บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



หมวดพระ
อภิธัมมปิฎก

พระอภิธัมมปิฎก
เล่ม ๒


เล่มที่ ๓๕ ชื่อวิภังค์
...อภิธัมมปิฎก...


 

หน้าที่ ๑
มีหน้าเดียว


..ชื่อวิภังค์
๑.ขันธวิภังค์
๒.อายตนวิภังค์
๓.ธาตุวิภังค์
๔.สัจจวิภังค์
๕.อินทริยวิภังค์
๖.ปัจจยาการวิภังค์
๗.สติปัฏฐานวิภังค์
๘.สัมมัปปธานวิภังค์
๙.อิทธิปาทวิภังค์
๑๐.โพชฌังควิภังค์
๑๑.มัคควิภังค์
๑๒.ฌานวิภังค์
๑๓.อัปปมัญญาวิภังค์
๑๔.สิกขาปทวิภังค์
๑๕.ปฏิสัมภิทาวิภังค์
๑๖.ญาณวิภังค์
๑๗.ขุททกวัตถุวิภังค์
๑๘.ธัมมหทยวิภังค์

 

เล่มที่ ๓๕ ชื่อวิภังค์ ( เป็นอภิธัมมปิฎก )

   พระไตรปิฎกเล่มนี้ ว่าด้วยการแจก ( วิภังค์ ) คือแยกจากกลุ่มธรรมะต่าง ๆ ให้เห็นรายละเอียด เช่น คำว่า ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ จำแนกรายละเอียดออกไปอย่างไรบ้าง.

   การแยกกลุ่มหรืออธิบายแจกรายละเอียดของธรรมะต่าง ๆ ออกไปในเล่มที่ ๓๕ นี้ มี ๑๘ หมวด คือ

    ๑. ขันธวิภังค์ แจกขันธ์ ๕

    ๒. อายตนวิภังค์ แจกอายตนะ ๑๒

    ๓. ธาตุวิภังค์ แจกธาตุ ๖ และธาตุ ๑๘

    ๔. สัจจวิภังค์ แจกอริยสัจจ์ ๔

    ๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์ ๒๒

    ๖. ปัจจยาการวิภังค์ แจกปัจจยาการ ๑๒ ที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท

    ๗. สติปัฏฐานวิภังค์ แจกสติปัฏฐาน ๔

    ๘. สัมมัปปธานวิภังค์ แจกสัมมัปปธาน ( เพียรชอบ ) ๔

    ๙. อิทธิปาทวิภังค์ แจกอิทธิบาท ๔

    ๑๐. โพชฌังควิภังค์ แจกโพชฌงค์ ๗

    ๑๑. มัคควิภังค์ แจกมรรคมีองค์ ๘

    ๑๒. ฌานวิภังค์ แจกฌาน ( การเพ่งอารมณ์ ) ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน

    ๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ แจกอัปปมัญญา ๔ ( พรหมวิหาร ๔ ที่แผ่ไปโดยไม่ กำหนดประมาณ )

    ๑๔. สิกขาปทวิภังค์ แจกสิกขาบท ๕ คือศีล ๕

    ๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจกปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ๔

    ๑๖. ญาณวิภังค์ แจกญาณ ( ความรู้ ) ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐

    ๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึงหมวดที่ ๑๘ และทิฏฐิ ๖๒

    ๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ แจกหัวใจหรือหัวข้อธรรม

   ในการแจกธรรมะทั้งสิบแปดหัวข้อเหล่านี้ โดยมากได้ตั้งเป็น ๓ ภาค คือเป็นหัวข้อฝ่ายพระสูตร ( สุตตันต- ภาชนียะ ), หัวข้อฝ่ายพระอภิธรรม ( อภิธัมมภาชนียะ ) และหมวดถามตอบปัญหา ( ปัญหาปุจฉกะ ) เป็นการแยกอธิบายให้เห็น ว่า ศัพท์ธรรมะนั้น ๆอธิบายตามแนวพระสูตรอย่างไร ตามแนวพระอภิธรรมอย่างไร มีพิเศษออกไป คือข้อ ๕ และข้อ ๑๔ ไม่มี หัวข้อฝ่ายพระสูตร และข้อ ๑๖, ๑๗, และ ๑๘ ไม่ตั้งเป็นหัวข้อฝ่ายพระสูตร ฝ่ายพระอภิธรรม หากตั้งตามหมวดที่ ๑ ที่ ๒ เป็นต้น.

ขยายความ

๑. ขันธวิภังค์ แจกขันธ์ ๕

ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร

   ขันธ์หรือกอง ๕ คือ กองรูป, กองเวทนา, กองสัญญา, กองสังขาร, กองวิญญาณ.

   ใน ๕ กองนั้น กองรูปเป็นไฉน ? รูปใด ๆที่เป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน, ภายในหรือภายนอก, หยาบหรือ ละเอียด, เลวหรือประณีต, อยู่ในที่ไกลหรือใกล้ รวบรวมย่นย่อรูปนั้นเข้าเป็นอันเดียวกัน นี้เรียกว่า รูป.

   ( ต่อจากนั้นเป็นการอธิบายรูปที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันว่า หมายความอย่างไร อธิบายหมด จนกระทั่งว่า รูปที่อยู่ไกลหรือใกล้ ความหมายว่าอย่างไร แล้วอธิบายเวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ ในทำนองเดียวกับรูป จนจบหมด ทุกข้อ จัดว่าจบสุตตันตภาชนียะ ).

ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม

   ขันธ์หรือกอง ๕ คือ กองรูป, กองเวทนา, กองสัญญา, กองสังขาร, กองวิญญาณ.

   ใน ๕ กองนั้น กองรูปเป็นไฉน ? รูปที่มีอย่างเดียว ได้แก่รูปทั้งปวง มิใช่เหตุ, ไม่มีเหตุ เป็นต้น ( ทำนอง เดียวกับที่กล่าวไว้ในรูปกัณฑ์ในธัมมสังคณี เล่มที่ ๓๔ ที่ย่อมาแล้ว ) จนถึงหมวดที่ ๑๑ คือรูปแจกออกเป็น ๑๑ อย่าง มีอะไร บ้าง.

   ต่อจากนั้นอธิบายกองเวทนา ( ความรู้สึกอารมณ์ ) ตั้งแต่อย่างเดียวไปจนถึง ๑๐ อย่าง แล้วอธิบาย ยักย้ายนัย ไปจนถึงเวทนา ๒๔ เวทนา ๓๐ และเวทนามากอย่าง.

   ต่อจากนั้นอธิบายกองสัญญา ( ความจำได้หมายรู้ ), กองสังขาร ( เจตนาหรือความคิด ) และกองวิญญาณ ( ความรู้แจ้งอารมณ์ ) ในทำนองเดียวกับเวทนา.

ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา

   การถามตอบปัญหาในเรื่องขันธ์ ๕ นี้ ตั้งตามแนวบทตั้งของธัมมสังคณี เล่มที่ ๓๔ กล่าวคือ ตั้งคำถามว่า ขันธ์ ๕ นั้น เป็นกุศลเท่าไร, เป็นอกุศลเท่าไร, เป็นอัพยากฤตเท่าไร ( ลงท้ายจนจบอภิธัมมมาติกา ) คือท้ายของปิฏฐิทุกะ (หมวด ๒ รั้งท้าย ) ว่าเป็นธรรมมีข้าศึกเท่าไร ไม่มีข้าศึกเท่าไร ( กติ สรณา, กติอสรณา ).

   ครั้นแล้วได้ตอบเป็นลำดับไปว่า " กองรูปเป็นอัพยากฤต, ส่วนกองทั้งสี่ ( นอกจากนั้น ) เป็นกุศลบ้าง, อกุศล บ้าง, อัพยากฤตบ้าง " นอกจากนั้นกล่าวถึงขันธ์หรือกอง ๒ ว่า ไม่ควรกล่าวว่าประกอบด้วยเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง แต่ขันธ์หรือกอง ๓ ประกอบด้วยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง.

   ตอนจบได้กล่าวว่า รูปขันธ์ ( กองรูป ) ไม่มีข้าศึก ส่วนขันธ์ ๔ ( ที่เหลือ ) มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง.

๒. อายตนวิภังค์ แจกอายตนะ ๑๒

ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร

   อายตนะ ( ที่ต่อหรือบ่อเกิด ) ๑๒ อย่าง คือ อายตนะคือตา, รูป, หู, เสียง, จมูก, กลิ่น, ลิ้น, รส, กาย, โผฏฐัพพะ, ใจ, ธรรมะ.

   แล้วยกชื่ออายตนะทั้งสิบสองข้อขึ้นกล่าวทีละข้อว่า ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, ไม่ใช่ตัวตน, มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดา.

ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม

   อายตนะ ๑๒ อย่าง คือตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ, ธรรมะ ( พึงสังเกต วิธีเรียงลำดับเทียบเคียงกับข้างบนดูด้วย ).

   ครั้นแล้วอธิบายตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย แต่ละข้อว่า เป็นประสาทอาศัยธาตุ ๔, ส่วนใจอธิบายตามแบบ วิญญาณขันธ์ในขันธ์ ๕ ที่กล่าวมาแล้ว และได้อธิบายรูปว่า ได้แก่สี่ที่อาศัยธาตุทั้งสี่, เสียง, กลิ่น, รส, ว่า อาศัยธาตุทั้งสี่. โผฏฐัพพะ ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) ว่า ได้แก่ธาตุ ๓ คือ ธาตุดิน, ธาตุไฟ, ธาตุลม ส่วนธรรมะ ( สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) ได้แก่เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, รูปที่เห็นไม่ได้ ถูกต้องไม่ได้ อันนับเนื่อง ในธัมมายตนะ และอสังขตธาตุ ( ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่นิพพาน ).

ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา

   เป็นการถามแบบเดียวกับขันธวิภังค์ คืออายตนะ ๑๒ มีกุศลกี่อย่าง อกุศลกี่อย่าง อัพยากฤตกี่อย่าง ฯลฯ มีข้าศึกกี่อย่าง ไม่มีข้าศึกกี่อย่าง.

   ตอบว่า อายตนะ ๑๐ เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ, ส่วนอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ ) เป็นกุศล บ้าง อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ อายตนะ ๑๐ ไม่มีข้าศึก, ส่วนอายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ ) เป็นกุศลบ้าง อายตนะ ๒ ( อายตนะคือใจกับธรรมะ คือสิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ) มีข้าศึก.

   ( หมายเหตุ : แสดงว่า ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ รวม ๑๐ อย่างนี้เป็น กลาง ๆ และไม่มีข้าศึกเพราะเป็นรูป ส่วนใจกับธรรมะเป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง และมีข้าศึกคือกิเลส ).

๓. ธาตุวิภังค์ แจกธาตุ

ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร

   ธาตุ ๖ คือธาตุดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, อากาศ ( ช่องว่าง ) และวิญญาณ ( ธาตุรู้ ) แล้วอธิบายว่า ธาตุเหล่านี้หมาย ความถึงอะไร โดยเฉพาะธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุ อธิบายว่า ได้แก่ธาตุรู้ทางตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ.

   แล้วได้กล่าวถึงธาตุ ๖ อื่นอีก คือ สุข, ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส, อุเบกขา, อวิชชา, และธาตุ ๖ อื่นอีก ได้แก่กาม, พยาบาท ( คิดปองร้าย ), วิสิงหา ( เบียดเบียน ), เนกขัมมะ ( ออกจากกาม ), อัพยาบาท ( ไม่คิดปองร้าย ), อวิสิงหา ( ไม่เบียดเบียน ) ในภาคอธิบายได้กล่าวถึงพยาบาทว่า ได้แก่ความคิดปองร้าย, ความโกรธ, ความยินร้ายแห่งจิต เป็นต้น วิสิงหา ได้แก่การเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ, ท่อนไม้, ศัตรา, เชือก, หรือสิ่งอื่น ๆ ส่วนอัพยาบาท ได้แก่การแผ่เมตตา, อวิหิงสา ได้แก่การแผ่กรุณา.

ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม

   ธาตุ ๑๘ คือ ตา, รูป, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา, หู, เสียง, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู, จมูก, กลิ่น ความรู้ แจ้งในอารมณ์ทางจมูก, ลิ้น, รส, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น, กาย, สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย, ใจ, สิ่ง ที่รู้ได้ด้วยใจ, ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ ต่อจากนั้นเป็นคำอธิบาย.

ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา

   ตั้งปัญหาแบบเดียวกับที่แล้ว ๆ มา ตอบว่า ธาตุ ๑๖ เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลาง ๆ, ธาตุ ๒ เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ ธาตุ ๑๖ ไม่มีข้าศึก, ธาตุ ๒ มีข้าศึก.

   ( หมายเหตุ : ธาตุ ๒ ได้แก่ธัมมธาตุ กับมโนวิญญาณธาตุ นอกนั้นเป็นธาตุ ๑๖ ).

๔. สัจจวิภังค์ แจกสัจจะ

ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร

   อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์, เหตุให้ทุกข์เกิด, ความดับทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, แล้วอธิบายอริยสัจจ์ แต่ละข้อ.

ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม

   แจกอริยสัจจ์ ๔ แบบเดียวกัน แต่คำอธิบายต่างกันดังต่อไปนี้ :- ตัณหาเรียกว่าทุกขสมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด, ทุกข์ คือกิเลสที่เหลือ ( นอกจากตัณหา ), อกุศลธรรมที่เหลือ ( นอกจากตัณหา ), กุศลมูล ๓ ที่ยังมีอาสวะ, กุศลธรรมที่เหลือ ที่ยังมีอาสวะ, วิบาก, กิริยา, รูปทั้งปวง นี้เรียกว่าทุกข์, การละตัณหาได้ เรียกว่าทุกขนิโรธ ความดับทุกข์, มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีในสมัยที่เจริญโลกุตตรฌาน เรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นอกจากนี้ยังอธิบายยักย้ายนัย อื่นอีก.

ค. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา

   คำถามทำนองเดียวกับที่แล้วมา ตอบว่า สมุทยสัจจ์ ( ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด ) เป็นอกุศล, มัคคสัจจ์ ( ความจริงคือหนทางหรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ) เป็นกุศล, นิโรธสัจจ์ ( ความจริงคือความดับทุกข์ ) เป็นอัพยากฤต ( เป็นกลาง ๆ ), ทุกขสัจจ์ ( ความจริงคือทุกข์ ) เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ สมุทยสัจจ์ มีข้าศึก, สัจจะ ๒ ( นิโรธกับมรรค ) ไม่มีข้าศึก, ทุกขสัจจ์ มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง ( ส่วนที่เป็นีรูปไม่มีข้าศึก ส่วนที่เป็นนามมีข้าศึก ).

๕. อินทริยวิภังค์ แจกอินทรีย์

ก. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวพระอภิธรรม,

   อินทรีย์ ๒๒ ได้แก่อินทรีย์คือตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ, อินทรีย์คือหญิง, ชาย, ชีวิต, อินทรีย์คือสุข, ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส, อุเบกขา, อินทรีย์คือความเชื่อ, ความเพียร, สติ, สมาธิ, ปัญญา, อินทรีย์คืออัธยาศัยที่มุ่งบรรลุมรรคผล ของผู้ปฏิบัติ, อินทรีย์คือการตรัสรู้สัจจธรรมด้วยมรรค, อินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว.

   ( หมายเหตุ : ในปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๓๑ ในพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ กล่าวว่า อนัญญตัญญัส- สามีตินทรีย์ ( อินทรีย์คืออัธยาศัยที่มุ่งบรรลุมรรคผลของผู้ปฏิบัติ ) ได้แก่โสดาปัตติมรรค. อัญญินทรีย์ ( อินทรีย์คือการตรัสรู้ สัจจธรรมด้วยมรรค ) ได้แก่โสดาปัตติผล, สกทาคามิมรรค, สกทาคามิผล, อนาคามิมรรค, อรหัตตมรรค, รวม ๖ ฐานะ, อัญญาตาวินทรีย์ ( อินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว ) ได้แก่อรหัตตผล.

ข. ปัญหาปุจฉกะ หมวดถามตอบปัญหา

   คำถามคงเป็นแบบเดิม คำตอบว่า อินทรีย์ ๑๐ เป็นอัพยากฤต ( กลาง ๆ ) อินทรย์คือโทมนัส (ความทุกข์ใจ ) เป็นอกุศล, อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ เป็นกุศล, อินทรีย์ ๔ เป็นกุศลบ้าง อัพยากฤต บ้าง, อินทรีย์ ๖ เป็นกุศลบ้าง, อกุศลบ้าง, อัพยากฤตบ้าง ฯลฯ อินทรีย์ ๑๕ ไม่มีข้าศึก, อินทรีย์คือโทมนัส ( ความทุกข์ใจ ) มีข้าศึก, อินทรีย์ ๖ มีข้าศึกบ้าง ไม่มีข้าศึกบ้าง.

๖. ปัจจยาการวิภังค์ แจกปัจจยาการ

ก. สุตตันตภาชนียะ แจกตามแนวพระสูตร

   เพราะอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ( เจตนา ), เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะ วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖, เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ, เพราะผัสสะ เป็นปัจจัยจึงมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา, เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ, เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ, เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา, มรณะ, โสกะ, ปริเทวะ, ทุกข์, โทมนัส, อุปายาส นี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น. ต่อจากนั้นเป็นคำอธิบาย.

ข. อภิธัมมภาชนียะ แจกตามแนวอภิธรรม

   ในบทตั้งตามแนวอภิธรรมนี้ แบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือตอนแรกเรียก ปัจจยจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งปัจจัย ), ตอนที่ ๒ เรียกเหตุจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งเหตุ ), ตอนที่ ๓ เรียกสัมปยุตตจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งธรรมที่ ประกอบกัน ) ตอนที่ ๔ เรียกอัญญมัญญจตุกกะ ( หมวด ๔ แห่งธรรมที่อิงอาศัยกันและกัน ) ตอนที่ ๕ เป็นบทตั้งเฉย ๆ เรียก ว่ามาติกา ).

หมวด ๔ แห่งปัจจัย

   ๑. เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเป็นสังขาร ( ใช้เอกพจน์ในที่อื่น ๆ ทั่วไปใช้พหูพจน์ แสดงว่าสังขารใน ปฏิจจสมุปบาทตามแนวอภิธรรมเป็นเอกพจน์ตลอด ), เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีนาม, เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะที่ ๖ ( อายตนะคือใจ ), เพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ, เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา, เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา, เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน, เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ, เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ, เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมี ชราและมรณะ นี่เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง.

   ๒. ในข้อนี้ตัดอายตนะที่ ๖ ออก นอกจากนั้นเหมือนข้อ ๑ จึงเป็น เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.

   ๓. ในข้อนี้เปลี่ยนแปลงเพียงตอนที่ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมี อายตนะที่ ๖, เพราะอายตนะที่ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.

   ๔. ในข้อนี้เปลี่ยนแปลงเพียงตอนที่ว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖ ( พึงสังเกตว่า อายตนะที่ ๖ หมายถึงใจ ส่วนอายตนะ ๖ หมายครบทั้งตา, หู, จมูก, กาย, ใจ ) เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ.

หมวด ๔ แห่งเหตุ

   เรียงลำดับเหมือนหมวด ๔ แห่งปัจจัย เป็นแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงว่า เพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็กล่าวซ้ำลงไปอีกว่า มีสิ่งนั้นเป็นเหตุ.

หมวด ๓ แห่งสัมปยุตตธรรม ( ธรรมที่ประกอบกัน )

   เรียงลำดับเหมือนข้างต้น เป็นแต่ว่าเมื่อกล่าวถึงว่าเพราะอะไรเป็นปัจจัย ก็กล่าวซ้ำลงไปอีกว่า สัมปยุต หรือ ประกอบด้วยธรรมข้อนั้น.

หมวด ๔ แห่งธรรมที่อิงอาศัยกัน

   เรียงลำดับเหมือนข้างต้น แต่นำธรรมที่เป็นเหตุผลของกันและกันมาเรียงอยู่ให้เห็นว่า เป็นเหตุให้เกิดกันและ กันได้ ดังนี้

   เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ฯลฯ

   ( ในข้อนี้ขอเสนอให้ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตไว้ด้วยว่า มักจะมีปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่ออวิชชาเป็นต้นเค้า ของสิ่งทั้งหลายแล้ว อะไรเล่าเป็นต้นเค้าของอวิชชาอีกต่อหนึ่ง คำตอบมีอยู่ในที่นี้ ที่ว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาก็ได้ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารก็ได้ อนึ่ง ในสัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎกฉบับบาลี เล่มที่ ๑๒ พระสาริบุตรแสดงว่า อาสวะ ( กิเลสที่ดองสันดาน ) เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา ).

มาติกา

   แสดงว่าธรรมะหลายข้อในปัจจยาการ หรือในปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นปัจจัยแห่งอวิชชาได้ทั้งสิ้นดังนี้ :-

   เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะนามเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะอายตนะที่ ๖ ( ใจ) เป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะอุปทานเป็นปัจจัยจึงมีอวิชชา ฯลฯ

   เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร, เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ, เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนาม รูป, เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีอายตนะ ๖ ฯลฯ

   ( ต่อจากนั้นเป็นการอธิบายปัจจยาการผสมกับจิตในภูมิต่าง ๆ จนจบ ความจริงเรื่องนี้ค่อนข้างจะยุ่งยาก แต่มี ประโยชน์สำหรับผู้รักการค้นคว้าจึงนำมากล่าวไว้พอให้เห็น ).

๗. สติปัฏฐานวิภังค์ แจกสติปัฏฐาน

   ความต่างกันของสติปัฏฐานตามแนวพระสูตรและแนวพระอภิธรรม มิใช่อยู่ที่จำนวน ๔ คงมี ๔ อย่างเหมือน กัน เป็นแต่สติปัฏฐานตามแนวพระสูตร หมายถึงการปฏิบัติข้างต้น เพื่อคุณธรรมสูงขึ้นไป มีวิธีพิจารณาอารมณ์ทั้งสี่ภายใน, ภาย นอก, ทั้งภายในภายนอก ส่วนสติปัฏฐานตามแนวพระอภิธรรม หมายถึงการ เจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วยสติปัฏฐานแต่ละ ข้อเป็นแนวปฏิบัติ.

๘. สัมมัปปธานวิภังค์ แจกความเพียรชอบ

   ทั้งบทตั้งฝ่ายพระสูตรและฝ่ายพระอภิธรรมตั้งเกณฑ์ความเพียรชอบ ๔ ด้วยกัน คือ ๑. เพียรระวังมิให้บาป เกิดขึ้น ๒. เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว ๓. เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น ๔. เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ต่างแต่บทตั้งฝ่ายพระสูตร แสดงอย่างธรรมดา บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วย สัมมัปปธาน คือความเพียรชอบ.

๙. อิทธิปาทวิภังค์ แจกอิทธิบาท

   ทั้งบทตั้งฝ่ายพระสูตรและฝ่ายพระอภิธรรมตั้งเกณฑ์อิทธิบาท คือคุณให้บรรลุความสำเร็จ ๔ อย่างด้วยกัน ได้แก่ ๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๒. วิริยะ ความเพียร ๓. จิตตะ เอาใจฝักไฝ่ ๔. วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาสอบ สวน แล้วแสดงความต่างกันเพียงฝ่ายพระอภิธรรมเจริญโลกุตตรฌาน ประกอบด้วยอิทธิบาท.

๑๐. โพชฌังควิภังค์ แจกโพชฌงค์

   โพชฌงต์องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. ธัมมวิจยะ การเลือกเฟ้นธรรม ๓. วิริยะ ความเพียร ๔. ปีติ ความอิ่มใจ ๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจ ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๗. อุเบกขา ความวางเฉย ความต่างกัน ระหว่างบทตั้งฝ่ายพระสูตรกับพระอภิธรรมก็แบบเดียวกับข้ออื่น ๆ คือบทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญโลกุตตรฌาน ประ กอบด้วยโพชฌงค์ คือโพชฌงค์เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตรฌานนั้น.

๑๑. มัคควิภังค์ แจกมรรค

   มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีองค์ ๘ มีความเห็นชอบ เป็นต้น มีความตั้งใจมั่นชอบ เป็นที่สุด ความต่างกันระหว่างบทตั้งฝ่ายพระสูตรกับพระอภิธรรม คือบทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงมรรค ๘ นี้เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตร- ฌาน และบางตอนก็แสดงมรรคมีองค์ ๕ คือความเห็นชอบ, ความดำริชอบ, ความเพียรชอบ, ความระลึกชอบ, ความตั้งใจมั่น ชอบ ( ซึ่งเป็นส่วนประกอบของจิตบางชนิด ) แล้วแสดงว่ามรรค มีองค์ ๕ เกิดขึ้นในขณะเจริญโลกุตตรฌาน.

๑๒. ฌานวิภังค์ แจกฌาน ( การเพ่งอารมณ์ )

   บทตั้งฝ่ายพระสูตรแสดงว่าภิกษุตั้งอยู่ในศีล เจริญโพธิปักขิยธรรม มีสติสัมปชัญญะ เสพเสนาสนะ ( ที่อยู่ อาศัย ) อันสงบ นั่งคู้บัลลังก์ ( ขัดสมาธิ ) ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ชำระจิตจากนีวรณ์ ( กิเลสอันกั้นจิตมิให้บรรลุ ความดี ) ๕ ประการ เจริญรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ แล้วอธิบายรายละเอียด.

   บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงฌาน ๔ แต่เมื่อถึงฌานที่ ๔ ได้แสดงฌานที่ ๕ และอรูปฌานอยู่ในกรอบของ ฌานที่ ๔ ด้วย.

๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ แจกอัปปมัญญา

   บทตั้งฝ่ายพระสูตรแสดงการเจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา แผ่ไปในสัตว์หา ประมาณมิได้ ( อัปปมัญญา = ไม่มีประมาณ ).

   บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรมแสดงการเจริญฌานมีพรหมวิหาร ๔ เป็นอารมณ์.

๑๔. สิกขาปทวิภังค์ แจกสิกขาบท

   ในข้อนี้ไม่มีบทตั้งฝ่ายพระสูตร มีแต่บทตั้งฝ่ายพระอภิธรรม แจกสิกขาบท ๕ คือ เจตนาเว้นจากฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดในกาม, พูดปด, ดื่มสุราเมรัย พร้อมทั้งแสดงกุศลจิตที่เนื่องด้วยเจตนา งดความชั่วแต่ละข้อนั้น ๆ.

๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจกปฏิสัมภิทา

   บทตั้งฝ่ายพระสูตรและพระอภิธรรม แจกปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ออกเป็น ๔ ประเภท คือ ความแตก ฉานในอรรถ, ความแตกฉานในธรรม, ความแตกฉานในนิรุตติ, ความแตกฉานในปฏิภาน คำอธิบายฝ่ายพระธรรม มีกล่าวถึงกุศลจิต ประกอบด้วยปฏิสัมภิทาเหล่านี้ ตั้งแต่อย่างต่ำจนถึงสูง.

๑๖. ญาณวิภังค์ แจกญาณ ( ความรู้ )

   ในข้อนี้ไม่มีบทตั้งฝ่ายพระสูตร และฝ่ายพระอภิธรรมอย่างที่แล้วมา ตั้งแต่เป็น มาติกา แล้วมีคำ อธิบายเรียก นิทเทส โดยแสดงว่า เมื่อจัดเป็นประเภทตามหมวด คือหมวด ๑ หมวด ๒ ถึงหมวด ๑๐ แล้วญาณที่มี ๑ อย่าง ๒ อย่าง จนถึง ๑๐ อย่างตามจำนวนหมวดนั้นว่า มีอะไรบ้าง.

   ขอยกตัวอย่างหมวดที่ ๒ เช่น ญาณหรือปัญญา ๒ ได้แก่โลกิยปัญญา ( ความรู้แบบโลก ), โลกุตตรปัญญา ( ความรู้ข้ามพ้นโลก ), หมวด ๓ เช่น ปัญญาเกิดจากความคิด ( จินตามยาปัญญา ), ปัญญาเกิดจากการฟัง ( สตุมยาปัญญา ), ปัญญาเกิดจากการอบรม (ภาวนามยาปัญญา ).

๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

   มีวิธีการแบบข้อ ๑๖ คือ ตั้งแม่บทหรือมาติกา ถึงธรรมข้อเดียว ๒ ข้อ ๓ ข้อ เป็นต้น แล้วอธิบาย แม่บท เหล่านั้นทีละข้อไป.

   ขอยกตัวอย่าง เช่น หมวด ๑ ความเมา เช่น เมาชาติ เมาโครต เมายศ เป็นต้น หมวด ๒ เช่น ความโกรธคู่กับความผูกโกรธ, ความวิบัติแห่งศีลคู่กับความวิบัติแห่งทิฏฐิ เป็นต้น หมวด ๓ เช่น อกุศลมูล ๓ คือ ความโลภ, ความโกรธ, ความหลง เป็นต้น ลงสุดท้ายด้วยทิฏฐิ ๖๒ ( ดังที่กล่าวไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ) พรหมชาลสูตร

๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ แจกหัวข้อธรรม

   ลีลาในหมวดนี้เป็นแบบหมวดถามตอบปัญหา คือตั้งคำถามขึ้นก่อนว่า ขันธ์มีเท่าไร อายตนะมีเท่าไร ธาตุมี เท่าไร จนถึงจิตมีเท่าไร แล้วก็ตอบว่า ขันธ์มี ๕ เป็นต้น แล้วจึงแจกรายละเอียดออกไป ( ซึ่งได้นำไปแปลไว้อย่างละเอียดแล้ว เฉพาะต้อนต้นนี้ในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๘๖ ถึง หมายเลข ๑๙๘ ) ครั้นแล้วได้นำธรรมที่เป็นบทตั้งนั้นมาแจกตามแนวอื่นอีก เช่น แนวแห่งธัมมสังคณีว่า ขันธ์ ๕ เป็นต้นนั้น อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรเป็นอัพยากฤต.

จบพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ วิภังค์


    '๑' . อภิธรรมถือว่าน้ำแท้เป็นของถูกต้องไม่ได้ ในอภิธัมมปิฎกจึงไม่จัดโผฏฐัพพะเข้าในอุปาทายรูป เพราะแม้ จะได้แก่ธาตุ ๓ ก็เป็นมหาภูตรูปอยู่แล้ว แต่อภิธัมมัตถสังคหะจัดเป็นอุปาทายรูปด้วย

    '๒' . ในกรณีเช่นนี้ สุข หมายถึงสุขกาย, ทุกข์ หมายถึงทุกข์กาย, โสมนัส หมายถึงสุขใจ, โทมนัส หมาย ถึงทุกข์ใจ

    '๓' . ไม่แจกตามแนวพระสูตร

    '๔' . ในหมายเหตุข้างบนและในหน้าข้อความน่ารู้จากไตรปิฎก หมายเลข ๑๘๖-๑๙๘ ได้แปลศัพท์ เหล่านี้ไว้อย่างชัดเจนแล้ว พร้อมทั้งยกศัพท์ประกอบด้วย

    '๕' . คำแปลเหล่านี้มีแล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ) อะไรเป็นปัจจัยแห่งอะไร

    '๖' . สติปัฏฐาน ๔ คือสติกำหนดพิจารณา กาย, เวทนา, จิต, ธรรม. ดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ หน้า ๔ ( ถึงอานิสงส์สติปัฏฐาน ) ในข้อ ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร

    '๗' . ดูที่ย่อมาแล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ) ในข้อ ๓. ทรงแสดงว่า เมื่อมีกาย วาจา ใจ .


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ