บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

              ๕. อเจลกวรรค วรรคว่าด้วยชีเปลือย เป็นวรรคที่ ๕ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามยื่นอาหารด้วยให้ชีเปลือยและนักบวชอื่น ๆ)

              ขนมเกิดขึ้นแก่สงฆ์ (เหลือเฟือ) พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดให้พระอานนท์แจกเป็นทานแก่คนอดอยาก พระอานนท์จึงแจก มีนักบวชนอกศาสนาที่เป็นผู้หญิงมารับแจกด้วย เผอิญให้เกินไป ๑ ก้อน แก่นักบวชหญิงนั้น ด้วยเข้าใจผิด พวกเขาเองจึงล้อกันว่า พระอานนท์เป็นชู้ของหญิงนั้น. และภิกษุรูปหนึ่งฉันเสร็จก็เอาข้าวสุกคลุกเนยใสให้แก่อาชีวกผู้หนึ่ง. มีผู้เห็นว่าไม่เหมาะสม (เพราะการยื่นให้ด้วยมือ แสดงคล้ายเป็นศิษย์ หรือคฤหัสถ์ประเคนของพระ จะกลายเป็นเหยียดตัวเองลงเป็นคฤหัสถ์). พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามให้อาหารแก่ชีเปลือย แก่ปริพพาชก แก่ปริพพาชิกา ด้วยมือของตน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๒ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร ชวนภิกษุรูปหนึ่งไปเที่ยวบิณฑบาตด้วยกัน แล้วไล่เธอกลับ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๓ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร เข้าไปในสกุลที่มีสามีภริยาเขานั่งอยู่ด้วยกัน ได้ภิกษาแล้ว สามีไล่ให้กลับ แต่ภริยานิมนต์ให้นั่งอยู่ก่อน จึงนั่งอยู่ เขาไล่ถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่กลับ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุเข้าสู่สกุลที่มีสามีภริยาอยู่ด้วยกัน ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๔ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำลังกับมาตุคาม)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร ไปสู่เรือนสหาย นั่งในที่ลับมีที่กำบังกับภริยาของสหายนั้น เขาติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำลังกับมาตุคาม (ผู้หญิง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๕ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร ไปสู่เรือนสหาย นั่งในที่ลับ (หู) กับภริยาของสหายนั้นสองต่อสอง เขาติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๖ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร รับนิมนต์ไปฉันในที่แห่งหนึ่งแล้ว ไปสู่สกุลอื่นเสียก่อน ทำให้ภิกษุอื่น และเจ้าของบ้านที่นิมนต์ไว้ต้องคอย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำเช่นนั้น ภายหลังมีเหตุเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมหลายครั้ง รวมความในสิกขาบทนี้ว่า ภิกษุรับนิมนต์แล้ว ไม่บอกลาภิกษุที่มีอยู่ (ในวัด) เที่ยวไปในสกุลทั้งหลายก่อนฉันก็ดี ภายหลังฉันก็ดี เว้นแต่สมัย คือคราวถวายจีวร และคราวทำจีวร ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๗ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้)

              มหานาม ศากยะ ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์ ให้ขอเภสัชได้ตลอด ๔ เดือน แล้วปวารณาต่ออีก ๔ เดือน แล้วปวารณาต่อจนตลอดชีวิต ภิกษุฉัพพัคคีย์ขอเนยใส ในขณะที่คนใช้ของมหานาม ศากยะ ไปทำงาน แม้จะถูกขอร้องให้คอยก็ไม่ยอม กลับพูดว่า ปวารณาแล้วไม่ให้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไม่เป็นไข้ พึงขอปัจจัยสำหรับภิกษุไข้ที่เขาปวารณา ๔ เดือนได้ ถ้าขอเกินกำหนดนั้น เว้นไว้แต่เขาปวารณาอีก และปวารณาตลอดชีวิต ต้องปาจิตตีย์. (ไม่เป็นไข้ขอไม่ได้ แสร้งขอในเมื่อไม่มีความจำเป็นก็ไม่ได้).

สิกขาบทที่ ๘ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปดูกองทัพที่ยกไป พระเจ้าปเสนทิทอดพระเนตรเห็นก็ทรงทักท้วง คนทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุไปดูกองทัพที่เขายกไป ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงอนุญาตให้ไปในกองทัพได้เมื่อมีเหตุสมควร.

สิกขาบทที่ ๙ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นไปในกองทัพ และพักอยู่เกิน ๓ คืน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เมื่อมีเหตุจำเป็นจะต้องไปในกองทัพ ภิกษุจะพักอยู่ในกองทัพได้ไม่เกิน ๓ ราตรี ถ้าอยู่เกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๑๐ อเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามดูเขารบกัน เป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์มีเหตุจำเป็นต้องไปพักในกองทัพ ๒-๓ ราตรี เธอได้ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และดูทัพที่จัดเป็นกระบวนเสร็จแล้ว. ภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน ๖ รูป ถูกลูกเกาทัณฑ์ (เพราะไปดูเขารบกัน) เป็นที่เยาะเย้ยติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุที่พักอยู่ในกองทัพ ๒-๓ ราตรี ไปดูการรบ การตรวจพล การจัดทัพ และทัพที่จัดเป็นขบวนเสร็จแล้ว ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.


๑. วางให้ไม่เป็นอาบัติ
๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตีความไปอย่างอื่นว่า สกุลที่เขากำลังบริโภคอาหารกันอยู่

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ