บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

              ๙. รตนวรรค วรรคว่าด้วยนางแก้ว (พระราชเทวี) เป็นวรรคที่ ๙ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา)

              พระเจ้าปเสนทิโกศลขอให้พระพุทธเจ้าส่งภิกษุไปสอนธรรมแก่พระองค์ พระผู้มีพระภาคจึงส่งพระอานนท์ไปสอนเป็นประจำ เช้าวันหนึ่งพระอานนท์เข้าไปยังตำหนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระนางมัลลิกาต้องรีบออกจากตำหนักนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า ภิกษุมิได้รับนัดหมายก้าวล่วงธรณีเข้าไป (ในห้อง) ของพระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษก ในเมื่อพระราชายังไม่เสด็จออก พระมเหสียังไม่ออก ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๒ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่)

              ภิกษุรูปหนึ่งเก็บถุงเงินของพราหมณ์ผู้หนึ่งด้วยปรารถนาดี เมื่อพราหมณ์มาถามก็คืนให้ไป พราหมณ์แกล้งกล่าวว่าเงินในถุงของตนมีมากกว่านั้น (เพื่อไม่ต้องให้รางวัล) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเก็บเองหรือใช้ผู้อื่นให้เก็บซึ่งรตนะ (แก้วแหวนเงินทอง) หรือสิ่งของสมมติว่าเป็นรตนะ ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ของตกในวัดหรือในที่อยู่ ควรเก็บเพื่อจะคืนเจ้าของไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติชอบ.

สิกขาบทที่ ๓ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(จะเข้าบ้านในเวลาวิการ ต้องบอกลาภิกษุก่อน)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล (เที่ยงแล้วไป) ชวนชาวบ้านพูดเรื่องไร้สาระ เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเข้าสู่บ้านในเวลาวิกาล ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ภายหลังทรงผ่อนผันให้เข้าไปในบ้านในเวลาวิกาลได้ เมื่อบอกลาภิกษุที่มีอยู่ในวัดหรือในเมื่อมีกิจรีบด่วน.

สิกขาบทที่ ๔ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก, งา, เขาสัตว์)

              ช่างกลึงงาช้างปวารณาให้ภิกษุของกล่องเข็มได้ ภิกษุทั้งหลายก็ขอกันเรื่อย มีกล่องเล็กขอกล่องใหญ่ มีกล่องใหญ่ขอกล่องเล็ก จนช่างไม่เป็นอันทำขาย. เขาติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำกล่องเข็มที่ทำด้วยกระดูก, งาช้าง, เขาสัตว์ ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ต่อยทิ้ง (ก่อนจึงแสดงอาบัติตก).

สิกขาบทที่ ๕ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำเตียงตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ)

              พระอุปนนทะ ศากยบุตร นอนบนเตียงสูง พระผู้มีพระภาคเสด็จตรวจวิหารพบเข้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำเตียงหรือตั่งใหม่ พึงทำให้มีเท้าเพียง ๘ นิ้ว ด้วยนิ้วสุคต เว้นไว้แต่แม่แคร่เบื้องล่าง ถ้าทำให้มีเท้าเกินกำหนด ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดทิ้ง (จึงแสดงอาบัติตก).

สิกขาบทที่ ๖ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้ทำเตียงตั่งหุ้มด้วยนุ่น)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ทำเตียงบ้าง ตั่งบ้าง หุ้มด้วยนุ่น เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำเตียงหรือตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้รื้อเสีย (จึงแสดงอาบัติตก).

สิกขาบทที่ ๗ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปูนั่งไม่มีประมาณ ผ้าย้อยไปข้างหน้าข้างหลังของเตียงแลตั่ง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๒ คืบ กว้างคืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก) ภายหลังทรงอนุญาตชายผ้าปูนั่งอีก ๑ คืบ

สิกขาบทที่ ๘ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปิดฝีไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะทำให้ผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก).

สิกขาบทที่ ๙ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก).

สิกขาบทที่ ๑๐ รตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ)

              พระนนทะ พุทธอนุชา ใช้จีวรมีขนาดเท่าจีวรพระสุคต ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเดินมาแต่ไกล ก็ลุกขึ้นต้อนรับ ด้วยนึกว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมา เมื่อเข้าใกล้เห็นว่ามิใช่ จึงติเตียนว่าใช้จีวรขนาดเท่าของพระสุคตพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำจีวรให้มีขนาดเท่าจีวรสุคตหรือยิ่งกว่า ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย. ประมาณแห่งจีวรสุคต คือ ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ.


๑. คำว่า นุ่น หมายถึงนุ่นหรือสำลีจากไม้ยืนต้น, ไม้เลื้อยและหญ้า. ในวินัยอนุญาตให้ใช้ทำหมอนได้

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ