บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

ปาจิตติยกัณฑ์ (ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)

              กัณฑ์นี้ มี ๙๒ สิกขาบท แบ่งออกเป็น ๙ วรรค ๆ ละ ๑๐ สิกขาบท เว้นแต่วรรคที่ ๘ มี ๑๒ สิกขาบท.

๑. มุสาวาทวรรค วรรคว่าด้วยการพูดปด เป็นวรรคที่ ๑ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามพูดปด)

              พระหัตถกะ ศากยุบุตร สนทนากับพวกเดียรถีย์ ปฏิเสธแล้วกลับรับ รับแล้วกลับปฏิเสธ กล้าพูดปดทั้ง ๆ รู้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดปดทั้ง ๆ รู้.

สิกขาบทที่ ๒ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามด่า)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับภิกษุผู้มีศีลอันเป็นที่รักอื่น ๆ แล้วด่า แช่ง ด้วยคำด่า ๑๐ ประการ คือถ้อยคำที่พากพิงถึงชาติ (กำเนิด), ชื่อ, โคตร, การงาน, ศิลปะ, อาพาธ, เพศ, กิเลส, อาบัติ, และคำด่าที่เลว พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ด่าภิกษุอื่น.

สิกขาบทที่ ๓ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามพูดส่อเสียด)

              ภิกษุฉัพพีคคีย์พูดส่อเสียดภิกษุสองฝ่ายซึ่งทะเลาะกัน ฟังความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น ฟังความข้างโน้นไปบอกข้างนี้เพื่อให้แตกร้าวกัน ทำให้ทะเลาะกันยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดส่อเสียดภิกษุอื่น.

สิกขาบทที่ ๔ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์สอนอุบาสกทั้งหลายให้กล่าวธรรม (พร้อมกัน) โดยบท ทำให้อุบาสกเหล่านั้น ขาดความเคารพในภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้สอนธรรมแก่อนุปสัมบัน (คือผู้มิได้เป็นภิกษุหรือภิกษุณี) พร้อมกันโดยบท.

สิกขาบทที่ ๕ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน ๓ คืน)

              อุบาสกไปฟังธรรม นอนค้างที่วัด ในหอประชุม ภิกษุบวชใหม่ก็นอนร่วมกับเขาด้วย เป็นผู้ไม่มีสติสัมปัญญะ นอนเปลือยกาย ละเมอ กรน เป็นที่ติเตียนของอุบาสกเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบัน (ผู้มิใช่ภิกษุ). ต่อมาทรงผ่อนผันให้นอนร่วมกันได้ไม่เกิน ๓ คืน.

สิกขาบทที่ ๖ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง)

              พระอนุรุทธ์เดินทางในโกศลชนบท จะไปสู่กรุงสาวัตถี ขออาศัยในอาคารพักแรมของหญิงคนหนึ่ง ต่อมามีคนเดินทางมาขออาศัยในโรงพักนั้นอีก หญิงเจ้าของบ้านพอใจในรูปโฉมของพระอนุรุทธ์ จึงจัดให้พักใหม่ห้องเดียวกับนาง แล้วยั่วยวนท่านต่าง ๆ ท่านกลับเฉย และแสดงธรรมให้ฟัง จนหญิงนั้นปฏิญญา ตนถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับมาตุคาม (คือผู้หญิง).

สิกขาบทที่ ๗ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง)

              พระอุทายีแสดงธรรมกระซิบที่หูของสตรี ทำให้ผู้อื่นสงสัย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามแสดงธรรมแก่สตรี ภายหลังมีเหตุเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า ภิกษุแสดงธรรมแก่มาตุคาม (สตรี) เกิน ๖ คำ ต้องปาจิตตีย์ เว้นแต่มีชายผู้รู้เดียงสาอยู่.

สิกขาบทที่ ๘ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช)

              พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปาราชิก สิกขาบทที่ ๔ คืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน แต่คราวนี้ ทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้บอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช (มิได้เป็นภิกษุ หรือภิกษุณี).

สิกขาบทที่ ๙ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ทะเลาะกับพระอุปนนทะ ศากยบุตร เลยแกล้งประจานพระอุปนนทะ กับพวกอุบาสก ที่กำลังเลี้ยงพระว่า พระอุปนนทะต้องอาบัติสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่อนุปสัมบัน (ผู้มิได้เป็นภิกษุ หรือภิกษุณี) ต้องปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่ได้รับสมมติ.

สิกขาบทที่ ๑๐ มุสาวาทวรรค ในปาจิตตียกัณฑ์

(ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด)

              ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงขุดดินเองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นขุดบ้าง มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนว่าผิดประเพณีนิยมของสมณะ พระผู้มีพระภาค (ทรงอนุโลมตามประเพณีที่ถือว่าแผ่นดินเป็นของมีชีวิต คือมีอินทรีย์หนึ่ง) จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุขุดดินเองหรือใช้ให้ผู้อื่นขุด ต้องปาจิตตีย์.


๑. อรรถกถาเรียกว่า ขุททกกัณฑ์ แปลว่า หมวดเล็กน้อย และเรียกนิสสัคคิยกัณฑ์วา ติงสกกัณฑ์ แปลว่า หมวด ๓๐ สิกขาบท
๒. ในที่นี้ หมายถึงผู้ชาย แต่ในสิกขาบทที่ ๔ หมายรวมทั้งหญิงและชาย
๓. หมายถึงดินที่ฝนตกรดแล้วเกิน ๔ เดือน สิกขาบทนี้น่าจะเห็นว่าเป็นการป้องกันการทำให้สัตว์ในดิน เช่น ไส้เดือนตายด้วย

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ