุณสมบัติของ
พระพรหม
กับพรหามณ์
มาณพถามถึงทาง
ไปสู่พระพรหม

 

เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก(เล่ม ๑)
จบเล่ม ๑

ข้อซักถามเพิ่มเติม

โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลถามเพิ่มเติม และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้  :-

    ๑ . ทูลถามว่า ทรงบัญญัติสัญญาอันเลิศ อันเดียวหรือมาก ตรัสตอบว่า บัญญัติทั้งอันเดียว ทั้งมาก ตาม ( ความจริง) ที่จะถูกต้อง ( บรรลุ ) นิโรธได้.

   ๒ . ทูลถามว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) เกิดก่อน ญาณ ( ความรู้ ) เกิดทีหลัง หรือว่าญาณเกิดก่อนสัญญาเกิดทีหลัง หรือว่าสัญญา กับญาณเกิดพร้อมกัน ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง

    ๓ . ทูลถามว่า สัญญาเป็นอัตตา ( ตัวตน ) ของคนหรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอัน ( ไม่ใช่อันเดียวกัน) ตรัสซักว่า อัตตาที่ท่านเข้าใจเป็นอย่างไร . ทูลตอบว่า อัตตาตามที่ตนเข้าใจ คือมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ ตรัสว่า อัตตาของท่านเป็นอัตตาอย่างหยาบ ถ้าเป็นเช่นนั้น สัญญาก็เป็นอย่างหนึ่ง อัตตาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะอัตตายังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งดับไป. ( ในข้อนี้ปริพพาชกชี้อัตตาไปที่ร่างกาย จึงตรัสตอบตามที่เขาชี้ว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น สัญญา กับอัตตาก็คนละอันกัน )

    ๔. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าสัญญาสำเร็จขึ้นจากใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง มีอินทรีย์ .   อันไม่บกพร่อง ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น สัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น . เพราะอัตตาที่สำเร็จด้วยใจยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป ( ในข้อนี้ปริพพาชกพูดอธิบายเพิ่มเติม ลักษณะของอัตตาตามความเข้าใจของตนว่า อัตตาเกิดจากใจ ).

    ๕. ทูลต่อไปว่า ตนเข้าใจว่าอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้นสัญญาก็เป็นอย่างอื่น อัตตาก็เป็นอย่างอื่น เพราะอัตตาไม่มีรูป เป็นของเกิดแต่สัญญา ยังตั้งอยู่นั้นแหละ สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้น อีกอันหนึ่งก็ดับไป.

    ๖. ทูลถามว่า ตน ( ผู้ถาม ) อาจหรือไม่ที่จะรู้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือสัญญาเป็นอย่างอื่น ตรัสตอบว่า โปฏฐปริพพาชกมีความเห็นอย่างอื่น มีความชอบใจอย่างอื่น ( คนละศาสนา) จึงยากที่จะรู้ได้. ทูลถามต่อไปตามแนวทิฏฐิ ๑๐ ที่เกี่ยวด้วยส่วนสุดว่า ถ้าอย่างนั้น โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด หรือไม่มีที่สุด , ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน,   สัตว์. ตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด, สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดทั้งไม่เกิด หรือว่าเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. ( แบ่งออกเป็น ๕ หมวด หมวดละ ๒ ข้อ จึงเป็น ๑๐) ตรัสตอบเป็นข้อ ๆ ว่า พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ .   ปัญหานั้น เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.

    ทูลถามว่า ถ้าอย่างนั้น ทรงพยากรณ์อะไร ? ตรัสตอบว่า ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เพราะมีประโยชน์และเป็นไปเพื่อนิพพาน.
แล้วพระผู้มีพระภาคก็เสด็จลุกจากอาสนะไป.
ต่อมาอีก ๒ - ๓ วัน จิตตะผู้เป็นบุตรแห่งนายควาญช้าง กับโปฏฐปาทปริพพาชก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค. โปฏฐปาทปริพพาชกกราบทูลเล่าว่า เมื่อพระองค์เสด็จกลับ ( ในวันที่เสด็จไป ณ มัลลิการามนั้น ) พวกปริพพาชกพากันกล่าวแดกดันข้าพระองค์ว่า ไม่ว่าพระองค์ตรัสอะไร ข้าพระองค์กราบทูลรับรองไปหมดว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า อย่างนี้ พระเจ้าข้า. พวกเขาไม่เห็นเลยว่า พระองค์ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( บอกยืนยันให้แน่ลงไปในแง่เดียว ) ว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น . ข้าพระองค์ตอบไปว่า เมื่อพระสมณโคดมแสดงปฏิทาอันจริงแท้ ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วิญญูบุรุษข้าพจ้า จะไม่รับรองสุภาษิต โดยความเป็นสุภาษิตได้อย่างไร.

   

ทรงชี้แจงเรื่องแสดงธรรมแง่เดียว หลายแง่

    ตรัสตอบว่า ทรงแสดงธรรมแง่เดียว ( เอกังสิกะ ) ก็มี . ที่ทรงแสดงธรรมหลายแง่ก็คือ เรื่องโลกเที่ยง , ไม่เที่ยง , โลกมีที่สุด , ไม่มีที่สุด เป็นต้น . ที่ทรงแสดงธรรมแง่เดียวคือเรื่องทุกข์ , เหตุให้ทุกข์เกิด , ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ .

    ตรัสเล่าต่อไปว่า พระองค์เคยเสด็จเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกที่มีความเห็นมีวาทะว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรค แล้วซักถามว่า ท่านรู้เห็นโลกซึ่งมีความโดยสุขโดยส่วนเดียวหรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่า ถามว่า ท่านรู้จักหนทาง หรือข้อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว หรือเปล่า ก็ตอบว่า เปล่าอีก . คำพูดของสมณะพราหมณ์เหล่านั้น จึงชื่อว่าไม่มีปาฏิหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐหาริย์มิใช่หรือ โปฏฐปาทปริพพาชกรับว่า ไม่มีปาฏิหาริย์ เลื่อนลอย.

    ครั้นแล้วทรงเปรียบพวกที่กล่าวว่า เมื่อตายไปแล้ว อัตตาจะมีความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีโรคแต่ไม่รู้อะไรจริงจังเลยกับข้อที่ตนกล่าวนั้น ว่าเปรียบเหมือนคนที่รักหญิงงามชาวชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใครชื่ออะไร สกุลอะไร อยู่ที่ไหน หรือเปรียบเหมือนคนตังบันใดขึ้นบนทางสี่แพร่งเพื่อจะขึ้นปราสาท แต่ไม่รู้ว่าปราสาทอยู่ในทิศไหน สูงต่ำหรือปานกลางอย่าง .

    ต่อจากนั้นทรงแสดงการได้อัตตา ๓ ปราเภท คือการได้อัตตาหยาบ ซึ่งมีรูปประกอบด้วยธาตุ ๔ กินอาหารเป็นคำ ๆ , การได้อัตตามีรูป ซึ่งเกิดจากใจ , การได้อัตตาที่ไม่มีรูป ซึ่งเกิดจากสัญญา . ( โดยใจความคือทรงแสดงการได้อัตตาภาพในกามภพ เช่น มนุษย์และสัตว์ทั้วไป รวมทั้งเทพชั้นกามาวจร เป็นประเภทอัตตาหยาบ , ทรงแสดงการได้อัตตภาพในกามภพ คืออัตตาของรูปพรหม และทรงแสดงการได้อัตตภาพในอรูปภพคืออัตตา .   ของอรูปพรหม พรหมไม่มีรูป ) แล้วทรงชี้ให้เห็นว่า ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ละอัตตา ๓ ประเภทนั้น เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะละธรรมที่ทำให้เศร้าหมองและมีธรรมอันผ่องแผ้วเจริญยิ่ง ทำให้บรรลุความเป็นผู้สมบูรณ์ไพบูลด้วยปัญญาในปัจจุบัน และแม้จะมีใครกล่าวว่า การได้บรรลุสภาพเช่นนั้น ทำให้เป็นทุกข์ก็ทรงแสดงได้ว่า มีความปราโมทย์ ความอิ่มใจ ความสงบ มีสติสัมปชัญญะ และความอยู่เป็นสุข. ( ประเด็นสำคัญในตอนนี้มีอยู่ว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า เมื่อตายแล้วอัตตาจะเป็นสุข แต่ตัวเองไม่รู้ไม่เห็น และไม่ทราบขอปฏิบัติ ส่วนทางพุทธศาสนาแทนที่จะสอนให้บรรลุอัตตา กลับสอนให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อละอัตตา แล้วชี้ได้ด้วยว่า อัตตามี ๓ ประเภท ถ้าละได้ก็จะมีสุข ) .

    ทรงเปรียบให้ฟังว่า การสอนอย่างชี้ข้อปฏิบัติเพื่อละอัตตาได้นี้ เปรียบเหมือนตั้งบันใดขึ้นสู่ปราสาทซึ่งมีปราสาทอยู่จริง ๆ ไม่ใช่ชี้ไม่ได้.

    ต่อจากนั้นทรงอธิบายรับรองความเห็นของจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้าง ( ซึ่งไปเฝ้าพร้อมกับโปฏฐปาทปริพพาชก ) ที่ว่า เมื่ออยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง อัตตาก็ไม่อยู่ในสภาพอื่น เช่น เมื่อได้อัตตาหยาบก็ไม่อยู่ในสภาพอัตตา ( ละเอียด ) มีรูปเกิดจากใจ หรือไม่มีรูปเกิดจากสัญญา เมื่ออยู่ในตอนไหนก็จริงในตอนนั้น ตอนอื่นไม่จริง เปรียบเหมือนน้ำนม , นมสัม , เนยข้น , เนยใส . ก้อนเนยใสตอนไหนเป็นอะไรก็ไม่เป็นอย่างอื่น.

ทรงสรุปในที่สุดว่า ถ้อยคำเรื่องอัตตาเหล่านี้เป็นเพียงโลกสมัญญา ( ชื่อทางโลก ) โลกนิรุติ ( คำพูดของโลก ) โลกโวหาร ( โวหารทางโลก ) และโลกบัญญัติ ( บัญญัติทางโลก) ซึ่งตถาคตก็พูดด้วยถ้อยคำเหล่านั้นแต่ไม่ยึดถือ .

    เมื่อจบพระธรรมเทศนา โปฏฐปาทปริพาชกสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ส่วนจิตตะ บุตรแห่งนายควาญช้างขอบวช แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในกาลต่อมาไม่นาน.

   

๑๐. สุภสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับสุภมาณพ โตเทยยบุตร
สูตรนี้เป็นภาษิตของพระอานนท์ เล่าเรื่องว่า พระอานนท์อยู่ในเชตวนารามอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี เมื่อพระผู้มีพระภาคนิพพานแล้วไม่นาน.

    ครั้นนั้น สุภมาณพผู้เป็นบุตรโดยโตเทยยพราหมณ์ พักอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยธุระบางอย่างและส่งได้มาณพคนหนึ่งไปนิมนต์พระอานนท์ให้สงเคราะห์ไปเยี่ยมตนถึงที่อยู่ พระอานนท์อ้างว่า วันนี้ท่านดื่มยา ต่อวันรุ่งขึ้นจึงจะไป.

    ครั้นวันรุ่งขึ้นพระอานนท์ไปเยี่ยม สุภมาณพจึงถามว่า ท่านอุปฐากพระโคดมผู้เจริญมานาน พระโคดมสรรเสริญธรรมอะไร และชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร. พระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกองศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะ และทรงชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในกองศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นอริยะนี้. สุภมาณพถามให้อธิบายถึงกองศีล ( สีลขันธ์ ) กองสมาธิขันธ์ ) และกองปัญญา ( ปัญญาขันธ์) อันเป็นอริยะโดยลำดับ.

    พระอานนท์อธิบายกองศีล โดยใจความว่า บุคคลมีศรัทธา ออกบวชแล้ว เว้นจากทางแห่งอกุศล ๑๐ ประการ และศีล ๓ ประเภท ( ดั่งกล่าวแล้วในส่วนสามัญญผลสูตร ) ส่วนกองสมาธิ อธิบายถึงการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ( สำรวมอินทรีย์ ) ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีความสันโดษด้วยปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต ชำระจิตจากนิวรณ์ ( ธรรมอันกั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดี ) ๕ ประการ ได้ฌานที่   ๑   ที่   ๒   ที่   ๓   ที่   ๔   ส่วนกองปัญญา อธิบายถึงวิชชา   ๘  มีวิปัยยนาญาณ ( ญาณเห็นแจ้งสภาวธรรมตามเป็นจริง ) เป็นต้น จนถึงอาสวักขยญาณ ( ฌาณอันทำอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานให้สิ้นไป ) เช่นเดียวกับที่ปรากฏในสามัญญผลสูตร.

    เมื่อแสดงธรรมจบ สุภมาณพ โตเทยยบุตร สรรเสริญธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๑๑. เกวัฏฏสูตร
สูตรว่าด้วยการแสดงธรรมแก่บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของปาวาริกะ ใกล้เมืองนาฬันทา . ณ ที่นั้น บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้า ขอให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงอิทธปาฏิหาริย์ได้ให้แสดง ก็จะมีคนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น.

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์มิได้แสดงธรรมว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงแสดงอิทธปาฏิหาริย์แก่คฤหบดีผู้นุ่งผ้าขาว.

    แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ บุตรคฤหบดีชื่อเกวัฏฏะ ก็ยังยืนยันจะให้ทรงชวนภิกษุผู้แสดงอิทธปาฏิหาริย์ได้ให้แสดง ก็จะมีคนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้น.

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงชี้แจงว่า ปาฏิหาริย์ที่ทรงทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองและประกาศแล้ว มีอยู่ ๓ อย่าง คือ  
    ๑ . อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์.
    ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจทายใจได้เป็นอัศจรรย์.
    ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สั่งสอน ( มีเหตุผลดี ) เป็นอัศจรรย์.

    แล้วทรงอธิบายวิธีแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ และสรุปในที่สุดว่า คนที่ไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่แสดงฤทธิ์ได้นั้น เพราะมีคันธารวิชา ( วิชชาของคันธาระ).

    อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจทายใจของคนได้ คนที่ไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใส ก็อาจกล่าวได้ว่า ภิกษุที่ดักใจทายใจได้นั้น ก็เพราะมีมณีกาวิชา.

    ครั้นแล้วทรงแสดงถึงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือการสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร ตลอดจนการปฏิบัติได้ผลในศีล   ๓ ประเภท   ในฌาน ๔  ในวิชชา ๘ ( ดั่งกล่าวไว้แล้วในสมมัญญผลสูตร).

    แล้วทรงเล่าถึงภิกษุรูปหนึ่งข้องใจในปัญหาที่ว่า ธาตุ ๔ เป็นต้น จะดับโดยไม่เหลือในที่ไหน ภิกษุรูปนั้นเที่ยวตระเวนถามเทวดาต่าง ๆ จนกระทั้งถึงท้าวมหาพรหมก็ตอบไม่ได้ ในที่สุดท้าวใหาพรหมขอให้มาถามพระพุทธเจ้า ซึ่งตรัสสอนเป็นใจความรวบยอดว่า ดับวิญญาณเสียได้   ธาตุ ๔ เป็นต้น ก็ดับไม่เหลือในที่นั้น. ( เป็นการแสดงว่าฤทธิ์ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คำสั่งสอนสำคัญกว่า ) .

   

๑๒.โลหิจจสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์

    พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จแวะพัก ณ ตำบลบ้านชื่อสาลวติกา ซึ่งพระเจ้าปเสนทโกศลพระราชทานให้โลหิจจพราหมณ์ครอบครอง.

   

ทรงแก้ความเห็ยผิด

    สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์มีความเห็นผิดเกิดขึ้นว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้บรรลุกุศลธรรมแล้วไม่พึงบอกแก่ผู้อื่น เพราะคนอื่นจะทำอะไรแก่อีกคนหนึ่งได้ การบอกแก่คนอื่น จัดว่าเป็นความโลภ ( ความอยากได้ ) ที่เป็นบาปอันหนึ่ง เปรียบเหมือนคนตัดเครื่องพันธนาการเก่าออกแล้ว กลับทำเครื่องพันธนาการใหม่ ( ให้แก่ตัวเอง ) อีก

    โลหิจจพราหมณ์ได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงตำบลบ้านชื่อสาลวติกา จึงใช้ช่างกัลบก ชื่อโรสิกะ ให้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันในวันรุ่งขึ้น.

    รุ่งขึ้นเมื่อเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว ก็ได้ทรงโต้ตอบกับโลหิจจพราหมณ์ถึงเรื่องความเห็นผิดนั้น ทรงเปรียบเทียบให้เห็นว่า โลหิจจพราหมณ์ซึ่งครอบครองตำบลบ้านสาลวติกาก็ตาม พระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งทรงครอบครองแคว้นโกศลก็ตาม ถ้าบริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ปปกครองแต่ผู้เดียว ไม่ยอมแบ่งปันให้ผู้ใดเลยดังนี้ คนที่จะแสดงความคิดเห็นไม่ให้แบ่งปันแก่ผู้อื่นอย่างนี้ จะเชื่อว่าทำอันตรายแก่ผู้ที่ ( เป็นข้าทาสบริวาร ) อาศัยอยู่หรือไม่ โลหิจจพราหมณ์ยอมรับว่าเป็นการทำอันตรายแก่คนเหล่านั้น ( เพราะเมื่อไม่ได้รับส่วนแบ่ง เช่น อาหาร เป็นต้น คนเหล่านั้นก็อยู่ไม่ได้ ) ตรัสถามต่อไปว่า จะเป็นการตั้งเมตตาจิต คิดจะอนุเคราะห์คนเหล่านั้น หรือว่าเป็นศัตรู. กราบทูลตอบว่า เป็นศัตรู. ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อตั้งจิตเป็นศัตรูจะเชื่อว่ามีความเห็นผิดหรือเห็นชอบ พราหมณ์กราบทูลถามว่า เป็นการเห็นผิด. ( อันนี้เป็นการต้อนให้พราหมณ์นั้นยอมรับว่าตนมีความเห็นผิด เพราะจำนนต่อเหตุผล).

    จึงทรงเปรียบเทียบให้ฟังต่อไปว่า การกล่าวว่า ผู้ครอบครองบริโภคผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแต่ผู้เดียวไม่แบ่งปันแก่ใครเลย ก็เช่นเดียวกันการกล่าวว่า ผุ้บรรลุกุศลธรรมไม่ควรบอกแก่ใคร ๆ ซึ่งเป็นการทำอันตรายเป็นการตั้งจิตเป็นศัตรูต่อผู้ที่ควรจะได้รับ และเป็นการมีความเห็นผิด.

   

ศาสดา ๓ ประเภท

    แล้วทรงแสดงถึงศาสดา ( ผู้สอนศาสนา ) ๓ ประเภทที่ควรโจทท้วง และคำโจทท้วงก็ถูกต้องตามธรรมคือ
    ๑. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น ( ดีแต่สอนผู้อื่น ตนเองปฏิบัติไม่ได้ หรือไม่ได้ผล ) สาวกจึงไม่ตั้งใจฟัง พากันเลี่ยงหนี.
    ๒. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะด้วยตนเอง ได้แต่แสดงธรรมสอนผู้อื่น แต่สาวกตั้งใจฟังคำสั่งสอน ไม่พากันเลี่ยงหนี.
    ๓. ศาสดาที่ออกบวชแล้ว ไม่ได้บรรลุประโยชน์ของความเป็นสมณะและแสดงธรรมสั่งสอน แต่สาวกไม่ตั้งใจฟังคำสอน พากันเลี่ยงหนี.

   

ศาสดาที่ไม่ควรติ

    โลหิจจพราหมณ์กราบทูลถามว่า ศาสดาที่ไม่ควรติมีในโลกหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี คือศาสดามีคุณสมบัติสมบูรณ์ในตัวเอง ทั้งสาวกที่ออกบวชแล้วตั้งอยู่ในศีล ได้บรรลุฌานที่   ๑ ถึง   ๔ และได้วิชชา   ๘ ประการ   (ตามที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร ) ศาสดาประเภทนี้ไม่ควรถูกติ ( เพราะสั่งสอนได้ผลสมบูรณ์ คือ ตนเองก็ได้บรรลุคุณธรรม สาวกก็ได้บรรลุคุณธรรม)

    โลหิจจพราหมณ์กราทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๑๓ . เตวิชชสูตร
ว่าด้วยไตรเวท

    พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จแวะพัก ณ ตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อมนสากตะ ประทับ ณ ป่ามะม่วง ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือของตำบลบ้านพราหมณ์ ชื่อมนสากตะ

    สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาล ( พราหมณ์ที่เป็นเศรษฐี) มีชื่อเสียงหลายคนพักอาศัยอยู่ในตำบลบ้านนั้น เช่น วังกิสพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสนิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์ และพราหมณ์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ.

   

คำสนทนาของมาณพ ๒ คน

    มาณพ ๒ คน คนหนึ่งชื่อวาเสฏฐะ ( ผู้สืบสกุลวสิษฐะ ) อีกคนหนึ่งชื่อภารัทวาชะ ( ผู้สืบสกุลภารัทวาชะ ) เดินสนทนากันถึงเรื่องทางตรงที่จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม. มาณพชื่อวาเสฏฐะ อ้างถ้อยคำของโปขรสาติพราหมณ์ มาณพชื่อภารัทวาชะ อ้างถ้อยคำของตารุกขพราหมณ์ เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราลทูลเล่าความที่ตนโต้เถียงกัน เพื่อให้ทรงชี้แจง. และในการกราบทูลเพิ่มเติมได้กล่าวว่า แม้พราหมณ์ต่าง ๆ จะบัญญัติหนทางไว้ต่าง ๆ กัน แต่ก็นำผู้กระทำตามไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้ เปรียบเหมือนทางต่าง ๆ หลายสาย ซึ่งอยู่ไม่ไกลความ , นิคม ก็ไปร่วมกันที่คาม ( หมู่บ้าน ) .

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามให้วาเสฏฐมาณพ ยืนยันถึง ๓ ครั้งว่า ทางต่าง ๆ เหล่านั้น นำไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้.

   

ข้อตรัสชักถาม

    ๑ . พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มีพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.

    ๒. ตรัสถามว่า อาจารย์ของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทมีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.

    ๓. ตรัสถามว่า อาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์พวกนั้น มีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี.

    ๔. ตรัสถามว่า ใครคนใดคนหนึ่ง ๗ ชั่วยุคอาจารย์ของพราหมณ์ มีไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี

   ตรัสถามว่า อาจารย์ของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทมีสักคนหนึ่งไหม ที่เคยเห็นพระพรหม กราบทูลว่า ไม่มี

    ๕. ตรัสถามว่า ฤษีรุ่นก่อน ๆ ที่แต่งมนต์ ร่ายมนต์ ซึ่งพวกพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทในสมัยนั้น เช่น อัฏฐกะ , วามกะ เป็นต้น มีใครบ้างเคยกล่าวว่าตนรู้เห็นพระพรามอยู่ในที่ใด อยู่อย่างไร อยู่ที่ไหน . กราบทูลว่า ไม่มี

    จึงตรัสสรุปว่า เปรียบเหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด ทั้งคนต้น คนกลาง และคนสุดท้าย ต่างก็มองไม่เห็น พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ทั้งคนต้น คนกลาง และคนสุดท้ายก็ไม่เคยเห็นพระพรหม คำกล่าวของหพราหมณ์เหล่านั้นจึงว่างเปล่า.

    ๖. ตรัสถามต่อไปว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทและคนอื่น ๆ ต่างเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกจึงพากันสรรเสริญ ประคองอัญชลี กราบไหว้ เพียงเท่านี้จะเพียงพอหรือไม่ ที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทนั้นจะชี้ทางที่จะไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดวงจันทร์ดวงอาทิตย์. กราบทูลว่า ไม่พอ.

    จึงตรัสสรุปในตอนนี้ว่า แม้พียงมองเห็นก็ยังไม่พอที่จะชี้ทาง ก็พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท พร้อมทั้งอาจารย์ อาจารย์ของอาจารย์ เป็นต้น ไม่เเคยเห็นพระพรหมเลย ก็ยังแสดงทางตรงไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้.

    ๗. จึงตรัสถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้อยคำของพราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท จึงชื่อว่าไม่มีปาฏิหาริย์ ( เลื่อนลอยไม่มีหลักฐาน ) ใช่หรือไม่ . กราบทูลว่า ใช่ . จึงตรัสต่อไปว่า เมื่อไม่รู้ไม่เห็น แต่แสดงทางตรงเพื่อไปสู่ความอยู่รวมกันพระพรหม จึงมิใช่ฐานะที่จะเป็นจริงได้.

   

อุปมา ๕ ข้อ

    ๑. ตรัสเปรียบเทียบการที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ไม่เคยเห็นพระพรหม แต่แสดงทางไปสู่ความอยู่ร่วมกับพระพรหมว่าเหมือนชายผู้รักหญิงงามชาวชนบท แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่อไร รูปร่างเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน .

    ๒. หรือเปรียบเหมือนคนที่ตั้งบันไดขึ้นสู่ปราสาท ในทางสี่แพร่ง แต่ไม่รู้ว่าปราสาทนั้นอยู่ที่ไหน.

    ๓. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ละธรรมะที่ทำให้เป็นพราหมณ์ สมาทาน ( ยึดถือ ) ธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์ แล้วพากันออกนามพระอินทร์ พระโสมะ พระวรุณ พระอิสาน พระปชาบดี พระพรหม พระมหินทร์ การออกนาม การอ้อนวอน การปรารถนา การยินดี ก็ไม่ทำให้ไปอยู่ร่วมกับพระพรหมได้ เมื่อตายไป เปรียบเหมือนคนอ้อนวอนฝั่งน้ำให้เข้ามาหา ก็ย่อมเข้ามาไม่ได้.

    ๔. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท ยังหมกมุ่น สยบอยู่ บริโภคกามคุณ ๕ ( คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจ ) ซึ่งนับเป็นเครื่องจองจำผูกมัดในอริวินัย จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมย่อมเป็นไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคนต้องการข้ามแม่น้ำ แต่เอาเชือกมัดมือไพล่หลังตัวเองอย่างแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้นไม่ได้.

    ๕. การที่พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทถูกนีวรณ์ ๕ ( กิเลสที่กั้นจิตมิให้บรรลุความดี อันเป็นกิเลสชั้นกลางคือความพอใจในกาม ความพยาบาท เป็นต้น ) รัดรึงไว้ จะเข้าสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม ย่อมเป็นไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำ แต่เอาผ้าคลุมศีรษะ นอนเสียทางฝั่งนี้ ก็จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้นไม่ได้.

   

คุณสมบัติของพระพรหมกับพราหมณ์

    ตรัสถามว่า พราหมณ์ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุที่เป็นชั้นอาจารย์ของอาจารย์เคยกล่าวถึงพระพรหมว่า
    ๑. มีสิ่งหวงแหน (เช่น สตรี ) หรือไม่
    ๒. มีจิตผูกเวรหรือไม่
    ๓. มีจิตพยาบาทหรือไม่
    ๔. มีจิตเศร้าหมอง ( ด้วยกิเลส ) หรือไม่
    ๕. ทำจิตเป็นให้ไปในอำนาจได้หรือไม่

มาณพกราบทูลตอบว่า พระพรหมตามคำกล่าวของพราหมณ์ผู้ใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น ๔ ข้อ ข้อที่ ๕ เป็นเช่นนั้น ( คือมีคุณสมบัติในทางดีงาม ) แล้วตรัสถามว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทเป็นอย่างพระพรหมหรือไม่ ก็ตอบในทางตรงกันข้าม คือยังมีสิ่งหวงแหน มีจิตผูกเวร มีจิตพยาบาท มีจิตเศร้าหมอง ไม่สามารถคุมจิตไว้ในอำนาจได้.

    ตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวทจะเปรียบเทียบเข้ากับพระพรหมหรือไม่ ตอบว่า ไม่ได้ จึงตรัสสรุปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อตายแล้ว พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท จะเข้าถึงความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมนั้น จึงมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้.

    ตรัสต่อไปว่า พราหมณ์ผู้รู้ไตรเวท เข้าไปใกล้ , จมลงไป , ถึงความวิบัติ ( ในทางที่ผิด ) แต่ก็สำคัญว่าข้ามสู่แดนที่มีความสุขยิ่งกว่า .   เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นป่าไตรเวท ที่ไม่มีบ้าน , เป็นป่าไตรเวท ที่ไม่มีน้ำ , เป็นความเสื่อมแห่งไตรเวท.

   

มาณพถามถึงทางไปสู่พระพรหม

    วาเสฏฐมาณพกราบทูลถามถึงทางที่จะไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ทรงรู้จักพระพรหม พรหมโลก ข้อปฏิบัติเพื่อให้ไปสู่พรหมโลก ตลอดจนพระพรหมผู้ปฏิบัติอย่างไรจึงจะเข้าถึงพรหมโลกได้.

    เมื่อมาณพขอให้ทรงแสดง จึงตรัสถึงการที่พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก บุคคลฟังธรรมออกประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ( รายละเอียดดั่งที่กล่าวในสามัญญผลสูตร ) ละนีวรณ์ ๕ ได้ แผ่เมตตาจิตไปสู่ ๔ ทิศ นี้เป็นทางไปสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหม . เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีคุณสมบัติเปรียบเทียบเข้ากันได้กับพระพรหม ( เป็นการถามตอบคุณสมบัติของภิกษุผู้ประพฤติตนดี เจริญเมตตาเจโตวิมุติเทียบกับคุณสมบัติของพระพรหมตามตำรับโบราณทีละข้อ ซึ่งมาณพก็กราบทูลรับรองว่าเข้ากันได้).
    จึงตรัสสรุปในที่สุดว่า   ภิกษุเช่นนั้นเมื่อตายไป ย่อมมีฐานะที่จะเข้าสู่ความเป็นผู้ร่วมกับพระพรหมได้.    มาณพ   ๒ คนกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

    ( หมายเหตุ พระสูตรนี้ หรือหลาย   ๆ สูตรที่แล้วมาแสดงว่า การถือศาสนาตามตำรา เช่น เรื่องพระพรหมนั้นยังไม่พอ ควรเอาความรู้ความประพฤติเข้าจับด้วย หมายความว่า ต้องรู้ ต้องเข้าใจปฏิบัติให้เห็นผลได้จริง ๆ ไม่ใช่ทำอะไรตาม ๆ กัน โดยไม่รู้อะไรจริง).


๑. อินทรีย์ในที่นี้ คือ   ตา  หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  แต่ละอย่างเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน

๒. คำว่า สัตว์ ในที่นี้ แปลจากคำว่า ตถาคต ตามคำอธิบายของอรรถกถาที่กล่าวถึงทิฏฐิ ๑๐ แต่ในที่อื่น คำว่า ตถาคต ใช่เป็นพระนามเรียกพระพุทธเจ้า

๓. คำว่า พยากรณ์ แปลว่า ทำให้แจ้ง คือตอบหรืออธิบาย ไม่ใช่ทำนาย อย่างที่ใช่ในความหมายบางอย่างในภาษาไทย

๔ ทรงใช้คำว่า อัตตา ตามชาวโลก แต่ถือเพียงว่าเป็นโวหาร หรือคำพูดของชาวโลก แต่ไม่ทรงยึดถือตามข้อความท้ายพระสูตรนี้

๕ เปรียบเหมือนคนที่ถูกภาพลวง เห็นทะเลทรายเป็นน้ำ


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ