บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ  



ข้อความน่ารู้
จาก
พระไตรปิฎก

อะไรเป็นแก่นสาร

ส่วนแห่งความรู้

ฐานะ ๕

เงื่อนไขแก่ภิกษุณี

อาสวะที่พึงละ

การรักษาสาธารณสมบัติ

อานาปานาสติ

ถามตอบธรรม

ความทุกข์ของสตรี

วิชาดูดาว

การทำให้สุข

 

ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๗๓. สิ่งที่ขอร้องหรือปรารถนาให้เป็นไปอย่างใจไม่ได้

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้ อันสมณะ หรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้ คือ
              ๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าได้แก่เลย
              ๒. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าได้เจ็บไข้เลย
              ๓. ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าได้ตายเลย
              ๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าได้สิ้นไปเลย
              ๕. ขอสิ่งที่มีความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าได้พินาศไปเลย

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่, เจ็บไข้, ตาย สิ้นไป, พินาศไปแล้ว ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่า "มิใช่เราคนเดียวที่มีสิ่งซึ่งมีความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา อันแก่, เจ็บไข้, ตาย, สิ้นไป, พินาศไป แท้จริงสัตว์ทั้งหลายที่มีการมา การไป การตาย การเกิดทั้งหมด ก็มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความสิ้นไป ความพินาศไปเป็นธรรมดา อันแก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป พินาศไป เช่นเดียวกัน ก็ถ้าเมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ มีความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว ฯลฯ เราจะพึงเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหล แม้พอาหารของเราก็จะไม่ทำความพอใจให้ (รับประทานข้าวไม่ลง) แม้ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามก็จะก้าวลงในกาย แม้การงานก็จะไม่ดำเนินไป แม้ศัตรูก็จะดีใจ แม้มิตรก็จะเสียใจ, เมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่ ฯลฯ พินาศไปแล้ว เขาก็จะเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหล บุถุชนผู้มิได้สดับนี้ เรากล่าวว่า ถูกลูกศร คือความโศกอันมีพิษแทงเอาแล้ว ย่อมทำตัวเองให้เดือดร้อน.

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยาสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เมื่อสิ่งที่มีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า "มิใช่เราคนเดียวที่มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา อันแก่ ฯลฯ พินาศไป แท้จริงสัตว์ทั้งหลายที่มีการมา การไป การตาย การเกิดทั้งหมด ก็มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา อันแก่ ฯลฯ พินาศไปเช่นเดียวกัน ก็ถ้าเมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว เราจะพึงเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหล แม้อาหารของเราก็จะไม่ทำความพอใจให้ (รับประทานข้าวไม่ลง) แม้ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามก็จะก้าวลงในกาย แม้การงานก็จะไม่ดำเนินไป แม้ศัตรูก็จะดีใจ แม้มิตรก็จะเสียใจ, เมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว เขาก็จะไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่บ่นเพ้อ ไม่ตีอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงใหล อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เรากล่าวว่า ถอนเสียได้ซึ่งลูกศรคือความโศกอันมีพิษที่บุถุชนผู้มิได้สดับถูกแทงแล้ว ทำตนเองให้เดือดร้อน ส่วนอริยสาวก เป็นผู้ไม่เศร้าโศก เป็นผู้ปราศจากลูกศร ย่อมทำตัวเองให้สงบระงับ.
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้แล อันสมณะ หรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๙

๗๔. ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๑๐ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ
              ๑. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาได้ประพฤติ สิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา"
              ๒. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขากำลังประพฤติ สิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา"
              ๓. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาจักประพฤติ สิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา"
              ๔. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศ แก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา"
              ๕. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศ แก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา"
              ๖. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาจักประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศ แก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา"
              ๗. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาได้บำเพ็ญประโยชน์ แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา"
              ๘. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขากำลังบำเพ็ญประโยชน์ แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา"
              ๙. บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า "เขาจักบำเพ็ญประโยชน์ แก่คนที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา"
              ๑๐. บุคคลย่อมโกรธ ในฐานะที่ไม่สมควร

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๑๐ อย่างเหล่านี้แล."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๖

๗๕. เครื่องนำความอาฆาตออก ๑๐ อย่าง

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องนำความอาฆาตออก ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ

              ๑. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๒. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๓. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขาจักประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่เรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๔. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขาได้ประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๕. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขากำลังประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๖. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขาจักประพฤติสิ่งที่เป็นความพินาศแก่คนที่รัก ที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๗. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขาได้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๘. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วยคิดอย่างนี้ว่า เขากำลังบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๙. บุคคลย่อมนำความอาฆาตออก ด้วคิดอย่างนี้ว่า เขาจักบำเพ็ญประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะได้แต่ที่ไหน?

              ๑๐. บุคคลย่อมไม่โกรธ ในฐานะอันไม่สมควร

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องนำความอาฆาตออก ๑๐ อย่างนี้เหล่านี้แล."

ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๖๑


๑. คำว่า อริยสาวก ในที่นี้ หมายเพียงผู้เป็นสาวก หรือศิษย์ของพระอริยเจ้า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้นับถือศาสนาของพระอริยะ

บทนำ   ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก  เอกสารทางประวัติศาสตร์   น่ารู้จากพระไตรปิฎก   พระวินัยปิฎก   พระสุตตันตปิฎก   พระอภิธรรมปิฎก   พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม   คำค้นหาพระไตรปิฎก  ชาดก  ธรรมปฏิบัติ