บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



 

หมวดพระสุตตันตะ

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๒
ชื่อทีฆนิกาย
๑.มหาปทานสูตร
๒.มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร
๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร
๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร
๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร

 

หน้า ๑ ๑.มหาปทานสูตร
..1.พระวิปัสสี
..2. พระสิขี
..3.พระเวสสภู
..4.พระกุกสันธะ
..5.พระโกนาคมนะ
..6.พระกัสสปะ
..7.พระโคตมะ
(พระองค์ปัจจุบัน )
..ธรรมดาของ
พระโพธิสัตว์
..วิปัสสีกุมารประสูติ
จนถึงเสด็จออกผนวช
..ตรัสรู้และแสดงธรรม
๒ . มหานิทานสูตร
..อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
..การบัญญัติและ
ไม่บัญญัติอัตตา
..ความคิดเห็นเรื่อง
เวทนาเกี่ยวกับอัตตา
..ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง
..อายตนะ ๒
..ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
..วิโมกข์ ๘
..สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘

 

หน้า ๒ ๓. มหาปรินิพ
พานสูตร

..เสด็จสวนมะม่วง
หนุ่มและเมือง
นาฬันทา
..เสด็จปาฏลิคาม
..เสด็จโกฏิคาม
และนาทิกคาม
..เสด็จป่ามะม่วง
ของนางอัมพปาลี
..เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม
..ทรงปลงอายุ
สังขาร
..เสด็จป่ามหาวัน
ประชุมภิกษุสงฆ์
..เสด็จภัณฑ
คามและที่อื่น ๆ
..ฉันอาหารของ
นายจุนทะ
..ระหว่างที่เสด็จ
สู่กรุงกุสินารา
..สถานที่ควร
สังเวช ๔ แห่ง
..วิธีปฏิบัติในสตรี
และพระพุทธสรีระ
.. ผู้ควรแก่สตูป
..ตรัสสรรเสริญ
พระอานนท์
..ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา
..โปรดสุภัทท
ปริพพาชก
..พระดำรัสตรัสสั่ง
..ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม
..ปัจฉิมโอวาท
..ลีลาในการปริ
นิพพาน
..การถวายพระเพลิง

 

หน้า ๓ ๔. มหาสุทัสสนสูตร
..การบำเพ็ญฌาน
และพรหมวิหาร
..ตรัสสรุปเป็นคำสอน
๕ ชนวสภสูตร
๖ . มหาโควินทสูตร ๗. มหาสมยสูตร
๘ . สักกปัญหาสูตร

 

หน้า ๔ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
..การพิจารณา
กายแบ่งออก
เป็น ๖ ส่วน
..การพิจารณา
เวทนา ๙ อย่าง
..การพิจารณา
เวทนาจิต ๑๖ อย่าง
..การพิจารณา
ธรรมแบ่งออก
เป็น ๕ ส่วน
..อานิสงส์สติปัฏฐาน
๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร

 

เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
หน้า ๒

   

๓. มหาปรินิพพานสูตร
ว่าด้วยมหาปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

    เริ่มเรื่องเล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แคว้นมคธ ต้องการจะตีแคว้นวัชชีไว้ในอำนาจ.     จึงส่งวัสสการพราหมณ์ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเล่าความให้ทรงทราบแล้ว ให้วัสสการพราหมณ์ฟังดูว่าจะทรงพยากรณ์อย่างไร เพราะเชื่อว่าจะไม่ตรัสผิดความจริง.

    วัสสการพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากราบทูลเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามพระอานนท์ทีละข้อถึงธรรมะ ๗ ประการที่ชาววัชชีประพฤติกัน อันจะหวังความเจริญได้โดยส่วนเดียว ไม่มีเสื่อม ว่าพระอานนท์เคยได้ฟังบ้างหรือเปล่า พระอานนท์ก็กราบทูลว่า เคยได้ฟัง ธรรมะ ๗ ประการนั้น คือชาววัชชี

    ๑. จะหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์.

    ๒. จะพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจของชาววัชชี.

    ๓. จะไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ จะไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จะประพฤติปฏิบัติในวัชชีธรรมอันเป็นของเก่า.

    ๔. จะเคารพเชื่อฟังชาววัชชีผู้แก่เฒ่า.

    ๕. จะไม่ก้าวล่วงข่มแหงกุลสตรี ( หญิงที่มีสามีแล้ว ) และกุลกุมารี ( หญิงสาวที่ยังไม่มีสามี ).

    ๖. จะเคารพนับถือเจดีย์ของชาววัชชีทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยพลีกรรมอันเป็นธรรมที่เคยให้เคยทำ.

    ๗. จะจัดการรักษาคุ้มครองอันเป็นธรรม ในพระอรหันต์ของชาววัชชี จะตั้งใจว่า พระอรหันต์ที่ยังไม่มาขอให้มา ที่มาแล้วขอให้เป็นสุข.

    ครั้นแล้วได้ตรัสแก่วัสสการพราหมณ์ว่า พระองค์เคยตรัสแสดงวัชชีปริหานิยธรรม ( ธรรมะอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อมของชาววัชชี ) ๗ ประการ เมื่อประทับ ณ สารันทเจดีย์.

    วัสสการพราหมณ์ก็กราบทูลว่า เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็หวังความเจริญได้ ไม่มีเสื่อม จะกล่าวไยถึง ๗ ข้อ พระเจ้าอชาตศัตรูไม่ควรทำการรบกับชาววัชชี เว้นไว้แต่วิธียุและทำให้แตกกัน แล้วกราบทูลลากลับไป.

    เมื่อวัสสการพราหมณ์กลับไปแล้ว จึงตรัสให้เรียกประชุมภิกษุที่อยู่กรุงราชคฤห์ทั้งหมด แล้วทรงแสดงธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อมของภิกษุ ๗ อย่าง รวมเป็น ๕ นัย ๖ อย่าง ๑ นัย ( รวมเป็น ๓๑ ข้อ ).

    ระหว่างที่ประทับ ณ เขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์นั้น ทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.

   

เสด็จสวนมะม่วงหนุ่มและเมืองนาฬันทา

   ต่อจากนั้นเสด็จสวนมะม่วงหนุ่ม แสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก แล้วเสด็จเมืองนาฬันทา พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้ากราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสโต้ตอบด้วย และในที่นั้นก็ทรงแสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก

   

เสด็จปาฏลิคาม

   ครั้นแล้วเสด็จสู่ป่าฏลิคาม อุบาสกปาฏลิคาม มาเฝ้ากราลทูลเชิญให้เข้าไปในที่พัก ทรงแสดงโทษของความวิบัติจากศีล ๕ ประการ คือ  ๑ . เสื่อมทรัพย์   ๒. มีกิตติศัพท์ในทางชั่ว   ๓. เมื่อเข้าสู่บริษัทไม่องอาจ มีอาการเก้อเขิน   ๔. เป็นผู้หลง ถึงแก่ความตาย   ๕. เมื่อตายแล้ว ก็เข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต.     นรก   แล้วทรงแสดงอานิสงส์แห่งความสมบูรณ์ด้วยศีล ๕ ประการ ในทางตรงกันข้ามกับศีลวิบัติ.

    กล่าวถึงสุนิธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ชาวมคธ มาสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันชาววัชชี ( ชายแดนมคธกับวัชชี ตรงนั้นมีแม่น้ำคงคากั้นเป็นเขตแดน ทางมคธจึงสร้างเมืองยุทธศาสตร์ไว้ที่ปาฏลิคาม ) และได้นิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหาร ณ ที่อยู่ของตน เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปฉันเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา และเสด็จเดินทางต่อไป มหาอำมาตย์ทั้งสองตามส่งเสด็จ และตั้งชื่อประตูที่เสด็จผ่านว่า ประตูโคดม ตั้งชื่อท่าน้ำที่เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาว่า ท่าโคดม.

   

เสด็จโกฏิคามและนาทิกคาม

   เมื่อเสด็จข้ามแม่น้ำคงคาแล้ว ได้เสด็จต่อไป (ในแคว้นวัชชี ) สู่โกฏิคาม . ณ ที่นั้นทรงแสดงธรรมเรื่องอริยสัจจ์ ๔ และแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก ต่อจากนั้นได้เสด็จไปพัก ณ โรงพักคนเดินทางทำด้วยอิฐ ในนาทิกคาม. ณ ที่นั้นทรงแสดงธรรมปรารภคำถามของพระอานนท์ที่ว่า ผู้นั้นผู้นี้ตายไป มีคติเป็นอย่างไร โดยแสดงหลักธรรมที่ผู้ประพฤติปฏิบัติอาจพยาการณ์ตนเองได้ว่า จะพ้นคติที่ตกต่ำหรือไม่ และแม้ ณ นาทิกคามนั้น ก็ทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.

   

เสด็จป่ามะม่วงของนางอัมพปาลี

   จากนาทิกคามได้เสด็จไปพัก ณ ป่ามะม่วงของนางอัมพปาลี และได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายให้มีสติสัมปชัญญะ และโดยเฉพาะได้แสสดงการตั้งสติ ( สติปัฏฐาน) ๔ ประการ.

    นางอัมพปาลี ซึ่งเป็นหญิงนครโสเภณี ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่ามะม่วงของตน ก็สั่งเตรียมยานอย่างดี เดินทางไปเฝ้า และนิมนต์พระผู้มีพระภาคไปฉันที่บ้านของตน พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น.

    ฝ่ายกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่ามะม่วงของนางอัมพปาลีใกล้กรุงเวสาลี ก็สั่งเตรียมยานอย่างดี แต่งกายงดงาม ออกเดินทางไป สวนทางกับยานของนางอัมพปาลีถามทราบความว่า นางอัมพปาลีนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น จึงขอร้องให้มอบให้ตนเป็นผู้ถวายอาหารแทน โดยจะให้เงินแสนหนึ่ง นางอัมพปาลีตอบว่า แม้จะให้เมืองเวสาลี พร้อมทั้งอาหารก็ไม่ยอมให้ถวายอาหารแทนตน เมื่อกษัตริย์ลิจฉวีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็กราบทูลนิมนต์ฉันในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นางอัมพปาลีนิมนต์ไว้แล้ว ก็ดีดมือแสดงความเสียดาย.

    เมื่อไปฉันที่บ้านนางอัมพปาลีในวันรุ่งขึ้น นางอัมพปาลีก็ได้ถวายป่ามะม่วงแก่ภิกษุสงฆ์. ณ ป่ามะม่วงนั้น ทรงแสดงธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.

   

เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม

    ต่อจากนั้นได้เสด็จไปยังเวฬวคาม ( หมู่บ้านไม้มะตูม ) และตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษารอบเมืองเวสาลีได้ตามอัธยาศัย . ในระหว่างพรรษาทรงประชวร แต่ทรงเห็นว่า ยังไม่ได้ลาอุปฐาก ( ผู้รับใช้ ) ยังไม่ได้ลาภิกษุสงฆ์ ยังไม่สมควรปรินิพพาน จึงทรงขับไล่อาพาธด้วยความเพียร อธิษฐานชีวิตสังขาร ( ตั้งพระหฤทัยให้ดำรงชีวิตอยู่ ). เมื่อหายประชวรแล้ว พระอานนท์เข้าเฝ้ากราบทูลความกังวลใจที่เห็นทรงประชวร ตรัสตอบว่า พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมไม่มีภายใน ไม่มีภายนอก ไม่มีกำมือของอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ( ไม่ปิดบังธรรมะ ) ไม่ได้ทรงยึดถือว่าบริหารภิกษุสงฆ์ และมิได้ทรงยึดถือว่าภิกษุสงฆ์เป็นผู้เล่าเรียนจากพระองค์. ทรงเปรียบพระองค์ซึ่งแก่เฒ่าล่วงวัย มีพระชนมายุถึง ๘๐ ปีว่า เหมือนเกวียนเก่าที่ซ่อมด้วยไม้ไผ่ ตรัสเตือนให้พึ่งตน พึ่งธรรมะ และตรัสสอนสติปัฏฐาน ๔.

   

ทรงปลงอายุสังขาร

    เมื่อเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนิมิตโอภาสอันชัดเจน ( บอกใบ้อย่างชัดเจน ) แก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท ( ธรรมที่ให้บรรลุความสำเร็จผล ) ๔ ประการดีแล้ว ถ้าปรารถนาก็อาจมีอายุยืนอยู่ได้ถึงกัปป์หรือเกินกัปป์ .     แต่พระอานนท์นึกไม่ถึง จึงมิได้กราบทูลอาราธนา.

    เมื่อพระอานนท์ออกไปจากที่เฝ้า มาร .    จึงมาอาราธนาให้นิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์นั้น ( ปลงพระหฤทัยว่า ต่อไปนี้อีก ๓ เดือน จะเสด็จปรินิพพาน ) ก็เกิดแผ่นดินไหวมหัศจรรย์ เป็นต้น.

   พระอานนท์กราทูลถาม จึงตรัสตอบถึงเหตุแห่งแผ่นดินไหว แล้วทรงแสดงบริษัท ๘ มีขัตติยบริษัท เป็นต้น และการที่พระองค์เคยเสด็จเข้าไปสู่บริษัทเหล่านั้น ทำพระองค์ให้เข้ากันได้กับบริษัทเหล่านั้นแล้วทรงแสดงอภิภายยตนะ ( อารมณ์อันครอบงำธรรมะที่เป็นข้าศึก หรือธรรมะฝ่ายต่ำ ) ๘ ประการ วิโมกข์ ( ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้นจากธรรมะที่เป็นข้าศึก ) ๘ ประการ.

    แล้วตรัสเล่าเรื่องที่ปลงอายุสังขาร พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนชีพอยู่อีก ตรัสว่า มิใช่กาลที่จะขอร้องเสียแล้ว เพราะได้ทรงแสดงนิมิต ( เครื่องหมาย ) แสดงโอกาส ( แสงสว่าง – หมายถึงการบอกใบ้ ) อย่างชัดเจนแล้วหลายครั้ง คือที่กรุงราชคฤห์ ๑๐ แห่ง ที่กรุงเวสาลี ๖ แห่ง แต่พระอานนท์ก็มิได้อาราธนา บัดนี้พระองค์ทรงปลงอายุสังขารเสียแล้ว จึงมิใช่ฐานะที่จะทรงคืนความตั้งพระหฤทัย.

   

เสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์

   ต่อจากนั้นเสด็จสู่เรือนยอด ณ ป่ามหาวัน ทรงเรียกประชุมสงฆ์ที่อยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด ณ ที่นั้น แล้วทรงแสดงสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ๔ อย่าง สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ) ๔ อย่าง อิทธิบาท ( ธรรมอันให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ อย่าง อีนทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ) ๕ อย่าง พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ๕ อย่าง โพชฌงค์ ( ธรรมอันเป็นองค์ประกอบให้ได้ตรัสรู้ ) ๗ อย่าง และมรรค ( ข้อปฏิบัติหรือทางดำเนิน) ๘ อย่าง ( รวม ๓๗ ประการ) ว่าเป็นอภิญญาเทสิตธรรม ( ธรรมที่ทรงแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่ง ) แล้วตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อีก ๓ เดือนแต่นี้ พระองค์จะปรินิพพาน .

   

เสด็จภัณฑคามและที่อื่น ๆ

   แล้วเสด็จจากกรุงเวสาลีสู่ภัณฑคาม ทรงแสดงอริยธรรม ( ธรรมอันประเสริฐ ) ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) และทรงแสดงเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา โดยมาก.

    ต่อจากนั้นเสด็จสู่หัตถิคาม , อัมพคาม และโภคนคร โดยลำดับ ณ โภคนคร ทรงแสดงมหาปเทส ( หลักอ้างอิงสำหรับสอบสวนข้ออ้างของผู้อื่นที่ว่า เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ) ๔ ประการ โดยให้สอบกับพระสูตรเทียบกับพระวินัยก่อน.

   

เสด็จกรุงปาวา ฉันอาหารของนายจุนทะ

    ครั้นแล้วเสด็จสู่กรุงปาวา นายจุนทะบุตรช่างทองนิมนต์ฉัน ก็เสด็จไปฉัน พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย ตรัสเรียกให้นำสูกรมัททวะ ( มีผู้แปลว่า มังสะสุกรอ่อนบ้าง เห็ดชนิดหนึ่งบ้าง ) มาที่พระองค์ให้ถวายอาหารอื่นแด่พระสงฆ์ เมื่อฉันอาหารแล้วตรัสสั่งให้นำสูกรมัททวะนั้นไปฝังเสีย ต่อมาทรงประชวรลงพระโลหิตมีเวทนากล้า แต่ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นอาพาธนั้น ไม่ทรงเดือดร้อน.

   

ระหว่างที่เสด็จสู่กรุงกุสินารา

   ทรงเดินทางต่อไปยังกรุงกุสินารา ทรงแวะจากทาง ให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นถวายแล้วตรัสสั่งพระอานนท์ให้ไปตักน้ำมา ครั้งแรกน้ำขุ่นเพราะเกวียนประมาณ ๕๐๐ ผ่านไป พระอานนท์จึงไม่ตักกราบทูลเชิญให้เสด็จต่อไปยังกกุธานที แต่ตรัสซ้ำให้ไปตักน้ำมา คราวนี้กลับได้น้ำใส.

    ณ ที่นั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร เดินทางจะไปกรุงปาวา เข้าไปเฝ้าสนทนาด้วย พระองค์ก็รับสั่งโต้ตอบด้วย เมื่อจะจากไปได้ถวายผ้าเนื้อเกลี้ยงสีทองคู่หนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค ตรัสแนะให้ถวายพระองค์ผื่นหนึ่ง ถวายพระอานนท์ผื่นหนึ่ง เมื่อปุกกุสะไปแล้ว พระอานนท์ก็นำผ้าผืนที่ได้รับไปถวายพระผู้มีพระภาค และกราบทูลว่า พระฉวีวรรณผ่องใสยิ่งนัก ตรัสตอบว่า พระฉวีวรรณของพระองค์ย่อมผ่องใสเป็นพิเศษ ๒ คราว คือในคืนที่จะตรัสรู้ กับในคืนที่จะปรินิพพาน.

    ต่อจากนั้นเสด็จข้ามแม่น้ำกกุธา ตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกแก่นายจุนทะอย่าให้เดือดร้อนว่าพระองค์ฉันอาหารของเขาแล้วปรินิพพาน ให้ชี้แจงว่า บิณฑบาตที่ถวายก่อนตรัสรู้และก่อนปรินิพพานนั้นมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

    ครั้นแล้วเสด็จเลียบฝั่งนอกแม่น้ำหิรัญญวดี สู่ป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา ให้ตั้งเตียงผินพระเศียรไปทางทิศอุดร ทรงบรรทมมีสติสัมปชัญญะ ตรัสปรารภการบูชาด้วยการประพฤติธรรมว่ายอดเยี่ยม.

   

สถานที่ควรสังเวช ๔ แห่ง

    ทรงแสดงสังเวชนียสถาน คือสถานที่ควรสังเวช ๔ คือที่ที่พระตถาคตประสูติ , ตรัสรู้ , แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน ว่าเมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจาริกไป มีจิตเลื่อมใส และตายลง ก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์.

   

วิธีปฏิบัติในสตรีและพระพุทธสรีระ

    ทรงแสดงวิธีปฏิบัติในสตรี ( มาตุคาม ) ตามที่พระอานนท์กราบทูลถามว่า ไม่ควรมอง ถ้าจะเป็นจะมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ. แล้วทรงแสดงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ เช่นเดียวกับพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ์ ในเมื่อพระอานนท์กราบทูลถาม โดยทรงแสดงว่า ให้ห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี รวม ๕๐๐ ชั้น แล้วใส่ในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็ก ทำจิตกาธานด้วยของหอมแล้ว ทำการเผา สร้างสตูปไส้ในทางสี่แพร่ง.

   

ผู้ควรแก่สตูป

   ทรงแสดงถึงบุคคลผู้เป็นถูปารหะ ( ผู้ควรแก่สตูป ) ๔ คือ พระพุทธเจ้า พระปัจจเจกพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ์.

   

ตรัสสรรเสริญพระอานนท์

   พระอานนท์เข้าไปสู่วิหารเหนี่ยวสลักเพชร (หัวลิ้มประตู ทำรูปเป็นศรีษะวานร ) ยืนร้องไห้ ด้วยคิดว่า ท่านยังเป็นเสขะ ( ผู้ยังต้องศึกษา คือเป็นเพียงพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ) แต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ท่าน จักปรินิพพานเสียแล้ว.

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสเรียกให้เข้าเฝ้า แล้วตรัสปลอบใจว่า เป็นธรรมดาที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ จะปรารถนาให้สิ่งที่มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดามิให้ทรุดโทรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า ตั้งเมตตาทางกาย วาจา ใจ ในพระองค์มาตลอดกาลนาน ได้ชื่อว่าทำบุญไว้แล้ว จงเริ่มตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน.

    ครั้นแล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า ภิกษุผู้อุปฐาก ( รับใช้ ) พระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและในอนาคต ก็อย่างยิ่งเพียงเท่าพระอานนท์. ทรงสรรเสริญว่า พระอานนท์เป็นบัณฑิต รู้กาลที่ควรจะจัดให้ใครเข้าเฝ้า และเป็นที่พอใจใคร่สดับธรรมของบริษัท ๔.

   

ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา

   พระอานนท์กราบทูลถามว่า อย่าปรินิพพานในกรุงกุสินารานี้ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก เมืองดอย เป็นกิ่งเมือง ขอให้เสด็จไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ ๆ เช่น จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี โกสัมพี พาราณสี แต่ตรัสตอบว่า กรุงกุสินารา เคยเป็นราชธานีนามว่า กุสาวตี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ์ทรงปกครองเคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งมาแล้ว . ครั้นแล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวที่จะปรินิพพานแก่มัลลกษัตริย์ซึ่งพากันเศร้าโศก และมาเฝ้าในราตรีนั้น พระอานนท์ก็จัดให้เข้าถวายบังคมเป็นครอบครัวไป เสร็จสิ้นภายในยามแรกแห่งราตรี.

   

โปรดสุภัททปริพพาชก

   ครั้งนั้น ปริพพาชก ( นักบวชนอกพุทธศาสนา ) ชื่อสุภัททะ มาเฝ้า พระอานนท์จะไม่ให้เข้าเฝ้า แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ เมื่อกราบทูลถาม ทรงโต้ตอบแสดงธรรมให้ฟัง ก็ขอบวชและเพียรพยายามจนได้บรรลุอรหัตตผลในไม่ช้า นับเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายที่ทันเห็นพระพุทธเจ้า.

   

พระดำรัสตรัสสั่ง

   ครั้นแล้วสั่งความแก่พระอานนท์ ดังต่อไปนี้ :-
๑. ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จักเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป.
๒. เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายไม่พึงเรียกกัยด้วยคำว่า อาวุโส เช่น ที่เรียกกันอยู่ในบัดนี้ พึงเรียกภิกษุอ่อนกว่า โดยชื่อ โดยโครต หรือ ด้วยคำว่า อาวุโส ( ผู้มีอายุ ) พึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ถันเต ( ท่านผู้เจริญ ) หรือ อายัสมา ( ท่านผู้มีอายุ ).
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เมื่อสงส์ปรารถนาก็จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้.
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงส์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบไม่พึงว่ากล่าวตักเตือน.

   

ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม

   ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงเปิดโอกาสว่า ถ้าภิกษุแม้รูปหนึ่งมีความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ ก็ให้ถามได้ อย่าเดือดร้อนใจว่า ศาสดาอยู่ต่อหน้า แต่มิได้ถามในที่ต่อหน้า . แต่ก็หามีผู้ใดถาม พระอานนท์จึงกราบทูลแสดงความอัศจรรย์ ตรัสตอบว่า เพราะภิกษุที่ประชุมกันอยู่ถึง ๕๐๐ นี้ อย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน.

   

ปัจฉิมโอวาท

   ครั้นแล้วตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ? บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ( สมบรูณ์ ) เถิด” นี้เป็นปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.

   

ลีลาในการปรินิพพาน

   ครั้นแล้วทรงเข้าฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เป็นลำดับไปจนครบรูปฌาน ( ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) ๔ อรูปฌาน ( ฌานมีสิ่งมิใช่รูปเป็นอารมณ์ ) ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ( สมาบัติที่ดับสัญญาความกำหนดหมาย และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ) .    ต่อจากนั้นทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ ย้อนกลับเข้าสู่อรูปฌานที่ ๔ ( คล้ายกับออกจากตึกชั้นที่ ๙ ย้อนลงสู่ชั้นที่ ๘ ) โดยนัยนี้ ทรงย้อนกลับไปถึงฌานที่ ๑ ออกจากฌานที่ ๑ เข้าสู่ฌานที่ ๒ เรื่อยไปจนถึงฌานที่ ๔ เมื่อออกจากฌานที่ ๔ แล้วก็ปรินิพพาน ( เป็นการไม่ติดในรูปฌานหรือในอรูปฌาน เพราะนิพพานในระหว่างแห่งรูปฌานและอรูปฌาน ) .

    เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็เกิดแผ่นดินไหว และมีหลายท่านกล่าวภาษิตในทางธรรม เหตุการณ์นี้ยังความโศกสลดให้เกิดแก่ภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากราคะ และยังธรรมสังเวชให้เกิดแก่ภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว.

   

การถวายพระเพลิง

   มัลลกษัตริย์ก็จัดการถวายพระเพลิงพระศพพระผู้มีพระภาค ภายหลังที่ตั้งพระศพจัดเครื่องสักการะบูชาครอบ ๗ วัน และภายหลังที่พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยภิกษุบริษัทมาถวายบังคมพระศพเสร็จแล้ว อนึ่ง ในบริษัทของพระมหากัสสปนั้น ขณะที่ภิกษุทั้งหลายกำลังร้องไห้คร่ำครวญในข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็มีภิกษุรูปหนึ่งผู้บวชเมื่อแก่ชื่อสุภัททะ กล่าวห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เศร้าโศก ควรจะดีใจว่า ต่อไปจะไม่มีใครมาห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปรารถนาจะทำอะไรก็ทำได้ตามพอใจ ( ซึ่งพระมหากัสสปได้ปรารภเป็นเหตุเสนอให้สงฆ์ทำสังคายนา ดังปรากฏในวินัยปิฎกเล่มที่ ๗  คลิกดูที่นี่ ๗. ปัญจสติกขัรธกะ ( หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑)

    เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว ก็มีกษัตริย์และพราหมณ์จากแคว้นต่าง ๆ มาขอพระสารีริกธาตุ ( พระอัฏฐิ ) ครั้งแรกมัลลกษัตริย์จะไม่ให้ แต่โทณพราหมณ์พูดเกลี้ยกล่อมให้เห็นแก่ความสงบ จึงได้ตกลงแบ่งให้ไปต่างก็นำไปทำสูตปบรรจุและทำการฉลองในนครของตน.


๑.แคว้นมคธ มีกรุงราชคฤห์เป็นราชธานี แคว้นวัชชี มีกรุงเวสาลีเป็นราชธานี

๒. คำว่า วินิบาต หมายถึงไปเกิดเป็นเวมานิกเปตร มีทุกข์สลับกัน คืออาจอยู่วิมานสมัยหนึ่ง ทนทุกข์ทรมานสมัยหนึ่ง

๓. อรรถกถาแก้ว่า อยู่ได้อีกร้อยปีหรือยิ่งกว่า

๔. คำว่า มาร อาจหมายได้หลายอย่าง ทั้งเทวปุตตมารและมัจจุมารสุดแต่จะอธิบายให้เหมาะสมเป็นปุคคลาธิษฐาน คือแสดงบุคคลเป็นที่ตั้ง หรือธรรมมาธิษฐาน แสดงธรรมะเป็นที่ตั้ง

๕. รวมทั้งเก้าข้อนี้ เรียกอนุบุพพวิหาร คือธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งจิตใจโดยลำดับ คล้ายวิหาร ๙ ชั้น แต่ละชั้นมีอารมณ์แห่งจิตต่างกันไป

  


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ