บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

ขยายความ

๑. นิสสัคคิยกัณฑ์

(ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบทที่ต้องสละสิ่งของ)

๑. จีรวรรค วรรคว่าด้วยจีวร เป็นวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามเก็บจีวรที่เกินจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ทรงอนุญาตให้ภิกษุมีจีวรได้เพียง ๓ ผืน (ผ้านุ่ง, ผ้าห่ม, ผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า สังฆาฏิ). ภิกษุฉัพพัคคีย์ (ภิกษุผู้รวมกันเป็นคณะ ๖ รูป) เข้าบ้าน อยู่ในวัด ลงสู่ที่อาบน้ำด้วยไตรจีวรต่างสำรับกัน ภิกษุทั้งหลายติเตียน ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเก็บอติเรกจีวร (จีวรที่เกินจำเป็น คือเกินจำนวนที่กำหนด) ถ้าล่วงละเมิดต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์).

              ต่อมามีเหตุเกิดขึ้น พระอานนท์ใคร่จะเก็บผ้าไว้ถวายพระสาริบุตร พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มเติม ให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน.

สิกขาบทที่ ๒ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลาย เอาผ้าสังฆาฏิ (ผ้าห่มซ้อนข้างนอก) ฝากภิกษุรูปอื่นไว้ จาริกไปสู่ชนบทด้วยสบง (ผ้านุ่ง) กับจีวร (ผ้าห่ม) รวม ๒ ผืนเท่านั้น. ผ้าที่ฝากไว้นานเปรอะเปื้อน ภิกษุผู้รับฝากจึงนำออกตาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงติเตียน และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอยู่ปราศจากไตรจึวรแม้คืนหนึ่ง ถ้าล่วงละเมิด ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์.

              ภายหลังมีเรื่องเกิดขึ้น ภิกษุเป็นไข้ ไม่สามารถนำจึวรไปได้ทั้งสามผืน จึงทรงอนุญาตให้สงฆ์สวดสมมติแก่ภิกษุเช่นนั้นเป็นกรณีพิเศษ และไม่ปรับอาบัติ.

สิกขาบทที่ ๓ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามเก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม สมัยนั้นอาลจีวร (ผ้าที่เกิดขึ้นนอกกาลที่อนุญาตให้เก็บไว้ได้เกิน ๑๐ วัน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่ง แต่ไมพอทำจีวร เธอคลี่ผ้าออก (เอามือ) รีดให้เรียบอยู่เรื่อย ๆ. พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามทราบความแล้ว จึงทรงอนุญาตให้เก็บผ้านอกกาลไว้ได้ ถ้ามีหวังว่าจะได้ทำจีวร. ปรากฏว่าภิษุบางรูปเก็บไว้เกิน ๑ เดือน จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเก็บผ้านอกกาลไว้เกิน ๑ เดือน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๔ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามใช้นางภิกษุณีซักผ้า)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. อดีตภริยาของพระอุทายีเข้ามาบวชเป็นภิกษุณี รับอาสาซักผ้าของพระอุทายี ซึ่งมีน้ำอสุจิเปรอะใหม่ ๆ นางได้นำน้ำอสุจินั้นส่วนหนึ่งเข้าปาก ส่วนหนึ่งใส่ไปในองค์กำเนิด เกิดตั้งครรภ์ขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ซัก, ย้อม, หรือทุบ จีวรเก่า (คือที่นุ่งหรือห่มแล้วแม้คราวเดียว) ทรงปรับอาบัตนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๕ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามรับจีวรจากมือของนางภิกษุณี)

              พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ พระอุทายีแค่นได้ขอจีวรนางอุบลวัณณา ซึ่งมีผ้าอยู่จำกัด นางจึงให้ผ้านุ่ง (อัตรวาสก) ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามรับจีวรจากมือนางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด. ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมมีเงื่อนไข ไม่ปรับอาบัติในกรณีที่เป็นการแลกเปลี่ยนกัน.

สิกขาบทที่ ๖ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามขอจีวรต่อคฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ)

              บุตรเศรษฐีเลื่อมใสพระอุปนนทะ ศากยบุตร จึงปวารณาให้ขออะไรก็ได้ แต่เธอขอผ้า (ห่ม) จากตัวเขา แม้เขาจะขอไปเอาที่บ้านมาให้ก็ไม่ยอม พระศาสดาทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามขอจีวรต่อคฤหัสถ์ชายหญิงที่มิใช่ญาติ ถ้าขอได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติมีเงื่อนไข ให้ขอได้ในเวลาจีวรถูกโจรชิงเอาไป หรือจีวรหาย.

สิกขาบทที่ ๗ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามรับจีวรเกินกำหนด เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖ รูป) เที่ยวขอจีวรให้กลุ่มภิกษุที่มีจีวรถูกโจรชิงไป หรือจีวรหาย ทั้ง ๆ ที่ภิกษุเหล่านั้นมีผู้ถวายจีวรแล้ว เป็นการขอหรือเรี่ยไรแบบไม่รู้จักประมาณ ได้ผ้ามากจนถูกหาว่าจะขายผ้าหรืออย่างไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ในกรณีที่ผ้าถูกโจรชิงหรือหายนั้น ถ้าคฤหัสถ์ปวารณาให้รับจีวรมากผืน ก็รับได้เพียงผ้านุ่งกับผ้าห่มเท่านั้น รับเกินกว่านั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๘ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามพูดให้เขาซื้อจีวรที่ดี ๆ กว่าที่เขากำหนดไว้เดิมถวาย)

              ชายผู้หนึ่งพูดกับภริยาว่า จะถวายผ้าแก่พระอุปนนทะ เธอทราบจึงไปพูดให้เขาถวายจีวรอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าถวายจีวรอย่างที่เธอไม่ใช้ เธอก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เขางติเตียนว่ามักมาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามกำหนดให้คฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ได้ปวารณาไว้ก่อน ให้ซื้อจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ถวายตน ด้วยหมายจะได้ของดี ๆ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๙ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามไปพูดให้เขารวมกันซื้อจีวรที่ดี ๆ ถวาย)

              ชายสองคนพูดกันว่า ต่างคนต่างจะซื้อผ้าคนละผืนถวายพระอุปนนทะ เธอรู้จึงไปแนะนำให้เขารวมทุนกันซื้อผ้าชนิดนั้นชนิดนี้ (ที่ดี ๆ) เขาพากันติเตียนว่ามักมาก ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามเข้าไปขอให้คฤหัสถ์ที่มิใช่ญาติ มิได้ปวารณาไว้ก่อน เขาตั้งใจ จะต่างคนต่างซื้อจีวรถวายเธอ แต่เธอกลับไปขอให้เขารวมกันซื้อจีวรอย่างนั้นอย่างนี้ โดยมุ่งให้ได้ผ้าดี ๆ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๑๐ จีวรวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามทวงจีวรเอาแก่คนที่รับฝากผู้อื่น เพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง)

              มหาอำมาตย์ผู้อุปฐากพระอุปนนทะ ศากยบุตร ใช้ทูตให้นำเงินค่าซื้อจีวรไปถวายพระอุปนนทะ ท่านตอบว่าท่านรับเงินไม่ได้ รับได้แต่จีวรที่ควรโดยกาล เขาจึงถามหาไวยาวัจจกร (ผู้ทำการขวนขวายผู้รับใช้) ท่านจึงแสดงอุบาสกคนหนึ่ง ว่าเป็นไวยาวัจจกรของภิกษุทั้งหลาย เขาจึงมอบเงินแก่ไวยาวัจจกรแล้วแจ้งให้ท่านทราบ ท่านก็ไม่พูดอะไรกับไวยาวัจจกร แม้จะได้รับคำเตือนจากมหาอำมาตย์ซึ่งส่งทูตมา ขอให้ใช้ผ้านั้นเป็นครั้งที่ ๒ ก็ไม่พูดอะไรกับไวยาวัจจกร จนกระทั่งได้รับคำเตือนเป็นครั้งที่ ๓ ขอให้ใช้ผ้านั้น จึงไปเร่งเร้าเอากับไวยาวัจจกรผู้กำลังมีธุระ จะต้องเข้าประชุมสภานิคม ซึ่งมีกติกาว่า ใครไปช้าจะต้องถูกปรับ ๕๐ (กหาปณะ) แม้เขาจะแจ้งให้ทราบกติกา ก็ไม่ฟัง คงเร่งเราเอาจนเขาต้องไปซื้อผ้ามาให้ และไปถูกปรับเพราะเข้าประชุมช้า. คนทั้งหลายจึงติเตียนว่าทำให้เขาต้องเสียค่าปรับ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ติเตียนแล้ว บัญญัติสิกขาบท ความว่า ถ้าเขาส่งทูตมาถวายค่าซื้อจีวร และเธอแสดงไวยาวัจจกรแล้ว เธอจะไปทวงจีวรเอากับไวยาวัจจกรได้ไม่เกิน ๓ ครั้ง ไปยืนนิ่ง ๆ ให้เขาเห็นไม่เกิน ๖ ครั้ง ถ้าทวงเกิน ๓ ครั้ง หรือไปยืนเกิน ๖ ครั้ง ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์.


๑. ถ้าจำพรรษาครบ ๓ เดือน เก็บได้ ๑ เดือน ถ้าได้กราลกฐิน เก็บไว้ได้ต่อไปอีก ๔ เดือน รวมเป็น ๕ เดือน
๒. คำว่า มิใช่ญาติ คือไม่เกี่ยวเนื่องทางสายโลหิต ทางสายมารดา หรือบิดา ส่วนเขย หรือสะใภ้ ตลอดจนผู้เคยเป็นสามี ภริยา ก็ไม่นับเป็นญาติ. เพราะในตัวอย่างนี้ ผู้ก่อเหตุ คือผู้เคยเป็นสามีภริยากัน

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ