บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๓๘. คุณสมบัติของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ ๖ อย่าง

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. ประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอเสขะ (ศีลของพระอริยบุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา คือเป็นพระอรหันต์)

              ๒. ประกอบด้วยกองสมาธิอันเป็นอเสขะ

              ๓. ประกอบด้วยกองปัญญาอันเป็นอเสขะ

              ๔. ประกอบด้วยกองวิมุติ (ความหลุดพ้น) อันเป็นอเสขะ

              ๕. ประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสะ (ญาณรู้ว่าหลุดพ้น) อันเป็นอเสขะ

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๓๙. คุณสมบัติอีก ๖ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              "ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. ตนเองประกอบด้วยกองศีลอันเป็นอเสขะ ชักชวนผู้อื่นในกองศีลอันเป็นอเสขะ

              ๒. ตนเองประกอบด้วยกองสมาธิอันเป็นอเสขะ ชักชวนผู้อื่นในกองสมาธิอันเป็นอเสขะ

              ๓. ตนเองประกอบด้วยกองปัญญาอันเป็นอเสขะ ชักชวนผู้อื่นในกองปัญญาอันเป็นอเสขะ

              ๔. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุติ (ความหลุดพ้น) อันเป็นอเสขะ ชักชวนผู้อื่นในกองวิมุติอันเป็นอเสขะ

              ๕. ตนเองประกอบด้วยกองวิมุตติญาณทัสสนะ (ญาณรู้ว่าหลุดพ้น) อันเป็นอเสขะ ชักชวนผู้อื่นในกองวิมุตติญาณทัสสนะอันเป็นอเสขะ

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๔๐. คุณสมบัติ ๖ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. มีศรัทธา (ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ)

              ๒. มีหิริ (ความละอายต่อบาป)

              ๓. มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป)

              ๔. ปรารภความเพียร

              ๕. ตั้งสติมั่น

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๔๑. คุณสมบัติอีก ๕ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. ไม่วิบัติจากศีล ในอธิศีล (ศีลชั้นสูง)

              ๒. ไม่วิบัติจากอาจาระ (ความประพฤติ) ในอัชฌาจาร (ความประพฤติชั้นสูง)

              ๓. ไม่วิบัติจากทิฏฐิ ในอติทิฏฐิ (ทิฏฐิชั้นสูง)

              ๔. สดับตรับฟังมาก

              ๕. มีปัญญา

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๔๒. คุณสมบัติ ๖ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ผู้อื่นให้พยาบาลอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหารริกผู้เป็นไข้

              ๒. สามารถระงับเอง หรือใช้ผู้อื่นให้ระงับความไม่ยินดี (ความไม่สบายใจ) ที่เกิดขึ้นแล้ว

              ๓. สามารถบรรเทา หรือให้บรรเทาความรังเกียจ (ความรำคาญ, ความข้องใจ) ที่เกิดขึ้นแล้วได้โดยธรรม

              ๔. รู้จักอาบัติ

              ๕. รู้จักการออกจากอาบัติ

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๔๓. คุณสมบัติ ๖ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. สามารถให้อันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกศึกษาในอภิสมาจาริกาสิกขา (คือศึกษาในมารยาทอันดีงาม)

              ๒. สามารถแนะนำในสิกขาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ (คือศีลข้อสำคัญ ๆ ที่จำเป็นจะต้องรู้สำหรับผู้บวช)

              ๓. สามารถแนะนำอภิธรรม (ธรรมชั้นสูง)

              ๔. สามารถแนะนำในอภิวินัย (วินัยชั้นสูง)

              ๕. สามารถถ่ายถอนความเห็นผิดที่เกิดขึ้นได้โดยธรรม

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

๔๔. คุณสมบัติอีก ๖ อย่างของภิกษุผู้ควรเป็นอุปัชฌายะ

              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ อื่นอีก ควรให้อุปสมบท (ควรเป็นอุปัชฌายะ) ควรให้นิสสัย (ปกครองภิกษุอื่น) ควรมีสามเณรรับใช้ คือ

              ๑. รู้จักอาบัติ

              ๒. รู้จักอนาบัติ (ไม่ใช่อาบัติ)

              ๓. รู้จักอาบัติเบา

              ๔. รู้จักอาบัติหนัก

              ๕. ทรงจำได้ แยกแยะได้ สวดได้ วินิจฉัยได้ดีซึ่งปาฏิโมกข์ทั้งสอง คือปาฏิโมกข์ของภิกษุและภิกษุณีโดยสูตร (โดยหลักการ) โดยอนุพยัญชนะ (โดยรายละเอียด)

              ๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือเกินกว่า ๑๐.

วินัยปิฎก ๘/๓๓๗-๓๓๙

๔๕. คนไข้ที่พยาบาลยากและพยาบาลง่าย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง เป็นผู้ที่พยาบาลยาก คือ

              ๑. มักทำสิ่งซึ่งไม่เป็นที่สบาย

              ๒. ไม่รู้ประมาณในสิ่งที่สบาย

              ๓. ไม่กินยา

              ๔. ไม่บอกอาการป่วยตามความจริงแก่ผู้พยาบาล ผู้ปรารถนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ว่าอาการป่วยเพิ่มขึ้น ทุเลาหรือทรงอยู่

              ๕. ไม่อดทนต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด ไม่เป็นที่พอใจถึงขนาดจะคร่าชีวิต

              คนไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล เป็นผู้ที่พยาบาลยาก"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง เป็นผู้ที่พยาบาลง่าย คือ

              ๑. มักทำสิ่งอันเป็นที่สบาย

              ๒. รู้ประมาณในสิ่งอันเป็นที่สบาย

              ๓. กินยา

              ๔. บอกอาการป่วยตามความจริงแก่ผู้พยาบาล ผู้ปรารถนาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ว่าอาการป่วยเพิ่มขึ้น ทุเลาลง หรือทรงอยู่

              ๕. อดทนต่อทุกขเวทนาทางกายที่เกิดขึ้น อันเป็นเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด ไม่เป็นที่พอใจถึงขนาดจะคร่าชีวิต คนไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล เป็นผู้พยาบาลง่าย."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๖๑

๔๖. คนพยาบาลไข้ที่ดีและไม่ดี

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ไม่ควรที่จะพยาบาลคนไข้คือ

              ๑. ไม่สามารถที่จะจัดยา

              ๒. ไม่รู้ของควร ของแสลง นำของแสลงเข้าไปให้ นำของไม่แสลงออก

              ๓. เป็นผู้เห็นแก่อามิสพยาบาลคนไข้ ไม่มีเมตตาจิต

              ๔. รังเกียจที่จะนำไปเทซึ่งอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน และเขฬะ

              ๕. ไม่สามารถที่จะชี้แจงชักจูง ปลุกใจ ปลอบใจคนไข้ด้วยธรรมิกถาเป็นครั้งคราว

              คนพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่ควรที่จะพยาบาลคนไข้.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ควรที่จะพยาบาลคนไข้ คือ

              ๑. สามารถที่จะจัดยา

              ๒. รู้ของควร ของแสลง นำของแสลงออก นำของควรเข้าไปให้

              ๓. มีเมตตาจิตพยาบาลคนไข้ ไม่มุ่งอามิส

              ๔. ไม่รังเกียจที่จะนำไปเทซึ่งอุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน หรือเขฬะ

              ๕. เป็นผู้สามารถที่จะชี้แจงชักชวน ปลุกใจ ปลอบใจคนไข้ด้วยธรรมิกถาเป็นครั้งคราว

              คนพยาบาลไข้ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ เหล่านี้แล ควรที่จะพยาบาลคนไข้."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๖๒


๑. คำว่า อเสขะ แปลว่า ไม่ต้องศึกษา หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด คือพระอรหันต์ ส่วนพระอริยบุคคลชั้นรองลงมา ชื่อว่าเสขะ แปลว่า ยังต้องศึกษา คำว่า เสขะ อเสขะ เป็นคำประกอบคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ได้ด้วย หมายความว่า เป็นคุณธรรมของพระอรหันต์
๒. อันเตวาสิก คือศิษย์ที่ตนเป็นผู้สวดในการขออุปสมบท หรือที่เล่าเรียน สัทธิวหาริก หมายถึง ศิษย์ที่ตนเป็นอุปัชฌายะบวชให้
๓. คือชอบฝืนคำสั่งหมอ เช่น ชอบกินของแสลง ห้ามเดินจะเดิน ห้ามพูดจะพูด

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ