บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตะ เล่ม 13

หน้า ๑ ปฐมปัณณาสกะ หมวด ๕๐ ที่ ๑

๑. ตรัสเรื่องเวียนว่ายฯลฯ
๒. ภิกษุเดิน, ยืน, นั่ง, นอน
๓. ทรงพิจราณาไม่เห็น
ใครยิ่งกว่าพระองค์
๔. ทรงแสดงจักร ๔
๕. เจริญสมาธิ ๔ อย่าง

หน้า ๒ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ ๑. ทรงแสดงความ
ไหลมาแห่งบุญ,
แห่งกุศล
๒. ตรัสแก่อนาถ
ปิณฑิกคฤหบดี
๓.ข้อปฏิบัติ
ทำอาสวะให้สิ้น ๔.
๔. ความชั่ว
ความดีฝ่ายละ ๔
๕. อสูร ๔ ประเภท

หน้า ๓ ตติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๓ ๑. เรื่องฝน ๔ อย่าง
๒. ตรัสถามสารถีฝึกม้า
๓. เรื่องภัย ๔ อย่าง
๔. บุคคล ๔ประเภท
๙. แสงสว่าง ๔ อย่าง

หน้า ๔ จตุตถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔ ๑. ทรงแสดงอินทรีย์ ๔
๒. ปฏิปทา ๔ อย่าง
๓. กาย วาจา ใจ
๔. นักรบประ
กอบด้วยองค์ ๔
๕. อานิสงส์ ๔ ประการ

หน้า ๕ หมวดนอกจาก ๕๐ ๑. ทรงแสดง คนชั่ว และคนดี
๒. คนที่ประ
ทุษร้ายบริษัท
๓. วจีทุจจริต ๔
๔. กรรม ๔ อย่าง
๕. ตรัสกะพระอานนท์ว่า
๖. ธรรม ๔ อย่าง
๗. ผู้ประกอบ

หมวดพระสูตรนอก ๕๐

 

เล่มที่ ๒๑ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
(เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๓)
หน้า ๔

จตตุถปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๔

      (มี ๕ วรรคเช่นเคย วรรคที่ ๑ ชื่ออินทริยวรรค ว่าด้วยธรรมอันเป็นใหญ่, วรรคที่ ๒ ชื่อปฏิปทาวรรค ว่าด้วยข้อปฏิบัติ, วรรคที่ ๓ ชื่อ สัญเจตนิยวรรค ว่าด้วยความจงใจ, วรรคที่ ๔ ชื่อ โยธาชีววรรค ว่าด้วยนักรบ, วรรคที่ ๕ ชื่อมหาวรรค ว่าด้วยเรื่องใหญ่).

      ๑. ทรงแสดงอินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ ) ๔

คือความ เชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา.

ทรงแสดงกำลัง ๔ อย่าง แบ่งเป็น ๔ นัย คือ ๑. กำลังคือความเชื่อ, ความเพียร, ความตั้งใจมั่น, ปัญญา. ๒. กำลังคือปัญญา, ความเพียร, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๓. กำลังคือความระลึกได้, ความตั้งใจมั่น, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์. ๔. กำลังคือการ พิจราณา, การอบรม, ความไม่มีโทษ, การสงเคราะห์.

ทรงแสดงกัปป์ที่นับไม่ได้ ๔ อย่าง คือสังวัฏฏกัปป์. สังวัฏฏัฏฐายีกัปป์, วิวัฏฏกัปป์, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ ทั้งสี่กัปป์นี้นับไม่ได้โดยง่ายว่า เท่านี้ปี, เท่านี้ ร้อยปี, พันปี, แสนปี.

ทรงแสดงโรค ๒ อย่าง คือโรคทางกายและโรคทาง จิต แล้วตรัสว่า ผู้ที่ยืนยันความไม่มีโรคทางกายตั้งแต่ ๑ ปี ๒ ปี เป็นต้น ถึง ๕๐ ปี หรือแม้ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปี ยัง พอเห็นได้ แต่ผู้ที่จะยืนยันความไม่มีโรคทางจิตแม้เพียงครู่หนึ่ง นอกจากพระขีณาสพ ( ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสอันดอง สันดาน ) แล้ว ก็หาได้ยากในโลก.

แล้วทรงแสดงโรคของบรรพชิต ๔ อย่าง คือการที่ภิกษุ มีความปรารถนามาก ไม่สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ตั้งความปรารถนาเพียรพยายาม เพื่อไม่ถูกดูหมิ่น เพื่อได้ลาภสักการะ ชื่อเสียง ๑. เข้าสู่สกุล ๒. นั่ง ๓. กล่างธรรม ๔. กลั้นอุจจาระปัสสาวะ เพื่อให้เขารู้จักตน.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุ ภิกษุณีจะรู้ว่าเสื่อมจากอกุศลธรรมหรือไม่ ให้พิจารณาธรรม ๔ อย่างในตน คือความเป็นผู้ไพบูลด้วยราคะ, โทสะ, โมหะ และปัญญาจักษุของผู้นั้นไม่เป็นไปในฐานะที่ควรและไม่ควรอันลึกซึ้ง.

พระอานนท์แสดงธรรมแก่นางภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้ใช้ คนไปนิมนต์ อ้างว่าตนเป็นไข้ โดยชี้แจงว่ากายเกิดขึ้นเพราะอาหาร, ตัณหา, มานะ ( ความถือตัว ) และเมถุนบุคคล พึงอาศัยอาหาร ละอาหาร, อาศัยตัณหา ละตัณหา, อาศัยมานะ ละมานะได้ แต่เมถุนบุคคลพึงละ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า พึงชักสะพานเสีย ( ละโดยเด็ดขาด ) นางภิกษุณีได้สดับ ก็ลุกขึ้นจากเตียงกล่าวขอขมา.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระตถาคตและพระวินัยของพระ ตถาคตเมื่อตั้งอยู่ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก ( ตรัสอธิบายว่า ธรรม ที่พระตถาคตแสดงแล้ว เรียกพระวินัยของพระตถาคต ).

ตรัสแสดงธรรม ๔ อย่างว่า เป็นไปเพื่อความเลอะเลือน เพื่ออันตรธาน แห่งพระสัทธรรม คือ ๑. ภิกษุทั้งหลายเรียนพระสูตรด้วยบทพยัญชนะที่ยกขึ้นผิด มีเนื้อความอันแนะนำผิด ๒. ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ๓.ภิกษุผู้สดับตรับฟังมากไม่สอนผู้อื่นให้ท่อง จำพระสูตรโดยเคารพ เมื่อภิกษุผู้สดับฟังมากเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรก็ชื่อว่ามีมูลรากอันขาด ( ไม่มีผู้ทรง จำได้ ) ก็ไม่เป็นที่พึ่ง ๔. ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้มักมาก ย่อหย่อน เอาแต่นอนหลับทอดธุระในความสงัด ไม่ปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ทำให้คนรุ่นหลังถือเป็นตัวอย่าง. ในทางดีทรงแสดงโดยนัย ตรงกันข้าม.

      ๒. ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง

มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๒. ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๓. ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๔. ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว.

ทรงแสดงปฏิปทา ๔ อย่าง มีชื่อเดียวกัน แต่ต่างใน คือ ๑. ปฏิบัติไม่อดทน ๒. ปฏิบัติอดทน ๓. ปฏิบัติข่ม ๔. ปฏิบัติสงบ.

พระมหาโมคคัลลานะตอบพระสาริบุตร ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.

พระสาริบุตรตอบพระมหาโมคคัลลานะ ว่า ท่านอาศัย การปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ.

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ผู้ต้อง ใช้ความเพียรดับกิเลสได้ในปัจจุบัน ๒. ผู้ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ๓. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลส ได้ในปัจจุบัน ๔. ผู้ไม่ต้องใช้ความเพียร ดับกิเลสได้เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ( สองประเภทแรกตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายวิปัสสนา สองประเภทหลังตรัสอธิบายในทางผู้ปฏิบัติสายสมถะ ส่วนที่ดับกิเลสได้ในปัจจุบัน หรือเมื่อตายไปแล้ว ขึ้นอยู่แก่อินทรีย์ คือ ธรรมอันเป็นใหญ่ มีกำลังแรงหรืออ่อน ).

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุภิกษุณีที่ พยากรณ์การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ( พูดว่าได้บรรลุ ) ในสำนักของเรา ย่อมมีทางเป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่ง รวม ๔ ทาง คือ ๑. เจริญวิปัสสนา ( ปัญญาอันเห็นแจ้ง ) มีสมถะเป็นหัวหน้า มรรคเกิดขึ้นเมื่เจริญมรรคก็ละสัญโญชน์ ( กิเลส ที่ร้อยรัดหรือผูกมัด ) ได้ กิเลสพวกอนุสัย ( แฝงตัวหรือนอนอยู่ในสันดาน ) ย่อมไปหมด ๒. เจริญสมถะ ( ความสงบใจ ) มีวิปัสสนาเป็นหัวหน้า แล้วหมดกิเลส ๓. เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กัน แล้วหมดกิเลส ๔. มีจิตแยกจากความฟุ้งสร้าน ในธรรม ( วิปัสสนูปกิเลส =เครื่องทำวิปัสสนาให้เศร้าหมอง เช่น สิ่งที่ทำให้หลงเข้าใจผิดมีแสงสว่าง เป็นต้น ) จิตสงบตั้งหมั่น ในภายในมีอารมณ์เป็นหนึ่งแล้วหมดกิเลส.

      ๓. ทรงแสดงว่า เมื่อมีกาย วาจา ใจ

สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมีเจตนาทางกาย วาจา ใจ เป็นเหตุ, หรือเพราะอวิชชา ( ความไม่รู้ ) เป็นปัจจัย เกิดสุขทุกข์ภายในขึ้น เพราะปรุงกาย สังขาร,วจีสังขาร, มโนสังขาร ( ปรุงเจตนาทางกาย วาจา ใจ ) เองก็ตาม, ผู้อื่นปรุงก็ตาม ( ผู้อื่นชักชวน ) รู้ตัวก็ตาม ( ทำไป อย่างผู้รู้ผิดชอบ ), ไม่รู้ตัวก็ตาม ( ทำไปอย่างไม่รู้ผิดชอบ ) อวิชชาชื่อว่าตกไปตามในธรรมเหล่านั้น คือเกี่ยวข้องอยู่ทั่วไป ) เพราะดับอวิชชาได้โดยไม่เหลือ อื่น ๆ ก็ดับไปด้วย. แล้วทรงแสดงการได้อัตตภาพ ๔ อย่าง ที่เนื่องด้วย เจตนาของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง แล้วตรัสตอบปัญหาของพระสาริบุตร เรื่องผู้ที่มาเกิดและไม่มาเกิดอีก.

พระสาริบุตรแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ถึงปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) ๔ อย่างที่ท่านทำให้แจ้ง คือความแตกฉานในอรรถ ( เนื้อความ ), ในธรรม ( คำสอน ), ในนิรุตติ ภาษาพูด ) และในปฏิภาณ ( ญาณความรู้ ) เป็นเหตุให้ท่านตอบปัญหาได้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระมหาโกฏฐิตะ ผู้ถามว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ( ตา หู เป็นต้น ) โดยไม่เหลือ ยังมีอะไรอย่างอื่นอยู่อีก โดยตอบว่า ไม่ควรกล่าวว่า มีอะไรอื่น, ไม่มีอะไรอื่น, มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่. เพราะเมื่อพูดเช่นนั้น ก็จะชื่อว่ากล่าวถึงธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ให้กลายเป็น เนิ่นช้า ( คำว่า เนิ่นช้า หมายถึงโลกิยธรรม ยังห่างจากพระนิพพาน ) แล้วเฉลยว่า เพราะดับอายตนะสำหรับถูกต้อง ๖ ก็ เป็นความดับ, ความสงบระงับแห่งธรรมที่เนิ่นช้า.

พระมหาโกฏฐิตะตอบปัญหาของพระอานนท์ ในทำนอง เดียวกับที่พระสาริบุตรตอบ.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอุปวานะ ผู้ถามว่า ภิกษุทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชาใช่หรือไม่, ด้วยจรณะ ( ความประพฤติ ๑๕ อย่าง ) ใช่หรือไม่, ด้วยทั้งวิชชาและจรณะ ใช่หรือไม่, เว้นจากทั้งสองอย่างใช่หรือไม่, โดยตอบปฏิเสธว่า ไม่ใช่เช่นนั้นสักข้อเดียว เพราะถ้าเป็นอย่าง ๓ ข้อแรก ผู้ทำที่สุดทุกข์ ( ผู้ทำให้ทุกข์สิ้นไป ) ก็ยังมีอุปาทาน ( ความยึดถือ ) ถ้าเป็นอย่างข้อหลัง บุถุชนก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะ บุถุชนเป็นผู้เว้นจากวิชชาและจรณะ ผู้วิบัติจากจรณะ ย่อมไม่รู้เห็นตามเป็นจริง ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะ ย่อมรู้เห็นตามจริง ย่อมทำที่สุดทุกข์ได้ ( ธรรมะที่โต้ตอบกันนี้ละเอียดอ่อนมาก ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณตามไปด้วยดี )

พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนให้เอาอย่างพระสาริบุตรและพระ โมคคัลลานะ เป็นต้นดั่งที่กล่าวมาแล้วในเอกนิบาต ( ธรรมะจำนวน ๑ ).

ตรัสสอนพระราหุล มิให้ยึดถือธาตุ ๔ ว่าเป็นของเรา เรา เป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา ให้เห็นธาตุ ๔ ว่า มิใช่ตน มิใช่สิ่งที่เนื่องด้วยตน

ทรงแสดงบุคคล ๔ ประเภท คือ ๑. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ อันสงบระงับอย่างใดอย่างหนึ่ง, ใส่ใจความดับกายของตน จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนไม่ได้ ๒. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๑ ) จิตของเธอแล่นไปตั้งอยู่ในความดับกายของตน เธอจึงหวังความดับกายของตนได้ ๓. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ อันสงบระงับ อย่างใดอย่างหนึ่งใส่ใจในการทำลายอวิชชา จิตของเธอไม่แล่นไป ไม่ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาไม่ได้ ๔. ภิกษุผู้เข้าเจโตวิมุติ ( เหมือนข้อ ๓ ) จิตของเธอแล่นไป ตั้งอยู่ในการทำลายอวิชชา เธอจึงหวังการทำลายอวิชชาได้.

พระสาริบุตรตอบปัญหาของพระอานนท์ ที่ว่าเหตุไรสัตว์ บางเหล่าในโลกนี้จึงไม่นิพพานในปัจจุบัน โดยชี้แจงว่า เพราะสัตว์เหล่านั้นไม่รู้ตามความจริงว่า ๑. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่าย เสื่อม ๒. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายเสมอตัว ๓. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายได้กำไร ๔. ธรรมเหล่านี้เป็นฝ่ายทำลายกิเลส .

เมื่อประทับ ณ โภคนคร พระผู้มีพระภาคตรัสมหาปเทส ( ข้ออ้างใหญ่ ) สำหรับตัดสินพระธรรมวินัย ๔ ประการ คือ ไม่พึงรับรอง ไม่พึงคัดค้าน ๑. เมื่อภิกษุอ้างว่าได้สดับ ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๒. เมื่อภิกษุอ้างว่าพระสงฆ์ในอาวาสโน้น  พร้อมด้วยพระเถระ และผู้เป็น หัวหน้าได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ๓. เมื่อภิกษุอ้างว่าตนได้สดับได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของ พระเถระมากหลายในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก จำพระสูตรได้ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ๔. เมื่อภิกษุ อ้างว่าตนได้สดับ ได้รับมาในที่เฉพาะหน้าของพระเถระรูปหนึ่งในโอวาสโน้น ซึ่งเป็นผู้สดับตรับฟังมาก ( เหมือนข้อ ๓ ). การได้สดับ ได้รับมาทั้งสี่ข้อนั้น มีใจความว่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสอนของพระศาสดา, พึงทรงจำบทพยัญชนะ นั้น ๆ ให้ดีแล้วสอบในพระสูตร เทียบในพระวินัย ถ้าไม่เข้ากัน ก็พึงแน่ใจว่า ไม่ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค. ภิกษุนี้ถือ มาผิด พึงทิ้งเสีย ถ้าเข้ากันได้ ( กับพระสูตรพระวินัย ) พึงแน่ใจว่า ใช่ถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค ภิกษุนี้ถือมาถูกแล้ว.

      ๔. ทรงแสดงนักรบประกอบด้วยองค์ ๔

ว่า ควรแก่พระ ราชา คือ ๑. ฉลาดในภูมิประเทศเทียบด้วย ภิกษุผู้มีศีล ๒. ยิงไกล เทียบด้วยภิกษุผู้เห็นด้วยปัญญาตามเป็นจริง ไม่ ยึดถือขันธ์ ๕ ๓. ยิงไว เทียบด้วยภิกษุผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง ๔. ทำลายกายใหญ่ เทียบด้วยภิกษุผู้ทำลายกองแห่ง อวิชชาใหญ่ได้.

ทรงแสดงว่า ไม่มีใคร ๆ เป็นประกันได้ ถึงสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตายเป็นธรรมดา มิให้แก่, เจ็บ, ตายได้ กับไม่มีใครเป็นประกันได้ ถึงผลของกรรมชั่ว มิให้เกิดขึ้นได้.

ตรัสตอบวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์ แคว้นมคธ ผู้กล่าว ว่า ตนมีความเห็นว่า ผู้กล่าวถึงสิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้ เป็นผู้ไม่มีโทษ โดยทรงชี้แจงว่า พระองค์ไม่ตรัสว่า สิ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง เป็นต้นนั้น ควรกล่าว หรือไม่ควรกล่าวทั้งหมด, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ ควรกล่าว, ถ้ากล่าวเข้า อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ ก็ควรกล่าว.

ตรัสตอบชาณุสโสณิพราหมณ์ ผู้กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่มีใครที่จะ ต้องตายเป็นธรรมดา ไม่กลัวไม่หวาดสะดุ้งต่อความตาย. ฝ่ายที่กลัว ที่หวาดสะดุ้ง คือยังไม่ปราศจากราคะตัณหาในกาย ยัง รักกาม ; รักกาย ; ไม่ได้ทำความดีไว้ ; มีความสงสัยในพระสัทธรรม. ฝ่ายที่ไม่กลัว ไม่หวาดสะดุ้ง คือที่ตรงกันข้าม.

ตรัสแสดงสัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ แก่นักบวชลัทธิอื่น คือ ๑. สัตว์ทั้งปวงไม่ควรฆ่า ๒. กามไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๓. ภพทั้ง ปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ๔. พราหมณ์ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .

ตรัสตอบปัญหาของภิกษุรูปหนึ่งดังต่อไปนี้ ๑. โลกอันจิต ย่อมนำไป ย่อมคร่าไป ไปสู่อำนาจของจิตที่เกิดขึ้นแล้ว. ๒. พระองค์แสดงธรรมไว้มาก ( มีถึง ๙ ลักษณะ ที่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสนา มีพระสูตร เป็นต้น ) ภิกษุรู้เนื้อความรู้ธรรมะแห่งคาถาแม้เพียง ๔ บท แต่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็ควรแก่คำว่า สดับตรับฟังมาก เป็นผู้ทรงธรรมได้ ๓. ผู้เข้าใจตลอดเนื้อความ เห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญา ชื่อว่าผู้มี นิพเพธิกปัญญา ( ปัญญาชำแรกหรือทำลายกิเลส ). ๔. ผู้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก คือผู้ไม่คิดเบียดเบียนตน ไม่คิด เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย คิดแต่ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์แก่โลก ทั้งปวง.

ตรัสตอบคำถามของวัสสการพราหมณ์ ว่า ไม่เป็นไปได้ ที่คนชั่ว จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว จะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี แต่เป็นไปได้ที่คนดีจะรู้จักคนดีว่าเป็นคนดี จะรู้จักคนชั่วว่าเป็นคนชั่ว วัสสการพราหมณ์กราบทูลแสดงความพอใจ แล้วยกตัวอย่างจริง ๆ ประกอบพุทธดำรัส.

อุปกะบุตรแห่งนางมัณฑิกา ( เป็นผู้ฝักฝ่ายของพระเทวทัต ) ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ตนเห็นว่าผู้ติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ทำความดีให้เกิดขึ้น นับเป็นคนควรถูกติเตียนว่ากล่าว ( ที่พูดเช่นนี้ เพื่อจะเสียดสีที่พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเทวทัต ). พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ทำเช่นนั้น และควร ถูกติเตียนว่ากล่าว ( เพราะการที่พูดเช่นนี้ ก็เพื่อหาทางจะติเตียนผู้อื่น ). อุปกะก็ได้สติ ยอมรับว่าพระผู้มีพระภาคทรงนำบ่วง คือวาทะคล้องตัวเขา ซึ่งกำลังโผล่พ้นน้ำขึ้นมา. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทรงบัญญัติเรื่องอกุศล เรื่องควรละอกุศล เรื่องกุศล เรื่องควรเจริญกุศล. อุปกะนำความนั้นไปกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรุก็ถูกพิโรธขับไล่ไม่ต้องการจะทรงเห็นอีก เพราะรุกราน พระผู้มีพระภาค .

ทรงแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ๔ ประการ คือ ๑. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยนามกาย ได้แก่วิโมกข์ ๘ ( ให้ย้อนกลับไปดูเล่มที่ ๑๐ ที่ชื่อทีฆนิกาย มหาวัคค์(เป็นสุตตันตปิฎก) ตรงบนที่ วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ ประกอบด้วย ) ๒. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยสติ ได้แก่ปุพเพนิวาส ( ความเป็นอยู่ในชาติ ก่อน ) ๓. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ ได้แก่จุตูปปาตะ ( การเคลื่อน การเข้าถึง หรือการตาย การเกิดเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ ) ๔. ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาได้แก่อาสวักขยะ ( ความสิ้นไปแห่งอาสวะ คือหมดกิเลส ).

ตรัสสรรเสริญภิกษุสงฆ์ ที่ประชุมกันในวันอุโบสถว่า ในหมู่ภิกษุ นั้น มีภิกษุที่บรรลุความเป็นเทพ คือผู้ได้ฌาน ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความเป็นพรหม คือผู้เจริญพรหมวิหาร ๔ ; มีภิกษุที่บรรลุความ เป็นผู้ไม่หวั่นไหว

( อาเนญชัปปัตตะ ) ได้แก่ภิกษุผู้เจริญอรูปฌาน ๔ ( ตรงนี้เป็นอันยืนยันว่า อาเนญชะนั้น ได้แก่อรูปฌาน ๔ แต่ในที่อื่นตรัสแสดงถึงรูปฌาน ๔ ด้วย ( โปรดดูบันทึกในเล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ( เป็นสุตตันตปิฎก ) ในหัวข้อที่ ๖.อาเนญชสัปปายสูตร ) ; มีภิกษุผู้บรรลุความเป็นอริยะ ได้แก่ ผู้รู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง .

      ๕. ทรงแสดงอานิสงส์ ( ผลดี ) ๔ ประการ

แห่งธรรมที่ได้สดับ ที่ขึ้นปาก ที่เพ่งดวงใจ ที่ขบด้วยทิฏฐิ คือ ๑. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ ( ตาย ) เข้าถึงเทพนิกายพวกใดพวก หนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขย่อมแจ่มชัด สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว( วิเสสคามี ) ๒. ภิกษุเรียนธรรมแล้วหลงลืมสติ ทำกาละ เข้าถึงเทพนิกายพวกใด พวกหนึ่ง. บทแห่งธรรมของเธอผู้มีความสุขไม่แจ่มชัด แต่ว่าเธอมีฤทธิ์ บรรลุความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิต( เจโตวสิปตุโต ) ย่อมแสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่ คุณวิเศษโดยรวดเร็ว. ๓. เหมือนข้อ ๒ แต่บทแห่งธรรมไม่ปรากฏ เธอไม่มีฤทธิ์ ไม่บรรลุความเชี่ยวชาญทางจิตแสดงธรรม แต่ได้แสดงธรรมแก่เทวบริษัท สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดยรวดเร็ว ๔. เหมือนข้อ ๓ เธอไม่มีคุณสมบัติ ทั้งสามอย่าง แต่เตือนผู้เกิดภายหลังให้ระลึกได้ว่าเคยประพฤติพรหมจรรย์ สติเกิดขึ้นช้า เธอย่อมก้าวหน้าไปสู่คุณวิเศษโดย รวดเร็ว.

ทรงแสดงฐานะ ๔ ที่พึงทราบได้โดยฐานะ ๔ คือ ๑. ศีล พึงทราบได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ๒. ความสะอาดพึงทราบได้ด้วยการสนทนา ๓. กำลัง ( ใจ ) พึงทราบได้ในเวลามีอันตรายเกิด ขึ้น ๔. ปัญญา พึงทราบได้ด้วยการถาม การตอบ. ทั้งสี่ข้อนี้ ต้องอาศัยเวลานาน และผู้ทราบก็ต้องใส่ใจและมีปัญญา.

ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ผู้มาทูลถามว่า มีคนเขา พูดกันว่า พระองค์มีมายา รู้มายาเป็นเครื่องกลับใจคน ซึ่งใช้เป็นเครื่องกลับใจสาวกเดียรถีย์อื่น ๆ จะเป็นการหาความหรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่ควรเชื่อโดยฟังตามกันมา เป็นต้น ( ๑๐ ประการดั่งกล่าวไว้แล้ว ดูที่ ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒ กล่าวไว้ว่า ทรงตรัสสอนมิให้เชื่อ ๑. โดยฟังตามกันมา ๒. โดยนำสืบกันมา ๓.โดยตื่นข่าวลือ ๔. โดยอ้างตำรา ๕. โดยนึกเดาเอา ๖.โดยคาดคะเน ๗. โดยตรึกตามอาการ ๘. โดยพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน ๙. โดยเห็นว่าพอเชื่อถือได้ ๑๐. โดยเห็นว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง ) ต่อเมื่อรู้ได้ด้วย ตนเองว่า ชั่วดีอย่างไร จึงค่อยละหรือทำให้เกิดมีขึ้น แล้วตรัสถามให้เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ และคุณของอโลภะ อโทสะ อโมหะ ด้วยตนเอง. ครั้นแล้วตรัสว่า ผู้ใดเป็นคนดี ผู้นั้นย่อมชักชวนสาวกให้ละโลภะ โทสะ โมหะ สารัมภะ ( ความ แข่งดี ). เจ้าลิจฉวีชื่อภัททิยะ ก็เลื่อมใสในพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า เราได้กล่าวหรือเปล่าว่า จงมาเป็นสาวกของเรา เราจักเป็นศาสดาของท่าน ภัททิยะลิจฉวีกราบ ทูลว่า มิได้ตรัสดังนั้น แล้วกราบทูลสรรเสริญว่า มายากลับใจนี้ ( ถ้าเป็นมายาจริง ) ก็ดีและเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ทุกคน.

พระอานนท์แสดงธรรมแก่ราชบุตรแห่งโกลิยกษัตริย์ ชาว สาปุคนิคมหลายองค์ ถึงองค์แห่งความเพียร เพื่อความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง คือองค์แห่งความเพียรเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล. แห่งจิต, แห่งทิฏฐิ ( ความเห็น ) และแห่งวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) โดยชี้ไปที่การสำรวมในพระปาฏิโมกข์, การเข้าฌาน ๔, การรู้อริยสัจจ์ ๔ ตามเป็นจริง, การทำจิตให้คลายกำหนัดในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด การเปลื้องจิตในธรรมที่ควร เปลื้องโดยลำดับครบ ๔ ข้อ.

พระมหาโมคคัลลานะ ถามวัปปศากยะผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ ถึงเรื่องฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า ( สัมปรายภพ ) พระผู้มีพระภาคเสด็จ มาตรัสถามและตรัสโต้ตอบกับวัปปศากยะ โดยทรงตั้งปัญหาให้ตอบ และเห็นจริงได้ด้วยตนเองว่า อาสวะที่เกิดขึ้นเพราะ ความริเริ่มทางกาย วาจา ใจ และเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ถ้าบุคคลเว้นได้ไม่ทำกรรมใหม่ ทั้งทำกรรมเก่าให้สิ้นไป ก็จะไม่เห็น ฐานะที่อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนาท่วมทับบุคคลในโลกหน้า. ในที่สุดวัปปศากยะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

( รวมเป็นบุคคลสำคัญ ๓ คนที่เปลี่ยนศาสนาจากนิครนถ์มาเป็นพุทธศาสนิก คือวัปปศากยะ ผู้เป็นอาพระพุทธเจ้า, สีหเสนาบดีแห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี และอุบาลีคฤหบดีแห่งเมืองนาฬันทา ( สีหเสนาบดีเปลี่ยนศาสนา....สีหเสนาบดีเป็นสาวกนิครนถ์ ( ศาสนาเชน ) ได้ฟังคณะกษัตริย์ลิจฉวี สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็ใคร่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อไปปรึกษากับอาจารย์คือนิครนถนาฏบุตร ก็ถูกห้ามปราบถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดได้ตัดสินใจไปเฝ้าโดยไม่บอกอาจารย์. เมื่อได้ไปเฝ้ากราบทูลถามถึงข้อที่มีคนกล่าวหาพระผู้มีพระภาค ซึ่งได้ทรงชี้แจงโดย ละเอียดแล้วทรงแสดงธรรมโปรด. สีหเสนาบดีได้ดวงตาเป็นธรรม ( เป็นโสดาบันบุคคล ) และได้นิมนต์ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น. พวกนิครนถ์เที่ยวพูดว่า สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารเลี้ยงพระ พระสมณโคดมรู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อสัตว์นั้น. สีหเสนาบดีได้ทราบ ก็ปฏิเสธว่าไม่จริง แล้วก็ถวายอาหารแด่พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ต่อไปจนเสร็จ. พระผู้มีพระภาคทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามฉันเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่านำถวายเจาะจงภิกษุ ทรงปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ฉัน และทรงอนุญาตปลาและ เนื้อที่บริสุทธิ์โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ ไม่ได้เห็น, ไม่ได้ฟัง, ไม่ได้นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเพื่อให้ตนรับบริโภค ). และให้ย้อนไปดูเล่มที่ ๕ ชื่อมัชฌิมนิกาย  ( มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันตปิฎก..ในข้อที่ ๖. อุปาลิวาทสูตร...ว่าด้วยอุบาลี คฤหบดี )   ดูประกอบด้วย .

ตรัสแสดงธรรมแก่เจ้าลิจฉวีชื่อสาฬหะ และอภยะ เรื่อง สมณพราหมณ์ผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ และการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ว่าเป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ต่อบริสุทธิ์จึงควร ตรัสรู้ .

ตรัสตอบพระนางมัลลิกา ผู้กราบทูลถามปัญหา ๔ ข้อ โดย ทรงชี้แจงว่า ๑. มาตุคามผู้มักโกรธ ไม่ให้ทาน มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทรามและยากจน มีศักดิ์น้อย. ๒. มาตุคาม ผู้มักโกรธ แต่ให้ทาน ไม่มีใจริษยา จะเป็นผู้มีรูปทราม แต่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่ ๓. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ แต่ไม่ให้ทาน มีใจ ริษยา จะเป็นผู้มีรูปงาม แต่ยากจน มีศักดิ์น้อย ๔. มาตุคาม ผู้ไม่มักโกรธ ทั้งให้ทานและมีใจไม่ริษยา จะเป็นผู้ทั้งมีรูปงาม ทั้งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีศักดิ์ใหญ่. พระนางมัลลิกากราบทูลว่าชะรอยพระนางจะเป็นคนขี้โกรธในชาติอื่น จึงทรงมีรูปทราม. ชะรอยจะเคยถวายทานจึงมั่งคั่ง และชะรอยจะไม่มีใจริษยา จึงมีศักดิ์ใหญ่เหนือหญิงทั้งปวงในราชสกุล แล้วทรงแสดงพระ ประสงค์ว่า จะไม่มักโกรธ ทั้งจะถวายทาน และไม่มีใจริษยาตั้งแต่วันนี้ไป.

ตรัสแสดงเรื่องบุคคล ๔ ประเภท คือผู้ทำตนให้เดือดร้อน เป็นต้น ( พ้องกับข้อความใน ๑. กันทรกสูตร ให้ย้อนกลับไปดูที่ เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เป็นสุตตันต ปิฎก )

ตรัสแสดงเรื่องตัณหา อันเป็นเสมือนข่ายดักสัตว์ โดยทรงแสดง ตัณหาวิจริต ( ความท่องเที่ยวไปแห่งตัณหา คือความทะยานอยาก ) ที่ปรารภขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายใน ๑๘ อย่าง ที่ปรารภ ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภายนอก ๑๘ อย่าง เป็นไปในกาล ๓ จึงเป็น ๑๐๘ ( ๑๘ + ๑๘ = ๓๖ = ๑๐๘ ).

ทรงแสดงสิ่งที่เกิดขึ้น ๔ อย่าง คือ ๑. ความรักเกิดจากความรัก ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำไม่ดีงามต่อคนที่ตนรัก ก็เลยคิดประทุษร้ายคนอื่นนั้นด้วย ). ๓. ความรักเกิดจากความคิดประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำที่ไม่ดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยรักคนอื่นนั้นด้วย ) ๔. ความคิดประทุษร้ายเกิดจากความคิด ประทุษร้าย ( เห็นคนอื่นเขาพูดด้วยถ้อยคำอันดีงามต่อคนที่ตนเกลียด ก็เลยเกลียดคนอื่นนั้นด้วย ). แล้วตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้เข้า ฌานทั้งสี่ย่อมไม่เกิดความรัก ความคิดประทุษร้ายทั้งสี่ประเภทนั้น, ยิ่งสิ้นอาสวะด้วยความรัก ความคิดประทุษร้ายก็เป็นอันละ ได้อย่างถอนราก และภิกษุนั้นก็จะไม่ฟุ้งสร้าน ( ไม่ถือตน หรือถือกายของตนตามแนวสักกายทิฏฐิ ๒๐ อย่าง ( ดูประกอบ...๒. สักกายทิฏฐิ ( ความเห็นที่ยึดในกายของตน ) เป็นอย่างไร. ตอบว่า บุถุชนผู้มิได้สดับ ไม่ เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ( คนดี ) ไม่ฉลาดในธรรมของ สัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป ( เห็นเวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ เช่นเดียวกัน จึงรวมเป็น ๔x๕ = ๒๐ ข้อ). ถามว่า สักกายทิฏฐิจะไม่มีได้อย่างไร ตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ที่ตรงกันข้ามกับบุถุชน และไม่เห็นอย่างนั้น ) , ไม่ฟุ้งตอบ ( ไม่ด่าตอบคนที่ด่า เป็นต้น ), ไม่เป็นควัน ( เพราะมีความท่อง เที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายใน ), ไม่ลุกเป็นเปลว ( เพราะมีความท่องเที่ยวแห่งตัณหา ปรารภขันธ์ ๕ ภายนอก ), ไม่ถูก เผา ( ละอัสมิมานะ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ได้ ).


    '๑' . สังวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เสื่อม, สังวัฏฏัฏฐายี, คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเสื่อม, วิวัฏฏกัปป์ คือกัปป์เจริญ, วิวัฏฏัฏฐายีกัปป์ คือกัปป์ที่ยังตั้งอยู่ในความเจริญ รวม ๔ กัปป์ เป็นมหากัปป์ ( และยังมีขยายอยู่อีกนิดหนึ่งคือ สัตถันตรกัปป์ คำว่า สัตถันตรกัปป์นี้ อรรถกถาอธิบายว่า อันตรกัปป์ที่พินาศในระหว่าง คือโลกยังไม่ถึงสังวัฏฏกัปป์ ก็พินาศด้วย ศรัสตราเสียในระหว่าง อันตรกัปป์มี ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะอดอาหาร โรคันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างเพราะโรค สัตถันตรกัปป์ กัปป์พินาศในระหว่างศัสตราเป็นผลแห่งกรรมชั่ว ของมนุษย์คือถ้าโลภจัด, ก็พินาศเพราะอดอาหาร หลงจัด ก็พินาศเพราะโรค ถ้าโทสะจัด ก็พินาศเพราะศัสตรา )

    '๒' . ข้อความตอนนี้ค่อนข้างเป็นธรรมะชั้นสูง ยากจะเข้าใจ หมายความว่า เจตนาที่เป็น เหตุให้ทำการต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ทำให้เกิดสุขทุกข์ได้ และอวิชชาย่อมเป็นต้นเหตุใหญ่ ที่ทำให้เกิดการปรุง แต่งเจตนา แล้วเป็นเหตุให้เกิดสุขทุกข์อีกต่อหนึ่ง ดับอวิชชาได้อย่างเดียว ก็ดับได้หมดเป็นทิวแถว. ในทางวิชาการ กายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ในที่นี้ หมายเจตนาทางกาย วาจา ใจ ทั้ง ๆ ที่ในที่อื่น กายสังขาร ( เครื่องปรุง กาย ) หมายถึงลมหายใจเข้าออก, วจีสังขาร ( เครื่องปรุงวาจา ) หมายถึงวิตก ความตรึก วิจารความตรอง, มโน สังขาร หรือจิตตสังขาร ( เครื่องปรุงจิต ) หมายถึงสัญญา ความจำได้หมายรู้และเวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือ ไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งต่างจากความหมายในที่นี้ เพราะในที่นี้ เมื่อมีความหมายว่า เจตนาทางกาย วาจา ใจ ก็หมายถึง เจตนาที่เป็นต้นเหตุให้มีการกระทำทั้งดีและชั่วทางกาย วาจา ใจ นั้น

    '๓' . เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นแห่งจิต ในที่นี้หมายเอาสมาบัติหรือฌาน ๘ คือฌานมีรูปเป็น อารมณ์ ๔ มีนามเป็นอารมณ์ ๔

    '๔' . สักกกายนิโรธ ความดับกายของตน อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่ดับความเวียนว่ายตายเกิด ในภูมิ ๓ ได้แก่นิพพาน

    '๕' . หานภาคิยะ, ฐิติภาคิยะ, วิเสสภาคิยะ, นิพเพธภาคิยะ

    '๖' . เห็นได้ว่า เป็นการแสดงความหมายของพราหมณ์ตามหลักพระพุทธศาสนา มิใช่ตามหลัก ของพราหมณ์จริง ๆ เพราะพราหมณ์จริง ๆ ประพฤติตรงกันข้าม

    '๗' . คนชั่ว คนดี ในที่นี้ใช้คำบาลีว่า อสัปปุริสะ สัปปุริสะ

    '๘' . อรรถกถาแก้ไว้น่าฟังว่า คนชั่วเปรียบเหมือนคนตาบอด คนตาบอดนั้นย่อมมองไม่เห็นทั้ง คนตาดีทั้งคนตาบอด ส่วนคนดีเปรียบเหมือนคนตาดี ซึ่งมองเห็นทั้งคนตาดีทั้งคนตาบอด

    '๙' . วัปปศากยะได้กราบทูลเปรียบเทียบว่า เข้าไปหาพวกนิครนถ์ไม่ได้กำไร ทั้งได้รับความลำบาก เหมือนหวังกำไร ซื้อลูกม้ามาเลี้ยง กำไรก็ไม่ได้ ทั้งได้รับความลำบาก ( เพราะลูกม้าเป็นโรคตาย )


บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ