บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

              ๓. โภชนวรรค วรรคว่าด้วยการฉันอาหาร เป็นวรรคที่ ๔ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๑ มื้อ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ไปฉันอาหารในโรงพักเดินทางที่คณะเจ้าของเขาจัดอาหารให้เป็นทานแก่คนเดินทางที่มาพัก แล้วเลยถือโอกาสไปพักและฉันเป็นประจำ เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุพึงฉันอาหารในโรงพักเพียงมื้อเดียว ถ้าฉันเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้ภิกษุไข้ ซึ่งเดินทางต่อไปไม่ไหวฉันเกินมื้อเดียวได้.

สิกขาบทที่ ๒ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม)

              พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะ จึงต้องเที่ยวขออาหารเขาตามสกุล ฉันรวมกลุ่มกับบริษัทของตน มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันอาหารรวมกัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ภายหลังทรงผ่อนผันให้เมื่อเป็นไข้, เมื่อถึงหน้าถวายจีวร, เมื่อถึงคราวทำจีวร, เมื่อเดินทางไกล, เมื่อไปทางเรือ, เมื่อประชุมกันอยู่มาก ๆ, เมื่อนักบวชเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร.

สิกขาบทที่ ๓ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น)

              กรรมกรผู้ยากจนคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปฉันที่บ้าน ภิกษุทั้งหลายไปเที่ยวบิณฑบาตฉันเสียก่อน (อาจจะเกรงว่าอาหารเลวหรือไม่พอฉัน) เมื่อไปฉันที่บ้านกรรมกรคนนั้นจึงฉันได้เพียงเล็กน้อย (เพราะอิ่มมาก่อนแล้ว) ความจริงอาหารเหลือเฟือ เพราะชาวบ้านรู้ข่าวเอาของไปช่วยมาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารรายอื่นก่อน ภายหลังทรงผ่อนผันให้ในยามเจ็บไข้, ในหน้าถวายจีวร, ในคราวทำจีวร, มอบให้ภิกษุอื่นฉันในที่นิมนต์แทน.

สิกขาบทที่ ๔ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร)

              มารดานางกาณาทำขนมไว้จะให้บุตรีนำไปสู่สกุลแห่งสามี ภิกษุเข้าไปรับบิณฑบาตแล้วกลับบอกกันต่อไปให้ไปรับ นางจึงถวายจนหมด แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ที่ทำขนมก็เกิดเรื่องทำนองนี้ จนบุตรีของนากาณาไม่ได้ไปสู่สกุลสามีสักที ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรีของนาง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุเข้าไปสู่สกุล ถ้าเขาปรารณาด้วยขนมหรือด้วยข้าวสัตตุผง เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา พึงรับเพียงเต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับเกินกว่านั้น ต้องปาจิตตีย์. ทางที่ชอบ ภิกษุรับ ๒-๓ บาตรแล้ว พึงนำไปแบ่งกับภิกษุทั้งหลาย.

สิกขาบทที่ ๕ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว)

              ภิกษุรับนิมนต์ไปฉันบ้านพราหมณ์คนหนึ่ง แล้วบางรูปไปฉันที่อื่นหรือไปรับบิณฑบาตอีก พราหมณ์ติเตียน แสดงความน้อยใจ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุฉันเสร็จแล้วบอกไม่รับอาหารที่เขาเพิ่มให้แล้ว เคี้ยวหรือฉันของเคี้ยวของฉัน ต้องปาจิตตีย์. ภายหลังทรงอนุญาตให้ฉันอาหารที่เป็นเดนได้.

สิกขาบทที่ ๖ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด)

              ภิกษุรูปหนึ่งรู้ว่า ภิกษุอีกรูปหนึ่งฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว แกล้งแค่นไค้ให้ฉันอาหารอีก เพื่อจับผิดเธอ (ตามสิกขาบที่ ๕) พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น.

สิกขาบทที่ ๗ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอาหารในเวลาวิการ)

              ภิกษุพวก ๑๗ ฉันอาหารในเวลาวิกาล พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารในเวลาวิกาล (ตั้งแต่เที่ยงไปจนรุ่งอรุณ).

สิกขาบทที่ ๘ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน)

              พระเวลัฏฐสีสะเก็บข้าวตากไว้ฉันในวันอื่น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน.

สิกขาบทที่ ๙ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ขออาหารประณีต คือ เนยใส, เนยข้น, น้ำมัน, น้ำผึ้ง, น้ำอ้อย, ปลา, เนื้อ, นมสด, นมส้ม มาเพื่อฉันเอง เป็นที่ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่ภิกษุผู้ทำเช่นนั้น เว้นไว้แต่อาพาธ.

สิกขาบทที่ ๑๐ โภชนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน)

              ภิกษุรูปหนึ่งไม่ชอบรับอาหารที่มนุษย์ถวาย จึงไปถือเอาเครื่องเซ่น ที่เขาทิ้งไว้ตามสุสานบ้าง ตามต้นไม้บ้าง ตามหัวบันไดบ้าง มาฉัน เป็นที่ติเตียนของคนทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ฉันอาหารที่เขามิได้ให้ (ประเคน) เว้นไว้แต่น้ำและไม้สีฟัน.


๑. การฉันอาหารเป็นคณะ ในที่นี้ หมายถึง ๔ รูปขึ้นไป
๒. ทำให้เจ้าของบ้านที่นิมนต์เสียใจว่าเขาเลี้ยงไม่อิ่มหรืออย่างไร

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ