บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

              ๒. ภูตคามวรรค วรรคว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้ เป็นวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำลายต้นไม้)

              ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง จึงตัดต้นไม้เองบ้าง ใช้ให้ผู้อื่นตัดบ้าง มนุษย์ทั้งหลายพากันติดเตียน ด้วยถือว่าต้นไม้มีชีวิต มีอินทรีย์หนึ่ง พระผู้มีพระภาค (ทรงอนุโลมตามสมมติของชาวโลก) จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ทำให้ต้นไม้ตาย(ต้นไม้มี ๕ อย่าง คือที่มีหัวเป็นพืช เช่น ขิง, มีลำต้นเป็นพืช เช่น ไทร, มีปล้องเป็นพืช เช่น อ้อย, ไม้ไผ่, มียอดเป็นพืช เช่น ผักชีล้อม, มีเมล็ดเป็นพืช เช่น ข้าว, ถั่ว).

สิกขาบทที่ ๒ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเฉไฉเมื่อถูกสอบสวน)

              พระฉันนะประพฤติอนาจาร ถูกโจทอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ กลับพูดเฉไฉไปต่าง ๆ บ้าง นิ่งเสียบ้าง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้พูดไปอย่างอื่น ผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก (ด้วยการนิ่งในเมื่อถูกไต่สวนในท่ามกลางสงฆ์).

สิกขาบทที่ ๓ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ)

              ภิกษุทั้งหลายซึ่งมีพระเมตติยะและพระภุมมชกะเป็นหัวหน้า ติเตียน บ่นว่าพระทัพพมัลลบุตร ผู้แจกเสนาสนะ แจกภัตต์ พระผู้มีพระภาคทรงสอบสวนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ติเตียน บ่นว่า (ภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ).

สิกขาบทที่ ๔ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง)

              ภิกษุทั้งหลายนำเสนาสนะ (ที่นอนที่นั่ง) มาไว้กลางแจ้งในฤดูหนาว ผิงแดดแล้วหลีกไป ไม่เก็บไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ ไม่บอกให้ใครรับรู้ เสนาสนะถูกหิมะตกใส่ (เปียกชุ่ม) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุตั้งไว้เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ตั้งไว้ซึ่งเตียง ตั่ง ฟูก เก้าอี้ของสงฆ์ในกลางแจ้ง เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือไปโดยไม่บอกกล่าวให้ใครรับรู้ ต้องปาจิตตีย์ ต่อมาทรงอนุญาตพิเศษให้เก็บเสนาสนะ ในมณฑปหรือที่โคนไม้ ซึ่งสังเกตว่า ฝนจะไม่ตกรั่วรด กาเหยี่ยวจะไม่ถ่ายมูลรดได้ตลอด ๘ เดือน (แห่งฤดูหนาวและฤดูร้อน ฤดูละ ๔ เดือน).

สิกขาบทที่ ๕ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ)

              ภิกษุพวก ๑๗ รูป ปูที่นอนในวิหารของสงฆ์แล้วหลีกไป ไม่เก็บเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือบอกให้ใครรับรู้ ปลวกกินเสนาสนะ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุปู หรือให้ปูที่นอนในวิหารของสงฆ์แล้ว เมื่อหลีกไป ไม่เก็บเอง หรือไม่ใช้ให้ผู้อื่นเก็บ หรือไม่บอกกล่าวให้ใครรับรู้ ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๖ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์หาวิธีแย่งที่อยู่ภิกษุอื่น โดยเข้าไปนอนเบียดภิกษุเถระ ด้วยคิดว่า เธออึดอัดเข้าก็จะหลีกไปเอง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ เข้าไปนอนเบียดผู้เข้าไปอยู่ก่อนในวิหารของสงฆ์ ด้วยคิดว่า เธออึดอัดก็จะหลีกไปเอง เธอมุ่งอย่างนี้เท่านั้น ไม่ใช่อย่างอื่น ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๗ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์(พวก ๖) แย่งที่ภิกษุสัตตรสวัคคีย์ (พวก ๑๗) เมื่อเห็นขัดขืนก็โกรธ จึงจับคอฉุดคร่าออกไป พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุโกรธ ไม่พอใจ ฉุดคร่าเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นฉุดคร่าก็ดี ซึ่งภิกษุ จากวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๘ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน)

              ภิกษุ ๒ รูปอยู่ในกุฎีเดียวกัน เตียงหนึ่งอยู่ข้างล่าง เตียงหนึ่งอยู่ข้างบน ภิกษุอยู่ข้างบนนั่งบนเตียงโดยแรง เท้าเตียงหลุด ตกลงถูกศีรษะของภิกษุผู้อยู่ข้างล่าง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุนั่งนอนบนเตียงหรือตั่งอันมีเท้าเสียบ (ในตัวเตียง) ในวิหารของสงฆ์ ต้องปาจิตตีย์

สิกขาบทที่ ๙ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น)

              มหาอำมาตย์ผู้อุปฐากของพระฉันนะให้สร้างวิหารถวายพระ เมื่อเสร็จแล้ว พระฉันนะอำนวยการพอกหลังคาพอกปูนบ่อย ๆ วิหารก็เลยพังลงมา พระฉันนะเก็บหญ้า เก็บไม้ ได้ทำข้าวของพราหมณ์ผู้หนึ่งให้เสียหาย พราหมณ์ยกโทษติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ถ้าภิกษุจะให้ทำวิหารใหญ่ พึงยืนในที่ไม่มีของเขียว (พืชพันธุ์ไม้) อำนวยการพอกหลังคาไม่เกิน ๓ ชั้น จนจดกรอบประตูเพื่อตั้งบานประตูได้ เพื่อทาสีหน้าต่างได้ ถ้าทำให้เกินกว่านั้น แม้ยืนในที่ปราศจากของเขียว ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๑๐ ภูตคามวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน)

              ภิกษุชาวเมืองอาฬวีทำการก่อสร้าง รู้อยู่ว่าน้ำมีสัตว์ เอาน้ำนั้นรดหญ้าบ้าง ดินบ้าง ใช้ให้รดบ้าง เป็นที่ติเตียนของภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุรู้อยู่ เอาน้ำมีสัตว์รดหญ้า หรือดิน หรือใช้ให้ผู้อื่นรด ต้องปาจิตตีย์.


๑. คำว่า ต้นไม้ ในตัวสิกขาบทนี้ แปลจากคำว่า ภูตคาม
๒. จากสิกขาบทนี้เป็นอันให้เลิกใช้ที่อยู่ชนิดนั้น เว้นแต่จะทำให้แน่นหนา

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ