พระวิธูรบัณฑิต ๔

     ปุณณกะยักษ์คิดว่า เจ้าปราชญ์คงจะยังมิได้ให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย จึงวางเพื่อจะฟังโอวาทครั้งสุดท้าย พร้อมกับกล่าวว่า
   “ท่านจงกล่าวโอวาทครั้งสุดท้ายเสียเถิด ข้าพเจ้าจะได้รีบไป”
    “เรามีร่างกายที่หมักหมมสกปรก ไม่ควรจะกล่าวธรรม”

   ปุณณกะยักษ์กก็รีบไปเอาน้ำหอมมาจากโสรถสรงองค์พระวิธูร และให้เสวยโภชนาอันอร่อย ครั้นเสวยแล้วปุณณกะยักษ์ก็จัดแจงที่แสดงโอวาทอันสมควร พระวิธูรก็แสดงสาธุนรธรรมให้ฟัง  สาธุนรธรรมหมายความว่า ธรรมที่ทำให้คนดีที   ๔ ประการ

  ข้อ ๑.   ให้เดินตามบุคคลผู้เดินก่อน
   ข้อ ๒.  อย่าเผามือที่ชุ่ม
   ข้อ ๓.   อย่าประทุษร้ายมิตร
   ข้อ ๔.   อย่าลุอำนาจแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยกาม

   ปุณณกะยักษ์ฟังแล้วไม่เข้าใจจึงสอบถามพระวิธูรที่แสดงชี้แจงข้อความว่า

  ข้อ ๑.    ที่ว่าให้เดินตามบุคคลผู้ก่อนนั้น คือผู้ใดมีคุณแก่ตน ก็พยายามตอบแทนผู้นั้น
   ข้อ ๒.  ที่ว่าอย่าเผามือชุ่มนั้น คือตนได้อาศัยในเรือนท่านผู้ใดด้วยกันไม่ประทุษร้ายท่านนั้น
   ข้อ ๓.  อย่าประทุษร้ายมิตรนั้น คือท่านผู้ใดมีคุณแก่ตน พึงคิดตอบแทนให้จนได้ไม่คิดมุ่งร้ายเลย
   ข้อ ๔.  ว่าอย่าลุอำนาจแก่ผู้ประกอบด้วยกามนั้น คืออย่าลุ่มหลงสตรี ทำความชั่ว

   ท่านฟังแล้วจงตั้งอยู่ในธรรมทั้ง  ๔ ข้อนี้เถิด

   ปุณณกะยักษ์ฟังแล้วก็สลดใจ เพราะตนประพฤติผิดมาหมดทั้ง  ๔ ข้อตั้งแต่ต้น เริ่มต้นได้รับการต้อนรับเลี้ยงดูจากเจ้าวิธูร และตนก็ได้ประพฤติผิดเรื่อยมาจนกระทั่งคิดฆ่าด้วยฝีมือตนเอง ยิ่งคิดไปก็ยิ่งละอายตนเองเราเป็นถึงเสนาบดี และหลานของท้าวเวสสุวัณผู้โลกบาล มาหลงงมงายกับคิดฆ่าผู้อื่น ผิดวิสัยชายเสียจริง ถ้าเราไม่ได้ฟังโอวาทของเจ้าวิธูรก็คงจะทำชั่วมากขึ้นอีก เขาตัดสินใจเลย ได้เสียหรือมิได้ช่างมัน แต่เราจะไม่ยอมเสียเกียรติของผู้ชายอีกล่ะ เราจะไม่ยอมทำชั่วเพราะผู้หญิงอีก

   ถ้าคนสมัยนี้คิดได้อย่างเจ้าปุณณกะยักษ์ บ้านเมืองเราก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น นี่เอาแต่

“อยู่มาหมู่เข้าเฝ้า    ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดี ๆ    ทำมโหรีที่เคหา
ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ    เข้าแต่หอล่อกามา”

   มันก็เลยไม่ดีไปกว่าเจ้าปุณณกะยักษ์    เมื่อคิดได้เช่นนั้น เขาจึงกล่าวกับเจ้าวิธูรว่า
   “เจ้าปราชญ์ เจ้าเทศนาได้ไพเราะมาก เราเลื่อมใสเจ้าเหลือประมาณ ชีวิตของเจ้าเราคืนให้ และยินดีจะไปส่งเจ้ายังสำนักด้วย”
   “ท่านอย่าเพิ่งพาเรากลับไปส่งเลย เพราะพญาวรุณนาคราชและนางวิมาลายังต้องการตัวเราอยู่ ควรพาเราลงไปบาดาลเสียก่อน แล้วค่อยพาเรากลับ”
   “ถ้าท่านประสงค์อย่างนั้นก็ได้ เมื่อลงไปในบาดาลแล้วหากอันตรายเกิดกับท่าน ต้องข้ามศพปุณณกะยักษ์ไปเสียก่อน”

   เมื่อได้ตกลงกันแล้ว ก็ให้เจ้าวิธูรขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกันแต่นั่งข้างหลัง เพื่อมิให้พญานาคราชแลเห็นเจ้าวิธูร พญาวรุณนาคราช เมื่อแลเห็นปุณณกะยักษ์พาพระวิธูรมาเฝ้าก็ตรัสว่า
   “พ่อปุณณกะ ได้หัวใจเจ้าวิธูรมาแล้วหรือ” แต่ปุณณกะยักษ์กลับตอบอย่างไม่ตรงคำถามเลยว่า
   “เจ้าปราชญ์วิธูร ข้าพเจ้าได้ตัวมาแล้วโดยชอบธรรม ขอเชิญทอดพระเนตรและสดับโอวาทของเจ้าวิธูรเถิด”
   “เจ้าปราชญ์ เจ้าลงมานาคพิภพน่ะ ไม่ถวายบังคมเราเจ้าไม่กลัวเราหรือไง”
   “ขอเดชะ พระองค์อย่าได้ตรัสดังนั้น เดี๋ยวนี้กระหม่อมฉันเป็นนักโทษของผู้อื่นอยู่ จะถวายบังคมพระองค์ได้อย่างไร และอีกประการหนึ่งนักโทษประหารชีวิตนั้น จะต้องการไหว้ใครเพื่อประโยชน์อะไร” ตัวหม่อมฉันนี้ ปุณณกะจะให้ฆ่าเอาหัวใจแล้วจะถวายบังคมพระองค์ทำไม”
   “เออ จริงสินะ จริงของเจ้าปราชญ์ข้ายอมรับ”
   “สมบัติของพระองค์ในบาดาล ดูสมบูรณ์พูนสุขเหลือขนาด เพราะพระองค์สร้างสมขึ้นมาหรืออย่างไร”
   “ไม่ใช่ดอกเจ้าปราชญ์ สมบัติเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยบุญทั้งนั้น เราและเมียเราแต่ก่อนเคยเกิดเป็นคนอยู่ในเมืองกาลจัมปาเรามีศัทธาได้ให้ทานแก่คนยาจก สมณชีพราหมณ์เรื่อยมาเราจุติจากนั้นแล้วก็ได้มาเสวยราชสมบัติในนาคพิภพนี้”
   “เมื่อท่านให้ทานได้ผลเช่นนี้ ทำไมท่านไม่ให้ทานต่อไปอีกเล่า”
   “ก็เพราะในเมืองนาคของเรายาจกวณพก และสมณชีพราหมณ์มิได้มี อย่างไรดีจึงจะให้ทานได้ล่ะ”
   “แม้มิให้ในวัตถุ แต่พระองค์ตั้งจิตเมตตาแก่นาคราชทั้งหลายใกล้ไกลหาประมาณมิได้ พยายามแผ่เมตตาให้เขาเหล่านั้น พระองค์ก็จะได้ชื่อว่าให้ทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

   ได้ฟังธรรมอันแสนสบายแล้วพระองค์ก็ส่งเจ้าวิธูรเข้าไปเทศนาสั่งสอนนางวิมาลามเหสี พระนางวิมาลาได้สดับธรรมสมความตั้งใจ ก็เกิดปีติยินดีให้เจ้าปุณณกะยักษ์พาไปส่งยังพระเจ้าโกรพ พร้อมกับพระราชทานนางอิรันทตีให้เจ้าปุณณกะยักษ์พานางไปด้วย ปุณณกะยักษ์ก็พานางอิรันทตีกับพระวิธูร ขึ้นมายังเมืองมนุษย์โลก โดยให้นั่งมาข้างหน้า ตนนั่งกลาง และนางอิรันทตีนั่งหลัง พาเหาะมาโดยทางอากาศ พอมาถึงก็กำบังกายตนเองและนางอิรันทตีมิให้ใครเห็นส่งเจ้าวิธูรลงหน้าโรงศาลา แล้วก็พานางอิรันทรตีไปยังเทวโลก

   พระเจ้าโกรพได้ทอดพระเนตรเห็นพระวิธูรกลับมาได้ก็ดีพระทัย ถามรู้ความตลอดแล้วก็เกิดปรีดาปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง จึงรับสั่งให้มีการฉลองเจ้าวิธูรเป็นเวลานานถึง 1 เดือน และนับแต่นั้นมาบ้านเมืองก็อยู่สุขสบายตลอดมา พระราชาก็เลิกการพนันได้เด็ดขาด

   เรื่องนี้ก็เป็นอันจบลงเพียงเท่านี้ แต่เราได้อะไรจากเรื่องนี้ ปัญญาของเจ้าวิธูร ในการสั่งสอนอรรถธรรมทำให้ตนรอดพ้นจากความตาย ได้รับความเลื่อมใสนับถือจากทุกคนทุกหมู่ทุกเหล่า ความเมตตาในดวงจิตของเจ้าวิธูร ทำให้มีหน้าตาผ่องใส ปราศจากความกริ้วโกรธ เป็นเหตุให้ผู้อื่นเมตตาตนด้วย การพนันเป็นเหตุแห่งหายนะ คือความเสื่อมในทุก ๆ ทาง ผู้หญิงเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วได้ทั้งมวล ถ้าไม่มีศีลธรรมประจำใจ เพียงเท่านี้ก็พอจะเป็นเครื่องบำรุงปัญญาของท่านได้

หน้า 1   หน้า 2   หน้า 3   หน้า 4