บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๕
หมวดนี้มี

๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓.เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕. ชีวกสูตร
๖.อุปาลิวาทสูตร
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร
๑๑.จูฬราหุโลวาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร

๑๓.จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔. มหามาลุงกโย
วาทสูตร
๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗. จาตุมสูตร
๑๘. นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑. จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
โคตตสูตร
๒๓. มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร
๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุ
ทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐. เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓.มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗.ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑. พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔.โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

หน้าที่ ๑ ๑.กันทรกสูตร
๒.อัฏฐกนาครสูตร
๓. เสขปฏิปทาสูตร
๔.โปตลิยสูตร
๕.ชีวกสูตร

 

หน้าที่ ๒
๗.กุกกุโรวาทสูตร
๘.อภยราชกุมารสูตร
๙.พหุเวทนิยสูตร
๑๐.อปัณณกสูตร

..ธรรมะที่ไม่ผิด
ข้อ ๑ - ๕
บุคคล ๔ ประเภท
๑๑. จูฬราหุโล
วาทสูตร
๑๒.มหาราหุโล
วาทสูตร
๑๓. จูฬมาลุงกโย
วาทสูตร
๑๔มหามาลุงก
โยวาทสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๑๕.ภัททาลิสูตร
๑๖.ลุฑุกิโกปมสูตร
๑๗.จาตุมสูตร
๑๘.นฬกปานสูตร
๑๙.โคลิสสานิสูตร

ข้อปฏิบัติสำหรับ
ภิกษุผู้อยู่ป่า ๑๗ ข้อ
๒๐.กีฏาคิริสูตร
๒๑.จูฬวัจฉโคตตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉโคตตสูตร
๒๓.มหาวัจฉโคตตสูตร
๒๔.มีฆนขสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๒๕.มาคัณฑิยสูตร
๒๖.สันทกสูตร
๒๗.มหาสกุลุทายิสูตร
๒๘.สมณมุณฑิกสูตร
๒๙.จูฬสกุลุทายิสูตร
๓๐.เวขณสสูตร
๓๑.ฆฏิการสูตร
๓๒.รัฏฐปาลสูตร
๓๓. มฆเทวสูตร
๓๔.มธุรสูตร
๓๕.โพธิราชกุมารสูตร
๓๖.อังคุลิมาลสูตร
๓๗. ปิยชาติสูตร
๓๘.พาหิติยสูตร
๓๙.ธัมมเจติยสูตร

 

หน้าที่ ๕
๔๐.กัณณกัตถลสูตร
๔๑.พรหมายุสูตร
๔๒.เสลสูตร
๔๓.อัสสลายนสูตร
๔๔. โฆฏมุขสูตร
๔๕.จังกีสูตร
๔๖.เอสุการีสูตร
๔๗.ธนัญชานิสูตร
๔๘.วาเสฏฐสูตร
๔๙.สุภสูตร
๕๐.สคารวสูตร

 

เล่มที่ ๑๓ ชื่อมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เป็นสุตตันตะปิฎกเล่มที่ ๕
หน้า ๔

๒๕. มาคัณฑิยสูตร
สูตรว่าด้วยมาคัณฑิยปริพพาชก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เครื่องลาดทำด้วยหญ้า ในโรงบูชาไฟของพราหมณ์ภารทวาชโคตร ในนิคมแห่งแคว้นกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ ตรัสโต้ตอบกับมาคัณฑิยปริพพาชก ผู้กล่าวหาพระผู้มีพระภาคว่า ทรงกำจัดความเจริญ เพราะตรัสสอนให้สำรวมตา หู จมูก กาย ใจ.   ครั้งแรกตรัสถามว่า คนบางคนเคยได้รับบำเรอด้วยรูป,   เสียง,   กลิ่น ,   รส, โผฏฐัพพะ   ( สิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย ) อันน่าปรารถนารักใคร่ชอบใจแล้วภายหลังรู้ความจริงทั้งสองฝ่ายเกิดฝ่ายดับ   รู้โทษ   รู้ความพอใจ   รู้การถอนตัวออก   จึงบันเทาความทะยานอยากในรูป ความเร่าร้อนเพราะรูป ปราศจากความระหาย มีจิตสงบระงับในภายในดังนี้ ท่านจะกล่าวถึงผู้นี้ว่าอย่างไร. ทูลตอบว่า ไม่กล่าวว่าอย่างไร.

   ๒. ตรัสเล่าเรื่องพระองค์เองผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ( รูป เสียง เป็นต้น ) มีปราสาท ๓ หลัง สำหรับฤดูฝน, ฤดูหนาว, ฤดูร้อน พระองค์ได้รับการบำเรอด้วยดนตรีไม่มีบุรุษเจือปน ไม่ต้องลงชั้นล่างของปราสาทตลอด ๔ เดือน ในปราสาทสำหรับฤดูฝน. สมัยอื่นทรงทราบความจริงเกี่ยวกับกามคุณดั่งกล่าวข้างต้น จึงทรงบันเทาความทะยานอยาก เป็นต้น มีจิตสงบระงับภายใน. เมื่อทรงเห็นผู้อื่นยังไม่ปราศจากราคะถูกความทะยานอยากในกามบีบคั้น ถูกความเร่าร้อนเพราะกามเผาไหม้ เสพกามอยู่ ก็ไม่ทรงกระหยิ่มยินดีไปตาม เพราะทรงยินดีด้วยความยินดีอันอื่นจากกามอื่น จากอกุศลธรรม จึงไม่ทรงยินดีต่อสิ่งที่เลวกว่า.

   ๓. ตรัสเปรียบตามที่มาคัณฑิยปริพพาชกทูลขอรับรองว่าเป็นเช่นนั้น เป็นข้อ ๆ คือ
    ๑. คนที่เคยเพียบพร้อมด้วยกามคุณในโลกนี้ ภายหลังทำความดีได้ไปเกิดเป็นเทพชั้นดาวดึงส์ เพียบพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ย่อมไม่เห็นกามสุขของมนุษย์ดีกว่า ที่ตนควรกลับไปหาอีก
   ๒. คนเป็นโรคเรื้อน ถูกหนอนไชเกาปากแผลด้วยเล็บ ย่างตัวที่หลุมถ่านเพลิง เมื่อรักษาหายแล้ว ย่อมไม่กระหยิ่มยินดีต่อคนเป็นโรคเรื้อนคนอื่นเพื่ออย่างตัวที่หลุมถ่านเพลิงและกินยา
   ๓. คนเป็นโรคเรื้อน ที่รักษาหายแล้ว ถูกผู้มีกำลังกว่าจับแขนให้เข้าไปหาหลุมถ่านเพลิง จะพยายามเบี่ยงตัวไปทางโน้นทางนี้ เพราะกายย่างตัวมีสัมผัสเป็นทุกข์ มีความเร่าร้อนมาก แต่ที่เคยสำคัญว่าเป็นสุขในกายย่างตัวที่ไฟ ก็เพราะถูกโรคครอบงำ
   ๔. คนเป็นโรคเรื้อน ยิ่งเกายิ่งย่างตัวปากแผลก็ไม่สอาดยิ่งขึ้น มีกลิ่นเหม็นยิ่งขึ้น เน่ายิ่งขึ้น ความเอร็ดอร่อยพอใจ ย่อมมีเพราะเหตุคือการเกาปากแผล. ความเอร็ดอร่อยพอใจ เพราะอาศัยกามคุณ ๕ ก็ฉันนั้น.

   ๕. ตรัสถามว่า เคยเห็นพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้เพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ไม่ละกามตัญหา แต่มีจิตสงบระงับภายใน ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตหรือไม่. ทูลตอบว่า ไม่เคยเห็น. ตรัสว่า แม้พระองค์ก็ไม่ทรงเคยเห็นหรือเคยฟังว่ามีเช่นนั้น. จึงตรัสสรูปว่า ต้องรู้ความจริงและกามตัญหาจึงมีจิตสงบ ระงับภายในอยู่ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า
   

ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง
   พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
   บรรดาหนทางไปสู่พระนิพพาน
    หนทางมีองค์ ๘ เป็นทางอันเกษม.

   มาคัณฑิยปริพพาชกกล่าวว่า ตนเคยได้ยินครูบาอาจารย์ปริพพาชกรุ่นก่อน ๆ กล่าวอย่างนี้เหมือนกัน จึงตรัสถามความหมายว่า ความไม่มีโรคกับนิพพานเป็นอย่างไร. มาคัณฑยปริพพาชกเอามือลูบตัวแล้วทูลว่า นี่แหละความไม่มีโรค นี่แหละนิพพาน ข้าพระเจ้าไม่มีโรค มีความสุข อะไร ๆ ก็ไม่เบียดเบียนในบัดนี้.

   ๕. ตรัสตอบว่า คนตาบอดแต่กำเนิด ไม่เคยเห็นสีต่าง ๆ ไม่เคยเห็นสิ่งราบเรียบและไม่สม่ำเสมอไม่เคยเห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ได้ยินคนตาดีเขาพูดว่า ผ้าสีขาวดี ก็แสวงหาผ้าขาว แต่ถูกคนบางคนหลอกเอาผ้าสกปรกเปื้อนน้ำมันมาให้ว่า นี่แหละผ้าขาว ก็หลงห่มและชื่นชมว่าผ้าสะอาด มิใช่เพราะรู้เห็น แต่เพราะเชื่อคนตาดีเขาว่า. พวกปริพพาชก ลัทธิอื่นก็ฉันนั้น ไม่รู้จักความไม่มีโรค ไม่เห็นพระนิพพานแต่กล่าวคาถานี้ ที่ว่าลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง. คาถานี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลก่อนตรัสไว้ แต่ปัจจุบันนี้ กลายเป็นคาถาของบุถุชนไปโดยลำดับ. ท่านกล่าวถึงกายนี้อันเป็นโรค เป็นฝี แล้วชี้ความไม่มีโรคและนิพพานไปที่กายนี้ ก็เพราะท่านไม่มีอริยจักษุ ที่จะรู้จักความไม่มีโรคที่จะเห็นพระนิพพานได้.

   ๖. มาคัณฑิยปริพพาชกทูลขอให้ทรงแสดงธรรมที่จะเป็นเหตุให้ตนรู้จักความไม่มีโรค เห็นพระนิพพานได้ ก็ทรงแสดงเรื่องความเกิดควาวมดับแห่งกองทุกข์ อันอาจรู้เห็นได้ด้วยตนเองโดยการฟังและปฏิบัติธรรม ซึ่งทำให้มาคัณฑิยปริพพาชากเลื่อมใสสรรเสริญพระธรรมเทศนา ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อทราบว่าจะต้องอบรมก่อน ๔ เดือน ก็แสดงความจำนงจะรับการอบรมถึง ๔ ปี และเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

   

๒๖. สันทกสูตร
สูตรว่าด้วยสันทกปริพพาชก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. พระอานนทเถระ พร้อมด้วยภิกษุมากหลายไปสนทนากับสันทกปริพพาชก พร้อมด้วยบริษัท สันทกปริพพาชกนั่งบนอาสนะต่ำกล่า ขอให้พระอานนท์แสดงธรรมตามคติแห่งอาจารย์ของพระอานนท์ . ท่านจึงแสดงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกถึงการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ อย่าง การประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ๔ อย่าง.

    ๒. การไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ๔ อย่าง คือ
   ๑. ศาสดาเป็นนัตถิกวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ ไม่มี ” เช่น ไม่มีผลของกรรมดีกรรมชั่ว
   ๒. ศาสดาเป็นอกิริยวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ ไม่เป็นอันทำ” เช่น ฆ่าสัตว์ก็ไม่เป็นอันฆ่า
   ๓. ศาสดาเป็นอเหตุกวาทะ ผู้มีความเห็นว่า “ มีมีเหตุ ” คือบุญบาปไม่มีเหตุปัจจัย
   ๔. ศาสดาเป็นผู้มีความเห็นในเรื่อง “ สังสารสุทธิ”   คือไม่ว่าพาลหรือปัณฑิตเมื่อเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เหมือนกัน. ศาสดาทั้งสี่ประเภทนี้ วิญญูบุรุษพิจารณาแล้ว ย่อมไม่เลื่อมใสประพฤติพรหมจรรย์เพราะเห็นว่าเมื่อบุญไม่มี บาปไม่มี เป็นต้น เราไม่ต้องการบวชประพฤติพรหมจรรย์เพราะเห็นว่าเมื่อบุญไม่มี บาปไม่มี เป็นต้น เราไม่ต้องการบาชประพฤติพรหมจรรย์ ก็จะมีคติเท่าเทียมกับศาสดา.

   ๓. ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ๔ อย่าง    ๑. ศาสดาอ้างว่าตนเองเป็นสัพพัญญู มีญาณทัสสนะสมบูรณ์ แต่ช่วยตัวเองไม่ได้    ๒. ศาสดาเป็นคนถือความจริงตามที่ฟังมา สอนตามที่ฟังมาตามที่สืบต่อมา สอนโดยอ้างตำรา   ๓. ศาสดาเป็นนักเดา    ๔. ศาสดาเป็นคนโง่ เมื่อถูกถามก็ตอบซัดส่ายไปมา.   วิญญูบุรุษพิจารณาแล้ว รู้ความจริงแล้วก็เบื่อหน่ายหลีกไป จัดเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ไม่น่าพอใจ ที่วิญญูบุรุษไม่อยู่ประพฤติพรหมจรรย์เลย และอยู่ประพฤติก็ไม่ได้บรรลุธรรมที่ถูกต้องที่เป็นกุศล.

   ๔. แล้วพระอานนท์ได้กล่าวถึงการประพฤติพรหมจรรย์ที่ได้ผล คือที่ผู้ออกบวชสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ได้บรรลุฌาน ๔ วิชชา ๓ เป็นพรหมจรรย์ที่สาวกจะได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬาร ซึ่งวิญญูบุรุษอยู่ประพฤติพรหมจรรย์โดยแท้ และเมื่ออยู่ประพฤติก็ได้บรรลุธรรมที่ถูกต้องที่เป็นกุศล.

   ๕. สันทกปริพพาชกกล่าวว่า พระอรหันต์ยังบริโภคกาม. พระอานนท์ตอบว่า พระอรนหันต์เป็นผู้ไม่ควรที่จะประพฤติล่วงฐานะ ๕ คือ ไม่จงใจฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่เสพเมถุน, ไม่พูดปดทั้ง ๆ รู้และไม่ทำการสะสมบริโภคกาม. ปริพพาชกกล่าวอีกว่า พระอรหันต์มีญาณทัสสนะว่า อาสวะของเราสิ้นแล้วใช่หรือไม่ . พระอานนท์ตอบว่า เหมือนคนมีมือเท้าขาดอยู่โดยปกติ เมื่อพิจารณาก็รู้ว่ามือเท้าของเราขาดฉันใด แม้พระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วโดยปกติ เมื่อพิจารณาก็รู้ว่าอาสวะของเราสิ้นแล้วฉันนั้น.

   ๖. ปริพพาชกถามถึงผู้ที่นำตนให้พ้นจากทุกข์ได้ว่า มีเท่าไรในพระธรรมวินัยนี้ พระอานนท์ตอบว่า มีมากกว่า ๕๐๐ ปริพพาชกก็สรรเสริญพระอานนท์ว่า แสดงธรรมไม่ยกธรรมะของตน ไม่ข่มธรรมะของคนอื่นเป็นการแสดงธรรมตามเหตุ   แต่ก็มีผู้นำตนออกจากทุกข์ได้มากถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกที่บัญญัติกันว่า เป็นผู้นำตนออกจากทุกข์ได้มีเพียง ๓ คน คือ   นันทะ วัจฉโคตร   กิสะ สังกิจจโคตร และ   มักขลิ โคสาละ.   แล้วกล่าวกะบริษัทของตน อนุญาตให้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมได้ ส่วนตนเองยากที่จะสละลาภสักการะชื่อเสียงไปได้โดยง่าย. เมื่อกล่าวแล้วก็ส่งบริษัทของตนไปประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค.

   

๒๗. มหาสกุลุทายิสูตร
สูตรว่าด้วยสกุลุทายิปริพพาชก สูตรใหญ่

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นปริพพาชกที่มีชื่อเสียง อาศัยอยู่ในปริพพาชการาม อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง หลายคนด้วยกัน เช่น อันนภารปริพพาชก วรตรปริพพาชก สกุลุทายิปริพพาชก และปริพพาชกที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ . ในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้เสด็จแวะ ณ อารามของปริพพาชกนั้น สกุลุทายิปริพพาชกทูลเชิญให้ประทับ ณ อาสนะที่ปูไว้ ตนเองนั่งบนอาสนะที่ต่ำกว่า แล้วเล่าถวายถึงข้อความสนทนากับสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ซึ่งประชุมกันในศาลาฟังความคิดเห็น ( ตามศัพท์ กุตูหลศาลา แปลว่า ศาลาตื่นข่าว แต่อรรถกถาแสดงไปในรูปว่า คนส่วนใหญ่ประชุมกันเพื่อจะฟังว่า ใครจะพูดอะไร ) ในวันก่อน ๆ ที่ว่า เป็นลาภของชาวอังคะ , มคธะ ที่มีสมณพราหมณ์เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีคนรู้จัก มียศ เป็นเจ้าลัทธิ อันคนส่วนมากนับถือกันว่าเป็นผู้ดีงาม จำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์. แล้วระบุชื่อครูทั้งหกมีปูรณกัสสป เป็นต้น มีนิครนถนาฏบุตรเป็นที่สุดและพระสมณโคดม แล้วได้เกิดปัญหาว่า ในท่านเหล่านี้ ใครเป็นผู้ที่สาวกสักการะเคารพบูชาอาศัยอยู่.

   ๒. แล้วได้ทูลเล่าต่อไปว่า บางคนได้พูดถึงเจ้าลัทธิทั้งหกแต่ละคนว่า สาวกได้คัดค้านหาว่าปฏิบัติผิด ไม่แสดงความเคารพสักการะ แต่เมื่อกล่าวถึงพระสมณโคดมก็พากันสรรเสริญว่า ในขณะที่ทรงแสดงธรรมถ้าสาวกรูปใดไอ ก็จะมีเพื่อนพรหมจารีใช่เข่ากระตุ้นไม่ให้ทำเสียง จึงไม่มีเสียงจามเสียงไอจากสาวกของพระสมณโคดมในขณะที่ทรงแสดงธรรม. หมู่มหาชนประสงค์จะฟัง ก็จะได้ฟังตามพอใจ. แม้สาวกของพระสมณะโคดมที่บอกคืนสิกขาสึกออกไป ก็กล่าวสรรเสริญศาสดา สรรเสริญพระธรรม สรรเสริญพระสงฆ์ เป็นคนทำงานวัดบ้าง เป็นอุบาสกบ้าง สมาทานศึกษาในสิกขาบท ๕ ( ศีล ๕) พระสมณโคดมจึงเป็นผู้อันสาวกสักการะเคารพนับถือบูชา อาศัยอยู่อย่างนี้.

   ๓. ตรัสถามว่า ท่านเห็นสาวกของเราเห็นธรรมกี่อย่างในเราจึงสักการะเคารพ เป็นต้น. สกุลุทายิปริพากทูลว่า ๕ อย่าง คือพระผู้มีพระภาคเป็นผู้     ๑. มีอาหารน้อย พรรณนาคุณแห่งความเป็นผู้มีอาหารน้อย    ๒. ถึง ๔ ( รวม ๓ ข้อ ) สันโดษด้วยจีวร ( เครื่องนุ่งห่ม), บิณฑบาต ( อาหาร ) และเสนาสนะ ( ที่นอนที่นั่งหรือที่อยู่อาศัย ) ตามมีตามได้ พรรณนาคุณแห่งความ+สันโดษนั้น ๆ     ๕. เป็นผู้สงัด พรรณนาคุณแห่งความสงัด.

   ๔. ตรัสตอบชี้แจงพึงธรรม ๕ ประการที่สาวกเห็นแล้วสักการะเคารพ เป็นต้น ในพระองค์โดยละเอียดแล้วตรัสชี้ข้อธรรมอื่นอีก ๕ ข้อ คือ     ๑. เห็นว่าทรงศีล     ๒. เห็นว่าทรงแสดงธรรม เพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่เพื่อไม่รู้ยิ่ง; มีเหตุ; มิใช่ไม่มีเหตุ; มีปาฏิหารย์ มิใช่ไม่มีปาฏิหารย์     ๓ . เห็นว่าทรงปัญญา    ๔. เห็นว่าทรงตอบปัญหาเรื่องอริยสัจจ์ ๔ อย่างน่าพอใจ     ๕. เราได้บอกปาฏิปทาแก่สาวกของเรา สาวกของเราปฏิบัติตามแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ อย่าง, สัมมัปปธาน ( ความเพียรชอบ ) ๔ อย่าง , อิทธิบาท ( ธรรมะให้บรรลุความสำเร็จ ) ๔ อย่าง, อินทรีย์ ( ธรรมะอันเป็นใหญ่มีศรัทธา เป็นต้น ) ๕ อย่าง, พละ ( ธรรมะอันเป็นกำลัง ) ๕ อย่าง , โพชฌงค์ ( องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ) ๗ อย่าง, อริยมรรค ( ทางอันประเสริฐ ) มีองค์ ๘ , วิโมกข์ ( ความหลุดพ้น ) ๘ อย่าง,   อภิภายตนะ ( อายตนะอันเป็นใหญ่ ) ๘ อย่าง ( มีความสำคัญในรูปภายในเห็นรูปภายนอกครอบงำรูปเหล่านั้น รู้เห็น เป็นต้น ), กสิณายตนะ ( อายตนะคือกสิณ  ) ๑๐ อย่าง ( มีปฐวีกสิณคือกสิณมีดินเป็นอารมณ์ เป็นต้น ) , ฌาน ๔ ( มีฌานที่ ๑ เป็นต้น ), รู้ว่ากายมีรูปไม่เที่ยง มีความแตกดับไปเป็นธรรมดา วิญญาณอาศัยเนื่องกับกายนั้น, นิรมิตกายอื่นได้ ( มโนยิทธิ – ฤทธิ์ทางใจ ), แสดงฤทธิ์ได้ , มีหูทิพย์, รู้ใจคนอื่น ( เจโตปริยญาณ), ระลึกชาติได้ , มีตาทิพย์ หรือเห็นความตายความเกิด, ได้บรรลุความหลุดพ้นเพราะสมาธิและเพราะปัญญา อันไม่มีอาสวะ ( ข้อที่ ๔ นี้ยาวมากเพราะปรารภธรรมะที่สาวกเจริญและได้บรรลุหลายอย่าง).

   สกุลุทายิปริพพาชกก็ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค.

   

๒๘. สมณมุณฑิกสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางสมณะผู้โกนผม

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ปริพพาชกชื่ออุคคาหมานะ (ผู้เรียนเก่ง เป็นชื่อฉายาชื่อปกติว่า สุมนะ) ผู้เป็นบุตรแห่งนางสมณะผู้โกนผม อาศัยอยู่ในมัลลิการาม พร้อมด้วยบริษัทปริพพาชกประมาณ ๕๐๐ . ช่างไม้ชื่อปัญจังคะไปยังมัลลิการามสนทนาปราศัยกัน. อุคคาหมานปริพพาชกกล่าวว่า ตนบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ อย่างว่าเป็นสมณะ สมบูรณ์ด้วยกุศล มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุความเป็นเลิศ ไม่มีใครรบชนะได้ คือ     ๑. ไม่ทำกรรมชั่วทางกาย    ๒. ไม่ทำกรรมชั่วทางวาจา    ๓. ไม่ทำกรรมชั่วทางใจ   ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่ว. ช่างไม้ชื่อปัญจังคะได้ฟังก็นำมาเล่าถวายให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบทุกประการ.

    ๒. ตรัสตอบว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เด็กเล็ก ๆ ที่ยังนอนหงาย ( ในเบาะ) ก็จะเป็นสมณะ สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น ตามคำของปริพพาชกนั้น. เพราะเก็กนั้นทำความชั่ว ๔ อย่างนั้นไม่ได้ นอกจากดิ้นรน ( ทางกาย), ร้องไห้ ( ทางวาจา) , แสดงอาการชอบหรือไม่ชอบ  ) ( ทางใจ) และนอกจากดื่มนมมารดา ( ทางอาชีพ). จึงเป็นอันยังไม่ทรงรับรองถ้อยคำของปริพพาชกผู้นั้น.

   ๓. ตรัสแสดงธรรมะ ๑๐ ประการที่ทำให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น คือ    ๑. ควรรู้ศีลอันเป็นอกุศล พร้อมทั้งรู้สมุฏฐาน, ความรู้ความดับ, ความรู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อดับศีลอันเป็นอกุศล    ๒. ควรรู้ศีลอันเป็นกุศล, ควรรู้สมุฏฐาน, ควรรู้ความดับ, ควรรู้ว่าปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อศีลอันเป็นกุศล    ๓. ควรรู้ความดำริทั้งฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศลเช่นเดียวกับศีล ครั้นแล้วแจกรายละเอียดออกไปว่า จิตเป็นสมุฏฐานของศีล , สัญญา ( ความจำ ) เป็นสมุฏฐานของความดำริ. ความดับแห่งศีลที่เป็นอกุศล คือเว้นทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เว้นอาชีพที่ผิด สำเร็จชีวิตด้วยอาชีพที่ชอบ, ความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล คือรู้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติตามเป็นจริง , ความดับแห่งความดำริอันเป็นอกุศล คือเข้าฌานที่     ๑. ความดับแห่งความดำริอันเป็นกุศล คือเข้าฌานที่    ๒. ปฏิบัติเพื่อคววามดับศีลอันเป็นอกุศลและกุศลก็คือ ตั้งความเพียรชอบ ดูรายละเอียดที่( สัมมัปปธาน) ที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๒ ในข้อเสด็จป่ามหาวันประชุมภิกษุสงฆ์ ๔ ประการ, ปฏิบัติเพื่อดับความดำริอันเป็นอกุศลและกุศลก็คือ ตั้งความเพียรชอบ ๔ ประการเช่นเดียวกัน.

   ๔. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมะ ๑๐ ประการที่ทรงบัญญัติว่า สมบูรณ์ด้วยกุศล เป็นต้น จนถึงอันใครรบชนะไม่ได้ คือภิกษุประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ และสัมมาญาณะ ( ฌาณเห็นชอบ) และสัมมาวิมุติ ( ความหลุดพ้นชอบ) อันเป็นของพระอเสขะ ( พระอรหันต์).

   

๒๙. จูฬสกุลุทายิสูตร
สูตรว่าด้วยสกุลุทายิปริพพาชก สูตรเล็ก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์. เช้าวันหนึ่งเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้เสด็จแวะ ณ อารามของปริพพาชก อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ตรัสสนทนากับสกุลุทายิปริพพาชก ถึงเรื่องผู้ปฏิบัติตนว่าเป็นสัพพัญญู ( รู้สิ่งทั้งปวง ) แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ตอบเลี่ยงไปมาและแสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดจนเรื่องคุณพิเศษมีการระลึกชาติได้ เป็นต้น กับเรื่องวรรณอันยอดเยี่ยม จนถึงเรื่องข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีความโลกที่มีความสุขโดยส่วนเดียว ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแสดงข้อปฏิบัติตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงคืออาสวักขยญาณ ( ญาณอันทำอาสวะให้สิ้น ).

    เมื่อจบพระธรรมเทศนา สกุลุทายิปริพพาชกทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต และขอบรรพชาอุปสมบท แต่บริษัท ( ศิษยานุศิษย์ ) ขอร้องไว้มิให้ออกบวช ด้วยให้เหตุผลว่าเคยอยู่อย่างเป็นอาจารย์ อย่าไปอยู่อย่างเป็นศิษย์เลย. จึงมิได้ออกบวช.

   

๓๐. เวขณสสูตร
สูตรว่าด้วยปริพพาชกชื่อเวณสะ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ปริพพาชกชื่อเวขณสะเข้าไปเฝ้า ทูลเรื่อง “ วรรณะอันยอดเยี่ยม ” แต่ชี้ไม่ได้ชัดลงไปว่า วรรณะไหน ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสชี้แจงให้เห็นว่ามีสิ่งที่เลิศกว่ากันเป็นชั้น ๆ รวมทั้งกามสุข สุขในกาม สุขที่เลิศกว่าสุขในกาม.

    เมื่อจบธรรมเทศนา เวขณสปริพพาชกทูลสรรเสริญ แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

จบวรรคที่ ๓ ขึ้นวรรคที่ ๔ ชื่อราชวรรค
คือวรรคว่าด้วยพระราชา มี ๑๐ สูตร

   

๓๑. ฆฏิการสูตร
สูตรว่าด้วยช่างหม้อชื่อฆฏิการะ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะจากทางทรงทำพระอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏ พระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุที่ทรงยิ้ม จึงตรัสเล่าว่า ในที่นี้ เคยมีนิคมชื่อเวภฬิคะ มั่งคั่งรุ่งเรือง มีคนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยนิคมนี้อยู่อารามของพระองค์ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ พระองค์ประทับนั่งสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในอารามนี้. มีช่างหม้อชื่อฆฏิการะเป็นอุปฐาก ( ผู้รับใช้ ) ที่เลิศ ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า. ช่างหม้อมีมาณพชื่อโชติปาละเป็นสหายรัก.

   ๒. ช่างหม้อชื่อฆฏิการะชวนโชติปาลมาณพไปเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง มาณพก็ตอบปฏิเสธว่า จะมีประโยชน์อะไรที่เห็นสมณะศรีษะโล้นผู้นั้น. จึงเปรียนเป็นชวนให้เอาเชือก   ( คลุกผงสำหรับถูตัว ) ไปสู่แม่น้ำ เพื่อสนานกาย. โชติปาลมาณพก็รับคำ. เมื่อเห็นมาณพไปสนทนานกายแล้ว ช่างหม้อชื่อฆฏิการะก็ชวนไปเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอีก อ้างว่าอารามอยู่ไม่ไกล . โชติปาลมาณพก็คัดค้านเช่นเดิมถึง ๓ ครั้ง. ช่างหม้อจึงจับเข็มขัดของมาณพแล้วชวนอีก มาณพก็คัดค้านอีก คราวนี้ช่างหม้อจับผลชวนอีก โชติปาลมาณพนึกแปลกใจว่า ตนสนานศรีษะแล้ว ช่างหม้อซึ่งเป็นคนต่างชาติกัน ( ต่างวรรณะ มีวรรณะต่ำกว่า ) กลับมาจับผม คงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย จึงบอกให้ปล่อยผมแล้วชวนกันไปฟังธรรม เมื่อฟังธรรมแล้วโชติปาลมาณพออกบวช ส่วนช่างหม้อจำเป็นต้องเลี้ยงมารดาผู้เสียจักษุ และเป็นคนชรา จึงมิได้ออกบวช.

   ๓. ต่อมาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ ป่าอิสิปตนะ แขวงกรุงพาราณสี พระราชาแห่งแคว้นกาสีพระนามว่า กิกิ เสด็จไปเฝ้า สดับพระธรรมเทศนา มีความเลื่อมใสทูลเชิญเสด็จเสวย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ในวันรุ่งขึ้น และได้อาราธนาให้ทรงจำพรรษา ตรัสปฏิเสธ อ้างว่าทรงรับอาราธนาไว้ก่อนแล้ว. เมื่อพระราชาทูลถามว่า มีใครจะเป็นอุปฐากยิ่งกว่าพระองค์หรือ จึงตรัสพรรณนาคุณของช่างหม้อชื่อฆฏิการะซึ่งมีคุณธรรมและมีความใกล้ชิดคุ้นเคย พระเจ้ากิกิมีความเลื่อมใส จึงตรัสให้ส่งข้าวสารแห่งข้าวสาลีซึ่งเกิดในดินเหลือง ๕๐๐ หาบ   หร้อมทั้งกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสารนั้นไปพระราชทาน แต่ช่างหม้อไม่รับ สั่งให้ถวายคืน. ตรัสสรุปแก่พระอานนท์ว่า พระองค์เองเป็นโชติปาลมาณพในสมัยนั้น.

    (หมายเหตุ: การที่ช่างหม้อฆฏิการะไม่รับข้าวสาลีและกับอันมากมายนั้น เห็นว่าทำได้โดยไม่ผิดเพราะช่างหม้อเป็นชาวโกศล พระราชาเป็นชาวกาสี ไม่ได้อยู่ในปกครองหรือเป็นผู้ปกครองกัน ถ้าอยู่แคว้นเดียวกันคงจะถือเป็นความผิดได้).

   

๓๒. รัฏฐปาลสูตร
สูตรว่าด้วยกุลบุตรชื่อรัฏฐปาละ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จแวะพัก ณ นิคมแห่งแคว้นกุรุ ชื่อว่าถุลลโกฏฐิตะ. รัฏฐปาละบุตรแห่งสกุลผู้หนึ่งมีแห่งนิคมนั้น สดับพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค มีความเลื่อมใสขอบรรพชาอุปสมบท พระผู้มีพระภาคตรัสให้ไปขออนุญาตมารดาบิดาก่อนเมื่อไปขออนุญาต มารดาบิดาปฏิเสธ จึงลงนอนกับพื้น อดอาหารถึง ๗ มารดาบิดาจึงอนุญาตในที่สุดเมื่อบวชแล้ว ติดตามพระศาสดาไปยังกรุงสาวัตถี ท่านบำเพ็ญเพียรได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

    ๒. ต่อมาท่านได้ลาพระผู้มีพระภาคไปเยี่ยมมารดาบิดา เมื่อไปถึงบ้านก็ถูกขับไล่ ไม่ได้อาหารถูกด่าเพราะไม่มีผู้จำได้ ภายหลังนางทาสีจำได้ จึงเล่าความแก่มารดาของพระรัฏฐปาละ มารดาจึงปล่อยให้นางทางสีพ้นจากความเป็นทาส และบอกแก่บิดา บิดาออกตามพบแล้วนิมนต์ไปฉันที่บ้านในวันรุ่งขึ้น. เมื่อท่านไปฉันก็เอาทรัพย์มาล่อ ท่านก็ไม่แสดงความยินดี. ภริยาของท่านถามว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางอัปสรที่ ( สวยงาม ) เช่นไร ท่านตอบว่า มิได้ประพฤติพรมจรรย์เพื่อนางอัปสร. เมื่อฉันเสร็จแล้วได้กล่าวธรรมภาษิต แล้วไปพักอยู่ ณ ราชอุทยานชื่อมิคาจีระ ของพระเจ้าโกรัพยะ.

    ๓. ณ พระราชอุทยานนั้น ท่านได้แสดงธรรมแด่พระเจ้าโกรัพยะผู้ตรัสว่า บางคนออกบวชเพราะประกอบด้วยความเสื่อม อันเนื่องมาจากความแก่ , ความเจ็บไข้, ความเสื่อมจากทรัพย์ และความเสื่อมจากญาติ ( รวม ๔ ประการ ) ท่านออกบวชเพราะอะไร พระรัฏฐปาละจึงแสดงธัมมุทเทส ( ข้อธรรม ) ๔ ประการ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ    ๑. โลกอันความแก่นำเข้าไปใกล้ ไม่ยั่งยืน    ๒. โลกไม่มีเครื่องต้านทานไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน   ๓. โลกไม่มีเจ้าของ จำละสิ่งทั้งปวงไป   ๔. โลกพร่อง ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัญหา. เมื่อพระเจ้าโกรัพยะตรัสถามถึงความหมาย ก็อธิบายโดยละเอียด ซึ่งพระเจ้าโกรัพยะก็ทรงเลื่อมใส.

   

๓๓. มฆเทวสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามฆเทพ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่ามะม่วงของพระเจ้ามฆเทพ ใกล้กรุงมิถิลา ทรงทำพระอาการยิ้มแย้มให้ปรากฏ เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามถึงเหตุที่ทรงยิ้ม จึงตรัสเล่าว่า กรุงมิถิลานี้เคยมีพระราชาพระนามว่ามฆเทพ เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ทรงประพฤติธรรมในพราหมณคฤหบดี ชาวนิคมชนบททั้งหลายทรงอยู่จำอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ตรัสสั่งช่างกัลบกว่า ถ้าเห็นเส้นพระเกสาหงอกเมื่อไรให้บอก เมื่อล่วงกาลมานาน ช่างกัลบกเห็นพระเกสาหงอกก็กราบทูลให้ทรงทราบ ตรัสให้เอาแหนบถอนให้ถอดพระเนตร ครั้นแล้วพระเจ้ามฆเทพจึงตรัสเรียกเชฏฐโอรส ( ลูกชายคนโต ) มา ทรงมอบราชสมบัติให้แล้ว ตรัสสั่งให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับพระองค์ ( คือเมื่อเส้นพระเกสาหงอกให้ออกผนวช ) ให้รักษากัลยาณวัตรอันนี้ อย่าเป็นคนสุดท้าย ที่ทำให้กัลยาณวัตรนี้ขาดสูญ แล้วจึงออกบวช.

   ๒. ทรงแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต และอุเบกขาจิตไปทั้งหกทิศ สู่โลกทั้งปวง เจริญพรหมวิหาร ๔ ดังกล่าวมานี้ เมื่อสวรรคตก็เข้าถึงพรหมโลก. พระโอรสของพระเจ้ามฆเทพ พระราชนัดดาของพระเจ้ามฆเทพ ก็ทรงประพฤติสืบต่อกันมาโดยนัยนี้ สืบมาจนถึงพระเจ้านิมิ ซึ่งเป็นพระธัมมิกราชา องค์สุดท้าย เมื่อมาถึงพระราชบุตรของพระเจ้านิมิ ผู้ทรงพระนามว่า พระเจ้าฬารชนกะ ก็ทรงตัดกัลยาณวัตรนั้น ไม่เสด็จออกผนวช จึงนับเป็นพระองค์สุดท้ายแห่งกษัตริย์เหล่านั้น, ตรัสสรุปว่า วัตรนั้นเพียงให้ถึงพรหมโลก แต่กัลยาณวัตรที่ทรงตั้งไว้ในปัจจุบันนี้ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้ตรัสรู้ และให้ได้นิพพาน. ในที่สุดตรัสเตือนให้รักษากัลยณวัตรของพระองค์ อย่างเป็นคนสุดท้าย.

   

๓๔. มธุรสูตร
สูตรว่าด้วยพระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตร

    ๑ . พระมหากัจจานะอยู่ในป่าไม้คุนธา   พระเจ้ามธุรราช อวันตีบุตรเข้าไปหา ตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่า วรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์ขาว วรรณะอื่นดำ วรรณะพราหมณ์บริสุทธิ์ วรรณะอื่นไม่บริสุทธิ์ วรรณะพราหมณ์เป็นบุตรของพรหม เกิดจากปากพรหม อันพระพรหมสร้างสรรค์ เป็นพรหมทายาท. พระเถระตอบว่า เป็นเพียงคำอวดอ้าง ( โฆโสเยว) เท่านั้น แล้วได้อธิบายว่า วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ย่อมเป็นคนรับใช้ ซึ่งทำให้พระเจ้ามธุรราชยอมรับว่าวรรณะทั้งสี่เสมอกัน.

   ๒. พระเถระอธิบายต่อไปว่า วรรณะใดประพฤติชั่ว ( ทางกาย, วาจา , ใจ ) วรรณะนั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงอบาย   ทุคคติ   วินบาต   นรก   เสมอกัน. วรรณะใดเว้นจากประพฤติชั่ว ( ทางกาย ,   วาจา ,   ใจ )   วรรณะนั้นเมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกัน. วรรณะใดประพฤติผิด เช่น ตัดช่อง ปล้นสะดม ล่วงเกินภริยาผู้อื่น วรรณะนั้นก็ต้องถูกลงโทษเสมอกัน. วรรณะใดออกบวช ก็มีผู้อภิวาทต้อนรับ นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะนิมนต์ให้รับปัจจัย ๔ หรือได้รับความคุ้มครองอันเป็นธรรมเสมอกัน.

   ๓. พระเจ้ามธุรราชตรัสสรรเสริญพระธรรมเทศนา ถามถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าประทับ ณ ที่ไหน เมื่อทรงทราบว่าปรินิพพานแล้ว จึงตรัสว่า ถ้าทรงทราบว่ายังทรงพระชนม์อยู่ก็จะเสด็จไปเฝ้า แม้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่เพราะปรินิพพานแล้ว จึงได้แต่ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดพระชนมชีพ.

   

๓๕. โพธิราชกุมารสูตร
สูตรว่าด้วยโพธิราชกุมาร

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าเนื้อชื่อเภสกฬา ใกล้เมืองสุงสุมารคิระ แคว้นภัคคะ . โพธิราชกุมารให้สร้างปราสาทชื่อโกกนุท เสร็จใหม่ ๆ ยังไม่ได้ใช้ จึงตรัสให้มาณพสัญชิกาบุตรให้ไปนิมนต์พระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไปฉัน รุ่งขึ้นเมื่อเสด็จไป โพธิราชกุมารกราบทูลขอให้ทรงเหยียบผ้า ( ขาว ) ที่ปู แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงดุษณีถึง ๓ ครั้ง. พระอานนท์จึงขอให้ทรงนำผ้าออกเสีย ๑๐   พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งเหนืออาสนะ.

   ๒. เมื่อพระผู้มีพระภาคฉันเสร็จแล้ว โพธิราชกุมารจึงกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า ความสุขจะพึงบรรลุได้ด้วยความสุขไม่ได้ พึงบรรลุได้ด้วยความทุกข์ ( ต้องแสวงหาด้วยความทุกข์จึงได้ความสุข ) พระผู้มีพระภาคจึงเล่าถึงการที่ทรงแสวงหา “ สันติวรบท” ( ทางอันประเสริฐไปสู่สันติ ) ด้วยวิธีทรมานพระกายต่าง ๆ ก็มิได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อทรงบพเพ็ญเพียรทางจิตใจ จึงตรัสรู้ได้. ( ความละเอียดเหมือนมหาสัจจกสูตร ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๔ (หัวข้อ ๓๖ . มหาสัจจกสูตร) ข้อที่ ๘ ถึงข้อ ๑๑ แล้วตรัสเล่าถึงการแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ( ภิกษุ ๕ รูป จนกระทั้งภิกษุเหล่านั้นได้ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ( เป็นพระอรหันต์ ).

   ๓. โพธิราชกุมารกราบทูลถามว่า ภิกษุได้พระตถาคตเป็นผู้แนะนำ จะต้องกินเวลานานสักเท่าไรจึงทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้. ตรัสย้อนถามโพธิราชกุมารซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการขึ้นขี่ช้าง จับขอ เมื่อมีผู้มาศึกษาศิลปะนี้ ถ้าไม่ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ ข้อ จะศึกษาสำเร็จได้หรือไม่ . กราบทูลว่า ขาดคุณสมบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่สำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ๕ ข้อ ในทางตรงกันข้าม ถ้าประกอบด้วยคุณสมบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็สำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ๕ ข้อ.

   ๔. จึงตรัสอธิบายถึงคุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ  ๑. ศรัทธา   ๒. มีโรคน้อย  ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา  ๔ . มีความเพียรไม่ทอดธุระ   ๕. มีปัญญา ( การขาดคุณสมบัติพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม คุณสมบัติทั้งห้าข้อนี้ ใช้ได้แม้ในการฝึกศิลปะขึ้นช้างและจับขอ ใช้ได้ทั้งในการประพฤติพรหมจรรย์ อนึ่ง คุณสมบัติ ๕ ประการนี้ ตรัสเรียกว่า ปธานิยังคะ องค์อันเป็นประธาน ๕ อย่าง .) แล้วตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์อันเป็นประธาน ๕ ประการนี้ จะพึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้ ภายใน  ๗ ปี   ๖ ปี  ๕ ปี  ลงมาจนถึงสั่งสอนในเวลาเย็น ได้บรรลุคุณพิเศษในเวลาเช้า สั่งสอนในเวลาเช้า ได้บรรลุคุณพิเศษในเวลาเย็น . โพธิราชกุมารก็ประกาศความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม.

   ๕. มาณพสัญชิกาบุตรทูลโพธิราชกุมารตรัสว่า ท่านประกาศคุณพระพุทธ พระธรรม ถึงอย่างนี้ ยังไม่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะอีก. โพธิราชกุมารตรัสว่า ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น ข้าพเจ้าจำได้ฟังมาจากยายว่า ยายเคยประกาศตั้งแต่ข้าพเจ้ายังอยู่ในท้องว่า ไม่ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายก็จะเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต. แม่นมของข้าพเจ้าก็เคยเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า โพธิราชกุมาร เป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต . ข้าพเจ้าขอประกาศเป็นครั้งที่ ๓ ว่าเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

   

๓๖. อังคุลีมาลสูตร
สูตรว่าด้วยพระองคุลิมาล

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. สมัยนั้นมีโจรชื่อองคุลิมาลในแว่นแคว้นโกศล เที่ยวฆ่ามนุษย์เอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องร่าง. เช้าวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีครั้นเสวยเสร็จ กลับจากบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีครั้นเสวยเสร็จ กลับจากบิณฑบาตก็เสด็จเดินทางไกลไปยังที่ที่องคุลิมาลอยู่ มีคนเลี้ยงโค เลี้ยงแกะ และชาวนาวิ่งมาห้ามมิให้เสด็จไป อ้างว่าโจรองคุลิมาลอยู่ทางนั้น ก็คงเสด็จต่อไปโดยดุษณีภาพ โจรองคุลิมาลเห็นเข้าจับอาวุธไล่ตามไปจนสุดกำลัง ก็ไม่สามารถตามทันได้ จึงกล่าวว่า “ หยุดก่อนสมณะ!” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ เราหยุดแล้ว ท่านจงหยุดสิ องคุลิมาล!” องคุลิมาลทูลถามว่า “ ทรงดำเนินไป เหตุไฉนจึงตรัสว่า หยุดแล้ว.” ตรัสตอบว่า “ เราวางอาชญาในสัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าหยุด ส่วนท่านไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าไม่หยุด” องคุลิมาลได้คิด ก็เลื่อมใส กราบทูลขอบวช ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคกลับไปกรุงสาวัตถีและพักอยู่ในที่นั้น ( เชตวนาราม)

   ๒. พระเจ้าปเสนทิเตรียมยกทัพออกปราบโจรองคุลิมาล เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยไพร่พล เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม ก็กราบทูลว่า จะไปปราบโจรองคุลิมาล. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ถ้าพบโจรองคุลิมาลบวชแล้วตั้งอยู่ในคุณธรรมจะทรงทำอย่างไร พระเจ้าปเสนธิกราบทูลว่า จะอภิวาทต้อนรับ ถวายปัจจัย ๔ และถวายความคุ้มครองอันเป็นธรรม. พระผู้มีพระภาคจึงชี้ให้ทรงรู้จักภิกษุองคุลิมาลซึ่งนั่งอยู่ในที่เฝ้าด้วย ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าปเสนทิทรงตกพระทัยกลัว จึงตรัสปลอบไม่ให้กลัว พระเจ้าปเสนทิก็ตรัสปราศัยกับพระองคุลิมาลเป็นอันดี และตรัสปวารณาที่จะถวายปัจจัย ๔ แต่พระองคุลิมาลทูลว่า มีไตรจีวรบริบูรณ์แล้ว พระเจ้าปเสนทิจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กราบทูลสรรเสริญว่า พระองค์ไม่สามารถปราบองคุลิมาลได้แม้ด้วยท้อนไม้และศัสตรา แต่พระผู้มีพระภาคทรงปราบได้ โดยไม่ต้องใช้ท่อนไม้และศัสตรา แล้วกราบทูลลากลับ.

   ๓. พระองคุลิมาลไปบิณฑบาตพบหญิงมีครรภ์แก่ ก็มีความกรุณา เมื่อกลับมากราบทูล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้พระองคุลิมาลกล่าวสัจจวาจา พระองคุลิมาลก็ไปกล่าวสัจจวาจา ให้พร ให้มีความสวัสดีทั้งมารดาและทารก หญิงนั้นก็คลอดทารกโดยสวัสดี.

   ๔. ต่อมาท่านบำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. เมื่อท่านไปบิณฑบาตก็ถูกก้อนดิน ท่อนไม้ก้อนกรวดที่เขาขว้างไป มีศีรษะแตก มีโลหิตไหล มีสังฆาฏิขาดวิ่นมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า กรรมที่จะให้ผลไปหมกไหม้ในนรกเป็นเวลาหลายหมื่นหลายแสนปี เป็นอันท่านได้รับผลในปัจจุบัน. พระองคุลิมาลก็หลีกเร้นเข้าไปอยู่ในถ้ำ และเปล่งอุทานเป็นธรรมภาษิตในทางส่งเสริมหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา.

   

๓๗. ปิยชาติกสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งที่เกิดจากสิ่งที่เป็นที่รัก

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. บุตรน้อยคนหนึ่งของคฤหบดีผู้หนึ่งถึงแก่กรรม. คฤหบดีผู้นั้นก็ไม่เป็นอันทำงาน ไม่เป็นอันบริโภคอาหาร ไปสู่ป่าช้าคร่ำครวญถึงบุตรที่รัก แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามทราบความแล้ว จึงตรัสสอนว่า ความโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นของเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก . แต่คฤหบดีกล่าวว่า ความยินดี ความดีใจก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รักด้วย ( เป็นเชิงไม่รับว่าความรักจะทำให้ทุกข์โดยส่วนเดียว ในทางทำให้สุขก็มี).

    ๒. ขณะนั้น นักเลงสกาหลายคนเล่นสกาอยู่ในที่ไม่ไกล คฤหบดีจึงเข้าไปหานักเลงสกาเหล่านั้นเล่าความที่จนกล่าวโต้ตอบกับพระผู้มีพระภาคทุกประการ. นักเลงสกาก็เห็นด้วยว่า ความยินดี ความดีใจ เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก . คฤหบดีเห็นว่า ความเห็นของตนตรงกับพวกนักเลงสกาก็จากไป

    ๓. เรื่องที่โต้ตอบกันนี้ ก็เป็นข่าวลือไปถึงราชสำนัก. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสนทนากับพระนางมัลลิกาถึงเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้ทราบแน่ พระนางมัลลิกาจึงส่งนาฬิชังฆพราหมณ์ไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค. พระองค์ทรงตรัสยืนยันว่า ความเศร้าโศก เป็นต้น เป็นของเกิดจากสิ่งที่เป็นที่รักจริง และได้ตรัสชี้ตัวอย่างมากหลาย ถึงคนที่ถึงกับเป็นบ้าไป หรือฆ่าหญิงคนรักและฆ่าตัวเป็นเพราะผู้เป็นที่รักตายไปบ้าง เพราะความรักมีอันปรวนแปรไปบ้าง แล้วนาฬิชังพราหมณ์ก็กลับมากราบทูลพระนางมัลลิกา .

    ๔. พระนางมัลลิกาจึงทูลถามพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงบุคคลและแว่นแคว้นต่อไปนี้ คือ กุมารีชื่อ   วชิรา,   นางวาสภขัตติยา,   วิฑูฑภเสนบดี,  พระนางมัลลิกาเอง และแคว้นกาสีและโกศล ว่าเป็นที่รักของพระเจ้าปเสนทิหรือไม่ ตรัสตอบว่า เป็นที่รัก ทูลถามว่า ถ้าบุคคลแล้วแว้นแคว้นเปลี่ยนแปลงไปจะทรงเศร้าโศกหรือไม่ ตรัสตอบว่า เศร้าโศก . พระนางมัลลิกาจึงตรัสสรุปว่า เพราะเหตุผลดังกล่าวนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถึงเรื่องที่ว่า ความเศร้าโศก เป็นต้น เป็นของเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก.

    ๕. พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงเลื่อมใส เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาประคองพระอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า มโน ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ขอนอบน้อมแก่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุธเจ้าพระองค์นั้น.

   

๓๘. พาหิติยสูตร
สูตรว่าด้วยผ้าที่ทอมาจากแคว้นพาหิติ

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้างเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี เห็นพระอานนท์แต่ไกล ก็ตรัสสั่งบุรุษผู้หนึ่งให้ไปกล่าวกะพระอานนท์ว่า พระเจ้าปเสนทินมัสการบาททั้งสองของพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ถ้าพระอานนท์ไม่มีธุระรีบด่วนขอได้โปรดรอก่อน แล้วเสด็จลงจากช้าง ชวนพระอานนท์ไปยังริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ต่างประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูไว้ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสถามถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงประพฤติความประพฤติทางกายวาจาใจ อันเป็นการแข่งดี ( ควรแก่การยกโทษ ) กับสมณพราหมณ์ผู้รู้หรือไม่ พระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่.

    ๒. ตรัสถามว่า ความประพฤติทางกายวาจาใจ อันเป็นการแข่งดี ( ควรแก่การยกโทษ ) กับสมณพราหมณ์ผู้รู้เป็นอย่างไร . ทูลตอบว่า ที่เป็นอกุศล. ที่เป็นอกุศลเป็นอย่างไร. ทูลตอบว่า ที่มีโทษ. ที่มีโทษเป็นอย่างไร. ทูลตอบว่า ที่มีการเบียดเบียน. ที่มีการเบียดเบียนเป็นอย่างไร ทูลตอบว่า ที่มีผลเป็นทุกข์. ที่มีผลเป็นทุกข์เป็นอย่างไร ทูลตอบว่า ที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง. อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อมเมื่อมีผู้ประพฤติเช่นนั้น ส่วนในทางดี พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.

    ๓. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลื่อมใสในสุภาษิตของพระอานนท์ ถึงกับตรัสว่า ถ้าพระอานนท์ใช้ช้างแก้ว ม้าแก้ว หรือบ้านส่วยได้ ก็จะถวายสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่ควรแก่พระอานนท์ จึงขอได้โปรดรับผ้าที่ทอมาจากแคว้นพาหิติ ยาว ๑๒ ศอก กว้าง ๘ ศอก ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรุทรงใส่หลอดไม้ไผ่สำหรับทำฉัตร ๑๑   มาถวาย เพื่อเป็นการอนุเคราะห์. เมื่อพระอานนท์อ้างว่าไตรจีวรของท่านบริบูรณ์แล้ว จึงทูลอ้อนวอนให้รับ พระอานนท์ก็รับ แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ แล้วถวายผ้านั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

   

๓๙. ธัมมเจติยสูตร
สูตรว่าด้วยเจดีย์คือพระธรรม

    ๑ . พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เมทฬุปนิคม แคว้นสักกะ. พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระราชกรณียกิจเสด็จไปยังนครนั้นโดยลำดับ ในการเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทรงมอบพระขรรค์และพระอุณหิส ( กรอบพระพักตร์ ) แก่ทีฆการายอำมาตย์ แล้วเสด็จดำเนินไปยังวิหารซึ่งปิดประตู ค่อย ๆ เข้าไปสู่ระเบียง ทรงกระแอมแล้วเคาะบานประตู . พระผู้มีพระภาคก็ทรงเปิดประตู . จึงเสด็จเข้าไปสู่วิหาร หมอบลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทรงจุมพิตพระบาทพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดฟั้นฝ่าพระบาทด้วยพระหัตถ์ ประกาศนามของพระองค์. พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในสรีระนี้.

    ๒. ตรัสตอบสรรเสริญว่า
   ๑. ไม่ทรงเห็นพรหมจรรย์อื่นจากพรหมจรรย์นี้ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เห็นปานนี้ ทรงมีความรู้ด้วยญาณอันประจักษ์ในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้โดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
    ๒. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายพร้อมเพียงไม่วิวาทกันเข้ากันได้ดี
    ๓. ทรงเห็นภิกษุทั้งหลายร่าเริงยินดี อินทรีย์แช่มชื่น คงจะได้บรรลุคุณพิเศษอันโอฬาร
    ๔. พระสาวกเตือนกันและกันมิให้ส่งเสียงเอ็ดอึงแม้ไอจาม ในขณะที่พระผู้มีพระภาคแสดงธรรม แสดงว่าทรงฝึกหัดบริษัทได้ดี โดยไม่ต้องใช้อาชญาและศัสตรา
    ๕. - ๘. ทรงเห็นบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์, พราหมณ์, คฤหบดี, สมณะ ผูกปัญหาถามว่า จะยกวาทะพระสมณโคดม แต่แล้วก็กลายเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคไป
    ๙. ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ กับปุราณะ ได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่ก็ไม่แสดงความเคารพในพระองค์เท่าในพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นทรงทดลองอยู่ในโรงพักแคบ ๆ ช่างไม้สองคนทราบว่าพระพุทธเจ้าอยู่ทางไหน ก็นอนหันศีรษะไปทางนั้น หันเท้าไปทางพระเจ้าปเสนทิโกศล
   ๑๐. ตรัสชี้แจงให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคและพระองค์ก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน มีอายุ ๘๐ เหมือนกัน เป็นชาวโกศลเหมือนกัน เพราะเหตุนี้จึงทรงแสดงความเคารพอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค.

   เมื่อพระเจ้าปเสนทโกศลเสด็จจากไปแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภาษิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ธัมมเจดีย์ ทรงถือว่ามีประโยชน์และเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ทรงสอนให้ภิกษุทั้งหลายเล่าเรียนทรงจำไว้.


๑. ลัทธิของมาคัณฑิยปริพพาชกนั้นมีอยู่ว่า ควรเจริญตา  หู  จมูก   ลิ้น   กาย   ใจ   ควรเห็น   ควรฟัง   ควรดม   ควรลิ้ม   ควรถูกต้อง   และควรรู้สิ่งที่ยังไม่เคย เมื่อได้เห็นได้ฟัง เป็นต้นแล้ว จึงควรก้าวล่วงเสีย เป็นการบัญญัติความเจริญในเรื่องของตา   หู   จมูก  ลิ้น   กาย   ใจ

๒ . คำนี้ไม่มีในบาลี ขอยืมมาใช้จากข้อความในสูตรอื่นเพื่อให้ได้ศัพย์เฉพาะ แม้คำว่า นัตถิกวาทะ เป็นต้น ก็ใช้เพื่อให้ตรงกับเนื้อความ

๓. อายตเนว ธมฺมเทสนา อรรถกถามิได้แก้ไว้ แต่คำว่า อายตนะ อรรถกถาอธิบายไว้หลายแห่งว่า ได้แก่การณะ ดูอรรถกถาภาค ๓ ( พระวินัยเล่มที่ ๓)และพระสุตตันตะเล่มที่ ๖ หน้า ๒

๔. ดูความละเอียดที่ซ้ำกัน ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๒ หน้า ๑

๕. คำว่า กสิณ หมายถึงแบบที่ทำขึ้น เพื่อเพ่งทำจิตให้เป็นสมาธิ มี ๑๐ คือ   ดิน,   น้ำ,   ไฟ,   ลม ,   สีเขียว,   สีเหลือง,   สีแดง,   สีขาว,   อากาศ,   วิญญาณ

๖. วิกุชฺชิตมตฺตา ฝรั่งแปลว่า นอกจากแสดงความโกรธ. อรรถกถาอธิบายว่า นอกจากร้องไห้หัวเราะ

๗. เวลาถูตัวใช้มือดึงชายสองข้าง ตรงกลางโรยฝุ่นเพื่อใช้ถูตัว

๘. มีปัญหาเรื่องคำว่า ปณฺฑุมุทิกสฺส เกิดในดินมีสีเหลืองค้นหาคำอธิบายในบาลีไม่พบ ได้สอบในภาษาสันสกฤตมีคำว่า ปาณฺฑุมฺฤท ดินเหลือง อนึ่ง คำว่า ๕๐๐ หาบนั้น บาลีว่า ๕๐๐ วาหะ พระอรรถหถาจารย์ แก้ว่า ๑ วาหะ เท่ากับ ๒๐๐ เกวียน ส่วนกับข้าวนั้น อรรถกถาแก้ว่า ได้แก่น้ำมัน น้ำอ้อย เป็นต้น. อนึ่ง คำว่า ปณฺฑุมุทิกสฺส มีทางสันนิษฐานตามศัพย์อีกอย่างหนึ่ง คือข้าวสาลีที่หุงแล้วมีสีเหลืองและอ่อนนุ่ม แม้คำว่า เกิดในดินสีเหลือง ก็เป็นเรื่องสันนิษฐานทั้งสิ้น ดินสีเหลืองจะดีสำหรับข้าวสาลีอย่างไรก็ยังไม่ได้สอบสวน

๙. คุนธา จะเป็นไม้อะไรยังไม่ทราบ อรรถกถาแก้ว่า ไม้คุนธาดำ แต่มีคำที่ใกล้เคียงคือคุนหา แปลว่า ต้นกะเม็ง , หญ้าปากกา. ผู้เขียนไม่รู้จักต้นกะเม็ง แต่พบคำอธิบายว่า มีชื่อภาษาลาตินว่า eclipta alba   ใบ     ราก   ใช้เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน   ราก   ก็ใช้เป็นยาได้

๑๐. อรรถกถาเล่าว่า โพธิราชกุมารเสี่ยงทายว่า ถ้าจะได้บุตร ขอให้ทรงเหยียบ. ในพระวินัย มีข้อห้ามเหยียบ ผ้าขาวที่ปูไว้ในบ้าน แต่ภายหลังทรงอนุญาตให้เหยียบได้ ถ้าเจ้าของบ้างประสงค์ให้เป็นมงคล

๑๑. ฉตฺตนาฬี

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ