บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย
เล่มที่ ๑๙

ชาดก ภาคที่ ๑

๑. อปัณณกชาดก
๒. วัณณุปถชาดก
๓. จุลลกเสฏฐชาดก
๔. มตกภัตตชาดก
๕. ติตถชาดก
๖. นันทิวิสาลชาดก
๗. สัมโมทมานชาดก
๘. ทุมเมธชาดก
๙. สุวัณณหังสชาดก
๑๐. อุภโตภัฏฐชาดก

 

( เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙)
เล่มที่ ๒๗ ชื่อขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๑


      ในเล่มที่ ๒๗ นี้ อันเป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทาน สุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎก ไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน เรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา คือหนังสือที่แต่ง ขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง. คำว่า ชาตก หรือชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอา กำเนิดในชาติต่าง ๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้าง ชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้าง น้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระ พุทธเจ้าในชาติสุดท้าย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่าเรื่องชาดกเป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็น พระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้. ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบาง เรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรม ในนิทานนั้น ๆ. อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่า ชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ลองนับดูแล้ว ปรากฏว่าในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้นน่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่า ใกล้เคียงมาก.

      วิธีจัดระเบียบชาดกนั้น จัดตามจำนวนคำฉันท์น้อยขึ้นไปหามาก และตั้งชื่อหมวดหมู่ตามจำนวน คำฉันท์นั้น คือเอกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์บทเดียว มี ๑๕๐ เรื่อง ทุกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๒ บท มี ๑๐๐ เรื่อง ติกนิบาตชาดก ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๓ บท มี ๕๐ เรื่อง ดังนี้เป็นต้น ในเล่มที่ ๒๗ มีจนถึงจัตตาลีสนิบาตชาดก ( ชาดกที่ชุมนุมคำฉันท์ ๔๐ บท มี ๕ เรื่อง ) ส่วนเล่มที่ ๒๘ มีชุมนุมคำฉันท์ ๕๐ บท, ๖๐ บท, ๗๐ บท, ๘๐ บท และมีมหานิบาต คือชุมนุมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่อง อันมีมหา เวสสันดรชาดกเป็นเรื่องสุดท้าย.

      เป็นอันว่าพระไตรปิฎกที่ว่าด้วยเรื่องชาดกคือคำสอนแบบเล่านิทานคติธรรมนี้ มีอยู่ ๒ เล่ม คือ เล่มที่ ๒๗ และเล่มที่ ๒๘ ส่วนอรรถกถา คือหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลัง ขยายความเล่านิทานให้พิสดารออกไปนั้นมีถึง ๑๐ เล่ม แสดงว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่แม้เช่นนั้นก็มีชาวต่างประเทศแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้เรียบร้อยแล้ว รวม ๖ เล่มใหญ่ คือฉบับมหาวิทยาลัย เคม บริดจ์ พิมพ์ครั้ง แรกเมื่อ ค. ศ. ๑๘๙๕ คือ ๘๐ ปีเศษมาแล้ว. นอกจากนั้นยังมีสำนวนอื่นอีก ๒ สำนวน คือสำนวนของ ริส เดวิดส์ แปลไว้ ๔๐ เรื่องสำนวน ของแฟรนซิส กับ ธอมัส แปลไว้ ๑๑๔ เรื่อง.

      ในการย่อนี้จะไม่นำนิทานในอรรถกถามาเล่าเลย แต่จะเลือกนำภาษิตคติธรรมซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ มาแปลให้เห็นเนื้อหาแห่งคำสอนสัก ๑๐ บท จากชาดกต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ).

๑. อปัณณกชาดก

    " คนบางคนกล่าวฐานะที่ไม่ผิด นักตรึก ( นักตรรกวิทยา ) กล่าวฐานะที่ ๒ บัณฑิตรู้เนื้อความนั้นแล้ว พึงถือเอา เฉพาะฐานะที่ไม่ผิด. "

     ( หมายเหตุ : ภาษิตนี้แสดงให้เห็นหลักทางพระพุทธศาสนา ที่ให้ถือความจริงที่แน่นอน เรื่องของการคิดคาด คะเน หรือการเดา ซึ่งเป็นฐานะที่ ๒ นั้นมิใช่คติที่พึงยึดถือ พูดง่าย ๆ ว่า ทางพระพุทธศาสนา รับรองเฉพาะความจริงที่ประจักษ์ชัด ไม่ยอม เดาในเรื่องใด ๆ ).

๒. วัณณุปถชาดก

    " พ่อค้าเกวียนทั้งหลาย ไม่เกียจคร้าน ขุด ( หาน้ำอยู่ ) ในทางทราย ก็ได้พบน้ำในเนินทราย ( ในทะเลทราย ) นั้น. ท่านผู้เป็นมุนีก็เช่นกัน เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือความเพียร ไม่เกียจคร้าน พึงประสบความสงบแห่งหทัยได้."

๓. จุลลกเสฏฐชาดก

    " ผู้มีปัญญาพิจารณา ( เหตุผล ) ย่อมตั้งตนได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนแม้น้อย เหมือนคนก่อไฟกองน้อย ( ให้เป็น กองใหญ่ ) ฉะนั้น."

๔. มตกภัตตชาดก

    " ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้อย่างนี้ว่า ความเกิดนี้เป็นทุกข์, ผู้มีชีวิตจึงไม่พึงเบียดเบียนผู้มีชีวิตด้วยกัน, เพราะผู้ทำร้ายผู้มี ชีวิต ย่อมเศร้าโศก."

๕. ติตถชาดก

    " ดูก่อนนายสารถี ! ท่านจงนำม้าไปดื่มน้ำที่ท่าอื่นบ้างสิ คนเรายังเบื่อข้าวปายาสที่กินซ้ำ ๆ ได้. "

     ( หมายเหตุ : เป็นคำแนะนำของบัณฑิตให้นำม้าของพระราชา ซึ่งไม่ยอมลงดื่มน้ำในท่าน้ำที่จำเจ โดยให้นำ ไปดื่มที่ท่าอื่นดูบ้าง เพราะคนเรายังรู้จักเบื่ออาหารที่กินซ้ำ ๆ คติของเรื่องนี้คือให้แก้ไขเรื่องต่าง ๆ อย่างใช้ปัญญา ).

๖. นันทิวิสาลชาดก

    " ควรกล่าวแต่วาจาที่น่าพอใจเท่านั้น ไม่ควรกล่าววาจาที่ไม่น่าพอใจในกาลไหน ๆ. เมื่อเศรษฐีกล่าวคำที่น่าพอใจ โค ( นันทิวิสาล ) ได้ลากภาระหนักไปได้ ทำให้เศรษฐีได้ทรัพย์ และเอิบอิ่มใจ เพราะเหตุนั้น. "

๗. สัมโมทมานชาดก

    " นกทั้งหลายชื่นชมต่อกัน ( สามัคคีกัน ) ก็พาเอาข่ายไปได้ เมื่อใดนกเหล่านั้นทะเลาะกัน เมื่อนั้น ก็มาสู่อำนาจ ของเรา. "

     ( หมายเหตุ : นายพรานพูดเมื่อนกกระจาบติดข่ายเพราะทะเลาะและเกี่ยงแย่งกัน ไม่เหมือนคราวแรก ๆ ที่ ยังสามัคคีกัน บินขึ้นพร้อมกับนำเอาข่ายที่ดักไว้ไปติดบนต้นไม้และรอดชีวิตไปได้ ).

๘. ทุมเมธชาดก

    " คนมีปัญญาทรามได้ยศแล้ว ย่อมประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่ตน, ย่อมปฏิบัติเพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและ คนอื่น. "

๙. สุวัณณหังสชาดก

    " พึงยินดีตามที่ได้ เพราะว่าความโลภเกินไปเป็นความชั่ว เช่น เรื่องคนจับพญาหงส์ เลยเสื่อมจากทอง. "

     ( หมายเหตุ : คือเรื่องโลภมากลาภหาย เดิมได้ขนทองซึ่งหงส์ทองมาสลัดให้ แต่คิดโลภมาก จับหงส์ไว้ แล้ว ถอนขนหมดทั้งตัว ขนที่เคยเป็นทองก็เลยกลายเป็นขนนกธรรมดาไป ).

๑๐. อุภโตภัฏฐชาดก

    " ตาก็แตก ผ้าก็หาย ทั้งยังทะเลาะกันในเรือนของเพื่อนบ้าน. เขามีการวางงานอันถูกประทุษร้ายทั้งสองทาง คือทั้ง ในน้ำและบนบก. "

     ( หมายเหตุ : เป็นเรื่องของสองผัวเมียชาวประมง ผัวตกเบ็ดติดตอ นึกว่าได้ปลาใหญ่ เกรงว่าเพื่อนบ้านจะ ขอ จึงสั่งให้ลูกไปบอกกับเมียให้ไปเที่ยวทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ตัวเองดึงสายเบ็ด แต่ดึงไม่ขึ้น จึงเปลื้องผ้าทิ้งไว้บนฝั่ง ลงไปงมถูกตอตำ ตาแตก ครั้นขึ้นมา ก็ไม่มีผ้าจะนุ่ง เพราะมีใครขโมยไปแล้ว ทางบ้านก็แตกกับเพื่อนบ้านหมด เพราะเมียไปทะเลาะตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว ).

จบเล่มที่ ๒๗ ขุททกนิกาย ชาดก ภาคที่ ๑

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ