บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



 

หมวดพระสุตตันตะ

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๒
ชื่อทีฆนิกาย
๑.มหาปทานสูตร
๒.มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร
๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร
๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร
๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร

 

หน้า ๑ ๑.มหาปทานสูตร
..1.พระวิปัสสี
..2. พระสิขี
..3.พระเวสสภู
..4.พระกุกสันธะ
..5.พระโกนาคมนะ
..6.พระกัสสปะ
..7.พระโคตมะ
(พระองค์ปัจจุบัน )
..ธรรมดาของ
พระโพธิสัตว์
..วิปัสสีกุมารประสูติ
จนถึงเสด็จออกผนวช
..ตรัสรู้และแสดงธรรม
๒ . มหานิทานสูตร
..อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
..การบัญญัติและ
ไม่บัญญัติอัตตา
..ความคิดเห็นเรื่อง
เวทนาเกี่ยวกับอัตตา
..ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง
..อายตนะ ๒
..ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
..วิโมกข์ ๘
..สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘

 

หน้า ๒ ๓. มหาปรินิพ
พานสูตร

..เสด็จสวนมะม่วง
หนุ่มและเมือง
นาฬันทา
..เสด็จปาฏลิคาม
..เสด็จโกฏิคาม
และนาทิกคาม
..เสด็จป่ามะม่วง
ของนางอัมพปาลี
..เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม
..ทรงปลงอายุ
สังขาร
..เสด็จป่ามหาวัน
ประชุมภิกษุสงฆ์
..เสด็จภัณฑ
คามและที่อื่น ๆ
..ฉันอาหารของ
นายจุนทะ
..ระหว่างที่เสด็จ
สู่กรุงกุสินารา
..สถานที่ควร
สังเวช ๔ แห่ง
..วิธีปฏิบัติในสตรี
และพระพุทธสรีระ
.. ผู้ควรแก่สตูป
..ตรัสสรรเสริญ
พระอานนท์
..ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา
..โปรดสุภัทท
ปริพพาชก
..พระดำรัสตรัสสั่ง
..ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม
..ปัจฉิมโอวาท
..ลีลาในการปริ
นิพพาน
..การถวายพระเพลิง

 

หน้า ๓ ๔. มหาสุทัสสนสูตร
..การบำเพ็ญฌาน
และพรหมวิหาร
..ตรัสสรุปเป็นคำสอน
๕ ชนวสภสูตร
๖ . มหาโควินทสูตร ๗. มหาสมยสูตร
๘ . สักกปัญหาสูตร

 

หน้า ๔ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
..การพิจารณา
กายแบ่งออก
เป็น ๖ ส่วน
..การพิจารณา
เวทนา ๙ อย่าง
..การพิจารณา
เวทนาจิต ๑๖ อย่าง
..การพิจารณา
ธรรมแบ่งออก
เป็น ๕ ส่วน
..อานิสงส์สติปัฏฐาน
๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร

 

เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
หน้า ๑

    ได้กล่าวไว้แล้วว่า ทีฆนิกาย เป็นที่รวมแห่งพระสูตรขนาดยาว และคำว่ามหาวัคค์ ตั้งชื่อตามสูตรแรกที่มีคำว่า มหา อยู่หน้า คือมหาปทานสูตร อนึ่งในวรรคนี้มีสูตรที่มีคำว่า มหา อยู่หน้าหลายสูตรด้วยกัน . และพระสูตรทั้งสิบสูตรในเล่มนี้มีลำดับดังต่อไปนี้ :-

๑ . มหาปทานสูตร    ว่าด้วย “ ข้ออ้างใหญ่” กล่าวถึงประวัติและเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์และพระประวัติละเอียดของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า.

๒. มหานิทานสูตร    ว่าด้วย “ ต้นเหตุใหญ่” กล่าวถึงประวัติปฏิจจสมุปบาท หรือกฏแห่งเหตุผลที่เกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ รวมทั้งทฤฎีเรื่องอัตตา.

๓. มหาปรินิพพานสูตร    ว่าด้วย “ มหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า” เริ่มด้วยเหตุการณ์ก่อนปรินิพพานจนถึงแจกพระบรมสารีริกธาตุ.

๔. มหาสุทัสสนสูตร    ว่าด้วย “ ประวัติพระเจ้ามหาสุทัสสนะ จักรพรรดิ์” เป็นเรื่องตรัสเล่าแก่พระอานนท์ในเวลาใกล้ปรินิพพาน.

๕. ชนวสภสูตร     ว่าด้วย “ ยักษ์ชื่อชนวสภะ” กราบทูลเรื่องราวต่าง ๆ แด่พระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเล่าแก่พระอานนท์อีกต่อหนึ่ง.

๖. มหาโควินทสูตร    ว่าด้วย “ มหาโควินทพราหมณ์”

๗. มหาสมยสูตร    ว่าด้วย “การประชุมใหญ่” เป็นการประชุมของเทวดาซึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้า.

๘. สักกปัญหสูตร    ว่าด้วย “ ปัญหาของท้าวสักกะ” ๑๐ ข้อ.

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร    ว่าด้วย “ การตั้งสติแบบใหญ่” ๔ อย่าง คือการตั้งสติกำหนดพิจารณา กายเวทนา จิต และธรรม.

๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร .     ว่าด้วย “ พระเจ้าปายาสิ” ผู้ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด แสดงการโต้ตอบระหว่างพระกุมารกัสสปกับพระปายาสิอย่างละเอียด.

   

ขยายความ

๑. มหาปทานสูตร
สูตรว่าด้วยข้ออ้างด้วยของใหญ่

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ กเรริกุฏิ ( กุฏิมีมณฑปทำด้วยไม้กุ่มตั้งอยู่เบื้องหน้า ) ในเชตวนารวมของอนาถปิณฑิกคฤบดี ใกล้กรุงสาวัตถี.

    ณ โรงโถงที่ทำด้วยไม้กุ่มนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายผู้สนทนากันเรื่อง “ ปุพเพนิวาส” คือความเป็นไปในชาติก่อน โดยทรงเล่าเรื่องพระพุทธในอดีต ๖ พระองค์ รวมทั้งพระองค์เองด้วยเป็น ๗ พระองค์ดังต่อไปนี้ :-

   

๑. พระวิปัสสี

    พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๘ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนไม้แคฝอย . มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า ขัณฑะ กับติสสะ . มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง การประชุมสาวก มีภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสนรูปครั้งหนึ่ง มีภิกษุ ๑ แสนรูปครั้งหนึ่ง มีภิกษุ ๘ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก .  ชื่ออโสกะ มีพระพุทธบิดาพระนามว่า พันธุมา พระพุทธมารดาพระนามว่า พันธุมตี มีพันธุมตีนครเป็นธานี.

   

๒. พระสิขี

    พระสิขีพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๗ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนต้นบุณฑริก มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า อภิภู กับสมภวะ. มีการประชุมอัครสาวก ๓ ครั้ง . การประชุมสาวกมีภิกษุ ๑ แสนรูปครั้งหนึ่ง ๘ หมื่นรูป ครั้งหนึ่ง ๗ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง . มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อเขมังกระ มีพระพุทธบิดาพระนามว่า อรุณะ พระพุทธมารดาพระนามว่า ปภาวตี มีอรุณวตีนครเป็นราชธารี.

   

๓. พระเวสสภู

    พระเวสสภูพุทธเจ้าทรงสมภพในกุลกษัตริย์ ในกัปป์ที่ ๓๑ ก่อนหน้ากัปป์ปัจจุบันนี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า โกณฑทัญญะ มีประมาณแห่งอายุ ๖ หมื่นปี ตรั้สรู้ที่โคนไม้สาละ มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่าโสณะกับอุตตระ มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง . การประชุมสาวกมีภิกษุ ๘ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ๗ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ๖ หมื่นรูปครั้งหนึ่ง ล้วนเป็นพระขีณาสพทั้งสามครั้ง. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่ออุปสันตะ. มีพุทธบิดาพระนามว่า สุปปตีตะ พระพุทธมารดาพระนามว่า ยสวตี มีอโนมนครเป็นราชธานี.

   

๔. พระกุกสันธะ

   พระกุกสันธพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๔ หมื่นปี. ตรัสรู้ ณ โคนไม้ซึก มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า วิธูระ กับสัญชีวะ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๔ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อวุฑฒิชะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า อัคคิทัตตะ มีพระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า วิสาขา มีเขมวตีนครของพระเจ้าเขมะเป็นราชธานี.

   

๕. พระโกนาคมนะ

   พระโกนาคมนพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๓ หมื่นปี. ตรัสรู้ ณ โคนไม้มะเดื่อ. มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า ภิยโยสะ กับอุตตระ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๓ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐากชื่อโสตถิชะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า ยัญญทัตตะ พระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า อุตตรา. มีโสภวตีนครของพระเจ้าโสภะเป็นราชธานี

   

๖. พระกัสสปะ

    พระกัสสปพุทธเจ้าทรงสมภพในสกุลพราหมณ์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโคตรว่า กัสสปะ มีประมาณแห่งอายุ ๒ หมื่นปี ตรัสรู้ ณ โคนไม้นิโครธ ( ไทร). มีคู่อัครสาวกนามว่า ติสสะ กับภารัทวาชะ. มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๒ หมื่นรูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ . มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่อสัพพมิตตะ. มีพระพุทธบิดาเป็นพราหมณ์นามว่า พรหมทัตตะ พระพุทธมารดาเป็นพราหมณีนามว่า ธนวตี มีพาราณสีนครของพระเจ้ากิงกิเป็นราชธานี.

   

๗. พระองค์เอง ( พระโคตมะ)

    พระองค์เองทรงสมภพในสกุลกษัตริย์ ในภัททกัปป์นี้ มีพระนามโดยพระโครตรว่า โคตมะ มีปริมาณแห่งอายุน้อย ผู้ใดมีชีวิตอยู่นานก็เพียง ๑๐๐ ปี ที่เกินกว่านั้นมีน้อย. ตรัสรู้ ณ โคนไม้อัสสัตถะ (โพธิ์) . มีคู่แห่งอัครสาวกนามว่า สารีบุตร กับโมคคัลลานะ มีการประชุมสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑, ๒๕๐ รูป ล้วนเป็นพระขีณาสพ. มีภิกษุเป็นยอดพุทธอุปฐาก ชื่ออานนท์ มีพุทธบิดาพระนามว่า สุธโธทนะ พระพุทธมารดาพระนามว่า มายา มีกบิลพัสดุนครเป็นราชธานี.

    เมื่อตรัสเล่าอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จจากอาสนะเข้าสู่วิหาร. ต่อมาได้ตรัสเล่าประวัติพระวิปัสสีพุทธเจ้าโดยแสดงว่าเป็นธรรมดาของผู้จะเป็นพระพุทธเจ้า ดังต่อไปนี้:-

   

ธรรมดาของพระโพธิสัตว์

    ๑. พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ลงสู่พระครรภ์พระมารดา.

    ๒. เมื่อพระโพธิสัตว์ลงสู่พระครรภ์พระมาดา จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก. หมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหว.

    ๓. มีเทพบุตร ๔ ตนมาอารักขาทั้งสี่ทิศ เพื่อป้องกันมนุษย์และอมนุษย์มิให้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์หรือพระมารดา.

    ๔. พระมารดาพระโพธิสัตว์ทรงตั้งอยู่ในศีล ๕ โดยปกติ.

    ๕. พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่ทรงมีความรู้สึกทางกามในบุรุษทั้งหลาย และจะเป็นผู้อันบุรุษใด ๆ ผู้มีจิตกำหนัดก้าวล่วงไม่ได้.

    ๖. พระมารดาพระโพธิสัตว์มีลาภ บริบูรณ์ด้วยกามคุณ ๕ ( รูป , เสียง , กลิ่น , รส, โผฏฐพพะ).

    ๗. พระมารดาพระโพธิสัตว์ไม่มีโรค มองเห็นพระโพธิสัตว์ในพระครรภ์เหมือนเห็นเส้นด้ายในแก้วไพฑูรย์ ( ตั้งแต่ข้อ ๓ ถึง ๗ หมายถึงระหว่างทรงพระครรภ์).

    ๘. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วันแล้ว พระมารดาย่อมสวรรคต เข้าสู่สวรรค์ชั้นดุสิต.

    ๙. สตรีอื่นบริหารครรภ์ ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้างจึงคลอด ส่วนมารดาพระโพธิสัตว์บริหารพระครรภ์ ๑๐ เดือนพอดีจึงคลอด.

    ๑๑. เมื่อประสูติ เทวดารับก่อน มนุษย์รับภายหลัง.

    ๑๒. เมื่อประสูติจากพระครรภ์ ยังไม่ทันถึงพื้น เทพบุตร ๔ ตนจะรับวางไว้เบื้องหน้าพระมารดาและบอกให้ทราบว่า พระโอรสที่เกิดมีศักดิ์ใหญ่.

    ๑๓. เมื่อประสูติ พระโพธิสัตว์เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด ไม่แปดเปื้อนด้วยคัพภมลทิน.

    ๑๔. เมื่อประสูติ จะมีธารน้ำร้อนน้ำเย็นตกลงมาสนานพระกายพระโพธิสัตว์และพระมารดา.

    ๑๕. ทันใดที่ประสูติ พระโพธิสัตว์จะผินพระพักตร์ทางทิศเหนือ ดำเนินด้วยพระบาท ๗ ก้าว เปล่งพระวาจาประกาศเรื่องที่จะทรงเป็นเลิศในโลก และเรื่องชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย.

    ๑๖. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ จะมีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏในโลก และหมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้าน.

   

วิปัสสีกุมารประสูติจนถึงเสด็จออกผนวช

    เมื่อวิปัสสีกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าพันธุมา พุทธบิดา ก็ตรัสให้เชิญพวกพราหมณ์ผู้รู้ลักษณะมาทำนาย. พวกพราหมณ์พิจารณาแล้วกราบทูลว่า พระราชกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ถ้าครองเรือนจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าเสด็จออกผนวช จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า . พระราชบิดาจึงให้ถนอมเลี้ยงพระราชกุมารเป็นอันดี. พระราชกุมารนั่งบนตักของพระราชบิดาในการวินิจฉัยอรรถคดีก็ทรงพิจารณาวินิจฉัยได้ด้วยดีพระญาณปรีชา จึงได้รับขนานนามว่า “ วิปัสสี ” ( ผู้เห็นแจ้ง ).

   ต่อจากนั้นเล่าเรื่องวิปัสสีกุมารเสด็จสู่ราชอุทยาน พร้อมด้วยนายสารถี ได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงเสด็จออกผนวช.

   

ตรัสรู้และแสดงธรรม

   เมื่อผนวชแล้ว ทรงพิจารณาหลักธรรมเรื่องปฎิจจสมุปบาท ( ธรรมที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุที่เกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ ) ทรงพิจจารณาความเกิด ความดับแห่งขันธ์ ๕ ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งแรกจะทรงงดแสดงธรรม เพราะเห็นว่า ธรรมะที่ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง แต่ในที่สุดทรงเห็นว่า ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็มี จึงทรงแสดงธรรม และได้โปรดราชบุตรชื่อขัณฑะ และปุโรหิตชื่อติสสะ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ขอบรรพชาอุปสมบท และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ต่อมาได้มีผู้ออกบวชมากขึ้น จึงทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนา ต่อเมื่อครบ ๖ ปี จึงให้กลับมากรุงพันธุมตี เพื่อฟังปาฏิโมกข์ ซึ่งพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงในภิกษุสงฆ์ ( มีเนื้อความเช่นเดียวกับโอวาทปาฏิโมกข์).

   ทรงแสดงว่าเรื่องเหล่านี้นอกจากทรงทราบด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเข้าใจแจ่มแจ้งซึ่งธรรมธาตุ เป็นอย่างดี แม้เทพดาก็เคยมากราบทูลเรื่องเหล่านี้ เช่น ในสมัยที่ประทับ ณ โคนไม้สาละใหญ่ในสุภวันใกล้เมืองอุกกัฏฐา.

    ( หมายเหตุ : พระสูตรนี้ อาจจะมีรายละเอียดที่ทำให้เกิดปัญหาการถอดความหมายหรือการตีความเป็นธรรมะ เช่น บางท่านได้ถอดความว่า ที่ว่ามีแสงสว่างเกิดขึ้นหรือแผ่นดินไหว เทียบด้วยจะช่วยโลกให้ปัญญา และมีข่าวใหญ่แพร่ไปในโลก เป็นที่น่าตื่นเต้นในคุณความดีคล้ายแผ่นดินไหว เป็นต้น. แต่หลักการใหญ่ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ใช่อยู่ที่รายละเอียด เรื่องชื่อ เรื่องสาวกของพระพุทธเจ้า พระองค์ต่าง ๆ แต่อยู่ที่แสดงว่า ในพระพุทธศาสนาไม่มีการผูกขาดความรู้ ความฉลาด ความสามารถตรัสรู้สัจจธรรม เพื่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ผู้ใดบำเพ็ญบารมีเพียงพอ ก็อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น. หลักธรรมจึงเป็นของกลาง ท่านผู้ใดพินิจพิจารณษค้นคว้าก็อาจตรัสรู้ได้).

   

๒ . มหานิทานสูตร
สูตรว่าด้วยต้นเหตุใหญ่

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคม ชื่อกัมมาสธัมมะ ในแคว้นกุรุ. พระอานนท์เข้าไปเฝ้า กราบทูลว่า แม้ปฏิจจสมุปบาท ( ธรรมที่เกิดขึ้นอาศัยกันและกัน) เป็นของลึกซึ้งและทีเงาลึกซึ่ง แต่ปรากฏเป็นของตื้นสำหรับท่าน. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าพูดอย่างนั้น.     ปฏิจจสมุปบาทนี้ลึกซึ้ง เพราะไม่ตรัสรู้ธรรมนี้ สัตว์จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ( ภูมิอันเสื่อม) ทุคคติ ( ที่ไปอันชั่ว ) วินิบาติ ( สภาพอันตกต่ำ ) สงสาร (การท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด) ยุ่งเหยิง สับสน เหมือนต้นหญ้า ( ที่ตกเกลื่อนกลาดอยู่ ยากที่จะจัดระเบียบต้นปลาย).

   

อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร

    ๑. ต่อจากนั้นทรงแนะนำเรื่องปฏิจจสมุปบาทต่อไป ถ้ามีผู้ถามว่า ความแก่ความตายมีปัจจัยหรือไม่ พึงตอบว่า มี โดยชี้ไปที่ความเกิด ( ชาติ) ว่า เพราะความเกิดเป็นปัจจัย จึงมีความแก่และความตาย.

    ๒. เพราะภพ ( ความมีความเป็น ) เป็นปัจจัย จึงมีชาติ ( ความเกิด).

    ๓. เพราะอุปาทาน (ความยึดถือ) เป็นปัจจัย จึงมีภพ.

    ๔. เพราะตัญหา ( ความทะยานอยาก) เป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.

    ๕. เพราะเวทนา ( ความรู้สึกที่เกิดจากสัมผัสทางตา หู เป็นต้น) เป็นปัจจัย จึงมีตัณหา.

    ๖. เพราะผัสสะ ( ความถูกต้อง ) เป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

    ๗. เพราะรูปนาม ( สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง มีแต่ชื่อ เรียกว่านาม ได้แก่เวทนา ความรู้สึกอารมณ์, สัญญา ความจำได้หมายรู้, เจตนา ความจงใจ, ผัสสะ ความถูกต้อง, มนสิการ ความทำไว้ในใจ ส่วนสิ่งที่เป็นรูป คือธาตุ ๔ และรูปอันปรากฏเพราะอาศัยธาตุ ๔ ) เป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.

    ๘. เพราะวิญญาณ ( ปฏิสนธิวิญญาณ ) คือธาตุรู้ที่ถือกำเนิด .    เป็นปัจจัย จึงมีรูปนาม.

    ๙. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ .

    ๑๐. เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป.

    ๑๑. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ.

    ๑๒. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

    ๑๓. เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัญหา.

    ๑๔. เพราะมีตัญหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน.

    ๑๕. เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ.

    ๑๖. เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ.

    ๑๗. เพราะชาติ (ความเกิด) เป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ ( ความแก่ ความตาย ) ในตอนนี้ระหว่างนามรูป กับวิญญาณ . โปรดดูข้อ ๙ ข้อ ๑๐, ต่างฝ่ายเป็นปัจจัยของกันและกัน แล้วจึงเนื่องไปถึงอันอื่น ).

    ต่อจากนั้นทรงอธิบายรายละเอียด พร้อมทั้งเหตุผลประกอบหัวข้อทั้งสิบเจ็ดข้อนั้น แต่มีข้อน่าสังเกตที่ทรงใช้ศัพท์เกี่ยวกับสัมผัส คือทรงอธิบายสัมผัสว่า มี ๖ มีสัมผัสทางตา จนถึงสัมผัสทางใจ แล้วทรงใช้คำว่า อธิวจนสัมผัส ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นสัมผัสทางใจ และ ปฏิฆสัมผัส ซึ่งอรรถกถาอธิบายว่า เป็นสัมผัสที่เนื่องด้วยรูปขันธ์ คือสัมผัสทางร่างกาย คำอธิบายปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียด จักมีแจ้งในการย่อความเล่มที่ ๑๖ เพราะในเล่มว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทตลอด).

    ในที่สุดตรัสสรุปในชั้นนี้ก่อนว่า ข้อวิญญาณ กับนาม รูป ต่างเป็นปัจจัยของกันและกันนี้ ย่อมเป็นเหตุให้สัตว์เกิด แก่ ตาย จุติ อุปบัติ .     เป็นเหตุให้มีทางแห่งคำเรียกชื่อ มีทางแห่งการพูดจา มีทางแห่งการบัญญัติ มีการรู้ได้ด้วยปัญญา และมีวัฎฎะ ความหมุ่นเวียน และความเป็นอย่างนี้.

   

การบัญญัติและไม่บัญญัติอัตตา

   ต่อจากนั้นทรงแสดงการบัญยัติอัตตา ๔ ประการ คือ
๑. บัญญัติอัตตา “ เล็กน้อย ” ว่ารูป
๒. บัญญัติอัตตา “ หาที่สุดมิได้ ” ว่ามีรูป
๓. บัญญัติอัตตา “ เล็กน้อย ” ว่าไม่มีรูป และ
๔. บัญญัติอัตตา “ หาที่สุดมิได้ ” ว่าไม่มีรูป .    

   การบัญญัติอย่างนี้ย่อมมี ๓ ประการ คือ
บัญญัติอัตตา เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น ( เพราะความเห็นว่าตายแล้วสูญ )
บัญญัติอัตตา ที่มีความเป็นอย่างนั้น ( เพราะมีความเห็นว่าเที่ยง ไม่เปลี่ยนแปลง )
บัญญัติด้วยต้องการจะลบล้างความเห็นผิดของฝ่ายอื่น จูงมาสู่ความเห็นของตน ( ซึ่งเข้าใจว่าถูก ).

    ส่วนการไม่บัญญัติอัตตา ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการบัญญัติที่กล่าวมาแล้ว.

   

ความคิดเห็นเรื่องเวทนาเกี่ยวกับอัตตา

    ครั้นแล้วทรงแสดงความคิดเห็นของบุคคล ๓ ข้อเกี่ยวกับเวทนา และอัตตา คือ
๑. เห็นว่าเวทนา (ความรู้สึกอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไมสุข ) เป็นอัตตา ( ตัวตน) ของเรา
๒. เห็นว่าเวทนามิใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราไม่รู้สึกอารมณ์
๓. เห็นว่าเวทนามิใช้อัตตาของเรา อัตตาของเราไม่รู้สึกอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเราย่อมเสวยอารมณ์ อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา.

    แล้วทรงแสดงเหตุผลให้เห็นจริงทั้งสามข้อว่า ไม่ควรยึดถืออย่างนั้น ในที่สุดตรัสสรุปว่า ภิกษุผู้ไม่เห็นทั้งสามอย่างนั้น ย่อมไม่ยึดถืออะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดถือ ก็ไม่สะดุ้งดิ้นรน เมื่อไม่สะดุ้งดิ้นรน ก็ดับสนิทเฉพาะตน รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว ไม่อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำหน้าที่เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก. ภิกษุผู้หลุดพ้นแล้วเช่นนี้ ไม่ควรที่ใคร ๆ จะกล่าวว่า ท่านมีความเห็นว่าสัตว์ตายแล้วเกิด, สัตว์ตายแล้วไม่เกิด , สัตว์ตายแล้วทั้งเกิดและไม่เกิด , และสัตว์ตายแล้วเกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่. ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะวัฏฏะ ย่อมหมุนเวียนไปตราบเท่าที่ยังมีทางแห่งคำเรียกชื่อ มีทางแห่งคำพูดจา มีบัญญัติ มีทางแห่งการบัญญัติ มีการนัดกันรู้ มีการรู้ได้ด้วยปัญญา และยังหมุนเวียนอยู่. ภิกษุผู้หลุดพ้นเพราะรู้ความจริงนั้น ไม่ควรที่ใคร ๆ จะมีความเห็นว่าท่านไม่รู้ไม่เห็น.

    หมายเหตุ:- การที่พระอรหันต์ไม่ติดอยู่ในความเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ที่ว่าสัตว์ตายแล้วเกิดหรือไม่นั้น เป็นเพราะไม่ติดอยู่ในสมมติบัญยัติเกี่ยวกับกระแสหมุนเวียน เมื่อรู้เท่ากระแสหมุนเวียนและหลุดพ้นได้จึงไมควรที่จะกล่าวว่าที่ไม่รู้ไม่เห็น ).

   

ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง

   ต่อจากนั้นทรงแสดงวิญญาณฐิติ ( ที่ตั้งแห่งวิญญาณ ) ๗ อย่าง คือ :-
๑. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ) ต่างกัน เช่นมนุษย์ เทวดาบางพวกและเปตรบางพวก .
๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพ พวกพรหม ที่เกิดด้วยปฐมฌานและสัตว์ที่อยู่ในบาย ๔.
๓. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น เทพพวกอาภัสสรพรหม
๔. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เทพพวกสุภกิณหพรหม.
๕. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงความกำหนดหมายในรูป ทำในใจว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๑ ).
๖. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงอากาสานัญยตนะ ทำในใจว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๒ ).
๗. สัตว์เหล่าหนึ่งก้าวล่วงวัญญาณัญจายตนะ ทำในใจว่า ไม่มีอะไร เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ ( เป็นพรหมไม่มีรูปพวกที่ ๓ ).

   

อายตนะ ๒

   ครั้นแล้วทรงแสดงอายตนะ ๒ คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ อายตนะ หรือที่ต่อ คืออสัญญีสัตว์ ( อสัญญีสัตว์เป็นพวกมีแต่รูป ไม่มีวิญญาณ จึงไม่จัดเข้าในวิญญาณฐิติ ๗ อย่าง แต่เรียกว่าอายตนะ )
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ อายตนะ หรื่อที่ต่อ คือที่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ( นี้เป็นพรหมไม่มีรูป พวกที่ ๔ เพราะเหตุที่วิญญาณในอรูปพรหมชั้นนี้สุขุมละเอียดอ่อนมาก จึงไม่ควรกล่าวว่ามีวิญญาณ หรือไม่มีวิญญาณ ฉะนั้น จึงไม่จัดเข้าในวิญญาณฐิติ ๗ แต่เรียกว่าอายตนะ เป็นอันว่า ต้องกล่าวว่า วิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ จึงจะครอบคลุมสัตว์โลกได้หมดทุกชนิด ) .

   

ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา

   ตรัสสรุปเฉพาะตอนนี้ว่า ผู้ใดรู้วิญญาณฐิติทั้งเจ็ดรู้อายตนะทั้งสองรู้ความเกิดขึ้น รู้ความดับไป รู้ความพอใจ รู้โทษ และรู้การแล่นออก ( หลุดพ้น ) จากวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ แล้ว ควรหรือที่จะชื่นชมยินดีววิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ นั้น . พระอานนท์กราบทูลว่า ไม่ควร . จึงตรัสว่า ภิกษุผู้รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น ( ด้วยอุปาทาน ) เรียกว่าเป็นปัญญาวิมุติ ( ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา ).

   

วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘

   ทรงแสดงวิโมกข์ ๘ แก่พระอานนท์ต่อไป คือ :-
๑. บุคคลมีรูป เห็นรูป.
๒. บุคคลมีความกำหนดหมายในสิ่งไม่มีรูป เห็นรูปภายนอก.
๓. บุคคลน้อมใจว่า “ งาม .”
๔. บุคคลทำไว้ในใจว่า อากาศไม่มีที่สุด เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ.
๕. บุคคลทำไว้ในใจว่า วิญญาณไม่มีที่สุด เข้าถึงวิญญาณณัญจายตนะ.
๖. บุคคลทำไว้ในใจว่า ไม่มีอะไร เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ.
๗. บุคคลก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
๘. บุคคลก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ. .

   

สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘

    ภิกษุเข้าสู่วิโมกข์ ๘ นี้ ได้ทั้งอนุโลม ( ตามลำดับ ) และปฏิโลม ( ถอยกลับจากหลังไปหาหน้า) เข้าได้ออกตามต้องการ ย่อมทำให้แจ้ง ( บรรลุ ) ความหลุดพ้นด้วยสมาธิ ( เจโตวิมุติ ) และความหลุดพ้นด้วยปัญญา ( ปัญญาวิมุติ ) อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะได้ในปัจจุบัน ภิกษุนี้ เรียกว่าอภุโตภาควิมุต ( ผู้พ้นทั้งสองทาง ) ไม่มีอุภโตภาควิมุตอย่างอื่นยอดเยี่ยมกว่า ประณีตกว่า.

    เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระอานนท์ก็ชื่นชมภาษิตของพระของพระผู้มีพระภาค.

    ( หมายเหตุ : มหานิทานสูตรนี้ เป็นการแสดงเรื่องความเวียนว่ายตายเกิด โดยเเสดงเงื่อนต้น ที่วิญญาณและนามรูป ต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน ทำให้เวียนว่ายตายเกิด และเป็นเหตุให้มีการบัญญัติอัตตาตัวตน ผู้รู้แจ้งความจริงย่อมไม่ติดในบัญญัตินั้น ๆ ในที่สุดได้แสดงถึงวิญญาณฐิติ คือที่ตั้งแห่งวิญญาณ หรือประเภทแห่งสัตว์โลก ๗ กับแสดงอายตนะ ๒ คือพวกที่วิญญาณไม่ปรากฏ กับปรากฏ แต่ไม่ชัด ๒ พวก ในที่สุดได้แสดงวิโมกข์ คือความหลุดพ้น ๘ ประการ ที่ผู้เข้าออกได้คล่องแคล่ว จะชื่อว่าผู้พ้นด้วยสมาธิและปัญญา ความจริงควรจะได้อธิบายรายละเอียดว่า ข้อไหนมีความพิสดารอย่างไร แต่ถ้าทำอย่างนั้นจะไม่จบตามกำหนด จึงต้องขอผ่านไป เสนอแต่ความสำคัญ ).


๑. ฉบับยุโรปเป็นปายาสิสูตร

๒. ผู้รับใช้พระพุทธเจ้า

๓. อรรถกถาแก้ว่า เป็นของง่าย และตื้นสำหรับพระอานนท์จริง แต่ยากสำหรับคนทั่งไป ทั้งนี้เพราะพระอานนท์เป็นพหูสูตผู้สดับตรับฟังมาก และมีปัญญา

๔. คำว่า วิญญาณ ในที่นี้ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ เพราะทรงใช้คำว่า วิญญาณ ก้าวลงในท้องของมารดา ในตอนขยายความต่อจากนี้. แต่ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่มที่ ๑๖ หน้า ๖ ทรงอธิบายวิญญาณว่า ได้แก่วิญญาณ ๖ อันหมายถึงธาตุรู้ที่ปรากฏทางตา หู เป็นต้น.

๕. อุปบัติ อ่านว่า อุปะบัด เป็นคำคู่กับจุติ. จุติ หมายถึงเคลื่อนจากฐานะเดิม อุปบัติ หมายถึงเข้าถึงฐานะใหม่

๖. คำว่าอัตตาเล็กน้อย ถ้าเทียบกับศาสนาพราหมณ์ น่าจะหมายถึงอัตตาของแต่ละคน ส่วนอัตตาหาที่สุดมิได้ หรืออนันตอัตตา น่าจะหมายถึงอัตตาใหญ่ หรืออัตตาสากล ที่เรียกว่าปรมาตมัน แต่อรรถกถาอธิบายว่า ผู้ไม่ได้เจริญกสิณนิมิต ย่อมบัญญัติอัตตาเล็กน้อย ถ้าได้เจริญกสิณนิมิต ย่อมบัญญัติอัตตาหาที่สุดมิได้

๗ . อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่พวกเวมานิกเปรต คือเปตรที่ได้วิมาน ซึ่งได้รับความสุขความทุกข์สลับกันไป เปตรพวกนี้ ไม่จัดอยู่ในอบายภูมิ . ดูอรรถกถาเล่ม ๒ หน้า ๑๒๙

๘. คำแปลเหล่านี้ได้ที่นี่ หมายเลข ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐,

  


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ