บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๘๓. ประวัติความเป็นมาของนางภิกษุณี
              (จากวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้า ๓๒๐ ถึง ๓๒๖)

              (๑) พระนางมหาปชาบดี โคตมี ทูลขอบรรพชาไม่สำเร็จ

              สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระนางมหาปชาบดี โคตมี เข้าไปเฝ้า ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วประทับยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลขอบรรพชาเป็นอนาคาริยะ (ไม่ครองเรือน) ในพระธรรมวินัย ซึ่งพระตถาคตเจ้าประกาศแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสห้ามไว้ว่า อย่าเลย ท่านเป็นมาตุคาม อย่าพอใจบรรพชาเป็นอนาคาริยะในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย แม้ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม พระนางมหาปชาบดี โคตมี กราบทูลขอบรรพชา พระผู้มีพระภาคก็ตรัสห้ามอย่างนั้น.

              เมื่อพระนางมหาปชาบดี โคตมี เห็นว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตอนาคาริยบรรพชาในพระธรรมวินัย ซึ่งพระตถาคตเจ้าประกาศแล้วแก่มาตุคาม ก็ระทมทุกข์เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ (คือดำเนินเวียนขวา) แล้วเสด็จหลีกไป.

              เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ทางกรุงเวสาลี ทรงแวะ ณ กรุงเวสาลีนั้น ประทับ ณ กูฏาคารศาลา (ศาลาเรือนยอด) ป่ามหาวัน.

              (๒) ความพยายามอีกครั้งหนึ่งของพระนาง

              ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดี โคตมี ทรงปลงพระเกศา นุ่งห่มกาสาวพัสตร์ เสด็จพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะเป็นอันมาก เดินทางไปยังกรุงเวสาลีโดยลำดับ เสด็จเข้าไปยังกูฏคารศาลา ป่ามหาวัน. ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดี โคตมี มีพระบาทเปล่า (ไม่สวมรองเท้า) มีพระกายอันมัวมอมด้วยฝุ่นละออง ระทมทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง ประทับยืน ณ ภายนอกซุ้มประตู.

              (๓) พระอานนทเถระช่วยเหลือ

              พระอนนท์ผู้มีอายุ ได้เห็นพระนางมหาปชาบดี โคตมี ในลักษณาการดั่งกล่าว ถามทราบความว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตอนาคาริยบรรพชาในพระธรรมวินัย อันพระตถาคตเจ้าประกาศแล้วแก่มาตุคาม จึงทูลว่า ถ้าอย่างนั้น จงทรงคอยอยู่ที่นี่ก่อน จนกว่าจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ประทานอนาคาริยบรรพชาแก่มาตุคาม.

              ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "พระเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดี โคตมี ทรงมีพระบาทเปล่า มีพระกายอันมัวมอมด้วยฝุ่นละออง ทรงระทมทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง ประทับยืน ณ ภายนอกซุ้มประตูนั้น ด้วยทรงคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตอนาคาริยบรรพชาแก่มาตุคาม โปรดเถิด พระเจ้าข้า ขอให้มาตุคามได้อนาคาริยบรรพชาในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วเถิด." พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนพระอานนท์ อย่าเลย ท่านอย่าพอใจอนาคาริยบรรพชาของมาตุคามในพระธรรมวินัยอันตถาคตประกาศแล้วเลย." แม้ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม พระอานนท์ทูลขอ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสห้ามอย่างนั้น.

              ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "พระเจ้าข้า มาตุคามบวชเป็นอนาคาริยะในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศแล้ว จะควรหรือไม่ที่จะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตตผล" พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควร พระอานนท์กราบทูลต่อไปว่า ถ้าควร พระนางมหาปชาบดี โคตมี พระน้านางของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ปกป้องเลี้ยงดูถวายพระขีระ เมื่อพระพุทธมารดาสวรรคตแล้ว ก็ได้ให้พระผู้มีพระภาคทรงดื่มพระขีระ โปรดเถิด พระเจ้าข้า ขอให้มาตุคามได้อนาคาริยบรรพชาในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศแล้วเถิด."

              (๔)พระพุทธเจ้าประทานอนุญาตภิกษุณีบรรพชาโดยมีเงื่อนไข

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดี โคตมี จะทรงรับครุธรรม ๘ ประการได้ นั้นก็จงเป็นอุปสัมปทา (การบวช) ของพระนางเถิด คือ

              ๑. นางภิกษุณีแม้บวชแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องทำอภิวาท การลุกขึ้นต้อนรับ อัญชลีธรรม และสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชในวันนั้น นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๒. นางภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๓. นางภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่างจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถ กับ การเข้าไปหา เพื่อรับโอวาท นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๔. นางภิกษุณีจำพรรษาแล้ว พึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์) ด้วยฐานะ ๓ คือ ด้วยได้เห็น หรือ ด้วยได้ฟัง หรือ ด้วยนึกรังเกียจ นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๕. นางภิกษุณีทีต้องครุธรรม (ต้องอาบัติสังฆาทิเสส) พึงประพฤติมานัตต์ตลอดปักษ์ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๖. นางสิกขมานา (สตรีผู้ก่อนเป็นนางภิกษุณี ต้องเป็นนางสิขมานา แปลว่า ผู้ศึกษา) ได้ศึกษาสิกขาในธรรม ๖ ประการตลอด ๒ ปีแล้ว จึงควรแสวงหาอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย(คือก่อนจะบวชเป็นนางภิกษุณี จะต้องเป็นนางสิกขมานา ๒ ปี ระหว่าง ๒ ปี รักษาศีล ๖ ข้อ ขาดไม่ได้ ศีล ๖ ข้อ คือ ศีล ๕ กับเพิ่มข้อที่ ๖ อันได้แก่การเว้นบริโภคอาหารในเวลาวิกาล) นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๗. นางภิกษุณี ไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุด้วยปริยายใด ๆ นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะเคารพ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ๘. จำเดิมแต่วันนี้ไป ห้ามนางภิกษุณีว่ากล่าวสั่งสอนภิกษุ ไม่ห้ามภิกษุกล่าวสั่งสอนนางภิกษุณี นี้เป็นธรรมที่นางภิกษุณีพึงสักการะ นับถือ เคารพ บูชา ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต.

              ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดี โคตมี รับครุธรรม ๘ ประการเหล่านี้ได้ นั้นก็จงเป็นอุปสัมปทา (การบวช) ของพระนางเถิด."

              (๕) พระอานนท์จำครุธรรมไปบอก

              ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ เรียนครุธรรม ๘ ประการในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดี โคตมี แล้วกล่าวว่า "พระนางโคตมี ถ้าพระนางจะพึงรับครุธรรม ๘ ประการได้ นั้นก็จักเป็นอุปสัมปทา(การบวช) ของพระนาง คือ (มีข้อความเหมือนข้างต้น)."

              (๖) พระนางมหาปชาบดี โคตมี ทรงรับ

              พระนางมหาปชาบดี โคตมี ทูลตอบว่า "ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ หญิง หรือชายรุ่นหนุ่มสาว รักการประดับ สนานศีรษะแล้ว ได้พวงมาลัยดอกอุบลก็ดี พวงมาลัยดอกมะลิก็ดี พวงมาลัยดอกลำดวนก็ดี พึงประดิษฐานไว้บนกระหม่อม บนศีรษะฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้น จะรับครุธรรม ๘ ประการเหล่านี้ไว้ ไม่ก้าวล่วงจนตลอดชีวิต."

วินัยปิฎก ๗/๓๒๐-๓๒๖


๑. พระนางมหาปชาบดี โคตมี เป็นพระน้านาง และเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า คือเมื่อพระนางมหามายา พระพุทธมารดาสวรรคตแล้ว พระนางมหาปชาบดีก็ทรงเลี้ยงแทน ตั้งแต่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ได้ ๗ วันล่วงแล้ว
๒. มาตุคาม คือผู้หญิง

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ