บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



 

หมวดพระสุตตันตะ

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๒
ชื่อทีฆนิกาย
๑.มหาปทานสูตร
๒.มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร
๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร
๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร
๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร

 

หน้า ๑ ๑.มหาปทานสูตร
..1.พระวิปัสสี
..2. พระสิขี
..3.พระเวสสภู
..4.พระกุกสันธะ
..5.พระโกนาคมนะ
..6.พระกัสสปะ
..7.พระโคตมะ
(พระองค์ปัจจุบัน )
..ธรรมดาของ
พระโพธิสัตว์
..วิปัสสีกุมารประสูติ
จนถึงเสด็จออกผนวช
..ตรัสรู้และแสดงธรรม
๒ . มหานิทานสูตร
..อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
..การบัญญัติและ
ไม่บัญญัติอัตตา
..ความคิดเห็นเรื่อง
เวทนาเกี่ยวกับอัตตา
..ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง
..อายตนะ ๒
..ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
..วิโมกข์ ๘
..สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘

 

หน้า ๒ ๓. มหาปรินิพ
พานสูตร

..เสด็จสวนมะม่วง
หนุ่มและเมือง
นาฬันทา
..เสด็จปาฏลิคาม
..เสด็จโกฏิคาม
และนาทิกคาม
..เสด็จป่ามะม่วง
ของนางอัมพปาลี
..เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม
..ทรงปลงอายุ
สังขาร
..เสด็จป่ามหาวัน
ประชุมภิกษุสงฆ์
..เสด็จภัณฑ
คามและที่อื่น ๆ
..ฉันอาหารของ
นายจุนทะ
..ระหว่างที่เสด็จ
สู่กรุงกุสินารา
..สถานที่ควร
สังเวช ๔ แห่ง
..วิธีปฏิบัติในสตรี
และพระพุทธสรีระ
.. ผู้ควรแก่สตูป
..ตรัสสรรเสริญ
พระอานนท์
..ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา
..โปรดสุภัทท
ปริพพาชก
..พระดำรัสตรัสสั่ง
..ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม
..ปัจฉิมโอวาท
..ลีลาในการปริ
นิพพาน
..การถวายพระเพลิง

 

หน้า ๓ ๔. มหาสุทัสสนสูตร
..การบำเพ็ญฌาน
และพรหมวิหาร
..ตรัสสรุปเป็นคำสอน
๕ ชนวสภสูตร
๖ . มหาโควินทสูตร ๗. มหาสมยสูตร
๘ . สักกปัญหาสูตร

 

หน้า ๔ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
..การพิจารณา
กายแบ่งออก
เป็น ๖ ส่วน
..การพิจารณา
เวทนา ๙ อย่าง
..การพิจารณา
เวทนาจิต ๑๖ อย่าง
..การพิจารณา
ธรรมแบ่งออก
เป็น ๕ ส่วน
..อานิสงส์สติปัฏฐาน
๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร

 

เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
หน้า ๓

๔. มหาสุทัสสนสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์

   พระสูตรนี้เท่ากับเป็นการขยายความในมหาปรินิพพานสูตร ตอนที่ตรัสตอบพระอานนท์ เรื่องกรุงกุสินาราเคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวตี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงปกครอง ).

    พระผู้มีพระภาคทรงพรรณาความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกรุงกุสาวตี และทรงพรรณนาถึงรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักพรรดิ์ คือ :-
    ๑. จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่าง ๆ ได้ นำชัยชนะมาสู่.
    ๒. ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ชื่ออุโบสถ.
   ๓. ม้าแก้ว สีขาวล้วน ชื่อวลาหก.
   ๔. แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์.
   ๕. นางแก้ว รูปร่างงดงาม มีสัมผัสนิ่มนวล.
   ๖. ขุนคลังแก้ว (คฤปติรตนะ ) ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างเลิศ.
   ๗. ขุนพลแก้ว ( ปริณายกรตนะ ) .     บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ

    อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ . ทรงมีความสำเร็จ ( ฤทธิ์ ) ๔ ประการ คือ :-
    ๑. รูปงาม
    ๒. อายุยืน
    ๓. มีโรคน้อย
    ๔. เป็นที่รักของพราหมณ์และคฤหบดี ( ประชาชน ).

    นอกจากนั้นยังทรงพรรณนาถึงสระโบกขรณี, ทรัพย์สิน , ปราสท อันวิจิตรงดงามน่าชื่นชม.

   

การบำเพ็ญฌานและพรหมวิหาร

    ครั้นแล้วทรงแสดงว่าพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงเห็นว่า ผลดีต่าง ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรมดีคือทาน ( การให้ ) ทมะ ( การฝึกจิต ) และ สัญญมะ ( การสำรวมจิต ). จึงทรงบำเพ็ญฌานสงบความตรึกทางกาม ความตรึกทางพยาบาท และความตรึกทางเบียดเบียน ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ทรงแผ่พระมนัสอันประกอบด้วยเมตตา ( คิดให้เป็นสุข ) กรุณา ( คิดให้พ้นทุกข์ ) มุทิตา ( พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และอุเบกขา ( วางใจเป็นกลาง ) ไปทั่งสี่ทิศ.

    ทรงสั่งลดการเข้าเฝ้าให้น้อยลง ( เพื่อทรงมีเวลาอบรมทางจิตใจได้มากขึ้น ) ภายหลังพระราชเทวีพระนามว่า สุภัททา สั่งจัดจตุรังคินีเสนา ( ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพเดินเท้า ) ซึ่งขุนพลแก้วก็จัดให้ พระนางเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ขอให้ทรงเห็นแก่สมบัติ เห็นแก่ชีวิต . แต่กลับตรัสตอบขอให้พระราชเทวีทรงขอร้องใหม่ในทางตรงกันข้าม คืออย่าเห็นแก่สมบัติ อย่าเห็นแก่ชีวิต เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นของธรรมดา การตายของผู้มีความกังวล ห่วงใย เป็นทุกข์ และถูกติเตียน.

    พระราชเทวีก็ทรงกรรเเสง และฝืนพระหฤทัย เช็ดน้ำพระเนตร ขอร้องใหม่ ตามที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงแนะนำนั้น และต่อมาไม่ช้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สวรรคต และเข้าถึงพรหมโลก เพราะเจริญพรหมวิหาร.

   

ตรัสสรุปเป็นคำสอน

   ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสสรุปว่า พระองค์เองได้เป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์นั้น พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสมบัตินานาประการ แม้จะมีนครอยู่ในปรกครองมากหลาย .     ก็อยู่ครอบครองได้เพียงนครเดียว คือนครกุสาวตี. แม้จะมีปราสาทมากหลาย แต่อยู่ครอบครองได้เพียงปราสาทเดียว คือธัมมปราสาท . แม้จะมีเรือนยอดมากหลาย แต่ก็อยู่ครอบครองได้เพียงหลังเดียว คือเรือนยอดชื่อมหาวิยูหะ. แม้จะมีบัลลังก์มากหลาย แต่ก็ได้ใช้คราวละเพียงบัลลังก์เดียว. แม้มีช้างมากหลาย แต่ก็ขี่ได้เพียงคราวละตัวเดียว คือพญาช้างอุโบสถ. แม้จะมีม้ามากหลาย แต่ก็ขึ้นขี่ได้เพียงละคราวเดียว คือพญาม้าวลาหก. แม้จะมีรถมากหลาย แต่ก็ขึ้นสู่ได้เพียงคราวละคันเดียว คือรถเวชยันต์. แม้จะมีสตรีมากหลาย แต่ก็มีสตรีที่ปฏิบัติรับใช้เพียงคราวละคนเดียว. แม้จะมีคู่ผ้า ( ผ้านุ่งผ้าห่ม ) มากหลาย แต่ก็นุ่งห่มเพียงคราวละคู่เดียว. แม้จะมีถาดอาหารมากหลาย แต่บริโภคได้อย่างมากเพียงจุทะนานเดียว พร้อมทั้งกับข้าว. ดูเถิด อานนท์ ! สังขารทั้งปวงเหล่านั้น ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปรวนแปรแล้ว. สังขารไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าวางใจอย่างนี้ จึงควรที่จะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเสีย.

   

๕ ชนวสภสูตร
สูตรว่าด้วยยักษ์ชื่อชนวสภะ

   ( พระสูตรนี้ก็มีข้อความขยายความแห่งมหาปรินิพพานสูตรเช่นเดียวกัน คือเล่าเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อประทับ ณ โรงพักคนเดินทาง ทำด้วยอิฐที่นาทิกคาม ระหว่างเสด็จสู่กรุงเวสาลี).

    พระอานนท์กราบทูลถามถึงว่า ผู้นั้นผู้นี้ตายไปเกิดที่ไหน และพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเป็นราย ๆ ไป.

    ในส่วนที่เกี่ยวกับพระเข้าพิมพิสาร พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า ได้มาปรากฏต่อพระองค์ ประกาศตนว่าไปเกิดเป็นยักษ์ .     ชื่อชนวสภะ และว่าตนมีความหวังจะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ( คือพระเจ้าพิมพสารเป็นพระโสดาบันอยู่แล้ว จึงหวังจะได้บรรลุขั้นต่อไป คือการเป็นพระสกทาคามี ได้แก่พระอริยบุคคลผู้จะมาเกิดเพียงครั้งเดียว ) แล้วเล่าว่า ตนเคยไปประชุมที่ธรรมสภาในดาวดึงเทวโลก ได้เห็นว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ซึ่งไปเกิดในที่นั้นรุ่งเรืองเหนือเทพอื่น ๆ ทั้งผิวพรรณ และโดยยศ พร้อมทั้งได้เล่าถึงภาษิตต่าง ๆ ของสนังกุมารพรหม ซึ่งกล่าวในธรรมสภา ในใจความดังต่อไปนี้:-

    ๑. ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ทำให้บริบูรณ์ในศีล ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ( สูงสุดในชั้นกาม ) ลงมาถึงชั้นจาตุมหาราช ( เทพประจำทิศทั้งสี่ ) อย่างต่ำที่สุด ก็เป็นคนธรรพ์ ( เทพที่สิงอยู่ ณ ต้นไม้).

    ๒. อิทธิบาท ( คุณให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่าง ) ทำให้สมณพราหมณ์ในอดีต อนาคต ปัจจุบันแสดงฤทธิ์ได้ด้วยประการต่าง ๆ .

    ๓. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้โดยลำดับ ซึ่งการบรรลุโอกาส ๓ เพื่อบรรลุความสุข. โอกาส ๓ คือ :             ๑. คนที่เคยคลุกคลีด้วยกาม ด้วยอกุศลธรรม ภายหลังไม่คลุกคลี ย่อมได้สุขโสมนัส ( สุขกาย สุขใจ หมายถึง บรรลุฌานที่ ๑ )     ๒. คนที่มีเครื่องปรุงกาย เครื่องปรุงวาจา เครื่องปรุงจิตอันหยาบ อันไม่สงบระงับ ภายหลังสงบระงับได้ ย่อมได้สุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุฌานที่ ๒ ถึงที่ ๔ ) .     ๓. คนที่ไม่รู้จักสิ่งที่เป็นกุศล , อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ , ควรเสพ , ไม่ควรเสพ , เลว , ประณีต , ดำ , ขาว และมีส่วนเปรียบ ตามความเป็นจริง ภายหลังได้สดับอริยธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงรู้จักสิ่งเหล่านั้นตามความจริงก็จะละอวิชาเสียได้ วิชชาก็จะเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีสุขโสมนัสยิ่งขึ้น ( หมายถึงได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ).

    ๔. พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่างไว้ดีแล้ว ( ทรงแสดงการตั้งสติพิจารณากาย , เวทนา , จิต , ธรรม ทั้งภายในภายนอก ).

    ๕. ธรรม ๗ ประการ คือ ความเห็นชอบ , ความดำริชอบ , การเจรจาชอบ , การกระทำชอบ , การเลี้ยงชีพชอบ , ความเพียรชอบ , การตั้งสติชอบ เป็นบริขารของสมาธิ เป็นไปเพื่อเจริญสมาธิ ทำสมาธิให้บริบูรณ์ . ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อันแวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ ชื่อว่าอนิยสมาธิ อันเรียกว่า มีอุปนิสัย ( บริวาร ) บ้าง มีบริขาร (เครื่องประกอบ ) บ้าง.

    หมายเหตุ :- ในพระสูตรนี้ เรื่องที่เกี่ยวกับเทวดาและสวรรค์เป็นเรื่องที่พึงศึกษาและพิจารณา แต่สาระสำคัญได้ว่า อยู่ที่ข้อธรรมอันพึงปฏิบัติที่ย่อไว้ รวม ๕ ข้อดังกล่าวมาแล้ว.

   

๖ . มหาโควินทสูตร
สูตรว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. บุตรแห่งคนธรรพ์ชื่อปัญจสิขะเข้าไปเฝ้ากราบทูลเล่าเรื่องที่ได้พบเห็นมาจากเทพชั้นดาวดึงส์ ในที่ประชุมชื่อสุธัมมสภา ท้าวสักกะได้กล่าวพรรณนาพระคุณของพระพุทธเจ้า ๘ ประการ คือ:-

    ๑. ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์.

    ๒. ทรงแสดงธรรมอันเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตนเป็นต้น.

    ๓. ทรงแสดงธรรมอันเป็นกุศล , อกุศล , มีโทษ , ไม่มีโทษ, ควรเสพ , ไม่ควรเสพ , เลว , ปราณีต , ดำ , ขาว และมีส่วนเปรียบ.

    ๔. ทรงบัญญัติด้วยดี ซึ่งข้อปฏิบัติอันจะนำไปสู่พระนิพพานแก่พระสาวก. พระนิพพานและข้อปฏิบัติก็เข้ากันได้เหมือนน้ำในแม่น้ำคงคากับยมุนา.

    ๕. ทรงได้สหาย คือพระเสขะ.    ผู้ปฏิบัติ และพระอรหันต์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว แต่ก็ทรงปลีกพระองค์จากพระสหายเหล่านั้น ทรงประกอบความยินดีในการอยู่แต่พระองค์เดียว .

   ๖. ทรงมีลาภ และชื่อเสียงอันเพียบพร้อม มีกษัตริย์ เป็นต้น รักใคร่ แต่ก็เสวยกระยาหารอย่างปราศจากความเมา.

    ๗. ทรงพูดอย่างใดอย่างนั้น ทำอย่างใดอย่างนั้น.

    ๘. ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง มีความดำริอันสมบูรณ์ ( ไม่ติดอยู่เพียงขั้นใดขั้นหนึ่ง ).

   ทั้งแปดข้อนี้ ท้าวสักกะกล่าวว่า ไม่มีศาสดาใดเทียบพระผู้มีพระภาคทั้งในอดีตและปัจจุบัน.

    ต่อมามีแสงสว่างอันโอฬารปรากฏขึ้น สนังกุมารพรหมก็นรมิตอัตตภาพอันหยาบให้ปรากฏแก่เทพชั้นดาวดึงส์ ถามทราบความว่า กำลังสนทนากันเรื่องอะไร แล้วสนังกุมารพรหมก็เล่าเรื่องโชติปาลมาณพผู้เป็นบุตรของโควินทพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมปติ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นปุโรหิตแทนบิดาของตน เมื่อท่านถึงแก่กรรม เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วก็ทำหน้าที่เจริญรอยตามบิดา จนคนทั้งหลายขนานนามมาว่า มหาโควินทพรหามณ์.

    ต่อมาเมื่อพระเจ้าทิสัมปติสวรรคต เรณุราชกุมารผู้เป็นพระราชโอรส และเป็นพระสหายของมหาโควินทพราหมณ์ขึ้นเสวยราชย์ ก็ตรัสสั่งโควินทพราหมณ์ให้แบ่งราชสมบัติออกเป็น ๗ ส่วน ส่วนหนึ่งเพื่อพระองค์ อีก ๖ ส่วนเพื่อกษัตริย์ราชกุมารอื่น ๆ ที่เป็นพระสหายรักใคร่ จึงมี ๗ แคว้น ๗ ราชธานี ดังนี้
    ๑. แคว้นกาลิงคะ    ราชธานี  ชื่อทันตปุระ
    ๒. แคว้นอัสสกะ    ราชธานี  ชื่อโปตนะ
    ๓. แคว้นอวันตี     ราชธานี ชื่อมาหิสสติ.
    ๔. แคว้นโสจิระ.    ราชธานี ชื่อโรรุกะ.
    ๕. แคว้นวิเทหะ    ราชธานี   ชื่อมิถิลา
    ๖. แคว้นอังคะ    ราชธานี  ชื่อจัมปา
    ๗. แคว้นกาสี   ราชธานี ชื่อพาราณสี.

    มหาโควินทพราหมณ์เป็นปุโรหิตถวายอนุสาสน์แด่พระมหากษัตริย์ทั้งเจ็ดแคว้นนั้น. ต่อมาได้กราบทูลลาพระมหากษัตริย์ทั้งเจ็ดออกบวช ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย เป็นราชาของราชาทั้งหลาย เป็นพรหมของพวกพราหมณ์ และเป็นเทวดาของพวกคฤหบดี ใครไอ จาม หรือพลาดหกล้มก็เปล่งวาจาว่า ขอนมัสการมหาโควินทพราหมณ์บ้าง สัตตปุโรหิต ( ปุโรหิตของพระราชาทั้งเจ็ด ) บ้าง มหาโควินทพราหมณ์ได้เจริญฌานมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์ มีสาวกปฏิบัติตามได้ผลเป็นอันมาก นี่เป็นเรื่องเล่าของสนังกุมารพรหมในเทวสภาในดาวดึงส์ . ปัญจสิขะ บุตรแห่งคนธรรพ์ เล่าถวายพระผู้มีพระภาคอีกต่อหนึ่ง.

   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์เองได้เสวยพระชาติเป็นมหาโควินทพราหมณ์ในครั้งนั้น แต่ในครั้งนั้น ทรงชี้ทางแก่สาวกเพียงแค่ที่จะไปอยู่ร่วมกับพรหมได้ แต่ในชาตินี้ทรงแสดงมรรค ๘ อันเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ( สูงกว่าพรหมโลก )

   

๗ . มหาสมยสูตร
สูตรว่าด้วยการะประชุมใหญ่

   พระผุ้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป.

    ครั้งนั้น เทพชั้นสุทธาวาส ๔ ตน คิดว่า เทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ น่าที่พวกตนจะไปเฝ้า และกล่าวคาถากันคนละบท โดยใจความพรรณนาความประสงค์ที่มา ความประพฤติชอบของพระสงฆ์ และพรรณนาว่า ผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะย่อมไม่ไปสู่อบาย

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ตรัสเล่าว่า เทวดามาประชุมครั้งใหญ่ แล้วตรัสประกาศชื่อของเทวดาเหล่านั้นโดยละเอียด

    หมายเหตุ: พระสูตรนี้แสดงหลักทางพระพุทธศาสนาว่า พุทธะ คือท่านผู้ตรัสรู้นั้น เป็นผู้ที่สูงกว่าเทวดาทุกประเภท ไม่ว่าเทวดาชั้นต่ำสุด หรือสูงสุด ถึงชั้นพรหมก็พากันนอบน้อมต่อพุทธะหรือพระพุทธเจ้า เพราะพุทธะเป็นสัญญลักขณ์ของความบริสุทธิ์สะอาดปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง และเป็นสัญญลักขณะแห่งเทพปัญญาความรู้เท่าทันความจริงที่เป็นเหตุให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้

   

๘ . สักกปัญหาสูตร
สูตรด้วยปัญหาของท้าวสักกะ

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ้ำอิทสาละ ใกล้เวทยิกบรรพต ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ ชื่ออัมพสณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ.

    ท้าวสักกะใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จึงเรียกปัญจสิขะบุตรคนธรรพ์มา ชวนให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยกัน ปัญจสิขะถือพิณมีสีเหลืองเหมือนผลมะตูมไปด้วย เมื่อไปถึงที่ประทับแล้ว ท้าวสักกะจึงให้ปัญจสิขะบุตรคนธรรพ์หาทางทำความพอพระทัยให้พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะได้เข้าไปเฝ้า.

    ปัญจสิขะบุครคนธรรพ์ถือพิณเข้าไปยืน ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ไม่ไกลหรือใกล้เกินไป ดีดพิณ กล่าวคาถาด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระอรหันต์ และกาม.

    พระผู้มีพระภาคตรัสชมแก่ปัญจสิขะบุตรคนธรรมพ์ว่า เสียงพิณกับเสียงเพลงขับเข้ากันดี แล้วตรัสถามว่า คาถาอันเกี่ยวด้วยพระพุทธ เป็นต้นนี้ แต่งไว้ตั้งแต่ครั้งไร . ปัญจสิขะกราบทูลว่า ตังแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ๆ ประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งน้ำเนรัญชรา.

    ครั้นได้โอกาส ท้าวสักกะพร้อมด้วยบริวารก็เข้าไปเฝ้า เมื่อได้ตรัสสัมโมทียกถาพอสมควรแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้ท้าวสักกะกราบทูลถามปัญหาได้ ต่อไปนี้เป็นคำถามและพระพุทธดำรัสตอบ.

    ๑. ถาม:เทวา  มนุษย์   อสูร  นาค  คนธรรพ์ และหมู่สัตว์เป็นอันมากอื่น ๆ ถูกอะไรผูกมัดแม้ตั้งใจว่าจะไม่จองเวร   ไม่ใช่อาชฌา ไม่มีศัตรู ไม่เบียดเบียน  อยู่อย่างไม่มีเวร แต่ก็ต้องจองเวร  ใช่อาญา มีศัตรู เบียดเบียน และอยู่อย่างมีเวร.
    ตอบ:มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเป็นเครื่องผูกมัด.

    ๒. ถาม: ความริษยาและความตระหนี่เกิดจากอะไร.
    ตอบ: เกิดจากสิ่งเป็นที่รักและสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่ที่รัก ก็ไม่มีความริษยาและความตระหนี.

    ๓. ถาม: สิ่งเป็นที่รักและไม่และเป็นที่รักเกิดจากอะไร.
    ตอบ: เกิดจากคามพอใจ เมื่อไม่มีความพอใจ ก็ไม่มีสิ่งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก..

    ๔. ถาม: ความพอใจเกิดจากอะไร.
    ตอบ: เกิดจากความตรึก ( วิตก ) เมื่อไม่มีความตรึก ก็ไม่มีความพอใจ.

   ๕. ถาม:ความตรึกเกิดจากอะไร .
    ตอบ: เกิดจากปปัญจสัญญาสังขานิทาน คือส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลส ( ตัญหา ความทะยานอยาก , มานะ ความถือตัว , ทิฏฐิ ความเห็น ) เป็นเหตุให้เนิ่นช้า.

   ๖. ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงเชื่อว่าปฏิบัติข้อที่ปฏิบัติที่สมควร ที่ให้ถึงความดับส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.
   ตอบ :โสมนัส ( ความดีใจ ) โทมนัส ( ความเสียใจ ) อุเบกขา ( ความวางเฉย ) มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ คือเมื่อส้องเสพโสมนัส เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นก็ไม่ควรส้องเสพ ; ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้นสิ่งนั้นก็ควรส้องเสพ . ธรรมที่ควรส้องเสพนั้น คือที่มีวิตก ( ความตรึก ) มีวิจาร ( ความตรอง ) ; ที่ไม่มีวิตก วิจาร ; ที่ไม่มีวิตก วิจาร แต่ปราณีตขึ้นไปกว่า . ( หมายถึงโสมนัส เป็นต้น อันเกิดเพราะเนกขัมมะบ้าง เพราะวิปัสสนาบ้าง เพราะอนุสสติบ้าง เพราะปฐมฌาน เป็นต้นบ้าง – อรรถกถาบ้าง ). ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติข้อปฏิบัติที่สมควร ที่ให้ถึงความดับส่วนแห่งความกำหนดหมายกิเลสเป็นเหตุให้เนิ่นช้า.

   ๗.ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงเชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ).
    ตอบ:ความประพฤติทางกาย ( กายสมาจาร ) ความประพฤติทางวาจา ( วจีสมาจาร ) และการแสวงหา ( ปริเยสนา ) อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ คือเมื่อส้องเสพความประพฤติทางกายเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนันก็ไม่ควรส้องเสพ ; ถ้าอกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น สิ่งนั้นก็ควรส้องเสพ ภิกษุผู้บฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมปาฏิโมกข์.

   ๘.ถาม:ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์ ( คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ).
   ตอบ : อารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งควรส้องเสพ อีกอย่างหนึ่งไม่ควรส้องเสพ. ( พอตรัสถึงเพียงนี้ ท้าวสักกะก็กราทูลถามว่า เข้าใจความหมายว่า ที่ไม่ควรส้องเสพ และควรส้องเสพนั้น กำหนดด้วย เมื่อส้องเสพแล้วอกุศลธรรมหรือกุศลธรรมจะเจริญกันกันแน่ ).

   ๙.ถาม: สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีวาทะ มีศีล มีฉันทะ มีจุดหมายปลายทาง อย่างเดียวกันใช่หรือไม่.
    ตอบ:ไม่ใช่ เพราะโลกธาตุเป็นอเนก มีธาตุต่าง ๆ กัน สัตว์ยึดถือธาตุอันใด ก็กล่าวเพราะความยึดถือธาตนั้นว่า นี้แลจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ.

   ๑๐. ถาม:สมณพราหมณ์ทั้งปวง มีความสำเร็จ มีความปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องยึด ( โยคักเขมี ) เป็นพรหมจารี มีที่สุดล่วงส่วน ใช่หรือไม่ ( คำว่า ล่วงส่วน หมายความว่า เด็ดขาด ไม่กลับกำเริบหรือแปรปรวนอีก.
    ตอบ:ไม่ใช่ จะมีความสำเร็จ เป็นต้น ล่วงส่วน ก็เฉพาะผู้ที่พ้นแล้วจากตัญหา ( ความทะยานอยาก) เท่านั้น.

   ท้าวสักกะจึงกราบทูลว่า ตัญหาอันทำให้หวั่นไหว เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร ย่อมฉุดคร่า บุรุษเพื่อให้เกิดในภพนั้น ๆ ถึงความสูงบ้าง ต่ำบ้าง . ครั้นแล้วได้แสดงความพอใจที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาแก้ความสงสัยได้ เท่าที่เคยไปถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่น แทนที่จะตอบ กลับมาย้อนถามว่า เป็นใคร ครั้นรู้ว่าเป็นท้าวสักกะ ก็กลับถามปัญหายิ่ง ๆ ขึ้นว่า ทำกรรมอะไรไว้จึงเกิดเป็นท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ตอบไปตามที่ได้ฟัง ที่เล่าเรียนมา สมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็อิ่มเอิบใจ ว่าได้เห็นท้าวสักกะ ได้ถามปัญหา แล้ะท้าวสักกะได้ตอบแก่เรา กลายมาเป็นสาวกของข้าพระองค์ไป.

    ครั้นแล้วกล่าววาจาสุภาษิตอีกหลายประการ ในที่สุดได้เอามือลูบแผ่นดิน แล้วเปล่งอุทานว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส รวม ๓ ครั้ง.

    หมายเหตุ : พระสูตรนี้ มีท่วงทำนอง จะแก้ความเคารพบูชาเทวดาสำคัญ ๆ เช่น พระอินทร์หรือท้าวสักกะของบุคคลส่วนใหญ่ โดยชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา เทวดาเหล่านั้น ยังต่ำกว่าพระพุทธพุทธเจ้า ผู้มีพระปัญญาตรัสรู้ เท่ากับเป็นหลักการอันหนึ่งที่แสดงว่า ท่านผู้เป็นพุทธะ เป็นผู้ตรัสรู้หมดกิเลส มีความบริสุทธิ์สะอาดสูงกว่าเทวดาทั้งปวง.


๑. คำว่า ขุนพลแก้ว ในที่นี้ใช้ตามที่โบราณเคยใช้มา ตามคำอธิบายแท้ ๆ หมายถึงบัณฑิต ผู้เป็นที่ปรึกษาที่ฉลาดสามารถ แต่ในตอนต่อไป แสดงว่าเป็นผู้จัดกองทัพในการไปไหนด้วย คำโบราณที่ใช้ว่าขุนพลแก้วจึงมีทางเป็นไปได้

๒. คำว่า มากหลาย เป็นการถือเอาความจากคำว่าแปดหมื่นสี่พัน คือไม่จะเป็นต้องมีตัวเลขเท่านั้น ใช้เป็นสำนวนสำหรับหมายความว่ามาก

๓. คำว่า ยักษ์ ในที่นี้ หมายถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราช โดยปกติคำว่ายักษ์ แปลได้หลายอย่าง เช่น สัตว์ , เทพ , พระขีณาสพ , ราษส สุดแต่ความหมายในที่นั้น ๆ

๔. พระเสขะ คือพระอริยบุคคลชั้นต่ำกว่าพระอรหันต์ ยังต้องศึกษาเพื่อบรรลุธรรมอันสูงขึ้นไป

๕. อรรถกถาแก้ว่า แม้จะอยู่ในท่ามกลางสาวกเหล่านั้นก็ทรงเข้าสมาบัติ ไม่ติดหมู่คณะ.

๖. ในอรรถกถาว่า มเหสยะ

๗. หมายเหตุในอรรถกถาว่า โสวีระ

๘. หมายเหตุในอรรถกถาว่า โรทุกะ เรื่องชื่อแคว้นชื่อเมืองชื่อเมือง นำมากล่าวไว้ในที่นี้เพื่อประโยชน์ทางโบราณคดีด้วย

๙. คำว่า ความพอใจ แปลจากคำว่า ฉันทะ อรรถกถาอธิบายว่า ฉันทะมี ๕ ประการ คือ   ๑. ปริเยสฉันทะ ความพอใจในการแสวงหา   ๒. ปฏิลาภฉันทะ ความพอใจในการได้มา  ๓. ปริโภคฉันทะ ความพอใจในการบริโภค หรือใช้สอย   ๔. สันนิธิฉันทะ ความพอใจในการสะสม  ๕. วิสัชชนฉันทะ ความพอใจในการสละ

  


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ