บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

กุมารีภูตวรรคที่ ๘
(วรรคว่าด้วยหญิงสาวที่ยังไม่มีสามี)

สิกขาบทที่ ๑ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้บวชแก่หญิงสาวที่อายุไม่ครบ ๒๐ ปี)

              นางภิกษุณีทั้งหลายใหญิงสาวที่มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบวช. นางไม่อดทนต่อหนาว, ร้อน, หิว, ระหาย เป็นต้น. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีให้หญิงสาวที่มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบวช ต้องปาจิตตีย์.

              (หมายเหตุ : พึงสังเกตว่า หญิงที่มีสามีแล้ว อายุครบ ๑๒ จะบวชเป็นนางภิกษุณี ต้องเป็นนางสิกขมานาศึกษาอยู่อีก ๒ ปี จนอายุครบ ๑๔ ปีบริบูรณ์แล้ว จึงบวชเป็นนางภิกษุณีได้แต่ถ้ายังมิได้สามี ต้องอายุครบ ๒๐ จึงบวชได้. แต่ก่อนจะบวชเป็นนางภิกษุณี จะต้องเป็นนางสิกขมานา ๒ ปี ทุกรายไป. ฉะนั้น หญิงที่ประสงค์จะบวชเป็นนางภิกษุณี เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะต้องบวชเป็นสามเณรีและเป็นนางสิกขมานาก่อนอายุครบ เพื่อไม่ต้องยึดเวลาเป็นนางสิกขมานาเมื่ออายุครบแล้ว).

สิกขาบทที่ ๒ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชหญิงที่อายุครบ แต่ยังมิได้ศึกษาครบ ๒ ปี)

สิกขาบทที่ ๓ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชหญิงที่ศึกษาครบ ๒ ปีแล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ)

              สองสิกขาบทนี้ มีเค้าความทำนองเดียวกับสิกขาบทที่ ๓ และที่ ๔ และที่ ๖ ที่ ๗ แห่งคัพภินีวรรค ที่กล่าวมาแล้ว เป็นแต่นำมาใช้ในกรณีที่เป็นหญิงสาวมีอายุครบ ๒๐ ปี มีสิทธิจะบวชได้ ก็คงให้ศึกษาก่อน และศึกษาแล้วก็ต้องให้สงฆ์สวดสมมติอนุญาตให้อุปสมบทก่อน.

สิกขาบทที่ ๔ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเป็นอุปัชฌาย์เมื่อพรรษาไม่ครบ ๑๒)

              นางภิกษุณี พรรษาไม่ครบ ๑๒ ให้ผู้อื่นบวช. ตนเองก็เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร. แม้สัทธิวิหารินี (ผู้ที่ตนบวชให้แปลตามศัพท์ว่า ผู้อยู่ร่วม) ก็เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณี พรรษาหย่อนกว่า ๑๒ ให้ผู้อื่นบวช ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๕ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเป็นอุปัชฌาย์โดยที่สงฆ์มิได้สมมติ)

              นางภิกษุณีมีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ (แต่งตั้ง) ให้ผู้อื่นบวช. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีที่มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว แต่สงฆ์ยังมิได้สมมติ ให้ผู้อื่นบวช ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๖ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับรู้แล้วติเตียนในภายหลัง)

              นางจัณฑกาลีภิกษุณีเข้าไปหาภิกษุณีสงฆ์ ขอให้แต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ภิกษุณีสงฆ์พิจารณาแล้วไม่อนุญาต (เพราะเห็นว่ายังไม่เหมาะสม). นางก็รับคำว่า "สาธุ" ภายหลังภิกษุณีสงฆ์แต่งตั้งนางภิกษุณีอื่นให้เป็นอุปัชฌายะ. นางจัณฑกาลีภิกษุณีจึงเที่ยวโพนทะนาว่ากล่าว. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีที่สงฆ์ยังไม่อนุญาตให้เป็นอุปัชฌายะ รับคำว่า สาธุ แล้ว ภายหลังกลับติเตียน ต้องปาจิตตีย์. (สิกขาบทนี้ให้อำนาจภิกษุณีสงฆ์ พิจารณาผู้ที่จะเป็นอุปัชฌายะด้วย แม้มีพรรษาครบ ๑๒ แล้ว จะไม่แต่งตั้งสวดสมมติให้ก็ได้)

สิกขาบทที่ ๗ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับปากว่าจะบวชให้ แล้วกลับไม่บวชให้)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีรับปากกับนางสิกขมานารูปหนึ่งว่า ถ้าให้จีวรจะบวชให้ แล้วไม่บวชให้ ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นบวชให้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีกล่าวกะนางสิกขมานาว่า ถ้าท่านจักให้จีวรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักบวชให้ แล้วภายหลังไม่มีเหตุขัดข้อง ไม่บวชให้เองก็ดี ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นบวชให้ก็ดี ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๘ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามรับปากแล้วไม่บวชให้ในกรณีอื่น)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีรับปากกับนางสิกขมานารูปหนึ่งว่า ถ้าติดตามครบ ๒ ปี จะบวชให้ แล้วไม่บวช ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นบวชให้. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีกล่าวกะนางสิกขมานาว่า ถ้าติดตาม (รับใช้) ครบ ๒ ปี แล้วจะบวชให้ ภายหลังไม่มีเหตุขัดข้อง ไม่บวชให้เองก็ดี ไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นบวชให้ก็ดี ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๙ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชให้นางสิกขมานาที่ประพฤติไม่ดี)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีบวชให้นางสิกขมานาผู้คลุกคลีด้วยบุรุษ คลุกคลีด้วยชายหนุ่ม เป็นคนดุร้าย ก่อความเศร้าใจแก่คนอื่น มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีบวชให้นางสิกขมานาผู้คลุกคลีด้วยบุรุษ คลุกคลีด้วยชายหนุ่ม เป็นคนดุร้าย ก่อความเศร้าใจแก่คนอื่น ต้องปาจิตตีย์ (บุรุษ คือคนมีอายุครบ ๒๐ แล้ว, กุมารกะหรือชายหนุ่ม คือที่อายุยังไม่ถึง ๒๐).

สิกขาบทที่ ๑๐ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชให้นางสิกขมานาที่มารดาบิดาหรือสามีไม่อนุญาต)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีบวชให้นางสิกขมานาที่มารดาบิดายังไม่อนุญาตบ้าง ที่สามียังไม่อนุญาตบ้าง. มารดาบิดาบ้าง สามีบ้าง พากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีบวชให้นางสิกขมานาที่มารดาบิดาหรือสามียังมิได้อนุญาต ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๑๑ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำกลับกลอกในการบวช)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีคิดจะบวชให้นางสิกขมานา จึงนิมนต์พระภิกษุที่เป็นเถระทั้งหลายมาประชุมกัน ครั้นแล้วเห็นของเคี้ยวของฉันมีมาก จึงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะยังไม่บวชให้นางสิกขมานาละ" แล้วส่งภิกษุเถระเหล่านั้นกลับ นิมนต์พระเทวทัต เป็นต้น (รวม ๕ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระที่ก่อเรื่องยุ่งยาก) มาประชุมกัน บวชให้นางสิกขมานา. มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์ แก่นางภิกษุณีผู้ทำเช่นนั้น.

สิกขาบทที่ ๑๒ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชให้คนทุกปี)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีบวชให้คนทุก ๆ ปี ที่อยู่ไม่พอกัน มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้บวชให้ทุกปี (ต้องบวชปีเว้นปี).

สิกขาบทที่ ๑๓ กุมารีภูตวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบวชให้ปีละ ๒ คน)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีบวชให้ปีละ ๒ คน. ที่อยู่ไม่พอกัน มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่บวชให้ปีละ ๒ คน.


๑. มีทางสันนิษฐานได้เป็น ๒ ประการ คือพูดเป็นเชิงเรียกสินบนหรือสิ่งตอบแทนอย่างอนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง หมายเพียงไปหาจีวรมาได้ก็จะบวชให้ คือมิใช่รับไว้เป็นของตน. เพราะเป็นประเพณีที่ผู้ขอบวชจะต้องมอบจีวรแก่อุปัชฌายะ แล้วอุปัชฌายะทำพิธีมอบให้ในเวลาบวช
๒. ฉบับฝรั่ง แปลคำว่า ปาริวาสิกฉนฺททาเนน ไปในทางว่าด้วยแสดงความพอใจภิกษุที่อยู่ปริวาส (ในการออกจากอาบัต) แต่คำอธิบายท้ายสิกขาบท และอรรถกถามุ่งไปในทางทำให้พระที่มาประชุมชุดก่อนต้องเก้อเลิกไป

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ