บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

ฉัตตุปาหนวรรคที่ ๙
(วรรคว่าด้วยร่มและรองเท้า)

สิกขาบทที่ ๑ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามใช้ร่มใช้รองเท้า เว้นแต่จะไม่สบาย)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีพวก ๖ ใช้ร่มใช้รองเท้า. มนุษย์ทั้งหลายติเตียนว่าใช้ของเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีใช้ร่มใช้รองเท้า ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงบัญัติเพิ่มเติม อนุญาตให้ใช้ได้ ถ้าเป็นไข้ หรือไม่ใช้แล้วจะไม่สบาย.

สิกขาบทที่ ๒ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามไปด้วยยาน เว้นแต่ไม่สบาย)

              นางภิกษุณีพวก ๖ ไปด้วยยาน. มนุษย์ทั้งหลายติเตียนว่าทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีไปด้วยยาน ต้องปาจิตตีย์ ภายหลังทรงบัญญัติเพิ่มเติม อนุญาตให้ไปด้วยยานได้ ถ้าเป็นไข้.

              (หมายเหตุ : ทั้งสองสิกขาบทนี้ เห็นได้ว่าเพื่อมิให้ถูกติว่าเลียนแบบคฤหัสถ์ เป็นการบัญญัติตามกาลเทศ และสิ่งแวดล้อม. ตกมาถึงสมัยนี้ ความรังเกียจคงเปลี่ยนแปลงไป. สิกขาบทเหล่านี้ จึงคงอยู่ในประเภทที่ทรงอนุญาตไว้ก่อนปรินิพพานว่า ถ้าจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยก็ถอนได้ เป็นการเปิดทางให้กาลเทศะ แต่พระสาวกสมัยสังคายนาเห็นว่า ถ้าปล่อยให้ถอนกันตามชอบใจ จะยุ่งกันใหญ่ คืออาจจะไปถอนสิกขาบทที่สำคัญเข้า แต่เห็นเป็นไม่สำคัญ ฉะนั้น ท่านจึงสวดประกาศห้ามถอน เป็นการใช้อำนาจสงฆ์สั่งการ เช่นนั้น).

สิกขาบทที่ ๓ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามใช้ผ้าหยักรั้ง)

              นางภิกษุณีถูกสกุลที่ตนเข้าไปฉันขอร้องให้นำผ้า "สังฆาณี" (ผ้าแคบ แต่ยาวพอนุ่งปิดสะโพกได้ เมื่อนุ่งแล้วจะดูเป็นผ้าหยักรั้ง ผรั่งเรียกว่า Loin-cloth คือผ้าปกสะโพก แสดงรูปชาวอินเดียนุ่งผ้าแบบนี้ให้ดูด้วย) ไปมอบให้สตรีอีกคนหนึ่ง. นางภิกษุณีนั้นคิดว่าจะใส่บาตรนำไปก็เกรงน่าเกลียด จึงนุ่งไป ในขณะที่ไปในถนนถ้ายขาด ผ้าจึงหลุดลงมาเรี่ยราด ถูกติเตียนว่าใช้ผ้านุ่งเหมือนคฤหัสถ์. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ใช้ผ้าสังฆาณี.

สิกขาบทที่ ๔ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามใช้เครื่องประดับกายสำหรับหญิง)

              นางภิกษุณีพวก ๖ ใช้เครื่องประดับกายสำหรับหญิง (คือเครื่องประดับศีรษะ, คอ, มือ, เท้า และสะเอว) มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีใช้เครื่องประดับกายสำหรับหญิง ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๕ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามอาบน้ำหอมและน้ำมีสี)

              นางภิกษุณีพวก ๖ อาบน้ำด้วยน้ำหอมและน้ำมีสี (อาจใช้ย้อมกายได้) มีผู้ติเตียนว่าทำอย่างคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีอาบน้ำด้วยน้ำหอมและน้ำมีสี ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๖ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามอาบน้ำด้วยแป้งงาอบ)

              นางภิกษุณีพวก ๖ อาบน้ำด้วยแป้งที่ทำด้วยงาอบกลิ่น มีผู้ติเตียนว่าทำอย่างคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีอาบน้ำด้วยแป้งงาอบกลิ่น ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๗ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้นางภิกษุณีทาน้ำมันหรือนวด)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีให้นางภิกษุณด้วยกันทาน้ำมันบ้าง นวดบ้าง มีผู้ติเตียนว่าทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีให้นางภิกษุณีทาน้ำมันหรือนวด ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๘-๙-๑๐ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้ผู้อื่นทาน้ำมันหรือนวด)

              สิกขาบททั้งสามนี้ ก็เหมือนกับสิกขาบที่ ๗ ต่างแต่ผู้ทาน้ำมันและนวดในสิกขาบทที่ ๘ เป็นนางสิกขมานา; สิกขาบทที่ ๙ เป็นสามเณรี; สิกขาบทที่ ๑๐ เป็นคิหินี (สตรีผู้เป็นคฤหัสถ์).

สิกขาบทที่ ๑๑ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามนั่งหน้าภิกษุโดยไม่บอกก่อน)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีทั้งหลายไม่อาปุจฉา นั่งบนอาสนะเบื้องหน้าของภิกษุ มีผู้ติเตียน มีผู้ติเตียน พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีไม่อาปุจฉา นั่งบนอาสนะเบื้องหน้าภิกษุ ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๑๒ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามถามปัญหาภิกษุโดยไม่ขอโอกาส)

              สมัยนั้น นางภิกษุณีถามปัญหาภิกษุผู้ที่ตนมิได้ขอโอกาส มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีถามปัญหาที่ตนมิได้ขอโอกาส ต้องปาจิตตีย์. (เป็นระเบียบเรื่องความเคารพ).

สิกขาบทที่ ๑๓ ฉัตตุปาหนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเข้าบ้านโดยไม่ใช้ผ้ารัดหรือผ้าโอบ)

              นางภิกษุณีเข้าบ้าน ไม่มีผ้าสังกัจฉิกะ (ผ้ารัดหรือโอบที่ใช้ปิดตั้งแต่หลุมคอลงไป และตั้งแต่สะดือขึ้นมา). มนุษย์พากันแกล้งชมโฉมต่าง ๆ. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีไม่ใช้ผ้าสังกัจฉิกะ (ผ้ารัดหรือผ้าโอบ) เข้าบ้าน (กำหนดตั้งแต่เขตรั้วเข้าไป) ต้องปาจิตตีย์.

              (หมายเหตุ : ปาจิตตีย์ของนางภิกษุณีทั้งหมดมี ๑๖๖ แต่แสดงไว้ในภิกขุนีวิภังค์นี้เพียง ๙๖ สิกขาบท แบ่งเป็น ๙ วรรค. ๗ วรรคแรก มีวรรคละ ๑๐ สิกขาบท. ๒ วรรคหลัง มีวรรคะ ๑๓ สิกขาบท. และได้นำปาจิตตีย์ของภิกษุมาใช้ ๗๐ สิกขาบท (๙๖+๗๐=๑๖๖) คือปาจิตตีย์ของภิกษุมี ๙๒ สิกขาบท นำออกเสีย ๒๒ สกขาบทเฉพาะที่ไม่จำเป็นสำหรับนางภิกษุณี. ๒๒ สิกขาบทที่ไม่ใช้แก่นางภิกษุณี คือ โอวาทวรรคที่ ๓ รวมหมดทั้งสิบสิกขาบท โภชนวรรคที่ ๕ เฉพาะสิกขาบทที่ ๓, ๕, ๖ และ ๙ รวม ๔ สิกขาบท : อเจลกวรรคที่ ๕ เฉพาะสิกขาบทที่ ๑; สัปปาณกวรรคที่ ๗ เฉพาะสิกขาบทที่ ๔, ๕ และ ๗ รวม ๓ สิกขาบท: รตนวรรคที่ ๙ เฉพาะสิกขาทที่ ๑, ๓, ๗ และ ๙ รวม ๔ สิกขาบท: รวมทั้งสิ้น ๒๒ สิกขาบท, ท่านผู้ประสงค์จะทราบว่าสิกขาบทที่ไม่นำมาใช้สำหรับนางภิกษุณีตามที่ระบุไว้ ๒๒ สิกขาบทนี้ว่าด้วยเรื่องอะไรบ้าง โปรดดูหน้า ๑๖๘ ถึง ๑๗๙).


๑. อรรถกถาแสดงว่ามีลักษณะเป็นตาข่ายร้อยดอกไม้ ด้ายหลุด ดอกไม้หล่นกระจาย จึงน่าจะเป็นเครื่องประดับสะเอว แต่ Miss I.B. Horner แปลคำนี้ว่า Peticoat หรือกระโปรงชั้นใน, เมื่อดูสิกขาบทต่อไปเทียบเคียงแล้ว ทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องประดับสะเอว
๒. ตามศัพท์แปลว่า ถามโดยเอื้อเฟื้อ โดยความคือขอโอกาสหรือขออนุญาต

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ