บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



 

หมวดพระสุตตันตะ

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๒
ชื่อทีฆนิกาย
๑.มหาปทานสูตร
๒.มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร
๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร
๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร
๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร

 

หน้า ๑ ๑.มหาปทานสูตร
..1.พระวิปัสสี
..2. พระสิขี
..3.พระเวสสภู
..4.พระกุกสันธะ
..5.พระโกนาคมนะ
..6.พระกัสสปะ
..7.พระโคตมะ
(พระองค์ปัจจุบัน )
..ธรรมดาของ
พระโพธิสัตว์
..วิปัสสีกุมารประสูติ
จนถึงเสด็จออกผนวช
..ตรัสรู้และแสดงธรรม
๒ . มหานิทานสูตร
..อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร
..การบัญญัติและ
ไม่บัญญัติอัตตา
..ความคิดเห็นเรื่อง
เวทนาเกี่ยวกับอัตตา
..ที่ตั้งแห่งวิญาณ ๗ อย่าง
..อายตนะ ๒
..ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา
..วิโมกข์ ๘
..สรุปเกี่ยวกับวิโมกข์ ๘

 

หน้า ๒ ๓. มหาปรินิพ
พานสูตร

..เสด็จสวนมะม่วง
หนุ่มและเมือง
นาฬันทา
..เสด็จปาฏลิคาม
..เสด็จโกฏิคาม
และนาทิกคาม
..เสด็จป่ามะม่วง
ของนางอัมพปาลี
..เสด็จจำพรรษา ณ เวฬวคาม
..ทรงปลงอายุ
สังขาร
..เสด็จป่ามหาวัน
ประชุมภิกษุสงฆ์
..เสด็จภัณฑ
คามและที่อื่น ๆ
..ฉันอาหารของ
นายจุนทะ
..ระหว่างที่เสด็จ
สู่กรุงกุสินารา
..สถานที่ควร
สังเวช ๔ แห่ง
..วิธีปฏิบัติในสตรี
และพระพุทธสรีระ
.. ผู้ควรแก่สตูป
..ตรัสสรรเสริญ
พระอานนท์
..ตรัสเรื่องกรุงกุสินารา
..โปรดสุภัทท
ปริพพาชก
..พระดำรัสตรัสสั่ง
..ทรงเปิดโอกาสให้ซักถาม
..ปัจฉิมโอวาท
..ลีลาในการปริ
นิพพาน
..การถวายพระเพลิง

 

หน้า ๓ ๔. มหาสุทัสสนสูตร
..การบำเพ็ญฌาน
และพรหมวิหาร
..ตรัสสรุปเป็นคำสอน
๕ ชนวสภสูตร
๖ . มหาโควินทสูตร ๗. มหาสมยสูตร
๘ . สักกปัญหาสูตร

 

หน้า ๔ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
..การพิจารณา
กายแบ่งออก
เป็น ๖ ส่วน
..การพิจารณา
เวทนา ๙ อย่าง
..การพิจารณา
เวทนาจิต ๑๖ อย่าง
..การพิจารณา
ธรรมแบ่งออก
เป็น ๕ ส่วน
..อานิสงส์สติปัฏฐาน
๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร

 

เล่มที่ ๑๐ ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์
เป็นพระสุตตันตปิฎก (เล่ม ๒)
จบเล่ม

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคม ชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า หนทางเป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เพื่อก้าวล่วงความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อให้ความทุกข์กายใจตั้งอยู่ไม่ได้ เพื่อบรรลุที่ต้องถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือการตั้งสติ ๔ อย่างได้แก่:-
   ๑. ตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย ( กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่ ).
   ๒. ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อยในความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่ ).
   ๓. ตั้งสติกำหนดพิจารณาในจิต ( จิตส่วนจิตย่อยในจิตส่วนใหญ่ คือจิตดวงใดดวงหนึ่ง ในจิตที่เกิดขึ้นดับไปมากดวง ).
    ๔. ตั้งสติกำหนดพิจารณา ธรรมในธรรม ( ธรรมส่วนย่อยในธรรมส่วนใหญ่ ).

   

การพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน

   ๑. พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก ( อานาปานบรรพ ).
   ๒. พิจารณาอิริยบถของกาย เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ( อิริยาปถบรรพ ).
   ๓. พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไป ก้าวมา คู้แขน เหยีบดแขน กิน ดื่ม เป็นต้น ( สัมปชัญญบรรพ ).
   ๔. พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อยต่าง ๆ มีผม ขน เป็นต้น ( ปฏิกูลมนสิการบรรพ).
   ๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุบรรพ ) .
   ๖. พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ มีลักษณะต่าง ๆ ๙ อย่าง ( นวสีวถีกาบรรพ ).

   

การพิจารณาเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) ๙ อย่าง

   ๑. สุข
   ๒. ทุกข์
   ๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข
   ๔. สุขประกอบด้วยอามิส ( เหยื่อล่อมีรูป เสียง เป็นต้น )
   ๕. สุขไม่ประกอบด้วยอามิส
   ๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส
   ๗. ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส
   ๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส
   ๙. ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ประกอบด้วยอามิส.

   

การพิจารณาเวทนาจิต ๑๖ อย่าง

   ๑. จิตมีราคะ     ๒. จิตปราศจากราคะ     ๓. จิตมีโทสะ     ๔ . จิตปราศจากโทสะ     ๕. จิตมีโมหะ     ๖. จิตปราศจากโมหะ     ๗. จิตหดหู่     ๘. จิตฟุ้งซ่าน     ๙. จิตใหญ่ ( จิตในฌาน )     ๑๐. จิตไม่ใหญ่ ( จิตที่ไม่ถึงฌาน )     ๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า     ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า     ๑๓. จิตตั่งมั่น     ๑๔. จิตไม่ตั่งมั่น     ๑๕. จิตหลุดพ้น     ๑๖. จิตไม่หลุดพ้น.

   

การพิจารณาธรรมแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน

   ๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ ที่เรียกว่านีวรณ์ ๕ ( นีวรณบรรพ ).
   ๒. พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป , เวทนา , สัญญา , สังขาร, วิญญาณ ( ขันธบรรพ ).
   ๓. พิจารณาอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ( อายตนบรรพ).
   ๔. พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ที่เรียกว่าโพฌงค์ ( โพฌงคบรรพ ).
   ๕. พิจารณาอริยสัจจ์ ๔ (สัจจบรรพ).

    อนึ่ง การพิจารณากาย , เวทนา , จิต , ธรรม ทั้งสี่ข้อนี้ นอกจากมีรายการพิเศษดังกล่าวมาแล้ว ยังมีรายการพิจารณาที่ตรงกันอีก ๖ ประการ คือ     ๑. ที่อยู่ภายใน     ๒. ที่อยู่ภายนอก     ๓. ที่อยู่ทั้งภายในภายนอก     ๔. ทีมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา     ๕. ทีมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา    ๖. ที่มีทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา.

   

อานิสงส์สติปัฏฐาน

    ครั้นแล้วทรงสรุปผลของการปฏิบัติ ในการตั้งสติ ๔ อย่างนี้ว่า จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน ถ้ายังมีเชื้อเหลือ ก็จะได้บรรลุความเป็นพระอนาคามี ( ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก ) ภายใน ๗ ปี หรือลดลงมาโดยลำดับถึงภายใน ๗ วัน.

   

๑๐ . ปายาสิราชัญญสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้าปายาสิ

    เหตุการณ์เกิดขึ้นในแคว้นโกศล พระกุมารกัสสป พร้อมด้วยภิกษุสงส์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป จาริกไปในแคว้นนั้น แวะพัก ณ ป่าไม้สีเสียด อันตั้งอยู่ทิศเหนือของเสตัพยนคร . สมัยนั้น พระเจ้าปายาสิ ( เป็นเพียงราชัญญะ คือพระราชาที่มิได้อภิเษก ) ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ครอบครองเสตัพยนคร.

    พระเจ้าปายาสิมีความเห็นผิดเกิดขึ้นว่า โลกอื่นไม่มี สัตว์เป็นอุปปาติกะ ( เกิดใหญ่โตขึ้นทันที เช่น เทพ ) ไม่มี ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี.

    เมื่อได้สดับกิตติศัพท์อันงามของพระกุมารกัสสป พราหมณ์คฤหบดีทั้งหลายก็พากันเดินทางไปหาเป็นกลุ่ม ๆ พระเจ้าปายาสิทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ตรัสถามทราบความก็เสด็จไปด้วย เมื่อผู้ที่ไปกล่าวสัมโมทนียกถาปราศรัยตามสมควรแล้ว พระเจ้าปายาสิก็ประกาศทิฏฐิของพระองค์ดังกล่าวแล้วแก่พระเถระ ซึ่งจะย่อตคำโต้ตอบเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้:-

   ๑. พระเถระถามว่า ที่ทรงเห็นว่าโลกอื่นไม่มี เป็นต้นนั้น พระจันทร์พระอาทิตย์เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น. ตรัสตอบว่า พระจันทร์พระอาทิตย์อยู่ในโลกอื่น มิใช่เทวดาหรือมนุษย์ในโลกนี้.

    ๒ . ตรัสเล่าว่า มีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตของพระองค์ที่ประพฤติชั่วมีประการต่าง ๆ เมื่อบุคคลเหล่านั้นเจ็บไข้ ซึ่งพระองค์เห็นว่าจะไม่หายแน่ ก็เสด็จไปหา และสั่งว่า ถ้าไปตกนรก เพราะประพฤติชั่วตามคำของสมณพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก พวกเหล่านั้นรับคำแล้ว ก็ไม่มีใครมาบอกเลย . พระองค์จึงไม่เชื่อโลกอื่นมี. พระเถระกล่าวว่า เปรียบเหมือนโจรที่ทำผิดราชบุรุษจับได้ ก็นำตระเวนไปสู่ที่ประหารชีวิต โจรเหล่านั้นจะขอผัดผ่อนให้ไปบอกพวกพ้องก่อนจะได้หรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่ได้. พระเถระจึงกล่าวว่า พวกที่ทำชั่วก็เช่นกัน ถ้าไปตกนรก ก็คงไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรยบาลให้มาบอก.

    ๓. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า ถ้าตายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะประพฤติดีตามคำของพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก. พวกนั้นรับคำ ก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี. พระเถระทูลว่า เปรียบเหมือนคนตกลงไปในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ พระองค์สั่งให้ราชบุรุษช่วยยกขึ้นจากหลุ่มนั้น เอาซี่ไม้ไผ่ปาดอุจจาระออก ทำความสะอาดหมดจดแล้ว นำพวงมาลัยเครื่องลูบไล้และผ้ามีราคาแพงมาให้นุ่งห่ม พาขึ้นสู่ปราสาท บำเรอด้วยกามคุณ ๕ บุรุษนั้นจะอยากลงไปอยู่ในหลุมอุจจาระอีกหรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่อยาก. ถามว่าเพราะเหตุไร. ตรัสตอบว่า เพราะหลุมอุจจาระไม่สอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูล. พระเถระทูลว่า มนุษย์ก็เป็นผู้ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูล สำหรับเทวดาทั้งหลาย พวกทำความดีที่ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ จะกลับมาบอกอย่างไร.

    ๔. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวว่า ผู้ที่ทำความดีจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านทั้งหลายไปเกิดเช่นนั้นแล้ว ขอให้กลับมาบอกด้วย พวกนั้นรับคำแล้ว ก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี พระเถระทูลว่า ร้อยปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของชั้นเทพดาวดึงส์ ๓๐ ราตรี เป็น ๑ เดือน , ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี , ๑ พันปีทิพย์เป็นประมาณแห่งอายุของเทพชั้นดาวดึงส์. ผู้ทำความดีที่ไปเกิดในที่นั้นคิดว่า อีกสัก ๒- ๓ วัน จะไปบอก พระเจ้าปายาสิ จะมาบอกได้หรือไม่. ตรัสตอบว่า มาไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าคงตายไปนานแล้ว แต่ก็ใครบอกแก่ท่านเล่าว่า เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนขนาดนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย. พระเถระทูลว่า เปรียบเหมือนคนที่เสียจักษุแต่กำเนิด มองไม่เห็นอะไรเลย จึงกล่าวว่า สีดำ ขาว เขียว เหลือง แดง แสดไม่มี คนที่เห็นสีเช่นนั้นก็ไม่มี ดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ไม่มี ผู้เห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ไม่มี เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้นจึงไม่มีดังนี้ ผู้นั้นจะชื่อว่ากล่าวชอบหรือไม่. ตรัสตอบว่า กล่าวไม่ชอบ. พระเถระจึงทูลว่า พระองค์ที่ปฏิเสธเรื่องเทพชั้นดาวดึงส์ก็เป็นเช่นนั้น. สมณพราหมณ์บางพวกที่เสพเสนาสนะป่าอันสงัด ไม่ประมาท ทำความเพียร ชำระทิพยจักษุ มองเห็นโลกนี้โลกอื่นและสัตว์อุปปาติกะด้วยจักษุอันเป็นทิยย์ เหนือจักษุของมนุษย์มีอยู่. เรื่องของปรโลกพึงเห็นอย่างนี้ ไม่พึงเข้าใจว่าจะได้เห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้.

   ๕. ตรัสเล่าว่า พระองค์เคยเห็นสมณพราหมณ์ที่มีศีลมีธรรมอันงาม ใคร่มีชีวิต ไม่อยากตายใคร่ความสุข เกลียดทุกข์ จึงทรงคิดว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้มีศีลธรรมอันงามเหล่านี้ รู้ตัวว่าตายไปแล้ว จะดีกว่าชาตินี้ ก็ควรจะกินยาพิษ เชือดคอตาย ผูกคอตาย หรือโดดเหวตาย แต่เพราะไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะดีกว่าชาตินี้ จึงรักชีวิต ไม่อยากตาย ใคร่ความสุข เกลียดทุกข์ ข้อนี้เป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมี สัตว์อุปปาติกะ ( เกิดเติบโตขึ้นทันที ) มี ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี. พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่าพราหมณ์คนหนึ่งมีภริยา ๒ คน คนหนึ่งมีบุตรอายุ ๑๐ หรือ ๑๒ ปี อีกคนหนึ่งมีครรภ์จวนคลอด. พราหมณ์นั้นถึงแก่กรรม มาณพผู้เป็นบุตรจึงพูดกับมารดาเลี้ยงว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ ตกเป็นของข้าพเจ้าทั้งหมดของท่านไม่มีเลย ขอท่านจงมอบความเป็นทายาทของบิดาแก่ข้าพเจ้า.
    นางพราหมณีผู้เป็นมารดาเลี้ยงตอบว่า เจ้าจงรอก่อนจนกว่าเราจะคลอด ถ้าคลอดเป็นชาย ก็จะได้ส่วนแบ่งส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิง แม้น้องหญิงนั้นก็จะต้องตกเป็นของเจ้า..    แต่มาณพนั้นก็เซ้าซี้อย่างเดิม แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ นางพราหมณีจึงถือมีดเข้าไปในห้อง ผ่าท้องเพื่อจะรู้ว่าเด็กในท้องเป็นชายหรือหญิง เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายชีวิต ทำลายเด็กในครรภ์ และทำลายทรัพย์สมบัติ เพราะเป็นผู้เขลา แสวงหาสมบัติโดยไม่แยบคาย จึงถึงความพินาศ. สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีธรรมอันดี ที่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ชิงสุกก่อนสุก ย่อมรอจนกว่าจะสุก สมณะพราหมณ์เหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ผู้อื่นก็ได้ประสบบุญมากเพียงนั้น และท่านก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

   ๖. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ใส่ลงไปในหม้อทั้งเป็น ปิดผาแล้วเอาหนังสดรัด เอาดินเหนียวที่เปียกยาให้แน่น ยกขึ้นสู่เตาแล้วจุดไฟ เมื่อรู้ว่าผู้นั้นตายแล้ว ก็ให้ยกหม้อลง กะเทาะดินเหนียวที่ยาออก เปิดฝาค่อย ๆ มองดู เพื่อจะได้เห็นชีวะของโจรนั้นออกไปก็ไม่เห็นเลย จึงทำให้ไม่เชื่อว่ามีโลกอื่น.
    พระเถระทูลถามว่า ทรงระลึกได้หรือไม่ว่า เคยบรรทมหลับกลางวัน แล้วทรงฝันเห็นสวน ป่า ภูมิสถานและสระน้ำอันน่ารื่นรมย์หรือไม่. ตรัสว่า ระลึกได้. ถามว่า ในสมัยนั้น คนค่อม คนหรือเด็ก ๆ เฝ้าพระองค์อยู่ใช่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ใช่. ถามว่า พวกเหล่านั้นเห็นชีวะของพระองค์เข้าออกหรือไม่. ตรัสตอบว่าไม่เห็น. พระเถระจึงทูลว่า คนมีชีวิต ยังไม่เห็นชีวะของพระองค์ผู้ทรงพระชนมชีพอยู่เข้าออก เหตุไฉนพระองค์จะทรงเห็นชีวะของคนตายเข้าออกเล่า.

   ๗. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ชั่งน้ำหนักดูเมื่อเป็น แล้วให้เราเชือกรัดคอให้ตายแล้วชั่งดูอีก ในขณะที่เป็นมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่าเมื่อตายแล้ว เหตุนี้จึงไม่ทรงเชื่อเรื่องโลกอื่น. พระเถระทูลถามว่า พึงชั่งก้อนเหล็กที่เผาไฟตลอดวัน ร้อนลุกโพลง กับก้อนเหล็กที่เย็นเทียบกันดู อย่างไหนจะเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า. ตรัสตอบว่า ก้อนเหล็กที่ประกอบกับธาตุไฟ ธาตุลม ร้อนลุกโพลง เบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า . พระเถระทูลต่อไปว่า ร่างกายก็เหมือนกันประกอบ ด้วยอายุ ( เครื่องสืบต่อหล่อเลี้ยง) ประกอบด้วยไออุ่น ประกอบด้วยวิญญาณ ก็เบากว่า อ่อนกว่าใช้การงานได้ดีกว่า.

    ๘. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ฆ่าโดยไม่กระทบกระทั่งผิว , หนัง , เนื้อ , เอ็น , กระดูก , เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะออกไป ( จากร่าง ) เมื่อเขาทำอย่างนั้น และเมื่อโจรนั้นจะตายแน่ก็สั่งให้จับนอนหงาย เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป. สั่งให้จับนอนตะแคงที่ละข้าง ให้ยกขึ้นให้เอาศีรษะลง ให้ใช้ฝ่ามือ , ก้อนดิน , ท้อนไม้ , ศัสตราเคาะดู , ให้ดึงเข้า ให้ผลักออก ให้พลิกไปมา เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป. โจรนั้นมีตา หู จมูก ลิ้น มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ไม่รู้สึกอายตนะนั้น ๆ ( คือไม่รู้สึกเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ) พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์เดินทางไปชนบทชายแดนแห่งหนึ่ง เป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้บนดิน ชาวบ้านได้ยินเสียงสังข์ชอบใจก็พากันมารุมถามว่าเสียงอะไร. เขาตอบว่า เสียงสังข์นั้น ชาวบ้านก็จับสังข์หงาย พร้อมทั้งพูดว่า “ สังข์เอ๋ยจงเปล่งเสียง” แต่สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง จึงจับคว่ำ จับตะแคงยกขึ้น เอาหัวลง เอาฝ่ามือ, ก้อนดิน , ท้อนไม้ , ศัสตราเคาะ ดึงเข้ามา ผลักออกไป จับพลิกไปมา เพื่อจะให้สังข์นั้นเปล่งเสียง สังข์นั้นก็ไม่เปล่งเสียง . คนเป่าสังข์เห็นว่า คนเหล่านั้นเป็นคนบ้านนอก เป็นคนเขลาหาเสียงสังข์โดยไม่แยบคาย จึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้งให้เห็นแล้วก็หลีกไป. คนเหล่านั้นจึงรู้ว่า สังข์นี้ประกอบด้วยคน ประกอบด้วยความพยายาม ประกอบด้วยลม จึงเปล่งเสียงได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุเหล่านั้นก็เปล่งเสียงไม่ได้. กายก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยอายุ ประกอบด้วยไออุ่น ประกอบด้วยวิญญาณ จึงก้าวเดินถอยหลัง ยืน นั่ง นอนได้ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะ ( อารมณ์ที่เกิดกับใจ) ได้. ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านั้น ก็ทำอะไรไม่ได้.

    ๙. ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ตัดผิวหนัง , ตัดหนัง , เนื้อ , เอ็น, กระดูก , เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะ ก็ไม่เห็นชีวะ จึงไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมี เป็นต้น. พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า มีชฎิล ( นักบวชเกล้าผมเป็นเชิง ) ผู้บูชาไฟรูปหนึ่ง อยู่ในกุฏิ มุงด้วยใบไม้ในป่า พวกเดินทางพักแรมชาวชนบทคณะหนึ่ง .    ออกเดินทางมาพักแรมคืน รอบอาศรมของชฎิลผู้บูชาไฟนั้นแล้วจากไป. ชฎิลจึงเดินไปในที่ที่เขาพักแรมด้วยหวังว่าจะได้เครื่องใช้อะไรบ้าง ในที่นั้น ( ที่เขาทิ้ง แต่อาจเป็นประโยชน์แก่ชฎิลผู้อยู่ป่า ) เมื่อเข้าไปก็เห็นเด็กแดง ๆ คนหนึ่ง เป็นเด็กชายนอนหงายอยู่. จึงนำมาเลี้ยงไว้จนเติบโต มีอายุได้ ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี . ต่อมาชฎิลมีธุระที่จะต้องไปในชนบท จึงเรียกเด็กมาสั่งให้บูชาไฟ ( คอยเอาไฟใส่ในกองไฟ ) อย่าให้ดับได้. ถ้าไฟดับ มีดอยู่นี่ ไม่สีไฟอยู่นี่ จงจุดไฟให้ติด บูชาไฟต่อไป. เมื่อสั่งเสร็จและไปแล้ว เด็กมัวเล่นเพลินไป ไฟก็ดับ . เด็กคิดถึงคำสั่ง จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟด้วยหวังจะได้ไฟ ก็ไม่ได้ไฟ จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ๓ ซีก จนถึง ๒๐ ซีก ทำเป็นชิ้น ๆ ใส่ครกตำ แล้วเอามาโรยที่ลมด้วยหวังจะได้ไฟ แต่ก็ไม่ได้. ชฎิลกลับมาเห็นเช่นนั้น ถามทราบความแล้ว จึงคิดว่า เด็กนี้ยังอ่อน ไม่ฉลาด จะหาไฟโดยวิธีที่ไม่ถูกได้อย่างไร จึงเอาไม้สีไฟมาสีให้เด็กดูถึงวิธีทำไฟให้ติด. พระองค์ก็เช่นเดียวกัน ทรงหาโลกอื่นโดยวิธีที่ไม่ถูก. ในที่สุดได้แนะนำให้พระเจ้าปายาสิทรงสละความเห็นผิดนั้นเสีย.

    แต่พระเจ้าปายาสิทรงอ้างว่า ทรงสละไม่ได้ เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศล และพระราชาในรัฏฐะอื่น ๆ ก็ทรงทราบกันทั่วไปว่า พระองค์มีความเห็นอย่างนี้ ก็จะพากันติเตียนได้. พระกุมารกัสสปเถระจึงยกอุปมา เพื่อจูงใจให้ทรงละความเห็นผิดนั้น ๆ แต่เมื่อยังไม่ทรงยอม ก็ยกอุปมาอื่นอีก โดยนัยนี้เป็นอุปมา ๔ ข้อดังต่อไปนี้:-

   ๑. เปรียบเหมือนพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่ เดินทางจากภาคตะวันออกไปตะวันตก แล้วได้แบ่งกองเกวียนออกเป็น ๒ กอง กองละประมาณ ๕๐๐ เล่ม ให้ขบวนหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน อีกขบวนหนึ่งจะตามไปภายหลัง ขบวนที่ล่วงหน้าไปก่อนถูกคนเดินทางสวนหลอกให้ทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ เล่าว่าข้างหน้าฝนตกในทางกันดาร พุ้มไม้, หญ้า , ไม้ , และน้ำบริบูรณ์ หัวหน้ากองเกวียนหลงเชื่อจึงพาพวกไปตายหมดสิ้น เพราะทิ้งหญ้าทิ้งน้ำแล้วก็หาน้ำและหญ้าข้างหน้าไม่ได้ พวกไปทีหลังไม่ยอมเชื่อคนหลอก ไม่ยอมทิ้งหญ้าทิ้งน้ำ จึงเดินทางข้ามทางกันดารโดยสวัสดี. แล้วเปรียบว่าพระองค์แสวงหาโลกอื่นโดยไม่แยบคาย จะพลอยให้คนที่เชื่อถือพากันถึงความพินาศไปด้วย เหมื่อนนายกองเกวียนคณะแรก.

   ๒. เปรียบเหมือนชายเลี้ยงหมูคนหนึ่ง ไปสู่หมู่บ้านอื่น เห็นคูถ ( อุจจาระ ) แห้ง ที่เขาทิ้งไว้เป็นอันมากก็คลี่ผ้าห่มออก เอาคูถแห่งใส่แล้วห่อทูลเหนือศีรษะมา ในระหว่างทางฝนตก คูถนั้นก็ไหลเลอะเปรอะไป คนทั้งหลายจึงพากันติเตียนว่าเป็นบ้า หรือไปแบกห่อคูถมาทำไม. เขาตอบกลับว่า ท่านต่างหากเป็นบ้าเพราะของที่แบกมานี่เป็นอาหารของหมู. พระองค์ก็เปรียบเหมือนอย่างนั้น ขอจงทรงสละความคิดเห็นผิดนั้นเสียเถิด.

   ๓. เปรียบเหมือนนักเลงสกา ๒ คนเล่นสกากัน คนหนึ่งย่อมกลืนลูกโทษที่มาถึงตัว.     (หมายถึงลูกสกาที่จะทำให้แพ้ ). อีกคนหนึ่งงบอกว่า ท่านชนะเรื่อยข้างเดียว ขอลูกสกาให้ข้าพเจ้าทำพิธีบ้าง . คนชนะจึงส่งให้ไป. นักเลงคนที่ ๒ จึงเอายาพิษทาลูกสกา. เมื่อเล่นครั้งที่ ๒ นักเลงสกาคนแรกก็กลืนลูกโทษที่มาถึงนั้นอีก ( และตายเพราะกลืนยาพิษเข้าไปด้วย) . พระองค์ก็เปรียบเหมือนนักเลงสกา ( ที่กลืนยาพิษไปกับลูกสกาด้วย) ของจงทรงสละความเห็นผิดนั้นเสียเถิด.

   ๔. เปรียบเหมือนชาย ๒ คนชวนกันไปยังชนบทเพื่อหาทรัพย์ ไปพบป่านในระหว่างทางก็ห่อป่านเดินทางไป ครั้นไปพบด้ายที่ทอจากป่าน คนหนึ่งเห็นด้ายมีราคากว่าก็ทิ้งป่านห่อด้ายไป อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้ง ด้วยถือว่าแบกมาไกลแล้ว ผูกรัดไว้ดีแล้ว. โดยนัยนี้ไปพบผ้าเปลือกไม้. ผ้าฝ้าย , เหล็ก , โลหะ , ดีบุก ตะกั่ว, เงิน, ทอง คนหนึ่งทิ้งของเก่าถือเอาของใหม่ที่มีราคากว่า แต่อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้ง ถือว่าแบกมาไกลแล้วผูกรัดไว้ดีแล้ว เมื่อกลับไปถึงบ้าน บุตร ภริยา เพื่อนฝูงแบกห่อป่าน ก็ไม่ชื่นชม แต่บุตร จริยาเพื่อนฝูงของผู้แบกห่อทองกลับมา ต่างชื่นชม. พระองค์จะเป็นอย่างผู้แบกห่อป่าน ขอจงสละความเห็นผิดนั้นสียเถิด.

   พะระเจ้าปายาสิทรงเลื่อมใสในพระกุมารกัสสปเถระ สรรเสริญภาษิต ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็รนสรณะตลอดพระชนมชีพ แล้วทรงถามถึงวิธีบูชายัญ ซึ่งพระเถระก็ถวายคำแนะนำให้บูชาโดยไม่มีการฆ่าสัตว์ พระเจ้าปายาสิก็ทรงปฏิบัติตาม โดยให้มีการแจกทาน ( ทำงานสังคมสงเคราะห์) แล้วเพิ่มของที่ให้ดีขึ้นโดยลำดับ.

   

จบความย่อแห่งพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐

๑. การอธิบายไว้ในวงเล็บอย่างนี้ เป็นไปตามบาลีพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ หน้า ๔๐๙ เช่นคำว่า พิจารณากายในกาย เพียงพิจารณาลมหายใจเข้าออก ก็ถือว่าลมหายใจเป็นกายอย่างหนึ่ง ลมหายใจจึงเป็นกายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่

๒. พึงสังเกตว่า วัฒธรรมเกี่ยวกับการจัดมรดกตามคตินี้ หญิงไม่มีสิทธิอะไรในทรัพย์สินของบิดาเลย สุดแต่ชายผู้เป็นพี่จะจัด เพราะตัวเองตกอยู่ในฐานะที่พี่ชายจะใช้สอย หรือถือเอาเป็นภริยาได้ ( ถ้าเป็นน้องต่างมารดา)

๓. อาจจะเป็นพวกเร่ร่อน กางเต๊นท์พักแรมในที่ต่าง ๆ

๔. แสดงว่าลูกสกาเป็นแบบลูกเต๋า ในอรรถกถาแก้ว่า เล่นด้วยลูกสี่เหลี่ยม ( ลูกเต่า ) ก็มี เล่นด้วยลูกขลุบ หรือลูกคลี ( คุล ) ก็มี การกลืนลูกสกา อาจเป็นเคล็ดให้ได้ชัยชนะเรื่อย ๆ


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ