บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๓
หมวดนี้มี

๑. ปาฏิกสูตร
๒. อุทุมพริกสูตร
๓. จักกวัตติสูตร
๔. อังคัญญสูตร
๕. สัมปสาทนียสูตร
๖. ปาสาทิกสูตร
๗. ลักขณสูตร
๘. สิงคาลกสูตร
๙. อาฏานาฏิยสูตร
๑. สังคีติสูตร
๑๑. ทสุตตรสูตร

หน้าที่ ๑

๑. ปาฏิกสูตร
๒. อุทุมพริกสูตร
๓. จักกวัตติสูตร
๔. อังคัญญสูตร
๕. สัมปสาทนียสูตร
๖. ปาสาทิกสูตร
๗. ลักขณสูตร
๘. สิงคาลกสูตร
๙. อาฏานาฏิยสูตร
๑๐. สังคีติสูตร
๑๑. ทสุตตรสูตร

๑. ปาฏิกสูตร

เรื่องชีเปลือยชื่อ
กฬารมัชฌกะ
เรื่องชีเปลือย
ชื่อปาฏิกบุตร
เรื่องของสิ่งที่
เลิศหรือต้นเดิม
๒. อุทุมพริกสูตร




หน้าที่ ๒ ๓. จักกวัติสูตร
ความผิดพลาดใน
พระราชาองค์ที่ ๘
เหลืออายุ ๑๐ ปี เกิดมิคสัญญี
กลับเจริญขึ้นอีก
พระเจ้าจักรพรรดิ์
อีกพระองค์หนึ่ง
พระเมตไตรพุทธจ้า
๔. อัคคัญญสูตร
อาหารชั้นแรก
เพศหญิงเพศชาย
การสะสมอาหาร
อกุศลธรรมเกิดขึ้น
กษัตริย์เกิดขึ้น
เกิดพราหมณ์, แพศย์, ศูทร
สมณมณฑล
การได้รับผลเสมอกัน

หน้าที่ ๓ ๕. สัมปสาทนียสูตร
พระสารีบุตร
แสดงความแน่ใจ
ข้อน่าเลื่อมใส
๑๕ ข้อ
คำของพระอุทายี
๖. ปาสาทิกสูตร
ศาสดา,หลักธรรม,สาวก
พรหมจรรย์
บริบูรณ์หรือไม่
ตรัสแนะนำให้จัด
ระเบียบหรือ
สังคยนาพระธรรม
ตรัสแนะนำลักษณะ
สอบสวนพระธรรม
อาสวะปัจจุบัน
กับอนาคต
ตรัสแนะข้อโต้
ตอบกับเจ้าลัทธิอื่น

หน้าที่ ๔
๗. ลักขณสูตร

๘. สิงคาลกสูตร

กรรมกิเลส ๔
ไม่ทำชั่วโดย
ฐานะ ๔
อบายมุข ๖
มิตรเทียม
๔ ประเภท
มิตรแท้
๔ ประเภท
ทิศ ๖ คือ
บุคคล ๖ ประเภท
๙. อาฏานาฏิยสูตร

๑๐. สังคีติสูตร

หมวด ๑ - ๑๐
๑๑. ทสุตตรสูตร

หมวด ๑ - ๑๐

 

เล่มที่ ๑๑ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิวัคค์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๓
หน้า ๑

    พระไตรปิฎกเล่มนี้ ยังอยู่ในประเภท ‘ ทีฆนิกาย ’ คือ ‘ หมวดพระสูตรขนาดยาว’ และปฏิกวัคค์ คือวรรคที่เริ่มต้นด้วยปาฏิสูตร ในวรรคนี้มี ๑๑ สูตร ตามลำดับดังนี้:-

๑. ปาฏิกสูตร   ว่าด้วย  ‘ชีเปลือยบุตรแห่งปาฏิกะ (ช่างทำถาด) ’   ผู้คุยโอ่ยกตนเสมอด้วยพระพุทธเจ้า.

๒. อุทุมพริกสูตร   ว่าด้วย   ‘เหตุการณ์ในปริพพาชการาม ซึ่งพระนางอุมุมพริกาสร้างถวาย ’ กล่าวถึงการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้า กับนิโครธปริพพาชก เรื่องนักบวช.

๓. จักกวัตติสูตร   ว่าด้วย  ‘ พระเจ้าจักรพรรดิ์ ’ และความเสื่อม ความเจริญแห่งศีลธรรม และเรื่องพระเมตไตรยพุทธเจ้า.

๔. อังคัญญสูตร  ว่าด้วย   ‘ บุคคลผู้เลิศกว่าคนอื่น ’ด้วยความรู้และความประพฤติ แสดงถึงเรื่องวรรณะ หรือชั้นแห่งบุคคล ๔ ประเภท รวมทั้งที่มาเดิมของโลก ซึ่งเป็นวรรณะ ๔ .

๕. สัมปสาทนียสูตร   ว่าด้วย  ‘คุณธรรมที่น่าเลื่อมใส ’กล่าวถึงคำพรรณนาพระคุณอันน่าเลื่อมใสของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค.

๖. ปาสาทิกสูตร   ว่าด้วย  ‘ พระธรรมเทศนาที่น่าเลื่อมใส ’กล่าวถึงธรรมวินัยที่กล่าวไว้ไม่ดี และที่กล่าวไว้ดี พร้อมทั้งข้อปฏิบัติของสาวก.

๗. ลักขณสูตร  ว่าด้วย  ‘มหาปุริสลักษณะ’ ๓๒ ประการ พร้อมด้วยเหตุผลที่ให้เกิดลักษณะนั้น ๆ.

๘. สิงคาลกสูตร   ว่าด้วย  ‘สิงคาลกมาณพ ’ส่วนใหญ่เป็นการสอนธรรมะของผู้ครองเรือน และเรื่องทิศ ๖ ที่อุปมาด้วยบุคคล ๖ ประเภท.

๙. อาฏานาฏิยสูตร  ว่าด้วย   ‘การรักษาในอานาฏานคร ’ซึ่งท้าวจาตุมหาราชกราบทูลพระผู้มีพระภาค.

๑. สังคีติสูตร  ว่าด้วย   ‘การร้อยกรองหรือสังคายนาคำสอน’พระสารีบุตรได้แสดงธรรมเป็นตัวอย่าง ในการจัดประเภทคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการสังคายนาในภายหลัง.

๑๑. ทสุตตรสูตร   ว่าด้วย  ‘หมวดธรรมอันยิ่งขึ้นไปจนถึงสิบ ’ เป็นการแสดงธรรมของพระสารีบุตรจำแนกธรรมหมวดหนึ่ง หมวดสอง จนถึงหมวดสิบ ซึ่งเป็นตัวอย่างแห่งการร้อยกรองพระธรรมวินัยได้ดี เช่น สังคีติสูตร.

ขยายความ

๑. ปาฏิกสูตร
สูตรว่าด้วยชีเปลือยบุตรเเห่งปาฏิกะ ( ช่างทำถาด)

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมชื่ออนุปปิยะ แคว้นมัลละ เช้าวันหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาตแต่ยังเช้าอยู่ จึงเสด็จแวะไปยังอารามของภัคควโคตรปริพพาชก ตรัสสนทนากับภัคควโคตรปริพพาชก ผู้ทูลถามเรื่องบุตรลิจฉวีชื่อสุนักขัตตะ ผู้เข้ามาบวชแล้วสึกไป โดยให้เหตุผลว่า:-
    ๑. ตนจะไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาคต่อไป.
    ๒. เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ดู.
    ๓. เพราะไม่ทรงบัญญัติสิ่งที่เป็นเลิศ ( ไม่ชี้สิ่งประเสริฐสุด หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายว่าได้แก่อะไร)

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ในข้อ ๑ พระองค์ได้ตรัสถามเขาว่า พระองค์ได้เคยขอร้องให้เขามาอยู่อุทิศพระองค์   หรือว่าเขาเคยมากราบทูลว่า จะอยู่อุทิศพระองค์บ้างหรือเปล่า เขาตอบว่า เปล่า. เมื่อเป็นเรื่องเปล่า จึงมิไช่เรื่องจะบอกเลิกใคร.

    ในข้อ ๒ ตรัสถามเขาว่า พระองค์เคยตรัสหรือไม่ว่าจงมาอยู่อุทิศพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะทรงแสดงฤทธิปาฏิหาริย์ให้ดู ก็ตอบว่า เปล่า. ตรัสถามต่อไปว่า ถ้าแสดงฤทธิ์ให้ดูหรือไม่แสดงก็ตาม จะทำให้สิ้นทุกข์ได้หรือไม่ ตอบว่า ไม่ทำให้สิ้นทุกข์ได้. จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น การแสดงฤทธิ์จะทำอะไรได้.

    ในข้อ ๓ ตรัสถามเขาว่า พระองค์เคยตรัสหรือไม่ว่าจงมาอยู่อุทิศพระองค์เถิด แล้วพระองค์จะทรงบัญญัติที่เลิศเเก่เขา. เขาตอบว่า เปล่า. จึงตรัสถามต่อไปว่า จะบัญญัติสิ่งที่เลิศหรือไม่ก็ตาม จะทำให้สิ้นทุกข์ได้หรือไม่. ตอบว่า ไม่ทำให้สิ้นทุกข์ได้. จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น การบัญญัติสิ่งที่เลิศจะทำอะไรได้. อนึ่งได้ตรัส ( เป็นเชิงทบทวนความทรงจำ) ว่า สุนักขัตตะเคยกล่าวพรรณนาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ เป็นอเนกประการในวัชชีคาม.

เรื่องชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

   ตรัสเล่าต่อไปว่า เคยตรัสแก่สุนักขัตตลิจฉวีบุตร ถึงชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ ผู้ประพฤติวัตรดั่งลูกสุนัข คือลงคลาน ๔ เท้า กินอาหารที่ตกอยู่บนพื้นดิน ด้วยใช้ปากงับ ( ไม่ใช้มือหยับเข้าปาก ) ว่าจะตายด้วยโรคท้องอืดในวันที่ ๗ แล้วถูกนำไปทิ้งในป่าช้า ซึ่งมีกอหญ้าคมบาง. สุนักขัตตลิจฉวีจึงไปหาชีเปลือยชื่อโกรักขัตติยะเล่าคำของเราให้ฟัง และแนะนำให้บริโภคอาหารพอประมาณ ดื่มน้ำพอประมาณ เพื่อจะให้ถ้อยคำของเราคลาดเคลื่อน . ครั้นในวันที่ ๗ ชีเปลือยนั้นก็ตายและถูกนำไปทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งมีกอหญ้าคมบาง. เราจึงย้อนถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.

เรื่องชีเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

   ตรัสเล่าถึงชีเปลือยชือกฬารมัชฌกะ ผู้เลิศด้วยลาภ ยศ อาศัยอยู่ในวัชชีคาม ใกล้กรุงเวสาลี เป็นผู้ถือข้อปฏิบัติ ๗ ประการ คือ   ๑. เปลือย  ๒. ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนธรรม   ๓. ดื่มสุราและกินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ไม่กินข้าวสุก ขนมสด   ๔. ไม่ล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทิศบูรพา ( ตะวันออก)   ๕. ไม่ล่วงเกินโคตมกเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทิศอุดร ( เหนือ ) ของกรุงเวสาลี.   เราเคยกล่าวแก่สุนักขัตตลิจฉวีว่า กฬารมัชฌกะ จะนุ่งผ้า มีภริยา กินข้าวสุก ขนมสด เพิ่มจากสุรา และเนื้อสัตว์ ) ล่วงเกินเจดีย์ทั้งปวงในกรุงเวสาลี เสื่อมยศและตาย เหตุการณ์ก็เป็นจริงดั่งที่เรากล่าว. เราจึงถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง. สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.

เรื่องชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร

   ตรัสเล่าถึงชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร ผู้เลิศด้วยลาภ ยศ อาศัยอยู่ในวัชชีคาม ใกล้กรงเวสาลี. ชีเปลือยผู้นี้เปล่งวาจาในท่ามกลางบริษัทว่า พระโคดมเป็นญาณวาทะ ( ผู้กล่าวรับรองญาณความรู้ ) ตนก็เป็นญาณวาทะ ควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยกันได้. พระสมณโคดมมาครึ้งทาง ตนจะไปครึ้งทาง. พระสมณโคดมแสดงอิทธิปาฏิหาริย์กี่อย่าง ตนก็จะแสดงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ. เมื่อสุนักขัตตลิจฉวีมาเล่าให้ฟัง เราจึงกล่าวชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตรไม่ละทิ้งถ้อยคำนั้นคิดนั้น ไม่สละความเห็นนั้น ก็ไม่ควรมาอยู่ต่อหน้าเรา ถ้าขืนมาศรีษะก็จะแตก. สุนักขัตตลิจฉวีขอให้เรารักษาถ้อยคำที่เราพูดไว้. เราจึงให้สุนักขัตตลิจฉวีไปบอกแก่ชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร. เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อกลับจากบิณฑบาตในกรุงเวสาลี เราจึงไปพักกลางวันในอารามของชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร. สุนักขัตตลิจฉวีก็รีบเที่ยวไปบอกพวกกษัตริย์ลิจฉวี รวมทั้งพราหมณมหาศาล  คฤหบดีมหาศาล และสมณพราหมณ์ เจ้าลัทธิต่าง ๆ ให้รีบไปดูการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ระหว่างเรากับชีเปลือยชื่อปาฏิกบุตร.

   เมื่อชีเปลือยชื่อปากฏิบุตรทราบว่ามีคนมาประชุมเพื่อจะคอยดู ก็ตกใจกลัว จึงเดินไปยังอารามของปริพพาชกชื่อติณฑุกขานุ ( ตอไม้มะพลับ ) พวกบริษัทก็ไปตาม พูดขอร้องให้ไปแสดงตัว ชีเปลือยผู้นั้นก็พูดว่า จะไป แต่กระเสือกกระสนอยู่ในที่นั้น ลุกขึ้นไม่ได้. มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีไปตาม เขาก็พูดว่าอย่างนั้น แต่ลุกขึ้นไม่ได้. ชาลิยะศิษย์ของปริพพาชกผู้ใช้บาตรไม้ จึงไปตาม และพูดว่าอย่างเจ็บ ๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ ชีเปลือยไม่ยอมไปแสดงตัว. เราจึงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ไปประชุมนั้นแล้วกลับที่พัก. และเราได้ถามสุนักขัตตลิจฉวีว่า ที่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่าเราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วหรือยัง. สุนักขัตตลิจฉวีก็รับว่าแสดงแล้ว.

เรื่องของสิ่งที่เลิศหรือต้นเดิม ( อัคคัญญะ)

   ตรัสต่อไปว่า “ เรารู้จักสิ่งที่เลิศ รู้จักสิ่งที่เลิศยิ่งขึ้นไปกว่านั้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือก็รู้แจ้งนิพพานเฉพาะตน เมื่อรู้จึงไม่ประสบควาวมเสื่อม.” ครั้นแล้วทรงแสดงสิ่งที่เลิศตามทัศสนะของศาสนาอื่นต่อไปว่า:-

   ๑. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์ คือเรื่องที่พระอิศวร สร้าง ( อิสสรกุตตะ) พระพรหมสร้าง ( พรหทกุตตะ) คือเมื่อโลกหมุนเวียนเปลี่ยนไป บางครั้งพรหมวิมานว่างไม่มีใคร ผู้ที่เกิดในที่นั้นคนแรกก็นึกว่าตนเป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไปเกิดทีหลังก็นึกว่าตนเป็นที่มหาพรหมสร้างขึ้น. ต่อมาพวกเหล่านั้นมาเกิดในโลกนี้ ออกบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ ก็เอาความเข้าใจสมัยที่เกิดในพรหมโลกมากล่าวว่า มีผู้สร้างและผู้ถูกสร้าง.

   ๒. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเทพพวกขิฑฑาปโทสิกะ ( ผู้เสียหายหรือมีโทษเพราะการเล่น ) คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเป็นเทพพวกขิฑฑปโทสิกะ ต้องจุติ คือพ้นฐานะเดิม เพราะการเล่นสนุกสนาน จึงเห็นว่าเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกขิฑฑาปโทสิกะไม่เที่ยง.

   ๓. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเทพพวกมโนปโทสิกะ ( ผู้เสียหายหรือมีโทษ เพราะคิดร้ายผู้อื่น ) คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเป็นพวกเทพพวกมโนปโทสิกะ ต้องจุติ คือพ้นจากฐานะเดิม เพราะคิดร้ายผู้อื่น จึงเห็นเทวดาพวกอื่นเที่ยง พวกมโนปโทสิกะไม่เที่ยง.

   ๔. สมณพราหมณ์บางพวกบัญญัติสิ่งที่เลิศอันเป็นคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับการมีเป็นขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ ( อธิจจสมุปปันนะ” คือเมื่อมาออกบวชบำเพ็ญเพียร ระลึกชาติได้ว่า ตนเคยมีสัญญาเกิดขึ้น ขณะเป็นอสัญญีสัตว์ ไม่มีสัญญา พอเกิดสัญญาขึ้นก็จุติ จึงระลึกได้ สิ้นสุดลงเพียงเมื่อจะจุติเท่านั้น ย้อนหลังไปกว่านั้นไม่เห็นมีอะไร จึงเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มีขึ้นเองโดยไม่มีเหตุ.

    ( ข้อปฏิบัติทั้งสี่นี้ เป็นทิฏฐิความเห็นที่มีมูลญานมาจากความรู้เพียงเปลาะใดเปลาะหนึ่ง ไม่รู้ตลอดสาย ทำให้เข้าใจผิด ดูพรหมชาลสูตรประกอบซึ่งย่อไว้แล้วใน พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๑ )

    ครั้นแล้วตรัสเรื่องสุภวิโมกข์ ( ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า การบำเพ็ญกสิณ คือการเพ่งรูปนิมิต แบบใช้สีเป็นอารมณ์). เมื่อจบพระพุทธดำรัส ภัคควโคตรปริพพาชกชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

    ( หมายเหตุ :  เป็นสิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลายว่าได้ทรงแสดงแล้วอย่างไร).

๒. อุทุมพริกสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในปริพพาชการาม ซึ่งนางอุทุมพริกาสร้างถวาย

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ สันธานคฤหบดี   ออกจากกรุงราชคฤห์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในเวลากลางวัน และแวะไปหานิโครธปริพพาชก ซึ่งกำลังอยู่กับบริษัทใหญ่ประมาณ ๓ พันคนกำลังกล่าวถ้อยคำ ที่เป็นเรื่องภายนอกของสมณะ ( ติรัจฉานกถา) ด้วยเสียงอันดัง. เมื่อเห็นสันธานคฤหบดีเข้ามา ก็สั่งกันและกันให้สงบเสียง เพราะคฤหบดีผู้นี้เป็นสาวกฝ่ายคฤหัสถ์ที่อยู่ในกรุงราชคฤห์คนหนึ่งของพระสมณโคดม และเป็นพวกที่ไม่ชอบเสียงดัง พรรณาคุณของความเป็นผู้มีเสียงน้อย เมื่อรู้ว่าบริษัทมีเสียงน้อย ก็พึงเข้ามาหา.

    เมื่อสันธานคฤหบดีเข้าไปหาโครธปริพพาชก กล่าวสัมโมทนียกถาปราศัยกันเสร็จแล้ว ก็กล่าวว่า นักบวชลัทธิอื่น ( อัญญเดียรถีย์ปริพพาชก ) ที่ประชุมกัน ส่งเสียงอื้ออึงเป็นคนละอย่างกับพระผู้มีพระภาค ผู้เสพเสวนาสนะอันสงัด.

    นิโครธปริพพาชกจึงตอบว่า พระสมณโคดมจะสนทนาโต้ตอบ แสดงความสามารถทางปัญญากับใครได้ ปัญญาของพระสมณโคดมถูกกำจัดเสียแล้วในเรือนว่าง จึงไม่กล้าก้าวลงสู่บริษัท ไม่ควรที่จะโต้ตอบได้แต่เสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนโคตาบอดที่หนีไปอยู่ป่าลึก เสพเสนาสนะอันสงัด ( โดยใจความว่า การที่เสพเสนาสนะอันสงัด ก็เพราะไม่มีปัญญาจะโต้ตอบกับใคร จึงต้องเลี่ยงหนีประชุมชน เหมือนโคตาบอดที่กลัวถูกทำร้าย ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในที่เปลี่ยว ) ขอให้สมณโคดมมาสู่บริษัทเถิด เราจะสนทนาด้วยสักปัญหาหนึ่ง จะหมุนเสียให้เหมือนหม้อเปล่าทีเดียว.

   พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับถ้อยคำสนทนาของทั้งสองฝ่ายด้วยพระโสตธาตุอันเป็นทิพย์ จึงเสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ เสด็จจงกรมในที่แจ้ง ริมฝั่งน้ำสุมาคธา. นิโครธปริพพาชกเห็นเช่นนั้นก็เตือนบริษัทให้สงบเสียงแล้วกล่าวว่า ถ้าพระสมณโคดมเสด็จมา ตนจะถามปัญหาเรื่องธรรมะที่ทรงแสดงแก่สาวกให้มีความปลอดโปร่งใจในการประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น.

    ๑. พระผู้มีพระภาคเสด็จมาหานิโครธปริพพาชก ได้รับการต้อนรับปราศัยเป็นอันดี ได้รับนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ส่วนนิโครธปริพพาชกนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า   เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไต่ถามว่า สนทนาอะไรค้างอยู่ ปริพพาชกจึงกราบทูลว่า พูดกันว่า ถ้าพระองค์เสด็จมา จะถามเรื่องธรรมที่แสดงแก่สาวก ให้มีความปลอดโปร่งใจในการประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น. ตรัสตอบว่า เป็นการยากที่ท่านผู้มีความเห็นอย่างอื่นมีความพอใจอย่างอื่น มีความประพฤติอย่างอื่น มีอาจารย์อย่างอื่น จะเข้าใจได้. ท่านจงถามปัญหาในลัทธิอาจารย์ของท่านเอง อันเกี่ยวด้วยการเกลียดชังความชั่วโดยการบำเพ็ญตบะดีกว่า. พวกปริพพาชกก็อื้ออึงขึ้น กล่าวกันว่า น่าอัศจรรย์ที่พระสมณโคดมเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอนุภาพมาก ไม่ตอบปัญหาในลัทธิของตนแต่กลับปวารณา ( ขอให้ถาม) ในลัทธิของผู้อื่น.

    ๒. นิโครธปริพพาชกสั่งให้ปริพพาชกเหล่านั้นสงบเสียงแล้วถามว่า พวกข้าพเจ้ามีวาทะเกลียดชังความชั่วโดยการบำเพ็ญตบะ ( ตโปชิคุจฉวาทะ ) ยึดความเกลียดชังความชั่วโดยใช้ตบะหรือความเพียรอยู่. ประพฤติอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ อย่างไรจึงไม่สมบูรณ์. พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบตามลัทธิของเขา เช่น เปลือยกายยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกินอาหารเลียมือที่เลอะอาหารแทนการล้าง เป็นต้น แล้วตรัสถามว่า ประพฤติอย่างนี้ ชื่อว่าบริบูรณ์หรือยัง ปริพพาชกกราบทูลว่า บริบรูณ์แล้ว . แต่กลับตรัสว่า จะทรงชี้ข้อเศร้าหมองในการปฏิบัติอย่างนี้ที่ ( ถือกันว่า ) บริบูรณ์แล้วให้ฟัง.

    ๓. ปริพพาชกถามว่า จะทรงชี้ข้อเศร้าหมองในการปฏิบัตินี้อย่างไร ตรัสตอบว่า   ๑. การที่บำเพ็ญตบะแล้วอิ่มเอิบใจ เต็มความปรารถนาด้วยตบะนั้น   ๒. ยกตน ข่มผู้อื่น เพราะตบะนั้น   ๓. มัวเมา เพราะตบะนั้น   ๔. ทำลาภสักการะและชื่อเสียงให้เกิด เพราะตบะนั้น แล้วอิ่มเอิบใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียนั้น   ๕. ยกตน ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น  ๖. มัวเมา เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น  ๗. แบ่งแยกในเรื่องอาหารว่า นี้ชอบใจ นี้ไม่ชอบใจ อันไหนไม่ชอบใจก็เพ่งเล็งละทิ้ง อันไหนชอบใจก็ติดใจ ไม่เห็นโทษ   ๘. บำเพ็ญตบะเพราะใคร่จะได้ลาภชื่อเสียง เพื่อให้พระราชา, มหาอำมาตย์, กษัตริย์, พราหมณ์ , คฤหบดี, เดียรถีย์สักการะตน   ๙. รุกรานสมณพราหมณ์บางพวกด้วยเรื่องการบริโภคพืชผลไม้   ๑๐. ริษยาและตระหนี่ในสกุลเมื่อเห็นสมณพราหมณ์บางพวกมีผู้สักการะเคารพนับถือ  ๑๑. นั่งแสดงตนในทาง ( ที่คนผ่านไปมา )   ๑๒. พูดไม่ตรงความจริง ชอบว่าไม่ชอบ ไม่ชอบว่าชอบ   ๑๓. เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม ไม่ยอมรับปริยายที่ควรยอมรับ ๑๐   ๑๔ เป็นผู้มักโกรธ และผูกโกรธ  ๑๕. เป็นคนมักลบหลู่บุญคุณท่านและตีเสมอ   ๑๖. เป็นคนมักริษยาและตระหนี   ๑๗ . เป็นคนโอ้อวดและมีมายา   ๑๘. เป็นคนกระด้างและดูหมิ่นท่าน   ๑๙. มีความปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจของความปรารถนาลามก   ๒๐. มีความเห็นผิด ประกอบด้วยความเห็นยึดส่วนสุด   ๒๑. ยึดแต่ความเห็นของตน ถือมั่น สลัดยาก. แต่ละอย่างนี้เป็นความเศร้าหมองของผู้บำเพ็ญตบะ.

    ครั้นแล้วตรัสถามว่า การเกลียดชังความชั่วโดยบำเพ็ญตบะดังกล่าวมานี้ จะนับว่าเศร้าหมองหรือไม่. นิโครธปริพพาชกยอมรับว่าเป็นความเศร้าหมอง มีฐานะที่ผู้บำเพ็ญตบะบางคนอาจประกอบด้วยความเศร้าหมองครบทุกข้อ จึงไม่ต้องกล่าวถึง เพียงข้อใดข้อหนึ่ง ( ว่าจะมีใครไม่มีความเศร้าหมองนี้บ้างเลย).

    ๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงการบำเพ็ญตบะที่บริสุทธิ์ คือตรงกันข้ามกับ ๒๑ ข้อข้างต้น. นิโครธปริพพาชกยอมรับว่าเป็นการเกลียดชังความชั่ว โดยบำเพ็ญตบะที่บริสทธิ์ ถึงความเป็นยอดและสาระแต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ยังไม่ใช่ถึงความเป็นยอดหรือสาระ แต่ถึงความเป็นสะเก็ดเท่านั้น.

    ๕. นิโครธปริพพาชกขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีบำเพ็ญตยะ ที่ถึงความเป็นยอดหรือเป็นแก่น. จึงทรงแสดงความสังวร ๔ ประการ คือ  ๑. ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ใช้ให้ฆ่า, ไม่ยินดีต่อผู้ฆ่า  ๒. ไม่ลักทรัพย์, ไม่ใช้ให้ลัก, ไม่ยินดีต่อผู้ลัก  ๓. ไม่พูดปด, ไม่ยินดีต่อผู้พูดปด   ๔ . ไม่เสพกามคุณ, ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพ, ไม่ยินดีต่อผู้เสพ และทรงแสดงการเสพเสนาสนะ ( ที่นอนที่นั่งหรือที่อยู่อาศัย ) อันสงัด นั่งทำสติกำจัดนิวรณ์ ๕ คือ  ๑. อภิชฌา ๑๑   ( ความอยากได้ )   ๒. พยาบาท ( ความปองร้าย)  ๓. ถีนมิทธะ ( ความหดหู่ง่วงงุน)   ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ( ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ)   ๕. วิกิจฉา ( ความลังเลสงสัย). เมื่อละนิวรณ์ ๕ ได้ เมื่อความเศร้าหมองแห่งจิตลดนอยลงเพราะปัญญาแล้ว ก็เจริญพรหมวิหาร ๔ แผ่ไปทั้วทุกทิศ สู่โลก ทั้งสิ้น. ครั้นตรัสแล้วตรัสถามว่า เท่านี้ การบำเพ็ญตบะจะชื่อว่าบริสุทธิ์หรือไม่. กราบทูลว่า บริสุทธิ์ ถึงความเป็นยอดเป็นสาระ แต่ตรัสตอบว่า ยังไม่ถึงความเป็นยอดความเป็นสาระ ถึงเพียงแค่เปลือกเท่านั้น.

    ๖. นิโครธปริพพาชกขอให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวิธีบำเพ็ญตบะที่ถึงความเป็นยอดหรือเป็นแก่น . จึงตรัสแสดงข้อปฏิบัติต่อไป โดยเท้าความการปฏิบัติข้างต้น แล้วแสดงการได้ผล คือการระลึกชาติได้ ตั้งแต่ ๑ ชาติถึงแสนชาติและหลายกัปป์ แล้วตรัสว่า เป็นเพียงกะพี้.

    ๗. เมื่อทราบถูกขอร้องให้แสดงต่อไปอีก จึงตรัสถึงการได้ผล คือทิพยจักษุ แล้วทรงสรุปว่าการบำเพ็ญตบะอย่างนี้ ถึงความเป็นยอดเป็นแก่น .   แล้วสรุปต่อไปว่า เป็นอันตอบปัญหาครั้งแรกที่นิโครธปริพพาชกทูลถามที่ว่า ทรงแนะนำสาวกด้วยธรรมอะไร ให้มีความปลอดโปร่งใจในการปฏิบัติพรหมจรรย์เบื้องต้น คือทรงและนำถึงฐานะอันยิ่งว่า ประณีตกว่าที่แสดงไว้อีก.

   ปริพพาชกทั้งหลายก็แสดงความประหลาดใจที่ตนไม่เห็นไม่รู้ฐานะที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ( ยิ่งกว่าการได้พิพย์จักษุที่ว่ายอด แล้วยังมีอะไรยอดขึ้นไปอีก ๑๒ )

    สันธานคฤหบดีจึงกราบทูลทบทวนถึงข้อที่นิโครธปริพพาชกกล่าวกระทบกระทั้งพระผู้มีพระภาคในตอนแรก ซึ่งทำให้นิโครธปริพพาชกนั่งนิ่งเก้อเขิน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า กล่าวไว้อย่างนั้นจริงหรือไม่ นิโครธปริพพาชกรับว่าจริง และกราบทูลขออภัย. จึงตรัสถามให้ตอบด้วยความจริงใจ ถึงถ้อยคำบอกพวกปริพพาชกเก่า ๆ ว่า เขากล่าวถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตว่าชอบส่งเสียงดัง พูดเรื่องไร้สาระหรือว่าชอบสงบอยู่เสนาสนะอันสงัด . นิโครธปริพพาชกก็ยอมรับว่าเคยได้ยินได้ฟังมาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ทรงปฏิบัติเหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคในปัจจุบันนี้.

    จึงตรัสสรุปว่า วิญญูชนผู้สูงอายุนั้น ( หมายถึงปริพพาชกโบราณ ) มิได้คิดว่า   “ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้, ทรงฝึกพระองค์แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อการฝึก ( ให้ผู้อื่นฝึกตนเอง ) , ทรงสงบระงับแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบระงับ , ทรงข้ามพ้นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อการข้ามพ้น, ทรงดับเย็นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น ” .

    นิโครธปริพพาชกจึงกราบทูลขออภัยซ้ำอีก. พระผู้มีพระภาคตรัสประทานอภัยแล้ว จึงทรงแสดงการปฏิบัติอย่างได้ผลในพระธรรมวินัยนี้ภายใน ๗ ปี ถึง ๗ วัน แล้วตรัสว่า มิได้ทรงประสงค์จะได้เขามาเป็นศิษย์, มิได้ประสงค์จะให้เขาเลิกเรียน ( แบบปริพพาชก ) จะให้เลิกจากชีวะ ( การดำเนินชีวิตแบบปริพพาชก ), มิได้ทรงประสงค์จะให้ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม , ถ่ายถอนจากกุศลธรรม. หากทรงแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรม เมื่อปฏบัติอย่างไรจะละอกุศลธรรมได้ ธรรมอันผ่องแผ่วจะเจริญขึ้น ก็จงทำให้ปัญญาบริบูรณ์ ทำให้แจ้งความไพบูรณ์อยู่ในปัจจุบันเถิด.


๑. ฉบับบุโรป ชื่ออุทุมพริก สีหนาทสูตร

๒. ฉบับบุโรป ชื่อจักกวัตติ สีหนาทสูตร

๓. ฉบับบุโรป ชื่อสิงคาโลวาทสูตร สูตรว่าด้วยการประทานโอวาทแก่มาณพชื่อสิงคาลกะ

๔. เป็นสำนวน หมายความว่า มาบวช

๕. เรื่องนี้มีประโยชน์ทรงภูมิศาสตร์ จึงนำรายละเอียดมาลงไว้ด้วย

๖. คำว่า มหาศาล หมายความว่า มีทรัพย์มาก

๗. อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่พระพรหม เพราะคำว่า อิสสระ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ในที่นี้ได้แปลตามศัพท์ที่น่าจะเป็นไปได้

๘. สันธานคฤหบดีผู้นี้เป็นคนสำคัญ มีบริวารมาก เป็นอนาคามีบุคคลคือพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ รองลงมาจากพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ ปรากฏในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๒ หน้า ๑๖๘ ว่าประกอบด้วยคุณธรรม ๖ อย่าง คือ มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว มีศีลอันประเสริฐมีญาณความรู้อันประเสริฐ, มีวิมุติความหลุดพ้นอันประเสริฐ

๙. มีหลายสูตรที่เจ้าสำนักปริพพาชกเชิญให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งบนอาสนะ แล้วตนเองนั่งบนอาสนะต่ำกว่า จะเป็นด้วยถือทรงเป็นกษัตริย์หรืออย่างไร เป็นเรื่องน่าสังเกต เท่าที่ย่อมาแล้ว มีโปฏฐปาทสูตร ( พระสุตตันตะเล่ม ๑ หน้า ๓) และปฏิกสูตร ก่อนสูตรหน้านี้

๑๐. ในพระพุทธศาสนา ถ้าใครกล่าวถูกตรงตามความจริง ก็ถือว่ากล่าวถูกต้อง ไม่มีการปฏิเสธความจริงเพียงเพราะพูดเป็นคนในศาสนาอื่น

๑๑. พึงสังเกตว่า ในที่นี้ ไม่ใช่คำว่า กามฉันท์ ความพอใจในกาม แต่ใช้ อภิชฌา แทน

๑๒. เรื่องนี้เป็นการตอบปัญหาทีเดียวได้ผล ๒ ทาง คือตอบปัญหาแบบชี้ให้เห็นความบกพร่องในลัทธิของปริพพาชกนั้นด้วยความรับรองของพวกเขาเองอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นการตอบปัญหาเดิมที่เขาถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย


 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ