บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



๑. ปาราชิกกัณฑ์

๒.สัตตรสกัณฑ์

๓.นิสสัคคิยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยบาตร
...๒.ว่าด้วยจีวร

๔.ปาจิตติยกัณฑ์
...๑.ว่าด้วยกระเทียม
...๒.ว่าด้วยเวลากลางคืน
...๓.ว่าด้วยเปลือยกาย
...๔.ว่าด้วยการนอนร่วม
...๕.ว่าด้วยอาคารอันวิจิตร>
...๖.ว่าด้วยอาราม
...๗.ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
...๘.ว่าด้วยหญิงที่ยังไม่มีสามี
...๙.ว่าด้วยร่มและรองเท้า

๕.ปาฏิเทสนียกัณฑ์

๖.เสขิยกัณฑ์

๗.อธิกรณสมถะ

 

นัคควรรคที่ ๓
(วรรคว่าด้วยเรื่องเปลือยกาย)

สิกขาบทที่ ๑ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเปลือยกายอาบน้ำ)

              นางภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำร่วมกับหญิงแพศยา ในท่าน้ำอันเดียวกัน ถูกพูดเย้ยหยันต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้เปลือยกายอาบน้ำ.

สิกขาบทที่ ๒ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำผ้าอาบน้ำยาวใหญ่เกินประมาณ)

              นางภิำกษุณีพวก ๖ ทำผ้าอาบน้ำเกินประมาณย้อยไปข้างหน้าข้างหลัง. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่ให้ทำผ้าอาบน้ำเกินประมาณ คือ ยาวเกิน ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบพระสุคต.

สิกขาบทที่ ๓ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามพูดแล้วไม่ทำ)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีพูดกับภิกษุณีรูปหนึ่งว่า ผ้าทำจีวรของท่านดี แต่จีวรทำไว้ไม่ดี เย็บไว้ไม่ดี. นางภิกษุณีนั้นจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าจะเลาะออก ท่านจะเย็บให้ไหม. นางถุลลนันทาภิกษุณีรับปากว่า จะเย็บให้. นางภิกษุณีนั้นเลาะจีวรนั้นแล้ว จึงให้แก่นางถุลลนันทาภิกษุณี. นางพูดว่า จะเย็บ ๆ แต่ก็ไม่เย็บ หรือขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บ. พระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้เลาะหรือให้เลาะจีวรแล้ว ภายหลังไม่มีเหตุขัดข้อง ไม่เย็บเองหรือไม่ขวนขวายให้ผู้อื่นเย็บ เว้นไว้แต่พักไว้เพียง ๔-๕ วัน.

สิกขาบทที่ ๔ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามเว้นการใช้ผ้าซ้อนนอกเกิน ๕ วัน)

              นางภิกษุณีทั้งหลายฝากจีวรกับนางภิกษุณีด้วยกันแล้วจาริกไปสู่ชนบท จีวรเหล่านั้นเก็บไว้นานก็เปรอะเปื้อน. นางภิกษุณี (ที่รับฝาก) จึงนำออกตาก. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่เว้นการใช้ผ้าซ้อนนอกเกิน ๕ วัน.

              (หมายเหตุ : ตามธรรมดานางภิกษุณีมีผ้าสำหรับใช้ประจำ ๕ ผืน คือ ๑. สังฆาฏิ (ผ้าซ้อนนอก สำหรับใช้เมื่อหนาว) ๒. อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) ๓. อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ๔. สังกัจฉิกะ (ผ้ารัดหรือผ้าโอบ) ๕. อุทกสาฏิกา (ผ้าอาบน้ำ). พิจารณาดูตามสิกขาบทนี้ เป็นเชิงห้าม เว้นการใช้ผ้าซ้อนนอก คือสังฆาฏิอย่างเดียว แต่ในคำอธิบายท้ายสิกขาบท ขยายความเป็นว่า เว้นผืนใดผืนหนึ่งใน ๕ ผืน เกิน ๕ วันไม่ได้ คำว่า เว้น คือไม่นุ่งไม่ห่มหรือไม่ตากแดด).

สิกขาบทที่ ๕ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามใช้จีวรสับกับของผู้อื่น)

              นางภิกษุณีรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาต แล้วตากจีวรที่เปียกไว้ เข้าไปสู่วิหาร. ภิกษุณีอีกรูปหนึ่ง จึงห่มจึวรนั้นเข้าไปสู่บ้าน. เจ้าของจีวรออกมาเที่ยวถามหา ทราบความก็ติเตียน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่ใช้จีวรสับกับของผู้อื่น. (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของก่อนไม่เป็นอาบัติ).

สิกขาบทที่ ๖ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำอันตรายลาภจีวรของสงฆ์)

              สกุลอุปฐากของ นางถุลลนันทาภิกษุณีกล่าวว่า ใคร่จักถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์. นางกลับตัดบทด้วยวาจาว่า ท่านทั้งหลายมีกิจมาก มีกรณียะมาก, ไฟไหม้เรือนของเขา. เขาจึงติเตียนที่ทำอันตรายไทยธรรม (ของถวาย) ของเขา และทำให้เขาเสื่อมจากทรัพย์และจากบุญ. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ทำอันตรายลาภจีวรของสงฆ์.

สิกขาบทที่ ๗ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามยับยั้งการแบ่งจีวรอันเป็นธรรม)

              จีวรนอกกาลเกิดขึ้นแก่ภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์จึงประชุมกันเพื่อแบ่งจีวรนั้น. นางถุลลนันทาภิกษุณีถือเอาเหตุที่ศิษย์ของตนหลีกไปที่อื่น คัดค้านมิให้แบ่ง. ภิกษุณีทั้งหลายจึงแบ่งไม่ได้. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่คัดค้านการแบ่งจีวรอันเป็นธรรม.

สิกขาบทที่ ๘ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามให้สมณจีวรแก่คฤหัสถ์หรือนักบวช)

              นางถุลลนันทาภิกษุณีให้สมณจีวร (ผ้าที่ทำสำเร็จรูปสำหรับภิกษุณี) แก่นักแสดงละครบ้าง, นักฟ้อนบ้าง นักกระโดดบ้าง, นักเล่นกลบ้าง, นักเล่นกลองบ้าง โดยขอให้เขาสรรเสริญตนในที่ประชุมชน. พวกนั้นก็เที่ยวสรรเสริญต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้ให้สมณจีวรแก่ผู้ครองเรือน แก่นักบวช (นอกศาสนา) ชายหรือหญิง.

สิกขาบทที่ ๙ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามทำให้กิจการชะงักด้วยความหวังลอย ๆ)

              สกุลอุปฐากของนางถุลลนันทาภิกษุณีกล่าวว่า ถ้าสามารถก็จะถวายจีวรแก่ภิกษุณีสงฆ์. เมื่อภิกษุณีทั้งหลายจำพรรษาเสร็จแล้ว ก็ประชุมกันจะแบ่งจีวร นางถุลลนันทาภิกษุณีคัดค้านให้รอไปก่อน อ้างว่าภิกษุณีสงฆ์ยังหวังจะได้จีวรอยู่. เมื่อ (รอไปพอสมควรแล้วป ภิกษุณีทั้งหลายก็เตือนเรื่องจีวรที่จะได้นั้น. นางถุลลนันทาภิกษุณีจึงไปเตือนสกุลที่เขาว่าจะให้ เขาตอบว่า เขาไม่สามารถให้เสียแล้ว. ภิกษุณีทั้งหลายจึงติเตียนนางถุลลนันทาภิกษุณีที่ทำให้คอยจนเกินสมัยสำหรับทำจีวร. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีที่ทำให้ล่วงเลยสมัยทำจีวรไปด้วย (อ้าง) ความหวังว่าจะได้จีวรที่เพียงเขาพูดไว้.

สิกขาบทที่ ๑๐ นัคควรรค ปาจิตติยกัณฑ์

(ห้ามคัดค้านการเพิกถอนกฐินที่ถูกธรรม)

              อุบาสกผู้หนึ่งสร้างวิหารถวายสงฆ์ และใคร่จะถวายจีวรนอกกาลแก่ภิกษุสงฆ์และภิกษุสงฆ์ ในการฉลองวิหารนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อขอให้ทรงเพิกถอน (ภาษาพระว่า เดาะ) กฐิน. พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตโดยให้ประชุมสงฆ์สวดประกาศ ขอมติในการเพิกถอนกฐิน. แต่ในภิกษุณีสงฆ์ ไม่มีใครทำการนี้สำเร็จ เพราะนางถุลลนันทาภิกษุณีคัดค้านไว้ด้วยหวังจะได้ลาภจีวรเป็นส่วนตัว. พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่นางภิกษุณีผู้คัดค้านการเพิกถอนกฐินอันเป็นธรรม.


๑. คำว่า นักเล่นกลอง แปลจากคำว่า กุมภถูนิกา

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ