บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

๒. สัตตรสกัณฑ์

(ว่าด้วยอาบัติสังฆาทิเสส ๑๗ สิกขาบท)

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑

(ห้ามก่อคดีในโรงศาลกับคฤหัสถ์และนักบวช)

              นางถุลลนันทาภิกาณี เป็นความกับชายคนหนึ่งด้วยเรื่องโรงเก็บของที่บิดาของชายคนนั้นถวายเป็นของภิกษุณีสงฆ์ แต่เมื่อบิดาตาย ชายคนนั้นจะเอาคืน ศาลตัดสินให้นางภิกษุณีชนะ. ชายนั้นหาว่านางโกง. นางแจ้งความ. ศาลลงโทษชายนั้น. ชายนั้นสร้างที่อยู่ให้อาชีวก และให้อาชีวกมาด่า. นางแจ้งความ. ศาลตัดสินจำคุกชายนั้น. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า

              นางภิกษุณีฟ้องความกับคฤหบดี บุตรคฤหบดี ทาส กรรมกร หรือแม้โดยที่สุดกับสมณะนักบวช ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒

(ห้ามให้บวชแก่หญิงที่เป็นโจร)

              ชายาของเจ้าลิจฉวีคนหนึ่งนอกใจสามี สามีจะฆ่า จึงหนีไป พร้อมทั้งขโมยของมีค่าไปด้วย นางไปขอบวชในลัทธิอื่น ก็ไม่มีใครบวชให้ แต่นางถุลลนันทาภิกษุณีเห็นแก่ของกำนัล ยอมบวชให้ สามีตามมาถึงเมืองสาวัตถี ฟ้องต่อพระเจ้าปเสนทิขอให้สึกให้ พระเจ้าปเสนทิไม่ทรงยินยอม ทรงถือว่าบวชแล้วก็แล้วไป. สามีจึงติเตียนนางถุลลนันทาภิกษุณี. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า

              นางภิกษุณีรู้อยู่ รับสตรีซึ่งเป็นโจร อันคนทั้งหลายรู้ว่ามีโทษประหารให้อยู่ (ให้บวช) โดยไม่บอกเล่า พระราชา, สงฆ์, คณะ, หมู่, พวก เว้นแต่ผู้ที่สมควร (คือบวชในลัทธิอื่นแล้ว หรือบวชในสำนักนางภิกษุณีอื่นอยู่แล้ว) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓

(ห้ามเข้าบ้าน, ข้ามน้ำ, ค้างคืนแต่ผู้เดียว)

              มีเรื่องหลายเรื่องที่นางภิกษุณีข้ามน้ำ, นอนตามลำพัง, เดินทางแตกหมู่แล้วถูกข่มขืน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า

              นางภิกษุณีแต่ลำพังผู้เดียวไปสู่ละแวกบ้านก็ตาม, ข้ามแม่น้ำก็ตาม, ค้างคืนก็ตาม, ล้าหลังแยกจากหมู่ (ในการเดินทาง) ก็ตาม ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๔

(ห้ามสวดเปลื้องโทษโดยไม่บอกสงฆ์ที่สวดลงโทษ)

              ภิกษุสงฆ์สวดประกาศลงโทษนางภิกษุณีรูปหนึ่งผู้ไม่เห็นอาบัติ นางถุลลนันทาภิกษุณีหาพวกสวดประกาศเปลื้องโทษ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ความว่า

              นางภิกษุณีไม่บอกกล่าวสงฆ์ผู้ทำการ ไม่รู้ฉันทะ (ไม่ได้รับความยินยอม) ของคณะ เปลื้องโทษ นางภิกษุณีที่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันยกเสียจากหมู่ ตามธรรม ตามวินัย ตามสัตถุศาสนา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๕

(ห้ามรับของเคี้ยวของฉันจากมือบุรุษ)

              นางภิกษุณีรูปหนึ่ง รูปร่างงดงาม คนก็รุมถวายอาหารดี ๆ เกิดมีเสียงครหาขึ้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ใจความว่า

              นางภิษุณีมีความกำหนัด รับของเคี้ยวของฉันจากมือบุรุษผู้มีความกำหนัด ด้วยมือของตนมาเคี้ยว มาฉัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๖

(ห้ามพูดจูงใจให้นางภิกษุณีประพฤติย่อหย่อน)

              นางสุนทรีนันทาภิกษุณีผู้มีรูปงาม เห็นคนถวายอาหารดี ๆ มาก และรู้ว่าคนเหล่านั้นมีความกำหนัดจึงไม่รับ. นางอนันตริกาภิกษุณี กลับพูดจูงใจว่า เขากำหนัดหรือไม่กำหนัด จะเป็นไรไป ควรรับได้ ท่านไม่กำหนัดก็แล้วกัน. ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัตสังฆาทิเสสแก่นางภิกษุณีผู้พูดจูงใจให้ย่อหย่อนแบบนั้น.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๗

(ห้ามพูดดูหมิ่นภิกษุณีสงฆ์เมื่อโกรธเคือง)

              นางจัณฑกาลีภิกษุณีทะเลาะกับนางภิกษุณีอื่น มีความโกรธเคือง พูดว่า ข้าพเจ้าขอบอกคืนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมณสตรีพวกศากยบุตรนี้จะอะไรนักเทียว สมณสตรีดี ๆ พวกอื่นก็มี ข้าพเจ้าจะไปประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณสตรีเหล่านั้น

              พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามกล่าวาจาเช่นนั้น เมื่อโกรธเคือง และเมื่อกล่าวไปแล้ว ให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๘

(ห้ามพูดติเตียนเมื่อถูกลงโทษโดยธรรม)

              นางจัณฑกาลีภิกษุณีถูกลงโทษในอธิกรณ์เรื่องหนึ่ง โกรธเคือง จึงกล่าวหาว่า นางภิกษุณีทั้งหลาย ลุแก่อคติ ๔ พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามติเตียนเช่นนั้น และให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๙

(ห้ามรวมกลุ่มกันประพฤติเสื่อมเสีย)

              นางภิกษุณีที่เป็นศิษย์ของนางถุลลนันทาภิกษุณี รวมกลุ่มกันประพฤติเสื่อมเสีย มีชื่อเสียงไม่ดี เบียดเบียนภิกษุณีสงฆ์ ปกปิดความชั่วของกันและกัน. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามประพฤติเช่นนั้น และให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน เมื่อไม่เชื่อฟัง จึงสวดประกาศตักเตือน ถ้าครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่เลิกละ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๑๐

(ห้ามพูดยุยงนางภิกษุณีผู้ประพฤติผิด)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีพูดกับนางภิกษุณีทั้งหลายที่ถูกสงฆ์สวดประกาศตักเตือน (ตามสิกขาบทที่ ๙) ว่า "แม่เจ้าทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงรวมกลุ่มกัน อย่าแยกกัน. แม้นางภิกษุณีเหล่าอื่นที่มีความประพฤติอย่างนี้ มีชื่อเสียงอย่างนี้ เบียดเบียนภิกษุสงฆ์ ปกปิดโทษของกันและกันก็มีอยู่ในสงฆ์ แต่สงฆ์ก็มิได้กล่าวอะไรซึ่งนางอภิกษุณีเหล่านั้น. สงฆ์ว่ากล่าวพวกท่าน เพราะดูหมิ่น เพราะข่มเหง เพราะไม่ชอบใจ เพราะเสียงซุบซิบ เพราะ(พวกท่าน) มีกำลังน้อย. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามนางภิกษุณี กล่าวกะนางภิกษุณีที่ถูกสงฆ์สวดประกาศตักเตือนเช่นนั้น. ถ้ามีใครขืนทำ ให้ภิกษุณีสงฆ์ตักเตือน ถ้าไม่ฟัง ให้สวดประกาศเตือน ครบ ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่ละเลิก ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.

              (หมายเหตุ : อีก ๗ สิกขาบทไม่ได้กล่าวไว้ แต่ให้ใช้สิกขาบทของภิกษุ คือสิกขาบที่ ๕, ๘, ๙, และ ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑๓ รวม ๗ สิกขาบท)


๑. คฤหบดี แปลว่า ผู้ครองเรือน
๒. สมัยนั้น ใครลักทรัพย์ ๑ บาท คือ ๕ มาสกขึ้นไป ต้องประหารชีวิต
๓. คือเป็นอุปัชฌายะให้บวช
๔. ตามสิกขาบทนี้ แสดงว่านางภิกษุณีจะต้องอยู่ในหมู่ในคณะ จะปลีกตัวไปไหน หรือแม้นอนคนเดียว ไม่มีเพื่อนภิกษุณีด้วย ย่อมต้องอาบัติ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ