บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ  



พระสุตตันตปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ปิฎกเล่ม ๖
หมวดนี้มี

๑.เทวทหสูตร
๒.ปัญจัตตยสูตร
๓.กินติสูตร
๔.สามคามสูตร
๕. สุนักขัตตสูตร
๖.อาเนญช
สัปปายสูตร
๗.คณก
โมคคัลลานสูตร
๘.โคปก
โมคคัลลานสูตร
๙.มหาปุณณมสูตร
๑๐.จูฬปุณณมสูตร
๑๑.อนุปทสูตร
๑๒.ฉวีโสธน
๑๓.สัปปุริสธัมมสูตร
๑๔.เสวิตัพพา
เสวิตัพพสูตร
๑๕.พหุธาตุสูตร
๑๖.อิสิคิลิสูตร
๑๗.มหา
จัตตาฬีสกสูตร
๑๘. อานา
ปานสติสูตร
๑๙.กายคตาสติสูตร
๒๐.สังขารูปปัตติสูตร
๒๑. จูฬสุญญตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
มหาสุญญตสูตร
๒๓.อัจฉริยัพ
ภูตธัมมสูตร
๒๔.พักกุลัตเถรัจ
ฉริยัพภูตธัมมสูตร
๒๕.ทันตภูมิสูตร
๒๖.ภูมิชสูตร
๒๗.อนุรุทธสูตร
๒๘.อุปักกิเลสสูตร
๒๙.พาลบัณฑิตสูตร
๓๐. เทวทูตสูตร
๓๑.ภัทเทกรัตตสูตร
๓๒.อานันทภัท
เทกรัตตสูตร
๓๓.มหากัจจาน
ภัทเทกรัตตสูตร
๓๔.โลมสกังคิยสูตร
๓๕.จูฬกัมม
วิภังคสูตร
๓๖.มหากัมมวิภังคสูตร
๓๗.สฬตนวิภังคสูตร
๓๘.อุทเทสวิภังคสูตร
๓๙.อรณวิภังคสูตร
๔๐.ธาตุภังคสูตร
๔๑. สัจจวิภังคสูตร
๔๒.ทักขิณา
วิภังคสูตร
๔๓.อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
๔๔.ฉันโนวาทสูตร
๔๕.ปุณโณวาทสูตร
๔๖.นันท
โกวาทสูตร
๔๗.จูฬราหุ
โลวาทสูตร
๔๘.ฉฉักกสูตร
๔๙.สฬายตนวิภังคสูตร
๕๐.นครวินเทยยสูตร
๕๑.ปิณฑ
ปาตปาริสุทธิ
๕๒.อินทริยภาวนา

 

หน้าที่ ๑ ๑.เทวทหสูตร
๒.ปัญจัตตยสูตร
๓.กินติสูตร
๔.สามคามสูตร
๕. สุนักขัตตสูตร
๖.อาเนญช
สัปปายสูตร
๗.คณก
โมคคัลลานสูตร
๘.โคปก
โมคคัลลานสูตร
๙.มหาปุณณมสูตร

 

หน้าที่ ๒
๑๐.จูฬปุณณมสูตร
๑๑.อนุปทสูตร
๑๒.ฉวีโสธน
๑๓.สัปปุริสธัมมสูตร
๑๔.เสวิตัพพา
เสวิตัพพสูตร
๑๕.พหุธาตุสูตร
๑๖.อิสิคิลิสูตร
๑๗.มหาจัต
ตาฬีสกสูตร
๑๘.อานา
ปานสติสูตร
๑๙.กายคตาสติสูตร
๒๐.สังขารูป
ปัตติสูตร
๒๑. จูฬสุญญตสูตร
๒๒.อัคคิวัจฉ
มหาสุญญตสูตร
๒๓.อัจฉริยัพ
ภูตธัมมสูตร
๒๔.พักกุลัตเถรัจ
ฉริยัพ
ภูตธัมมสูตร
๒๕.ทันตภูมิสูตร
๒๖.ภูมิชสูตร
๒๗.อนุรุทธสูตร
๒๘.อุปักกิเลสสูตร
๒๙.พาลบัณฑิตสูตร

 

หน้าที่ ๓ ๓๐. เทวทูตสูตร
๓๑.ภัทเทกรัตตสูตร
๓๒.อานันทภัท
เทกรัตตสูตร
๓๓.มหากัจจาน
ภัทเทกรัตตสูตร
๓๔.โลมสกังคิยสูตร
๓๕.จูฬกัมมวิภังคสูตร
๓๖.มหากัมมวิภังคสูตร
๓๗.สฬตนวิภังคสูตร
๓๘.อุทเทสวิภังคสูตร
๓๙.อรณวิภังคสูตร

 

หน้าที่ ๔ ๔๐.ธาตุภังคสูตร
๔๑. สัจจวิภังคสูตร
๔๒.ทักขิณาวิภังคสูตร
๔๓.อนาถปิณฑิโกวาทสูตร
๔๔.ฉันโนวาทสูตร
๔๕.ปุณโณวาทสูตร
๔๖.นันทโกวาทสูตร
๔๗.จูฬราหุโลวาทสูตร
๔๘.ฉฉักกสูตร
๔๙.สฬายตนวิภังคสูตร
๕๐.นครวินเทยยสูตร
๕๑.ปิณฑปาตปาริสุทธิ
๕๒.อินทริยภาวนา

 

เล่มที่ ๑๔ ชื่อมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
เป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖
หน้า ๒
๑๐ . จูฬปุณณมสูตร
สูตรว่าด้วยคือพระจันทร์เต็มดวง สูตรเล็ก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ประทับนั่งในที่แจ้ง แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ในคืนพระจันทร์เต็มดวง ๑๕ ค่ำ ตรัสสอนเรื่องอสัตบุรุษ ( คนชั่ว )   และสัตบุรุษ ( คนดี )   โดยแสดงว่าอสัตบุรุษประกอบด้วยอสัทธรรม ๗ ประการ คือ    ๑. คบอสัตบุรุษ   ๒. คิดอย่างอสัตบุรุษ   ๓. ปรึกษาอย่างอสัตบุรุษ   ๔. พูดอย่างอสัตบุรุษ   ๕. ทำอย่างอสัตบุรุษ   ๖. เห็นอย่างอสัตบุรุษ   ๗. ให้อย่างอสัตบุรุษ พร้อมทั้งแสดงรายละเอียด ส่วนสัตบุรุษ ทรงแสดงโดยนัยตรงกันข้าม. คติของอสัตบุรุษคือนรกหรือกำเนิดดิรัจฉาน ส่วนคติของสัตบุรุษ คือความเป็นใหญ่ในเทพหรือความเป็นใหญ่ในมนุษย์.
   

จบวรรคที่ ๑ ขึ้นวรรคที่ ๒ ชื่ออนุปทวรรค
แปลว่า วรรคมีอนุปทสูตรเป็นหัวหน้า มี ๑๐ สูตร

   

๑๑ . อนุปทสูตร
สูตรว่าด้วยลำดับบทธรรม

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีปัญญาและเห็นแจ้งบทธรรมตามลำดับภายในครึ้งเดือน คือรูปฌาน ๔ ,   อรูปฌาน ๔,  สัญญาเวทยิตนิโรธ,   มีความชำนาญและบรรลุถึงฝั่งแห่งศีล ,  สมาธิ,  ปัญญา,  วิมุตติ,  วิมุตติญาณทัสสนะ,   หมุนธรรมจักร   ตามที่พระตถาคตหมุนไปแล้วได้.

   

๑๒ . ฉวิโสธนสูตร
สูตรว่าด้วยข้อสอบสวน   ๖ อย่าง

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนวิธีสอบสวนภิกษุผู้พยาการณ์อรหัตตผล ( ผู้พูดว่าตนเป็นพระอรหันต์ ) โดยวิธีตั้งปัญหาให้ตอบรวม   ๖ ข้อ   คือ    ๑. รู้เห็นอย่างไรในโวหาร ๔  คือการพูดว่า ได้เห็นได้ฟัง ได้ทราบ  ได้รู้แจ้ง  ในสิ่งที่ได้เห็นได้ฟังทราบได้รู้แจ้ง    ๒. รู้เห็นอย่างไรในขันธ์ ๕  ที่ยึดถือ    ๓. รู้เห็นอย่างไรในธาตุ ๖   ๔. รู้เห็นอย่างไรในอายตนะภายในภายนอก ๖ คู่   คือตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง เป็นต้น   ๕. รู้เห็นอย่างไรในกายที่มีวิญญาณครองตน   ๖. รู้เห็นอย่างไรในนิมิตทั้งปวงภายนอก จิตจึงหลุดพ้นจากอาสวะ   ถอนอหังการ ( ความถือเรา )   มมังการ ( ความถือว่าของเรา )   และมานะ ( ความถือตัว )   ซึ่งเป็นอนุสัย ( กิเลสที่แฝงตัว ) เสียได้.   พร้อมทั้งแสดงคำตอบในทางรู้เท่าและตั้งอยู่ในศีล   สมาธิ  ปัญญา   จนได้อาสวักขยญาณ คือญาณอันทำอาสวะให้สิ้นเป็นที่สุด.

   

๑๓ . สัปปุริสธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะของดี

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงทั้งธรรมะของคนดีและธรรมะของคนชั่ว ( สัปปุริสธรรม ,   อสัปปุริสธรรม )   โดยแสดงธรรมะของคนชั่วก่อน แล้วแสดงธรรมะของคนดีกำกับ เป็นคู่ ๆ ไป   รวม ๒๐ คู่ ในที่นี้จะแสดงแต่ฝ่ายชั่ว ( ฝ่ายดีพึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม ) คือยกตนข่มผู้อื่น เพราะ :-

   ๑. ออกบวชจากตระกูลสูง    ๒. ออกบวชจากตระกูลใหญ่    ๓. มีคนรู้จัก มียศ   ๔. มีลาภปัจจัย ๔   ๕. สดับตรับฟังมาก   ๖. ทรงจำวินัยได้   ๗. เป็นนักกล่าวธรรม   ๘. อยู่ป่า   ๙. ทรงผ้าบังสกุล ( ผ้าเปื้อนฝุ่นที่เก็บตกเอามาปะติดปะต่อเป็นจีวร )    ๑๐. ถือบิณฑบาต   ๑๑. อยู่โคนต้นไม้   ๑๒. อยู่ป่าช้า   ๑๓. – ๑๖. ได้รูปฌาน ที่ ๑   ถึงที่ ๔     ๑๗. – ๒๐. ได้อรูปฌานที่ ๑   ถึงที่   ๔.

   ส่วนภิกษุผู้ก้าวล่วงอรูปฌานที่ ๔   เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้ ย่อมสิ้นอาสวะ ไม่ยึดถือสิ่งใด ๆ .

   

๑๔. เสวิตัพพาเสวิตัพพสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมที่ควรเสพและไม่ควรเสพ

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม . ตรัสแสดงธรรมะที่ควรเสพและไม่ควรเสพเป็น   ๓ ตอน   พระสารีบุตรกราบทูลขยายความย่อให้พิศดารทั้งสามตอนนั้น ตรัสรับรองว่าถูกต้อง คือ:-

   ๑. ความประพฤติทางกาย,   ความประพฤติทางวาจา,   ความประพฤติทางใจ,   ความคิด,   การได้สัญญา (ความกำหนดหมาย ),   การได้ทิฏฐิ ( ความเห็น ),   การได้อัตตาภาพ .   รวม ๗ หัวข้อ )   แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

   ๒. รูป,   เสียง,   กลิ่น,   รส,   โผฏฐัพพะ ,   และธรรมะ   ที่พึงรู้แจ้งได้ทางตา ,   หู,   จมูก,   ลิ้น,  กาย,   และใจ   แต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

   ๓. ปัจจัย ๔   มีจีวร เป็นต้น ,   คาม ,     นิคม,   นคร,   ชนบท,   และบุคคล   แแต่ละข้อมีทั้งควรเสพและไม่ควรเสพ.

   พระสารีบุตรอธิบายในหลักใหญ่ที่ว่า ถ้าเสพเข้าอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ก็ไม่ควรเสพ   ถ้าอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญก็ควรเสพ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดรู้อรรถ ( เนื้อความ ) แห่งคำที่ตรัสไว้อย่างย่อ ๆ โดยพิสดาร ผู้นั้นย่อมได้รับประโยชน์และความสุข.

   

๑๕. พหุธาตุกสูตร
สูตรว่าด้วยธาตุหลายอย่าง

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ภัย,   อันตราย,   อุปสัคเกิดจากคนพาล   มิใช่เกิดจากบัณฑิต .   พระอานนท์กราบทูลว่า ด้วยเหตุเพียงไรภิกษุจึงควรแก่ถ้อยคำว่า ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาสอบสวน. ตรัสตอบว่า ภิกษุผู้ฉลาดในธาตุ,   ฉลาดในอายตนะ,   ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท  และฉลาดในฐานะ   ( สิ่งที่เป็นไปได้)   และอฐานะ ( สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ).

   ๒. ในข้อฉลาดในธาตุ   ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ๑๘   ( อายตนะภายในมีตา   เป็นต้น ๖ ,  อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น ๖,   วิญญาณมีจักขุวิญญาณ เป็นต้น ๖,   รวมเป็น ๑๘ ) ;     ธาตุ ๖   คือ ดิน,  น้ำ,  ลม,  ไฟ,  อากาศ,  วิญญาณ;     ธาตุ ๖  คือ   สุขกาย,  ทุกข์กาย,  สุขใจ,  ทุกข์ใจ, เฉย ๆ ,  อวิชชา,   ( ความไม่รู้;    ธาตุ ๖  คือ   กาม,  เนกขัมมะ,   (ออกจากกาม),   พยาบาท,  ไม่พยาบาท, เบียดเบียน,  ไม่เบียดเบียน;     ธาตุ ๓   คือ   กาม,  รูป,   อรูป;    ธาตุ ๒  คือธาตุที่ปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตาธาตุ )   ธาตุที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ( อสังขตาธาตุ ).

   ๓. ในข้อฉลาดในอายตนะ  ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะภายใน ๖   ภายนอก ๖.

   ๔. ในข้อฉลาดในปฏิจจมุปบาท   ( ความอาศัยเหตุเป็นปัจจัยเกิดขึ้น)   ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดทั้งใน   เหตุปัจจัยสายเกิด   คือเพราะมีสิ่งนนี้ จึงมีสิ่งต่อ ๆ ไป   ทั้งในเหตุปัจจัยสายดับ   คือเพราะกับสิ่งนี้ สิ่งต่อ ๆ ไปจึงดับ.

   ๕. ในข้อฉลาดในฐานะและอฐานะ   ทรงแสดงความเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้   สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น   ผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิเป็นไปไม่ได้   ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง   เป็นสุข   เป็นตัวตน   และสิ่งที่เป็นไปได้   เช่น   บุถุชนเป็นไปได้ที่จะเห็นสังขารว่าเป็นเที่ยง   เป็นสุข   เป็นตัวตน.

   

๑๖. อิสิคิลิสูตร
สูตรว่าด้วยภูเขาชื่ออิสิคิลิ

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาชื่ออิสิคิลิ ใกล้กรุงราชคฤห์ ตรัสเล่าว่า ชื่อของภูเขาลูกต่าง ๆ เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่ภูเขาอิสิคิลิมีชื่อนี้มาไม่ แล้วตรัสเล่าเรื่องพระปัจจเจกพุทธเจ้า ( พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะพระองค์ มิได้ตั้งศาสนาขึ้น )   ประมาณ   ๕๐๐ รูป   ที่อาศัยอยู่ ณ ภูเขานี้   มนุษย์ทั้งหลายเห็นแต่ท่านเข้าไป   ไม่เห็นออกมา เลยตั้งชื่อว่า   ภูเขาอิสิคิลิ ( ภูเขากลืนฤษี )   แล้วได้แสดงพระนามของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ   มีพระอริฏฐะ   เป็นต้น.

   

๑๗. มหาจัตตาฬีกสูตร
สูตรว่าด้วยธรรมะหมวด   ๔๐ หมวดใหญ่

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย มีใจความสำคัญเป็น ๓   ตอนคือ:-

   ๑. ทรงแสดงสัมมาสมาธิ ( ความตั้งใจมั่นชอบ ) ที่มีที่อาศัย   มีคุณธรรมอื่น ๆ อีก   ๗ ข้อ   เป็นเครื่องประกอบ ( บริขาร ) คือความเห็นชอบ,  เจรจาชอบ,  กระทำชอบ,  เลี้ยงชีวิตชอบ,  พยายามชอบ,    ระลึกชอบ.

   ๒. ทรงแสดงสัมมาทิฏฐิ ( ความเห็นชอบ )   ว่าเป็นหัวหน้าและว่า   รู้จักทั้งฝ่ายเห็นชอบและฝ่ายเห็นผิด. ทรงอธิบายความเห็นผิดว่า   ได้แก่เห็นว่า   ทานที่ให้ไม่มี   ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี   เป็นต้น   แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิว่ามี   ๒ อย่าง   คือที่มีอาสวะ   กับที่ไม่มีอาสวะ   ( ชั้นต่ำสำหรับบุถุชน ชั้นสูงสำหรับพระอริยะ )   แล้วทรงแสดงสัมมาทิฏฐิในฐานะเป็นหัวหน้า ในการแจกรายระเอียดของข้ออื่น ๆ .

   ๓. ทรงแสดงว่า ธรรมปริยายที่เรียกว่า   “ มหาจัตตาฬีสกะ”   “หมวด ๔๐ หมวดใหญ่” คือเป็นฝ่ายกุศล ๒๐   ฝ่ายอกุศล ๒๐ ( ตั้งหลักมรรค ๘   เติมสัมมาญาณะ   ความรู้โดยชอบ   สัมมาวิมุติ   ความหลุดพ้นโดยชอบเป็น ๑๐   กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์   เพราะธรรมะฝ่ายถูกทั้งสิบข้อนั้นเป็นปัจจัย   จัดเป็นฝ่ายกุศล ๒๐   ตั้งหลักมิจฉัตตะ   ความผิด   มีความเห็นผิด   เป็นต้น   มีความหลุดพ้นผิดเป็นที่สุด   เป็น ๑๐  อกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่าอื่นที่ถึงความเกิดมีบริบูรณ์   เพราะธรรมะฝ่ายผิด ๑๐   ข้อนั้นเป็นปัจจัย   จัดเป็นฝ่ายอกุศล ๒๐ ).

   

๑๘. อานาปานสติสูตร
สูตรว่าด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี. ตรัสแสดงธรรม ในท่ามกลางพระเถระผู้มีชื่อเสียง พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่   โดยแสดงว่า อานาปาสติที่เจริญ ทำให้มากแล้ว   มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ,   ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์,   สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔ ที่เจริญแล้ว   ทำให้มากแล้ว   ทำโพชฌงค์   ( องค์แห่งปัญญาตรัสรู้ ) ๗ ให้บริบูรณ์,   โพชฌงค์ ๗ ที่เจริญให้มากแล้ว   ทำให้วิชชา ( ความรู้ )   และวิมุติ ( ความหลุดพ้น ) ให้บริบูรณ์.

   ๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงรายละเอียดในการเจริญอานาปานสติอย่างธรรมดา ( เช่น ที่แสดงในอานาปานบรรพ   มหาสติปัฏฐานสูตร (ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร   การเจริญอานาปนสติให้เกี่ยวกับกาย ,   เวทนา, จิตและธรรม; การเจริญสติปัฏฐาน ๔   ให้เกี่ยวกับโพชฌงค์   ๗ มีสติ   เป็นต้น.

   

๑๙. กายคตาสติสูตร
สูตรว่าด้วยสติกำหนดพิจารณากาย

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า   กายคตาสติ   ( สติกำหนดพิจารณากาย )   ที่เจริญ   ทำให้มากแล้ว   มีผลมาก   มีอานิสงส์มาก   พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความจึงทรงแสดงรายละเอียด ( แบบที่ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร ( ดูที่พระสุตตันตะ เล่ม ๒ หน้า ๔). ในหัวข้อ๙. มหาสติปัฏฐานสูตร   คือ   การกำนหนดพิจารณากายแบ่งออกเป็น   ๖ ส่วน คือ    ๑. พิจารณาลมหายใจเข้าออก   ๒. พิจารณาอริยบทของกาย   เช่น   ยืน   เดิน    ๓. พิจารณาความเคลื่อนไหวของกาย   เช่น   คู้แขน   เหยียดแขน   เป็นต้น    ๔. พิจารณาความน่าเกลียดของกาย   ๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ    ๖. พิจาณาร่างกายที่เป็นศพมีลักษณะต่าง ๆ.

   ๒. ครั้นแล้วทรงแสดงการเจริญกายคตาสติ จนได้ฌานที่ ๑   ถึงฌานที่ ๔   แล้วตรัสแสดงอานิสงส์ของกายคตาสติว่าเป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นต้น พร้อมด้วยอุปมาต่าง ๆ และในที่สุดได้แสดงว่า ทำให้มีอานิสงส์   ๑๐ อย่าง คือ   ๑ อดทนความไม่ยินดีและความยินดี   ๒. ครอบงำความหวาดกลัวได้   ๓. อดทนต่อหนาวร้อนถ้อยคำล่วงเกิน   และทุกขเวทนา เป็นต้น    ๔. ได้ฌาน ๔   ตามปรารถนา    ๕. ได้อิทธิวิธี ( แสดงฤทธิ์ได้ )    ๖. ได้หูทิพย์   ๗. ได้เจโตปริยญาณ ( ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่น )    ๘. ระลึกชาติได้   ๙. เห็นความตายความเกิดของสัตว์ทั้งหลาย (ทิพยจักษุ ) และ    ๑๐. ทำอาสวะให้สิ้นได้.

   

๒๐. สังขารูปปัตติสูตร
สูตรว่าด้วยความคิด  กับการเข้าถึงสภาพตามที่คิดไว้

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม.  ตรัสแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย   ถึงการที่ภิกษุประกอบด้วยศรัทธา ( ความเชื่อ ) ,   ศีล   ( การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ),   สุตะ ( การสดับตรับฟัง ),   จาก ( การสละ ) และปัญญาว่า ตั้งจิตจะไปเกิดในสิ่งที่ดี ๆ อย่างไร   เมื่ออบรมความคิดเจตนากับธรรมะเป็นเครื่องอยู่ ( มีศรัทธาเป็นต้น ),   ให้มากแล้ว ก็จะเกิดในฐานะนั้น ๆ ได้ตามปรารถนา   ตั้งแต่ความเป็นกษัตริย์มหาศาล   พราหมณมหาศาล   จนถึงเทพ,   พรหมทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม   และในที่สุด   ถึงทำอาสวะให้สิ้นได้.

จบวรรคที่ ๒   ขึ้นวรรคที่ ๓   ชื่อสุญญสูตรเป็นหัวหน้า   มี ๑๐ สูตร

   

๒๑. จูฬสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรเล็ก

    พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขาในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี . ตรัสตอบคำถามของพระอานนท์ถึงเรื่องที่ในสมัยก่อนและสมัยปัจจุบัน ( ขณะนั้น ) ทรงอยู่โดยมากด้วยสุญญตาวิหาร   ( ธรรมะเป็นเครื่องอยู่ คือการทำในใจถึงความว่างเปล่า )   พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดในทางปฏิบัติ   โดยการไม่ใส่ใจถึงสัญญา ( ความกำหนดหมาย )   อย่างหนึ่ง   แล้วใส่ใจความเป็นหนึ่งโดยอาศัยสัญญาอีกอย่างหนึ่ง   สูงขึ้นไป   โดยลำดับแล้วพิจารณาถึงสัญญาที่ไม่ใส่ใจว่า แต่นึกว่าสัญญาที่กำลังใส่ใจ ( อันมีอารมณ์สูงกว่า ) ว่าเป็นของไม่สูญ   เริ่มต้นแต่ไม่ใส่ใจมนุสสสัญญา   ( ความกำหนดหมายในมนุษย์ )   แล้วใส่ใจในอรัญญสัญญา   ( ความกำหนดหมายในป่า )   เลื่อนลำดับสูงขึ้นไป จนถึงทำอาสวะให้สิ้นได้เป็นที่สุด.   แล้วตรัสว่า   สมณะหรือพราหมณ์ในอดีต   อนาคต  ปัจจุบัน   ที่เข้าสู่สุญญตาอันบริสุทธิ์ยอดเยี่ยม   ก็จะเข้าสู่สุญญตา ( ตามที่ทรงแสดงมาแล้ว ) นี้อยู่.

   

๒๒. มหาสุญญตสูตร
สูตรว่าด้วยความว่างเปล่า สูตรใหญ่

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ตรัสกับพระอานนท์ถึงเรื่อง   “ การเข้าสุญญตาภายใน”   เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวง ( ทำใจให้ว่างจากความเกาะเกี่ยว ) เข้าฌานที่ ๑  ถึงฌานที่ ๔  แล้วใส่ใจสุญญตาภายใน มีความรู้ตัวอยู่เสมอ แล้วใส่ใจสุญญตาภายนอก สุญญตาทั้งภายในทั้งภายนอก ใส่ใจอาเนญชา  แล้วคอยกำหนดดูว่าจิตจะน้อมไป เพื่อสุญญตาภายใน   เพื่ออาเนญชาหรือไม่ ครั้นตรัสสอนให้มีความรู้ตัวในความเคลื่อนไหวต่าง ๆ  ทั้งกาย ,   วาจา ,  ใจ.

   ๒. ต่อจากนั้นทรงแสดงอุปัทวะ ( อันตราย ) แห่งอาจารย์แห่งศิษย์และแห่งการประะพฤติพรหมจรรย์และตรัสว่า อันตรายแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ ทีผลร้ายมากว่าอันตรายทั้งสองข้างต้น. และตรัสสอนให้ปฏิบัติต่อศาสดาฉันมิตร มิใช่ศรัตรู คือให้ตั้งใจฟังธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ความสุขสิ้นกาลนาน. ในที่สุดตรัสว่า พระองค์ทรงว่าทั้งในทางข่ม ทั้งในทางประคอง ( ไม่ใช่มุ่งแต่ลงโทษหรือมุ่งแต่ยกย่องเพียงอย่างเดียว ). ผู้ใดมีสาระก็จะดำรงอยู่ได้.

   

๒๓. อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้น

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ภิกษุทั้งหลายสนทนากันถึงเรื่องความอัศจรรย์ในการที่พระผู้มีพระภาคทรงระลึกพระชาติได้ว่าเคยเป็นอย่างนั้น ๆ มา . เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามทราบความ ก็ตรัสให้พระอานนท์กล่าวถึงความอัศจรรย์เท่าที่ทราบ พระอานนท์ก็กราบทูลตามที่เคยสดับมาในที่เฉพาะพระพักตร์ ก็ความอัศจรรย์ต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์ เมื่อเกิดเมื่อดำรงอยู่ในเทพชั้นดุสิต ก็ทรงมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น จนถึงความอัศจรรย์ เมื่อประสูติจากพระครรภ์มารดา. ( โปรดดูข้อความที่ย่อไว้แล้วในมหาปทานสูตร)   ข้อ ๑   ถึง ๑๕ )

    ๒. ตรัสเพิ่มเติมว่า   เวทนา ( ความเสวยหรือรู้สึกอารมณ์ )   สัญญา ( ความกำหนดหมาย )   และวิตก ( ความตรึก )   ที่ตถาคตรู้แจ้งแล้ว ย่อมเกิดขึ้น   ย่อมปรากฏ   ย่อมดับไป.

   

๒๔. พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
สูตรว่าด้วยสิ่งอัศจรรย์และไม่เคยมีก็มีขึ้นของพระพักกุลเถระ

   ท่านพระพักกุละอยู่ในเวฬุวนาราม ใกล้กรุงราคฤห์ ชีเปลือยชื่อกัสสปะ เคยเป็นสหายตั้งแต่ครั้งเป็นคฤหัสถ์ของท่านพระพักกุละ เข้าไปหาท่านพระพักกุละ ถามทราบความว่าบวชมาถึง ๘๐ ปี แล้วได้ถามถึงปัญหาเรื่องเคยเสพเมถุนกี่ครั้ง พระพักกุละตอบว่า ไม่ควรถามเช่นนั้น ควรจะถามว่า กามสัญญา ( ความกำหนดหมายในกาม ) เกิดขึ้นกี่ครั้ง แล้วก็เล่าให้ฟังว่า   ตลอด ๘๐ ปีนี้ ท่านไม่เคยมีกามสัญญา รวมทั้งสัญญาในการพยาบาท ในการเบียดเบียนเลย แล้วท่านได้เล่าถึงสิ่งที่ท่านไม่เคยต่าง ๆ ( อันแสดงความเป็นผู้บริสุทธิ์พิเศษ ) ของท่านตลอดเวลา ๘๐ ปี. ชีเปลือยเลื่อมใสขอบวช บำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ต่อมาไม่ช้าท่านพระพักกุละถือลูกกุญแจเข้าไปสู่วิหาร บอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ท่านจะปรินิพพานในวันนี้ แล้วได้นั้งปรินิพพานในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นความน่าอัศจรรย์ . ( เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ภายหลังพุทธปรินิพพาน).

   

๒๕. ทันตภูมิสูตร
สูตรว่าด้วยภูมิหรือสถานที่ที่ฝึกไว้

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ชยเสนราชกุมาร ( ราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ) เสด็จดำเนินเล่น ตรัสสนทนากับสามเณรรูปหนึ่งผู้บวชไม่นาน ผู้อาศัยอยู่ในกุฏิในป่า เมื่อทรงขอให้สามเณรแสดงธรรม สามเณรออกตัวต่าง ๆ ในที่สุดก็ทรงแค่นไค้ให้แสดงจนได้ เมื่อแสดงจบแล้ว. ราชกุมารตรัสว่า เป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรจะบรรลุความเป็นผู้มีจิตอารมณ์เป็นหนึ่ง. สามเณรจึงนำความมากราบทูลพระผู้มีพระภาค. พระองค์ตรัสว่า ชยเสนราชกุมารอยู่ในท่ามกลางกาม ที่จะรู้เห็นถึงสิ่งที่พึงรู้พึงเห็นได้ด้วยเนกขัมมะ ( การออกจากกามนั้น ) ย่อมเป็นไปไม่ได้.

    ๒. ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมแก่สามเณร เปรียบเทียบให้เห็นความต่างกัน ระหว่างช้าง,ม้า,โค ที่ได้รับการฝึกกับที่มิได้รับการฝึก ว่าจะให้ไปสู่ที่หมายได้ ต่างกันอย่างไร. หรือเปรียบเหมือนคนหนึ่งยืนบนยอดเขา อีกคนหนึ่งยืนอยู่เชิงเขา จะให้เห็นอะไร ๆ เหมือนผู้ยืนอยู่บนยอดเขาอย่างไร แล้วได้ทรงแสดงข้อเปรียบเทียบอื่นอีก รวมทั้งข้อที่ออกบวชบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔   บำเพ็ญฌานได้วิชชา ๓   มีความสิ้นอาสวะในที่สุด.

   

๒๖. ภูมิชสูตร
สูตรว่าด้วยพระเถระชื่อภูมิชะ

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. เช้าวันหนึ่ง ท่านพระภูมิชะเข้าไปที่ยังประทับของชยเสนราชกุมาร นั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. ชยเสนราชกุมารกล่าวว่า บุคคลจะทำความหวังหรือไม่ก็ตามประพฤติพรหมจรรย์ก็ไม่ควรจะบรรลุผลได้. ท่านพระภูมิชะทูลตอบว่า ท่านไม่ได้ฟังมาจากพระผู้มีพระภาค แต่ก็เชื่อว่าจะทรงตอบว่า ไม่สำคัญที่ทำความหวังหรือไม่ทำ ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยไม่แยบคาย ( อโยนิโส ) ก็ไม่ควรบรรลุผล แต่ถ้าประพฤติพรหมจรรย์โดยแยบคาย ก็ควรบรรลุผลได้. ราชกุมารกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศาสดาของท่านก็เหมือนยืนอยู่บนศีรษะของสมณพราหมณ์ทั้งปวง. แล้วได้ถวายอาหารของพระองค์ให้ท่านพระภูมิชะฉัน.

    ๒. ท่านพระภูมิชะกลับมากราบทูลพระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ที่ตอบไปนั้นไม่ผิด และได้ทรงชี้แจงเพิ่มเติม เปรียบสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด จนถึงมีความตั้งใจมั่นผิด ประพฤติพรหมจรรย์ จึงไม่ควรบรรลุผล ว่าเหมือนคนต้องการน้ำมัน แต่ไปคั้นน้ำมันจากทราย หรือต้องการนมโค แต่รีดนมจากเขาโค ต้องการไฟ แต่เอาไม้สดชุ่มด้วยยางมาสีไฟติด. ครั้นแล้วทรงแสดงการปฏิบัติถูกในทางที่ตรงกันข้าม.

   

๒๗. อนุรุทธสูตร
สูตรว่าด้วยพระอนุรุทธเถระ

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ช้างไม้ชื่อปัญจกังคะ ส่งคนไปนิมนต์พระอนุรุทธ์พร้อมด้วยภิกษุอื่นอีก ๓ รูป  ( รวม ๔ รูป   ไปฉันที่บ้าน เมื่อฉันเสร็จแล้ว จึงถามว่าปัญหาถึงเรื่อง   อัปปมาณาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห้งจิตอันไม่มีประมาณ )   กับมหัคคตาเจโตวิมุติ ( ความหลุดพ้นแห่งจิตที่เป็นฌาน)   มีอรรถะ   ( ความหมาย ) และพยัญชนะ   ( ตัวอักษร ) ต่างกัน หรือว่ามีอรรถะอย่างเดียวกัน มีพยัญชนะต่างกัน. พระเถระตอบว่า มีอรรถะและพยัญชนะต่างกัน. โดยอธิบายว่า   อัปปมาณาเจโตวิมุติ   ได้แก่การแผ่จิต อันประกอบไปด้วยพรหมวิหาร ๔   มีเมตตา เป็นต้น   อันหาประมาณจำกัดมิได้ไปยังโลกทั้งโลกปวง   ทั้งหกทิศ ( รวมทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ).   ส่วนมหัคคตาเจโตวิมุติ ได้แก่การเจริญฌาน ( แผ่กสิณนิมิตไป ) กำหนดขอบเขตเพียงโคนไม้แห่งเดียวบ้าง,   ๒ – ๓ แห่งบ้าง,   กำหนด ๒ – ๓ เขตบ้านบ้าง,   กำหนดแว่นแคว้นใหญ่ ๑ บ้าง ,   ๒ – ๓ บ้าง,   กำหนดแผ่นดินมีสมุทรเป็นขอบเขตบ้าง,   แล้วได้อธิบายเพิ่มเติมและตอบปัญหาของพระอภิยะกัจจานะอีกเกี่ยวกับเรื่องเทพที่มีแสงสว่าง.

   

๒๘. อุปักกิเลสสูตร
สูตรว่าด้วยเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โฆสิตาราม ใกล้กรุงโกสัมพี. สมัยนั้นภิกษุชาวกรุงโกสัมพีแตกกันต่างว่ากล่าวเสียดสีกันต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามปรามก็ไม่ฟัง จึงตรัสแสดงธรรมเป็นคติการทะเลาะวิวาทแล้วเสด็จไปสู่พาลกโลณการคาม ( หมู่บ้านทำเกลือชื่อพาลกะ ) ณ ที่นั้นได้ทรงแสดงธรรมแก่พระภคุ แล้วเสด็จไปสู่ป่าจีนวังสะ ผู้เฝ้าป่าไม่ยอมให้เข้า พระอนุรุทธ์ได้ทราบจึงแจ้งแก่คนเฝ้าป่ามิให้ห้าม เพราะท่านเป็นพระศาสดาของพวกเรา และได้บอกพระนันทิยะ พระกิมพิละมาเฝ้าต้อนรับ. พระผู้มีพระภาคตรัสถึงความผาสุก,   ความสามัคคี,   ความไม่ปรามาท,   และคุณพิเศษ ดูที่พระสุตตันตะเล่ม ๔ หน้า ๔ ) เทียบดูด้วย ) ในข้อ ๓๑ . จูฬโคสิงคสาลสูตร ท่านเหล่านั้นกล่าวตอบในทางที่ดีงาม.

   ๒. ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณพิเศษ กราบทูลว่า รู้สึกว่ามีแสงสว่าง และเห็นรูป แต่ไม่นาน แสงสว่างนั้นและการเห็นรูปก็หายไป ไม่ได้บรรลุนิมิตนั้นอีก. ตรัสตอบว่า ควรบรรลุนิมิตนั้น แล้วตรัสเล่าเหตุการณ์ เมื่อก่อนตรัสรู้ว่าเคยทรงประสบภาวะเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ทรงสอบสวนถึงต้นเหตุ ซึ่งทรงแก้ทีละอย่าง ๆ เหตุเหล่านั้นคือความสงสัย,   การไม่ทำในใจ,   ความหดหู่ง่วงงุน,   ความหวาดสะดุ้ง ,   ความตื่นเต้น,   ความย่อหย่อน,   ความเพียรตึงเกินไป,   ความเพียรหย่อนเกินไป,   ความอยาก,   ความกำหนดหมายต่าง ๆ ,   การเพ่งรูปมากเกินไป.   ( รวมเป็นความเศร้าหมองแห่งจิต ๑๑ อย่าง )   ในที่สุด เมื่อทรงทราบว่าเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตก็ทรงละได้หมดทุกอย่าง.

   ๓. ตรัสเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อทรงบำเพ็ญเพียรไป   ก็ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่าง   แต่ไม่ทรงเห็นรูปบ้าง   ทรงเห็นรูป   แต่ไม่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างบ้าง   ตลอดคืนบ้าง   ตลอดวันบ้าง   ตลอดทั้งวันทั้งคืนบ้าง   เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย   ก็ทรงคิดว่า   ในสมัยใดไม่สนใจรูปนิมิต ( เครื่องหมายคือรูป )   สนใจอกโอภาสนิมิต ( เครื่องหมายคือแสงสว่าง )   ในสมัยนั้นย่อมก็รู้สึกว่ามีแสงสว่าง   แต่ไม่เห็นรูป;   ในสมัยใดไม่สนใจโอภาสนิมิต   สนใจแต่รูปริมิต   ในสมัยนั้นย่อมเห็นรูป     แต่ไม่รู้สึกว่าแสงสว่าง.

   ๔. ต่อจากนั้นทรงแสดงถึงการที่ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างน้อย   เห็นรูปน้อย,   ทรงรู้สึกว่ามีแสงสว่างไม่มีประมาณ   เห็นรูปไม่มีประมาณ   เมื่อทรงสอบสวนถึงเหตุปัจจัย   ก็ทรงคิดว่า   ในสมัยใดสมาธิน้อย   ในสมัยนั้นจักษุก็น้อย   ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างน้อย   เห็นรูปน้อย   ด้วยจักษุน้อย   แต่ในสมัยใดสมาธิไม่มีประมาณ ในสมัยนั้นจักษุก็ไม่มีประมาณ   ทำให้รู้สึกว่าแสงสว่างไม่มีประมารณ   เห็นรูปไม่มีประมาณ ( แสดงว่ากำลังของสมาธิเป็นสำคัญ ถ้ากำลังน้อยก็ทำให้ทิพยจักษุมีความสามารถน้อยไปด้วย )   ครั้นทรงทราบว่าได้ทรงละอุปกิเลสแห่งจิต   ( ทั้งสิบเอ็ด ) ได้แล้ว   ก็ทรงคิดว่าได้เจริญสมาธิโดยส่วน ๓   แล้วในบัดนี้.

   ๕. ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า ได้ทรงเจริญ    ๑. สมาธิที่มีทั้งวิตกวิจาร ( ได้แก่ฌานที่ ๑ )    ๒. สมาธิที่ไม่มีวิตก   แต่มีวิจาร   ( ได้แก่ฌานที่ ๒   ในฌาน ๕ )    ๓. สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจาร   ( ได้แก่ฌารที่ ๒,  ๓,  ๔, ในฌาน ๔   และฌานที่ ๓,  ๔,  ๕   ในฌาน ๕ )    ๔. สมาธิที่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๑,  ๒,   ในฌาน ๔   และฌานที่ ๑,  ๒,  ๓,   ในฌาน ๕ )    ๕. สมาธิที่ไม่มีปีติ ( ได้แก่ฌานที่ ๓,  ๔ ในฌาน ๔  และฌานที่ ๔,  ๕   ในฌาน ๕ )    ๖. สมาธิที่ประกอบด้วยความสุข ( ไ ด้แก่ฌานที่ ๑,  ๒,  ๓,  ในฌาน ๔  และฌานที่ ๑  ถึง ๔   ในฌานที่ ๕)    ๗. สมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา ( ได้แก่ฌานที่ ๔   ในฌาน ๔  และฌานที่ ๕   ในฌาน ๕ )   เมื่อได้เจริญสมาธิอย่างนี้แล้วก็เกิดญาณทัสสนะ   ( ความเห็นด้วยญาณ ) ขึ้นว่า ความหลุดพ้นของพระองค์ไม่กำเริบ   ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย   บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก.

    (หมายเหตุ:  สูตรนี้แสดงหลักวิชาในการปฏิบัติจิตใจชั้นสูง ซึ่งเกิดปัญหาแก่พระสาวก แต่พระองค์ก็ทรงแสดงว่าได้แก้ปัญหาตกมาแล้ว ก่อนตรัสรู้ ในที่นี้ไม่ค่อยได้อธิบายศัพท์ไว้พิสดาร เพราะเห็นว่าจะต้องอธิบายยืดยาวและใช้หน้ากระดาษมาก อย่างไรก็ตาม สูตรนี้น่าเลื่อมใสเป็นพิเศษในทางปฏิบัติที่แสดงว่า พระพุทธศาสนานั้นมิใช่เรื่องสำหรับพูดเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างลึกซึ่งในทางปฏิบัติด้วย และพึงสังเกตว่าในสูตรนี้ นับเป็นหลักฐานแรกที่แสดงฌาน ๕   เพราะที่แล้วมาแสดงแต่ฌาน ๔   เท่านั้น ).

   

๒๙. พาลบัณฑิตสูตร
สูตรว่าด้วยพาลและบัณฑิต

    ๑. พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม. ตรัสแสดงลักษณะของคนพาล ๓ อย่าง   คือ   คิดชั่ว   พูดชั่ว   ทำชั่ว   คนพาลจะต้องประสบทุกข์โทมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุนับ และตายไปก็จะเข้าสู่นรก,   กำเนิดดิรัจฉาน   หรือถ้าเกิดในมนุษย์   ก็เกิดในตระกูลต่ำ   ยากจน   มีผิวพรรณทราม   มีโรคภัยเบียดเบียน   ไม่มีลาภ .     ส่วนบัณฑิตมีลักษณะ ๓ คือ   คิดดี   พูดดี   ทำดี   บัณฑิตย่อมได้เสวยสุขโสมนัสถึง ๓   ประการในปัจจุบัน   และตายไปก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ แล้วทรงสมบัติจักรพรรดิ์โดยละเอียดว่า เทียบกันไม่ได้เลย กับสมบัติกับสมบัติทิพย์. หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลสูงมั่งคั่ง   รูปงาม   มีลาภ.


๑. ศัพท์ต่าง ๆ ในสูตรนี้ มีในที่อื่นที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เช่น ที่ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก หมายเลข ๒๑๓ และหมายเลข ๓๘

๒. ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดเพียง ๕ ข้อ   ส่วนข้อ ๖   แสดงตามมติอรรถกถาที่ให้แยกปัญหาเรื่องกายของตนกับกายของผู้อื่น นอกจากนั้นอรรถกถายังแสดงมติอื่นอีก

๓. คำว่า สังขาร  ที่แปลว่าความคิด   เป็นการแปลถือเอาความ มีพระพุทธภาษิตบ่งชัดว่า ได้แก่เจตนาในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗   ซึ่งย่อไว้ในเล่มต่อ ๆ ไป

๔. อาเนญชาหรืออาเนญชะ ดูคำอธิบายในอาเนญชสัปปายสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๖ หน้า ๑ ) ในข้อ ๖. อาเนญชสัปปายสูตร

๕. อรรถกถาอธิบายว่า มีโอกาสพิจารณาสังขารธรรมได้ตลอดเวลา ๗ วัน ไม่เหมือนสาวกที่พิจารณาได้เฉพาะ เมื่อประจวบกับสิ่งเหล่านั้นเฉพาะหน้าเมื่อถึงโอกาส

๖. ในเมืองไทยมักมีผู้ถือกันว่านิมนต์พระ ๔ รูปเฉพาะไปสวดศพ แต่หลักฐานในพระไตรปิฎกนอกจากสูตรนี้แล้ว ยังมีในอภัยราชกุมารสูตร ( ในพระสุตตันตะเล่ม ๕ หน้า ๒ ) ในข้อ ๘ . อภยราชกุมารสูตร เเสดงว่าไม่มีการถือ

๗. ความเศร้าหมองแห่งจิตหรืออุปกิเลสทั้งสิบเอ็ดอย่างนี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมะชั้นสูง ผู้ต้องการทราบคำอธิบายละเอียด โปรดดูคำอธิบายคำของพระอรรถกถาจรรย์

 

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก  

พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   ชาดก  คำค้นหาพระไตรปิฎก  ธรรมปฏิบัติ