บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๕
หมวดนี้มี

๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓.เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕. ชีวกสูตร
๖.อุปาลิวาทสูตร
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร
๑๑.จูฬราหุโลวาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร

๑๓.จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔. มหามาลุงกโย
วาทสูตร
๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗. จาตุมสูตร
๑๘. นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
โคตตสูตร
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร
๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุ
ทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐. เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓.มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗.ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔.โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓. เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕.ชีวกสูตร

 

หน้าที่ ๒
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร

..ธรรมะที่ไม่ผิด
ข้อ ๑ - ๕
บุคคล ๔ ประเภท
๑๑. จูฬราหุโล
วาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร
๑๓. จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔มหามาลุงก
โยวาทสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗.จาตุมสูตร
๑๘.นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร

ข้อปฏิบัติสำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑.จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๒๓.มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐.เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓. มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗. ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร

 

หน้าที่ ๕
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑.พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔. โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๑

   พระไตรปิฎก เล่ม  ๑๓ นี้ ยังอยู่ในประเภทมัชฌิมนิกาย คือพระสูตรขนาดปานกลาง ไม่ยาวและไม่สั้นเกินไป ได้กล่าวแล้วว่า สูตรขนาดกลางมี   ๓ เล่ม ได้แก่เล่ม  ๑๒ คือ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์หมวดขนาดกลาง หมวด  ๕๐ ที่เป็นตอนต้นหรือมูล. เล่ม   ๑๓ คือเล่มนี้ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หมวดขนาดกลาง หมวด  ๕๐ ที่เป็นตอนกลาง ส่วนเล่ม  ๑๔ คือ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หมวดขนาดกลาง หมวด  ๕๐ ที่เป็นตอนปลาย.

    เฉพาะเล่มนี้ มี   ๕๐ สูตร มี   ๕ วรรค ๆ ละ   ๑๐ สูตร แต่มีที่สังเกตได้ง่าย คือเล่มนี้ แบ่งวรรคเป็นเรื่องบุคคลทั้งสิ้น กล่าวคือ วรรคที่  ๑ ชื่อคฤปติวรรค ว่าด้วยคฤหบดี คือผู้ครองเรือน วรรคที่  ๒ ชื่อ ภิกขุวรรค ว่าด้วยภิกษุ วรรคที่  ๓ ชื่อปริพพาชกวรรค ว่าด้วยปริพพาชกหรือนักบวชนอกพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง วรรคที่   ๔ ชื่อราชวรรค ว่าด้วยพระราชา และ วรรคที่  ๕ ชื่อพราหมณวรรค ว่าด้วยพราหมณ์.

    ขึ้นวรรที่   ๑   คฤปติวรรค ว่าด้วยคฤบดี มี   ๑๐   สูตร

๑. กันทรกสูตร
สูตรว่าด้วยกันทรกปริพพาชก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ฝั่งสระน้ำชื่อคัคครา ใกล้กรุงจำปา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มหมู่ใหญ่ บุตรแห่งนายควาญช้างชื่อเปสสะ และปริพพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ปริพพาชกชื่อกันทรกะ กราบสรรเสริญว่า ทรงควบคุมพระสงฆ์ได้ดี เพราะเห็นภิกษุสงฆ์เป็นผู้นิ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสรับว่าเป็นจริง เพราะในภิกษุสงฆ์นี้ มีพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ มีพระเสขะ ( พระอริยบุคคลผู้ยังศึกษา คือยังไม่บรรลุอรหัตตผล ) ผู้มีศีล มีความประพฤติสงบระงับ มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน  ๔ (ย้อนดูไปที่) พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๔

    ๒. บุตรนายควาญช้างชื่อเปสสะกราบทูลสรรเสริญว่า ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน  ๔ ไว้ดีมาก ตนเองเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ยังเจริญสติปัฏฐาน   ๔ เป็นครั้งคราว เป็นการน่าอัศจรรย์ที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อป่าชัฏคือมนุษย์ กากขยะคือมนุษย์ และความโอ้อวดของมนุษย์เป็นไปอยู่อย่างนี้ แล้วได้แสดงความคิดเห็นต่อไปว่า มนุษย์เป็นเหมือนป่าชัฏ ( รกและดูยาก ) แต่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ตื่น ( เปิดเผย ดูง่าย ) ตนสามารถทำช้างฝึกให้ไปได้ตามต้องการ ช้างย่อมแสดงความดื้อ ความโกง ความงอ ความคดให้ปรากฏ ส่วนพวกที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ เป็นกรรมกร ประพฤติทางกายอย่างหนึ่งทางวาจาอย่างหนึ่ง แต่จิตใจไปอีกอย่างหนึ่ง.

    ๓. พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า มุนษย์เป็นผู้เสมือนรกชัฏ ( ดูยาก ) ส่วนสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ตื้น ( เปิดเผยดูง่าย ) จริง. แล้วตรัสถึงบุคคล  ๔ ประเภทที่มีอยู่ในโลก คือ     ๑ . ทำตัวเองให้เดือดดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนเองให้เดือดร้อน    ๒ . ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน    ๓. ทำตัวเองให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนเองให้เดือดร้อนด้วย ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย  ๔. ไม่ทำทั้งสองอย่างนั้น ซึ่งเป็นผู้หมดความกระหาย ดับเย็นในปัจจุบัน. แล้วตรัสถามว่า บุตรนายควาญช้างชอบบุคคลประเภทไหน . บุตรนายควาญช้างตอบว่า ชอบใจบุคคลประเภทหลัง . เมื่อตรัสถามถึงเหตุผล ก็กราบทูลว่า ทั้งตนและผู้อื่นก็ใคร่สุขเกลียดทุกข์ ตนจึงชอบใจพวกที่ไม่ทำตนไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน แล้วกราบทูลลากลับ.

    ๔. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าบุตรนายควาญช้างชื่อเปสสะจะนั่งอยู่สักครู่จนกว่าเราจะอธิบายแจกบุคคล  ๔ ประเภทนี้โดยพิศดาร ก็จะได้ประโยชน์อย่างใหญ่ แต่แม้เพียงเท่านี้ก็ได้ประโยนช์ใหญ่แล้ว. ภิกษุทั้งหลายขอให้ทรงแจกอธิบายโดยพิศสดาร จึงตรัสว่า    ๑. พวกทำตนให้เดือดร้อน ประกอบเนือง ๆ ในการทำตนให้เดือดร้อน ได้แก่พวกถือวัตรในการเปลือยกาย ในเรื่องอาหาร ทรมานตน.    ๒. พวกทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนประกอบเนือง ๆ ในการทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้แก่พวกพราน พวกโจร พวกฆ่าโจร พวกผู้คุมเรือนจำ .  หรือพวกประกอบกรรมอันโหดร้ายอื่น ๆ     ๓. พวกที่ทำทั้งตนให้เดือดร้อนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้แก่บุคคลบางคนเป็นกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก ( พิธีรดน้ำบนศีรษะเสวยราชย์ ) .  หรือพราหมณมหาศาล ที่สร้างเรือนโถงขึ้นใหม่ โกนผม โกนหนวด นุ่งหนังเสือ บูชาไฟ ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ถูกฆ่าบูชายัญ ทาสและกรรมกรก็ถูกลงโทษ ร้องไห้. ทำการงาน ( ในยัญญพิธี )  ๔. พวกที่ไม่ทำทั้งตนทั้งผู้อื่นให้เดือดร้อน คือผู้ออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ ได้ฌาน  ๓ มีญาณอันทำอาสวะให้สิ้นเป็นที่สุด.

๒. อัฏฐกนาครสูตร
สูตรว่าด้วยคฤหบดีชาวเมืองอัฏฐกะ

   ๑. พระอานนท์อยู่ ณ เวฬวคาม ใกล้กรุงเวสาลี. สมัยนั้นคฤหบดีชื่อทสมะ ชาวเมืองอัฏฐกะไปธุระที่กรุงปาตลิบุตร และได้ไปยังกุกกุฏาราม ถามหาพระอานนท์กับภิกษุรูปหนึ่ง . ทราบว่าท่านอยู่ในเวฬวคามใกล้กรุงเวสาลี เมื่อเสร็จธุระในกรุงปาฏลิบุตรแล้ว จึงเดินทางไปหาพระอานนท์ ถามถึงธรรมะข้อหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งภิกษุผู้ไม่ประมาทมีความเพียร ส่งใจไปในธรรมนั้นแล้ว จิตที่ไม่หลุดพ้นก็จะหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็จะถึงความสิ้นไป ผู้นั้นย่อมบรรลุธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปร่งจากกิเลสที่ผูกมัด.

   ๒. พระอานนท์ตอบว่า มีธรรมะเช่นนั้น และอธิบายว่า ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมได้ฌานที่  ๑ ถึง   ๔ ได้เจโตวิมุติอันประกอบด้วยพรหมวิหาร   ๔ ได้อรูปฌาน ถึงอากิญจัญญายตนะ ( อรูปฌานที่ ๓ )   ตั้งอยู่ในธรรมะที่ได้นั้น ๆ แล้ว ก็อาจสิ้นอาสวะได้ แต่ถ้าไม่สิ้นก็จะละสัญโญชน์  ๕ ได้ เป็นอุปปาติกะ ( เกิดขึ้นใหญ่โตขึ้นทันที ) ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ( ที่อยู่ของพระอนาคามี ) ไม่กลับมาจากโลกนั้น

   ๓. ทสมคฤหบดีชื่นชมภาษิตของพระเถระ กล่าวว่า ตนแสวงประตูอมตะประตูเดียว แต่ได้พบถึง   ๑๑ ประตู เปรียบเหมือนคนแสวงหาปากขุมทรัพย์แห่งเดียว แต่ได้พบปากขุมทรัพย์ถึง  ๑๑ แห่ง ( รูปฌาน  ๔ , ฌานประกอบด้วยพรหมวิหาร  ๔ , และอรูปฌาน   ๓ = ๔ + ๓ =๑๑  เปรียบเหมือนอาคารมี  ๑๑ ประตู เมื่อไฟไหม้ บุคคลก็อาจทำตนปลอดภัยได้โดยอาศัยประตูใดประตูหนึ่ง ตนก็อาจทำตนให้ปลอดภัยได้โดยอาศัยประตูอมตะประตูใดประตูหนึ่งฉันนั้น . ก็พวกเดียรถีย์เหล่าอื่นยังแสวงหาทรัพย์บูชาอาจารย์ได้ ไฉนตนจะบูชาพระอานนท์บ้างไม่ได้. จึงนิมนต์ภิกษุชาวกรุงปาตลิบุตรและชาวเวสาลีประชุมกับถวายอาหาร ถวายผ้าคู่แก่ภิกษุทุกรูป ถวายไตรจีวรแก่พระอานนท์ และให้สร้างวิหาร  ๕๐๐ แห่ง .  ถวายพระอานนท์

    (หมายเหตุ:   สันนิษฐานว่า พระสูตรนี้แสดงเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อกรุงปาตลิบุตรเป็นราชธานีมคธแทนราชคฤห์แล้ว).

๓. เสขปฏิปทาสูตร
สูตรว่าด้วยข้อปฏิบัติของพระเสขะ

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. สมัยนั้นเจ้าศากยะชาวกรุงกบิลพัสดุ์ให้สร้างสันถาคาร ( โรงโถง - โรงประชุม ) ขึ้นใหม่ ยังไม่มีใครใช้ได้ จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคให้ทรงใช้ก่อน. พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพแล้วเสด็จไปเมื่อเขากราบทูลเวลา. เมื่อเสด็จถึงจึงประทับพิงเสากลาง ภิกษุสงฆ์นั่งพิงฝาด้านตะวันตก เจ้าศากยะชาวกรุงกบิลพัสดุ์ทรงพิงฝาด้านตะวันออก. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจนดึก แล้วตรัสสั่งให้พระอานนท์แสดงเสขปฏิปทา ( ข้อปฏิบัติของพระเสขะ คือพระอริยะบุคคลผู้ยังศึกษา ) ส่วนพระองค์ทรงพักผ่อนสำเร็จสีหไสยา.

   ๒. พระอานนท์จึงเรียกมหานามศากยะ ( เข้าใจว่าจะเป็นประธานอยู่ในคณะเจ้าศากยะ ) กล่าวถึงการที่พระอริยะสาวกสมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ( สำรวมตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย )   รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบเนือง ๆ ซึ่งธรรมเป็นเครื่องตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน ) ประกอบด้วยสัทธรรม  ๗ อย่าง .  ได้ฌาน  ๔ อันเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามต้องการ แล้วอธิบายขยายความเป็นข้อ ๆ ไป.

   ๓. ครั้นแล้วได้สรุปว่า อริยสาวกผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวมาแล้ว ก็ควรจะตรัสรู้ได้ เปรียบเหมือนแม่ไก่กกไข่ดี แม้ไม่ต้องปรารถนาให้ไข่เป็นตัวออกมาโดยสวัสสดี ก็คงจะออกมาได้โดยสวัสสดี แล้วแสดงการได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ฌาณอันระลึกชาติได้ ) จุตูปปาตญาณ ( ญาณอันเห็นความตายความเกิด ) และอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสาวะให้สิ้น ) ว่า เปรียบเหมือนลูกไก่ทำลายกะเปาะไข่ออกจากไข่เป็นขั้น ๆ   ๓ ขันด้วยกัน.

   ๔. แล้วได้สรุปอีกตอนหนึ่งว่า คุณธรรมที่กล่าวข้างต้นเป็นจรณะ ( ความประพฤติ ) แต่ละอย่างของอริยสาวกนั้น ส่วนญาณทั้งสามมีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นต้น ก็เป็นวิชชา ( ความรู้ ) แต่ละอย่างของอริยสาวกนั้น อริยสาวกนี้จึงเรียกว่าผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาก็ได้ ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะก็ได้ ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ( ความรู้และความประพฤติ ) ก็ได้ แล้วได้อ้างภาษิตของสนังกุมารพรหมที่ว่า กษัตริย์เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้ถือโคตร. แต่ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐสุดในเทวดาและมนุษย์ . พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นประทานสาธุการในพระธรรมเทศนานี้ของพระอานนท์.

๔ . โปตลิยสูตร
สูตรว่าด้วยโปตลิยคฤหบดี

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคมแห่งแคว้นอังคุตตราอาปะชื่ออาปณะ โปตลิยคฤหบดีเข้าไปเฝ้าในขณะที่ประทับพักผ่อนในกาลกลางวัน ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง เมื่อปราศัยกันพอสมควรแล้วตรัสเชิญให้นั่ง แต่คฤหบดีโกรธที่เรียกว่าคฤหบดี จึงนั่งเสีย ต่อมาเมื่อตรัสอีกถึง   ๓ ครั้ง จึงประท้วงว่า เรียกตนเช่นนั้นไม่สมควร. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อาการ , เพศ , เครื่องกำหนดหมายของท่าน เป็นอย่างของคฤหบดี. โปตลิยะตอบว่า ถึงเช่นนั้นตนก็ห้ามการงานทั้งปวง ตัดขาดโวหารทั้งปวงเสียแล้ว. เมื่อตรัสถามให้อธิบาย จึงอธิบายว่า ตนได้มอบทรัพย์สินทั้งปวงให้เป็นมรดกแก่บุตรทั้งหลายแล้ว ตนไม่เกี่ยวข้องด้วย อยู่อย่างเพียงมีกินมีนุ่งห่มจึงชื่อว่าห้ามการงานทั้งปวง ตัดขาดโวหารเสียแล้ว . พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท่านกล่าวการตัดขาดโวหารไปอย่างหนึ่ง แต่การตัดขาดโวการในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง. เมื่อคฤหบดีขอให้ทรงอธิบาย จึงตรัสอธิบาย.

   ๒. ทรงแสดงธรรมะ   ๘ ประการ ที่เป็นไปเพื่อตัดขาดโวหารในอริยวินัย คือ     ๑. อาศัยการไม่ฆ่าสัตว์ละการฆ่าสัตว์     ๒. อาศัยการไม่ลักทรัพย์ ละการลักทรัพย์     ๓. อาศัยวาจาจริง ละการพูดเท็จ     ๔. อาศัยวาจาไม่ส่อเสียด ละวาจาส่อเสียด     ๕. อาศัยการไม่โลภเพราะความติด ละความโลภเพราะความติด     ๖. อาศัยการไม่ติเตียนด่าว่า ละการติเตียนด่าว่า     ๗. อาศัยการไม่โกรธคับแค้นใจ ละความโกรธคับแค้นใจ     ๘. อาศัยการไม่ดูหมิ่นท่าน ละการดูหมิ่นท่าน. เมื่อคฤหบดีขอให้ทรงอธิบายทั้งแปดข้อ จึงตรัสอธิบายแต่ละข้อ โดยวางหลักว่าตนก็ไม่พึงติเตียนตนเองได้ ผู้นรู้พิจารณาแล้วก็ไม่ติได้ เพราะเหตุแห่งความชั่วนั้น ๆ เป็นปัจจัย.

   ๓. ครั้นแล้วตรัสอธิบายการตัดโวหารอย่างเด็ดขาดด้วยประการทั้งปวงในอริยวินัย โดยทรงเปรียบเทียบว่า อริยสาวกย่อมเห็นกามเหมือน     ๑. ชิ้นกระดูกที่ไม่มีเนื้อติด     ๒. ชิ้นเนื้อ ( ที่แร้ง , เหยี่ยว แย่งกัน)     ๓. คบหญ้ามีไปลุก ( ที่ถือไปทวนลม )     ๔. หลุมถ่านเพลิง     ๕. สิ่งที่ฝันเห็น     ๖. ของที่ขอยืมเขามา     ๗. ผลไม้ เมื่อพิจารณาเห็นด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ก็เจริญอุเบกขา ( ความวางเฉย ) ที่ความยึดมั่นในโลกามิส ( เหยี่อล่อของโลก ) ดับไปโดยไม่มีส่วนเหลือ . เมื่ออาศัยความบริสุทธิ์แห่งสติเพราะความวางเฉยอย่างนี้ ก็ได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณอันระลึกชาติได้ ) จุตูปปาตญาณ หรือทิพย์จักษุญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด หรือตาทิพย์ ) และเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ( ความหลุดพ้นเพราะสมาธิและปัญญา ) อันไม่มีอาสวะ.

    โปตลิยคฤหบดีก็สรรเสริญพระธรรมเทศนา ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

๕ . ชีวกสูตร
สูตรว่าด้วยหมอชีวก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจจ์ ใกล้กรุงราฤห์. หมอชีวกเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามว่า ที่เขาพูดกันว่า พระสมณโคดมทรงทราบอยู่ก็เสวยเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงถวายนั้นเป็นความจริงเพียงไร ตรัสตอบว่า ทรงกล่าวถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่ควรบริโภคโดยฐานะ   ๓ คือ ที่ได้เห็น ที่ได้ฟัง ที่นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ) และทรงกล่าวถึงเนื้อสัตว์ที่ควรบริโภคโดยฐานะ   ๓ คือ ที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจ ( ว่าเขาฆ่าเจาะจงตน ).

    ๒. ตรัสอธิบายต่อไปว่า ภิกษุแผ่เมตตาจิต ( จนถึงอุเบกขาจิตเป็นที่สุด ) ไปทั่วโลก อยู่ด้วยจิตอันไม่มีเวร ไม่พยาบาท. คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ถ้าปรารถนาก็รับนิมนต์ได้ ครั้นรุ่งขึ้นไปฉัน เธอย่อมไม่คิดให้เขาถวายอาหารอันประณีต หรือถวายอีกในกาลต่อไป เธอไม่ติดบิณฑบาต มีปัญญาถ่ายถอน ( ไม่ยึดถือ ) ย่อมบริโภคบิณฑบาตนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นจะคิดเบียดเบียนตน เบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนทั้งตนทั้งคนอื่นหรือไม่. หมอชีวกกราบทูลรับว่า ไม่. ตรัสถามว่า เธอย่อมบริโภคอาหารอันไม่มีโทษมิใช่หรือ กราบทูลว่า เป็นเช่นนั้น และกราบทูลต่อไปว่า ตนเคยได้ฟังว่า พระพรหม เป็นผู้อยู่ด้วยเมตตา ข้าพระองค์เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเป็นพยานที่เห็นได้ เพราะทรงด้วยเมตตา. ตรัสตอบว่า บุคคลมีความพยาบาทเพราะราคะ โทสะ โมหะ อันใด คถาคตละราคะ โทสะ โมหะ นั้นได้เด็ดขาดแล้ว ถ้าท่านหมายความข้อนี้ เราอนุมัติคำกล่าวนั้น . หมอชีวกกราบทูลว่า หมายอย่างนั้น แม้ในเรื่องกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เช่นกัน.

    ๓. ตรัสว่า ผู้ฆ่าสัตว์อุทิศพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากโดยฐานะ   ๕ คือ   ๑.   ประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากโดยฐานะที่   ๑ คือข้อที่กล่าวว่า จงไปนำสัตว์ตัวโน้นมา   ๒.   โดยฐานะที่   ๒ คือสัตว์นั้นถูกลากคอมาย่อมเสวยทุกข์โทมนัส   ๓.   โดยฐานะที่   ๓   คือข้อที่กล่าวว่า จงฆ่าสัตว์นี้   ๔.   โดยฐานะที่   ๔   คือเมื่อสัตว์ถูกฆ่าย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัส   ๕.   โดยฐานะที่   ๕   คือคนย่อมพูดรุกรานพระตถาคตหรือสาวกแห่งตถาคตด้วยเรื่องเนื่องอันไม่สมควร

    เมื่อจบพระธรรมเทศนา หมอชีวกกราบทูลรับว่า ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันไม่มีโทษ แล้วกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

๖ . อุปาวาทสูตร
สูตรว่าด้วยอุบาลีคฤหหบดี

   พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของเศรษฐีขายผ้า ใกล้เมืองนาฬันทา. สมัยนั้นนิครนถนาฏบุตรอาศัยอยู่ในเมืองนาฬันทา พร้อมด้วยบริษัทใหญ่ ทีฆตปัสสีนิครนถ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ เมื่อตรัสเชิญให้นั่ง จึงถือเอาอาสนะต่ำกว่า นั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.

   ๑. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติกรรมกี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป. ทีฆตปัสสีนิครนถ์ทูลว่า นิครนถนาฏบุตรไม่เคยบัญญัติว่ากรรม เคยแต่บัญญัติว่า “ ทัณฑ์ ”. ตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติทัณฑ์กี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป . ทูลตอบว่า  ๓ อย่าง คือทัณฑ์ทางกาย , ทางวาจา , ทางใจ. ตรัสถามว่า ทัณฑ์ทั้งสามทางเป็นของอื่น ( จากกันแลกัน มิใช่อันเดียวกัน ) ใช่หรือไม่ . ทูลตอบว่า ใช่ . ตรัสถามว่า เมื่อแจกออกไปแล้ว นิครนถนาฏบุตรบัญญัติทัณฑ์อย่างไรว่ามีโทษมาก. ทูลตอบว่า ทัณฑ์ทางกาย เมื่อตรัสถามย่ำถึง   ๓ ครั้ง ก็ทูลตอบย้ำถึง  ๓ ครั้งว่า ทัณฑ์ทางกาย ( ไม่โทษมาก).

   ๒. เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ย้อนทูลถามบ้างว่า พระสมณโคดมบัญญัติทัณฑ์กี่อย่าง ในการทำกรรมอันเป็นบาป ก็ตรัสตอบว่า ไม่เคยทรงบัญญัติว่าทัณฑ์ เคยแต่บัญญัติว่ากรรม เมื่อเขาถามก็ทรงแจกออกเป็น   ๓ อย่างเช่นเดียวกัน แต่ทรงแสดงว่า กรรมทางใจมีโทษมากกว่า และทรงย้ำตอบเช่นนั้นถึง  ๓ ครั้ง เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ย้ำถามถึง  ๓ ครั้ง. แล้วทีฆตปัสสีนิครนถ์ก็ลุกจากอาสนะหลีกไป เล่าความให้นิครนถนาฏบุตรผู้นั้งอยู่กับบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ชาวพาลุกคาม มีอุบาลีคฤหบดีเป็นประมุขฟังทุกประการ. นิครนถนาฏบุตรก็ชมเชยทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า ตอบถูก และย้ำว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.

   ๓. อุบาลีคฤหบดีได้ฟัง ก็แสดงความประสงค์จะไปยกวาทะในเรื่องนี้ จะฟัดฟาดเสียเหมือนคนมีกำลังดึงขนแกะไปมา เป็นต้น. แต่ทีฆตปัสสีนิครนถ์คัดค้าน อ้างว่าพระสมณโคดมรู้มายากลับใจคน ย่อมกลับใจสาวกเดียรถีย์ได้ . นิครนถนาฏบุตรกล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ที่อาบาลีคฤหบดีจะไปเป็นสาวกพระสมณโคดม มีแต่พระสมณโคดมจะมาเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี ต่างค้าน ต่องยืนยันกันอยู่อย่างนั้นถึง  ๓ ครั้ง ในที่สุดนิครนถนาฏบุตรก็ยุให้อุบาลีคฤหบดีไปยกวาทะจนได้.

    ๔. อุบาลีคฤหบดีกราบลานิครนถนาฏบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อได้ถวายบังคมและทูลถามถึงถ้อยคำสนทนาระหว่างพระองค์กับทีฆตปัสสีนิครนถ์ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสเล่าความให้ฟัง . อุบาลีคฤหบดีกล่าวชมทีฆตปัสสีว่าพูดโต้ตอบตรงตามหลัก ( ของศาสนานิครนถ์ ) และได้กล่าวย้ำว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากว่า . พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอุบาลีคฤบดีจะยอมตั้งอยู่ในสัจจะพูดจากัน ก็จะมีการสนทนากันในเรื่องนี้. อุบาลีคฤหบดียอมรับ. จึงตรัสถามว่า นิครนถ์เจ็บหนัก ห้ามน้ำเย็น รับแต่น้ำร้อน เมื่อไม่ได้น้ำเย็นก็ตายดังนี้ นิครนถนาฏบุตรบัญญัติผู้นี้ว่า จะไปเกิดที่ไหน. ทูลตอบว่า เกิดในเทพที่ชื่อว่า นโมสัตตะ ( ผู้ข้องอยู่ในจิตใจ) เพราะเกี่ยวเกาะอยู่ในเรื่องจิตใจตายไป. ตรัสเตือนให้คิดให้ดีเสียก่อนแล้วจึงตอบ คำต้นกับคำท้ายไม่ต่อกัน ( คือเดิมชี้ว่า โทษหรือทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่ตอบว่า มีใจเป็นเหตุ ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันว่าทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.

    ๕. ตรัสถามว่า นิครนถ์สำรวมระวังแล้ว.  แต่เดินไปเดินมายังทำสัตว์เล็ก ๆ ให้ตาย ดังนี้ นิครนถนาฏบุตรจะบัญญัติผลของผู้นั้นอย่างไร. ทูลตอบว่า ไม่บัญญัติการกระทำทีไม่มีเจตนาว่ามีโทษมาก ตรัสถามว่า มีเจตนาเล่า. ทูลตอบว่า ก็มีโทษมาก. ตรัสถามว่า นิครนถนาฏบุตรบัญญัติเจตนาเข้าในอะไร. ทูลตอบว่า ในมโนทัณฑ์ ( โทษทางใจ ). ตรัสเตือนอีกว่า ให้คิดให้ดีก่อนแล้วจึงตอบ เพราะคำต้นกับคำท้ายไม่ต่อกัน ( คือเดิมชี้ว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่กลับชี้ไปที่เจตนาว่าสำคัญ ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า.

    ๖. ตรัสถามว่า เมืองนาฬันทานี้มั่นคง เฟื่องฟู มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่นใช่หรือไม่. ทูลตอบว่า ใช่ . ตรัสถามว่า ชายคนหนึ่งเงื้อดาบมา พูดว่าจะทำสัตว์มีชีวิตทั้งปวงในเมืองนาฬันทาให้เป็นเนื้องก้อนเดียวโดยขณะเดียว ครู่เดียว ( จะสับรวมให้เป็นเนื้อชิ้นเดียวในขณะเดียวกัน ) ดังนี้ ท่านเห็นว่าจะทำได้หรือไม่. ทูลตอบว่า   แม้ชาย   ๑๐ คน   ๒๐ คน  ๓๐ คน  ๕๐ คน ก็ไม่พอที่จะทำเช่นนั้นได้ ( ทำไม่ทันในขณะเดียวกัน ). ตรัสตอบว่า สมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญทางจิต อาจจะทำเมืองนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้าถ่านด้วยใจคิดประทุษร้ายครั้งเดียวได้หรือไม่. ทูลตอบว่า ได้ . ตรัสเตือนอีกว่า ให้คิดให้ดีเสียก่อนแล้วจึงตอบ เพราะคำต้นกับคำท้ายไม่ตรงกัน ( คือเดิมชี้ว่า ทัณฑ์ทางกายมีโทษมากกว่า แต่กลับยอมรับว่า ผู้มีอำนาจจิต ทำลายเมืองได้ทันที แต่ผู้ใช้กำลังกายทำไม่ได้เช่นนั้น ) แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันตามเดิม.

    ๗. ตรัสถามต่อไปว่า เคยได้ยินไหมว่า ป่าทัณฑกี , ป่ากาลิงคะ , ป่าเมชฌะ , ป่ามาตังคะ ที่กลายเป็น ป่าไปจริง ๆ . ทูลตอบว่า เคยได้ยิน . ตรัสถามว่า เคยได้ยินว่าเป็นป่าไปเพราะอะไร ทูลตอบว่าเพราะใจคิดประทุษร้ายของฤษี. จึงตรัสเตือนให้คิดให้ดีเสียก่อนล้วจึงตอบเช่นเดิมอีก.

    ๘. อุบาลีคฤหบดีทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนให้พิจารณาเสียก่อน เพราะการพิจารณาแล้วจึงทำ เป็นการดีสำหรับอุบาลีคฤหบดีทีมีคนรู้จักมาก อุบาลีคฤหบดีก็กลับเลื่อมใสยิ่งขึ้น แสดงจนเป็นอถบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่  ๒. ตรัสเตือนให้ให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ที่มาสู่เรือน เพราะตระกูลของท่านเคยเป็นที่เสมือนท่าน้ำสำหรับ ลงดื่มของนิครนถ์ทั้งหลายมานานแล้ว . อุบาลีคฤหบดีกราบทูลแสดงความเลื่อมใสยิ่นขึ้น เพราะตนเคยได้ยินแต่ว่าพระสมณโคดมตรัสให้ถวายทานแก่พระองค์และพระสาวกของพระองค์เท่านั้น ไม่ควรให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่น . ทานที่ให้แก่พระองค์และสาวกของพระองค์เท่านั้นจึงมีผลมาก. ที่ให้แก่ผู้อื่นและสาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก. แต่นี่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ให้ทานในพวกนิครนถ์ ซึ่งตนจะรู้กาลในข้อนี้เอง แล้วแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นครั้งที่   ๓.

    ๙. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสแสดงอนุบุพพิกถาอริยสัจจ์  ๔ อุบาลีคฤหบดีได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นพระโสดาบันบุคคล ) แล้วกราบทูลลากลับไป. เมื่อถึงบ้านก็สั่งนายประตูให้ห้ามนิครนถ์ชายหญิงมิให้เข้าบ้าน ไม่ห้ามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และให้แจ้งว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. ทีฆตปัสสีนิครถ์ทราบเรื่อง จึงไปเล่าความให้นิครนถนาฏบุตรฟัง นิครนถนาฏบุตรไม่เชื่อ แม้จะเล่าย้ำถึง  ๓ ครั้ง เป็นแต่ใช้ให้ทีฆตปัสสีไปดูให้รู้ด้วยตนเอง. เมื่อทีฆตปัสสีนิครนถ์ไปด้วยตนเอง นายประตูก็ห้ามเข้าจึงกลับมาเล่าให้นิครนถนาฏบุตรฟัง แต่นิครนถนาฏบุตรก็ยืนยันไม่เชื่อถึง   ๓ ครั้ง แต่ในที่สุดก็กล่าวว่าตนจะไปดูเอง.

    ๑๐. นิครนถนาฏบุตร พร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์ไปยังที่อยู่ของอุบาลีคฤหบดี นายประตูก็ห้ามเข้าอ้างว่าอุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว. นิครนถนาฏบุตรจึงใช้ให้นายประตูไปบอกว่า ตนมายืนอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู . เมื่อนายประตูไปบอก อุบาลีคฤหบดีก็สั่งให้ไปปูอาสนะที่ศาลาใกล้ประตูด้านกลาง แล้วอุบาลีคฤหบดีก็มา ณ ที่นั้น เลือกนั่งอาสนะที่ดีที่เลิศ พร้อมทั้งสั่งนายประตูให้ไปบอกนิครนถนาฏบุตรว่า ถ้าปรารถนาก็ให้เข้ามาได้. นิครนถนาฏบุตร พร้อมด้วยบริษัทก็เข้าไป. ในสมัยก่อนพอเห็นนิครนถนาฏบุตรมาแต่ไกล อุบาลีคฤหบดีก็จะลุกขึ้นต้อนรับ เอาผ้าห่มเช็ดอาสนนะที่ดีที่เลิศ เชิญให้นั่ง แต่บัดนี้กลับนั่งบนอาสนะที่ดีเลิศเสียเอง แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ อาสนะมีอยู่ ถ้าท่านปรารถนาก็จงนั่ง. นิครนถนาฏบุตรจึงกล่าวว่าท่านเป็นบ้า เป็นคนเขลาไปแล้วหรือ และได้พูดเปรียบเปรยหยาบ ๆ อีก พร้อมกับกล่าวว่า ท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาสำหรับกลับใจเสียแล้วหรือ อุบาลีคฤหบดีกลับตอบว่า มายากลับใจนี้เป็นของดีแม้ใคร ๆ จะกลับใจด้วยมายานี้ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขสิ้นกาลนาน.

    ๑๑. แล้วอุบาลีคฤหบดีได้เปรียบเทียบให้ฟังว่า คำสอนของนิครนถ์ อดทนต่อความยินดีของคนโง่ ไม่อดทนต่อความดีของบัณฑิต ไม่อดทนต่อการซักไซ้ขัดสี เปรียบเหมือนลูกลิงทนการย้อมสีได้ แต่จะเอามาทุบตี เอามาขัดสีเหมือนผ้าใหม่ที่จะย้อมสี ย่อมทนไม่ได้. นิครนถนาฏบุตรเตือนว่า บริษัท ( ประชุมชน ) พร้อมทั้งพระราชาก็ทราบกันอยู่ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร แล้วพวกเราจะทรงจำว่าท่านเป็นสาวกของใครกัน อุบาลีคฤหบดีจึงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปในทิศทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยคำสรรเสริญพระคุณอย่างยืดยาว เมื่อถูกถามว่ารวบรวมคำสรรเสริญพระคุณได้เมื่อไร ก็ตอบว่า ตนเปรียบเหมือนช่างดอกไม้ที่ร้อยพวงมาลัยอันวิจิตรจากดอกไม้ใหญ่ อันมีดอกไม้ต่าง ๆ ฉะนั้น . นิครนถนาฏบุตรถึงแก่อาเจียนเป็นโลหิตในที่นั้น.


๑. ผู้คุมสมัยก่อนมีหน้าที่ลงโทษทรมานต่าง ๆ ด้วย

๒. เฉพาะพระราชาที่เป็นใหญ่ แต่พระราชาเมืองขึ้น ซึ่งได้รับมอบหมายให้ครองราชย์ไม่ปรากฏพิธีมูรธาภิเษกจึงเรียกว่าราชัญญะ

๓. คำว่า  ๕๐๐ นี้ ไม่จำเป็นต้องหมายว่าเป็นจริงตามตัวเลขหมายความว่าหลายแห่งก็ได้

๔. สัทธรรม  ๗ อย่าง คือ  ๑. ศรัทฑา   ๒. หิริ  ๓.โอตตัปปะ   ๔. พาหุสัจจะ ( สดับตรับฟังมาก )  ๕. ลงมือทำความเพียร   ๖. สติ  ๗. ปัญญา

๕. นี้แปลตามอรรถกถา แต่เค้าศัพท์มีทางให้แปลได้ว่า ทำให้เข้าใจว่า ควรด้วยของที่ไม่ควร

๖. มีคำพิเศษสำหรับพวกนิครนถ์ คือ   จาตุยามสํวรสํวุโต     ผู้สำรวมแล้วด้วยการสำรวม ๔ ทาง คือไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด ไม่หวังกามคุณ ๕ อนึ่ง พวกนิครนถ์ไม่ใช้น้ำเย็น เพราะถือว่ามีสัตว์ จึงใช้แต่น้ำร้อน

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ