บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๓
หมวดนี้มี

๑. ปาฏิกสูตร
๒. อุทุมพริกสูตร
๓. จักกวัตติสูตร
๔. อังคัญญสูตร
๕. สัมปสาทนียสูตร
๖. ปาสาทิกสูตร
๗. ลักขณสูตร
๘. สิงคาลกสูตร
๙. อาฏานาฏิยสูตร
๑. สังคีติสูตร
๑๑. ทสุตตรสูตร

หน้าที่ ๑

๑. ปาฏิกสูตร
๒. อุทุมพริกสูตร
๓. จักกวัตติสูตร
๔. อังคัญญสูตร
๕. สัมปสาทนียสูตร
๖. ปาสาทิกสูตร
๗. ลักขณสูตร
๘. สิงคาลกสูตร
๙. อาฏานาฏิยสูตร
๑๐. สังคีติสูตร
๑๑. ทสุตตรสูตร

๑. ปาฏิกสูตร

เรื่องชีเปลือยชื่อ
กฬารมัชฌกะ
เรื่องชีเปลือย
ชื่อปาฏิกบุตร
เรื่องของสิ่งที่
เลิศหรือต้นเดิม
๒. อุทุมพริกสูตร




หน้าที่ ๒ ๓. จักกวัติสูตร
ความผิดพลาดใน
พระราชาองค์ที่ ๘
เหลืออายุ ๑๐ ปี เกิดมิคสัญญี
กลับเจริญขึ้นอีก
พระเจ้าจักรพรรดิ์
อีกพระองค์หนึ่ง
พระเมตไตรพุทธจ้า
๔. อัคคัญญสูตร
อาหารชั้นแรก
เพศหญิงเพศชาย
การสะสมอาหาร
อกุศลธรรมเกิดขึ้น
กษัตริย์เกิดขึ้น
เกิดพราหมณ์, แพศย์, ศูทร
สมณมณฑล
การได้รับผลเสมอกัน

หน้าที่ ๓ ๕. สัมปสาทนียสูตร
พระสารีบุตร
แสดงความแน่ใจ
ข้อน่าเลื่อมใส
๑๕ ข้อ
คำของพระอุทายี
๖. ปาสาทิกสูตร
ศาสดา,หลักธรรม,สาวก
พรหมจรรย์
บริบูรณ์หรือไม่
ตรัสแนะนำให้จัด
ระเบียบหรือ
สังคยนาพระธรรม
ตรัสแนะนำลักษณะ
สอบสวนพระธรรม
อาสวะปัจจุบัน
กับอนาคต
ตรัสแนะข้อโต้
ตอบกับเจ้าลัทธิอื่น

หน้าที่ ๔
๗. ลักขณสูตร

๘. สิงคาลกสูตร

กรรมกิเลส ๔
ไม่ทำชั่วโดย
ฐานะ ๔
อบายมุข ๖
มิตรเทียม
๔ ประเภท
มิตรแท้
๔ ประเภท
ทิศ ๖ คือ
บุคคล ๖ ประเภท
๙. อาฏานาฏิยสูตร

๑๐. สังคีติสูตร

หมวด ๑ - ๑๐
๑๑. ทสุตตรสูตร

หมวด ๑ - ๑๐

 

เล่มที่ ๑๑ ชื่อทีฆนิกาย ปาฏิวัคค์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๓
หน้า ๒

๓. จักกวัติสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ์

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นครมาตุลา แคว้นมคธ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตนพึ่งธรรมและเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้วตรัสเล่าเรื่องรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า ทัฬหเนมิ คือ:-
   ๑. จักร   ( ลูกล้อรถ ) แก้ว   ( จักกรัตนะ )      ๒. ช้างแก้ว     ( หัตถิรัตนะ )
   ๓. ม้าแก้ว     ( อัสสรัตนะ )      ๔. แก้วมณี    ( มณีณีรัตนะ )
   ๕. นางแก้ว     ( อิตถีรัตนะ )      ๖. ขุนคลังแก้ว     ( คฤหปติรัตนะ)
   ๗. ขุนพลแก้ว    ( ปริณายกรัตนะ )

   พระเจ้าทัฬหเนมิตรัสสั่งบุรุษคนให้คอยดูว่า จักรแก้วเคลื่อนจากฐานเมื่อไรให้บอก จำเนียรกาลผ่านมา เมื่อจักรแก้วเคลื่อนจากที่ บุรุษนั้นก็ไปกราบทูล พระองค์จึงตรัสเรียกพระราชบุตรองค์ใหญ่มอบราชสมบัติให้แล้วปลงพระเกสาพระมัสสุ ทรงผ้ากาสยะ ( ผ้าย้อมฝาด ) ออกผนวชเป็นบรรพชิต. เมื่อออกผนวชเป็นฤษีได้ ๗ วัน จักรแก้วก็อันตรธานหายไป.

    พระราชา ( พระองค์ใหม่ ) ก็ทรงเสียพระราชหฤทัย เล่าความถวาย. พระราชฤษีก็ตรัสปลอบว่า จักรแก้วเป็นของให้กันไม่ได้ และทรงแนะนำให้บำเพ็ญจักกวัตติวัตร คือข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีฐานะอยู่ที่เมื่อปฏิบัติแล้ว จักรแก้วอันเป็นทิพย์ ก็กำตั้งพัน , มีกง , ดุมสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จักปรากฏขึ้นแก่พระราชาผู้รักษาอุโบสถในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ผู้ขึ้นสู่ชั้นบนปราสาท. กราบทูลถามว่า วัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นอย่างไร. ตรัสตอบว่า “ ๑. จงอาศัยธรรมสักการะเคารพนับถือธรรมให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่มนุษย์แลสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ทำอันเป็นอธรรมเป็นไปได้ในแว่นแคว้น .       ๒. ผู้ใดไม่มีทรัพย์ก็มอบทรัพย์ให้   ๓. เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ ( ความอดทน ) โสรัจจะ ( ความสงบเสงี่ยม ) และถามถึงสิ่งเป็นกุศล, อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ, ควรเสพ, ไม่ควรเสพ, อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อเสียประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน , อะไรทำเข้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน. เมื่อฟังแล้ว ก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาประพฤติ. นี้แลคือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดิ์นั้น.”

    ( หมายเหตุ :   ข้าพเจ้าย่อวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้ ๓ อย่าง แต่ในอรรถกถาแจกไปตามพยัญชนะได้ถึง ๑๐ อย่าง คือ ให้อารักขาอันเป็นธรรมแก่   ๑ . พลกาย หรือกองทางทหารที่อยู่ใกล้ชิด เป็นอันโตชน )   ๒. กษัตริย์ (น่าจะหมายถึงพระราชวงศ์และกษัตริย์เมืองขึ้น )   ๓. ผู้ติดตาม   ๔. พราหมณ์คฤหบดี   ๕. ชาวนิคมชนบท   ๖. สมณพราหมณ์   ๗. เนื้อและนก   ๘. ขัดขวางผู้กระทำการที่ไม่เป็นธรรม  ๙. เพิ่มให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทัรพย์   ๑๐. เข้าไปหาสมณะพราหมณ์แล้วถามปัญหา. และแล้วอธิบายต่อไปว่า แยกเป็น ๑๒ ข้อก็ได้ คือแยก คฤหบดีออกจากพราหมณ์และแยกนกออกจากเนื้อ. แต่ที่ข้าพเจ้าย่อเหลือเพียง ๓ ก็เพราะประเด็นแรกมุ่งในทางเคารพธรรม ให้ความคุ้มครองอันเป็นธรรม และปราบอธรรม จักเป็นข้อที่ ๑ - ผู้จัดทำ ).

    เมื่อพระราชา ( ผู้เป็นราชบุตร ) กระทำตาม จักรแก้วก็ปรากฏขึ้นตามที่พระราชฤษีทรงกล่าวไว้ พระราชาจึงทรงถือเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหมุนจักแก้วไปด้วยพระหัตถ์เบื้องขวา รับสั่งว่า จักรแก้วอันเจริญจงหมุนเถิด จงมีชัยเถิด แล้วยกกองทัพมีองค์ ๔ ติดตามไปทั้งสิ้นจนจดสมุทร สั่งสอนพระราชาในทิศนั้น ๆ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วมอบให้ครอบครองสมบัติต่อไปตามเดิม ( เพียงให้ยอมแพ้เท่านั้น). เมื่อได้ชัยชนะทั้งสี่ทิศแล้ว ก็เสด็จกลับสู่ราชธานีตามเดิม.

    พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระองค์ที่ ๒ - ๓ - ๔ - ๕ - ๖ และที่ ๗ ก็เป็นอย่างนี้ พระเจ้าจักรพรรดิ์ที่ ๗ เมื่อออกผนวชและมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสแล้ว จักแก้วก็อันตรธานหายไป พวกอำมาตย์ราชบริพารก็ถวายคำแนะนำเรื่องวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ์.

ความผิดพลาดในพระราชาองค์ที่ ๘

    พระราชาสดับแล้ว ก็ทรงจัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม แต่ไม่พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์ ( ในข้อนี้เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันก็คือ ไม่จัดการด้านสังคมสงเคราะห์ ไม่มีการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ) ความยากจนไพบูล เมื่อความยกจนไพบูล คนก็ลักทรัพย์ของผู้อื่น. ราชบุรุษจับได้ก็นำไปปถวายให้ทรงจัดการ เมื่อทรงไต่ส่วนได้ความเป็นสัตย์ และทรบว่าเพราะไม่มีอาชีพ ก็พระราชทานทรัพย์ให้ไปเลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา บุตรภรรยาประกอบการงานและบำรุงสมณพราหมณ์ . ต่อมามีคนลักทรัพย์ของผู้อื่นและถูกจับได้อีก ทรงไต่สวนได้ความเป็นสัตย์อย่างเดิม ก็พระราชทานทรัพย์อีก . ข่าวก็ลือกันไปว่า ถ้าใครลักทรัพย์ก็จะได้พระราชทานทรัพย์ คนก็ลักทรัพย์กันมากขึ้น

    ต่อมา ราชบุรุษจับคนลักทรัพย์ได้อีก แต่คราวขึ้นพระราชาทรงเกรงว่า ถ้าพระราชทานทรัพย์ การลักทรัพย์อีกก็จักเพิ่มยิ่งขึ้น จึงตรัสสั่งให้มัด โกนศีรษะ พาตระเวนไปตามถนนหนทาง ด้วยบัณเฑาะว์เสียงกร้าว.  นำออกทางประตูพระนครใต้ ปราบกันอย่างถอนราก ตัดศีรษะเสีย.

    เมื่อมนุษย์ได้ข่าว ก็พากันสร้างศัสตราอันคมขึ้น และคิดว่า ถ้าลักทรัยพ์ใครก็ต้องตัดษีรษะเจ้าทรัพย์บ้าง จึงเกิดการปล้นหมู่บ้านนิคมนครและการปล้นในหนทาง.

อายุลด อธรรมเพิ่ม

   จากการที่ไม่ให้ทรัพย์แก่ผู้ไร้ทรัพย์ ก็มากด้วยด้วยความยกจน มากด้วยการลักทรัพย์ มากด้วยการใช้ศัสตรา มากด้วยการฆ่า มากด้วยการพูดปด อายุผิวพรรณของสัตว์ทั้งหลายก็เสื่อมลง คือมนุษย์มีอายุ   ๘ หมื่นปี บุตรมีอายุเพียง  ๔ หมื่นปี และลดลงเรื่อย ๆ ในเมื่อความชั่วเกิดมากขึ้น เช่น การพูดเท็จอย่างจงใจ, การพูดส่อเสียด, การประพฤติผิดในกาม . เมื่ออายุลดลงเหลือ   ๕ พันปี มากไปด้วยธรรม  ๒ อย่าง คือการพูดหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ. เมื่ออายุลดลงมาถึง   ๒,๕๐๐ ปี มากไปด้วยธรรม   ๒ อย่าง โลภอยากได้ของเขา และพยาบาทปองร้ายเขา. เมื่ออายุลดลงมาถึง  ๑ พันปี มากไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดคลองธรรม เมื่ออายุลดลงมาถึง   ๕๐๐ ปี มากไปด้วยธรรม  ๓ อย่าง คือ  ๑. ความกำหนัดที่ผิดธรรม.  ( อธมฺมราค)   ๒. ความโลภรุนแรง (วิสมโลภ )   ๓. ธรรมะที่ผิด ( อรรถกถาอธิบายว่า ความกำหนัดพอใจผิดปกฏิ เช่น ชายในชาย หญิงในหญิง ). เมื่ออายุลดลงมาถึง ๒๕๐ ปี มากไปด้วยธรรม คือการไม่ปฏิบัติชอบในมารดา , บิดา , ในสมณะ, ในพราหมณ์ , การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล . เมื่อเสื่อมลงอย่างนี้ ทั้งอายุและผิวพรรณ มนุษย์มีอายุ ๒๕๐ ปี บุตรก็มีอายุเพียง ๑๐๐ ปี.

เหลืออายุ ๑๐ ปี เกิดมิคสัญญี

    จักมีสมัยที่บุตรของมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญิงสาวอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ; รสเหล่านี้จะอันตรธานไป คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย รสเค็ม ; เมล็ดพืช ชื่อกุทรุสกะ ไทยแปลกันว่าข้าวหญ้ากับแก้) จะเป็นโภชนะอันเลิศ เสมือนหนึ่งข้าวสุกแห้งข้าวสาลีและเนื้อสัตว์เป็นโภชนะอันเลิศในสมัยนี้

   ( คือของเลวสมัยนี้กลายเป็นของดีในสมัยเสื่อม ) ; กุสลกัมบถ ( ทางแห่งกุศล ) ประการ จะอันตรธาน อกุศลกัมบถ ( ทางแห่งอกุศล ) ๑๐ประการ จะรุ่งเรืองยิ่ง; แม้คำว่า กุศล ก็ไม่มี ผู้ทำกุศลจะมีที่ไหน ; การไม่ปฏิบัติชอบในมารดาบิดา ในสมณะ ในพราหมณ์ การไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล จะได้รับการบูชาสรรเสริญ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมัยปัจจุบันนี้; จะไม่มีคำว่า มารดา, น้า , บิดา , ป้า , อา , ภริยาของอาจารย์ , ภริยาของครู . โลกจะเจือปนกันเหมือนสัตว์ เช่น แพะ ไก่ สุกร; จักมีอาฆาต, พยาบาท, มุ่งร้ายกัน, คิดฆ่ากันอย่างรุนแรง , แม่คิดต่อลูก ลูกคิดต่อแม่ , ต่อคิดต่อลูก ลูกคิดต่อพ่อ , พี่ชายคิดต่อน้องหญิง น้องหญิงคิดต่อพี่ชาย.

  จะเกิดมีสัตถันตรกัปป์.  คือกัปป์ที่อยู่ในระหว่างศัสตรา ๗ วัน คนทั้งหลายจะมีความสำคัญในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ( มิคสัญญา.  ) จะมีศัสตรา อันคมเกิดขึ้นในมือ ฆ่ากันและกันด้วยสำคัญว่าเนื้อ.

กลับเจริญขึ้นอีก

    มีบุคคลบางคนหลบไปอยู่ในป่าดง พงชัฏ กินเหง้าไม้ ผลไม้ในป่า เมื่อพ้น   ๗ วันแล้ว ออกมา. ก็ดีใจร่าเริงที่รอดชีวิต จึงตั้งใจทำกุศลกรรม ละเว้นการฆ่าสัตว์ และบำเพ็ญกุศลกรรม ละเว้นอกุศลกรรม เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อายุก็ยืนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง   ๘ หมื่นปี.

พระเจ้าจักรพรรดิ์อีกพระองค์หนึ่ง

    เมื่อมนุษย์มีอายุยืน   ๘ หมื่นปีนั้น หญิงสาวอายุ  ๕ พันปีจึงมีสามีได้. มนุษย์จะมีโรคเพียง   ๓ อย่าง คือ   ๑ . ความปรารถนา ( อยากอาหาร)   ๒. ความไม่อยากกินอาหาร ( เกียจคร้านอยากจะนอน )   ๓ . ความแก่. ชุมพูทวีปนี้จะมั่งคั่งรุ่งเรือง มีคามนิคมราชธานีแบบไก่บินถึง ( ใกล้เคียงกัน ) ยัดเยียดไปด้วยมนุษย์. กรุงพาราณสีจะเป็นราชธาณีนามว่า เกตุมตี อันมั่งคั่ง มีคนมาก อาหารหาง่าย. จักมีพระเจ้าจักรพรรดิ์พระนามว่า สังขะ เป็นพระราชาผู้ปกครองโดยธรรม มีชัยชนะจบ  ๔ ทิศ ปกครองชนบทถาวรสมบูรณ์ด้วยรัตนะทั้งเจ็ด.

พระเมตไตรพุทธจ้า

   เมื่อมนุษย์อายุ ๘ หมื่นปีนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย จักบังเกิดในโลกเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา ( ความรู้ ) จรณะ ( ความประพฤติ ) เป็นต้น แสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย พร้อมทั้งอรรถะพยัญชนะ บริหารภิกษุสงฆ์มีพันเป็นอเนกเช่นเดียวกับที่เราบริหารภิกษุสงฆ์มีร้อยเป็นอเนก . พระเจ้าสังขจักรพรรดิ์จักให้ยกปราสาทที่พระเจ้ามหาปนาทะให้สร้างขึ้น ครอบครอง แจกจ่ายทาน และออกผนวชในสำนักพระเมตไตรยพุทธเจ้า ในไม่ช้าก็จะทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมด้วยความรู้ยิ่งด้วยพระองค์เอง ( คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ).

    ครั้นแล้วตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายพึ่งตน พึ่งธรรม เจริญสติปัฏฐาน ๔ และสอนให้ท่องเที่ยวไปในโคจรของบิดา ( ดำเนินตามพระองค์ ) ก็จักเจริญด้วยอายุ วรรณะ ( ผิวพรรณ ) สุข โภคะ ( ทรัพย์สมบัติ ) และพละ ( กำลัง ).

    ๑. ทรงแสดงการเจริญอิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ ประการ ว่าเป็นเหตุให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกัปป์หรือกว่ากัปป์.
   ๒. ทรงแสดงการมีศีล สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) ว่าเป็นเหตุให้มีวรรณะ.
   ๓. ทรงแสดงการเจริญฌาณทั้งสี่ ว่าเป็นเหตุให้มีสุข.
   ๔. ทรงแสดงพรหมวิหาร ๔ ว่าเป็นเหตุให้มีโภคะ ( ทรัพย์สมบัติ ).
   ๕. ทรงแสดงการทำให้แจ้งเจโตวิมุต ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ ) ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะปัญญา ) อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ว่าเป็นเหตุให้มีพละ ( กำลัง ).

   ตรัสในที่สุดว่า ไม่ทรงเห็นกำลังอย่างอื่นสักอย่างหนึ่งที่ครอบงำได้ยากเท่ากำลังของมาร. เพราะสมาทานกุศลธรรม บุญก็จะเจริญยิ่ง.

   

๔. อัคคัญญสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งที่เลิศหรือที่เป็นต้นเดิม

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้นสามเณรชื่อว่าเสฏฐะและภารัทวาชะ ( เดิมนับศาสนาอื่น ) อยู่ปริวาส ( อบรม ) ในภิกษุทั้งหลาย ปรารถนาความเป็นภิกษุ ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง เพื่อฟังธรรม. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าพวกท่านมีชาติเป็นพราหมณ์ มีสกุลเป็นพราหมณ์ ออกบวช. พวกพราหมณ์ที่เป็นชั้นหัวหน้า ไม่ด่าไม่บริภาษบ้างหรือ. กราทูลตอบว่า ด่าอย่างเต็มที่. ตรัสถามว่า ด่าอย่างไร. กราบทูลว่า ด่าว่าพราหมณ์เป็นวรรณประเสริฐ เป็นวรรณะขาว บริสุทธิ์ วรรณะอื่นเลว เป็นวรรณะดำ ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม เป็นพรหมทายาท. พวกท่านละวรรณะอันประเสริฐ ไม่เข้าสู่วรรณะเเลว คือ พวกสมณะศีรษะโล้น ซึ่งเป็นพวกไพร่ พวกดำ พวกเกิดจากเท้าของพระพรหม ซึ่งเป็นการไม่ดี ไม่สมควรเลย. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์พวกนั้นลืมตน เกิดจากองค์กำเนิดของพราหมณีแท้ ๆ ยังกล่าวว่าประเสริฐสุด เกิดจากปากพรหม เป็นต้น ซึ่งเป็นการกล่าวตู่พระพรหมและพูดปด

   แล้วตรัสเรื่องมนุษย์ ๔ วรรณะ ที่ทำชั่วทำดีได้อย่างเดียวกัน และเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ( ผู้เป็นกษัตริย์ ) แต่ปฏิบัติต่อพระองค์ ซึ่งพวกพราหมณ์ถือว่าเป็นพวกดำ ( เพราะปลงศีรษะออกบวช ) อย่างเต็มไปด้วยความเคารพ.

   ครั้นแล้วตรัส ( เป็นเชิงปลอบใจ หรือให้หลักการใหม่ ) ว่า ท่านทั้งหลายมาบวช จากโคตร จากสกุลต่าง ๆ เมื่อมีผู้ถามว่า เป็นใคร ก็ตอบกล่าวว่า พวกเราเป็นสมณะศากยบุตร. ผู้ใดมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคตผู้นั้นย่อมควรที่จะกล่าวว่า เราเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้างเป็นธรรมทายาท ( ผู้รับมรดกธรรม) ทั้งนี้เพราะคำว่า ธัมมกาย ( กายธรรม ) พรหมกาย ( กายพรหม ) และผู้เป็นธรรม ผู้เป็นพรหม นี้เป็นชื่อของตถาคต.

    ( เป็นการแก้ข้อด่าของพวกพราหมณ์ โดยสร้างหลักการใหม่ให้พวกมาบวชจากทุกวรรณะได้ชื่อว่ามีกำเนิดใหม่ที่ไม่แพ้พวกพราหมณ์ ).

   ครั้นแล้วตรัสเรื่อง สมัยหนึ่งโลกหมุนเวียนไปสู่ความพินาศ สัตว์ทั้งหลายไปเกิดในชั้นอาภัสสรพรหมกันโดยมาก. เมื่อโลกหมุนกลับ ( คือเกิดใหม่ภายหลังพินาศ ) สัตว์เหล่านั้นก็จุติมาสู่โลกนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นจากใจกินปีติเป็นภักษา ( ยังมีอำนาจฌาณอยู่ ) มีแสงสว่างในตัว ไปได้ในอากาศ ( เช่นเดียวกับเมื่อเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม ).

อาหารชั้นแรก

   แล้วเกิดมีรสดิน ( หรือเรียกว่าง้วนดิน ) อันสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น รส สัตว์ทั้งหลายเอานิ้วจิ้มง้วนดินลิ้มรสดูก็ชอบใจ เลยหมดแสงสว่างในตัว เมื่อแสงสว่างหายไป ก็มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ มีดาวนักษัตร มีคืนวัน มีเดือน มีกึ่งเดือน มีฤดู และปี. เมื่อกินง้วนดินเป็นอาหาร กายก็หยาบกระด้าง ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏ พวกมีผิวพรรณดี ก็ดูหมิ่นพวกมีผิวพรรณทราม. เพราะดูหมิ่นผู้อื่นเรื่องผิวพรรณ เพราะความถือตัวและดูหมิ่นผู้อื่น ง้วนดินก็หายไป ต่างก็พากับบ่นเสียดาย แล้วก็เกิดสะเก็ดดินที่สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ขึ้นแทน ให้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายก็หยาบกระด้างยิ่งขึ้น ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏชัดขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น สะเก็ดดินก็หายไป เกิดเถาไม้สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส ขึ้นแทน ให้กินเป็นอาหารได้ ความหยาบกระด้างของกาย และความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น เกิดการดูหมิ่น ถือตัว เพราะเหตุผิวพรรณนั้นมากขึ้น เถาไม้ก็หายไป ข้าวสาลี ไม่มีเปลือก มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็เกิดขึ้นแทน ใช้เป็นอาหารได้ ข้าวนี้เก็บเย็นเช้าก็แก่แทนที่ขึ้นมาอีก ไม่ปรากฏพร่องไปเลย ความหยาบกระด้างของกาย ความทรามของผิวพรรณก็ปรากฏมากขึ้น.

เพศหญิงเพศชาย

   จึงปรากฏเพศหญิงเพศชาย. เมื่อต่างเพศเพ่งกันแลกันเกินขอบเขต ก็เกิดความกำหนัดเร่าร้อนและเสพเมถุนธรรมต่อหน้าคนทั้งหลาย เป็นที่รังเกียจ และพากันเอาสิ่งของขว้างปา เพราะสมัยนั้นถือการเสพเมถุนเป็นอธรรม เช่นกับที่สมัยนี้ถือว่าเป็นธรรม ( ถูกต้อง ) . ต่อมาจึงรู้จักสร้างบ้านเรือน ปกปิดซ่อนเร้น.

การสะสมอาหาร

   ต่อมามีผู้เกียจคร้านที่จะนำข้าวสาลีตอนเช้าเพื่ออาหารเช้า นำมาตอนเย็นเพื่ออาหารเย็น จึงนำมาครั้งเดียวให้พอทั้งเช้าทั้งเย็น. ต่อมาก็นำมาครั้งเดียวให้พอสำหรับ  ๒ วัน  ๔ วัน  ๘ วัน มีการสะสมอาหาร จึงเกิดมีเปลือกห่อห่มข้าวสาร ที่ถอนแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทน ปรากฏความพร่อง ( เป็นตอน ๆ ที่ถูกถอนไป ). มนุษย์เหล่านั้นจึงประชุมกับปรารภความเสื่อมลงโดยลำดับ แล้วการแบ่งข้าวสาลีกำหนดเขต ( เป็นของคนนั้นคนนี้ ).

อกุศลธรรมเกิดขึ้นกษัตริย์เกิดขึ้น

   ต่อมาบางคนรักษาส่วนของตน ขโมยของคนอื่นมาบริโภค เมื่อถูกจับได้ ก็เพียงแต่สั่งสอนกันไม่ให้ทำอีก เขาก็รับคำ ต่อมาขโมยอีก ถูกจับได้ถึงครั้งที่ ๓ ก็สั่งสอนเช่นเดิมอีก แต่บางคนก็ลงโทษ ตบด้วยมือ ขว้างด้วยก้อนดิน ตีด้วยไม้ . เขาจึงประชุมกันปรารภว่า การลักทรัพย์ การติเตียน การพูดปด การจับท่อนไม้เกิดขึ้น ควรจะแต่งตั้งคนขึ้นให้ทำหน้าที่ติคนที่ควรติ ขับไล่คนที่ควรขับไล่ โดยพวกเราจะแบ่งส่วนข้าวสาลีให้ จึงเลือกคนที่งดงามมีศักดิ์ใหญ่แต่งตั้งเป็นหัวหน้า เพื่อปกครองคน ( ติและขับไล่คนที่ทำผิด ) คำว่า “ มหาสมมต ” ( ผู้ที่มหาชนแต่งตั้ง ) กษัตริย์ ( ผู้เป็นใหญ่แห่งนา ) ราชา ( ผู้ทำความอิ่มใจ สุขใจแก่ผู้อื่น ) จึงเกิดขึ้น.

    กษัตริย์ก็เกิดขึ้นจากคนพวกนั้น มิใช่พวกอื่น  จากคนเสมอกัน มิใช่คนไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม . ธรรมะจึงเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต.

เกิดพราหมณ์, แพศย์, ศูทร

    ยังมีคนบางกลุ่มออกบวชมุ่งลอยธรรมที่ชั่วเป็นอกุศล จึงมีนามว่า พราหมณ์ ( ผู้ลอยบาป ) , สร้างกุฏิหญ้าขึ้น เพ่งในกุฏินั้น จึงมีนามว่า ฌายกะ ( ผู้เพ่ง ) ; บางคนไปอยู่รอบหมู่บ้านรอบนิคม แต่งตำรา ( อรรถกถาว่า แต่งพระเวทและสอนให้ผู้อื่นสวดสาธยาย ) คนจึงกล่าวว่า ไม่เพ่ง. นามว่า อัชฌายกะ ( ผู้ไม่เพ่ง ) จึงเกิดขึ้น เดิมหมายความเลว แต่บัดนี้หมายความดี ( อัชฌายกะ ) ปัจจุบันนี้แปลว่า ผู้สาธยาย ).

    ยังมีคนบางกลุ่ม ถือการเสพเมถุนธรรม อาศัยการล่าสัตว์เลี้ยงชีวิต จึงมีชื่อว่าศูทร ( พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยตกหาย ข้อความนี้ทั้งวรรค จึงต้องแปลตามฝรั่ง อรรถกถาอธิบายคำว่า สุทท ( ศูทร ) ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ลุทท ( นายพราน ) หรือ ขุทท ( งานเล็ก ๆ น้อย ๆ ) เป็นเชิงว่าพวกแพศย์ คือผู้ทำงานสำคัญ แต่พวกศูทรทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เข้าใจกันทั่วไป คือศูทรเป็นพวกคนงานหรือคนรับใช้ ).

   ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งพราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็เกิดจากคนพวกนั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม. ( แสดงว่าการแบ่งชั้นวรรณะนั้น ในชั้นเดิมได้มาจากหลักการอื่น นอกจากการแบ่งงานหรือหน้าที่กันตามความสมัครใจ แล้วก็ไม่ใช่ว่าใครวิเศษกว่าใครมาแต่ต้น แท้จริงก็คนชั้นเดียวกันมาแต่เดิม ทั้งนี้เป็นการทำลายทิฏฐิมานะ ช่วยให้ลดการดูหมิ่นกันและกัน เป็นการปฏิเสธหลักการของพราหมณ์ ที่ว่าใครเกิดจากส่วนไหนของพระพรหม ซึ่งสูงกว่าต่ำกว่ากัน ).

สมณมณฑล

   แล้วตรัสต่อไปว่า มีสมัยหนึ่งซึ่งบุคคลในวรรณะทั้งสี่มีกษัตริย์ เป็นต้น ไม่พอใจธรรมะของตน ออกบวชไม่ครองเรือน จึงเกิดสมมณฑล หรือคณะของสมณะขึ้น จากคณะทั้งสี่ คือเกิดจากคนเหล่านั้น มิใช่เกิดจากคนพวกอื่น เกิดจากคนที่เสมอกัน มิใช่เกิดจากคนที่ไม่เสมอกัน เกิดขึ้นโดยธรรม มิใช่เกิดขึ้นโดยอธรรม ( อันนี้เป็นการพิสูจน์อีกว่า คนชั้นสมณะที่พวกพราหมณ์ดูหมิ่นอย่างยิ่งนั้น ก็เกิดจากวรรณะทั้งสี่ ซึ่งมีมูลเดิมมาด้วยกัน ไม่ใช่สูงต่ำกว่ากัน ).

การได้รับผลเสมอกัน

   ครั้นแล้วตรัสสรุปว่า ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และสมณะ ๑๐   ถ้าประพฤติทุจจริตทางกาย , วาจา , ใจ , มีความเห็นผิด , ประกอบกรรมซึ่งเกิดจากความเห็นผิด เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก เหมือนกัน. ถ้าตรงกันข้าม คือประพฤติสุจจริตทางกาย , วาจา , ใจ , มีความเห็นชอบ , ประกอบกรรม ซึ่งเกิดจากความเห็นชอบ เมื่อตายไป ก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน . หรือถ้าทำทั้งสองอย่าง ( คือชั่วก็ทำ ดีก็ทำ ) ก็จะได้รับทั้งสุขทั้งทุกข์เหมือนกัน.

    อนึ่ง วรรณะทั้งสี่นี้ ถ้าสำรวมกาย , วาจา , ใจ , อาศัยการเจริญโพธิปักขิยะธรรม ๗ ประการ ๑๑  ก็จะปรินิพพานได้ในปัจจุบันเหมือนกัน.

   และวรรณะทั้งสี่เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ หมดกิจ ปลงภาระ หลุดพ้น เพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นก็นับว่าเป็นยอดแห่งวรรณะเหล่านั้นโดยธรรม มิใช่โดยอธรรม. เพราะธรรมะเป็นสิ่งประเสริฐสุดในหมู่ชนทั้งหลายในปัจจุบันและอนาคต.

    ในที่สุดตรัสย้ำถึงภาษิตของสนังกุมารพรหมและของพระองค์ ที่ตรงกันว่า “ กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร แต่ผู้ใดมีวิชชา ( ความรู้ ) จรณะ ( ความประพฤติ ) ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ ”

    ( หมายเหตุ : พระสูตรนี้ มีลีลาแสดงความเป็นมาของโลก แต่แสดงแล้ว ก็ยกธรรมะเป็นจุดสูงสุดในเทวดาและมนุษย์. วรรณะทั้งสี่ก็มาจากคนพวกเดียวกัน ไม่มีใครวิเศษกว่ากัน แต่ภายหลังคนเข้าใจผิดดูหมิ่นกันไปเอง. การแสดงเรื่องความเป็นมาของโลก อาจวินิจฉัยได้เป็น ๒ ประการ คือประการแรก เป็นการเอาหลักของศาสนาพราหมณ์มาเล่า แต่อธิบายหรือตีความเสียใหม่ให้เข้ารูปเข้ารอยกับคติธรรมทางพระพุทธศาสนา อันนี้ชี้ให้เห็นว่าพราหมณ์เข้าใจของเก่าผิด จึงหลงยกตัวเองว่าประเสริฐ. อีกอย่างหนึ่งเป็นการเล่าโดยมิได้อิงคติของพราหมณ์ โดยถือเป็นของพระพุทธศาสนาแท้ ๆ ก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะถ้าเทียบส่วนใหญ่กับส่วนเล็กในทางวิทยาศาสตร์แล้วปรมาณูที่มีโปรตอนเป็นศูนย์กลาง มีอีเล็กตรอน เป็นตัววิ่งวน รวมทั้งมีนิวตรอนเป็นส่วนประกอบด้วยนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับสุริยะระบบ ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ ( PLAMETS ) เช่นโลกเรา และดาวพระศุกร์ พระเสาร์ เป็นต้น วนรอบคล้ายอีเล็กตรอน มีบางโอกาสที่ปรมณูอาจถูกแยก ถูกทำลาย เพราะเหตุภายนอก เช่น ที่นักวิทยาศาสตร์จัดทำฉันใด สุริยะระบบ หรือ SOLAR SYSTEM ก็เช่นเดียวกัน อาจถูกทำลายหรือสลายตัว แล้วเกิดใหม่ได้ในเมื่อธาตุไฮโดรเยนกับออกซิเยนรวมตัวกันเป็นน้ำ พวกฝุ่นผงที่แหลกก็เข้ามารวมตัวกันในน้ำได้และแข้มแข็งในที่สุด เป็นเรื่องเสนอชวนให้คิด แต่มิได้ชวนให้ติดในเกร็ด เพราะสาระสำคัญอยู่ที่การถือธรรมะเป็นใหญ่เป็นหลักของสังคมทุกชั้น ).


๑. โปรดดูมหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔ เพื่อเข้าใจว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ นั้นทำอย่างไร

๒. ข้อนี้ก็เก็บใจความจริง ๆ สำนวนบาลียาวมาก

๓. แปลจากคำว่า ขรสฺสเรน ปณเวน อรรถกถาอธิบายว่า ด้วยใช้กลองเสียงหยาบ ที่ใช้สำหรับคนจะถูกฆ่า. บัณเฑาะว์เป็นกลองชนิดหนึ่ง

๔. เช่น ไม่เลือกว่าเป็นมารดา , ป้า , บิดา , ลุง , อา เป็นต้น -อรรถกถา

๕. คำว่า สัตถันตรกัปป์นี้ อรรถกถาอธิบายว่า อันตรกัปป์ที่พินาศในระหว่าง คือโลกยังไม่ถึงสังวัฏฏกัปป์ ก็พินาศด้วยศัสตราเสียในระหว่าง อันตรกัปป์มี ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะอดอาหาร โรคันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะโรค สัตถันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างศัสตราเป็นผลแห่งกรรมชั่วของมนุษย์ คือถ้าโลภจัด ก็พินาศเพราะอดอาหาร หลงจัด ก็พินาศเพราะโรค ถ้าโทสะจัด ก็พินาศเพราะศัสตรา

๖. คำว่า มิคสัญญา แปลว่า ความสำคัญว่าเนื้อ ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ ก็ใช้ว่า มิคสัญญี แปลว่า ผู้มีความสำคัญว่าเนื้อ

๗. เรื่องนี้ได้แปลพระพุทธภาษิตไว้โดยละเอียด ในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฏก หมายเลข ๒๒๑ , ๒๒๒, ๒๒๓ ในที่นี้จึงกล่าวโดยรวบรัด

๘. คำว่า มิใช่พวกอื่น เดิมตามฉบับยุโรป สงสัยว่าฉบับไทย จะตกคำว่า มิใช่

๙. ฝรั่งแปลว่า เดินเท้าไปประกอบการค้าต่าง ๆ จากคำว่า วิสํ ุ กมฺมนฺเต ปโยเชสํ ุ . แต่อรรถกถาแก้ว่า ประกอบการงานที่เด่น หรือชั้นสูง มีการเฝ้ารักษา และการค้า เป็นต้น โคปกวาณิชกมฺมาทิเก วิสฺสุเต อุคฺคเต กมฺมนฺเต ปโยเชสํ ุ .

๑๐. ฉบับที่ฝรั่งแปล ไม่มีคำว่า สมณะ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระไตรปิฎกฉบับยุโรปก็ตกที่สำคัญหลายวรรค

๑๑. อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่โพธิปักขิยะธรรมทั้งสามสิบเจ็ดนั้นแหละ แต่ถ้าจัดตามหัวข้อใหญ่ก็มี ๗ มีสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน เป็นต้น ย้อนดูพระสุตตันตะเล่ม ๒


 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ