บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๕


เล่มที่ ๓๘ ชื่อยมก
...ภาคที่ ๑ ...


 

หน้าที่ ๑
มีหน้าเดียว


..ชื่อยมก
๑.มูลยมก
๒.ขันธยมก
๓.อายตนยมก
๔.ธาตุนยมก
๕.สัจจยมก
๖.สังขารยมก
๗.อนุสยมก

 

เล่มที่ ๓๘ ชื่อยมก ภาคที่ ๑
เป็นอภิธัมมปิฎก ( เล่ม ๕ )

   ( คัมภีร์ยมก   เป็นคัมภีร์ที่ ๖   แห่งอภิธัมมปิฎก   แบ่งออกเป็น   ๒ เล่ม หรือ   ๒ ภาค   คือ   ภาคแรก   เล่มที่ ๓๘   ว่าด้วย   ธรรมที่เป็นคู่   ๗ หัวข้อ   คือ     ๑. มูลยมก   ธรรมเป็นคู่อันเป็นมูล     ๒. ขันธยมก   ธรรมเป็นคู่ คือขันธ์     ๓. อายตนะยมก   ธรรมเป็นคู่คือสังขาร     ๔. ธาตุยมก   ธรรเป็นคู่คือธาตุ     ๕. สัจจยมก   ธรรมเป็นคู่คือสัจจะ     ๖. สังขาร   ธรรมเป็นคู่คือสังขาร     ๗. อนุสสัยยมก   ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย ( กิเลสอันนอนเนื่องด้วยในสันดาน ) ; ภาคที่ ๒   เล่มที่ ๓๙   ว่า   ธรรมที่เป็นคู่   ๓ หัวข้อ คือ     ๑. จิตตยมก   ธรรมเป็นคู่คือจิต     ๒. ธัมมยมก   ธรรมเป็นคู่คือธรรม และ     ๓. อินทรียยมก   ธรรมเป็นคู่คืออินทรีย์ ( สภาพที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ).

   ต่อไปนี้จะขยายความอย่างย่อ ๆ พอให้เห็นว่า หัวข้อธรรมที่เป็นคู่ทั้งเจ็ด ในคัมภีร์ยมกภาคที่ ๑   หรือในเล่มที่ ๓๙   นั้น มีข้อความอย่างไรต่อไป ).

๑. มูลยมก

ธรรมที่เป็นคู่อันเป็นมูล

   ในหมวดนี้มี   ๒ ส่วน คือเป็นบทตั้ง เรียก   อุทเทส  อย่างหนึ่ง เป็นบทอธิบาย เรียก  นิทเทส อีกอย่างหนึ่ง

    บทตั้ง กล่าวถึง   กุศลธรรม ธรรมอันเป็นฝ่ายดี ),  อกุศลธรรม   ( ธรรมอันเป็นฝ่ายชั่ว ),   อัพยากตธรรม  ( ธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว และ   นามธรรม (ธรรมที่เกี่ยวกับจิตใจ ) แล้วแจกไปตามหลัก ๑๐ ประการ คือ     ๑. มูล ( รากเหง้า )     ๒. เหตุ     ๓. นิทาน ( ต้นเหตุ )     ๔. สมภพ ( การเกิด )     ๕. ปภพ (แดนเกิด )     ๖. สมุฏฐาน ( ที่ตั้ง )     ๗. อาหาร     ๘. อามรมณ์   ๙. ปัจจัย ( เครื่องสนับสนุน )    ๑๐. สมุทัย ( เหตุให้เกิด ).

    บทอธิบาย ขอยกตัวอย่างคำอธิบายเรื่องกุศลธรรมดังกล่าวต่อไปนี้ ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เป็นกุศล   ธรรมเหล่านั้นทั้งปวง   ชื่อว่ากุศลมูลใช่หรือไม่?   กุศลมูลมี ๓  ธรรมที่เหลือมิใช่กุศลมูล .   ธรรมเหล่าใดมีกุศลเป็นมูล   ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด     ชื่อว่ากุศลใช่หรือไม่ ?   ใช่     ธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล   ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด     ชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูลใช่หรือไม่ ?   ใช่     ธรรมเหล่าใดมีมูลอันเดียวกับกุศลมูล   ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด   ชื่อว่ากุศลใช่หรือไม่ ?   รูปที่มีกุศลเป็นสมุฏฐาน   ชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูล   แต่ไม่ชื่อว่ากุศล   กุศลชื่อว่ามีมูลอันเดียวกับกุศลมูลด้วย เป็นกุศลด้วย   ฯลฯ

    (หมายเหตุ:  เมื่อพิจารณาดูคำอธิบายแล้ว จะเห็นได้ว่า   เป็นเรื่องต้องใช้ตรรกวิทยาในการเข้าใจความหมาย เช่น   คำว่า   รูป   เรากล่าวว่า   รูปเป็นกุศลไม่ได้   แต่กล่าวว่า   รูปมีมูลอันเดียวกับกุศลมูลได้   ถ้ารูปนั้น   มีกุศลเป็นสมฏฐาน   แต่คำว่า   กุศลเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง   คือเป็นกุศลด้วย   เป็นธรรมที่มีมูลอันเดียวกับกุศลมูลด้วย.

    มีข้อที่ควรทราบ คือ กุศลมูล ๓   ได้แก่   อโลภะ ,   อโทสะ ,  อโมหะ   อกุศลมูล ๓ ได้แก่   โลภะ ,   โทสะ ,  โมหะ   อัพยากตมูล ( มูลหรือรากของธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว) ได้แก่   อโลภะ ,   อโทสะ ,   อโมหะ   นามมูล ( มูลหรือรากของนาม) มี ๙ อย่าง ได้แก่   กุศลมูล ๓ ,   อกุศลมูล   ๓ และ อัพยากตมูล   ๓ รวมกัน.

    ข้อสังเกตเรื่องธรรมอันเป็นคู่ หัวเรื่องของพระไตรปิฎกเล่มนี้ คือ   ยมก   ได้แก่ธรรมที่เป็นคู่ ทำให้น่าค้นหาว่า เป็นคู่อย่างไร อยู่ที่ไหน ก็จะเห็นได้ว่า ในบทตั้งก็ตาม ในบทอธิบายก็ตาม จะกล่าวว่า ธรรมที่เป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนั้น หรือธรรมที่เป็นอย่างนั้น ชื่อว่าเป็นอย่างนี้ด้วย มีลักษณะเข้าคู่เสมอ ).

๒. ขันธยมก

( ธรรมเป็นคู่คือขันธ์ )

   ในมหวดนี้เปลี่ยนวิธีกำหนดหัวข้อใหม่ ๓ วาร   คือ     ๑. ปัณณัตติวาร   วาระว่าด้วยบัญญัติ     ๒. ปวัตติวาร   วาระว่าด้วยความเป็นไป    ๓. ปริญญาวาร   วาระว่าด้วยการกำหนดรู้.

    ๑. ปัณณัตติวาร    วาระว่าด้วยบัญญัติ คือข้อนัดหมายกันรู้ คือขันธ์ ( ส่วนหรือกอง ) มี ๕   ได้แก่   ขันธ์   คือรูป ( ธาตุทั้งสี่ประชุมกันเป็นกาย รวมทั้งอาการที่เนื่องด้วยธาตุทั้งสี่ ) ,   เวทนา   ( ความรู้สึก   สุข   ทุกข์   ไม่ทุกข์ไม่สุข ),   สัญญา   ( ความจำได้หมายรู้ ) ,   สังขาร   (ความคิดหรือเจตนา ) ,   วิญญาณ   ( ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา   หู   เป็นต้น ) ในปัณณัตติวารนี้   แบ่งเป็นวาระย่อย่อยอีก ๒ คือ   อุทเทสวาร   วาระว่าด้วยบทตั้งโดยกล่าวถึงขันธ์ ๕   ไปทีละข้อ เช่น กล่าวว่า   รูป   เป็นรูปขันธ์   รูปขันธ์   เป็นรูป   นิทเทสวาร   วาระว่าด้วยบทอธิบาย เช่น อธิบายว่า คำว่า   รูป   เป็นรูปขันธ์ อธิบายว่า   ปิยรูป   ( รูปอันเป็นที่รัก )   สาตรูป   ( รูปอันเป็นที่พอใจ ) จัดว่าเป็นรูป   แต่ไม่ใช่เป็นขันธ์   แต่รูปขันธ์เป็นรูปด้วย ( คำว่า   รูป   มีความหมายกว้าง   รูปบางอย่างเป็นรูปขันธ์  บางอย่างมิใช่รูปขันธ์   แต่คำว่า   รูปขันธ์   มีความหมายแคบ   คือรูปขันธ์จัดเข้าในประเภทของรูปด้วย   เป็นรูปขันธ์ด้วย ผู้เขียน ).

    ๒. ปวัตติวาร    วาระว่าด้วยความเป็นไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนย่อย คือ     ๑. อุปปาทวาร   วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น     ๒. นิโรธวาร   วาระว่าด้วยความดับ    ๓.   อุปปาทนิโรธวาร   วาระว่าด้วยความเกิดความดับ.

    ก. อุปปาทวาร  รูปขันธ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด เวทนาขันธ์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้เกิดเป็น   อสัญญาสัตว์   เกิดเฉพาะรูปขันธ์   เวทนาขันธ์ไม่เกิด ( เพราะอสัญญสัตว์มีขันธ์เดียว ) ส่วนผู้ที่เกิดมีขันธ์ ๕   ย่อมมีทั้งรูปขันธ์   ทั้งเวทนาขั้นธ์เกิดขึ้น   ( เช่น   มนุษย์ ) .     อนึ่ง เวทนาขันธ์เกิดแก่ผู้ใด   รูปขันธ์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นด้วยใช่หรือไม่ ?   ผู้เกิดใน   อรูปภพ   ย่อมมีเวทนาขันธ์เกิดขึ้น แต่ไม่มีรูปขันธ์เกิดขึ้น   ( เช่น   อรูปพรหม )   ส่วนผู้ที่เกิดมีขันธ์ ๕   ย่อมมีทั้งเวทนาขันธ์ทั้งรูปขันธ์เกิดขึ้น   ฯลฯ

    ข. นิโรธวาร  รูปขันธ์ของผู้ใดดับ เวทนาขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับด้วยใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเคลื่อนจาก   อสัญญสัตว์   รูปขันธ์ย่อมดับ   แต่เวทนาขันธ์ไม่ไดับ   ส่วนผู้กำลังเคลื่อนจากขันธ์ ๕   รูปขันธ์ก็ดับ   เวทนาขันธ์ก็ดับ.     อนึ่ง เวทนาขันธ์ของผู้ได้รับ รูปขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ? ผู้กำลังเคลื่อนจาก   อรูป   เวทนาขันธ์ย่อมดับ   แต่รูปขันธ์ไม่ดับ   ส่วนผู้กำลังเคลื่อนจากขันธ์ ๕   เวทนาขันธ์ย่อมดับ   รูปขันธ์ย่อมดับ   ฯ ล ฯ

    ค. อุปปาทนิโรธวาร  รูปขันธ์ของผู้ใดเกิดขึ้น   เวทนาขันธ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่ .     อนึ่ง   เวทนาขันธ์ของผู้ใดดับ   รูปขันธ์ของผู้นั้นย่อมเกิด   ใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่   ฯลฯ

    ๓. ปริญญาวาร     วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้รูปขันธ์   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้เวทนาขันธ์ ใช่หรือไม่ ?   ใช่.     อนึ่ง ผู้ใดกำหนดรู้เวทนาขันธ์   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้รูปขันธ์ใช่หรือไม่ ?   ใช่.     ผู้ใดไม่กำหนดรู้รูปขันธ์   ผู้นั้นย่อมไม่กำหนดรู้เวทนาขันธ์ใช่หรือไม่ ?   ใช่ .     อนึ่ง ผู้ใดไม่กำหนดรู้เวทนาขันธ์   ผู้นั้นย่อมไม่กำหนดรู้รูปขันธ์ใช่หรือไม่ ?   ใช่.

๓. อายตนยมก

( ธรรมเป็นคู่คืออายตนะ )

   ในหมวดนี้ มีหัวข้อเช่นเดียวกับขันธยมก คือ     ๑. ปัณณัตติวาร   วาระว่าด้วยบัญญัติ    ๒. ปวัตติวาร   วาระว่าด้วยความเป็นไป    ๓. ปริญญาวาร   วาระว่าด้วยการกำหนดรู้   :

    ๑. ปัณณัตติวาร     วาระว่าด้วยการบัญญัติ   คือข้อนัดหมายกันรู้   คือ  อายตนะ   ( ที่ต่อ )   มี ๑๒   ได้แก่   อายตนะ คือ ตา ,  หู ,   จมูก ,   ลิ้น ,   กาย,   รูป,   เสียง,   กลิ่น,   รส,   โผฏฐัพพะ ,   ใจ ,   ธรรม .  ในปัณณัตติวารนี้ แบ่งออกเป็นวารย่อยอีก ๒   คือ   อุทเทสวาร   วาระว่าด้วยบทตั้ง   โดยกล่าวถึงอายตนะ ๑๒   ไปทีละข้อ   เช่น   ตาเป็นอายตนะคือตา ,   อายตนะคือตา   เป็นตา ฯลฯ   นิทเทสวาร   วาระว่าด้วยบทอธิบาย   เช่น   ตาเป็นอายตนะใช่หรือไม่ ?   ตาที่เป็น   ตาทิพย์ ,   ตาปัญญา   ไม่ใช่อายตนะคือตา     ส่วนอายตนะคือตาเป็นตาด้วย   เป็นอายตนะคือตาด้วย ,   อายตนะคือตาเป็นตาใช่หรือไม่ ?   ใช่  ฯลฯ .

    ๒. ปวัตติวาร    วาระว่าด้วยความเป็นไป แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนย่อย   เช่นเดียวกับในขันธยมกดังต่อไปนี้:-

    ก. อุปปาทวาร  วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น คำว่า   อายตนะคือตาเกิดขึ้นแก่ผู้ใด  อายตนะคือหูย่อมเกิดแก่ผู้นั้น   ใช่หรือไม่ ?   ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีตา   แต่ไม่มีหู   มีอายตนะคือตาเกิดขึ้น   แต่ไม่มีอายตนะคือหูเกิดขึ้น   ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหู อายตนะคือตา   และอายตนะคือหู ย่อมเกิดขึ้น     อนึ่ง   อายตนะคือหูเกิดขึ้นแก่ผู้ใด   อายตนะคือตาย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ?   ผู้เกิดเป็นสัตว์ที่มีหู   แต่ไม่มีตา   มีอายตนะคือหูเกิดขึ้น   แต่ไม่มีอายุตนคือตาเกิดขึ้น   ผู้ใดเกิดเป็นสัตว์ที่มีอายตนะคือหู   และอายตนะคือตาย่อมเกิดมีทั้งอายตนะคือหูทั้งอายตนะคือตาเกิดขึ้น ฯลฯ

    ข. นิโรธวาร วาระว่าด้วยความดับ คำว่า  อายตนะคือตาของผู้ใดดับ  อายตนะของผู้นั้นยย่อมดับด้วยใช่หรือไม่ ?   ผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีตา   แต่ไม่มีหูอายตนะย่อมดับ   แต่อายตนะคือหูย่อมไม่ดับ   ส่วนผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความป็นสัตว์ที่มีทั้งตาทั้งหู   อายตนะคือตาและอายตนะคือหูย่อมดับ     อนึ่ง  อายตนะคือหูของผู้ใดย่อมดับ   อายตนะของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่?   ผู้ที่กำลังเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีหูแต่ไม่มีตา   อายตนะคือตาย่อมไม่ดับ   ส่วนผู้มี่กำลังจะเคลื่อนจากความเป็นสัตว์ที่มีทั้งหูทั้งตา   อายตนะคือหูและอายตนะคือตาย่อมดับ   ฯลฯ

    ค. อุปปาทนิฏรธวาร  วาระว่าด้วยความเกิดความดับ   อายตนะคือตาเกิดขึ้นแก่ผู้ใด   อายตนะคือหูของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่    อนึ่ง อายตนะคือหูของผู้ใดดับ  อายตนะคือตาของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่ ฯลฯ

    ๓. ปริญญาวาร     วาระว่าด้วยการกำหนดรู้ ผู้ใดกำหนดรู้อายตนะคือตา   ผู้นั้นชื่อว่ากำหนดรู้   อายตนะคือหูใช่หรือไม่ ?   ใช่ .     อนึ่ง   ผู้ใดกำหนดรู้อายตนะคือหู   ผู้นั้นชื่อว่ากำหนดรู้อายตนะคือตาใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯลฯ

๔. ธาตุนยมก

( ธรรมเป็นคู่คือธาตุ )

   ธาตุยมกนี้ ก็อย่างเดียวกับอายตนะยมก   มีวิธีแบ่งเป็น ๓   หรือ ๓ วารใหญ่   และมีวิธีการอธิบายเป็นอย่างเดียวกัน   ความต่างกับอยู่ที่จำนวน   คืออายตนะมี ๑๒   เป็นอายตนะภายใน ๖  อายตนะภายนอก ๖  ส่วนธาตุมี ๑๘   ได้แก่ธาตุ   คือ   ตา ,  หู,  จมูก,  ลิ้น,  กาย ;   รูป,  เสียง,   กลิ่น ,   รส,  โผฏฐัพพะ ;     ธาตุ   คือ   จักขุวิญญาณ ,   โสตวิญญาณ ,   ฆานวิญญาณ ,   ชิวหาวิญญาณ ,   กายวิญญาณ    ( ธาตุรู้ทางตา ,   หู ,   จมูก ,   ลิ้น ,  กาย ) ;     มโนธาตุ   ( ธาตุคือใจ ) ,   มโนวิญญาณธาตุ   ( ธาตุรู้ทางใจ ) ,   ธัมมธาตุ   ( ธาตุคือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ).

๕. สัจจยมก

( ธรรมเป็นคู่คือความจริง )

    ๑. ปัณณัตติวาร วาระว่าด้วยบัญญัติ.   อริยสัจจ์มี ๔   คือ     ทุกขสัจจ์   ความจริงคือทุกข์ ,     สมุทยสัจจ์   ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด ,     นิโรธสัจจ์   ความจริงคือความดับทุกข์ ,     มัคคสัจจ์   ความจริงคือหนทางให้ถึงความดับทุกข์
    ก. อุทเทสวาร   วาระว่าด้วยบทตั้ง   ทุกข์   เป็นทุกขสัจจ์ ,   ทุกขสัจจ์   เป็นทุกข์ ฯลฯ
    ข. นิทเทสวาร   วาระว่าด้วยคำอธิบาย ทุกข์ เป็นทุกข์สัจจ์ใช่หรือไม่ ? ใช่ ทุกขสัจจ์ เป็นทุกข์ใช่หรือไม่ ?   ทุกขสัจจ์ที่เหลือ   เว้นแต่ทุกข์ที่เป็นไปทางกาย   ทุกที่เป็นไปทางจิต   เป็นทุกข์สัจจ์   มิใช่ทุกข์ ;     ทุกข์ที่เป็นไปทางกาย   ทุกข์ที่เป็นไปทางจิต   เป็นทุกข์ด้วย   เป็นทุกขสัจจ์ ฯลฯ

    ๒. ปวัตติวาร วาระว่าด้วยความเป็นไป .     อุปปาทวาร   วาระว่าด้วยความเกิดขึ้น ทุกขสัจจ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด สมุทยสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ?   เมื่อเกิดเป็นสัตว์ทุกชนิด   ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้น   ในขณะแห่งความเกิดขึ้นของจิตที่มิได้ประกอบด้วยตัญหา   แต่สมุทยสัจจ์ไม่เกิดขึ้น   แต่ในขณะที่ตัญหาเกิดขึ้น   ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นด้วย   ทุกขสมุทยสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นด้วย     อนึ่ง   สมุทยสัจจ์เกิดขึ้นแก่ผู้ใด   ทุกขสัจจ์ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯลฯ     นิโรธวาร   วาระว่าด้วยความดับ ทุกขสัจจ์ของผู้ใดดับ สมุทยสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ?   เมื่อเคลื่อน ( จุติ ) จากความเป็นสัตว์ทุกชนิด   ในขณะแห่งความดับของจิตที่ไม่ประกอบด้วยตัญหา   ทุกขสัจจ์ย่อมดับ   แต่สมุทยสัจจ์ไม่ดับ   แต่ในขณะที่ตัญหาดับ   ทุกขสัจจ์ย่อมดับด้วย   สมุทยสัจจ์ย่อมดับด้วย     อนึ่ง   สมุทยสัจจ์ของผู้ใดดับ   ทุกขสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯลฯ     อุปปาทนิโรธวาร   วาระว่าด้วยความเกิดและความดับ   ทุกขสัจจ์ของผู้ใดเกิดขึ้น   สมุทยสัจจ์ของผู้นั้นย่อมดับใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่     อนึ่ง สมุทยสัจจ์ของผู้ใดดับ   ทุกขสัจจ์ของผู้นั้นย่อมเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ?   ไม่ใช่   ฯ ล ฯ

    ๓. ปริญญาวาร วาระว่าด้วยการกำหนดรู้   ผู้ใดกำหนดรู้ทุกขสัจจ์   ผู้นั้นย่อมละสมุทยสัจจ์ใช่หรือไม่ ?   ใช่.     อนึ่ง   ผู้ใดละสมุทยสัจจ์ได้   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้ทุกขสัจจ์ใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯ ล ฯ

๖. สังขารยมก

( ธรรมเป็นคู่คือสังขาร หรือเครื่องปรุง )

    ๑. ปัณณัตติวาร  วาระว่าด้วยบัญญัติ. สังขารมี ๓ คือ     กายสังขาร   เครื่องปรุงกาย ,     วจีสังขาร   เครื่องปรุงวาจา ,     จิตสังขาร   เครื่องปรุงจิต :   ลมหายใจเข้าออก   ชื่อว่าเครื่องปรุงกาย ,   วิตก   ความตรึกวิจาร   ความตรอง   ชื่อว่าเครื่องปรุงวาจา ,   สัญญา   ความจำได้หมายรู้   และเวทนา   ความรู้สึกสุข   ทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข   ชื่อว่าเครื่องปรุงจิต.     ธรรมทั้งปวงที่สัมปยุตกับจิต เว้นวิตกวิจาร ชื่อว่าเครื่องปรุงจิต

   นอกจากนี้ ลีลาในการอธิบายก็ทำนองเดียวกับที่เคยกล่าวมาแล้ว.

๗. อนุสยมก

( ธรรมเป็นคู่คืออนุสัย )

   ( ในหมวดนี้ ลีลาในการอธิบายเปลี่ยนไป  โดยได้แบ่งหัวข้อเป็น ๗   วาระ   คือ     ๑. อนุสยวาร   วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน     ๒. สานุสยวาร   วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสัย     ๓. ปชหนวาร   วาระว่าด้วยการละ     ๔. ปริญญาวาร   วาระว่าด้วยการกำหนดรู้     ๕. ปหีนวาร   วาระว่าด้วยอนุสัยที่บุคคลละได้แล้ว     ๖. อุปปัชชนวาร   วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น     ๗. ธาตุวาร   วาระว่าด้วยธาตุ   คือผู้เกิดในธาตุไหน คือ     กามธาตุ   รูปธาตุ   อรูปธาตุ   จะมีอนุสัยอะไรบ้าง ต่อไปนี้จะยกวาระทั้งเจ็ดขึ้นมากล่าวเป็นลำดับ แต่ก่อนจะถึงวาระทั้งเจ็ดนั้น มีบทตั้งที่อธิบายเรื่องอนุสัยไว้ อันนับเป็นหลักวิชาที่น่าสนใจ ) .     อนุสัย   ( กิเลสที่นอนเนื่องในสันดานหรือที่แฝงตัว ) ๗

   ได้แก่อนุสัย คือ     กามระคะ   ( คือความกำหนัดในกาม ),     ปฏิฆะ   (ความขัดใจ ) ,     มานะ  ( ความถือตัว ),     ทิฏฐิ   ( ความเห็น ) ,     วิจิกิจฉา   ( ความลังเลสงสัย ),     ภวราคะ   ( ความยินดีในภพ คือความมีความเป็น ) ,     อวิชชา   ( ความหลงไม่รู้ จริง ).

    อนุสัยคือกามระคะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในเวทนาทั้งสอง ( คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา )   ในกามธาตุ.   อนุสัยคือปฏิฆะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในทุกขเวทนา.   อนุสัยคือมานะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในเวทนา ๒   ( คือสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา ) ในกามธาตุ ,     ในรูปธาตุ   ในอรูปธาตุ .   อนุสัยคือทิฏฐิย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน ) ทั้งปวง .   อนุสัยคือวิจิกิจฉาย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน ) ทั้งปวง.   อนุสัยภวราคะย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในรูปธาตุและในอรูปธาตุ .   อนุสัยคืออวิชชาย่อมแฝงตัวตามในที่ไหน ?   ในธรรมที่เนื่องด้วยสักกายะ ( กายของตน )   ทั้งปวง.

    ๑. อนุสยวาร วาระว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน   หรือที่แฝงตัวตาม   อนุสัยคือกามราคะของผู้ใดย่อมแฝงตัวตาม   อนุสัยปฏิฆะของผู้นั้นย่อมแฝงตัวตามใช่หรือไม่ ?   ใช่ .     อนึ่ง   อนุสัยคือปฏิฆะของผู้ใดย่อมแฝงตัวตาม   อนุสัยคือกามระคะของผู้นั้นย่อมแฝงตัวตามใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯ ล ฯ

    ๒. สานุสยวาร วาระว่าด้วยบุคคลผู้มีอนุสัย   ผู้ใดมีอนุสัยเป็นกามราคานุสัย   ผู้นั้นย่อมมีอนุสัยเป็นปฏิฆานุสัยใช่หรือไม่ ?   ใช่ .     อนึ่ง   ผู้ใดมีอนุสัยเป็นปฏิฆานุสัย   ผู้นั้นย่อมมีอนุสัยเป็นกามราคานุสัยใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯ ล ฯ

    ๓. ปชหนวาร วาระว่าด้วยการละ   ผู้ใดละกามราคานุสัยได้   ผู้นั้นย่อมละปฏิฆานุสัยได้ใช่หรือไม่ ?   ใช่ .     อนึ่ง   ผู้ใดละปฏิฆานุสัย   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้กามราคานุสัยใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯลฯ

    ๔ . ปหีนวาร  วาระว่าด้วยการกำหนดรู้   ผู้ใดกำหนดรู้กามราคานุสัย   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้ปฏิฆานุสัยใช่หรือไม่ ?   ใช่.   ผู้ใดกำหนดรู้ปฏิฆานุสัย   ผู้นั้นย่อมกำหนดรู้กามราคานุสัยใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯลฯ

    ๕. ปหีนวาร วาระว่าด้วยอนุสัยที่ละได้แล้ว   กามราคานุสัยอันผู้ใดละได้แล้ว   ปฏิฆานุสัยอันผู้นั้นละได้แล้วใช่หรือไม่ ?   ใช่ .   ปฏิฆานุสัยอันผู้ใดละได้แล้ว   กามราคานุสัยอันผู้นั้นละได้แล้วใช่หรือไม่ ?   ใช่  ฯลฯ

    ๖. อุปปัชชนวาร วาระว่าด้วยการเกิดขึ้น   กามราคานุสัยเกิดขึ้นแก่ผู้ใด   ปฏิฆานุสัยย่อมเกิดแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ?   ใช่ .   ปฏิฆานุสัยเกิดแก่ผู้ใด   กามราคานุสัยย่อมเกิดแก่ผู้นั้นใช่หรือไม่ ?   ใช่   ฯ ล ฯ

    ๗. ธาตุวาร วาระว่าด้วยธาตุ   บุคคลเลื่อนแล้วจากกามธาตุ   กำลังเข้าถึงกามธาตุ   มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตังตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ?   บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ   กำลังเข้าถึงรูปธาตุ   มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ? บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ   กำลังเข้าถึงอรูปธาตุ   มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม   มีอนุสัยกี่อย่างแฝงตัวตาม มีอนุสัยกี่อย่างที่ดับไป ? ฯลฯ   ( เป็นคำถามนับจำนวนร้อยข้อ ต่อไปนี้เป็นคำตอบพอเป็นตัวอย่าง )   บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ   กำลังเข้าถึงกามธาตุ   บางคนก็มีอนุสัย ๗ อย่าง   บางคนก็มีอนุสัย ๕  อย่างแฝงตัวตาม   อนุสัยที่ดับไม่มี.   บุคคลเคลื่อนแล้วจากกามธาตุ   กำลังเข้าถึงรูปธาตุ   บางคนมีอนุสัย ๗ อย่าง บางคนมีอนุสัย ๕ อย่าง   บางคนมีอนุสัย ๗ อย่าง   บางคนมีอนุสัย ๕ อย่าง   บางคนมีอนุสัย ๓ อย่างแฝงตัวตาม อนุสัยที่ดับไม่มี ฯลฯ

    (หมายเหตุ:  เมื่อกล่าวถึง     บุถุชน   คือผู้ยังหนาไปด้วยกิเลส   ก็กล่าวถึงว่า   อนุสัย ๗   แฝงตัวตาม   ส่วนบุคคล     ผู้มีอนุสัยเพียง ๕   ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามี   เพราะท่านเหล่านี้ละอนุสัยได้ ๒   คือ     ทิฏฐิ   ( ความเห็นผิด )     วิจิกิจฉา   ( ความลังเลสงสัย ) ยังเหลืออีก ๕ คือ     กามราคะ   ( ความกำหนัดในกาม )     ปฏิฆะ   ( ความขัดใจ )     มานะ   ( ความถือตัว ) ,     ภวราคะ   ( ความยินดีในความมีความเป็น   คือในรูปฌาน   อรูปฌาน ),       อวิชชา   (ความไม่รู้ ) คำว่า     ความไม่รู้สำหรับพระอริยบุคคล   หมายถึงความไม่รู้ชั้นสูงที่ทำให้ยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ,     มีอนุสัย ๓   ได้แก่พระอนาคามี   คือท่านละกามราคะ ,   ปฏิฆะ ,  ทิฏฐิ ,   วิจิกิจฉาได้   แต่ยังละมานะ ,   ภวราคะ   และอวิชชาไม่ได้ ).

 

จบพระไตรปิฎก   เล่มที่ ๓๘

'๑' . ตรงที่เรียงตัวพิเศษไว้นี้   เป็นหลักวิชาพิเศษ   ที่อธิบายถึงจิตตสังขารอย่างน่าสนใจ จึงได้ทำเครื่องหมายให้สังเกตโดยง่าย   คำว่า   สัมปยุต   คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์ มีวัตถุเป็นอันเดียวกัน

'๑' . คำว่า   กามธาตุ มีความหมายประกอบในเวทนา ๒ ,   ส่วนคำว่า   รูปธาตุ   และอรูปธาตุ   ไม่เกี่ยวกับเวทนาทั้งสองนั้นเลย

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ