บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๔๗. ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนือง ๆ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ เหล่านี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ คือ

              ๑. ควรพิจาณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

              ๒. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

              ๓. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

              ๔. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง

              ๕. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรม เป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."

๔๘. เหตุผลที่ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจาณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความไม่มีโรคของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทาง กาย วาจา ใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในความไม่มีโรคนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความไม่มีโรคนั้นจะลดน้อยลงไป เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในชีวิตนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในชีวิตนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความติดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ ในสิ่งเป็นที่รัก ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งที่เป็นที่รักได้สิ้นเชิง หรือความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งเป็นที่รักนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละทุจจริตได้สิ้นเชิง หรือทุจจริตนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๘๑

๔๙. ผู้หลับน้อยตื่นมากในราตรี

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ ประเภทเหล่านี้ ย่อมหลับน้อยตื่นมากในราตรี คือ

              ๑. สตรีผู้มีความประสงค์บุรุษ

              ๒. บุรุษผู้มีความประสงค์สตรี

              ๓. โจรผู้มีความประสงค์จะลักทรัพย์

              ๔. พระราชาผู้ประกอบในราชกรณียกิจ

              ๕. ภิกษุผู้มีความประสงค์จะปราศจากสัญโญชน์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๕ ประเภทเหล่านี้แล ย่อมหลับน้อยตื่นมากในราตรี."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๗๕

๕๐. ผู้ตกนรก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำตัวไปวางไว้ ธรรม ๕ อย่างคือ

              ๑. เป็นผู้มักฆ่าสัตว์

              ๒. เป็นผู้มักลักทรัพย์

              ๓. เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม

              ๔. เป็นผู้มักพูดปด

              ๕. เป็นผู้มักตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล ย่อมตกนรกเหมือนถูกนำตัวไปวางไว้."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๙๑

๕๑. ผู้ขึ้นสวรรค์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง ย่อมขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำตัวไปวางไว้ ธรรม ๕ อย่างนี้ คือ

              ๑. ผู้เว้นจากการฆ่าสัตว์

              ๒. ผู้เว้นจากการลักทรัพย์

              ๓. ผู้เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

              ๔. ผู้เว้นจากการพูดปด

              ๕. ผู้เว้นจากการตั้งอยู่ในความประมาท ด้วยการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล ย่อมขึ้นสวรรค์ เหมือนถูกนำตัวไปวางไว้."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๙๑

๕๒. สัปปุริสทาน ๕ พร้อมทั้งอานิสงส์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัปปรุสทาน (การให้ของคนดี) ๕ อย่างเหล่านี้ คือ

              ๑. ให้ทานด้วยศรัทธา (ความเชื่ออย่างมีเหตุผล)

              ๒. ให้ทานด้วยความเคารพ

              ๓. ให้ทานตามกาล

              ๔. ให้ทานมีจิตอนุเคราะห์

              ๕. ให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่น

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลให้ทานด้วยความเชื่อแล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนันเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงดงามอย่างยิ่ง."

              "บุคคลให้ทานด้วยความเคารพแล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเขามีบุตร, ภรรยา, ทาส, คนรับใช้ หรือกรรมกรก็ตาม บุคคลเหล่านั้นย่อมสนใจฟัง ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตรับรู้ (คำสั่ง)."

              "บุคคลให้ทานตามกาลแล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และความต้องการทั้งหลายของเขาที่เกิดขึ้นตามกาล ย่อมบริบูรณ์."

              "บุคคลให้ทานมีจิตอนุเคราะห์แล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และจิตของเขาย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคในกามคุณ ๕ อันโอฬาร."

              "บุคคลให้ทานไม่กระทบตน ไม่กระทบผู้อื่นแล้ว ในที่ที่ผลแห่งทานนั้นเกิดขึ้นแก่เขา เขาย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และความล่มจมแห่งโภคะของเขา ย่อมไม่มาจากที่ไหน ๆ คือจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากทายาท (ผู้รับมรดก) ซึ่งไม่เป็นที่รัก."

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แล สัปปุริสทาน ๕ อย่าง."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๑๙๒


๑. การกระทำ และผลแห่งการกระทำ
๒. ฉันทราคะ แปลว่า ความคิด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ เพื่อให้มีความหมายกว้างกว่าความกำหนัด
๓. สัญโญชน์ กิเลสที่มัดสัตว์ไว้ในภพ
๔. เชื่อถ้อยฟังคำ
๕. มีทรัพย์แล้ว คิดใช้ทรัพย์ ไม่ใช่ทนอดอยากแบบปู่โสมเฝ้าทรัพย์

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ