บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
สุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
เล่ม 1มี
1. พรหมชาลสูตร
2. สามัญญผลสูตร
3.อัมพัฏฐสูตร
4.โสณทัณฑสุตร
5.กูฏทันตสูตร
6. มหาลิสูตร
7ชาลิยะสูตร .
8.มหาสีหนาทสูตร
9.โปฏฐปาทสูตร
10.สุภสูตร
11.เกวัฏฏสูตร
12.โลหิจจสูตร
13.เตวิชชสูตร

หน้า ๑
1. พรหมชาลสูตร
ศีลอย่างเล็กน้อย
ศีลอย่างกลาง
ศีลอย่างใหญ่
ทิฏฐิ ๖๒ ประการ
ความเห็นปรารภ
เบื้องต้น ๑๘
ความเห็นปรารภ
เบื้องปลาย ๔๔
๑.หมวดมีสัญญา
๒.หมวดสัญญา
๓.หมวดมีสัญญาก็มิใช่
๔ไม่มีสัญญาก็มิใช่
หมวดเห็นว่าขาดสูญ
๕.ทิฏฐิธัมมนิพพาน ๒. สามัญญผลสูตร
หมวด ๑ - ๓

หน้า ๒ ๓. อัมพัฏฐสูตร
๔. โสณทัณฑสูตร

หน้า ๓ ๕ กูฏทัตสูตร
( พราหมณ์ฟันเขยิน )
๖.มหาลิสูตร
๗.ชาลิยสูตร
๘.มหาสีหนาทสูตร
๙.โปฏฐปาทสูตร

หน้า ๔
ข้อซักถามเพิ่มเติม
ทรงชี้แจงเรื่อง
แสดงธรรมแง่เดียว
หลายแง่
๑๐. สุภสูตร
๑๑. เกวัฏฏสูตร
๑๒.โลหิจจสูตร

ทรงแก้ความเห็ยผิด ศาสดา ๓ ประเภท
ศาสดาที่ไม่ควรติ
๑๓ . เตวิชชสูตร
คำสนทนาของ
มาณพ ๒ คน
ข้อตรัสชักถาม
อุปมา ๕ ข้อ
คุณสมบัติของ
พระพรหม
กับพรหามณ์
มาณพถามถึงทาง
ไปสู่พระพรหม

 

เล่มที่ ๙ ชื่อทีฆนิกาย สีลขันธวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก(เล่ม ๑)
หน้า ๓

๕ กูฏทัตสูตร
สูตรว่าด้วยกูฏทันตพราหมณ์ ( พราหมณ์ฟันเขยิน )

พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ประทับ ณ อัมพลัฏฐิกา ( สวนมะม่วงหนุ่ม).

สมัยนั้นกูฏทันตราหมณ์ครอบครองหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อขานุมัตตะ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้. อนึ่ง กูฏทันตพราหมณ์เตรียมประกอบยัญญพิธี เอาโคผู้ ๗๐๐ , ลูกโคผู้ ๗๐๐, ลูกโคเมีย ๗๐๐ , แพะ ๗๐๐ แกะ ๗๐๐  ๑.    ผูกติดไว้กันเสา เพื่อเตรียมบูชายัญ.

พราหมณ์คฤหบดีชาวขานุมัตตะได้ทราบเรื่องว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา และเป็นผู้มีกิตติศัพท์ขจรขจายไปว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เดินไปเป็นหมู่ ๆ เพื่อเฝ้า กูฏทันตพราหมณ์เห็นเข้า ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทัณฑพราหมณ์) ถามทราบเรื่องก็สั่งให้รอ ตนจะร่วมไปเฝ้าด้วย แต่ถูกพราหมณ์ที่เดินทางมา ( เพื่อรับของถวาย) ในมหายัญคัดค้าน และกูฏทันตพราหมณ์โต้ตอบ ( เช่นเดียวกับเรื่องโสณทันฑพราหมณ์) ในที่สุดจึงร่วมกันไปเฝ้าทั้งหมด.

กูฏทันตพราหมณ์จึงกราบทูลถามให้ทรงอธิบายถึงยัญญสัมปทา ( ความถึงพร้อม คือสมบูรณ์แห่งยัญ ๓ ประการ อันมีส่วนประกอบ ( บริขาร) ๑๖ อย่าง).

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าถึงพระเจ้ามหาวิชิตะในอดีตกาลผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้ชัยชนะปฐมมณฑลอันยิ่งใหญ่ ใคร่จะบูชามหายัญ เพื่อประโยชน์และความสุข จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมาให้ช่วยสอนวิธีบูชามหายัญนั้น.

พราหมณ์ปุโรหิตแนะนำให้ปราบโจรผู้ร้ายก่อน แต่ไม่ใช่ด้วยวิธี แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีฆ่าหรือจองจำ เพราะพวกที่เหลือจากถูกฆ่าก็จะเบียดเบียนชนบทในภายหลัง ( ตัวตายตัวแทน) โดยที่แท้ควรถอนรากโจรผู้ร้าย ( ด้วยวิธีจดการทางเศรษฐกิจให้ดี) คือแจกพืชแก่กสิกรในชนบทที่อุตสาหะประกอบอาชีพ ให้ทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะในการค้าให้อาหาร และค่าจ้างข้าราชการ ( ให้ทุกคนมีอาชีพมีรายได้) พระราชทรัพย์ก็เพิ่มพูน ชนบทก็จะไม่มีเสี้ยนหนาม มนุษย์ทั้งหลายก็จะรื่นเริงอุ้มบุตรให้ฟ้อนอยู่ที่อก ไม่ต้องปิดประตูเรือน.

เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตะทรงทำตามคำแนะนำนั้นก็ได้ผลดี จึงตรัสเรียกพราหมณ์ปุโรหิตมา ขอให้สอนเรื่องการบูชามหายัญ. พราหมณ์ปุโรหิตจึงแนะนำให้ขออนุญาตบูชามหายัญ โดยแจ้งให้กษัตริย์ผู้น้อยกว่าที่อยู่ในนิคมชนบท, อำมาตย์ ข้าราชการบริพารที่อยู่ในนิคมชนบท, พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมชนบท , คฤหบดีที่อยู่ในนิคมชนบทได้ทราบเรื่อง และอนุญาตให้บูชามหายัญ. เมื่อทรงปฏิบัติตามนั้นก็ได้รับอนุญาตจากบุคคลทั้งสี่ประเภทเหล่านั้น . นี้นับเป็นฝ่ายอนุมัติ ๔ ซึ่งเป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.

องค์พระเจ้ามหาวิชิตะเอง ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๘ ประการ คือ ๑. มีชาติดี ๒ มีรูปร่างงาม ๓. มีทรัพย์มาก ๔. มีกำลังรบ ๕. มีศรัทธาบริจากทาน ๖. สดับตรับฟังมาก ( มีการศึกษาดี) ๗. รู้ความหมายของภาษิตนั้น ๆ ( อธิบายความหมายได้) ๘. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา. คุณสมบัติ ๘ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น.

คุณสมบัติพราหมณ์ปุโรหิตอีก ๔ คือ ๑. มีชาติดี ๒. ท่องจำมนต์ได้ ๓. มีศีล ๔. เป็นผู้ฉลาดมีปัญญา คุณสมบัติ ๔ ประการนี้เป็นเครื่องประกอบของยัญนั้น. ( รวมเป็น ๑๖ คือฝ่ายอนุมัติ ๔ คุณสมบัติของราชา ๘ คุณสมบัติของปุโรหิต ๔).

ต่อไปพราหมณ์จึงแสดงปุโรหิตจึงแสดงถึง ยัญ ๓ ประการ คือต้องไม่มีความเดือดร้อนใจว่า โภคทรัพย์เป็นมาก ๑ . จักหมดไป ๒. กำลังหมดไป ๓. หมดไปแล้ว.

แล้วพราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงถึงการบันเทาความเดือดร้อนใจของผู้บูชายัญที่จะพึงมีในฝ่ายผู้รับทาน ๑๐ ประการ คือผู้ฆ่าสัตว์, ผู้ลักทรัพย์. ผู้ผิดในกาม, ผู้พูดปด, ผู้พูดเสียด, ผู้พูดคำหยาบ, ผู้พูดเพ้อเจ้อ. ผู้ละโมภบอยากได้ของคนอื่น , ผู้พยาบาทปองร้ายผู้อื่น , ผู้เห็นผิดทำนองคลองธรรม อาจมาสู่ยัญญพิธี โดยตั้งใจว่ายัญนี้อุทิศผู้ที่ปฏิบัติดี ตรงกันข้ามกับฝ่ายชั่ว ๑ ประการ.

เมื่อมีเครื่องประกอบยัญ ๑๖ ประการดั่งต่อไปนี้ ก็ไม่มีผู้ใดกล่าวติเตียนได้โดยธรรม.

ครั้นแล้วได้แสดงวิธีบูชาต่อไป ในยัญนั้น ไม่มีการฆ่าโค , แพะ , แกะ, ไก่ , สุกรและวัตว์ต่าง ๆ ก็ไม่ต้องถึงความพินาศ, ไม่มีการตัดต้นไม้ เพื่อสร้างปราสาท ( ต้อนรับผู้มาดูพิธี) ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามาเพื่อแวดวงประดับโรงพิธี หรือเพื่อปูลาดกับพื้น พวกทาสีกรรมกรก็ไม่ต้องถูกขู่เข็ญลงโทษ มีหน้านองด้วยน้ำตาทำงาน ใครปรารถนาจะทำก็ทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ เพราะยัญนั้นสำเร็จด้วยเนยใส, น้ำมัน, เนยข้น,น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.

ผู้ที่เดินทางมาในการนี้ นำเครื่องบรรณาการมาถวาย พระเจ้ามหาวิชิตะก็ไม่ทรงรับ กลับตรัสให้นำของพระองค์เพื่มให้กลับไป แต่บุคคลเหล่านั้นไม่นำกลับ กลับสละตาม (คือแจกทานตามพระเจ้ามหาววิชิตะ) . ต่างตั้งยัญศาลาขึ้น ๔ ทิศ ( กษัตริย์ทิศบูรพา , อำมาตย์ทิศทักษิณ, พราหมณ์มหาศาลทิศประจิม, คฤหดีทิศอุดร) แจกทานร่วมในการนี้.

กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยังมียัญอื่นที่มีการเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ายัญ ๓ บริขาร ๑๖ ที่กล่าวแล้วหรือไม่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี ก็ถามต่อไปอีกถึงยัญที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า เป็นการถามตอบหลายวาระ. สิ่งที่มีการริเริ่มน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่ากันโดยลำดับ ซึ่งผู้มีพระภาคตรัสตอบมีดังนี้ :-
๑. การให้ทานเป็นนิตย์ อุทิศผู้มีศีล.
๒. การสร้างวิหาร ( ที่อยู่) อุทิศสงฆ์ที่มาจาก ๔ ทิศ.
๓. การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ.
๔. การสมาทานศีล ๕ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย.
๕. การออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล ๓ ประเภท บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ๔ บำเพ็ญปัญญาจนได้วิชชา ๘ ( ดั่งกล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร).

กูฏทัตพราหมณ์มีความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ปล่อยสัตว์อย่างละ ๗๐๐ หลายประเภทนั้นให้เป็นอิสระ และเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาต่อไป ( อนุบุพพกถาและอริยสัจจ์ ๔ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบัน).

( พระสูตรนี้ทำให้เห็นว่า เพียงการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะหรือการรักษาศีล ๕ ก็ยังผลมากกว่าการบำเพ็ญมหายัญใหญ่โต จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจผู้คิดทำบุญซึ่งมักจะบ่นว่าไม่มีทุนทำบุญ ให้ทราบว่าบุญนั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนเอาทรัพย์แลกเสมอไป เพียงแต่การรักษาศีล ๕ ก็เป็นบุญอันสูงกว่านนั้น).

   

๖. มหาลิสูตร
สุตรว่าด้วยการโต้ตอบกับเจ้าฉวีชื่อมหาลิ

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ป่ามหาวัน กรุงไพศาลี พวกพราหมณ์ที่เป็นทูตชาวโกศลและชาวมคธมากหลาย  ๒.    มีธุระไปพักอยู่ในกรุงไพศาลี ได้ทราบข่าวจึงจะพากันไปเฝ้าด้วย เจ้าลิจฉลีชื่อ โอฏฐัทธะ ( ปากแหว่ง ) ๓ พร้อมด้วยบริษัทก็ไปเฝ้าด้วย.

สมัยนั้น พระนาคิตะ เป็นพุทธอุปฐาก ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า อ้างว่าพระผู้มีพระภาคกำลังทรงหลีกเร้น ( ทำความสงบ ) อยู่. สามเณรสีหะจึงเจรจากับพระนาคิตะให้บุคคลเหล่านั้นเข้าเฝ้า พระนาคิตะเกี่ยงให้สามเณรสีหะไปกราบทูลเอง.

เมื่อสามเณรสีหะไปกราบทูล จึงตรัสสั่งให้ปูอาสนะที่ร่มเงาด้านหลังวิหาร เสด็จไปต้อนรับบุคคลเหล่านั้น.

เมื่อตรัสปราศัยกับบุคคลเหล่าที่เข้าเฝ้าแล้ว โอฏฐัทธะ ลิจฉวี ก็กราบทูลถามเรื่องตาทิพย์ หูทิพย์ ว่ามีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี แล้วทรงแสดงเหตุผลว่า สุดแต่กำลังสมาธิที่เจริญให้มาก เพื่อให้มีตาทิพย์หรือหูทิพย์ และตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายมิได้ประพฤติพรามจรรย์ในสำนักของพระองค์เพื่อเจริญสมาธิ ( ที่เป็นเหตุให้ได้ตาทิพย์หูทิพย์เหล่านั้น) เพราะยังมีธรรมที่สูงกว่านั้นที่ควรทำให้แจ้ง คือ ๑. การทำสัญโญชน์ ( กิเลสที่ผูกมัด) ให้สิ้นไป ๓ ประการ อันทำให้เป็นพระโสดาบัน ๒. ทำสัญโญชน์ ๓ ประการนั้นให้สิ้น ทำระคะ โทสะ โมหะให้น้อยลง อันทำให้เป็นสกทาคามี ๓. ทำสัญโญชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการให้สิ้น อันทำให้เป็นพระอนาคามี ๔. ทำอาสวะให้สิ้น ทำให้แจ้งความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ( เจโตวิมุติ) และความหลุดพ้นเพราะปัญญา ( ปัญญาวิมุติ )  ๔.

เมื่อโอฏฐัทธะ ลิจฉลี กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติที่ทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ธรรมเหล่านั้น ก็ตรัสแสดงมรรคองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) เป็นที่สุด.

ครั้นแล้วตรัสเล่าเรื่องมัณฑิยปริพพาชก กับชาลียปริพพาชกไปทูลถามพระองค์ เรื่องชีวะ กับ สรีระ มีข้อความอย่างเดียวกับข้อความในชาลียสูตร ซึ่งจะกล่าวต่อไปสูตรนี้ . เมื่อจบพระธรรมเทศนาโอฏฐัธะ ลิจฉวี ก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

( หมายเหตุ : โอฏฐัธะ ลิจฉวี มีชื่อเดิมว่า มหาลิ เวลาพระผู้มีพระภาคโต้ตอบด้วย ก็ทรงใช้ชื่อมหาลิ ).

   

๗. ชาลิยสูตร
สุตรว่าด้วยข้อความที่ตรัสโต้ตอบชาลิปริพพาชก

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆษิตตาราม กรุงโกสัมพี นักบวช ๒ คน คือ มัณฑิยปริพพาชกกับชาลิยะ ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์ผู้ใช้บาตรไม้ ( ชาลิยะ ทารุปัตติกะ) ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามปัญหาว่า ชีวะ ( สภาพที่เป็นอยู่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพที่ครองสรีระ ในบางลัทธิเรียกจิตบ้าง อัตตาบ้าง) กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละอัน.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ บรรยายลักษณะของผู้ออกบวช ตั้งอยู่ในศีล บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน ตั้งแต่ที่ ๑ ถึง ๔ และได้วิชา ๘ ( ตามที่กล่าวไว้แล้วในสามัญญผลสูตร) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้รู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกัน หรือกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นคนละอัน พระองค์ทรงรู้ทรงเห็นอย่างนี้ จึงไม่ตรัสว่า ชีวะ กับสรีระ เป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน.

เมื่อจบพระธรรมเทศนา นักบวช ๒ คนชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

   

๘. มหาสีหนาทสูตร
สูตรว่าด้วยการลือสีหนาท

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อ ชื่อกัณณกถละ ใกล้เมืองอุชุญญา. นักบวชชีเปลือย ชื่อกัสสปได้เข้าไปเฝ้า กราบทูลถามว่า ได้ยินเขาพูดกันว่า พระสมโคดมทรงติการบำเพ็ญตบะทุกชนิดทรงกล่าวโทษผู้บำเพ็ญตบะ มีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ ใช่หรือไม่.

พระผู้มีพระะภาคตรัสตอบปฏิเสธ และทรงชี้แจงตามที่ทรงเห็นด้วยทิพย์จักษุว่า ผู้บำเพ็ญตบะมีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ บ้าง อยู่อย่างมีทุกข์น้อยบ้าง บางพวกตายไปแล้วเกิดในนรกก็มี บางพวกตายไปแล้วเข้าถึงสุตติโลกสวรรค์ก็มี เมื่อทรงรู้เห็นตามเป็นจริงอย่างนี้ จะตรัสการบำเพ็ญตบะทุกชนิด และกล่าวโทษผู้บำเพ็ญตบะที่มีชีวิตอยู่อย่างปอน ๆ ทำไมกัน.

แล้วตรัสว่า สมณพราหมณ์บางคนที่เป็นบัณฑิตละเอียดอ่อน แตกฉานด้วยปัญญา ย่อมกล่าวตรงกันข้ามกับพระองค์ในบางฐานะ ไม่ตรงกันในบางฐานะ
: ๑. บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าดี เรากล่าวว่าดี บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าไม่ดี เรากล่าวว่าไม่ดีก็มี,
  ๒. บางข้อที่สมณะพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าดี เรากล่าวว่าไม่ดี บางข้อที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่าไม่ดี เรากล่าวว่าดีก็มี,
  ๓. บางข้อที่เรากล่าวว่าดี พวกอื่นกล่าวว่าดี บางข้อที่เรากล่าวว่าไม่ดี พวกอื่นกว่าว่าไม่ดีก็มี ,
 ๔. บางข้อเรากล่าวว่าดี พวกอื่นกล่าวว่าไม่ดี บางข้อเรากล่าวว่าไม่ดี พวกอื่นกล่าวว่าดีก็มี.

เราเคยเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ในฐานะที่กล่าวไม่ตรงกัน จงยกไว้ แต่ในข้อใดที่กล่าวตรงกัน ขอให้วิญญูชนสอบสวนเปรียบเทียบระหว่างศาสดากับศาสดา สงฆ์กับสงฆ์ดูเถิดว่า ธรรมเหล่าใดที่เป็นอกุศล มีโทษ ไม่ควรส้องเสพไม่ควรแก่อริยบุคคล เป็นธรรมฝ่ายดำ ใครเล่าละธรรมเหล่านี้ไม่ให้มีเหลือมากกว่ากัน พระสมณโคดมหรือคณาจารย์เหล่าอื่น ? มีฐานะอยู่ที่วิญญูชนสอบสวนแล้ว ก็สรรเสริญเรา ( พระผู้มีพระภาค) ในข้อนั้นโดยมาก. แม้ในธรรมที่เป็นกุศล ที่ว่าใครจะประพฤติปฏิบัติมากกว่ากัน ก็เป็นเช่นนั้น แม้ระหว่างสาวกกับสาวก ในส่วนที่เกี่ยวกับละอกุศล ประพฤติกุศล ก็เป็นเช่นนั้น คือวิญญูชนย่อมสรรเสริญสาวกของเราโดยมาก    ๕ แล้วทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้เราเองเห็นเอง.”

ชีเปลือยชื่อกัสสปกราบทูลถึงข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ที่จัดเป็นความเป็นสมณะ ความเป็นผู้ประเสริฐ  ๖    เช่น การเปลือยกาย ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือที่เลอะ อาหาร ( แทนการล้าง) เป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผู้ประพฤติเช่นนั้น ถ้าไม่เจริญ ไม่ทำให้เจริญแจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยศีล ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ และความสมบรูณ์ด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าไกลจากความเป็นสมณะ ไกลจากความเป็นผู้ประเสริฐ. ต่อเมื่อเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีความพยายาม และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ) และปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา) อันปราศจากอาสวะได้ในปัจจุบัน นับเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้.

ชีเปลือยชื่อกัสสปกล่าวต่อไปว่า การประพฤติตบะ ( แบบเปลือยกาย เป็นต้น) นั้น เป็นความเป็นสมณะ ความเป็นผู้ประเสริฐที่ทำได้ยาก. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เป็นปกติหรือธรรมดาในโลกที่ทำได้ยาก แต่การเจริญเมตตาจิต อันไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ อันปราศจากอาสวะได้ในปัจจุบัน เป็นความสมณะ และความเป็นผู้ประเสริฐที่ทำได้ยากกว่า.

ชีเปลือยชื่อกัสสปกล่าวต่อไปว่า สมณะพราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เป็นปกติหรือธรรมดาในโลก ที่สมณะและพราหมณ์เป็นผู้รู้ได้ยาก แต่การเจริญเมตตาจิตแบบที่กล่าว และทำให้แจ้งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันปราศจากอาสวะ รู้ได้ยากยิ่งกว่าบำเพ็ญตบะแบบเปลือยกาย เป็นต้น .

เมื่อชีเปลือยชื่อกัสสปกราบทูลถามถึงความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นอย่างไร ก็ตรัสอธิบายถึงด้วยศีล ๓ ชั้น ฌาน ๔    และวิชชา ๘    ( อย่างที่ตรัสในสามัญญผลสูตร) ว่าเป็นความถึงพร้อมศีล สมาธิ ปัญญา โดยลำดับ.

ครั้นแล้วตรัสสรุปให้เห็นว่า พระองค์กล้าบรรลือสีหนาทในท่ามกลางบิรษัท กล้าตอบปัญญา และทำให้ผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามได้ ( เพราะทรงประพฤติปฏิบัติได้ผลมาเองในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ข้างบนนั้น).

ชีเปลือยชื่นชมธรรมภาษิตของพระผู้มีพระภาค และขอบวช เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า จะต้องอบรมก่อน ๔ เดือนในฐานะที่เคยเป็นเดียรถีย์มาก่อน ก็กลับตอบว่า แม้อบรมถึง    ๔ ปี ก็จะย่อม. ในที่สุดเมื่อบวชแล้วไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตตผล ๗  .

   

๙ . โปฏฐปาทสูตร
สูตรว่าด้วยการโต้ตอบกับโปฏฐปาทปริพพาชก

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ทรงเห็นว่า ยังเช้านัก จึงเสด็จและไปที่มัลลการาม อันเป็นที่อยู่ของโปฏฐปาทปริพพาชก พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกประมาณ ๓,๐๐๐ คน โปฏฐปาทปริพพาชกได้กล่าวต้อนรับและนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ตนเองนั่งเหนืออาสนะที่ต่ำกว่า.

ครั้นแล้วโปฏฐปาทปริพพาชกได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอภิสัญญานิโรธ ( การดับความจำได้หมายรู้อันยิ่งใหญ่) โปรดดูในข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๒๐๐    ประกอบด้วย) ซึ่งเคยเป็นปัญหาถกเถียงกันในหมู่สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มาแล้ว รวม ๔ ประเด็น คือ  :-

๑. สมณพราหมณ์บางพวกเห็นว่า สัญญา ( ความจำได้หมายรู้ - ในที่พึงสังเกตว่า ในสมัยนั้นบัญญัติเรียกสภาพที่ครองชีวิตร่างกายต่าง ๆ กัน เรียกว่าอัตตา ตัวตนบ้าง , ชีวะ สภาพที่เป็นอยู่บ้าง , สัตตะ สภาพที่มีที่เป็นบ้าง, สัญญา ความจำได้หมายรู้หรือสภาพที่จำได้หมายรู้บ้าง ) ของคน เกิดขึ้นบ้าง ดับไปบ้าง โดยไม่มีเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นคนก็มีสัญญา เมื่อดับไปคนก็ไม่มีสัญญา.

๒. พวกอื่นกล่าวคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น สัญญานั้นแหละเป็นอัตตาตัวตนของคน อัตตานั้นเข้ามาบ้าง ออกไปบ้าง เมื่อเข้ามาคนก็มีสัญญา เมื่อออกไปคนก็ไม่มีสัญญา.

๓. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้มีสมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.

๔. พวกอื่นคัดค้านว่าไม่เป็นเช่นนั้น ที่แท้เทพผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เทพเหล่านั้นนำเข้าได้ นำออกได้ซึ่งสัญญาของคน เมื่อนำเข้าคนก็มีสัญญา เมื่อนำออกคนก็ไม่มีสัญญา.

โปฏฐปาทปริพพาชกกล่าวต่อไปว่า ( ระหว่างที่ฟังเขาโต้เถียงกันนั้น ) ข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมเหล่านี้ เป็นผู้รู้ปกติของอภิสัญญานิโรธ อภิสัญญนิโรธเป็นอย่างไร ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่าสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยไม่มีเหตุปัจจัยนั้น นับว่ามีความผิดพลาดแต่เบื้องต้น เพราะสัญญาของคนเกิดขึ้นดับไปโดยมีเหตุปัจจัย คือสัญญาอันหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะสิกขา ( การศึกษา หรือสำเนียก ทางพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๓ คือ สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา การรักษาในศีล จิตตสิกขา การศึกษาในสมาธิ และสัญญาสิกขา การศึกษาในปัญญา ) สัญญาอันหนึ่งย่อมดับไปเพราะสิกขา.

๑ . ครั้นแล้วตรัสพรรณนาถึงการที่กุลบุตรออกบวช ตั้งอยู่ในศีล ( ๓ ชั้นตามที่กล่าวแล้วในสามัญญผลสูตร) บำเพ็ญสมาธิจนได้ฌานที่ ๑ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว กามสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ในกามคืออารมณ์ที่น่าใคร่ ) ที่เคยมีก็ย่อมดับไป สัญญาอันละเอียดอันเป็นจริงในปิติ ( ความอิ่มใจ ) และสุขอันเกิดแต่ความสงัด ย่อมมีในสมัยนั้น นี้คือสัญญาอันหนึ่ง ย่อมดับเพราะสิกขา.

๒. ในฌานที่ ๒     สัญญาอันสุขุม     อันเป็นสัจจ์     ( อันละเอียดเป็นจริง ) ในปิติ และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในปิติสุข อันเกิดแต่สมาธิ ย่อมมีในสมัยนั้น.

๓. ในฌานที่ ๓    สัญญาอันสุขุม     อันเป็นสัจจ์     ในปิติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา ( ความวางเฉย ) และสุขย่อมมีในสมัยนั้น.

๔. ในฌานที่ ๔    สัญญาอันสุขสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอุเบกขา     และสุข ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุมอันเป็นสัจจ์ในความไม่ทุกข์ไม่สุข ย่อมมีในสมัยนั้น.

๕. ในอรูปฌานที่ ๑     ( เอกาสานัญจายตนะ )     รูปสัญญา     ( ความจำได้หมายรู้ในรูป ) ย่อมดับไป สัญญาอันสุขขุม อันเป็นสัจจ์ในอากาสาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีอากาศไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.

๖. ในอรูปฌานที่ ๒     ( วิญญาณัญจาตนะ )     สัญญาอันสุขุม     อันเป็นสัจจ์ในอากาสานัญจายตนะย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอวิญญาณัญจายตนะ ( อรูปฌานที่มีวิญาณไม่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.

๗. ในรูปฌานที่ ๓    ( อากิญจัญญายตนะ )     สัญญาอันสุขุม     อันเป็นสัจจ์ในวิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับไป สัญญาอันสุขุม อันเป็นสัจจ์ในอากิญจัญญายตนะ ( อรูปฌานที่มีความคิดว่าไม่มีอะไรแม้เล็กน้อยเป็นอารมณ์ ) ย่อมมีในสมัยนั้น.

๘. ภิกษุที่มีสัญญาของตน     พ้นจากสัญญานั้น ๆ แล้วก็ถูกต้องสัญญาอันเลิศ     ( ขึ้นไป ) โดยลำดับ เมื่อตั้งอยู่ในสัญญาอันเลิศแล้ว ก็คิดว่า การคิดไม่ดี ไม่คิดดีกว่า เพราะเมื่อคิดปรุงแต่ง สัญญาอันเลิศก็ดับไป สัญญาอันหยาบก็จะเกิดขึ้น เธอจึงไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง เมื่อไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง สัญญานั้น ( หมายถึงสัญญาอันเลิศ ) ก็ดับไป สัญญาหยาบอันอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงชื่อว่าถูกต้อง ( ได้บรรลุ ) นิโรธ ( ความดับ).

( หมายเหตุ ) : ข้อความเป็นลำดับมาแต่ข้อ   ๑   ถึง  ๘    แสดงการที่สัญญาอันหนึ่งดับไป สัญญาอันหนึ่งเกิดขึ้นแทน ดีขึ้นกว่าสัญญาเดิมเรื่อย ๆ จนในที่สุด เมื่อเลิกคิด เลิกปรุงแต่ง สัญญาก็ดับไป เป็นอันตอบปัญหาของโปฏฐปาทปริพพาชกที่อยากรู้ความดับอภิสัญญา คือสัญญาใหญ่ หมายถึงสัญญาชั้นสูง อย่างชัดเจน ตามหลักวิชาปฏิบัติทางรูปฌาน และอรูปฌาน ).

เมื่อตรัสอธิบายอย่างนี้แล้ว จรึงตรัสถามโปฏฐปาทปริพพาชกว่า ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือไม่ถึงการเข้าสมาบัติ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้สึกตัว ในการดับอภิสัญญาตามดับชนิดนี้ ซึ่งปริพพาชกตอบว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เพิ่งมาได้ทราบตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างนี้.


" ๑. " คำแปลตัวเลขของฝรั่งผิดเป็นอย่างละ ๑๐๐ ทุกประเภท ทั้ง ๆ ที่พระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมันก็ว่า ๗๐๐

" ๒. " แสดงว่ากรุงไพศาลีนครหลวงของแคว้นในขณะนั้น เป็นศูนย์กลางการทูตที่ฝ่ายมคธและโกศลติดต่อด้วย

" ๓. " การตั้งชื่อคนตามลักษณะร่างกายดูจะนิยมกันมาก เช่น กูฏทันตะ ( ฟันเขยิน ) ลกุณฏกภัททิยะ ( ภัททิยะค่อม) กาฬุทายี ( อาทุยีดำ )

" ๔. " ในที่นี้เป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สูงกว่าหูทิพย์ ตาทิพย์ คือการทำกิเลสให้หมดเป็นขั้น ๆ ได้เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่อย่างต่ำถึงสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ อันแสดงฤทธิ์เดชมิใช่จุดประสงค์ทางพระพุทธศาสนา

" ๕. " เป็นพระดำรัสที่แน่ใจในความประพฤติปฏิบัติที่ว่า ถ้าสอบสวนกันจริง ๆ ว่าจะปฏบัติตามที่พูดหรือไม่ พระองค์ทรงท้าให้สอบสวนที่เดียว

" ๖. " อรรถกแก้ว่า จัดเป็นกรรม คือการกระทำของสมณะ ของพราหมณ์

" ๗." พระสูตรนี้เห็นได้ว่า สาระสำคัญอยู่ที่ประพฤติปฏิบัติได้จริงได้จริงอย่างพูด จึงทำให้พระผู้พระภาคทรงกล้าบรรลือสีหนาท โดยท้าให้สอบเปรียบเทียบด้วยซ้ำ


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ