บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

อารามวรรคที่ ๖
(วรรคว่าด้วยอาราม)

สิกขาบทที่ ๑ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเข้าไปในวัดที่มีภิกษุโดยไม่บอกล่วงหน้า)

              ภิกษุหลายรูปนุ่งผ้าผืนเดียว (ไม่ได้ห่มจีวร) ทำจีวรอยู่ในวัดใกล้หมู่บ้าน. นางภิกษุณีไม่ได้บอกล่วงหน้า เข้าไปในวัด (คงทำให้น่าเกลียดที่เข้าไปเห็นพระนุ่งสบงโดยไม่ห่มจีวร). ภิกษุเหล่านั้นพากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท และบัญญัติเพิ่มเติมอีก ๒ ครั้ง รวมเป็นข้อความว่า นางภิกษุณีรู้อยู่ไม่บอก (ล่วงหน้า) เข้าไปสู่ที่วัดที่มีภิกษุ ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๒ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามด่าหรือบริภาษภิกษุ)

              นางภิำกษุณีพวก ๖ โกรธเคืองพระกัปปิตกะ ผู้เป็นอุปัชฌายะของพระอุบาลี คิดจะฆ่าเสีย. บางรูปเล่าให้พระอุบาลีฟัง. พระอุบาลีจึงบอกให้พระกัปปิตกะทราบ. พระกัปปิตกะจึงหลบซ่อน. นางภิกษุณีพวกนั้นฆ่าไม่สำเร็จ จึงโกรธเคืองพระอุบาลีว่าเป็นผู้ไปบอก จึงพากันด่าและบริภาษพระอุบาลี. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ด่า หรือบริภาษภิกษุ.

สิกขาบทที่ ๓ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามบริภาษภิกษุณีสงฆ์)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีโกรธเคืองภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งสวดประกาศลงอุกเขปนียกรรม (ยกจากหมู่) แก่นางจัณฑกาลีภิกษุณี เพราะเหตุที่ไม่เห็นอาบัติ จึงด่าบริภาษภิกษุณีสงฆ์ว่า "นางภิกษุณีเหล่านี้เป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่รู้จักธรรม, โทษของกรรม, กรรมวิบัติหรือกรรมสมบัติ" พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้บริภาษภิกษุณีสงฆ์.

สิกขาบทที่ ๔ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามฉันอีกเมื่อรับนิมนต์หรือเลิกฉันแล้ว)

              พราหมณ์ผู้หนึ่งนิมนต์นางภิกษุณีหลายรูปไปฉัน. บางรูปฉันเสร็จแล้ว ไม่รับอาหารที่เขาจะเติมให้อีกแล้ว (ภาษาพระว่า ห้ามข้าวแล้ว) ก็ไปสู่สกุลญาติ บางรูปก็รับบิณฑบาตแล้วจากไป. พราหมณ์ผู้นิมนต์ทราบเรื่องก็ติเตียน ด้วยความน้อยใจว่า ตนไม่สามารถวายอาหารให้ได้ตามต้องการหรืออย่างไร ? พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีรับนิมนต์แล้ว หรือไม่รับอาหารที่เขาจะเติมให้อีกแล้ว เคี้ยวก็ตาม ฉันก็ตาม ซึ่งของเคี้ยว หรือของฉัน ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๕ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามพูดกีดกันภิกษุณีอื่น)

              นางภิกษุณีไปบิณฑบาตในตรอกแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี. เจ้าของบ้านนิมนต์ให้ฉันอาหาร แล้วสั่งให้บอกภิกษุณีอื่นให้มาบ้าง. เธอคิดจะกีดกัน จึงพูดกับนางภิกษุณีอื่น ๆ ว่า ที่นั่นมีสุนัขร้าย มีโคดุ เป็นที่เฉอะแฉะ อย่าไปเลย. ภายหลังความแตก เพราะนางภิกษุณีรูปอื่นไปทางตรอกนั้น ได้รับนิมนต์ให้ฉัน แล้วถูกต่อว่า ว่าเหตุไฉนนางภิกษุณีทั้งหลายจึงไม่มา. เมื่อเขาทราบความก็พากันติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ตระหนี่สกุล (คือพูดกีดกันมิให้ภิกษุณีรูปอื่นไปสู่สกุล หรือแกล้งพูดติเตียนนางภิกษุณีด้วยกันให้เขาฟังเพื่อจะได้นิมนต์ตนแต่ผู้เดียว).

สิกขาบทที่ ๖ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ)

              นางภิกษุณีจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ.

              (หมายเหตุ : ในคำอธิบายท้ายสิกขาบท อ้างว่า ทำให้ไม่ได้ฟังโอวาทและไม่ได้อยู่ร่วม. คำว่าอยู่ร่วม หมายความว่า ทำกรรมร่วมกัน เรียนร่วมกัน ศึกษาร่วมกัน. เหตุผลที่ให้นางภิกษุณีอยู่ในวัดที่มีภิกษุ อาจจะเพื่อป้องกันคนข่มเหงด้วยอีกส่วนหนึ่ง).

สิกขาบทที่ ๗ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามการขาดปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย)

              นางภิกษุณีหลายรูปจำพรรษาแล้วมิได้ปวารณาต่อภิกษุสงฆ์ มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีจำพรรษาแล้ว ไม่ปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ภิกษุสงฆ์-ภิกษุณีสงฆ์) โดยฐานะ ๓ คือ ด้วยได้เห็น ด้วยได้ยิน ด้วยนึกรังเกียจสงสัย ต้องปาจิตตีย์ (ปวารณา คือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้).

สิกขาบทที่ ๘ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามการขาดรับโอวาทและการขาดการอยู่ร่วม)

              นางภิกษุณีพวก ๖ มีภิกษุพวก ๖ มาให้โอวาทอยู่แล้ว ก็ไม่ไปฟังโอวาทร่วมกับนางภิกษุณีทั้งหลาย มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีไม่ไปเพื่อรับโอวาท เพื่อการอยู่ร่วม ต้องปาจิตตีย์. (การอยู่ร่วม คือร่วมสามัคคีทำกรรม หรือศึกษาเล่าเรียนร่วมกับนางภิกษุณีอื่น ๆ).

สิกขาบทที่ ๙ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามการขาดถามอุโบสถและการไปรับโอวาท)

              นางภิกษุณีไม่ถามวันอุโบสถ ไม่ขอรับโอวาท มีผู้ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่างจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถ การเข้าไปหาเพื่อรับโอวาท. ถ้าให้ล่วงกำหนดนั้นไป ต้องปาจิตตีย์.

สิกขาบทที่ ๑๐ อารามวรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้บุรุษบีบฝี ผ่าฝี เป็นต้น)

              นางภิกษุณีรูปหนึ่ง สองต่อสองกับบุรุษ ให้บีบฝีซึ่งเกิดขึ้นที่ "ปสาขา" (ใต้สะดือลงไป เหนือเข่าขึ้นมา). บุรุษนั้นพยายามข่มขืนนางภิกษุณีนั้น. นางจึงร้องขึ้น. พระผู้มีพระภาคจึงทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า นางภิกษุณีไม่บอกสงฆ์หรือคณะก่อน เป็นผู้สองต่อสองกับบุรุษ ให้บีบก็ตาม, ให้ผ่าก็ตาม, ให้ชะก็ตาม, ให้พันผ้าก็ตาม, ให้แก้ผ้าพันก็ตาม ซึ่งฝีหรือแผลอันเกิดขึ้นที "ปสาขา" ต้องปาจิตตีย์.


๑. อกฺโกเสยฺย-ด่า, ปริภาเสยฺย = บริภาษ. ตามศัพท์น่าจะเป็นว่า ด่า คือด่าตรง ๆ บริภาษ คือด่าโดยอ้อม แต่คำอธิบายท้ายสิกขาบทว่า บริภาษ คือพูดให้กลัว
๒. คำบริภาษตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการด่าโดยอ้อม. คำว่า กรรม หมายถึงสังฆกรรม คือกรรมที่ทำเป็นการสงฆ์ กรรมวิบัติ คือสังฆกรรมที่ไม่สมบูรณ์ กรรมสมบัติ คือสังฆกรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ