บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

๓. นิสสัคคิยกัณฑ์

(ว่าด้วยอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท)

ปัตตวรรค (วรรคว่าด้วยบาตร)

(มี ๑๐ สิกขาบท)

สิกขาบทที่ ๑ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามสะสมบาตร)

              นางภิกษุณีที่เป็นคณะเดียวกัน ๖ รูป สะสมบาตรไว้มาก เป็นที่ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีสะสมบาตร ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์. (บาตรที่นับว่าสะสม คือนอกจากที่ใช้ประจำ ๑ ลูก และนอกจากที่ทำวิกัป หรือทำให้เป็นสองเจ้าของ คืออนุญาตให้ผู้อื่นมีสิทธิด้วย).

สิกขาบทที่ ๒ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามอธิษฐานจีวรนอกกาลและแจกจ่าย)

              ชาวบ้านเห็นนางภิกษุณีกลุ่มหนึ่งมีจีวรเก่า แต่ประพฤติตนสำรวมดี จึงเลื่อมใสถวายจีวรนอกกาลแก่ภิกษุณีสงฆ์. นางถุลลนันทาภิกษุณีอ้างว่าตนกราลกฐินแล้ว จึงอธิษฐานเป็นจีวรในกาล ให้แจกจ่าย (เมื่อทำวิธีนี้ จีวรก็ตกเป็นของนางถุลลนันทาภิกษุณี ในฐานะเป็นผู้มีพรรษามาก). เจ้าของจีวรถามนางภิกษุณีที่ตนประสงค์จะให้ได้รับ ทราบว่าไม่ได้รับ เพราะนางถุลลนันทาภิกษุณีทำไปอย่างนั้น จึงติเตียน. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอธิษฐานจีวรนอกาล เป็นจีวรในกาล แล้วแจกจ่าย ทรงปรับอาบัตนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ล่วงละเมิด.

สิกขาบทที่ ๓ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามชิงจีวรคืนเมื่อแลกเปลี่ยนกันแล้ว)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีแลกจีวรกับภิกษุณีรูปอื่นแล้ว ภายหลังชวนแลกคืนตามเดิม พร้อมทั้งชิงเอาทั้ง ๆ ที่อีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ทันตกลงประการไร. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ชิงคืนเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นชิง.

สิกขาบทที่ ๔ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามขอของอย่างหนึ่งแล้วขออย่างอื่นอีก)

              อุบาสกคนหนึ่งถามนางถุลลนันทาภิกษุณีว่า ต้องการอะไร นางตอบว่า ต้องการเนยใส เขาจึงซื้อเนยใสมาถวาย นางกลับบอกว่า ไม่ต้องการเนยใส แต่ต้องการน้ำมัน. เขาจึงเอาเนยใสไปคืน จะขอน้ำมันมาแทน แต่พ่อค้าไม่ยอมให้คืน. เขาจึงติเตียนนางถุลลนันทาภิกษุณี. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามขอของอย่างหนึ่ง แล้วขอของอย่างอื่นอีก ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ประพฤติเช่นนั้น.

สิกขาบทที่ ๕ ปัตตวรรค ในนิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามสั่งซื้อของกลับกลอก)

              อุบาสกผู้หนึ่งเอาเงิน ๑ กหาปณะฝากไว้ที่พ่อค้าในตลาด แล้วบอกกับนางถุลลนันทาภิกษุณีว่า ต้องการอะไรในราคานั้นให้ไปนำมา. นางใช้นางสิกขมานา (สามเณรีผู้กำลังศึกษา คือสามเณรีที่เตรียมตัวจะเป็นนางภิกษุณีตามระยะกาลกำหนด) ผู้หนึ่ง ให้ไปนำน้ำมันมาราคา ๑ กหาปณะ ครั้นนำมาแล้ว สั่งเปลี่ยนใหม่ว่า ไม่ต้องการน้ำมัน แต่ต้องการเนยใส. นางสิกขมานานำน้ำมันไปคืน จะขอเนยใสมา พ่อค้าไม่ยอมรับคืน. นางสิกขมานาก็ยืนร้องไห้. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้สั่งซื้อของกลับกลอกเช่นนั้น.

สิกขาบทที่ ๖ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามจ่ายของผิดวัตถุประสงค์เดิม)

              พวกอุบาสกเรี่ยไรกันเพื่อทำจีวรถวายภิกษุณีสงฆ์ แล้วเก็บของไว้ ณ บ้านของพ่อค้าผ้าคนหนึ่ง เข้าไปหานางภิกษุณีทั้งหลาย สั่งว่า ถ้าต้องการจีวรให้ไปรับมาจัดแบ่งกัน. นางภิกษุณีทั้งหลายเอาผ้านั้นไปจ่ายแลกเภสัชมาบริโภคเสียเอง. เขารู้เข้าก็พากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณี ที่เอาของที่เขาประสงค์เจาะจงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง ถวายแก่สงฆ์ไว้ไปจ่ายแลกของอื่น.

สิกขาบทที่ ๗ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามขอของมาจ่ายแลกของอื่น)

              พวกอุบาสกเรี่ยไรกันเพื่อทำจีวรถวายภิกษุณีสงฆ์ แล้วเก็บของไว้ที่บ้านของพ่อค้าผ้าคนหนึ่ง เข้าไปหานางภิกษุณีทั้งหลาย สั่งว่า ถ้าต้องการจีวร ก็ให้ไปรับมาจัดแบ่งกัน. นางภิกษุณีขอผ้านั้นด้วยตนแล้ว เอาบริขารนั้นไปจ่ายแลกเภสัชมาบริโภค. เขารู้เข้าก็พากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณี ที่เอาของที่เขาประสงค์เจาะจงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง ถวายแก่พระสงฆ์ซึ่งตนขอมาเองไปจ่ายแลกของอื่น.

สิกขาบทที่ ๘ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามพูดติเตียนเมื่อถูกลงโทษโดยธรรม)

              ชนกลุ่มหนึ่งเรี่ยไรกันเพื่อทำข้าวยาคูถวายนางภิกษุณีทั้งหลาย (ในที่นี้ไม่ใช้คำว่า สงฆ์ ด้วยมุ่งหมายหมู่นางภิกษุณีที่ลำบากด้วยข้าวยาคู) แล้วฝากของไว้ที่บ้านพ่อค้าคนหนึ่ง เข้าไปหานางภิกษุณีทั้งหลาย สั่งว่า ถ้าต้องการข้าวยาคู ให้ไปเอาข้าวสารมาต้มเป็นข้าวยาคูบริโภค. นางภิกษุณีทั้งหลายเอาของนั้นจ่ายแลกเภสัชมาบริโภค. เขาทราบเข้าพากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณี ที่เอาของที่เขาประสงค์เจาะจงเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง ถวายไว้แก่คณะนางภิกษุณี มาจ่ายแลกของอย่างอื่น. (ความต่างกันของสิกขาบทนี้ กับสิกขาบที่ ๖ ที่ ๗ อยู่ที่คณะกับสงฆ์ คณะหมายเอา ๒-๓ รูป สงฆ์หมายเอา ๔ รูปขึ้นไป).

สิกขาบทที่ ๙ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามขอของของคณะมาจ่ายแลกของอื่น)

              เรื่องเช่นเดียวกับสิกขาบทที่ ๘ เป็นแต่นางภิกษุณีขอก่อนแล้วจึงจ่ายแลกของ ทำนองเดียวกับสิกขาบทที่ ๗ เป็นแต่สิกขาบทนี้เขาถวายแก่คณะ.

สิกขาบทที่ ๑๐ ปัตตวรรค นิสสัคคิยกัณฑ์

(ห้ามขอของบุคคลมาจ่ายแลกของอื่น)

              เรื่องทำนองเดียวกับสิกขาบทที่ ๙ เป็นแต่เขาถวายของเป็นส่วนบุคคลสำหรับค่าทำความสะอาดบริเวณ แต่ผู้รับเอามาจ่ายแลกเภสัช.

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ