บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยจีวร
...๒.ว่าด้วยไหม
...๓.ว่าด้วยบาตร

๒.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยการพูดปด
...๒.ว่าด้วยพืชพันธุ์ไม้
...๓.ว่าด้วยการให้โอวาท
...๔.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๕.ว่าด้วยชีเปลือย
...๖.ว่าด้วยการดื่มสุรา
...๗.ว่าด้วยสัตว์มีชีวิต
...๘.ว่าด้วยว่ากล่าวถูกต้อง
...๙.ว่าด้วยนางแก้ว

๓.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๔.เสขิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยความเหมาะสม
...๒.ว่าด้วยการฉันอาหาร
...๓.ว่าด้วยการแสดงธรรม
...๔.หมวดเบ็ดเตล็ด

 

๒. โกสิยวรรค วรรคว่าด้วยไหม เป็นวรรคที่ ๒ มี ๑๐ สิกขาบท คือ

สิกขาบทที่ ๑ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งเจือด้วยไหม)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาช่างทำไหม ขอให้เขาต้มตัวไหม, และขอใยไหมบ้าง เพื่อจะหล่อสันถัต (เครื่องลาด, เครื่องปูนั่ง) เจือด้วยไหม, เขาหาว่าเบียดเบียนเขาและเบียดเบียนตัวไหม พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุหล่อสันถัต เจือด้วยไหม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๒ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมดำล้วน)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียม (ขนแพะ ขนแกะ) ดำล้วน คนทั้งหลายติเตียนว่า ใช้ของอย่างคฤหัสถ์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามหล่อเองหรือใช้ให้หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๓ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน เมื่อหล่อเครื่องปูนั่ง)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วนเพียงแต่เอาขนจียมขาวหน่อยหนึ่ง ใส่ลงไปที่ชาย มีผู้ติเตียน จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะหล่อสันถัตใหม่ พึงถือเอาขนเจียมดำ ๒ ส่วน ขนเจียมขาว ๑ ส่วน ขนเจียมแดง ๑ ส่วน ถ้าไม่ทำตามส่วนนั้น ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๔ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อยังใช้ของเก่าไม่ถึง ๖ ปี)

              ภิกษุทั้งหลายหล่อสันถัตทุกปี ต้องขอขนเจียมจากชาวบ้าน เป็นการรบกวนเขา มีผู้ติเตียนอ้างว่าของชาวบ้านเขาใช้ได้นานถึง ๕-๖ ปี จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุหล่อสันถัตใหม่ พึงใช้ให้ถึง ๖ ปี ถ้ายังไม่ถึง ๖ ปี หล่อใหม่ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์. ภายหลังภิกษุเป็นไข้ เขานิมนต์ไปที่อื่น ไม่กล้าไป เพราะจะนำสันถัตไปด้วยไม่ไหว จึงทรงอนุญาตให้มีการสมมติเป็นพิเศษสำหรับภิกษุไข้.

สิกขาบทที่ ๕ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ให้ตัดของเก่าปนลงในของใหม่)

              ภิกษุทั้งหลายทิ้งสันถัตไว้ในที่นั้น ๆ พระผู้มีพรภาคทอดพระเนตรเห็น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะหล่อสันถัตสำหรับนั่ง พึงถือเอาสันถัตเก่า ๑ คืบ โดยรอบ เขือลงไป เพื่อทำลายให้เสียสี. ถ้าไม่ทำอย่างนั้น หล่อสันถัตใหม่ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์. (สิกขาบทนี้ ทำให้เห็นความสำคัญของสันถัตเก่าที่จะต้องเก็บไว้ปนลงไปเมื่อหล่อใหม่ด้วย).

สิกขาบทที่ ๖ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามนำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์)

              ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปสู่กรุงสาวัตถี ในโกศลชนบท. มีผู้ถวายขนเจียมในระหว่างทาง เธอเอาจีวรห่อนำไป มนุษย์ทั้งหลายพากันพูดล้อว่า ซื้อมาด้วยราคาเท่าไร จะได้กำไรเท่าไร. ความทราบถึงพระผู้มีพระภาค จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า ภิกษุเดินทางไกล มีผู้ถวายขนเจียม ถ้าปรารถนาก็พึงรับและนำไปเองได้ ไม่เกิน ๓ โยชน์ในเมื่อไม่มีผู้นำไปให้ ถ้านำไปเกิน ๓ โยชน์ แม้ไม่มีผู้นำไปให้ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๗ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามใช้นางภิกษุณีที่ไม่ใช่ญาติทำความสะอาดขนเจียม)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) ใช้นางภิกษุณีให้ซัก ให้ย้อม ให้สางขนเจียม ทำให้เสียการเรียน การสอบถาม และเสียข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นสูง. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามใช้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติซัก, ย้อม, หรือสางขนเจียม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๘ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามรับทองเงิน)

              เจ้าของบ้านที่พระอุปนนทะ ศากยบุตร เข้าไปฉันเป็นนิตย์ เตรียมเนื้อไว้ถวายเวลาเช้า แต่เด็กร้องไห้ขอกินในเวลากลางคืน จึงให้เด็กกินไป รุ่งเช้าจึงเอากหาปณะ (เงินตรามีราคา ๔ บาท) ถวาย พระอุปนนทะก็รับ มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุรับเอง ใช้ให้รับทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน ที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๙ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ)

              ภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวก ๖) ทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ (ทอง เงิน หรือสิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงิน ที่กำหนดให้ใช้ได้ทั่วไปในที่นั้น ๆ) มนุษย์ทั้งหลายพากันติเตียนว่าทำเหมือนเป็นคฤหัสถ์ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๑๐ โกสิยวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามซื้อขายโดยใช้ของแลก)

              ปริพพาชกผู้หนึ่ง เห็นพระอุปนนทะ ศากยบุตร ห่มผ้าสังฆาฏิสีงาม จึงชวนแลกกับท่อนผ้าของตน ภายหลังทราบว่าผ้าของตนดีกว่า จึงขอแลกคืน พระอุปนนทะไม่ยอมให้แลกคืน จึงติเตียนพระอุปนนทะ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทำการซื้อขายด้วยประการต่าง ๆ ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์. (หมายถึงซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยใช้สิ่งของแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างนักบวชในพระพุทธศาสนาทำได้).


๑. ภายหลังทรงอนุญาตให้ยินดีปัจจัย ๔ ได้ คือทายกมอบเงินไว้แก่ไวยาวัจจกร เพื่อให้จัดหาปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่นอนที่นั่ง ยารักษาโรค ภิกษุต้องการอะไร ก็บอกให้เขาจัดหาให้ จึงมีประเพณีถวายใบปวารณาปัจจัย ๔

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ