บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๕
หมวดนี้มี

๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓.เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕. ชีวกสูตร
๖.อุปาลิวาทสูตร
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร
๑๑.จูฬราหุโลวาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร

๑๓.จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔. มหามาลุงกโย
วาทสูตร
๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗. จาตุมสูตร
๑๘. นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
โคตตสูตร
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร
๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุ
ทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐. เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓.มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗.ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔.โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓. เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕.ชีวกสูตร

 

หน้าที่ ๒
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร

..ธรรมะที่ไม่ผิด
ข้อ ๑ - ๕
บุคคล ๔ ประเภท
๑๑. จูฬราหุโล
วาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร
๑๓. จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔มหามาลุงก
โยวาทสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗.จาตุมสูตร
๑๘.นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร

ข้อปฏิบัติสำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑.จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๒๓.มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐.เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓. มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗. ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร

 

หน้าที่ ๕
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑.พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔. โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๓

๑๕. ภัททาลิสูตร
สูตรว่าด้วยพระภัททาลิ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนพระภัททาลิผู้ไม่กระทำให้บริบูรณ์ใน สิกขาโดยทรงเตือนให้สำนึกว่า พระผู้มีพระภาค ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สมณพราหมณ์ลัทธิอื่น จักรู้ว่า พระภัททาลิไม่กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขา, ซึ่งพระภัททาลิก็ได้สำนึกตนกราบทูลขอขมา. พระผู้มีพระภาคตรัสรับขมาแล้ว ได้ตรัสแสดงความประพฤติของภิกษุสองฝ่าย คือฝ่ายที่ไม่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ซึ่งถูกติเตียนกับฝ่ายที่ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ซึ่งไม่ถูกติเตียน และบำเพ็ญคุณธรรมได้ตั้งแต่ฌาณ   ๔ ฌาณ  ๓ มีอาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ) เป็นที่สุด.

   ๒. ตรัสแสดงถึงภิกษุสองฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องอาบัติบ่อย ๆ มากไปด้วยอาบัติ เมื่อภิกษุทั้งหลายว่ากล่าว ก็พูดหลีกเลี่ยงไปต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะพิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิกรณ์จะไม่สงบระงับไปโดยพลัน . แต่บางรูปต้องอาบัติบ่อย ๆ เป็นต้นแล้ว ไม่พูดหลีกเลี่ยงไปต่าง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็จะพิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิกรณ์จะสงบระงับไปโดยพลัน. อีกฝ่ายหนึ่งต้องอาบัติเป็นครั้งคราว ไม่มากไปด้วยอาบัติ แต่พูดหลีกเลี่ยงก็มี ไม่หลีกเลี่ยงก็มี ภิกษุทั้งหลายก็พิจารณา ( จัดการกับ ) เธอ ในทางที่อธิการณ์จะไม่สงบระงับโดยพลัน ( สุดแต่ความประพฤติเมื่อถูกว่ากล่าวของเธอ ).

   ๓. ทรงแสดงถึงการที่ภิกษุบางรูปเป็นอยู่ด้วยศรัทธา ด้วยความรัก ( คือบวชใหม่ ยังไม่รู้เรื่องศาสนาดี ก็อยู่ด้วยอาศัยศรัทธา และความรักในอุปัชฌายะอาจารย์). ภิกษุทั้งหลายคิดสงเคราะห์เธอด้วยเกรงว่าศรัทธาและความรักของเธอจะเสื่อมไป เหมือนญาติมิตรรักษาตาข้างเดียวของชายผู้มีตาข้างเดียวฉะนั้น. เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามถึงเหตุทที่สิกขาบทมีน้อยในกาลก่อน มีภิกษุมากรูปตั้งอยู่ในอรหัตตผล แต่ในบัดนี้สิกขาบทกลับมากขึ้น ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลกลับน้อยลง จึงตรัสตอบว่า เป็นด้วยสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อมสัทธรรม กำลังอันตรธาน.

   ๔. ครั้นแล้วได้ตรัสว่า พระศาสดาย่อมไม่บัญญัติสิกขาบทจนกว่าธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ ( กิเลสดองสันดาน ) จะปรากฏในภิกษุสงฆ์ . ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะยังไม่ปรากฏในภิกษุสงฆ์ ตราบใดที่สงฆ์ยังไม่เป็นกลุ่มใหญ่ , ยังไม่มีลาภ, ยศ , ไม่มีการสดับตรับฟังมาก, ไม่รู้ราตรีนานขึ้น ( ล่วงเวลานานขึ้น ) และในที่สุด ตรัสแสดงธรรมเปรียบด้วยม้าอาชาไนย ที่ได้รับการฝึก   ๑๐ ประการ.  จนมีคุณสมบัติครบ ๑๐ อย่าง  ควรแก่พระราชาฉันใด ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ ) เป็นต้น จนถึงสัมมาวิมุติ ( ความหลุดพ้นชอบ) เป็นที่ ๑๐  ก็เป็นผู้ควรแก่การบูชา จนถึงเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลกฉันนั้น.

   

๑๖. ลฑุกิโกปมสูตร
สูตรแสดงข้อเปรียบเทียบด้วยนางนกใส้

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมชื่ออาปณะ แคว้นอังคุตตราปะ . พระอุทายีเข้าไปเฝ้ากราบทูลสรรเสริญว่า ทรงนำธรรมที่เป็นทุกข์มากหลายออกไป ทรงนำเข้าไปซึ่งธรรมที่เป็นสุขมากหลายแล้วได้เล่าถึงสมัยก่อนที่ท่านเคยบริโภคอาหาร ทั้งในเวลาเย็น ทั้งในเวลาเช้า ทั้งในเวลาวิกาลกลางวัน ( เที่ยงแล้วไป ). ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุทั้งหลายเลิกฉันอาหารในเวลากาลกลางวัน ( เที่ยงแล้วไป ) ท่านก็เสียใจที่พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้ละอาหารที่คฤหบดีผู้มีศรัทธาถวายในเวลาวิกาลกลางวัน แต่ด้วยความรัก ความเคารพ เป็นต้น ในพระผู้มีพระภาค ก็ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลกลางวันนั้นเสีย คงฉันแต่เวลาเย็นและเวลาเช้า.

   ต่อมาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายเลิกฉันอาหารในเวลากาลกลางคืน ท่านก็เสียใจ. แต่ด้วยความรักความเคารพ เป็นต้น ในพระผู้มีพระภาค ท่านก็ละการฉันอาหารในเวลาวิกาลกลางคืนเสีย. แล้วกราบทูลถึงการบิณฑบาตในเวลากลางคืนที่ทำให้เหยียบน้ำครำบ้าง ตกหลุมโสโครกบ้าง ถูกหนามตำบ้าง จนถึงถูกผู้หญิงนึกว่าผีหลอกร้อยโวยวาย และเมื่อทราบว่าเป็นภิกษุก็ด่าเอา ( อันแสดงว่า การที่ทรงห้ามนั้นเป็นการดี).

   ๒. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โมฆบุรุษบางคนเมื่อเรากล่าวว่า จงละสิ่งนี้ ก็กล่าวว่า จะมาขัดเกลาอะไรกัน เพราะเหตุเรื่องเล็กน้อยเท่านี้ จึงไม่ยอมละ และตั้งความไม่พอใจในเรา และในภิกษุผู้ใคร่การศึกษา. ข้อห้ามนั้นก็จะเป็นเครื่องผูกอันมีกำลังมั่นคงสำหรับเธอ เหมือนนางนกใส้ ซึ่งผูกด้วยเถาไม้ ก็ผูกไว้อยู่หรือถึงแก่ความตาย เพราะเครื่องผูกนั้นมีกำลังมั่นคง ( นกตัวเล็กผูกด้วยเถาไม้ก็รู้สึกว่าเป็นเครื่องผูกใหญ่ คนที่ไม่ดีก็เห็นข้อห้ามเล็ก ๆ ว่าเป็นของใหญ่โต ซึ่งยากจะปฏิบัติตามหรือละตามที่ห้ามได้ เพราะศรัทธาน้อยมีปัญญาน้อย ). ส่วนบุคคลบางคนเมื่อเรากล่าวว่า จะละสิ่งนี้ ก็กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนสั่งให้ละเรื่องเล็กน้อยจึงยอมละ และไม่ตั้งความไม่พอใจในเรา และในภิกษุผู้ใคร่การศึกษา ข้อห้ามนั้นก็จะเป็นเหมือนเครื่องผูกอันไม่มีกำลัง ไม่มั่นคงสำหรับเธอ เหมือนช้างสงครามของพระราชาสลัดเครื่องผูกที่ทำด้วยหนังอย่างมั่นคงให้ขาดได้ ( สำหรับภิกษุผู้มีศรัทธาและปัญญามาก แม้ข้อห้ามใหญ่ ๆ ก็ละตามได้ ยิ่งข้อห้ามเล็ก ๆ น้อย ๆ ยิ่งปฏิบัติตามได้ไม่ยาก เหมือนช้างสงครามที่ทำลายเชือกหนังได้สบาย ) และได้ตรัสเปรียบเรื่องทำนองเดียวกันด้วยคนจนที่จะสละเรือนจวนจะฟังได้โดยยาก ส่วนคนมั่งมีสละทรัพย์ได้ง่ายกว่า.

   ๓. ตรัสถึงบุคคล   ๔ ประเภทที่ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อสละอุปธิ   ( มี ๔ อย่าง คือ   ขันธ์ ,   กิเลส ,   เจตนา,   กามคุณ )   แต่     ๑. บางพวกถูกกิเลส.  ครอบงำ และไม่ละ ไม่บันเทา     ๒. บางพวกถูกกิเลสครอบงำ ก็ละก็บันเทา     ๓. บางพวกถูกกิเลสครอบงำเพียงครั้งเดียว เพราะหลงลืมสติ สติมาช้า แต่พอได้สติก็รีบละและบันเทา    ๔. บางพวกรู้ว่า   อุปธิ เป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ จึงทำตนให้ไม่มีอุปธิ.

    ๔. ครั้นแล้วตรัสแสดงความสุขที่เกิดแต่กามคุณ ซึ่งทรงสอนให้ละขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนถึงความสุขในรูปฌาน   ๔ และอรูปฌาน   ๔ แล้วตรัสถามว่า เห็นว่ามีสัญโญชน์ ( กิเลสเครื่องร้อยรัด ) อะไรบ้างไหมไม่ว่าน้อยหรือมาก ที่ไม่ทรงสอนให้ละเสีย. ( โดยใจความว่า แม้จะมีความสุขเป็นชั้น ๆ แต่ถ้ายังมีอะไรแม้แต่น้อย ที่ยังไม่บริสุทธิ์แท้ ก็ยังตรัสสอนให้ละไปโดยลำดับ จนบริสุทธิ์สมบูรณ์ในที่สุด).

   

๑๗. จาตุมสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในตำบลบ้านชื่อจาตุมา

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะขามป้อม ใกล้ตำบลบ้านชื่อจาตุมา. ตรัสสั่งประณาม ( ขับไล่) ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ที่เดินทางมากับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มาถึงหมู่บ้านจาตุมา ก็ส่งเสียงเอะอะประศรัยร่าเริงกับภิกษุเจ้าถิ่น . บรรดาเจ้าศากยะชาวบ้านจาตุมาทรงทราบจึงไปกราบทูลขอให้ทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ เพราะมี ( บางรูป ) บวชใหม่ เมื่อไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคก็จะปรวนแปรไป เปรียบเหมือนพืชอ่อนไม่ได้น้ำ หรือลูกโคอ่อนที่ไม่เห็นแม่. ท้าวหัมบดีพรหมก็มากราบทูลขอให้ทรงอนุเคราะห์ ด้วยอ้างข้ออุปมาในทำนองเดียวกัน . เป็นอันบรรดาเจ้าศากยชาวบ้านจาตุมาและท้าวสหัมบดีพรหม ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอพระหฤทัยได้.

   ๒. พระมหาโมคคัลลานะไปบอกให้ภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้า. พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระสารีบุตรว่า เธอคิดอย่างไร เมื่อเราประฌามภิกษุสงฆ์ . พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงขวนขวายน้อย ประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แม้เราก็จักขวนขวายน้อย ประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบันบ้าง ( คือไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมู่คณะ ) . พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า อย่างเพิ่งคิดอย่างนั้นก่อน แล้วจึงตรัสถามพระโมคคัลลานะบ้าง. พระเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคทรงขวนขวายน้อยประกอบการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน บัดนี้เราและสารีบุตรจักบริหารภิกษุสงฆ์เอง. พระผู้มีพระผู้มีพระภาคจึงประทานสาธุการรับรองว่า เรา ( พระองค์เอง) หรือสารีบุตรกับโมคคัลลานะพึงบริหารภิกษุสงฆ์ได้.

   ๓. ครั้นแล้วตรัสสอนภิกษุทั้งหลายถึงภัย   ๔ ประการ ที่พึงหวังได้ในการลงน้ำ คือ  ๑. คลื่น  ๒. จระเข้า  ๓. วังวน   ๔ . ปลาร้าย . ทรงเปรียบความไม่อดทนต่อโอวาทเมื่อเข้ามาบวชด้วยภัยคือคลื่น ; ทรงเปรียบความเห็นแก่ปากแก่ท้องด้วยภัยคือจรเข้ ; ทรงเปรียบกามคุณ   ๕ ด้วยภัยคือวังวน และทรงเปรียบเทียบมาตุคามด้วยปลาร้าย ว่าเป็นภัยอันภิกษุผู้บวชในพระธรรมวินัยนี้พึงหวังได้.

    ( หมายเหตุ:  พระสูตรนี้แสดงว่าพระผู้มีพระภาคทรงให้บทเรียนแก่ภิกษุผู้ส่งเสียงอื้ออึงเหล่านั้นอย่างแรง แต่เมื่อมีเหตุผลสมควร ก็ทรงเลิกลงโทษ คือมิใช่ลงโทษให้เสียคน แต่ให้กลับตัว ).

   

๑๘. นฬกปานสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านชื่อนฬกปานะ

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไม้ทองกวาว ใกล้หมู่บ้านชื่อนฬกปานะ. สมัยนั้นกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงออกบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคหลายท่านด้วยกัน คือ พระอนุรุทธ์ , พระภัททิยะ , พระกิมพิละ , พระภัคคุ, พระโกณฑัญญะ , พระเรวตะ, พระอานนท์ และกุลบุตรผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ . พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับในกลางแจ้ง ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ผู้ที่ออกบวชอุทิศเรา ยินดียิ่งในพรหมจรรย์ละหรือ ? ตรัสถามถึง ๓ ครั้ง ภิกษุเหล่านั้นก็นิ่งอยู่.

   ๒. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสระบุพวกพระอนุรทธ์ ( มีรายนามดั่งที่กล่าวข้างต้น แต่ใช้คำว่า “ อนุรุทธ์ ” อนุรุทธ์และพวก ) ซึ่งพระอนุรุทธ์ก็กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายยินดียิ่งในพรหมจรรย์ จึงตรัสว่า ดีแล้ว. แล้วตรัสถามว่า ออกบวชเพื่อทำที่สุดทุกข์ใช่หรือไม่ . พระอนุรุทธ์ก็กราบทูลรับว่า ใช่. จึงตรัสถึงหน้าที่ที่ผู้บวชแล้วพึงกระทำว่า ถ้ามิได้บรรลุปีติและสุขอันสงัดจากกาม อันสงัดจากอกุศลธรรม หรือปีติสุขที่สงบระงับกว่านั้นแล้ว ความโลภ ( อภิชฌา ) , ความคิดปองร้าย, ความหดหู่ง่วงงุน, คววามลังเลสงสัย, ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ, ความไม่ยินดี ( ในกุศลธรรม ), ความเกียจคร้านก็จะครอบงำจิตตั้งอยู่ได้. ต่อไปบรรลุปีติและสุขเช่นนั้นหรืออย่างอื่นที่สงบระงับกว่านั้น กิเลสดังกล่าวจึงไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ได้.

   ๓. ตรัสถามว่า เธอคิดว่า คถาคตละอาสวะไม่ได้จึงพิจารณาแล้วเสพ, พิจารณาแล้วอดทน, พิจารณาแล้วเว้น พิจารณาแล้วบันเทา ( ทำให้น้อยลง ) ใช่หรือไม่. กราบทูลว่า ไม่ได้คิดอย่างนั้น พระตถาคตทรงละอาสวะได้แล้ว จึงทรงทำเช่นนั้น. ตรัสรับรองว่าเป็นเช่นนั้น. ตรัสถามต่อไปว่า ตถาคตเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงพยากรณ์เมื่อสาวกตายไปว่า ผู้นี้ไปเกิดในที่โน้น ๆ . พระอนุรุทธ์กราบทูลขอให้ทรงตอบ จึงตรัสตอบว่า ที่ทรงพยากรณ์เช่นนั้น มิใช่เพื่อเพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อเรียกร้องคนให้มานับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะหรือชื่อเสียง มิใช่เพื่อให้คนรู้จักเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้. แต่กุลบุตรผู้มีศรัทธา มีความยินดีและปราโมทย์อันกว้างขวาง ได้สดับแล้ว ก็จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นเช่นนั้น ( ตามที่ทรงพยากรณ์ว่าไปเกิดในที่ดี ๆ อย่างไร ) ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขของกุลบุตรเหล่านั้น แล้วตรัสขยายความในเรื่องนี้ว่า จะเป็นการเอาอย่างในทางที่ดีในเรื่องศรัทธา, ศีล , สุตะ ( การสดับฟังหรือการศึกษา ), จาคะ ( การสละ ) และปัญญา.

   

๑๙. โคลิสสานิสูตร
สูตรว่าด้วยภิกษุชื่อโคลิสสานิ

   ๑. สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . พระสารีบุตรปรารภภิกษุชื่อโคลิสสานิผู้อยู่ป่า แต่มีความประพฤติย่อหย่อน (เห็นแก่ปัจจัย ) มีธุระเข้ามาในที่ประชุมสงฆ์ จึงแสดงข้อปฎิบัติสำหรับภิกษุป่า ๑๗ ข้อดังต่อไปนี้:-
   

ข้อปฎิบัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ

   ๑. ภิกษุผู้อยู่ป่าไปในสงฆ์ พึงเคารพในเพื่อนพรหมจารี
   ๒. พึงฉลาดในอาสนะ ไม่นั่งเบียดภิกษุผู้แก่กว่า ไม่นั่งกันภิกษุผู้อ่อนกว่า
   ๓. ไม่พึงเข้าบ้านเกินเวลา พึงกลับแต่ยังวัน     ๔. ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลก่อนหรือหลังอาหาร
   ๕. ไม่พึงฟุ้งสร้านและขี้บ่น                    ๖. ไม่พึงเป็นคนปากกล้าพูดมาก
   ๗. พึงเป็นผู้ว่าง่ายและคบมิตรที่ดี
   ๘. พึงสำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ( สำรวมตา หู เป็นต้น)
   ๙. พึงรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร     ๑๐. พึงประกอบความเป็นผู้ตื่น ( ไม่เห็นแก่นอน )
   ๑๑. พึงลงมือทำความเพียร                 ๑๒. พึงมีสติตั้งมั่น
   ๑๓. พึงมีจิตตั้งมั่น                            ๑๔. พึงมีปัญญา
   ๑๕. พึงประกอบความเพียรในอภิธรรม อภิวินัย เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม
   ๑๖. พึงประกอบความเพียรในวิโมกข์อันสงบระงับ อันมิใช่รูป ก้าวล่วงรูป เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม
   ๑๗. พึงประกอบความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม ( ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ) เพื่อสามารถตอบชี้แจงได้เมื่อมีผู้ถาม.

    พระมหาโมคคัลลานะถามว่า ภิกษุผู้อยู่ป่าเท่านั้นหรือจึงควรประพฤติ หรือว่าแม้ภิกษุผู้อยู่ชายบ้าน ( เขตรอบ ๆ หมู่บ้าน ) ก็ควรประพฤติด้วย. พระสารีบุตรตอบว่า แม้ภิกษุผู้อยู่ป่ายังควรประพฤติ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า ภิกษุผู้อยู่ชายบ้านจะไม่ควรประพฤติ.

   

๒๐. กีฎาคิริสูตร
สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิคมชื่อกีฎาคิริ

   ๑. พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกาสี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายเรื่องการเว้นบริโภคอาหารในเวลากลางคืนว่า ทำให้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย เบาสบาย มีกำลัง อยู่เป็นผาสุก. เมื่อเสด็จไปโดยลำดับก็เสด็จแวะพัก ณ นิคมชื่อกีฏาคิริ. ภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะเป็นภิกษุเจ้าถิ่นอนู่ในกีฏาคิรินิคม กลับพูดในทางตรงกันข้าม คือกล่าวว่า พวกตนฉันอาหารในเวลาเย็นเวลาเช้า เวลาวิกาล กลางวัน ก็รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีโรคน้อย เป็นต้น.

   ๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ตรัสสั่งให้เรียกภิกษุพวกนั้นมาเฝ้า ตรัสถามได้ความตามจริงแล้วจึงตรัสถามว่า พวกเธอรู้หรือไม่ถึงธรรมที่เราแสดงแล้วว่า อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เสวยสุข หรือทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข อย่างไรกัน. กราบทูลว่า ไม่รู้. ตรัสถามต่อไปอีกว่า รู้หรือไม่ว่า อกุศลธรรมและกุศลธรรมเจริญหรือเสื่อมแก่บุคคลผู้เสวยเวทนาอะไรทีละข้อ ก็กราบทูลตอบว่า ไม่รู้. จึงตรัสอธิบายโดยพิสดารทีละข้อ โดยใจความว่า ทรงทราบแล้วถึงเรื่องเหล่านี้ จึงทรงแนะนำให้เข้าถึงสุขเวทนาบ้าง ทุกข์เวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ตามความเหมาะสม.

   ๓. ทรงชี้แจงต่อไปว่า ไม่ตรัสสอนให้ภิกษุทุกรูปกระทำการด้วยความไม่ประมาท แต่ก็ไม่ตรัสสอนให้ภิกษุทุกรูปกระทำด้วยความประมาท . ภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะ ทำหน้าที่เสร็จแล้วเราย่อมสอนภิกษุเหล่านั้นให้ทำการด้วยความไม่ประมาทก็หาไม่ เพราะเธอทำการด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว เธอเป็นผู้ไม่ควรที่จะประมาท ส่วนภิกษุเหล่าใดยังต้องศึกษา ยังไม่บรรลุอหัตตผล เราย่อมสอนภิกษุเหล่านั้นให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะคิดว่า เธอเหล่านี้เสพเสนาสนะอันสมควร คบกัลยาณมิตรแล้ว ก็อาจทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ในปัจจุบัน. เราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านี้ จึงสอนให้ทำการด้วยความไม่ปราะมาท.

   ๔. ตรัสอธิบายถึงบุคคล ( ผู้ได้บรรลุคุณธรรม ) ๗ ประเภท พร้อมทั้งแจกรายละเอียด ดังต่อไปนี้:-
    (๑) อุภโตภาควิมุต   ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ( อรรถกถาอธิบายว่า พ้นทั้งแจกรูปกายด้วยอรูปกายด้วยอรูปสมาบัติพ้นจากนามกายด้วยมรรค) ได้แก่ผู้ ถูกต้อง วิโมกข์อันสงบระงับด้วยกาย ( คือนามกาย ) สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา.
    (๒) ปัญญาวิมุต   ผู้พ้นด้วยปัญญา ได้แก่ผู้   ไม่ได้ถูกต้อง   วิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา.

   ทั้งสองประเภทนี้ไม่ต้องทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทำการด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว ( คือเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ไม่เป็นไปได้ที่จะประมาทอีก ).
    (๓) กายสักขี  ผู้ถูกต้องผัสสะแห่งฌานก่อนแล้ว จึงทำให้แจ้งนิพพานในภายหลัง. ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย แต่สิ่งสิ้นอาสวะเพียงบางส่วน .
    (๔) ทิฏฐิปัตตะ  ผู้บรรลุเพราะเห็นธรรมด้วยปัญญา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับ ด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน  เห็นธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วอย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญา.
    (๕) สัทธาวิมุต   ผู้พ้นเพราะศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน   มีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต.
    (๖) ธัมมานุสารี  ผู้แล่นไปตามธรรมะ ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน เพ่งพอประมาณซึ่งธรรมะที่ตถาคตแสดงแล้วด้วยปัญญา.
    (๗) สัทธานุสารี  ผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย  มีศรัทธามีความรักในตถาคต.

   ตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท.

    (หมายเหตุ:  พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจที่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามควร ).

   ๕. ครั้นแล้วตรัสว่า พระองค์มิได้ตรัสว่า จะต้องอยู่ในอรหัตตผลได้ในชั้นแรกทีเดียว แต่จะตั้งอยู่ในอรหัตตผลได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ, การกระทำโดยลำดับ , การปฎิบัติโดยลำดับ. แล้วตรัสอธิบายว่า บุคคลมีศรัทธาแล้ว ก็เข้าไปหา นั่งใกล้ เงี่ยโสตสดับธรรม แล้วทรงจำไว้ พิจารณาเนื้อความ ธรรมะย่อมทนต่อการเพ่ง ครั้นแล้วก็เกิดฉันทะอุตสาหะ ความชั่งใจ การตั้งความเพียร ครั้นแล้วย่อมทำให้แจ้งบรมสัจจะด้วยนามกาย ย่อมแทงทะลุ เห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วยปัญญา. ถ้าไม่มาศรัทธาก็ไม่มีข้ออื่น ๆ มีการเข้าไปหาเป็นต้น. ท่านทั้งหลาย ( หมายถึงภิกษุพวกพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะที่ประพฤติไม่ดีเหล่านั้น ) ปฏิบัติพลาด ปฏิบัติผิดแล้ว โมฆบุรุษเหล่านี้หลีกห่างไปจากพระธรรมวินัยนี้ ( ไม่รู้ว่า ) ไกลสักเพียงไร.

   ๖. ตรัสต่อไปว่า มีคำเวยยากรณ์ ( คำร้อยแก้วหรือคำชี้แจง ) อันมีบท ๔ ( อริยสัจจ์ ๔ ) วิญญูบุรุษพึงรู้ได้ไม่นานด้วยปัญญา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมใดที่เรายกขึ้นแสดงแล้ว เราจักแสดงธรรมนั้นแก่ท่าน ท่านทั้งหลายจักรู้ธรรมะนั้นได้. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามว่า พวกตนกับผู้รู้ธรรมเป็นอย่างไรกัน. ตรัสตอบว่า ศาสดาใดหนักในอามิส อยู่อย่างคลุกคลีด้วยอามิส ศาสดานั้นย่อมไม่มีราคาที่จะพึงประเมินหรือต่อรอง ( สำนวนการค้า หมายความว่าไม่มีใครถามราคา ตั้งราคาหรือต่อรองราคา เพราะไม่มีราคาที่ควรสนใจ แล้วตรัสถึงพระตถาคตว่า ไม่ทรงคลุกคลีด้วยอามิสด้วยประการทั้งปวง สาวกผู้มีศรัทธา สอบสวน  ๑๐  แล้วปฏิบัติตาม
      ๑. ย่อมรู้สึกว่า พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา ตนเป็นสาวก
      ๒. ย่อมรู้สึกว่า ศาสนาของพระศาสดางอกงามมีโอชะ ( น่าเลื่อมใส )
      ๓. ย่อมรู้สึกพากเพียรเพื่อบรรลุจุดที่มุ่งหมายโดยไม่หยุดความเพียร
     ๔. ย่อมหวังผลได้อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คืออรหัตตผลในปัจจุบัน ถ้ามีกิเลสยังเหลือก็จะใช้ได้เป็นพระอนาคามี .

    จบวรรคที่ ๒ ขึ้นวรรคที่ ๓ ชื่อปริพพาชกวรรค มี ๑๐ สูตร

   

๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชก สูตรเล็ก

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ศาลาเรือนยอด ในป่าใหญ่ ใกล้กรุงเวสาลี เสด็จไปบิณฑบาตในเวลาเช้า แวะสนทนากับวัจฉโคตตปริพพาชก ณ อารามของปริพพาชกชื่อเอกปุณฑรีกะ วัจฉโคตตปริพพาชกทูลเชิญให้ประทับ ณ อาสนะ ตนเองถือเอาอาสนะต่ำกว่า แล้วทูลถามว่า มีผู้พูดกันว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู รู้สิ่งทั้งปวง เห็นสิ้งทั้งปวง มีญาณทัสสะปรากฏสมบูรณ์ทุกอิริยาบถดังนี้ จะเป็นการกล่าวตู่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่เป็นการกล่าวตู่.

   ๒. ตรัสต่อไปว่า ผู้กล่าวว่าพระสมณโคดมรู้วิชชา ๓ ก็กล่าวได้ เพราะพระองค์ทรงได้     ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติได้ )     ๒. จุตูปปาตญาณ ( ญาณเห็นความตายความเกิด หรือที่เรียกว่าทิพย์จักษุ )     ๓. อาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ).

   ๓. วัจฉโคตตปริพพาชกทูลถามอีกเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ คือ    ๑. คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มี    ๒. คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปจะเข้าถึงสวรรค์มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า มี   มิใช่หนึ่ง   มิใช่ร้อย   สองร้อย   สามร้อย   สี่ร้อย   หรือห้าร้อย   แต่โดยที่แท้ มีมากกว่านั้น ที่คฤหัสถ์ยังไม่ละกิเลสเครื่องร้อยรัดของคฤหัสถ์ ตายไปเข้าถึงสวรรค์ได้.    ๓. อาชีวก ( นักบวชนอกศาสนาประเภทหนึ่ง ) ตายไปจะทำที่สุดทุกข์ได้มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มี     ๔. อาชีวกตายไปจะเข้าถึงสวรรค์มีหรือไม่ ตรัสตอบว่า เท่าที่ทรงระลึกได้ ๙๐ กัปป์ ยังไม่ทรงเห็นอาชีวกเข้าถึงสวรรค์เลย เว้นแต่อาชีวกพวกหนึ่งที่เป็นกัมมวาที ( กล่าวว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ) และกิริยาวาที ( กล่าวว่าทำเป็นอันทำ ) ๑๑

   

๒๒. อัคคิวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชกผู้ฟังข้อเปรียบเทียบเรื่องไฟ

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . วัจฉโคตตปริพพาชกเข้าไปเฝ้าทูลถามถึงทิฏฐิ ๑๐ มีโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง เป็นต้น ว่าทรงเห็นอย่างนั้นหรือไม่ ตรัสตอบปฏิเสธว่า มิได้ทรงเห็นอย่างนั้น, วัจฉโคตตปริพพาชกจึงทูลถามว่า ทรงเห็นโทษอะไรจึงไม่ทรงเข้าไปติดทิฏฐิเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง. ตรัสตอบว่า เป็นเหมือนป่า เหมือนเครื่องผูกมัด เป็นต้น ซึ่งก่อทุกข์ให้ ทั้งไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัดเพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน. ตถามคตนำออกซึ่งคำว่า ทิฏฐิ เพราะตถาคตเห็นความเกิดขึ้น ความดับไปของขันธ์ ๕ ( มีรูป เป็นต้น) จึงหลุดพ้นอย่างไม่ถือมั่น เพราะสิ้นความยึดถือ สิ้นความคิดว่าเรา ความคิดของเราและกิเลสประเภทแฝงตัว คือความถือตัว เพราะคลายกำหนัด ดับได้ สละได้ สลัดได้ ( ซึ่งกิเลสเหล่านั้น ).

   ๒. วัจฉโคตตปรินิพพาชกทูลถามเป็นข้อ ๆ ว่า    ๑. ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้ จะเกิดในที่ไหน. ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ เกิด ”    ๒. ถ้าอย่างนั้น “ ไม่เกิด ” ใช่หรือไม่. ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ ไม่เกิด ” .    ๓. ถ้าอย่างนั้น “ เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย ” ใช่หรือไม่ ตรัสตอบว่า ไม่มีคำว่า “ เกิดด้วย ไม่เกิดด้วย ”     ๔. ถ้าอย่างนั้น “ เกิดก็ไม่ใช่ ไม่เกิดก็ไม่ใช่ ” ใช่หรือไม่. ตรัสตอบปฏิเสธอีก.

   ๓. เมื่อทูลถามถึงเหตุผลที่ตรัสตอบปฏิเสธ และแสดงความรู้สึกครั้งแรกก็เลื่อมใส แต่บัดนี้หมดความเลื่อมใสเสียแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมะนี้ลึกซึ่ง ยากที่ท่านผู้มีความเห็นอย่างอื่น มีความพอใจอย่างอื่น มีความเพียรอย่างอื่น มีความเพียรอย่างอื่น มีอาจารย์อื่นจะรู้ได้ เราขอถามให้ท่านตอบ คือ :   ๑. ถ้าไฟลุกโพลงอยู่เบื้องหน้าท่าน ท่านรู้หรือไม่. ทูลตอบว่า รู้.    ๒. ไฟลุกโพลงขึ้นเพราะอาศัยอะไร. ทูลตอบว่า เพราะอาศัยเชื้อหญ้าและไม้    ๓. ถ้าไฟดับเบื้องหน้าท่าน ท่านรู้หรือไม่. ทูลตอบว่า รู้.    ๔. ไฟไปทางทิศไหน ทูลตอบว่า ไม่มีคำตอบ เพราะไฟนั้นลุกโพลงขึ้นเพราะอาศัยเชื้อ เพราะหมดเชื้อและไม่เติมเชื้ออื่นอีก ก็ไม่มี “ อาหาร ” นับได้ว่า “ ดับแล้ว ”. จึงตรัสว่า ตถาคตก็ฉันนั้น ละขันธ์ ๕ ทำไม่ให้มีการเกิดอีกแล้ว ก็พ้นจากการนับว่าเป็นขันธ์ ๕ เป็นผู้ลึกซึ่ง นับไม่ได้ หยั่งไม่ได้ เปรียบเหมือนมหาสมุทรไม่มีคำว่า เกิดหรือไม่เกิดเป็นต้น.

   วัจฉโคตตปริพพาชกกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า มีแก่นสาร และแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
สูตรว่าด้วยวัจฉโคตตปริพพาชก สูตรใหญ่

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ . วัจฉโคตตปริพพาชกเข้าไปเฝ้าขอให้ทรงแสดงกุศลและอกุศลโดยย่อ ซึ่งได้ตรัสแสดงดังนี้:-
    (๑) ธรรมอันเป็นอกุศล ๓ คือความโลภ, ความคิดประทุษร้าย, ความหลง.
   (๒) ธรรมอันเป็นกุศล ๓ อย่าง คือความไม่โลภ, ความไม่คิดประทุษร้าย, ความไม่หลง.
   (๓) ธรรมอันเป็นอกุศล ๑๐ อย่าง คือฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์ , ประพฤติผิดในกาม, พูดปุด , พูดส่อเสียด ( ยุให้เขาแตกร้าวกัน ), พูดคำหยาบ , พูดเพ้อเจ้อ, อยากได้ของเขา, ปองร้ายเขา เห็นผิด ( จากคลองธรรม ).
   (๔) ธรรมอันเป็นกุศล ๑๐ อย่าง คือที่ตรงกันข้ามกับอกุศล ๑๐ อย่าง.
    ภิกษุละตัณหาได้เด็ดขาด ย่อมเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ.

   ๒. ปริพพาชกทูลถามว่า ภิกษุสาวกของพระโคดมมีสักรูปหนึ่งหรือไม่ ที่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ( เป็นพระอรหันต์ ). ตรัสตอบว่า มีมิใช่น้อย กว่า ๕๐๐ รูป. เมื่อทูลถามถึงนางภิกษุณีผู้เป็นสาวิกา ที่เป็นพระอรหันต์เช่นนั้น ก็ตรัสตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ เช่นกัน. ต่อจากนั้นทูลถามถึงอุบาสกอุบาสิกาผู้ละสัญโญชน์ ๕ ได้ ( เป็นพระอนาคามี ) และผู้ปราศจากความสงสัย ไม่ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นปัจจัยอยู่ในสัตถุศาสนา ( เป็นพระโสดาบัน ) ว่ามีสักผู้หนึ่งหรือไม่. ตรัสตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ .

   ๓. ปริพพาชกทูลว่า ถ้าได้บรรลุธรรมนั้นเพียงพระสมณโคดม แต่ยังขาดสาวก สาวิกา ที่เป็น ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ได้บรรลุธรรมนั้น พรหมจรรย์ก็ยังชื่อว่าไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ( ที่ยังขาด ) แต่นี่บรรลุธรรมนั้นทุกฝ่ายแล้ว พรหมจรรย์จึงชื่อว่าบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น แล้วทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต พร้อมทั้งขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อทราบว่านักบวชศาสนาอื่นจะต้องอบรมก่อนถึง ๔ เดือน ก็แสดงความพอใจจะอบรมถึง ๔ ปี. ๑๒

   ๔. เมื่ออุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน ภิกษุวัจฉโคตตก็เข้าไปเฝ้ากราบทูลว่า ท่านได้บรรลุที่พึงบรรลุด้วยญาณ ด้วยวิชชาของพระเสขะหมดสิ้นแล้ว ( เป็นพระอริยบุคคลผ่านมาทุกชั้นแล้ว เพียงแต่ยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ) ขอให้ทรงแสดงธรรมให้ยิ่งขึ้นไป จึงทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือสมถะ ( การทำใจให้สงบ ) และวิปัสสนา ( การเห็นแจ่มแจ้ง ) และตรัสว่า ธรรม ๒ อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อแทงทะลุธาตุเป็นอเนก.

   ๕. ครั้นแล้วทรงแสดงว่า ภิกษุวัจฉโคตตปรารถนาจะทำอะไร ก็ทำได้ในความสามารถ ทาง    ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธ์ได้    ๒. ทิพยโสต หูทิพย์    ๓. เจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้ใจของผู้อื่น )     ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณระลึกชาติได้ )     ๕. จุตูปปาตญาณ ( ญาณรู้ความตายความเกิด ) หรือทิพย์จักษุ ( ตาทิพย์ )    ๖. อาสวะขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ). ภิกษุวัจฉโคตตรกราบลาหลีกไปบำเพ็ญเพียร ในไม่ช้าก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. เมื่อภิกษุทั้งหลายจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ท่านจึงฝากไปกราบมนัสการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสสรรเสริญให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า ท่านเป็นผู้มีวิชชา ๓ มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก.

   

๒๔. ทีฆนขสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกชื่อทีฑนขะ

   ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ถ่ำสูกรขาตา ( ถ้ำสุกรขุด ) เขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์. ปริพพาชก ชื่อทีฆนขะ ( ไว้เล็บยาว ) มาเฝ้า แสดงความเห็นว่า ทุกอย่างไม่ควรแก่ตน ๑๓  ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นนั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านด้วย. ทูลต่อไปว่า ตนชอบใจความเห็นที่ว่า สิ่งนั้นเหมือนกันหมด ๑๔  ตรัสตอบว่า คนที่พูดอย่างนี้ ยังไม่ละทิฏฐินั้น ซ้ำยังไปถือทิฏฐิอื่นอีกด้วย มีอยู่มาก แต่คนที่พูดอย่างนี้แล้วละทิฏฐินั้นไม่ถือทิฏฐิอื่น มีน้อยมาก.

   ๒. ครั้นแล้วตรัสแสดงถึงสมณพราหมณ์บางพวกที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตนบ้าง ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตนบ้าง เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควรบ้าง. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งควรแก่ตน ใกล้ไปทางยินดี ยึดมั่นยึดถือ. ฝ่ายที่เห็นว่า ทุกสิ่งไม่ควรแก่ตน. ใกล้ไปในทางไม่ยินดี ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ . ปรพพาชกจึงกล่าวว่า พระสมณโคดมยกย่องความเห็นของตน. พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า ฝ่ายที่เห็นว่า บางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ก็ใกล้ไปทางยินดีบ้าง ไม่ยินดีบ้าง เป็นต้น. แล้วตรัสต่อไปว่า วิญญูชนย่อมพิจารณาเห็นว่า การยึดถือทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมทำให้ทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เบียดเบียนกัน จึงละทิฏฐิเหล่านั้น และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น.

   ๓. ตรัสสอนว่า ควรพิจารณาเห็นกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นต้น จนถึงไม่ใช่ตัวตน. เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็จะละความพอใจในกายเสียได้.

   ๔. ครั้นแล้วตรัสเรื่องเวทนา   ๓ คือ   สุข   ทุกข์   ไม่ทุกข์ไม่สุข   และชี้ให้เห็นความไม่เที่ยง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เป็นต้น ของเวทนาเหล่านั้น. เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ อริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายในเวทนาทั้งสามและเมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด และหลุดพ้น รู้ว่าหลุดพ้นแล้ว สิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำหน้าที่เสร็จแล้ว ฯ ล ฯ . ผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้ ย่อมไม่วิวาทกับใคร ๆ . สิ่งใดที่เขาพูดกันในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดถือ.

   ๕. พระสารีบุตรนั่งพัดอยู่เบื้องพระปฤษฏางค์พระผู้มีพระภาค มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ( เป็นพระอรหันต์ ) ส่วนปริพพาชกชื่อทีฆนขะ ได้ดวงตาเห็นธรรม ( เป็นโสดาบันบุคคล ) เมื่อเห็นธรรมแล้ว ปริพพาชกชื่อทีฆนขะกราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.


๑. พึงสังเกตว่า ในพระสูตนนี้ ทรงใช้คำว่า ปรินิพฺพายติ ( สงบระงับ ) แก่ม้าที่หมดพยศ ทั้ง ๆ ที่คำนี้ใช้ได้ในความหมายสูงถึงปรินิพพาน

๒. ภาษาบาลีใช้คำว่า สรสงฺปฺปา อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่วิตก ความตรึก ( ซึ่งคงเป็นพวกอกุศล หรือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก )

๓. เพื่อไม่ละเมิดสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคปาจิตติยกัณฑ์ ดูที่พระวินัยเล่ม ๒ ในสิกขาบทที่ ๖ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

๔. ได้แก่พระอรหันต์ ๕ ประเภท คือ ๔ ประเภทที่ออกจากอรูปสมาบัติ ๔ แต่ละข้อ แล้วพิจารณาสังขารบรรลุอรหันตผล กับพระอนาคามีที่บรรลุอรหัตตผล จึงรวมเป็น ๕ ประเภท

๕. ได้แก่พระอรหันต์ ๕ ประเภท คือ สุขวิปัสสก๑ ผู้ออกจากฌาน ๔ แล้วได้บรรลุอรหัตตผลอีก ๔ จึงรวมเป็น ๕ ประเภท

๖. ได้แก่ผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตมรรค รวม ๖ ประเภท

๗. ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เช่นเดียวกับกายสักขี

๘. ได้แก่พระอริยบุคคล ๖ ประเภท เช่นเดียวกับกายสักขี

๙. ธัมมานุสารี และสัทธานุสารี ( ข้อ ๖ – ๗ ) ได้แก่พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค

๑๐. คำว่า สอบสวนนี้ แสดงว่าทางพระพุทธศาสนาไม่นิยมให้มีศรัทธาอย่างงมงาย นิยมให้สอบสวนหาความจริงก่อน

๑๑. ข้อนี้ว่าโดยเหตุผลทางสามัญสำนึก ก็พอจะเห็นได้ว่า พวกที่สอนให้คนอื่นไม่สนใจในความดีความชั่ว เพราะถือว่าไม่เป็นอันทำและไม่ให้ผลดีชั่ว ก็เท่ากับชักชวนในทางผิด ทำให้เสียศีลธรรม คนเช่นนี้จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้อย่างไร

๑๒. ในกรณีที่ทรงพิจารณาเห็นเหมาะสมเป็นพิเศษเฉพาะรายก็ทรงยกเว้นให้ไม่ต้องอบรม ทั้งนี้เป็นไปตามจริตอัธยาศัยของบุคคลเป็นราย ๆ ไป

๑๓. เป็นการพูดกระทบว่า แม้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ควรแก่เขา

๑๔. เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบเอาจำนน ก็เลี่ยงไปทางอื่นว่า อะไร ๆ ก็แค่นั้นแหละ หรือราคาเดียวกัน เพื่อจะชี้ว่า อย่านึกว่าใครสูงต่ำกว่าใคร ปริพพาชกผู้นี้โกรธเคืองว่า พระผู้มีพระภาคจูงเอาพระสารีบุตร ซึ่งเป็นลุงของตนมาบวช

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ