บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๔
หมวดนี้มี

๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร
๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร
๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร
๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร
๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.มูลปริยายสูตร
๒.สัพพาสวสังวรสูตร
๓.ธัมมทายาทสูตร
๔.ภยเภรวสูตร

..การเผชิญความกลัว
..บางพวกหลงวันหลงคืน
..ทรงแสดงข้อ
ปฏิบัติของพระองค์
๕.อนังคณสูตร
๖.อากังเขยยสูตร
๗.วัตถูปมสูตร
๘.สัลเลขสูตร
๙.สัมมาทิฆฐิสูตร
๑๐.สติปัฏฐานสูตร

 

หน้าที่ ๒ ๑๑.จูฬสีหนาทสูตร
๑๒.มหาสีหนาทสูตร

..กำลัง ๑๐
..เวสารัชชะ ๓
..บริษัท ๘
..กำเนิด ๔
..คติ ๕
..การประพฤติ
พรหมจรรย์มีองค์ ๔
..การทรมาน
พระองค์อย่างอื่นอีก
..ทรงทดลอง
ความบริสุทธิ์
เพราะเหตุต่าง ๆ
..คนหนุ่มจึงมี
ปัญญาจริงหรือ?
๑๓.มหาทุกขักขันธสูตร
๑๔.จูฬทุกขักขันธสูตร
๑๕.อนุมานสูตร
๑๖.เจโตขีลสูตร
๑๗.วนปัตถสูตรสูตร
๑๘.มธุปิณฑิกสูตร
๑๙.เทวธาวิตักกสูตร
๒๐.วิตักกสัณฐานสูตร

..สรุป

 

หน้าที่ ๓ ๒๑.กกจูปมสูตร
๒๒.อลคัททูปมสูตร
๒๓.วัมมิกสูตร
๒๔.รถวินีตสูตร
๒๕.นิวาปสูตร
๒๖.ปาสราสิสูตร
๒๗.จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๒๘.มหาหัตถิปโทปมสูตร
๒๙.มหาสาโรปมสูตร
๓๐.จูฬสาโรปมสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๓๑.จูฬโคสิงคสาลสูตร
๓๒.มหาโคสิงคสาลสูตร
๓๓.มหาโคปาลสูตร
๓๔.จูฬโคปาลสูตร
๓๕.จูฬสัจจกสูตร
๓๖.มหาสัจจกสูตร
๓๗.จูฬตัณหาสังขยสูตร
๓๘.มหาตัณหาสังขยสูตร
๓๙.มหาอัสสปุรสูตร
๔๐.จูฬอัสสปุรสูตร

 

หน้าที่ ๕ ๔๑.สาเลยยกสูตร
๔๒.เวรัญชกสูตร
๔๓.มหาเวทัลลสูตร
๔๔.จูฬเวทัลลสูตร
๔๕.จูฬธัมมสมาทานสูตร
๔๖.มหาธัมมสมาทานสูตร
๔๗.วีมังกสูตร
๔๘.โกสัใพยสูตร
๔๙.พรหมนิมันตนิกสูตร
๕๐.มารตัชชนียสูตร

 

เล่มที่ ๑๒ ชื่อมัชนิกาย มูลปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๔
หน้า ๑

   เล่มที่   ๑๒ ชื่อมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (เป็นสุตตันตปิฎก)

   พระสุตตันตปิฎก ตั้งแต่เล่ม   ๙ ถึงเล่ม ๑๑   ที่ย่อมาแล้ว รวม  ๓ เล่ม เป็นทีฆนิกาย คือหมวดหรือพวกแห่งพระสูตรขนาดยาว บัดนี้มาถึงหมวดถัดมา คือมัชฌิมนิกาย คือหมวด หรือพวกเเห่งพระสูตรขนาดกลาง ไม่ยาวหรือสั้นเกินไป ถ้าพิจารณาดูตัวเลข หรือจำนวนพระสูตรในทีฆนิกายกับมัชฌิมนิกายเทียบเคียงกันดูแล้ว ก็พอจะเห็นได้ดังนี้ ทีฆนิกาย  เล่ม  ๙ มี  ๑๓ สูตร , เล่ม   ๑๐ มี  ๑๐ สูตร , เล่ม  ๑๑ มี   ๑๑ สูตร รวม  ๓ เล่ม มี  ๓๔ สูตร. ส่วนมัชฌิมนิกาย มี     ๓ เล่มเช่นกัน คือเล่ม   ๑๒ มี  ๕๐ สูตร, เล่ม  ๑๓ มี  ๕๐ สูตร , เล่ม   ๑๔ มี   ๕๒ สูตร  รวม  ๓ เล่ม มี   ๑๕๒ สูตร. เมื่อเทียบดูความต่างจากจำนวนสูตรแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ทีฆนิกายมีสูตรยาวกว่าสูตรมัชฌิมนิกายประมาณ   ๕ เท่า.

    ทีข้อที่ควรสังเกต คือพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น   ๓ เล่มนั้น มีชื่อเรียกกำหนดด้วยคำว่า ปัณณาสก์ หรือปัณณาสกะ   ( หมวด ๕๐ )   เป็นหลัก เพราะมีเล่มละประมาณ   ๕๐   สูตร เกินไปบ้างเล็กน้อย   เพียง   ๒ สูตร เฉพาะเล่มสุดท้าย.   เล่ม ๑๒   มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์   (หมวด ๕๐ ที่เป็นรากหรือโคน เทียบด้วยรากหรือโคนต้นไม้ )   เล่ม ๑๓   มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์   ( หมวด ๕๐ ที่เป็นท่อนกลาง )   เล่ม ๑๔ มัชฌิมมนิกาย อุปริปัณณาสก์   ( หมวด ๕๐ ที่เป็นยอดหรือเป็นปลาย )

    อนึ่ง พึงทราบไว้ด้วยว่า เพื่อสะดวกแก่การท่องจำหรือกำหนดหมาย ในปัณณาสก์หนึ่ง ๆ หรือเล่มเล่มหนึ่ง ๆ ซึ่งมี   ๕๐ สูตรนั้น ท่านแบ่งออกเป็น ๕ วรรค วรรคละ   ๑๐ สูตร ( คงมีวรรคละ   ๑๒ สูตร อยู่วรรคเดียวในเล่ม  ๑๔ หรือเล่มสุดท้ายแห่งมัชฌิมนิกาย ).

    ในทีฆนิกายเคยย่อให้ก่อนว่า แต่ละเล่มมีสูตรชื่ออะไร ใจความว่าอย่างไรบ้าง ย่อ ๆ แล้วจึงขยายความภายหลัง แต่ในมัชฌิมนิกาย ซึ่งมีพระสูตรเพิ่มขึ้น  ๕ เท่าตัว เราต้องเจียดหน้ากระดาษไว้ย่อเล่มต่อไปอีกหลายเล่ม จึงของด ไม่นำชื่อพระสูตรย่อ ๆ มากล่าวไว้ จะย่อมเป็นลำดับไปทีเดียว ท่านผู้ประสงค์จะทราบว่าในเล่ม  ๑๒ , ๑๓ และ  ๑๔ มีสูตรอะไรบ้าง ก็อาจเปิดสารบัญดูได้ ทั้งนี้เพราะต้องการให้สามารถย่อพระไตรปิฎกฉบับบาลีให้หมดทั้งสี่สิบห้าเล่มลงใน  ๑ เล่มภาษาไทยนี้ให้ได้.

เล่มที่ ๑๒ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
มี ๕๐ สูตร

สูตรที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ เรียกมูลปริยายวรรค คือวรรคที่นำด้วยมูลปริยายสูตร
สูตรว่าด้วยเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โคนไม้สาละใหญ่ ในป่าชื่อสุภคะ ( ป่าโชคดี ) ใกล้เมืองอุกกัฏฐา ณ ที่นั้นได้ทรงแสดงเรื่องราวอันเป็นมูลแห่งธรรมทั้งปวง ( สัพพธัมมมูลปริยาย ) มีใจความสำคัญแบ่งออกเป็น  ๘ ส่วน หรือ  ๘ นัย เนื่องด้วยปุถุชน ( คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส )   ๑ นัย เนื่องด้วยเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี )   ๑ นัย เนื่องด้วยพระขีณาสพ ( พระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน )   ๔ นัย เนื่องด้วยพระศาสดา   ๒ นัย. ( เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องแท้ ๆ ก็มี เพียง   ๔ ประเภท ).

   ๑. ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมรู้ตามความจำ ( สญฺชานาติ ) ถึงสิ่งต่าง ๆ.  แล้วยึดถือว่าเป็นของเราเพราะไม่ได้กำหนดรู้ตามเป็นจริงซึ่งสิ่งนั้น ๆ. นี้เป็นกำหนดภูมิปุถุชนนัยที่   ๑ .

   ๒. ภิกษุผู้เป็นเสขะ รู้ยิ่งด้วยปัญญา ( อภิชานาติ ) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เพลา.  การยึกถือว่าเป็นของเรา เพราะสิ่งนั้น ๆ พระเสขะควรกำหนดรู้ได้. นี้เป็นกำหนดภูมิพระเสขะนัยที่  ๒.

   ๓. ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ย่อมไม่ถือว่าเป็นของเรา   ๑ . เพราะกำหนดสิ่งนั้น ๆ แล้ว   ๒ . เพราะสิ้นราคะความกำหนัดยินดี   ๓. เพราะความสิ้นโทสะความคิดประทุษร้าย   ๔. เพราะสิ้นโมหะความหลง นี้เป็นกำหนดภูมิพระขีณาสพนัยที่   ๓ ,   ๔ ,   ๕  และ  ๖.

   ๔. พระศาสดา รู้ยิ่งด้วยปัญญาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา   ๑. เพราะกำหนดรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้ว   ๒. เพราะสิ้นตัญหาด้วยประการทั้งปวง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว. นี้เป็นกำหนดภูมิพระศาสดานัยที่ ๗ และ ๘.

๒. สัพพาสวสังวรสูตร
สูตรว่าด้วยการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนารามของอนาถปิณฑิกคฤหบดี ใกล้กรุงสาวัตถี ตรัสเทศนาเรื่องการสำรวมระวังอาสวะทุกชนิด  มี ๗ หลักการใหญ่ คืออาสวะที่พึงละได้ด้วย   ๑. การเห็น  ๒. การสำรวมระวัง   ๓. การส้องเสพ   ๔. การอดทน  ๕. การงดเว้น  ๖. การบันเทา  ๗. การอบรม พร้อมมทั้งรายละเอียด ( พระสูตรนี้แปลไว้ละเอียดแล้วที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๑๑๗ )

๓. ธัมมทายาทสูตร
สูตรว่าด้วยผู้รับมรดกธรรม

   พระผู้มีพระภาคพระทับ ณ เชตวนาราม ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้เป็นผู้รับมรดกธรรม ( ธัมมทายาท ) อย่าเป็นผู้รับมรดกอามิส ( อามิสทายาท).

   ๑. แล้วตรัสยกตัวอย่างว่า พระองค์ฉันพระกระยาการเหลือ ภิกษุ ๒ รูปหิวเป็นกำลังมาเฝ้าพระองค์ก็ทรงอนุญาตว่า ถ้าจะฉันก็ฉันได้ ถ้าไม่ฉันก็จะทรงเททิ้ง. รูปหนึ่งทนหิว ไม่ฉัน ด้วยระลึกถึงพระพุทณพจน์ที่ให้รับมรดกธรรม ไม่รับมรดกอามิส. อีกรูปหนึ่งฉันอาหารที่เหลือนั้น . ตรัสว่า ทรงสรรเสริญภิกษุที่ยอมหิวมากกว่า.

   ๒. เมื่อพระศาสดาเสด็จหลีกไปแล้ว พระสารีบุตรได้ตั้งปัญหาถามภิกษุเหล่านั้นว่า ด้วยเหตุเพียงไร สาวกจะเชื่อว่าไม่ศึกษาหรือศึกษาวิเวก ( ความสงัด ) ในเมื่อพระศาสดาเป็นผู้สงัดแล้ว ภิกษุทั้งหลายขอให้พระสารีบุตรตอบเอง.

   ๓. พระสารีจึงบุตรเฉลยว่า เมื่อพระศาสดาเป็นผู้สงัดแล้ว แต่สาวก   ๑ . ไม่ศึกษาความสงัด  ๒. ไม่ละธรรมที่พระศาสดาสอนให้ละ  ๓. เป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เห็นแก่หลับนอน ทอดธุระในความสงัด. ไม่ว่าจะเป็นภิกษุผู้เถระ, ปูนกลางหรือบวชใหม่ ก็ถูกติเตียนโดนฐานะ  ๓ เหล่านี้. ถ้าพระศาสดาเป็นผู้สงัดและสาวก  ๑. ศึกษาความสงัด   ๒. ละธรรมที่พระศาสดาสอนให้ละ  ๓. ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการหลับนอน มีความสงัดเป็นเบื้องหน้า. ก็เป็นที่สรรเสริญโดยฐานะ   ๓  ทั้งภิกษุที่เป็นเถระ, ปูนกลางและบวชใหม่.

   ๔. ครั้นแล้วได้แสดงทางสายกลาง คือมรรคมีองค์  ๘ มีความเห็นชอบ   เป็นต้น สำหรับละธรรมที่ชั่ว คือ  ๑. ความโลภและคิดประทุษร้าย  ๒. ความโกรธและผูกโกรธ   ๓. ลบหลู่บุญคุณท่านและตีเสมอ  ๔. ริษยา และตระหนี่  ๕. มายาและโอ้อวด  ๖. กระด้างและแข่งดี  ๗. ถือตัวและดูหมิ่นท่าน  ๘. มัวเมาและประมาท. ( ธรรมฝ่ายชั่วเหล่านี้ เมื่อคิดเป็นรายข้อจะรวมเป็น  ๑๖ ข้อ   เรียกว่าอุปกิเลส คือเครื่อวเศร้าหมองแห่งจิตอันปรากฏในวัตถูปมสูตรที่  ๗ ในเล่มที่   ๑๒ นี้ ในที่นี้แสดงควบข้อละ   ๒ ประการตามสำนวนบาลีเฉพาะสูตรนี้ ).

๔. ภยเภรวสูตร
สูตรว่าด้วยความกลัวและสิ่งที่กลัว

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้า กราบทูลสรรเสริญว่าทรงเป็นหัวหน้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แแนะนำกุลบุตรที่ออกบวชอุทิศพระองค์.

   แล้วกราบทูลต่อไปว่า เสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าและราวป่า อดทนได้ยาก.  ความสงัดความเป็นผู้อยู่ผู้เดียวทำได้ยาก ยินดีได้ยาก ประหนึ่งว่าป่าจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย.

   พระผู้มีพระภาคตรัสรับว่าเมื่อก่อนตรัสรู้ ยังเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ก็ทรงเคยคิดถึงเสนาสนะป่าเช่นนั้น แล้วได้ทรงแสดงความคิดของพระองค์ก่อนตรัสรู้   ( ๑๖ ข้อที่เกี่ยวกับเสนาสนะป่า ) ดังต่อไปนี้ :-

   ( ข้อ   ๑ ถึง   ๑๖ )   ทรงคิดว่า สมณพราหมณ์บางพวก   ๑. มีการงานทางกายไม่บริสุทธิ์   ๒. มีการงานทางวาจาไม่บริสุทธิ์   ๓. มีการงานทางใจไม่บริสุทธิ์  ๔. มีอาชีพไม่บริสุทธิ์  ๕. มีความอยากได้ มีราคากล้าในกาม  ๖. มีจิตพยาบาท  ๗. มีความหดหู่ง่วงงุนรัดรึงจิต   ๘. มีจิตไม่สงบ  ๙. มีความลังเลสงสัย   ๑๐. เป็นผู้ยกตน, ข่มผู้อื่น   ๑๑. เป็นผู้สะดุ้งหวาดกลัว   ๑๒. ใคร่ลาภสักการะชื่อเสียง  ๑๓. เกียจคร้าน มีความเพียรเลว  ๑๔. หลงลืมตน   ๑๕. มีจิตไม่ตั้งมั่น หมุ่นไปผิด  ๑๖. มีปัญญาทราม น้ำลายไหลเวลาพูด . สมณพราหมณ์เหล่านี้เสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าและราวป่า ย่อมเรียกร้องเอาอกุศลเพราะเหตุโทษ   ๑๖ ข้อนั้นมาเป็นความกลัวและสิ่งที่น่ากลัวและสิ่งที่น่ากลัว . แต่พระองค์ ( พระโพธิสัตว์ ) ไม่มีโทษ   ๑๖ ข้อนั้น ทรงเห็นความสมบูรณ์ ( อันตรงกับข้ามกับโทษ ๑๖ ข้อในพระองค์ ) จึงมีขนตก ( ไม่หวาดกลัว ไม่ขนพอง ) อยู่ป่าได้ดีผู้หนึ่งในพระอริยเจ้าผู้เสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่าทั้งหลาย.

การเผชิญความกลัว

   ครั้นแล้วทรงแสดงถึงความคิดของพระองค์ ( เมื่อก่อนตรัสรู้ ) ต่อไปอีกว่า เมื่อถึงวัน  ๑๔ ค่ำ   ๑๕ ค่ำ  และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์   ควรทดลองอยู่ในเสนาสนะที่น่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า เช่น  สวน , ป่า , ต้นไม้ ที่คนเข้าใจว่าศักดิ์สิทธิ์.  เพื่อจะได้เห็นความกลัวและสิ่งที่น่ากลัว. เมื่อทดลองเข้าไปสู่ที่เช่นนั้น เมื่อสัตว์เดินมานกยูงทำกิ่งไม้ตกลงมา หรือลมพัดถูกเศษใบไม้ เราก็คิดว่า ความกลัวและสิ่งที่น่าากลัวกำลังมา และมาในขณะที่เราอยู่ในอาการใด เช่น กำลังเดิน , ยืน , นั่งหรือนอน เราก็จะอยู่ในอาการนั้น ไม่เปลี่ยนอาการเป็นอย่างอื่นขจัดความกลัวและสิ่งที่น่ากลัวให้จงได้ แล้วเราก็ทำตามที่คิดนั้น.

บางพวกหลงวันหลงคืน

   สมณพราหมณ์บางพวกก็หลงกลางคืนว่าเป็นกลางวัน หลงกลางวันว่าเป็นกลางคืน แต่พระองค์มิได้เป็นเช่นนั้น.

ทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระองค์

    ครั้นแล้วทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระองค์ คือการตั้งสติจนมีอารมณ์เป็นอันเดียว ได้ฌานที่   ๑ ถึงฌานที่   ๔ แล้วทรงได้วิชชาและแสงสว่าง ประเภทระลึกชาติได้ในยามที่   ๑ ประเภททิพย์จักษุ เห็นการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายในยามกลาง , ประเภททำอาสวะให้สิ้นในยามสุดท้าย. แล้วตรัสสรูปในที่สุดว่า อาจมีผู้คิดว่าพระองค์ยังไม่หมดราคะ   โทสะ   โมหะ   จึงต้องเสพเสนะสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่า ซึ่งไม่ควรคิดเช่นนั้น. พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์   ๒ อย่าง จึงเสพเสนาสนะอันสงัดอันตั้งอยู่ในป่า คือ :  ๑. ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของพระองค์   ๒. ทรงมุ่งอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง ( เพื่อให้ถือเป็นตัวอย่าง ).

    ชาณุสโสณิพราหมณ์ก็รับรองว่า ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลังอย่างแท้จริง แล้วประกาศความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.

   

๕ . อนังคณสูตร
สูตรว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลส

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม . พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายถึงบุคคล  ๔ ประเภท คือ   ๑. มีกิเลส ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีกิเลส   ๒. มีกิเลส รู้ตามความจริงว่ามีกิเลส  ๓. ไม่มีกิเลสไม่รู้ตามความจริงว่าไม่มีกิเลส   ๔. ไม่มีกิเลส รู้ตามความจริงว่าไม่มีกิเลส. ประเภทที่  ๑ เลว ประเภทที่  ๒ ประเสริฐสุด ; ในประเภทที่มีกิเลส ประเภทที่   ๓ เลว ประเภทที่  ๔ ประเสริฐสุดใน  ๒ ประเภทที่ไม่มีกิเลส.

    ๒. พระโมคคัลลนะกล่าวถามถึงเหตุผลที่บุคคลเหล่านั้นดีเลวกว่ากัน พระสารีบุตรตอบโดยใจความว่า   ๒ พวกที่ไม่รู้ตามความจริง จะเป็นผู้มีราคะ  โทสะ  โมหะ   มีกิเลส   มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา . ส่วน  ๒ พวกที่รู้ตามความจริง ถ้ามีกิเลสก็พยายามเพื่อละกิเลส ถ้าไม่มีกิเลส ราคะก็จะไม่ตามรบกวน ในที่สุดก็จะเป็นผู้ไม่มีราคะ   โทสะ   โมหะ ไม่มีกิเลส   ไม่มีจิตเศร้าหมองทำกาลกิริยา.

    ๓ . แล้วพระสารีบุตรได้อธิบายว่า คำว่า อังคณะ ( กิเลสที่เปรียบเหมือนเนิน ) เป็นชื่อของอกุศลบาปธรรมอันเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งความปรารถนา ( มีความปรารถนาอย่างนั้นอย่างนี้เป็นส่วนสำคัญ ).

   ๔. ต่อไปได้แสดงตัวอย่างแห่งความปรารถนาของภิกษุซึ่งเกิดขึ้นในทางที่ผิด รวม   ๑๓ ตัวอย่าง พร้อมทั้งเกิดความโกรธ ความไม่พอใจตามมาด้วย แล้วสรุปในท้ายของทุกข้อว่า   ความโกรธ   และความไม่พอใจทั้งสองอย่างนั้น เป็นอังคณะ ( กิเลสที่เปรียบเหมือนเนิน ). ตัวอย่างแห่งความปรารถนา   ๑๓ ข้อ เช่น ภิกษุต้องอาบัติ ก็ปรารถนาให้ภิกษุอื่นอย่ารู้เรื่องเป็นข้อแรก ปรารถนาให้ตนเท่านั้นได้ลาภ ภิกษุอื่นอย่าได้ลาภ เป็นข้อสุดท้าย ครั้นไม่สมปรารถนาก็เกิดความโกรธ ทั้งความปรารถนาและความโกรธนั้นจัดเป็นอังคณะ ( กิเลส ) ด้วยกันทั้งสองอย่าง.

    ๕. ครั้นแล้วแสดงต่อไปว่า แม้ภิกษุจะอยู่ป่า อยู่เสนาเสนะอันสงัด นุ่งห่มผ้าสีหมอง ( อันแสดงว่าเคร่ง ) แต่ถ้าละอกุศลบาปธรรมที่มีความปรารถนาเป็นส่วนสำคัญเหล่านี้ไม่ได้ เพื่อนพรหมจารีก็ไม่เคารพนับถือ เปรียบเหมือนถาดสำริดที่ใส่ซากศพ ย่อมเป็นที่รังเกียจ ไม่ชวนให้บริโภค แต่ถ้าละอกุศลเหล่านี้ได้ แม้จะอยู่ใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร ( ซึ่งไม่เคร่งเหมือนพระอยู่ป่า ) แต่เพื่อพรหมจารีก็เคารพนับถือ เปรียบเหมือนถาดสำริดที่ใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี มีแกงและกับอันมากมาย ย่อมไม่เป็นที่รังเกียจ แต่กลับชวนให้บริโภค.

    พระโมคคัลลนะก็กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรว่า เหมือนช่างถากไม้ที่ถากได้ดีถึงใจสำหรับภิกษุที่ยังมีกิเลส ส่วนสำหรับภิกษุผู้ไม่มีกิเลส เปรียบเหมือนบุคคลได้พวงมาลัยดอกไม้หอม เสมือนได้ดื่มกินธรรมปริยายนี้ด้วยปากและด้วยใจ.

๖ . อากังเขยยสูตร
สูตรว่าด้วยความหวังของภิกษุ

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายให้สำรวมในปาฏิโมกข์ ( ศีลที่เป็นประธาน ) สมบูรณ์ด้วยมายาท และการรู้จักไปในที่อันควร เห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย .

   ต่อจากนั้นได้ทรงแสดงความหวัง  ๑๗ ข้อ เริ่มต้นแต่ความหวังขนาดธรรมดา ให้เป็นที่รักเคารพของเพื่อนพรหมจารีขึ้นไปจนถึงความหวังขั้นสูงสุด คือการทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ ( เป็นพระอรหันต์ ) ว่า ถ้าหวังแต่ละข้ออย่างนั้น ก็พึงทำให้บริบูรณ์ในศีล หมั่นประกอบความสงบจิต ( เจโตสมณะ ) ภายใน ไม่ปล่อยให้ฌานเสื่อม ประกอบด้วยวิปัสสนา เจริญการอยู่ในเรือนว่าง ( ข้อปฏิบัติที่แสดงในที่นี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ).

๗ . วัตถูปมสูตร
สูตรอุปมาด้วยผ้าที่ย้อมสี

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคคติ เป็นหวังได้   เปรียบเหมือนผ้าที่เศร้าหมองมีมลทินจับ ช่างย้อมจะย้อมในน้ำสีใดก็ตาม ก็มีสีไม่ดี   ไม่บริสุทธิ์.   เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นหวังได้ เปรียบเหมือนผ้าที่บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ช่างย้อมจะย้อมในน้ำสีใด ๆ ก็ตาม ก็มีสีดี บริสุทธิ์ . ทั้งนี้เพราะผ้าไม่บริสุทธิ์หรือบริสุทธิ์นั้นเอง.

   ๒. ครั้นแล้วทรงแสดงอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมองจิต )   ๑๖ ประการ คือ   ๑. โลภ   ๒. พยาบาท  ๓. โกรธ   ๔. ผูกโกรธ  ๕. ลบหลู่บุญคุณท่าน  ๖. ตีเสอม   ๗. ริษยา  ๘. ตระหนี่   ๙. ม ายา   ๑๐. โอ้อวด  ๑๑. กระด้าง  ๑๒. แข่งดี   ๑๓. ถือตัว  ๑๔. ดูหมิ่น  ๑๕. มัวเมา  ๑๖. ประมาท.

    ๓ . ภิกษุผู้รู้ความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิต   ๑๖ อย่างเหล่านี้เเล้ว ย่อมละอุปกิเลสแห่งจิตเหล่านี้ ( แต่ละอย่าง ) เสียได้. เมื่อละได้แล้ว ก็มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะละกิเลสที่พึงละด้วยมรรคเบื่องต่ำได้ ( โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค ) จึงได้ความรู้อรรถ รู้ด้วยธรรมว่า ตนคิดความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ . ได้ความปราโมมทย์อันประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตตั้งมั่น. ภิกษุมีศีล มีธรรม มีปัญญาอย่างนี้ ฉันบิณฑบาตข้าวสาลีมีแกงและกับมากมาย ก็ไม่มีอันตราย เป็นผู้เปรียบเหมือนผ้าอันบริสุทธิ์หรือทองเงินอันบริสุทธิ์.

    ๔. เธอมีจิตประกอบด้วยเมตตา ,   กรุณา ,   มุทิตา,   อุเบกขา   แผ่ไป   ๔ ทิศ รวมทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ในที่ทั้งปวง รู้อริยสัจจ์   ๔ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็หลัดพ้นจากอาสวะ เมื่อหลุดพ้นก็เกิดญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก. ภิกษุนี้ชื่อว่าอาบน้ำแล้วด้วยการอาบน้ำภายใน.

   ๕. สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ นั่งอยู่ไม่ไกล จึงชวนพระผู้มีพระภาคไปสู่แม่น้ำพาหุกา เพื่อสนานกาย เมื่อตรัสถามเหตุผล พราหมณ์จึงกราบทูลว่า เพราะแม่น้ำนี้ชนเป็นอันมากถือกันว่าเป็นบุญลอยบาปที่ทำไว้แล้วได้. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอธิบายว่า แม่น้ำต่าง ๆ ที่มีชื่อนั้นไม่ทำให้คนพาลบริสุทธิ์ได้ . แต่ถ้าไม่ทำชั่วก็ไปสู่แม่น้ำคยาทำไม แม้น้ำดื่มก็เป็นแม่น้ำคยา อยู่แล้ว . สุนทริกทวาบาชพราหมณ์เลื่อมใสทูลขอบวช เมื่อบวชแล้วไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

๘ . สัลเลขสูตร
สูตรว่าด้วยการขัดเกลากิเลส

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม พระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้า กราบทูลถามปัญหาเรื่องการละ การสละทิฏฐิที่ประกอบด้วยอัตตวาทะ ( วาทะเกี่ยวกับตน ) โลกวาทะ ( วาทะเกี่ยวกับโลก ).   พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า ทิฏฐินั้น ๆ ไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั้น นั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา ก็จะละสละทิฏฐิเหล่านั้นได้.

    ๒. ตรัสต่อไปว่า ภิกษุเข้ารูปฌาน ( ฌานมีรูปเป็นอารมณ์ ) ทั้งสี่แต่ละอย่าง แล้วนึกว่าเราอยู่ด้วยการขัดเกลาดังนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการขัดเกลาในอริยวินัย เรียกได้ว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน.

   ๓. แล้วตรัสว่า ภิกษุเข้าอรูปฌาน ( ฌานมีสิ่งมิใช่รูปเป็นอารมณ์ ) แล้วนึกว่าเราอยู่ด้วยการขัดเกลาดังนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการขัดเกลาในอริยวินัย เรียกได้แต่ว่าธรรมะเป็นเครื่องอยู่อันเป็นสงบระงับ.

   ๔. ตรัสสอนให้ทำการขัดเกลาว่า คนอื่นเขาทำความชั่ว เราจักทำความดี ( ทรงแสดงการเบียดเบียนและอกุศลกรรมบถ  ๑๐ มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น มีความเห็นผิดเป็นที่สุด , มิจฉัตตะ   ๑๐ (ความผิด ( มีความเห็นผิด เป็นต้น มีความหลุดพ้นผิดเป็นที่สุด และทรงแสดงโทษอื่น ๆ อีก เช่น อุปกิเลส เป็นฝ่ายชั่ว ตรงกันข้ามเป็นฝ่ายดี รวมฝ่ายละ ๔๔ ข้อ ).

    ๕. ตรัสสอนว่า เพียงแต่คิดในการกุศลธรรม ก็ยังมีอุปการะมาก จึงไม่ต้องกล่าวถึงการลงมือทำด้วยกายและวาจา . ฉะนั้น จึงควรคิดว่า คนอื่นเขาเบียดเบียน เราจักไม่เบียดเบียน เป็นต้น.

   ๖. ตรัสว่า เปรียบเหมือนพึงมีทางเรียบอีกทางหนึ่ง เพื่อเลี่ยงทางไม่เรียบ พึงมีท่าน้ำที่เรียบอีกท่าหนึ่ง เพื่อเลี่ยงท่าน้ำที่ไม่เรียบ. การทำความดี เช่น การไม่เบียดเบียน ก็เพื่อเลี่ยงความชั่ว เช่น การเบียดเบียน.

   ๗. อกุศลธรรมทั้งหมดมีการเบียดเบียน เป็นต้น มีความตกต้ำเป็นที่ไป กุศลธรรมทั้งหมด เป็นต้น มีความสูงขึ้นเป็นที่ไป.

   ๘. ตรัสว่า คนที่จม (ลงไปในหล่ม ) จะอุ้มคนที่จม ( ลงไปในหล่มด้วยกัน ) ขึ้นมาได้นั้น มิใช่ฐานะที่มีได้ คนที่ไม่จมจึงอุ้มคนที่จมขึ้นมาได้. คนที่ไม่ฝึก ไม่หัด ไม่ดับเย็นด้วยตนเอง จะฝึก จะหัด จะทำใหคนอื่นดับเย็น มิใช่ฐานะที่มีได้ คนที่ฝึกหัดดับเย็นด้วยตนเอง จึงฝึกหัดให้คนอื่นดับเย็นได้. และทรงแจกรายละเอียดว่า ความไม่เบียดเบียนจึงเป็นไปเพื่อดับเย็น ( ปรินิพพาน ) ของผู้เบียดเบียน เป็นต้น.

    (หมายเหตุ:  คำสรุปท้ายพระสูตรนี้ คือบท    ๔๔ สนธิ   ๕ เรียกว่าสัลเลขสูตร ลึกซึ่งเหมือนสาคร. คำว่า บท  ๔๔ คือความชั่ว  ๔๔ อย่าง ตรงกันข้ามกับความดี   ๔๔ อย่าง สนธิ   ๕ คือที่ต่อ  ๕ แห่ง ได้แก่เงื่อนไข  ๕ ประการ พึงนับจากที่ย่อไว้ในข้อ   ๔ มาถึงข้อ  ๘ ก็จะเห็นเงื่อนไขหรือสนธิ  ๕ ).

๙ . สัมมาทิฏฐิสูตร
สูตรว่าด้วยความเห็นชอบ

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชวตนาราม. พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงเรื่องความเห็นชอบ โดยยกอาการรู้จักอกุศลและมูลรากของอกุศล การรู้จักกุศลและมูลรากของกุศลขึ้นแสดงก่อน เมื่อภิกษุทั้งหลายถามถึงปริยายอย่างอื่นอีก ก็แสดงยักย้ายนัยเรื่อย ๆ ไปอีก   ๑๕   ข้อ ) รวมเป็น   ๑๖ ข้อทั้งนัยแรก ).

   ๑๕ ข้อหลัง คือ   ๑. อาหาร   ๒. ทุกข์   ๓ . ชรามรณะ ( ความแก่ความตาย )   ๔ . ชาติ ( ความเกิด )  ๕ . ภพ ( ความมีความเป็น )  ๖. อุปาทาน ( ความยึดมั่นถือมั่น )   ๗. ตัญหา ( ความทะยานอยาก )   ๘. เวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ว่าทุกข์สุข เป็นต้น )  ๙. ผัสสะ ( ความถูกต้องทางตา เป็นต้น )  ๑๐. สฬายตนะ ( อายตนะ   ๖. มีตา เป็นต้น )   ๑๑ . นามรูป ( สิ่งที่เป็นเพียงชื่อ คือเรื่องของจิตใจ เรียกนาม สิ่งที่ถูกต้องได้เห็นได้เรียกรูป  ๑๒. วิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา เป็นต้น )  ๑๓. สังขาร ( เครื่องปรุงแต่งกาย วาจา จิต )  ๑๔. อวิชชา ( ความไม่รู้อริยสัจจ์   ๔ )   ๑๕. อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ). โดยรู้จักสิ่งนั้น เหตุเกิดของสิ่งนั้นความดับของสิ่งนั้น ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับสิ่งนั้น .

๑๐ . สติปัฏฐานสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติ ๔ ประการ

    ข้อความในพระสูตรนี้ซ้ำกับข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งอยู่ในเล่ม ๑๐ สูตรที่ ๙ อันย่อไว้แล้วที่ พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔

    จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ชื่อสีหนาทวรรค
   คือวรรคมีสีหนาทสูตรเป็นหน้า มี ๑๐ สูตร.


๑. คำว่า สิ่งต่าง ๆ เป็นคำรวบรัด ในบาลีแสดงไว้ถึง ๒๑ อย่าง มีดิน เป็นต้น มีนิพพานเป็นที่สุด

๒. เพลาการยึดถือ คือการถือเหมือนกัน แต่เพลากว่าปุถุชน แต่ไม่ถึงกับละได้เหมือนพระอรหันต์

๓. ทุรภิสมฺภวานิ อรรถกถาแก้ว่า ทุสฺสหานิ

๔. อารามเจตยานิ วนเจติยานิ รุกฺขเจติยานิ

๕. วาทะเกี่ยวกับตนเช่นเห็นรูปเป็นตน วาทะเกี่ยวกับโลก เช่น เห็นว่าตนและโลกเที่ยง เป็นต้น

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ