บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๕๓. ลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้ คือ
              ๑. วาจาที่กล่าว (ถูกต้อง) ตามกาล
              ๒. วาจาที่กล่าว เป็นความจริง
              ๓. วาจาที่กล่าว อ่อนหวาน
              ๔. วาจาที่กล่าว ประกอบด้วยประโยชน์
              ๕. วาจาที่กล่าว ด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๑

๕๔. เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่นาน

              "สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าไผ่ ใกล้เมืองมิถิลา ลำดับนั้น ท่านพระกิมพิละ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ยืนในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว." "ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันและกัน. นี้แล กิมพิละ เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๕

๕๕. เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน

              "พระกิมพิละกราบทูลถามต่อไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในพระธรรมวินัยนี้ เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา เคารพยำเกรงกันแลกัน. นี้แล กิมพิละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรม ตั้งอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๕

๕๖. การค้าขาย ๕ อย่างที่อุบาสกไม่ควรทำ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อันอุบาสกไม่ควรทำ คือ
              ๑. การค้าขายศัสตรา (สัตถวณิชชา)
              ๒. การค้าขายสิ่งมีชีวิต (สัตตวณิชชา)
              ๓. การค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา)
              ๔. การค้าขายน้ำเมา (มัชชวณิชชา)
              ๕. การค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้า ๕ อย่างเหล่านี้ อันอุบาสกไม่ควรทำ."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๓๒

๕๗. คนพูดมากมีโทษ ๕

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดมาก คือ
              ๑. ย่อมพูดปด
              ๒. ย่อมพูดส่อเสียด (คือยุให้แตกร้าวกัน)
              ๓. ย่อมพูดคำหยาบ
              ๔. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ
              ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคผู้พูดมาก."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒

๕๘. คนพูดด้วยปัญญามีอานิสงส์ ๕

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา คือ
              ๑. ไม่พูดปด
              ๒. ไม่พูดส่อเสียด
              ๓. ไม่พูดคำหยาบ
              ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อ
              ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา."

๕๘. คนพูดด้วยปัญญามีอานิสงส์ ๕

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา คือ
              ๑. ไม่พูดปด
              ๒. ไม่พูดส่อเสียด
              ๓. ไม่พูดคำหยาบ
              ๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อ
              ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้แล ในบุคคลผู้พูดด้วยปัญญา."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒

๕๙. โทษของความไม่อดทน ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการของความไม่อดทนเหล่านี้ คือ
              ๑. ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนมาก
              ๒. มากไปด้วยเวร
              ๓. มากไปด้วยโทษ
              ๔. หลง ถึงแก่ความตาย
              ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคคติ วินิบาต นรก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒

๖๐. อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการเหล่านี้ คือ
              ๑. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนมาก
              ๒. ไม่มากไปด้วยเวร
              ๓. ไม่มากไปด้วยโทษ
              ๔. ไม่หลง ถึงแก่กรรม
              ๕. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๘๒

๖๑. อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ
              ๑. ย่อมได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง
              ๒. สิ่งที่ได้ฟังแล้ว ย่อมชัดเจนขึ้น
              ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้
              ๔. ทำความเห็นให้ตรงได้
              ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๖

๖๒. อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการเหล่านี้ คือ
              ๑. บรรเทาความหิว
              ๒. บรรเทาความกระหาย
              ๓. ลมเดินสะดวก
              ๔. ชำระลำไส้
              ๕. ทำอาหารที่ยังไม่ย่อยที่เหลือให้สุก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘

๖๓. โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้ คือ
              ๑. สายตาไม่ดี
              ๒. ปากมีกลิ่นเหม็น
              ๓. ประสาทรับรสไม่หมดจด
              ๔. ดีและเสมหะรึงรัดอาหาร
              ๕. รับประทานอาหารไม่มีรส

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในการไม่เคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘

๖๔. อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้ คือ
              ๑. สายตาดี
              ๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
              ๓. ประสาทรับรสหมดจด
              ๔. ดีและเสมหะไม่รึงรัดอาหาร
              ๕. รับประทานอาหารมีรส

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘

๖๕. โทษในการกล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาวของภิกษุ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว คือ
              ๑. ตนเองก็ติดในเสียงนั้น
              ๒. ผู้อื่นก็ติดในเสียงนั้น
              ๓. คฤหับดีทั้งหลายจะยกโทษว่า สมณะ ศากยบุตรเหล่านี้ขับร้องเหมือนพวกตน
              ๔. เมื่อติดใจการทอดเสียง สมาธิก็ทำลาย
              ๕. ประชุมชน(ภิกษุ) ในภายหลังจะถือเป็นแบบอย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของภิกษุผู้กล่าวธรรมด้วยเสียงขับอันยาว ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙

๖๖. โทษของผู้หลับโดยไม่มีสติสัมปชัญญะ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษ ๕ ประการเหล่านี้ ของผู้หลงลืมสติ ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ คือ
              ๑. หลับเป็นทุกข์
              ๒. ตื่นเป็นทุกข์
              ๓. ฝันร้าย
              ๔. เทวดาไม่รักษา
              ๕. น้ำอสุจิเคลื่อน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของผู้หลงลืมสติ ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙

๖๗. อาสงส์ของผู้หลับโดยมีสติสัมปชัญญะ

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ คือ
              ๑. หลับเป็นสุข
              ๒. ตื่นเป็นสุข
              ๓. ไม่ฝันร้าย
              ๔. เทวดารักษา
              ๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับ ๕ ประการเหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙

๖๘. อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล)

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวว่า อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) เมือ่กล่าวให้ชอบ ก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง. นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี คือ
              ๑. กามฉันท์ ความพอใจในกาม
              ๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย
              ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ง่วงงุน
              ๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ
              ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวว่า อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) เมื่อกล่าวให้ชอบ ก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง นิวรณ์ ๕ อย่างล้วนเป็นอกุศลราศี."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๗๔

๕ ประการ๖๙. ผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือ
              ๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ละเอียดอ่อน หาได้ยาก
              ๒. ผู้บวชเมื่อแก่ สมบูรณ์ด้วยอากัปกิริยา หาได้ยาก
              ๓. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้คงแก่เรียน หาได้ยาก
              ๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระรรมกถึก หาได้ยาก
              ๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล หาได้ยาก"

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๙๐

๗๐. ผู้บวชเมื่อแก่ที่มีคุณธรรม หาได้ยากอีกประเภทหนึ่ง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่าง หาได้ยาก คือ
              ๑. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ว่าง่าย หาได้ยาก
              ๒. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่รับโอวาทด้วยดี หาได้ยาก
              ๓. ผู้บวชเมื่อแก่ ที่รับโอวาทโดยเคารพ หาได้ยาก
              ๔. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นพระธรรมกถึก หากได้ยาก
              ๕. ผู้บวชเมื่อแก่ เป็นผู้ทรงพระวินัย หาได้ยาก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้บวชเมื่อแก่ ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ อย่างเหล่านี้แล หาได้ยาก."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๙๐

๗๑. สัมปทา (ความถึงพร้อมหรือความสมบูรณ์) ๕

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ เหล่านี้ คือ
              ๑. สัทธาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยความเชื่อ
              ๒. สีลสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยศีล
              ๓. สุตสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการสดับตรับฟัง
              ๔. จาคสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ
              ๕. ปัญญาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๕ เหล่านี้แล."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๘

๗๒. คนที่เกิดมาเพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนมาก

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนดี เมื่อเกิดมาในสกุลย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก คือ
              ๑. แก่มารดา บิดา
              ๒. แก่บุตร ภรรยา
              ๓. แก่ทาส กรรมกร และชาวเมือง
              ๔. แก่มิตร และอำมาตย์
              ๕. แก่สมณและพราหมณ์

              "เสมือนหนึ่งเมฆฝนใหญ่ เมื่อทำให้ข้าวกล้าสมบูรณ์ก็ย่อมเป็นไป เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๐


๑. หมายถึงขายมนุษย์
๒. หมายถึงสัตว์เลี้ยงประเภทใช้ฆ่ากินเนื้อไว้ขาย
๓. แปลตามตัวว่า อาหารของผู้นั้น ไม่ทำความพอใจให้
๔. พหุสฺสุโต สดับตรับฟังมาก
๕. ผู้แสดงธรรม
๖. ปทกฺขิณคฺคาหี รับโดยเบื้องขวา
๗. ในที่ไหนสอนให้มีความเชือ่ ในที่นั้นจะสอนให้มีปัญญาเสมอ
๘. สปฺปุริโส ตรงกับคำว่า สัตบุรุษ
๙. การใช้คำคู่แบบนี้ เป็นสำนวนบาลี

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ